Monday, 24 June 2024
NEWS FEED

นายกเตรียมเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมทดลองนั่งรถไฟฟ้าไร้คนขับสายสีทอง เที่ยวแรก 16 ธ.ค. 63 นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานการเปิดบริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง 

โดยนายกรัฐมนตรีและสื่อมวลชน จะได้ร่วมโดยสารรถไฟฟ้าสายสีทองที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากสถานีกรุงธนบุรี ไปยังสถานีคลองสาน เพื่อเป็นการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง เที่ยวปฐมฤกษ์ ในวันพุธ ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2563 นี้ 

ด้วยการพัฒนาระบบรถขนส่งมวลชนแบบไร้รอยต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีทองนี้ ทำให้สามารถเชื่อมการเดินทางของประชาชนถึง 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เพิ่มทางเลือกในการเดินทางสำหรับประชาชน รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีทองยังเป็นระบบรถไฟฟ้าล้อยางไร้คนขับสายแรกของประเทศไทย ช่วยลดมลพิษและประหยัดพลังงานอีกด้วย

ทั้งนี้ การเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เพิ่มจำนวน 7 สถานี (สถานีพหลโยธิน59 สถานีสายหยุด สถานีสะพานใหม่ สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ สถานีแยกคปอ. และสถานีคูคต)

ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย เป็นผลให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประสบความสำเร็จ ในการเปิดให้บริการครบทุกสถานี  ตลอดเส้นทาง ทั้ง 59 สถานี รวมระยะทางกว่า 68 กิโลเมตร คาดว่าเมื่อรวมกับเส้นทางที่เปิดสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 1,500,000 เที่ยว/คนต่อวัน  

ขณะที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นโครงการขนส่งมวลชนขนาดรอง ระยะที่ 1 มีระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 สถานี คือ กรุงธน - เจริญนคร - คลองสาน  เป็นระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ Automated Guideway Transit (AGT) หรือรถไฟฟ้าระบบ Automated People Mover (APM)  คาดการณ์ผู้โดยสาร 42,000 เที่ยวคน/วัน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบล้อ ราง รวมทั้งการเดินทางด้วยเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้ง 14 สาย ระยะทางกว่า 553.41 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 9 เส้นทาง และตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าในทุกๆ ปี เช่น พ.ศ.2564 ได้แก่ สีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) สีแดงอ่อน (บางซื่อ–ตลิ่งชัน) ปี พ.ศ.2565 สีชมพู (แคราย-มีนบุรี)  สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และ ปี พ.ศ.2566  สีแดงเข้ม (รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต)  สีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) - สีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศิริราช) เป็นต้น  

"ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีการลงทุนพัฒนาระบบราง ทั้งรถไฟฟ้า​  รถไฟ​ทาง​คู่ รถไฟ​ทางสาย​ใหม่​ และ​รถ​ไฟความเร็ว​สูง​ที่อยู่รหว่างการดำเนินสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นแกนหลักการเดินทางและขนส่งของประเทศ ยกระดับการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ ให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน" โฆษกรัฐบาลกล่าวย้ำ

จับตาค่าเงินบาท - ตลาดหุ้นไทย สัปดาห์หน้า

ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสำหรับสัปดาห์หน้า (14 - 18 ธันวาคม พ.ศ.2563) โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 29.80 - 30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ 

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทของธปท. ผลการประชุมนโยบายการเงินของ Fed (15-16 ธ.ค.) เช่นเดียวกับกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนปัจจัยทางการเมืองและสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ 

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องติดตาม ได้แก่  ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟด สาขาฟิลาเดลเฟียเดือนธ.ค. ข้อมูลยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนพ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOJ และ BOE การเจรจาข้อตกลง BREXIT ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ย. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซนและอังกฤษเช่นกัน 


ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้า บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า จะมีแนวรับที่ 1,470 และ 1,455 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,500 และ 1,530 จุดตามลำดับ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ประเด็นการเมืองของไทย การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ สัญญาณตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ตลอดจนประเด็น Brexit เช่นเดียวกับข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ

ควบรวม FWD - SCBLIFE เห็นผล เบี้ยรับใหม่แซงขึ้นเบอร์ 1

การระบาดของไวรัส COVID-19 แม้จะทำให้คนตื่นตัวในเรื่องการซื้อประกันชีวิตและสุขภาพมากขึ้น แต่เมื่อดูในภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิต กลับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน

เมื่อมองย้อนกลับไปในรอบเกือบ 10 ปี จะเห็นว่า ธุรกิจประกันชีวิต เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตที่ถดถอยเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา จากตัวเลขการเติบโตติดลบเป็นปีแรกที่ -2.63% และในปีนี้ยังมีเคราะห์ซ้ำกรรมซัด โดนพิษ COVID-19 กระหน่ำซ้ำอีก

จากตัวเลขคาดการณ์โดยสมาคมประกันชีวิตไทย เมื่อต้นปีที่ประเมินว่าปี พ.ศ.2563 ธุรกิจประกันชีวิต จะไม่เติบโตจากปีที่แล้ว โดยตัวเลขจะอยู่ราว 6.1 แสนล้านบาท แต่จากรายงานสถิติเบี้ยประกันภัยล่าสุดของธุรกิจประกันชีวิต 10 เดือนแรก พบว่า เบี้ยรับรวมของธุรกิจประกันชีวิต มีทั้งสิ้น 477,220.39 ล้านบาท หรือ ติดลบ 3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2562

ส่วนเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ของธุรกิจประกันชีวิตทั้งระบบ 10 เดือนแรก รวมทั้งสิ้น 127,411 ล้านบาท แยกเป็นเบี้ยประกันภัยปีแรก 82,477.43 ล้านบาท ติดลบ 3% และเบี้ยประกันภัยแบบชำระครั้งเดียว (ซิงเกิลพรีเมี่ยม)  44,934.12 ล้านบาท ติดลบถึง 24% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี พ.ศ.2562

แต่ที่น่าสนใจ คือ โดยบริษัทเอฟดับบลิวดีประกันชีวิต (FWD) มีเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่สูงสุดอันดับ 1 จำนวน 25,031.91 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 19.65%

ทั้งนี้ ข้อมูลเบี้ยประกันภัยข้างต้นของบริษัท เอฟดับบลิวดี (ภายใต้นิติบุคคลใหม่) มาจากการควบรวมระหว่างบริษัท ไทยพาณิชย์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (SCB LIFE) และบริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)(FWD) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา จากเดิม SCB LIFE อยู่อันดับ 4 และ FWD อยู่อันดับ 6 ณ สิ้นปี 2562

การขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในส่วนของเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ของ เอฟดับบลิวดี ดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกที่มีบริษัทอื่น นอกจากเอไอเอ และเมืองไทยประกันชีวิต ที่สามารถสอดแทรกขึ้นมาได้

โดย 5 อันดับแรกของธุรกิจประกันชีวิต ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่สูงสุด 10 เดือนแรก ปี พ.ศ.2563 ประกอบด้วย

อันดับ 1 เอฟดับบลิวดี จำนวน 25,031.91 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 19.65%

อันดับ 2 เอไอเอ จำนวน 21,953.31ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 17.23%

อันดับ 3 เมืองไทยฯ จำนวน 17,104.07 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 13.42%

อันดับ 4 ไทยประกันชีวิต จำนวน 16,324.49 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 12.81%

อันดับ 5 กรุงไทย-แอกซ่า จำนวน 9,616.04 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 7.55%

ส่วน 5 อันดับแรกที่มีเบี้ยรับรวมสูงสุด

อันดับ 1 เอไอเอ จำนวน 111,990.54 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 23.47%

อันดับ 2 ไทยประกันชีวิต จำนวน 69,899.96 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 19.65%

อันดับ 3 เอฟดับบลิวดี จำนวน 67,337.85 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 14.11%

อันดับ 4 เมืองไทยฯ จำนวน 60,239.38 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 12.62%

อันดับ 5 กรุงไทย แอกซ่า จำนวน 44,078.34 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 9.24%

