Monday, 20 May 2024
LITE

หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 60 ปีก่อน มีนักสื่อสารมวลชนคนหนึ่งที่ถือได้ว่า เป็นผู้บุกเบิกวงการข่าว และหนังสือพิมพ์ของเมืองไทย เขาคนนั้นคือ 'อิศรา อมันตกุล'

อิศรา อมันตกุล เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ก่อนจะเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ต่อมา นายอิศราได้เข้าสู่แวดวงหนังสือพิมพ์ ด้วยการเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ และหนังสือพิมพ์ประชามิตร ตามลำดับ

เมื่อเวลาผ่านไป นายอิศรายังเป็นทีมงานในหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ กระทั่งได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในปัจจุบัน) โดยในช่วงปี พ.ศ. 2501 เกิดการรัฐประการ นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ถูกปิด และนายอิศรา ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ รวมทั้งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อื่น ๆ อีกหลายฉบับ ต่างถูกจับ ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

นายอิศรา ถูกคุมขังอยู่เกือบ 6 ปี จึงถูกปล่อยตัวออกมา และกลับเข้าทำงานในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์อีกครั้ง โดยตลอดชีวิตการทำงาน นายอิศรา อมันตกุล ถือเป็นนักสื่อสารมวลชนที่เป็นที่ยอมรับในเรื่องการนำเสนอข่าวสารที่ตรงไปตรงมา เจ้าตัวเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก และดำรงตำแหน่งติดต่อกันเป็นเวลาถึง 3 ปี

ในช่วงท้ายของชีวิต นายอิศราล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ลิ้น ใช้เวลารักษาตัวอยู่ราว 10 เดือน ก่อนจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2512 แต่ถึงแม้ตัวจะจากไป ชื่อเสียงและผลงาน ในฐานะนักสื่อสารมวลชนคนสำคัญ ก็มิได้เลือนหายไป

โดยหลังจากที่นายอิศราเสียชีวิตไปไม่นาน ได้มีการก่อตั้ง ‘มูลนิธิอิศรา อมันตกุล’ ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และต่อมา ยังใช้ชื่อ ‘อิศรา อมันตกุล’ เป็นชื่อในการมอบรางวัลให้กับนักข่าวและนักสื่อสารมวลชนรุ่นหลัง ที่มีผลงานดีเด่น เป็นประจำทุกปีอีกด้วย


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/อิศรา_อมันตกุล

ประเทศไทยมีสัตว์มากมายหลายชนิด แต่มีสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่ผูกพันกับความเป็นชนชาติไทย มาตั้งแต่ครั้งยุคโบราณ สัตว์ชนิดนั้นก็คือ ช้าง และในวันนี้ของทุก ๆ ปี ยังถูกยกให้เป็น ‘วันช้างไทย’ กำหนดขึ้นมาเพื่อยกย่อง และให้เกียรติสัตว์ประจำชาติชนิดนี้โดยเฉพาะ

‘ช้างไทย’ มีความสำคัญต่อชาติไทยมายาวนาน ในอดีต กษัตริย์ไทยมักใช้ช้างในการออกรบจับศึก หรือในสมัยรัชกาลที่ 2 ยังเคยกำหนดให้ธงชาติไทย เป็นรูปช้างเผือก ด้วยมีความเชื่อว่า ช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์

ช้างไทย ยังปรากฎในพระราชพิธีสำคัญของชาติ เช่น เมื่อสมัยแรกเริ่มการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ช้างคือพาหนะสำคัญที่อัญเชิญพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต มาสถิตย์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ อาทิ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา, งานพระราชพิธีฉัตรมงคล ยังมีการนำช้างเผือกมาแต่งเครื่องคชาภรณ์ เพื่อประกอบพระเกียรติยศด้วยเสมอ

เวลาผ่านไป ช้างยังถูกนำมาใช้ในกิจการต่าง ๆ มากมาย และยังคงผูกพันกับสังคมไทยมาตลอด วันนี้ถือเป็น ‘วันช้างไทย’ จึงอยากให้คนไทยพร้อมใจกันระลึกถึงความสำคัญของสัตว์คู่บ้านคู่เมืองชนิดนี้ ยิ่งในเวลานี้ ที่มีโรคโควิด-19 ระบาดหนัก ปางช้างในประเทศไทยหลายแห่ง ประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมลดลงอย่างมาก

