Sunday, 12 May 2024
NEWS FEED

รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอตั้งกองทุนการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทย และดูแลหากประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยในประเทศไทย ชงมาตรการจ่ายคนละครึ่งช่วยแรงงานภาคท่องเที่ยว 4 แสนคน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติครั้งที่ 1/2564 ถึงมาตรการการช่วยเหลือการท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ว่า ในการประชุมวันนี้เป็นเรื่องนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติและเรื่องกองทุนการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทย และดูแลหากประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยในประเทศไทย คล้ายกับภาษีซาโยนาระของประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่า เมื่อเข้ามาในประเทศไทยและประสบอุบัติเหตุบริษัทประกันที่นักท่องเที่ยวทำไว้จะต้องดูแลตามขั้นตอนจนกระทั่งกลับประเทศ

เมื่อถามว่าค่าใช้จ่ายการทำประกัน ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวต้องเป็นผู้จ่าย โดยประเมินว่านักท่องเที่ยว 1 คนจะต้องจ่าย 10 ดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลและกรณีเสียชีวิต ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยงและกีฬาจะเก็บเงินส่วนนี้เข้ากองทุน และที่ผ่านมาก็อยากมีกองทุนของตัวเองเพื่อใช้เยียวยาผู้ประกอบการการท่องเที่ยว โดยที่ประชุมวันนี้จะหารือในเรื่องนี้ด้วย หากได้รับความเห็นชอบจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่ากระทรวงการท่องเที่ยว มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรบ้าง นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากการหารือกับสมาคมต่าง ๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม สมาคมการจัดประชุม ได้ข้อสรุปว่าจะมีการผ่อนผันดอกเบี้ยเงินต้น การเข้าถึงซอฟท์โลน และช่วยเหลือแรงงานในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะในภาคส่วนโรงแรม จากนี้จะไปหารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานประมาณ 4 แสนคน ในลักษณะการแบ่งจ่ายคนละครึ่ง รัฐบาลจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบการจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 เดือน คือเดือนก.พ.และมี.ค. โดยมีเงื่อนไขผู้ประกอบการจะต้องไม่ปลดพนักงานออก จะเยียวยา

เมื่อถามว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ติดตามการช่วยเหลือสายการบินที่เคยเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องซอฟท์โลนหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงคมนาคม ก็สอบถามไปยังกระทรวงการคลัง รวมถึงยังมีการหารือในครม.หลายครั้ง คาดว่าจะเยียวยาได้ทันก่อนที่จะเริ่มมีการเดินทาง ขอย้ำว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยและใครทิ้งไว้ข้างหลังเหมือนที่นายกฯ พูดไว้

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (14 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 271 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 11,262 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 รวมยอดผู้เสียชีวิต 69 ราย รักษาหายเพิ่ม 717 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 7,660 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3,533  ราย


ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากปากีสถาน 2 ราย ,ฮังการี 1 ราย ,สหราชอาณาจักร 2 ราย ,สหรัฐอเมริกา 1 ราย ,รัสเซีย 1 ราย ,เนเธอร์แลนด์ 1 ราย ,แคนาดา 1 ราย ,เยอรมนี 1 ราย ,อินโดนีเซีย 1 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ เป็นคนไทย 1 ราย จากมาเลเซีย
ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 78 ราย
ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 181 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้
ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 174 ราย รักษาหายแล้ว 168 ราย เสียชีวิต 3 ราย
ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 411 ราย รักษาหายแล้ว 377 ราย  ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 8.58 แสน ราย รักษาหายแล้ว 7.03 แสน เสียชีวิต 24,951 ราย
ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.45 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.12 แสน ราย เสียชีวิต 563 ราย
ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.32 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.16 แสน ราย เสียชีวิต 2,902 ราย
ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.93 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.59 แสน ราย เสียชีวิต 9,699 ราย
ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,984 ราย รักษาหายแล้ว 58,722 ราย เสียชีวิต 29 ราย
ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,521 ราย รักษาหายแล้ว 1,369 ราย เสียชีวิต 35 ราย

จากกรณีที่รายงานเรื่องของประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค จากประเทศจีน ล่าสุด ‘ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ’ ออกมาไขข้อสงสัยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้ว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โควิด-19 วัคซีน ผลการศึกษาประสิทธิภาพจึงต่างกัน ผลของประสิทธิภาพวัคซีนในการศึกษาต่างสถานที่ ต่างกลุ่ม ประสิทธิผลทำไมไม่เท่ากัน