ทั้งนี้ ต้องติดตามดูว่าในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ธุรกิจประกันชีวิตทำยอดขายได้สูงสุดในรอบปี จะช่วยทำให้ตัวเลขธุรกิจประกันชีวิตติดลบได้น้อยกว่า 3% หรือไม่ และเอฟดับบลิวดี จะยังสามารถเข้าป้ายเป็นอันดับ 1 ในแง่เบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หรือไม่ อีกไม่นานคงได้รู้กัน

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (11 ธันวาคม พ.ศ.2563)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 11 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 4,180 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 60 ราย รักษาหายเพิ่ม 15 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 3,903 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 217 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 11 ราย เป็นสวีเดน 1ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย โปรตุเกส 1 ราย เกาหลีใต้ 1ราย บาห์เรน 2 ราย ซาอุดีอาระเบีย 2ราย เมียนมา 3 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 152 ราย รักษาหายแล้ว 147 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 356 ราย รักษาหายแล้ว 307 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 5.93 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.87 แสน เสียชีวิต 18,171 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 28 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 76,265 ราย รักษาหายแล้ว 65,124 ราย เสียชีวิต 393 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.03 แสน ราย รักษาหายแล้ว 81,715 ราย เสียชีวิต 2,174 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.46 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.09 แสน ราย เสียชีวิต 8,701 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,297 ราย รักษาหายแล้ว 58,188 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,385 ราย รักษาหายแล้ว1,225 ราย เสียชีวิต 35 ราย

ไต้หวันป้องกันโควิด-19 สุดเข้ม หากฝ่าฝืนมาตรการกักกัน ปรับหนักหลักแสนบาท!

ไต้หวัน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ปรับหนัก ปรับจริง สำหรับใครก็ตามที่ฝ่าฝืนมาตรการกักกันโควิด - 19 และเป็นไม้เด็ดที่ทำให้ไต้หวันสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

แต่ก็ยังไม่วาย มีคนอยากจะลองของ เมื่อไม่นานมานี้ มีคนงานต่างด้าวจากฟิลิปปินส์เดินทางเข้ามาทำงานที่ไต้หวัน และจำเป็นต้องเข้าสู่ระยะกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ตามมาตรการของรัฐ ซึ่งต้องอยู่แต่ภายในห้องพักที่จัดไว้ให้ในโรงแรงแห่งหนึ่งที่เมืองเกาสง

แต่พ่อหนุ่มตากาล็อก กลับเดินออกจากห้องพักนาน 8 วินาที โดยเข้าใจว่าถ้าเดินอยู่แค่ภายในโรงแรมก็ไม่เป็นไร ซึ่งผิดข้อกำหนดในการกักตัว ที่จะต้องอยู่แต่ในห้องพักเท่านั้น ห้ามออกมาจากห้องเลย ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตาม จึงโดนโทษปรับไปเบาะ ๆ 1 แสนดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 1 แสนบาท

ถึงจะโวยวายแค่ไหน แต่ก็ต้องจ่าย เพราะนี่ไม่ใช่เคสแรกที่พ่อหนุ่มตากาล็อก โดนปรับระดับแสน แต่ทางการไต้หวันสั่งจับจริง ปรับจริงมาแล้วหลายเคส

การฝ่าฝืนมาตรการ โควิด - 19 ที่ไต้หวันมีโทษปรับตั้งแต่ระดับหลักหมื่น ถึง 150,000 ดอลลาร์ไต้หวัน แต่นั่นก็ไม่ใช่เพดานสูงสุดของโทษปรับที่ตั้งไว้ ขึ้นอยู่กับเจตนา และผลกระทบกับชาวไต้หวันโดยรวมด้วย

เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีหนุ่มไต้หวันคนหนึ่งที่เพิ่งกลับจากประเทศย่านอาเซียน มีกำหนดให้กักตัวแต่ในบ้านนาน 14 วัน แต่เขากลับดอดออกไปเที่ยวไนท์คลับกลางเมืองไทเป

และถูกตำรวจจับได้กลางงานปาร์ตี้ ที่มีผู้ไปร่วมงานแออัดหนาแน่น สุ่มเสี่ยงที่จะเกิด Super Spreader ได้ง่าย ๆ เมื่อคำนวนตามค่าความเสี่ยง ก็เลยโดนโทษปรับไปถึง 1 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หายเมาไปหลายเดือนทีเดียว