วันนี้ในฐานะ ‘วันช้างไทย’ จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความช่วยเหลือ โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย https://www.thaielephantalliance.org/ เพื่อร่วมสมทบทุน และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยช้างไทยด้วยกัน


ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/870544, https://idgthailand.com/elephant_day-2018/

เรารู้จัก ‘โควิด - 19’ กันมาปีเศษ ๆ แต่หากย้อนเวลากลับไปราว 18 ปีก่อน มีไวรัสที่เป็นสายพันธุ์แรกของ โควิด - 19 เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ มันมีชื่อว่า SARS ซึ่งในวันนี้เมื่อ 18 ปีก่อน องค์การอนามัย ได้ประกาศให้ ‘โรคซาร์ส’ เป็นโรคระบาดร้ายแรงของโลกชนิดหนึ่ง

โรคซาร์ส (SARS) หรือ กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสชื่อ SARS-CoV เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2545 ความน่ากลัวของโรคซาร์ส คือเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง ปวดเมื่อย หนาวสั่น ท้องเสีย ไอแห้ง หายใจถี่ ซึ่งเป็นลักษณะอาการที่คล้ายกับโรคไข้หวัดทั่วไป

แต่นอกเหนือไปกว่านั้น ผู้ป่วยโรคซาร์สบางคนอาจมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น โรคปอดบวม หรือมีการติดเชื้อของปอด ส่วนในกรณีที่เลวร้ายมากๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ตับวาย หรือแม้แต่หัวใจล้มเหลว เสียชีวิตได้

ไวรัสซาร์ส สามารถแพร่เชื้อได้ด้วยตัวมันเอง โดยมันสามารถแพร่กระจายไปทางอากาศ เข้าสู่ร่างกายคนได้ทั้งทางปาก จมูก และดวงตา ในช่วงปี พ.ศ. 2545 - 2546 ถือเป็นช่วงการระบาดครั้งสำคัญ มีประชาชนในประเทศต่าง ๆ กว่า 24 ประเทศ ติดเชื้อกว่า 8,098 ราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 774 ราย

จึงเป็นที่มาที่องค์การอนามัยโลก ต้องประกาศให้ โรคซาร์ส หรือ โรงทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เป็นโรคระบาดร้ายแรงในเวลานั้น แต่ต่อมาภายหลัง การระบาดก็ค่อย ๆ คลี่คลายลง นับจากปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา

นับถึงวันนี้ ยังไม่มีวัคซีนตัวไหน ที่ได้รับการยอมรับว่า สามารถรักษาโรคซาร์สได้จริง แต่การระบาดก็ยังไม่หวนกลับมาอีก แต่ต่อมา ก็ปรากฎไวรัสจากสายพันธุ์เดียวกันอย่าง โรคเมอร์ส (Mers-CoV) หรือแม้แต่ โรคโควิด - 19 ที่มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า SARS-CoV-2 ออกมาระบาดชนิดรุนแรง คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย และยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อใด


ที่มา: https://www.catdumb.tv/severe-acute-respiratory-syndrome-378/

ประเทศไทยมีตำรา หนังสือ กันมานับร้อยปี แต่สำหรับในแวดวงวรรณกรรม หรืองานเขียนแนวเรื่องแต่ง ประเภทนวนิยาย เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งวันนี้ถือเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ครบรอบ 111 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล เป็นองคมนตรี ก่อนที่ในปี พ.ศ.2419 จะทรงแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีศาลฎีกา พระองค์แรกของประเทศไทย และเป็นอธิบดีศาลแพ่งกลาง และศาลแพ่งเกษม อีก 2 ศาล ในเวลาต่อมา

นอกจากพระปรีชาสามารถในด้านกฎหมาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ยังมีพระอัจฉริยภาพในด้านการพระนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองมากมายหลายเรื่อง เช่น ท้ายกาสีหา นางปทุมสังกา รวมทั้งยังทรงสนใจงานเขียนทางตะวันตก ประเภท fiction และ novel จนเป็นที่มาของการทรงนิพนธ์เรื่อง ‘สนุกนึก’ ซึ่งเป็นเรื่องสั้นกึ่งนิยาย หรือที่เรียกว่าเป็น บันเทิงคดี ตามแบบอย่างนิยายตะวันตก เป็นเรื่องแรกของประเทศไทยอีกด้วย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงเป็นต้นแบบของผู้ที่มีความใฝ่รู้ในการศึกษา โดยครั้งหนึ่งทรงศึกษาภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง จนสามารถอ่านงานเขียนชาวตะวันตก และนำมาประยุกต์ในงานพระนิพนธ์ของพระองค์เอง ต่อมาในปี พ.ศ.2439 ทรงเริ่มประชวรด้วยพระอาการพระวัณโรคภายใน และมีพระอาการทรงกับทรุดเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2453 ได้สิ้นพระชนม์ลง สิริพระชันษาได้ 54 ปี


