“Oasis คือวงดนตรีที่โลกอนุญาตให้ปากหมาได้ตลอดกาล” ประโยคนี้คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงนักเมื่อเทียบกับวีรกรรมสุดห้าวของสองพี่น้องกัลลาเกอร์ที่ปรากฏบนหน้าสื่อตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นในยุค ‘90s แล้ว ส่วนผสมที่ลงตัวแต่เข้ากันไม่ค่อยได้ของ ‘โนล กัลลาเกอร์’ มือกีตาร์ และ ‘เลียม กัลลาเกอร์’ ฟรอนต์แมน ดูเหมือนจะยิ่งสร้างสีสันให้แฟนๆ หันมาสนใจพวกเขามากยิ่งขึ้น ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า Oasis คือวงดนตรีที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อประวัติศาสตร์บริตป๊อบ (Britpop) ของเกาะอังกฤษ
วง Oasis ได้ยุติบทบาทลงในปี 2009 หลังโนลตัดสินใจลาออกจากวงและไม่พูดจากับน้องชายนานร่วม 10 ปี ปัจจุบันนี้พี่น้องกัลลาเกอร์ต่างก็ผันตัวเป็นศิลปินเดี่ยว แต่แฟนเพลงกลับทำเหมือน Oasis แค่พักวงชั่วคราวเท่านั้น พวกเขาเฝ้ารอวันที่วงดนตรีที่พวกเขารักจะกลับมารียูเนียนกันอีกครั้ง ความน่าสนใจคือแม้ Oasis จะเป็นวงดนตรียุค ‘90s ทว่ากระแสความนิยมไม่ได้ลดลง ยังคงมีแฟนเพลงเดนตายติดตามอย่างเหนียวแน่นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่บนโลกออนไลน์ เพลง “Wonderwall” ของวง Oasis ก็ยังเป็นเพลงแรกจากยุค ‘90s ที่มียอดสตรีมมิ่งผ่าน Spotify ทะลุ 1,000 ล้านครั้ง!
เรื่องราวของวง Oasis เต็มไปด้วยสีสันและเรื่องราวเฮฮาที่น่าสนใจ บางเรื่องอาจเกรียนชนิดที่ศิลปินยุคนี้ไม่มีทางทำแน่ๆ เมื่อคนรุ่นใหม่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตพวกเขาสามารถสืบค้นข้อมูลและรับรู้ข้อมูลอีกด้าน ซึ่งแตกต่างจากที่หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ในยุค ‘90s เคยประโคมข่าว ทำให้มุมมองที่มีต่อวง Oasis ในยุคนี้เต็มไปด้วยเรื่องสนุกที่เล่ากันไม่รู้เบื่อ ซึ่งมีหลายปัจจัยด้วยกันที่จุดกระแสความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ตามไทม์ไลน์ดังต่อไปนี้…
จากครอบครัวชนชั้นแรงงานสู่ ‘ร็อกสตาร์’
เด็กหนุ่มจากครอบครัวชนชั้นแรงงานในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ รวมตัวกันตั้งวงดนตรีชื่อ The Rain ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Oasis’ ในเวลาต่อมา เมื่อ ‘เลียม กัลลาเกอร์’ เข้ามาทำหน้าที่ฟรอนต์แมนของวง เขาชักชวนพี่ชาย ‘โนล กัลลาเกอร์’ ที่ทำงานเป็นเด็กขนเครื่องดนตรีประจำวงดนตรีท้องถิ่น Inspirals Carpets ให้มาร่วมวงในฐานะนักแต่งเพลงและมือกีตาร์ของ Oasis ไม่มีใครคาดคิดว่าบทเพลงที่โนลเคยแต่งไว้เล่นๆ จะได้นำมาใช้จริงๆ โดยเพลงส่วนใหญ่นอกจากจะพูดถึงวัฒนธรรมวัยรุ่นอังกฤษแล้ว ยังมีเนื้อหาที่สะท้อนการมองโลกในแง่ดีและความต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น “Whatever” เป็นเพลงที่โนลแต่งขึ้นสมัยทำงานเป็นกรรมกรในไซต์ก่อสร้างตามที่พ่อแนะนำ แต่เขาอยากจะมีชีวิตเป็นของตัวเอง จึงแต่งเพลงนี้เพื่อระบายความรู้สึกที่ต้องการเป็นอิสระ หรือเพลง “Live Forever” มีเนื้อหาที่พูดถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ เป็นต้น ในที่สุดพวกเขาก็แจ้งเกิดในฐานะศิลปิน โดยปล่อยอัลบั้มชุดแรก ‘Definitely Maybe’ ในปี 1994 ยกระดับสถานะทางสังคมจากชนชั้นแรงงานสู่ครอบครัวที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เริ่มมีชื่อเสียงและเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