จึงไม่แปลกใจที่เห็นว่า ทำไมไต้หวันจึงสามารถควบคุมการแพร่ระบาด โควิด - 19 ได้ดี ตลอดระยะเวลาเกือบปีที่มีการแพร่ระบาดทั่วโลก ที่ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อรวมเพียง 718 คน เสียชีวิตเพียง 7 คนเท่านั้น เพราะเขาแลกมาด้วยมาตรการที่เข้มงวด ไม่มีการผ่อนปรน ผิดปุ๊บ จับปั๊บ แม้จะล้ำเส้นมาแค่ไม่กี่วินาทีก็ตาม


แหล่งข่าว

https://bm.ge/en/article/man-fined-3500-for-breaking-taiwan-coronavirus-quarantine-for-8-seconds---cnn-/70599

https://hongkongfp.com/2020/03/23/coronavirus-taiwan-fines-man-us33000-breaking-quarantine-rule/

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4065484

https://www.worldometers.info/coronavirus/country/taiwan/

ห้ามลืม!! "ปุ่มเพิ่มเงิน" New Click คนละครึ่งเฟส 2 ย้ำกลุ่มสิทธิ์เดิมเฟสแรก "คลิกเพิ่ม" ได้เติมคนละ 500 บาท ส่วนสิทธิ์ใหม่หมดห่วง...เงินเข้าอัตโนมัติ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยอนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินโครงการซึ่งประกอบไปด้วย

1.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มี บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2

2.) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2

โดยเฉพาะกับโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 หรือเฟส 2 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานรากต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องต่อไปในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ซึ่งทางรัฐเองจะช่วยอุ้มเรื่องค่าใช้จ่ายด้านอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ในสัดส่วน 50% ของราคาสินค้าแต่ไม่เกินคนละ 150 บาทต่อวันเหมือนเดิม

สำหรับในส่วนของเฟส 2 นั้น แบ่งกลุ่มผู้สามารถใช้สิทธิ์ได้ ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสิทธิ์เดิม ไม่เกิน 10 ล้านคน ซึ่งจะได้รับเงินเพิ่มอีกคนละ 500 บาท จากเดิม 3,000บาท ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564 และผู้ลงทะเบียนใหม่ไม่เกิน 5 ล้านคน จะได้รับเงิน 3,500 บาททันที ซึ่งทั้งสองกลุ่มสามารถใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2564

แต่เรื่องนี้มีข้อแม้นิดหน่อย ตรงกลุ่มผู้ที่มีสิทธิ์เดิม 10 ล้านคน ที่อยากเข้าร่วมโครงการระยะ 2 หากต้องการ 500 บาทเพิ่มจะต้องกดปุ่มเพิ่มเงินที่จะเตรียมไว้ในแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เพื่อให้ยืนยันเข้าโครงการเฟส 2 ต่อ ถึงจะได้เงินเพิ่มเข้าไปอีก 500 บาท เป็น 3,500 บาท (เติมเงินเข้าไปเลยง่ายกว่าไหมเนี่ย?) ขณะที่กลุ่มผู้ลงทะเบียนใหม่ 5 ล้านคนจะได้ 3,500 บาทอัตโนมัติ

ส่วนใครโดนตัดสิทธิ์ในระยะแรกก็ไม่ต้องเสียใจไป เฟส 2 นี้เขาก็เปิดโอกาสให้ได้ลงทะเบียนกัน แต่ข้อย้ำกันสักหน่อยถ้าเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งแล้วจะใช้โครงการช้อปดีมีคืนไม่ได้แล้วนะจะบอกให้

ตามคาด!! "จีน" ยืนหนึ่งท่องเที่ยวไทย หลังทัวร์ล็อตแรกเข้าสยาม 1,201 คน

ปิดประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ไปนาน ตอนนี้ประเทศไทยก็ได้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มชาวต่างชาติที่ได้รับการผ่อนปรนเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเสียที ซึ่งจุดนี้ถือเป็นสัญญาณดีที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความมั่นใจในการควบคุมโควิด - 19 ได้และพร้อมกลับมาฟื้นฟูการท่องเที่ยวอีกครั้ง