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมหลวงพิชิตปรีชากร

วันนี้เมื่อ 25 ปีก่อน เป็นวันที่ต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ ของปวงชนชาวไทย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ ตะละภัฏ ทรงเป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ตลอดพระชนชีพ สมเด็จย่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างมากมาย อาทิ ทรงให้การอุปถัมป์ราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนเป็นที่มาของ ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ นอกจากนี้ยังทรงเป็นแบบอย่างของความพอเพียง ทรงสอนพระโอรสและพระธิดา ให้รู้จัก ‘การให้’ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์

โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า ‘กระป๋องคนจน’ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก ‘เก็บภาษี’ หยอดใส่กระปุกนี้ 10% และทุกสิ้นเดือน สมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อตรัสว่า จะนำเงินในกระป๋องไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระประชวร โดยมีพระอาการทางพระหทัยกำเริบและทรงเหนื่อยอ่อน โดยเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จนกระทั่งในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทรงมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต

คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนเมื่อเวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา ต่อมาจึงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง


ที่มา: https://www.tnews.co.th/religion/

พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่มากมายทั่วประเทศ แต่หากถามว่า มีพระพุทธรูปแห่งไหนที่สูงและมีขนาดใหญ่ที่สุด ต้องยกให้ ‘พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ’ ซึ่งวันนี้เมื่อ 30 ปีก่อน ถือเป็นวันแรกที่มีการสร้างพระพุทธรูปองค์สำคัญนี้

กล่าวสำหรับ พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกจนติดปากว่า ‘หลวงพ่อใหญ่’ ประดิษฐานอยู่ ณ วัดม่วง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง โดยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่สร้างขึ้นโดยดำริของ พระครูวิบูลอาจารคุณ เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดม่วงนั่นเอง

พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2534 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 รวมระยะเวลากว่า 16 ปี โดยเป็นพระพุทธรูปที่มีความสูงจากฐานองค์พระถึงยอดเกศา 95 เมตร หรือเทียบเท่าตึก 40 ชั้น และมีความกว้างของหน้าตักอยู่ที่ 63.05 เมตร ซึ่งหากเดินรอบองค์พระ ต้องใช้เวลากว่า 3 นาที

ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับการยกให้เป็น พระพุทธรูปที่สูงที่สุดในประเทศไทย และยังจัดเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของโลกอีกด้วย ทั้งนี้พระครูวิบูลอาจารคุณ ผู้ที่มีส่วนในการสร้างพระพุทธรูปองค์สำคัญนี้ มิได้อยู่ร่วมในวันที่สร้างเสร็จ เนื่องจากมรณภาพลงเสียก่อน แต่ท่านก็เป็นผู้ที่ให้ชื่อพระพุทธรูปว่า พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ

โดยเจตนารมย์ของการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ เพื่ออุทิศให้แก่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งปัจจุบัน ‘หลวงพ่อใหญ่’ ได้กลายเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัด เป็นสถานที่กราบสักการะของคนในพื้นที่ และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ

วันนี้เมื่อ 7 ปีก่อน เกิดข่าวใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกต่างติดตาม เมื่อมีข่าวว่า เครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน MH 370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย

ผ่านมาแล้วถึง 7 ปี ผลของการค้นหา ก็ยังไม่สามารถปะติดปะต่อได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว เครื่องบินลำนี้ ได้หายไปไหน?

มาเลเซียแอร์ไลน์ MH 370 ทะยานขึ้นจากท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อเดินทางไปที่ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง ประเทศจีน แต่หลังจากที่บินอยู่เหนือทะเลจีนใต้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง เครื่องบินก็หายไปจากจอเรดาร์ของผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ

มาเลซียแอร์ไลน์ MH 370 ลำนี้ บรรทุกผู้โดยสาร 227 คน จาก 15 ชาติ และมีลูกเรืออีก 12 ชีวิต ทั้งหมดได้หายสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย แม้ในระยะแรก ทีมค้นหาจะออกทำการค้นหาชนิดที่เรียกว่า ‘พลิกมหาสมุทร’ โดยขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดียทางตอนใต้ จนเรียกว่าเป็นการค้นหาเครื่องบินหายที่กินพื้นที่กว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์