1995-1997 ‘ยุคทอง’ ของ Oasis
อัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงให้พวกเขามากที่สุดคือ ‘(What’s The Story) Morning Glory?’ อัลบั้มชุดที่ 2 ที่วางจำหน่ายในปี 1995 เต็มไปด้วยเพลงฮิตมากมาย เช่น “Wonderwall” และ “Don’t Look Back In Anger” ทำให้กระแสความนิยมของ Oasis เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเขาทะยานสู่การเป็นวงบริตป๊อบอันดับต้นๆ แย่งความนิยมกับวง Blur อย่างดุเดือดจนนำไปสู่เหตุการณ์ ‘สงครามบริตป๊อบ’ ที่ทั้ง 2 วงเลือกปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ในวันเดียวกัน ชื่อเสียงของ Oasis ทำให้พวกเขาสามารถจัดคอนเสิร์ตครั้งประวัติศาสตร์ที่ Knebworth ในปี 1996 ซึ่งมีแฟนเพลงกว่า 2.5 แสนคนเดินทางมาชม อีกทั้งยังได้รับรางวัลการันตีความนิยมจากหลายสถาบัน ส่งผลให้การปล่อยอัลบั้มชุดที่ 3 ‘Be Here Now’ ในปี 1997 เกิดปรากฏการณ์แฟนเพลงแห่มายืนรอหน้าร้านขายซีดีทั่วอังกฤษเพื่อรอซื้ออัลบั้ม โดยในวันแรกที่ปล่อยอัลบั้มสามารถขายอัลบั้มได้กว่า 4.2 แสนก๊อปปี้ พิสูจน์ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว Oasis คือวงดนตรีที่ขึ้นไปยืน ณ จุดสูงสุดของวงการบริตป๊อบอย่างแท้จริง
จุดแตกหักของพี่น้องกัลลาเกอร์
แม้จะเป็นพี่น้องแท้ๆ แต่ลักษณะนิสัยของโนลและเลียมกลับต่างกันสุดขั้ว โนลเคยเปรียบเทียบว่าเขาคือแมว จริงจังและมีโลกส่วนตัวสูง ส่วนเลียมเป็นหมาที่พร้อมจะเล่นทุกครั้งที่มีคนโยนลูกบอลให้ เมื่อทั้งคู่ต้องมาทำงานใกล้ชิดกันเป็นเวลานานก็ย่อมมีปัญหากระทบกระทั่ง โนลที่มีความรับผิดชอบสูงจึงเอือมระอาพฤติกรรมของน้องชายที่บางครั้งหายไปโดยไม่บอกกล่าว ปล่อยให้เขาต้องทำหน้าที่ฟรอนต์แมนเอง ในขณะที่เลียมเองก็บอกว่าพี่ชายซีเรียสจนเกินไป การตัดสินใจทั้งหมดของวงแทบจะรวมอำนาจไว้ที่โนลแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงการเขียนเพลงในแต่ละอัลบั้ม ความสัมพันธ์พี่น้องเริ่มห่างออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2009 ระหว่างที่ Oasis เตรียมขึ้นเล่นคอนเสิร์ตที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เลียมอาละวาดหลังเวที และพังกีตาร์ตัวโปรดของพี่ชาย ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่โนลตัดสินใจหันหลังให้วงดนตรีที่เขาอยู่มานานถึง 18 ปี และเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็นำไปสู่การยุติบทบาททางดนตรีของวง Oasis
ตัวตนใหม่เมื่อศิลปินมี ‘สื่อเป็นของตัวเอง’