ทว่าตามหากพิจารณาถึงสถานการณ์ตั้งแต่เดือน มกราคม - ตุลาคม พ.ศ.2563 พบว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยอยู่ที่ 6.7 ล้านคน ซึ่งลดลงไปกว่า 25.89 ล้านคนหรือติดลบกว่า 79.46% เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นรายได้อยู่ที่ 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 1.21 ล้านล้านบาท หรือ ติดลบ 78.43% โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมรายได้จากนักท่องเที่ยวในช่วงเปิดใหม่เดือนตุลาคม รวมถึงข้อมูลมูลค่าค่าใช้จ่ายที่เกิดจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตกค้างในประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 ที่เปิดให้กลุ่มชาวต่างชาติที่ได้รับการผ่อนปรนเข้ามาในไทยนั้น ทาง พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้เผยว่า

"ตัวเลขของกลุ่มวีซ่าประเภทพิเศษ หรือสเปเชี่ยล ทัวร์ริส วีซ่า, ผู้ถือบัตรสมาชิกไทยแลนด์อีลิทและกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยนั้นมีอยู่ 1,201 คน โดยถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนติดลบอยู่ 99.96% เหตุเพราะมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด - 19 ทำให้การเดินทางมีอุปสรรคค่อนข้างมาก ทั้งจำนวนเที่ยวบินที่ลดลงมาก การกักตัว 14วัน และการห้ามเดินทางหรือการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ"

ทั้งนี้หากพิจารณาถึงกลุ่มชาวต่างชาติที่ได้รับการผ่อนปรนจะแยกเป็น กลุ่มสเปเชี่ยล ทัวร์ริส วีซ่า 272 คน / กลุ่มผู้ถือบัตรสมาชิกไทยแลนด์อีลิท159 คน และนักท่องเที่ยวกลุ่มที่รัฐผ่อนปรนให้ 770 คน

โดย 10 อันดับของประเทศที่เดินทางเข้ามามากที่สุดยังคงเป็น ประเทศจีน 471 คน รองลงมาคือ กัมพูชา 231คน และคูเวต 89 คน ที่เหลือคือ ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, ฮ่องกง, ฝรั่งเศส และไต้หวัน

ศบค.มท. สั่งเข้ม มาตรการควบคุมโควิด-19 ต้องข้น! หน่วยปฏิบัติท้องถิ่นต้อง "สกัด - ติดตาม" ผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างเคร่งครัด

แอบคิดว่าปีใหม่นี้จะได้มีโอกาสออกไปใช้ชีวิตและเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็เกิดปัญหาใหญ่อย่างกลุ่มคนกลับเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่พร้อมพกโรคโควิด - 19 กลับมาด้วย

ทั้งนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย หรือ ศบค.มท. ได้เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด - 19 จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้จังหวัดต่าง ๆ แจ้งหน่วยปฏิบัติ ผู้ปกครองท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สกัดกั้นและติดตามผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างเคร่งครัด

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี ด้าน ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้ดำเนินการตาม 3 มาตรการ ได้แก่

1.) ประสานแจ้งหน่วยปฏิบัติในพื้นที่สกัดและติดตามการลักลอบเข้าเมืองโดยไม่ผ่านการคัดกรองโรค โดยเฉพาะการลักลอบเข้าตามเส้นทางธรรมชาติ

2.) แจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครในพื้นที่ เป็นหูเป็นตาและเฝ้าสังเกต นอกจากนั้นยังใช้การวางข่ายข่าว โดยการจัดตั้งแหล่งข่าว และอาจมีการตั้งด่านคัดกรองโรคสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยถ้ามีการตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

3.) กำชับไม่ให้ข้าราชการ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ละเลยหน้าที่หรือรู้เห็นเป็นใจกับพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง

ก็ได้แต่หวังว่ามาตราการต่าง ๆ ที่รัฐกำชับออกไปจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเจ้าโควิด - 19 ได้ เพราะตอนนี้เชื่อว่าพ่อแม่พี่น้องหลาย ๆ คนก็คงหวั่นใจว่า โควิด - 19 จะมีระลอกสองหรือไม่ เมื่อเป็นแบบนี้ก็คงต้องฝากความหวังไว้กับมาตราการของทางรัฐที่น่าจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคนไทยจะได้กลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติในเร็ววัน

ฮาวานา ซินโดรม ทำสหรัฐผวา!

