Thursday, 9 May 2024
SOFT POWER

เพจดัง ชี้!! 'สยามซอฟต์พาวเวอร์' ระบือไกล ทัชใจคนทั่วโลกใต้รัฐบาล 'สมบูรณาญาสิทธิราชย์'

(12 พ.ย.66) จากเพจ 'ฤๅ - Lue History' ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...

ในยุคที่ซอฟต์พาวเวอร์กลายมาเป็นความนิยมแห่งยุคสมัยปัจจุบัน ทว่าจะมีกี่คนรู้ว่าความจริงแล้ว สยามเราได้เริ่มใช้ ซอฟต์พาวเวอร์ในแบบสยาม มาตั้งแต่ครั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว และที่สำคัญซอฟต์พาวเวอร์เวอร์ชั่นสยามนั้น ยังมีความหลากหลายและพิเศษชนิดที่สร้างความตราตรึงให้แก่ชนผิวขาวได้ตั้งแต่เพียงครั้งแรก ๆ ที่เราเข้าร่วมงาน

ซึ่งนั่นก็ตั้งแต่ประมาณร้อยกว่าปีก่อนแล้ว

โดยซอฟต์พาวเวอร์สยามที่ว่านั้น เริ่มจากการเข้าร่วมงานมหกรรมสินค้าในลักษณะ Exhibition ที่เริ่มโดยประเทศจักรวรรดินิยมตั้งแต่ในราว ค.ศ. 19 เพื่อสำแดงให้โลกเห็นว่าตนได้เข้าไปครอบครองดินแดนและทรัพยากรพื้นเมืองของชนชาติต่าง ๆ ที่หลากหลายได้มากมายเท่าไร ผ่านการแสดงสินค้าอุตสาหกรรมที่ตนผลิตได้จาการครอบครองทรัพยากรในดินแดนอาณานิคมมาจัดแสดงไว้ด้วย แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ มีกระทั่งการนำเอาชนพื้นเมืองมาจำลองชีวิตในพื้นที่จำกัดคล้ายกับสวนสัตว์มนุษย์

สยามเองในเวลานั้นแม้จะเป็นเพียงชาติเล็ก ๆ แต่ก็เคยได้มีบทบาทในการนำสินค้าและความเป็นสยามเข้ามาจัดแสดงให้เป็นที่รับรู้ของชาวโลก เป็นครั้งแรกเริ่มตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2419 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเพราะสยามหาได้เคยเป็นดินแดนอาณานิคม ดังนั้นการจัดพื้นที่แสดง ‘สินค้าสยาม’ จึงกระทำในฐานะประเทศเอกราชจากตะวันออกไกล ที่แม้อาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่าฝรั่งผิวขาว แต่สยามก็มีศักดิ์ศรีพอที่ไม่ต้องถูกฝรั่งจำลองทำเป็นพื้นที่ ‘สวนสัตว์มนุษย์’ เช่นที่เพื่อนบ้านรอบ ๆ ของเราโดนเจ้าอาณานิคมของตนกระทำ

สำหรับไอคอนที่ทำให้ชาวต่างชาติเห็นถึงความเป็นสยามได้ตั้งแต่ไกลลิบ ๆ ในทุกครั้งที่เข้าร่วมงานจนถึงปัจจุบันก็คือการตั้งอยู่ของ ‘ศาลาสยาม’ อาคารที่ก่อสร้างเป็นทรงไทยตั้งตระหง่านที่ดูผิดแปลกกับอาคารทรงตะวันตกที่อยู่แบบทื่อ ๆ และพบได้เกลื่อนกลาดจนเป็นที่ชินตาของชาวยุโรปทั่วไป ในส่วนของสินค้าสยามที่คัดเลือกส่งไปนั้น มีทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าว ไม้ หัวโขน เครื่องมือเกษตร เครื่องดนตรี บ้าน และวัดจำลอง แต่ที่เป็นที่ ‘ฮือฮา’ ที่สุดก็คือเครื่องราชูปโภคจำลองที่ทำด้วยเงินอย่างดีทั้งชุด นับแต่นั้นประเทศสยามมักได้รับการทาบทามให้ไปจัดแสดงสินค้าจากทั่วทุกมุมโลกต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง จึงไม่เกินจริงไปนักที่จะกล่าวว่า สินค้าสยามโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานฝีมือชั้นสูงคงจะเป็นที่ถูกอกถูกใจฝรั่งเอามาก เพราะมีทั้งความยูนีคและลวดลายฝีมือที่แตกต่างกับงานฝีมือจากโลกตะวันตก นี่จึงนับเป็นมรดกของ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่ดำริโดยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังดำรงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานานแล้ว ชาวต่างประเทศก็รู้จักประเทศของเราผ่านสินค้าที่สำแดงความเป็นเราได้อย่างชัดเจนและชื่นชอบโดยไม่ต้องมีการบีบบังคับแต่อย่างใด อาจเพราะซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเป็นสิ่งที่จับต้องได้ มีเอกลักษณ์ชัดเจน และเป็นมรดกวัฒนธรรมที่นานาชาติต่างให้การยอมรับมาเป็นระยะเวลาหลายชั่วอายุคนจวบจนปัจจุบัน

