ครม.มีมติเห็นชอบ ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และเลี่ยงการนำเข้าแรงงานต่างด้าว
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในกลุ่มคนไทยและคนต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงานอย่างถูกต้อง และมีการหลบหนีเนื่องจากเกรงกลัวความผิด จึงควรมีการกำหนดมาตรการตรวจสอบ คัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรการ เฝ้าระวัง ติดตาม ควบคุม และป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค จนส่งผลกระทบต่อชีวิต และสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทยและแรงงานต่างด้าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม ควบคุม และป้องกัน มิให้ส่งผลกระทบต่อชีวิต และสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทย โดยการผ่อนผันให้
1.) คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน
2.) คนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง/สถานประกอบการจ้างงาน
และ 3.) ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายออกประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงาน และคนต่างด้าวทั้ง 3 ประเภทข้างต้น ต้องดำเนินการตามแนวทางที่ประกาศทั้ง 2 ฉบับกำหนด เพื่อให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
"นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ดังนี้
1.) คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี
- นายจ้าง/สถานประกอบการ ดำเนินการแจ้งรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ โดยต้องยื่นเอกสารหลักฐานและรูปถ่ายคนต่างด้าว ตามที่กรมการจัดหางานกำหนด ระหว่างวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
- นายจ้าง/สถานประกอบการ พาคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจสุขภาพโรคต้องห้าม กับโรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564
- นายจ้าง/สถานประกอบการชำระค่าคำขอและค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงานผ่าน เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือ ธนาคารกรุงไทย จำนวน 1,900 บาท และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ให้กับคนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และโรคต้องห้าม พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่กรมการจัดหางานกำหนด ภายในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564
- คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน จะต้องไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตรสีชมพู ตามวิธีการและขั้นตอนที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
2.) คนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง/สถานประกอบการจ้างงาน รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี
- คนต่างด้าวต้องยื่นเอกสารหลักฐานและรูปถ่ายตามที่กรมการจัดหางานกำหนด ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมี 4 ภาษา คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ระหว่างวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
- คนต่างด้าวจะใช้แบบแจ้งข้อมูลบุคคล ในการเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจสุขภาพโรคต้องห้าม กับโรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564
- คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค จะต้องไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามวิธีการและขั้นตอนที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดภายในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564 (คนต่างด้าวจะได้รับใบจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร 38/1) เป็นหลักฐาน โดยที่ยังไม่ได้รับบัตรสีชมพู)
- คนต่างด้าวหานายจ้าง และลงทะเบียนรายชื่อคนต่างด้าวกับกรมการจัดหางาน และใช้บัญชีรายชื่อที่ได้การอนุมัติจากกรมการจัดหางาน ชำระเงินค่าคำขอและค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงานผ่าน เคาน์เตอร์เซอร์วิส และ ธนาคารกรุงไทย จำนวน 1,900 บาท และให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ให้กับคนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และโรคต้องห้าม พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด ภายในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564
- คนต่างด้าวไปปรับปรุงประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตรสีชมพู ตามวิธีการและขั้นตอนที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานในกิจการประมงทะเล จะต้องไปจัดทำหนังสือ คนประจำเรือ หรือ Seabook (เล่มสีเขียว) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) โดยมีค่าธรรมเนียม 100 บาท และเมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) พิจารณาเรียบร้อยแล้วคนต่างด้าวจะได้รับหนังสือคนประจำเรือ หรือ Seabook (เล่มสีเขียว) เป็นหลักฐาน ใช้คู่กับบัตรสีชมพูในการอยู่และทำงานในประเทศ" นายสุชาติฯ กล่าว
ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