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศสหรัฐอเมริกามีการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้ว เกี่ยวกับอาการแปลก ๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคลากร รวมถึงตัวท่านทูตสหรัฐประจำกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่มักเกิดอาการปวดศีรษะ วิเวียน หน้ามืด ตาลาย ถึงขนาดคลื่นไส้อาเจียนก็มี

ซึ่งไม่ใช่มีแค่เฉพาะเจ้าหน้าที่ในสถานทูตสหรัฐเท่านั้น แต่ที่สถานทูตแคนาดา ที่กรุงฮาวานา ก็มีเจ้าหน้าที่เกิดอาการเช่นนี้เหมือนกัน จึงเรียกอาการเหล่านี้รวมๆกันว่าเป็น Havana Syndrome หรือ โรคฮาวานา

Havana Syndrome เริ่มมีกระแสข่าวลือมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 ที่สหรัฐยังหาสาเหตุไม่ได้ แต่ก็ตั้งข้อสงสัยไว้แล้วว่าคงโดนคิวบาวางยาแน่ ๆ

ต่อมามีรายงานว่าเกิดอาการ Havana Syndrome กับเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐในกวางโจว ประเทศจีนเช่นเดียวกัน

นั่นไง คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ!!!

หลังจากที่ค้นหาสาเหตุมาเป็นปี ในที่สุด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ National Academies of Sciences ในสหรัฐได้ออกมายืนยันว่า อาการดังกล่าวเกิดจากผลข้างเคียงที่ร่างกายได้รับคลื่นวิทยุความถี่สูง แบบที่เคยมีการใช้ในสหภาพโซเวียตช่วงยุคสงครามเย็นเมื่อ 50 กว่าปีก่อน แต่ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นคลื่นวิทยุที่เกิดจากการโจมตีโดยเจตนา หรือเป็นคลื่นที่ปล่อยจากอาวุธทางทหารหรือเปล่า

ประเด็นเรื่อง Havana Syndrome ทำให้สหรัฐมีปัญหากับรัฐบาลคิวบามาหลายปี โดยสหรัฐกล่าวหาว่ารัฐบาลคิวบาโจมตีสถานทูตสหรัฐด้วยคลื่นเสียงปริศนา แต่ถึงจะยังไม่รู้ที่มา รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมพ์ ก็มีการไล่ทูตคิวบาที่ประจำอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กลับทันที ถึง 2 คน เมื่อปี ค.ศ.2017 เป็นการตอบโต้ แม้ว่ารัฐบาลคิวบาจะปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่รู้ ไม่เห็นก็ตาม

แต่เมื่อมีการยืนยันว่า เกิดจากคลื่นวิทยุความถี่สูงที่มารบกวนการทำงานของประสาท ยิงมาจากที่ไหน ด้วยอะไร ไม่อาจรู้ได้ แต่ทำให้เกิดอาการโรคฮาวานาได้

ดังนั้น Havana Syndrome จึงกลายเป็นความหวาดระแวงรูปแบบใหม่ ที่เจ้าหน้าที่สหรัฐอาจต้องเจอเมื่อต้องไปประจำในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีเรื่องมีราวกับสหรัฐเป็นพิเศษ

และหากเจ้าหน้าที่สหรัฐไปเยือนประเทศไหนก็ตามแล้วเกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียน หูตาลายขึ้นมา แล้วตั้งข้อสงสัยว่าเป็น Havana Syndrome ขึ้นมา คงสืบกันให้วุ่น แถมมองหน้ากันลำบากเป็นแน่แท้


แหล่งข่าว

The Guardian

https://www.theguardian.com/us-news/2020/dec/06/havana-syndrome-directed-radio-frequency-likely-cause-of-illness-report

https://www.theguardian.com/world/2017/aug/09/cuba-embassy-diplomats-expelled-washington

Wikipedia

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Havana_syndrome


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top