เพราะการประเมินประสิทธิภาพ จะประเมินอะไร ป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันการเกิดโรค (ติดเชื้อได้แต่ไม่เป็นโรค) เป็นโรคแต่ไม่รุนแรง เช่นไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่เสียชีวิต

ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 จะประเมินตรงไหน ต้องชี้แจงให้ละเอียด ไม่ใช่บอกแต่ตัวเลข

ประเด็นที่ 2 ที่มีการประเมินผลวัคซีนเดียวกัน ทำในสถานที่และประชากรต่างกัน ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากรที่ศึกษา ทำให้ผลต่างกัน เช่น การศึกษาวัคซีน HIV ในประเทศไทย ได้ประสิทธิภาพป้องกันกันโรคได้ 30% ศึกษาที่แอฟริกา ได้ 0% เพราะ แอฟริกา มีความเสี่ยงสูงกว่าไทย

ในทำนองเดียวกัน การศึกษาวัคซีนท้องเสียโรตาในแอฟริกา ประเทศเมารี ได้ประสิทธิภาพ ร้อยละ 50 แต่ใช้วัคซีนเดียวกัน ทำในยุโรปได้ประสิทธิภาพสูง 83-90% เพราะแอฟริกาเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค และการติดโรคได้สูงกว่าในยุโรป

ทำนองเดียวกันการศึกษาโควิดวัคซีน ถ้าทำในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ย่อมมีประสิทธิภาพป้องกันในการศึกษาต่ำกว่า การศึกษาในประชากรทั่วไป ที่มีความเสี่ยงต่ำ

การศึกษาของวัคซีนของจีนประสิทธิภาพที่จีนประกาศ 79% โดยรวม ตุรกี ประกาศผลประชากรทั่วไปได้ 91% และอินโดนีเซียได้ 65% ตัวเลขต่างกัน คือ บราซิลในบุคลากรทางการแพทย์ ได้ 50.4%

ดังนั้นประสิทธิภาพของวัคซีนในแต่ละตัว การแปลผลจะต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงตัวเลข


Cr เพจ Yong Poovorawan

กระทรวงพาณิชย์ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) แห่งชาติ ตั้งเป้าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน e-commerce อย่างเป็นรูปธรรม คาดภายในปี 2565 สร้างรายได้กว่า 5.35 ล้านล้านบาท

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กระทรวงพาณิชย์ประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) แห่งชาติ ตั้งเป้าเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อน e-commerce ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม คาดภายในปี 2565 สร้างรายได้กว่า 5.35 ล้านล้านบาท

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปัจจุบันการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce ได้เข้ามีบทบาทต่อชีวิตของคนเราอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลให้การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจากการสำรวจโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พบว่ามูลค่า e-Commerce ประเทศไทยในปี 2562 มีมูลค่ารวม 4.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.91% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เองนั้น ในปี 2564 ได้เดินหน้าผลักดันการค้าออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ การปั้นเด็ก Gen Z to be CEO , การผลักดันผู้ผลิตและผู้ส่งออกให้เป็นผู้ค้าออนไลน์, การพัฒนาตลาดสด ร้านธงฟ้า ให้สามารถขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้, การสร้างยี่ปั้วออนไลน์เพื่อให้เป็นฟันเฟืองเชื่อมโยงสินค้าของ SME รายเล็กเข้าสู่ช่องทางออนไลน์สู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการผลักดันสร้างทีมเซลส์แมนจังหวัดเผยแพร่ความรู้เรื่องการค้าออนไลน์ให้กับผู้ผลิตในระดับฐานรากอีกด้วย

สำหรับคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ชุดนี้ เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง กว่า 30 หน่วยงาน อาทิ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เป็นต้น เพื่อร่วมขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ

ดร.สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั้น ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564-2565) ฉบับนี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน 4 ด้าน ได้แก่

1. การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (e-Marketplace) เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศและการค้าข้ามพรมแดน (Enhancement and Promotion)

2. การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecosystem and Enabling Factors)

3. การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust and Sustainability)

4. การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Competency Building)

ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะขยายการเติบโตของมูลค่า e-Commerce ของประเทศได้อย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมตั้งเป้าการเพิ่มการเติบโตของ e-Commerce ให้ได้ปีละ 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 5.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.33 ล้านล้านบาทภายในปี 2565