แต่จนแล้วจนรอด ทีมค้นหาก็ไม่พบหลักฐานที่ชี้ชัดว่า เครื่องบินน่าจะประสบอุบัติเหตุ และตกลงที่ใด สิ่งที่พบเป็นเพียงแค่ เศษซากบางส่วนของเครื่องบิน ซึ่งยังมีความน่างุนงงยิ่งกว่า เนื่องจากแต่ละจุดที่พบเศษซากนั้น อยู่ห่างไกลกัน จนแทบจะเชื่อมโยงหาที่มาที่ไปไม่ถูก

นับถึงวันนี้ ยังมีการคาดการณ์ถึงสาเหตุของการหายสาบสูญไปในหลายทฤษฎี อาทิ การถูกจี้ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเกิดจากความดันอากาศบนเครื่องอาจทำงานผิดพลาด จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งอาจเกิดเพลิงไหม้สายไฟที่ใช้ควบคุมการบิน จนทำให้เครื่องบินบินออกนอกเส้นทาง และตกลงกลางมหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ในที่สุด

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดว่า เหตุใดเครื่องบินถึงเกิดอุบัติเหตุ และที่สำคัญ ร่องรอยหลักฐานขนาดใหญ่ ที่บ่งชี้ว่า เป็น MH 370 และจุดเกิดเหตุจริงๆ นั้น ก็ยังไม่สามารถสรุปยืนยันได้จนถึงวันนี้ แต่ถึงอย่างนั้น เหล่าบรรดาญาติของผู้ประสบเหตุ ก็ยังเฝ้ารอคำตอบที่แท้จริง ไม่ว่ามันจะเนิ่นนานสักแค่ไหนก็ตาม


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/มาเลเซียแอร์ไลน์_เที่ยวบินที่_370, https://www.thairath.co.th/news/auto/news/1997157

กบร่อนเปย์ 'กระต่ายและคริส' กำเงิน 2 พันตะลุยกิน 6 ร้านดังย่านโชคชัย 4 | กบร่อน EP.11

‘กบร่อน’ เปย์สองสาวพริตตี้ตัวแม่ ‘กระต่าย’ และ ‘คริส’ กินอาหาร 6 ร้านดัง ย่านโชคชัย 4 ในงบ 2 พันบาท งบเท่านี้จะพอเลี้ยงสองสาวไหมนะ ตามไปดูกันได้เลยย 

"กบร่อน" รายการที่ "กบ" จะพาคุณไป ร่อน ตามที่ต่าง ๆ พร้อม Guest สนุกๆ ให้เราได้รู้จักกันมากขึ้น ในสไตล์กบร่อน

.

.

ชวนไหว้ขอพร - แก้ปีชง ณ ศาลเจ้านาจา หรือศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ จังหวัดชลบุรี นอกจากการแก้ปีชง แนะนำให้มาไหว้ขอพรองค์เทพประจำปีเกิด เสริมพลังชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคล

วันนี้เราจะพาทุกท่านไปเยี่ยมชม ศาลเจ้านาจา จ.ชลบุรี ที่นอกจากจะโดดเด่นในเรื่องการแก้ปีชงแล้ว ยังมีองค์เทพประจำปีนักกษัตร ไว้ให้สักการะ โดยในปีนักกษัตรใหม่นี้จะมีดาวดี ดาวร้าย หรือดาววิบาก “神煞”(สิ่งสั่วะ) ใดบ้าง? ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้าประจำปีองค์ใด? เพื่อเสริมส่งพลังชีวิตให้มีแต่ความสุขความเจริญ การงานราบรื่น ประสบแต่ความสำเร็จ อุปสรรคปัญหาน้อยใหญ่คลี่คลาย จากร้ายกลายดี มีโชคลาภทรัพย์สินเงินทอง ปราศจากโรคร้ายภัยเวร ปกติสุขสมดั่งปรารถนาตลอดทั้งปี ไปติดตามกันค่ะ

หากพูดถึงชลบุรี ก็คงหนีไม่พ้นทะเลบางแสน แต่จะบอกว่าที่นี่ไม่ได้มีดีแค่ทะเล เพราะวันนี้เราจะชวนทุกคนไปที่ ศาลเจ้านาจา หรือศาลเจ้าหน่าจาซาไท่จื้อ ตั้งอยู่ที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ไม่ไกลจากชายหาดบางแสนมากนัก