ภายหลังโนลได้ผันตัวเป็นศิลปินเดี่ยว ภายใต้ชื่อ Noel Gallagher’s High Flying Birds ในปี 2011 ส่วนเลียมก็เป็นศิลปินเดี่ยวในปี 2017 เช่นกัน ทั้งคู่ต่างมีเส้นทางดนตรีเป็นของตัวเอง ได้ทดลองทำเพลงใหม่และเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลก แน่นอนว่าในเซ็ทลิสต์ก็ยังมีบทเพลงของวง Oasis ให้แฟน ๆ ได้ฟังกันเช่นเดิม แต่สิ่งที่ทำให้ยุคนี้แตกต่างจากยุค ‘90s คือโซเชียลมีเดีย ศิลปินมีช่องทางสื่อเป็นของตัวเองในการประชาสัมพันธ์ผลงาน สื่อสารกับแฟนเพลง และแถลงตอบโต้ต่อประเด็นข่าวต่าง ๆ พร้อมทั้งสามารถสร้างการรับรู้ใหม่ให้แฟนๆ อย่างตรงไปตรงมาด้วยตัวตนและคาแรกเตอร์ของศิลปินที่สื่ออาจไม่เคยนำเสนอมาก่อน เช่น เลียมรับอุปการะแมวไร้บ้าน โนลบริจาคค่าลิขสิทธิ์เพลงให้เหยื่อก่อการร้าย เป็นต้น ทำให้ศิลปินได้สื่อสารกับแฟน ๆ โดยตรง ขณะที่แฟนเพลงเองก็ได้เห็นภาพลักษณ์ใหม่ของศิลปินที่ทำให้รู้สึกใกล้ชิดมากขึ้น อย่างตอนที่เลียมไปทัวร์คอนเสิร์ตที่เกาหลีใต้ เขาทำท่าเลียนแบบ MV เพลง ‘กังนัมสไตล์’ ทำให้ได้เห็นมุมน่ารักสวนทางกับท่าทีขึงขังที่สื่อหลักเคยเสนอมาตลอดหลายปี หรือแม้แต่การสนับสนุน #BlackLiveMatter ก็สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของศิลปินที่สนใจความเป็นไปของสังคม แน่นอนว่าการแสดงออกที่มี Value เหล่านี้ย่อมโดนใจกลุ่มคนรุ่นใหม่
‘Oasis: Supersonic’ กระแสเรียกฐานแฟนเพลงคืนสู่อ้อมอก
ต้องยอมรับว่าหมุดหมายสำคัญที่ทำให้กระแส Oasis กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในหมู่แฟนเพลงก็คือ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Oasis: Supersonic กำกับโดย Mat Whitecross ออกฉายเมื่อปี 2016 นับเป็นการเรียกแฟนเพลงกลับสู่อ้อมอกวงดนตรีวงนี้อีกครั้ง อีกทั้งสร้างฐานแฟนเพลงใหม่ ๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นสารคดีที่ดำเนินเรื่องได้น่าสนใจ สนุกสนาน มีบทสัมภาษณ์และข้อมูลเอ็กซ์คลูซีฟทั้งจากฝ่ายโนล เลียม อดีตสมาชิกวง และผู้ที่เคยร่วมงานกับวง Oasis เล่าตั้งแต่เรื่องครอบครัวในวัยเด็ก ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวของพ่อบังเกิดเกล้า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งวง การเดินสายทัวร์คอนเสิร์ต ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทาง รวมถึงการเปิดเผยหญิงสาวปริศนาที่เป็นแรงบันดาลใจให้เพลง “Talk Tonight” ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนนานถึง 20 ปี สารคดีนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ให้แฟนเพลงได้รับรู้ สร้างการรับรู้ในแง่มุมที่น่าสนใจ ได้เห็นความตั้งใจในการทำงาน การรับมือกับดราม่าต่าง ๆ พิสูจน์ว่าพวกเขาคือร็อกสตาร์ที่ฆ่าไม่ตาย ที่สำคัญ Oasis: Supersonic ยังเป็นภาพยนตร์สารคดีที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในประเทศไทย ถูกพูดถึงอย่างมากในสื่อโซเชียลมีเดีย ดึงความสนใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจวงดนตรีจากยุค ‘90s วงนี้!
