หลังการอภิปรายญัตติด่วนด้วยวาจาต่อกรณีการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่พร้อมคำแนะนำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับทัศนคติตัวเอง ที่เอาแต่โทษคนอื่นไม่เคยรับผิดชอบใดๆแล้ว
ล่าสุด วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกบทความเสนอแนะสิ่งที่นายกรัฐมนตรี ควรจะต้องเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ค Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศรโดยระบุว่า เบื้องต้นต้องยอมรับว่า การแพร่ระบาดในครั้งนี้ เกิดจากความหละหลวม และการปล่อยปละละเลย ให้มีการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายของแรงงานต่างชาติผ่านช่องทางทางธรรมชาติ
โดยมีประชาชนแจ้งเบาะแสมากมายว่า มีการเรียกรับผลประโยชน์ หรือไถสินบนจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทำเป็นขบวนการ อาจมีทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'ทหาร' ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมตามแนวชายแดน
ในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควรต้องตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อสอบสวนให้ชัดว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และข้าราชการคนใด ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างชาติเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายบ้าง
ท่าทีกล่าวโทษไปที่ข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน และเพ่งโทษไปที่ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน โดยปกป้องทหารอย่างออกนอกหน้า รวมทั้งการไปถามขู่ผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร ว่าปล่อยปละให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายที่ จ.สมุทรสาคร ได้อย่างไร เป็นการถามคำถามที่ไร้วุฒิภาวะอย่างมาก เพราะ จ.สมุทรสาคร นั้นเป็นปลายทางของปัญหา
คำถามนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องไปถามกองทัพ ที่มีหน้าที่ดูแลแนวชายแดนมากกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องขบวนการลักลอบนำเอาแรงงานต่างชาติเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย นี้ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ เพราะคือ ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งแม้แต่ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าชุดทำคดีโรฮีนจา ที่มีการจับกุมทหาร 4 นาย สุดท้ายยังต้องขอลี้ภัยเสียเอง เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะปล่อยให้เรื่องเงียบไปไม่ได้
ประการต่อมา เชื่อว่าทั้งแรงงานต่างชาติเข้ามาผิดกฎหมายและแรงงานข้ามชาติที่เคยถูกกฎหมายแต่หมดอายุและไม่อาจข้ามพรมแดนกลับไปยังประเทศของตนเองได้ มีจำนวนหลายแสนคน ซึ่งต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้มาตรการมุ่งให้ความสำคัญกับการควบคุมการระบาดเป็นสำคัญ
กลับประกาศที่จะกวาดล้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายเหล่านี้ เมื่อเวลา 9.00 น. ของวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2563 ส่งผลให้ แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายต่างพากันหลบหนีออกจากพื้นที่ จ.สมุทรสาคร บางส่วนก็ถูกนายจ้างลอยแพ พาไปทิ้งตามต่างจังหวัดต่างๆ เนื่องจากนายจ้างกลัวความผิด ทำให้การระบาดกระจายตัวออกจากพื้นที่ จ.สมุทรสาคร โชคดีที่ในช่วงบ่ายในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ กลับลำ ประกาศยอมให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายชั่วคราว จึงทำให้การหลบหนีแบบผึ้งแตกรังของแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ชะลอตัวลง
แต่ปัญหานี้คงเป็นฝุ่นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซุกเอาไว้ใต้พรมมายาวนาน จึงยังไม่ได้ตัดสินใจในประเด็นนี้ โดยรีรอว่าต้องเอาไปผ่าน ครม. ก่อนซึ่งก็จะยิ่งทอดเวลาไปอีกกว่าสัปดาห์ ตราบใดที่มีรัฐบาลนี้ยังประวิงเวลาไปเรื่อยๆ ก็ยังเสี่ยงที่จะมีแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายหลบหนีออกจากพื้นที่ไปเรื่อยๆ ทำให้เสี่ยงมากที่จะทำให้การระบาดแพร่กระจายออกไปอีกในวงกว้าง ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะล่าช้าทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้