ศาลเจ้านาจา เดิมเป็นเพียงศาลเจ้าเล็กๆ ด้วยความเคารพศรัทธาของผู้ที่มากราบไหว้ด้วยเชื่อกันว่าให้โชคทางด้านการค้า ทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้ถูกพัฒนาปรับปรุงเรื่อยมา จนปัจจุบันเป็นศาลเจ้าจีนที่ใหญ่โตสวยงามตระการตา

ศาลเจ้านาจา สร้างด้วยศิลปะแบบจีน มีองค์เทพเจ้าปางต่างๆ มากมายให้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล คนส่วนใหญ่ที่มากราบไหว้ มักมาขอเกี่ยวกับหน้าที่การงาน

ชุดของไหว้แก้ปีชง ของศาลเจ้านาจา โดยศาลเจ้าแห่งนี้มีความโดดเด่นมากด้านการมาแก้ปีชง เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐาน องค์เทพเจ้าครบทุกพระองค์ ตามความเชื่อแบบจีน

ผู้ที่เกิดปีชวด  :  มีดาวดี “太陽”(ไท้เอี้ยง) สถิตในเรือนชะตา

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “太陽星君” (ไท้เอี้ยงแชกุง)

(อยู่ในอาคาร)

ผู้ที่เกิดปีจอ    :   มีดาวดี “太陰”(ไท้อิม)

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “太陰星君”(ไท้อิมแชกุง)

(ในอาคาร)

ผู้ที่เกิดปีฉลู   :    มีดาวร้าย “太歲”(ไท้ส่วย) สถิตในเรือนชะตา

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “太歲爺” (ไท้ส่วยเอี๊ย)ประจำปี 2564 ที่ทรงพระนามว่า “楊信大星軍”(เอี่ยสิ่งไตแชกุง)

ผู้ที่เกิดปีมะแม  :  มีดาวร้าย “歲破”(ส่วยผั่ว) สถิตในเรือนชะตา

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “太歲爺” (ไท้ส่วยเอี๊ย) ประจำปี 2564 ที่ทรงพระนามว่า “楊信大星軍”(เอี่ยสิ่งไตแชกุง)

(ในอาคาร)

ผู้ที่เกิดปีขาล   :  มีดาวร้าย “病符”(แป่ฮู้) สถิตในเรือนชะตา

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “華陀仙師” (หั่วท้อเซียงซือ)

(นอกอาคาร จุดที่ 9)

ผู้ที่เกิดปีเถาะ  :   มีดาวร้าย “天狗”(เทียงเก้า) สถิตในเรือนชะตา

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “華光大帝” (หั่วกวงไต่ตี่)

(นอกอาคาร จุดที่ 9)

ผู้ที่เกิดปีมะโรง  :  มีดาวดี “天德”(เทียงเต็ก) สถิตในเรือนชะตา

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “伯公” (แป๊ะกง)

ผู้ที่เกิดปีมะเมีย : มีดาวดี “龍德”(เหล่งเต็ก) สถิตในเรือนชะตา

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “伯公” (แป๊ะกง)

(นอกอาคาร จุดที่ 11)

ผู้ที่เกิดปีมะเส็ง  : มีดาวร้าย “白虎”(แป๊ะโฮ้ว) สถิตในเรือนชะตา

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “玄天上帝” (เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่)

ผู้ที่เกิดปีกุน   :    มีดาวร้าย “喪門”(ซึงมึ้ง)

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “玄天上帝” (เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่)

(นอกอาคาร จุดที่ 16)

ผู้ที่เกิดปีวอก  :   มีดาวดี “月德”(หง่วยเต็ก) สถิตในเรือนชะตา

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “觀世音菩薩”(กวนซืออิมผู่สัก) พระโพธิสัตย์เจ้าแม่กวนอิม

(นอกอาคาร จุดที่ 10)

ผู้ที่เกิดปีระกา  :   มีดาวร้าย “五鬼”(โหงวกุ้ย)

ควรกราบสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้า “文昌帝君”(บุ่งเชียงตี่กุง)

(นอกอาคาร จุดที่ 15)


เพจศาลเจ้า

https://www.facebook.com/ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ-อ่างศิลา-哪吒三太子宮-179019442244980/

วันนี้เมื่อ 339 ปีก่อน ซึ่งตรงกับวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225 คือวันที่ ‘หลวงปู่ทวด’ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม ‘หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด’ มรณภาพลง ขณะพำนักที่ ไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย

สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ หรือ หลวงปู่ทวด เป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยผู้ที่ศรัทธาในหลวงปู่ทวด มีความเชื่อกันว่า พระเครื่องที่สร้างเนื่องด้วยท่าน จะมีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองผู้ที่บูชาได้

ตามประวัติที่เผยแพร่สืบต่อกันมายาวนาน หลวงปู่ทวด มีนามเดิมว่า ปู เป็นชาวสงขลา เมื่ออายุได้ 15 ปี ได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัด ’วัดกุฎีหลวง’ หรือ ‘วัดดีหลวง’ ด้วยความที่เป็นผู้ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ ท่านสมภารจึงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้น จนเมื่ออายุครบอุปสมบท ท่านจึงได้บรรพชาเป็นพระสงฆ์ จากนั้นก็ได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนมีความรู้และเป็นผู้ทรงอภิญญามาก เคยแสดงปาฏิหาริย์หลายครั้งจนเป็นที่เลื่องลือ

โดยเฉพาะปาฏิหาริย์ ‘เหยียบน้ำทะเลจืด’ เป็นเหตุการณ์ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ จ.สงขลา ท่านถูกโจรสลัดจีนที่แล่นเรือเลียบชายฝั่ง จับขึ้นเรือไป แต่ปรากฎว่า เรือลำดังกล่าวแล่นต่อไปไม่ได้ และต้องจอดอยู่อย่างนั้นหลายวันหลายคืน เวลาผ่านไป โจรสลัดจีนบนเรือขาดน้ำจืดในการบริโภคอย่างหนัก

เมื่อถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงแสดงปาฏิหาริย์เหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลง แล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเล เมื่อยกเท้าขึ้นมา ท่านก็สั่งให้พวกโจรตักน้ำมาดื่ม แม้จะไม่เชื่อ แต่สุดท้ายโจรก็ตักขึ้นมา ปรากฎว่า น้ำทะเลเค็มจัดกลับกลายเป็นรสชาติจืดอย่างน่าอัศจรรย์!

ภายหลังกลุ่มโจรพากันกราบไหว้ขอขมา แล้วนำท่านล่องเรือกลับขึ้นฝั่งทันที ตำนานนี้ถูกเล่าสืบต่อกันมายาวนาน ซึ่งต่อมามีการเผยแพร่สถานที่ดังกล่าวด้วยว่า เป็นบ่อน้ำจืดกลางทะเล บริเวณเกาะนุ้ย จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

กระทั่งเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225 หลวงปู่ทวดมรณภาพลงเมื่ออายุครบ 100 ปี ที่เมืองไทรบุรี ซึ่งเดิมเคยเป็นหัวเมืองทางใต้ของไทย ภายหลังการมรณภาพ ลูกศิษย์ลูกหาได้ทำตามสิ่งที่หลวงปู่ได้สั่งเสียไว้ โดยเคลื่อนย้ายสังขารกลับมาจนถึง จ.ปัตตานี โดยผ่านเส้นทางพักการเคลื่อนย้าย จากมาเลเซียถึงปัตตานีเป็นจำนวน 18 จุด

ซึ่งจุดที่ 18 เป็นสถานที่ฌาปนกิจศพ นั่นคือ วัดช้างไห้ จ.ปัตตานี โดยปัจจุบัน วัดช้างให้ หรือวัดราษฎร์บูรณะ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่ประชาชนมักเดินทางมากราบไหว้ สักการะ รวมไปถึง วัดห้วยมงคล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีรูปปั้นหลวงปู่องค์ใหญ่ ก็เป็นอีกแห่งที่มีประชาชนเดินทางมากราบไหว้ เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต


ที่มา: https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/364626

ในวงการพุทธศาสนาไทยในอดีต มีสมณสงฆ์ชื่อดังอยู่มากมาย และหนึ่งในนั้น คือ พระราชสังวราภิมณฑ์ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม ‘หลวงปู่โต๊ะ’ ซึ่งวันนี้เมื่อ 40 ปีก่อน เป็นวันที่พระครูผู้มีลูกศิษย์ลูกหามากมายท่านนี้ ได้ละสังขารลง

พระราชสังวราภิมณฑ์ หรือ หลวงปู่โต๊ะ เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยท่านเป็นพระคณาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ด้วยวัตรปฏิบัตอันงดงาม และเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทุกชนชั้น