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แจงฝ่ายค้านพร้อมยื่นญัตติซักฟอกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ม.ค. โดยประเด็นหลักที่จะอภิปราย มีหลายเรื่องประกอบกัน ทั้งโควิด-19 สภาวะเศรษฐกิจ และทุจริต แย้มขยายสมัยประชุมสภาฯ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า คาดว่าจะยื่นต่อประธานสภาฯ ในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนม.ค. แต่ภายหลังเลขานุการประธานสภาฯ ได้ประสานมายังผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ บอกว่าอยากจะให้ยื่นเร็วหน่อย ก็เลยตั้งใจไว้ว่าถ้าเป็นไปได้ อาจจะยื่นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนม.ค. โดยจะมีความชัดเจนในวันที่ 15 ม.ค.นี้ เพราะเราจะมีการหารือกันกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อสรุปประเด็นครั้งสุดท้าย

เมื่อถามว่าในส่วนของพรรคพท. จะขอเปิดอภิปรายรัฐมนตรีกี่คน นายประเสริฐ กล่าวว่า ตอนนี้ข้อมูลมาจากหลายทาง และมีข้อมูลหลักๆ อยู่ เพราะฉะนั้นในส่วนของพรรคพท.ข้อมูลทุกอย่างจะเรียบร้อย ส่วนจะมีใครบ้างจะต้องหารืออีกครั้ง เรียกว่าข้อมูลพาดพิงไปถึงใคร ถึงรัฐมนตรีท่านใดก็อภิปรายท่านนั้น แต่ตัวนายกฯ ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ก็อยู่ในประเด็นที่จะอภิปรายอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าประเด็นหลักที่จะอภิปราย จะเน้นไปที่การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 หรือประเด็นใดเป็นหลักหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า มีหลายเรื่อง เรื่องโควิด-19 ก็เรื่องหนึ่ง มีเรื่องสภาวะเศรษฐกิจ เรื่องทุจริต หลายเรื่องประกอบกัน ส่วนเรื่องหลักฐาน ขอให้รอวันอภิปรายเพราะยังเปิดเผยไม่ได้ แต่ยืนยันว่าเรามีข้อมูลเพียงพอถึงขนาดที่จะดำเนินการต่อที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อ

เมื่อถามย้ำว่ารายชื่อมีนายกฯ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่จะถูกอภิปรายหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ขอยังไม่เปิดเผยตอนนี้ เพราะอยากรอผลสรุปให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งก่อน ส่วนผู้ที่จะนำอภิปรายจะมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคพท. ที่จะเป็นผู้อภิปรายหลักอีกคน

เมื่อถามว่าประธานสภาฯ ได้รับปากแล้วว่าจะอภิปรายได้ทันในสมัยนี้ใช่หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ท่านบอกว่าอยากให้เร็วหน่อย เพราะเกรงว่าในสถานการณ์โควิด-19 การประชุมสภาฯ จะเป็นอย่างไรก็ยังไม่ทราบ และถ้าจะเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ท่านเกรงว่าในช่วงการเปิดวิสามัญ จะสามารถทำได้สะดวกเพียงใด ในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จริงๆ แล้วเราได้หารือในพรรคพท.เบื้องต้น สิ่งหนึ่งที่เรากังวล เราเหลือเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เพราะว่าจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ. ถ้าเป็นไปได้ในเดือนม.ค. เรามีการประชุมสภาฯ เพียงไม่กี่วัน เราพ้นมาสิบกว่าวันยังไม่มีการประชุมสักวัน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ถ้ามีการขยายสมัยประชุมสภาฯ เกินกว่าวันที่ 28 ก.พ.ไป จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และไม่จำเป็นต้องไปเปิดประชุมสมัยวิสามัญ

เมื่อถามว่าแนวทางนี้จะต้องขอไปยังรัฐบาลใช่หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ใช่ เพราะเหมือนเป็นการชดเชยเวลาที่เสียไป

เมื่อถามย้ำว่า โอกาสที่จะไปอภิปรายในสมัยวิสามัญเป็นไปได้หรือไม่ เพราะตอนนี้เวลาค่อนข้างจำกัด นายประเสิรฐ กล่าวว่า การเปิดประชุมสมัยวิสามัญเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร และการใช้เสียงสมาชิกเกินกว่ากึ่งหนี่ง จะเป็นอย่างไรก็ยังไม่ทราบ แต่การขยายเวลา เราก็สามารถที่จะมีเวลาที่มากขึ้นเพื่อชดเชยเวลาประชุมที่เสียไป 3 สัปดาห์แล้ว และในสัปดาห์หน้าประธานสภาฯ ก็ยังไม่ได้แจ้งว่ามีการประชุมหรือไม่ ยังไม่ได้แจ้งวาระการประชุมมา ซึ่งทางพรรคพท.ก็คอยอยู่