นายวิโรจน์ ยังตำหนิรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อีกว่า ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เดือน มีนาคม พ.ศ.2563 แทนที่จะใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้ในการวางระบบ เตรียมความพร้อม ในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม แต่ในทางปฏิบัติกลับเอาอำนาจไปใช้คุกคามประชาชนที่มาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ขณะที่การเตรียมการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 มีแต่ความล่าช้า และไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม
ที่ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจได้ ไม่ว่า การจัดเตรียมสถานกักกันโรคในพื้นที่ระดับจังหวัด (Local Quarantine) และการส่งเสริมให้มีสถานกักกันโรคโดยองค์กร (Organizational Quarantine) ก็ยังไม่เพียงพอต่อการกักกันโรคของแรงงานต่างชาติที่เข้าประเทศมาทำงาน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการกักกันโรคก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยสูงในระดับ 20,000 บาทต่อคน ทำให้การจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหัวละ 6,500 บาท มีแรงจูงใจมาก
รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องเร่งจัดให้มีสถานกักกันโรคให้เพียงพอ และเร่งออกมาตรการในการอุดหนุน เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการกักกันโรคมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง ซึ่งเป็นโมเดลที่ไต้หวันทำได้สำเร็จ และได้ผลมาแล้ว ถ้ายังคงปล่อยปละละเลยก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีก จากแรงงานต่างชาติในภาคบริการ และภาคเกษตร
นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ยังระบุถึงความไม่พร้อมในอีกหลายด้าน เช่นโรงเรียนที่ไม่มีงบประมาณเพื่อจัดหาจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันโรคระบาดได้อย่างเพียงพอ ด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ได้เตรียมวัคซีนไว้เพียงพอสำหรับประชาชนเพียงแค่ 13 ล้านคน เท่านั้น อีกเรื่องที่รัฐบาลนี้ตายน้ำตื้น
และไม่ควรจะให้เกิดขึ้นอีก ก็คือ การจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีความพร้อม เช่น หน้ากาก N95 ชุด PPE และ Face Shield เป็นต้น ไม่ควรปล่อยให้มีเหตุการณ์ที่ รพ.นครท่าฉลอม ต้องออกมาขอรับบริจาคจากประชาชน เกิดขึ้นอีก
"สำหรับมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ทางพรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้ไข มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับทางธนาคารมาก่อน สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ และควรขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เป็นอย่างน้อย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถอยู่รอด
และรักษาระดับการจ้างงานได้ ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโควิด-19 และในกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องล็อคดาวน์จริง ๆ สิ่งที่พรรคก้าวไกลเรียกร้องก็คือ รัฐบาลจำเป็นต้องจัดเตรียมมาตรการเยียวยาให้พร้อมกว่าที่ผ่านมา ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับเงินเยียวยาอย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องมีการลงทะเบียนซ้ำ มีจุดแจกจ่ายอาหารสำหรับประชาชนให้ทั่วถึง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน สิ้นหวัง อย่างที่เคยประสบมา"
สุดท้าย นายวิโรจน์ ระบุว่า รัฐบาลต้องเลิกโทษ และผลักภาระให้ประชาชนรับผิดชอบตัวเอง ไม่เหมารวมโทษไปที่ประชาชนทั้งหมด เพื่อให้ตัวเองลอยตัวไม่ต้องรับผิดชอบอะไร รัฐบาลที่ดีมีหน้าที่ต้องถอดบทเรียน จากปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อมากำหนดนโยบาย วางมาตรการ และกลไกต่างๆ ในการป้องกันและแก้ปัญหา
สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทบทวนตัวเอง ก็คือ จากกรณีสนามมวยลุมพินี กรณีคณะ VIP ลูกทูต และทหารอียิปต์ ที่ จ.ระยอง กรณีโรงแรม 1G1 ที่ฝั่งท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน จนถึงกรณีตลาดแพปลา ที่ จ.สมุทรสาคร รัฐบาลได้ถอดบทเรียนอะไรบ้าง ได้ทำอะไรเป็นรูปธรรมไปแล้วบ้าง ถ้ายังไม่ได้ทำอะไร ก็ควรต้องรีบทำ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาจะเกือบปีแล้ว จะมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โทษประชาชนไปเรื่อย ๆ ปลูกผักชีแก้ผ้าเอาหน้ารอดแบบนี้ไปวัน ๆ แบบนี้ไม่ได้