หลวงปู่โต๊ะ เกิดเมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2430 บวชเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2447 กระทั่งเมื่ออายุครบ 20 ปี จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นภิกษุสงฆ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ณ วัดประดู่ฉิมพลี นอกจากนี้ ท่านยังได้ศึกษาปฏิบัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรี จนต่อมาเมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 จึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี

หลวงปู่โต๊ะ ถือเป็นพระสงฆ์ที่มีศีลวัตรปฏิบัติอันงดงาม รวมถึงมีกริยามารยาทงดงาม และมีความเมตตากรุณาต่อทุกสรรพสิ่งมีชีวิต แต่อีกชื่อเสียงหนึ่งที่เป็นที่ร่ำลือ คือท่านสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้

เมื่อครั้งที่หลวงปู่โต๊ะยังมีชีวิตอยู่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาและจริยาวัตรของหลวงปู่เป็นอย่างยิ่ง

กระทั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2524 หลวงปู่โต๊ะถึงแก่มรณภาพลง รวมสิริอายุได้ 93 ปี 73 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่การศพโดยตลอด

นับถึงวันนี้ กว่า 40 ปีมาแล้ว แต่ชื่อเสียงของหลวงปู่โต๊ะ ก็ยังคงถูกเอ่ยถึง ในฐานะของพระคณาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม ควรค่าและเป็นตัวอย่างอันดีแก่ภิกษุสงฆ์รุ่นหลัง ให้ได้ยึดถือ และประพฤติปฏิบัติในศีลวัตรอันงดงามเหล่านี้


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระราชสังวราภิมณฑ์_(โต๊ะ_อินทสุวณโณ)

 

วันนี้ถูกยกให้เป็น ‘วันไทยอาสาป้องกันชาติ’ เป็นวันที่คนไทยรุ่นหลัง จะได้ร่วมรำลึกถึงเกียรติยศและความเด็ดเดี่ยวของ ‘ท้าวสุรนารีและนางสาวบุญเหลือ’ สองวีรสตรีที่ร่วมกันปกป้องอธิปไตยของชาติ ให้พ้นจากการรุกรานของข้าศึกศัตรู

ย้อนกลับไปเมื่อราวปี พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ได้ยกกองทัพเข้าแผ่นดินไทย จนมาถึงเมืองนครราชสีมา เจ้าอนุวงศ์สามารถกวาดต้อนผู้คนมาเป็นเชลยขึ้นไปยังเวียงจันทน์มากมาย ซึ่งในจำนวนเชลยนั้น มีคุณหญิงโม และนางสาวบุญเหลือ รวมอยู่ด้วย

ในช่วงเวลาดังกล่าว คุณหญิงโม ร่วมกับ นางสาวบุญเหลือ และหลวงณรงค์สงคราม หัวหน้าชาวเมือง ได้สร้างวีรกรรม ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ โดยได้ออกกลอุบายเลี้ยงสุราอาหารแก่ทหารลาว จนเมื่อเมามาย จึงแย่งอาวุธโจมตีเหล่าทหารลาวเป็นการตลบหลัง

ทางด้านนางสาวบุญเหลือ ที่ต้องต่อสู้กับ เพี้ยรามพิชัย ขณะที่กำลังเสียท่าและวิ่งหนี นางสาวบุญเหลือตรงเข้าไปคว้าฟืนในกองไฟ แล้วตัดสินใจวิ่งเข้าไปบริเวณกองเกวียนที่บรรทุกกระสุนดินดำ ชั่ววินาทีที่เพี้ยรามพิชัยจะถึงตัว นางสาวบุญเหลือก็เอาฟืนจุดเข้าไปที่ถุงดินปืน เกิดระเบิดกองใหญ่ ส่งผลให้เพี้ยรามพิชัย และทหารลาวมากมาย รวมทั้งตัวนางสาวบุญเหลือ เสียชีวิตในทันที

เรื่องเล่าแห่งความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวในวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ ถูกถ่ายทอดและอยู่ในความทรงจำของลูกหลานชาวนครราชสีมาตลอดมา ต่อมาทางราชการ จึงได้ถือเอาวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันไทยอาสาป้องกันชาติ ทั้งนี้ถือเป็นการร่วมสดุดีคุณหญิงโม นางสาวบุญเหลือ ตลอดจนบรรพชนที่ได้ร่วมกันเสียสละชีวิต ปกป้องแผ่นดินของชาติในอดีต