เมื่อถามว่าทางฝ่ายค้านจะต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดใช่หรือไม่ เพราะถ้าไปล่าช้าจะถูกบีบในช่วงท้าย ทำให้เวลาถูกลดเหมือนครั้งที่ผ่านมา นายประเสริฐ กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะถ้าเทียบกับปีที่แล้ว จริงๆ ได้ยื่นญัตติก่อนเป็นเวลาพอสมควร แต่ถึงเวลาอภิปรายจริงๆ ปีก่อนอภิปรายวันที่ 26-28 ก.พ.และปิดสมัยการประชุมเลย เราก็ไม่อยากให้เป็นเหมือนปีที่แล้ว เราอยากให้มีเวลาอภิปรายพอสมควร พี่น้องประชาชนได้รับฟังข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และที่สำคัญปีที่แล้วที่เราอภิปรายข้ามเวลาเที่ยงคืน พี่น้องประชาชนหลายท่านไม่ได้ติดตาม เขาก็บ่นมา เราก็อยากอภิปรายในเวลาที่ประชาชนสามารถรับฟังได้ในเวลาปกติด้วย

เมื่อถามย้ำว่าจะต้องยื่นภายในสัปดาห์หน้าใช่หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า เราก็คาดว่าอย่างนั้น และขอหารือในวันที่ 15 ม.ค.อีกครั้ง

รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ แจง แนวทางขอใช้ที่ดิน เพื่อประโยชน์สาธารณะ ย้ำ รัฐไม่ขัดข้องแต่ต้องเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก ยกกรณีคณะสงฆ์เชียงรายขอใช้ที่ดินฯ ดำเนินการจนแล้วเสร็จ

ที่กระทรวงมหาดไทย มีการเปิดเผยถึงกรณีคณะสงฆ์จังหวัดเชียงรายมีปัญหาการก่อสร้างพุทธมณฑลในจังหวัดเชียงราย ที่มีพระเชียงแสนสิงห์องค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูงกว่า 30.09 เมตร ประดิษฐานอยู่ แต่ติดขัดในที่ดินของพุทธมณฑล ยังไม่สามารถที่จะถ่ายโอนไปยังหน่วยงานของรัฐได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากยังเป็นที่สาธารณประโยชน์ (น.ส.ล.) จึงต้องมีการเร่งรัดให้มีการดำเนินการที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย

โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่กำกับดูแลกรมที่ดิน ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า "ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ เพื่อให้ทบวงการเมืองใช้ประโยชน์ในราชการในท้องที่ ตำบลบัวสลี อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นไปตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอให้จัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ แปลง "ที่เลี้ยงสัตว์หมู่ที่ 15" ในท้องที่ตำบลบัวสลี อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งพุทธมณฑลสมโภช 750 ปี เมืองเชียงราย

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐดังกล่าว เพื่อให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งพุทธมณฑลสมโภช 750 เมืองเชียงราย ภายในแนวเขตตามที่กำหนดในท้ายประกาศ ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 และได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา"

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐพร้อมดำเนินการให้อย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว ซึ่งเราต้องมองไปถึงเรื่องของการใช้ที่ดินที่ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ อย่างกรณีคณะสงฆ์จังหวัดเชียงรายเสนอให้ดำเนินการมานั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ขอเพียงแค่ให้มีการตรวจสอบหลักฐานและดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายเท่านั้น ซึ่งพร้อมดำเนินการให้ทุกแห่ง"

ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินการจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ เพื่อให้ทบวงการเมืองใช้ประโยชน์ในราชการตามมาตรา 8 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั้น ผู้ขอซึ่งเป็นทบวงการเมืองให้ยื่นเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและในเขต กทม.ให้ยื่นต่ออธิบดีกรมที่ดิน โดยที่ดินที่ขอต้องอยู่ในบริเวณที่กำหนดความเหมาะสมใช้ประโยชน์ในราชการ และไม่ขัดกฎหมายผังเมือง จากนั้นอำเภอหรือเขตท้องที่สอบสวนประวัติความเป็นมาพร้อมให้ความเห็น โดยผู้ขอใช้จัดทำแผนที่ท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย พร้อมจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประชุมให้ความเห็น และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งจังหวัดก็จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและจะประกาศจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐกำหนด 30 วัน

ครบกำหนดและไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็ให้สรุปเรื่องส่งต่อไปยังกรมที่ดินตรวจสอบเรื่อง โดยดำเนินการตามระเบียกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพ การจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชนในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2550 และยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย พร้อมรูปแผนที่ และเสนอให้รัฐมนตรีลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทยและลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะต้องดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยถอนการหวงห้ามไปในคราวเดียวกันอีกด้วย

กระทรวงแรงงาน เปิดให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ดำเนินการแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง และคนต่างด้าวลงทะเบียนแจ้งข้อมูลบุคคลผ่านระบบออนไลน์ สำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา)

สำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งได้รับการผ่อนผันตามมติครม. เริ่มวันแรก 15 ม.ค. 64 ถึง 13 ก.พ. 64

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทยและผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนต่างด้าวเป็นอย่างยิ่ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ระลอกใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัด รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด มีการปรับแผนปฏิบัติการเชิงรุก รวมทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

“ตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอแนวทางเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ให้อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่ เพื่อชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ พร้อมกับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จากภายนอกประเทศ

ซึ่งมีเป้าหมายเป็นคนต่างด้าว 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน 2.คนต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงาน 3.ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยนายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง และคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้างแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ได้ตั้งแต่ วันที่ 15 มกราคม - 13 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นขั้นตอนแรก เพื่อเข้าสู่กระบวนการ ตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการว่า สำหรับขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่

- กรณีคนต่างด้าวมีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1. แจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว - ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารใบแจ้งชำระเงินค่าใบอนุญาตทำงาน ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

2. ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ - ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม กิจการทั่วไป 7,200 บาท และกิจการประมงทะเล 7,300 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

3. ยื่นคำขออนุญาตทำงาน - ให้นายจ้างชำระค่าคำขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564

4. จัดทำทะเบียนประวัติ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง โดยนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปยื่นเป็นหลักฐาน ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรชมพู 60 บาท

- กรณีคนต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1. คนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th - ให้คนต่างด้าวแนบรูปถ่าย และพิมพ์หลักฐานการรับแจ้งข้อมูลบุคคลจากระบบออนไลน์ ซึ่งให้บริการ 4 ภาษา คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

2. ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ - คนต่างด้าวใช้แบบแจ้งข้อมูลบุคคล เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม 7,200 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

3. จัดทำทะเบียนประวัติ - คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค จะต้องไปทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรสีชมพู 60 บาท (ในขั้นตอนนี้คนต่างด้าวยังไม่ได้รับบัตรสีชมพู)

4. คนต่างด้าวหานายจ้างและยื่นคำขออนุญาตทำงาน - ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารจากในระบบออนไลน์ เพื่อไปชำระค่าคำขอรับใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564

5. ปรับปรุงทะเบียนประวัติ - คนต่างด้าวนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานกิจการประมงทะเล ต้องไปทำหนังสือคนประจำเรือ หรือ Sea book ณ กรมประมง เป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยมีค่าธรรมเนียม 100 บาท และเมื่อกรมประมงพิจารณาเรียบร้อยแล้วจะได้รับหนังสือคนประจำเรือ เป็นหลักฐานใช้คู่กับบัตรสีชมพูในการอยู่และทำงานในประเทศ

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

ครม. ยืดระยะเวลา ปล่อยกู้ซอฟท์โลนถึงกลางปีนี้ ขยายมาตรการสินเชื่อในโครงการต่างๆ ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการอิสระ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

รัฐมนตรีทบทวนมติ ครม. เกี่ยวกับมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 และมาตรการช่วยเหลือ SMEs โดยอนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาการขอสินเชื่อและพิจารณาสินเชื่อออกไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ปีนี้ รายละเอียดดังนี้

1. มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย) ให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยยังคงเหลือวงเงินภายใต้โครงการ อีก 2,142 ล้านบาท

.

2. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ซึ่งธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ จำนวน 20,000 ล้านบาทและ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำหรือเกษตรกรรายย่อย ให้ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งรวม 2 ธนาคาร มีวงเงินคงเหลือทั้งสิ้น 14,365 ล้านบาท ธนาคารออมสินยังเหลือวงเงิน 2,990 ล้านบาท และธ.ก.ส. ยังมีวงเงินคงเหลืออีก 11,375 ล้านบาท

3. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ของธนาคารออมสิน จำนวน 5,000 ล้านบาท ให้จัดสรรวงเงินที่เหลือ 2,987 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินไปดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ และรวมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ภัยทางเศรษฐกิจ และภัยทางธรรมชาติ

4. โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ของธนาคารออมสิน : ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 วงเงินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก จำนวน 10,000 ล้านบาท ยังคงมีวงเงินสินเชื่อคงเหลืออยู่อีกจำนวน 7,425 ล้านบาท หากรวมวงเงินจากโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ฯ ธนาคารออมสินที่เหลือ 2,987 ล้านบาท จะมีวงเงินในการปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ รวมทั้งสิ้น 10,412 ล้านบาท

ทั้งนี้ การขยายมาตรการสินเชื่อในโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการอิสระ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอน

เลขาพรรคก้าวไกล ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ จี้หยุดใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมือง อัดตำรวจทำเกินกว่าเหตุ เผย "ก้าวไกล" เตรียมเสนอชุดร่างแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออก

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีตำรวจนำกำลังเข้าจับกุม นายศิริชัย นาถึง หรือ นิว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อช่วงเวลาประมาณ 5 ทุ่ม ของวานนี้ (13 ม.ค.) จากข้อหาตามมาตรา 112 โดยกล่าวหาว่า เขากระทำความผิดจากการพ่นข้อความ "ยกเลิกมาตรา 112" และ "ภาษีกู" ว่า ตนเห็นว่านี่เป็นอีกครั้งที่เจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จนกลายเป็นเครื่องมือในการปราบปรามทางการเมือง ซึ่งในกรณีของนิว เจ้าหน้าที่ไม่มีเหตุผลที่จะต้องออกหมายจับก่อนออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาตามขั้นตอนปกติ

นอกจากนี้ยังเป็นการบุกจับกุมในยามวิกาล ละเมิดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ไม่ให้ติดต่อทนายความ และมีการบุกค้นสถานที่พักก่อนแสดงหมายค้น และกรณีดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แถลง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับ รวมทั้งมาตรา 112 ต่อนักเรียน นักศึกษาที่ออกมาชุมนุม และแสดงออกทางการเมือง เพื่อให้บ้านเมืองสงบ ส่งผลให้ถึงขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 แล้ว 40 รายใน 28 คดี โดยผู้ถูกดำเนินคดีที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 16 ปี

"พรรคก้าวไกลยืนยันว่านโยบายเช่นนี้ของรัฐบาล ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในการรับมือต่อการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียน นักศึกษา ที่มีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะนอกจากจะไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองได้แล้ว การบังคับใช้มาตรา 112 ในสถานการณ์ปัจจุบัน จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนแย่ลงในสังคมประชาธิปไตย ผมหวังว่านิวจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ เพื่อสามารถออกมาใช้สิทธิในการต่อสู้คดีและขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้มาตรา 112 รวมทั้งกฎหมายความมั่นคงอื่นๆ เป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมืองและละเมิดสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน" นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ เมื่อสภาเปิดประชุมอีกครั้ง พรรคก้าวไกลจะยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั้งหมด รวมถึง มาตรา 112, ร่างแก้ไข พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560, และร่างแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพื่อคุ้มครองและประกันเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนตามหลักการขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย.

ประสบการณ์ไม่รู้ลืม!! ภาพบาดใจประชาธิปไตยสหรัฐฯ! ทหารนอนเกลื่อนรัฐสภา ราวกับครั้งเกิดสงครามกลางเมือง ช่วงทศวรรษ 1860

กำลังพลจากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิหลายร้อยนายต้องหลับนอนบนทางเดินของอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าเป็นครั้งแรกที่ทหารมาปักหลักค้างคืน ณ ที่แห่งนี้ นับตั้งแต่คราวเกิดสงครามกลางเมืองในช่วงทศวรรษ 1860

ภาพต่างๆ จากตอนเช้าวันพุธ (13 ม.ค.) พบเห็นกำลังพลจากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิพร้อมรบ กำลังหลับนอนอยู่เกือบทั่วทุกหนทุกแห่งของอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ จำนวนมาก พร้อมปืนไรเฟิลจู่โจมอยู่เคียงข้างกาย

กองทหารเข้าประจำการและหลับนอนในอาคารรัฐสภา หลังได้รับการร้องขอในตอนเวลา 18.00 น.ของวันอังคาร (12 ม.ค.) โดยเวลานี้คาดหมายว่ามีกำลังพลของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิอย่างน้อยๆ 20,000 นายอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ท่ามกลางความกังวลที่มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อภัยคุกคามเกิดจลาจลรุนแรง ก่อนพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของโจ ไบเดน ในวันพุธหน้า (20 ม.ค.)