คอนเสิร์ตเดี่ยวของ ‘โนล-เลียม’ ในประเทศไทย
หลังจากกระแส Oasis เริ่มจุดติดอีกครั้งในปี 2016 จากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Oasis: Supersonic ตามมาด้วย เลียม กัลลาเกอร์ ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกในปี 2017 ก็ยิ่งทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้น เลียมกลับมาด้วยภาพลักษณ์เท่และคูลเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือใกล้ชิดแฟน ๆ มากขึ้น เลียมใช้ทวิตเตอร์ส่วนตัวในการอัปเดตความเคลื่อนไหวกับแฟนๆ กว่า 3.3 ล้านคนที่ติดตามเขา แถมยังขยันตอบคอมเม้นท์ด้วยตัวเอง ทุกครั้งที่มีประเด็นสำคัญ ๆ เลียมไม่พลาดที่จะตอบทวีตแฟน ๆ รวมถึงเหตุการณ์หมูป่า 13 คนติดถ้ำหลวง กระแสความนิยมในตัวศิลปินนำสู่คอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทย Liam Gallagher Live in Bangkok 2018 ที่ถูกพูดถึงในทวิตเตอร์จนติดเทรนด์อันดับ 1 ทำให้คนที่ไม่รู้จักเลียมเกิดความสงสัยว่าเขาเป็นใครขึ้นมา จนกระทั่งปลายปี 2019 กัลลาเกอร์คนพี่อย่าง โนล ก็เดินทางมาเล่นคอนเสิร์ตในประเทศไทยเช่นกัน Noel Gallagher’s High Flying Birds Live in Bangkok 2019 จนแฟนเพลงต่างแซวกันว่าเมื่อพี่น้องไม่ถูกกัน แฟน ๆ จะชมคอนเสิร์ตทั้งทีก็ต้องแยกกันชม ซึ่งลึก ๆ ก็ต่างรอวันที่โนลและเลียมคืนดีเพื่อขึ้นเวทีเดียวกันอีกครั้ง
เลียม: “ผมฟังผลงานเพลงใหม่ของโนลแล้ว เหมือนพวกมังสวิรัติพยายามจะขายเคบับเลยว่ะ”
โนล: “เพลงของไอ้เลียมคือเพลงที่ไม่ซับซ้อน เขียนขึ้นโดยคนที่ไม่ซับซ้อน และทำให้คนที่ไม่ซับซ้อนฟัง”
อย่างไรก็ตาม อีกเหตุผลที่ทำให้แฟนเพลงต่างติดตามเรื่องราวของวง Oasis และพี่น้องกัลลาเกอร์อย่างเหนียวแน่นก็เพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยระหว่างโนลและเลียม ซึ่งมักจะตอบโต้กันอย่างเจ็บแสบผ่านสื่อทำให้แฟนๆ ได้อ่านเรื่องราวเฮฮาเป็นประจำ รวมถึงกระแสการรียูเนียนวงดนตรีที่หลายคนเฝ้ารอให้เกิดขึ้นเร็ววัน แต่ดูเหมือนทุกครั้งที่เข้าใกล้ความหวังก็มักจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้การรียูเนียนห่างไกลไปเสมอ
เรื่อง: Tatiya
ภาพ: Everwhere in Oasis