โดยปัจจุบัน นอกจากอนุสาวรีย์ย่าโม ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรีคนแรกของประเทศ ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโคราชแล้ว ยังมีอนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ ที่ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ด้วยเช่นกัน โดยวันนี้ของทุก ๆ ปี ประชาชนจะมาร่วมกันสักการะ วางพวงมาลา และเปลี่ยนผ้าตะเบงมานตามสีแห่งปี ให้กับเหล่าวีรสตรีผู้กล้า เพื่อเป็นการสดุดีในวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่ได้ทำเพื่อชาติบ้านเมือง


ที่มา: https://www.dailynews.co.th/regional/785630, https://th.wikipedia.org/wiki

‘กองทัพอากาศ’ เป็นหนึ่งในกองทัพไทย ที่คอยปกป้องดูแลประเทศชาติ วันนี้ถือเป็นวันสำคัญ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่งกองทัพอากาศไทย’

สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือ ‘ทูลกระหม่อมเล็ก’ ประสูติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2425 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 23 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีพระชนมพรรษา 16 ปี ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก Corps de Pages ประเทศรัสเซีย ก่อนที่จะทรงสำเร็จการศึกษาด้านเสนาธิการทหารขั้นสูง และถูกแต่งตั้งยศเป็นพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซีย

ครั้นเมื่อเสด็จกลับเมืองไทย ทูลกระหม่อมเล็กทรงได้รับตำแหน่งทางการทหารสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2449 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยหนึ่งในพระภารกิจของพระองค์คือการเผยแพร่ความรู้ทางการทหารชั้นสูงให้กับนักเรียนนายทหาร รวมถึงทรงจัดการโรงเรียนนายร้อยให้มีระเบียบแบบแผน และมีความทันสมัย เทียบเท่าตะวันตก

ในช่วงปี พ.ศ.2454 ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทรงเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาอากาศยานไว้ป้องกันประเทศ จึงทรงดำริจัดตั้งกิจการการบินขึ้น พร้อมให้มีการคัดเลือกนายทหาร 3 นายไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาทรงทรงย้ายที่ตั้งแผนกการบินมาที่อำเภอดอนเมือง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2457 และทรงยกฐานะแผนกการบิน เป็นกองบินทหารบก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสู่การเป็น ‘กองทัพอากาศไทย’ ในเวลาต่อมา

ตลอดพระชนชีพ สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการบิน ทั้งในกิจการทหารและกิจการพลเรือน ทรงวางรากฐานแนวทางเสริมสร้างกำลังทางอากาศของประเทศไทยอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็นกองทัพอากาศไทยดังเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้ กองทัพอากาศไทยจึงได้ยกย่องพระองค์ว่าเป็น ‘พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย’ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในการส่งเสริมกิจการของกองทัพ ให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงวันนี้


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเชษฐาธิราช_เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ_กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

วันนี้ในอดีต เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทย และถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลากว่า 87 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ รวมเวลาในการครองราชย์ 9 ปี

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไปประทับยังประเทศอังกฤษ โดยทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงติดต่อราชการกับรัฐบาล ที่มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งปรากฏข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่ไม่สามารถหาข้อยุติกันได้ กระทั่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 จึงทรงมีพระราชหัตถเลขา ประกาศสละราชสมบัติ ส่งมายัง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐบาล มีใจความส่วนหนึ่งว่า...

“...ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร...บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ

และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์…”

ภายหลังจากมีพระราชหัตเลขาสละราชสมบัติ คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร จึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดาในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป


ที่มา: https://www.matichonacademy.com/content/culture/article_38342

https://th.wikipedia.org/wiki, https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1746

พาทัวร์ 'มองช้าง คาเฟ่' คาเฟ่ที่มี 'ช้าง' แห่งเดียวในพัทยา ! | Aon On Air EP.8

Aon On Air EP. นี้ อ้อนจะพาทุกคนไปเที่ยวสวนสัตว์ เอ้ย ! คาเฟ่ที่รวบรวมสัตว์มากมายหลากหลายชนิด ให้เพื่อน ๆ ได้ถ่ายรูป มีโซนสวย ๆ มากมาย นั่นก็คือที่ "มองช้าง คาเฟ่" นั้นเอง มีอะไรที่น่าสนใจในคาเฟ่นี้บ้าง ไปชมกันได้เลยค่า

.

มองช้าง คาเฟ่ ⏰ เปิดบริการ ทุกวัน 10:00 น.- 19:00 น. ???? https://goo.gl/maps/VZ5LZsixcoamchgx9

.

.

 

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top