ในภาพที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน พบเห็นบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องก้าวข้ามร่างของกำลังพลจากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเพื่อเข้าไปประชุมสภา ที่เปิดพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อเหตุจลาจลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ต้องส่งทหารเข้าประจำการรักษาความปลอดภัย

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรายหนึ่งของรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า “มันเป็นครั้งแรกที่มีทหารมาป้วนเปี้ยนในรัฐสภานับตั้งแต่สงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1860”

การปรากฏตัวของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ มีขึ้นจากความล้มเหลวด้านการประสานงานที่ทำให้กำลังพลของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิไม่ได้ถูกเรียกเข้ามาช่วยเหลือตำรวจรัฐสภาครั้งเกิดเหตุอลหม่านเมื่อวันพุธที่แล้ว จนกระทั่งตำรวจถูกบรรดาผู้ชุมนุมบุกฝ่าเข้าไปอย่างง่ายดาย ก่อความวุ่นวายแก่ที่ประชุมรับรองชัยชนะในศึกเลือกตั้งของไบเดน

เดิมทีก่อนหน้าเกิดจลาจล ทางกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิของวอชิงตัน ดี.ซี. คาดหมายเพียงแค่จะส่งกำลังพลเพียง 340 นายเข้าช่วยเหลือจัดการด้านจลาจลและให้การสนับสนุนทางโลจิสติกส์ สำหรับพิธีสาบานตนในวันพุธหน้า แต่ “ตอนนี้คุณคาดหมายได้เลยว่าจะได้เห็นสมาชิกกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิมากกว่า 20,000 นายในเมืองหลวง” รักษาการผู้บัญชาการตำรวจ ดี.ซี.กล่าว

บริเวณด้านนอก เจ้าหน้าที่ยังได้วางแนวเหล็กโดยรอบพื้นที่สำคัญๆ ของรัฐบาล ด้วยรั้วความสูง 8 ฟุต และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยประจำการอยู่หนาแน่น

ท่ามกลางทหารจำนวนมากที่ถูกส่งเข้าประจำการ เจฟฟรีย์ โรเซน รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกก่อการร้ายภายในประเทศจะลงมือโจมตีอีก

“ผมต้องการส่งสารที่ชัดเจนถึงใครบางคนที่คิดใช้ความรุนแรง ขู่ใช้ความรุนแรงหรือทำผิดทางอาญาอื่นๆ เราจะไม่อดทนต่ออะไรก็ตามที่พยายามก่อความปั่นป่วนการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ในนั้นรวมถึงความพยายามใช้กำลังบุกยึดอาคารราชการต่างๆ” เขากล่าว “ไม่มีข้ออ้างสำหรับความรุนแรง ทำลายทรัพย์สินของรัฐ หรือรูปแบบไร้ขื่อแปอื่นๆ”

การประจำการทหารในรัฐสภา มีขึ้นตามหลังมีคำเตือนจากเอฟบีไอว่ากลุ่มติดอาวุธสาวก “ทรัมป์” เตรียมป่วนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ “ไบเดน” ทั้งในกรุงวอชิงตัน และทั่วอเมริกาสัปดาห์หน้า

สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ได้ออกเอกสารภายในเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่พวกผู้สนับสนุนทรัมป์ซึ่งติดอาวุธ เช่น กลุ่มขวาจัด “บูกาลู บอยส์” มีแผนก่อการประท้วงและบุกที่ทำการรัฐบาลในเมืองเอกของทั้ง 50 รัฐในวันที่ 20 นอกจากนั้นยังมีกลุ่มติดอาวุธกลุ่มหนึ่งขู่ก่อความรุนแรงถ้ารัฐสภาพยายามถอดถอนทรัมป์


(ที่มา: นิวยอร์กโพสต์)

Cr https://sondhitalk.com/detail/9640000003587


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top