'มาร์เวล สตูดิโอ' ปล่อยโปสเตอร์ฉลองเปิดตัว #TheMarvels จับ 3 สาวซูเปอร์ฮีโร่สวมชุดไทย ในธีมลอยกระทง

'เดอะ มาร์เวลส์' ก็มา 'ลอยกระทง'

หลังจากที่เปิดตัวรอบปฐมทัศน์กับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ 'เดอะ มาร์เวลส์' (The Marvels) หนังซูเปอร์ฮีโร่สัญชาติอเมริกันเรื่องล่าสุด สร้างจากตัวละครมาร์เวลคอมิกส์ โดยมี 'บรี ลาร์สัน' รับบท 'แครอล แดนเวอร์ส' หรือ 'กัปตันมาร์เวล' ยอดมนุษย์สาวพลังคอสมิกเช่นเคย สมทบด้วย 'โมนิกา แรมโบ' และ 'กมลา ข่าน' เป็น 'มิสมาร์เวล'

The Marvels ภาคนี้ได้ 'Nia DaCosta' (นีอา ดาคอสตา) ผู้กำกับหญิงแกร่งจากภาพยนตร์สร้างชื่อ Candyman (2021) มานั่งแท่นผู้กำกับ โดยหนังได้รับรางวัลดาว 6.1 จากเว็บไซต์วิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง imdb.com

ล่าสุด มาร์เวล สตูดิโอ ได้เฉลิมฉลองการเปิดตัว #TheMarvels ด้วย 8 โปสเตอร์จาก 8 ประเทศทั่วโลก ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และหนึ่งในนั้นมีโปสเตอร์จากประเทศไทย โดยจับให้ซูเปอร์ฮีโร่สาวทั้งสาม สวมชุดไทยมาในธีมวันลอยกระทง เข้ากันกับเทศกาลที่กำลังจะมาถึงของไทย และเป็นงานรื่นเริงซึ่งสร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

ฝรั่งจะคิดอย่างไรไม่ทราบ แต่งานนี้เราขอเรียก Soft Power ไว้ก่อน

เรื่อง : พรชัย นวการพิศุทธิ์

‘แม่ฮ่องสอน’ ชู!! Soft Power รักษ์โลก กับ ‘ประเพณีลอยกระทงสวรรค์ไร้โฟม’ พร้อมชวนเสริมแรงบุญ ในงาน ‘นมัสการพระธาตุดอยกองมู’ 23 - 27 พ.ย. 66

(9 พ.ย. 66) พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกองมู กล่าวว่า ในปี 2566 วัดพระธาตุดอยกองมู ร่วมกับคณะศรัทธา ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดงาน นมัสการพระธาตุดอยกองมู กำหนดการระหว่างวันที่ 23 - 27 พฤศจิกายน 2566 นี้

สำหรับประวัติและความเป็นมาของงานประเพณีนมัสการพระธาตุดอยกองมู ได้ปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่ประมาณปี 2512 เป็นต้นมา โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การลอยกระทงสวรรค์ ซึ่งตรงกับประเพณีลอยกระทง ในวันขึ้น 11-15 ค่ำของทุกปี เนื่องด้วยวัดพระธาตุดอยกองมูนั้น อยู่ห่างจากแม่น้ำ ลำคลอง เพราะตั้งอยู่บนภูเขา หลวงพ่อพระครูอนุสารศาสนกรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกองมูสมัยนั้น ได้ร่วมกับคณะศรัทธา กรรมการวัด ญาติโยม จัดงานลอยกระทงสวรรค์ขึ้น เพื่อลอยทุกข์โศก โรคภัย สิ่งไม่ดีไม่งาม ไม่ปรารถนา ในหนึ่งปีที่ผ่านมาให้ไปกับกระทงสวรรค์ และเพื่อเป็นการขอขมากับท้องฟ้า สรรพสิ่ง สรรพสัตว์ อันเป็นสิ่งที่มีคุณต่อเราท่านทั้งหลาย ขอบคุณในสิ่งต่าง ๆ ขอบคุณเทวดาฟ้าดิน โดยการลอยกระทงขึ้นไปบนท้องฟ้า โดยได้จัดงานประเพณีนี้มาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว

สำหรับในปีนี้ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีดำริให้ "จัดงานลอยกระทงสวรรค์ไร้โฟม สืบสานวัฒนธรรม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม"  โดยใช้วัสดุธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น การบูชาธาตุทั้ง 4 การตักบาตรเท่าอายุ การละเล่น การแสดงของชุมชน และเด็กนักเรียน มีดนตรี และลิเกไทใหญ่ (จ้าดไต) การประกวดดอกไม้ไฟ การประกวดร้องเพลง การประกวดทำกระทงจากใบตอง และวัสดุธรรมชาติ การประกวดการทำก๊อกซอมต่อ และการจัดนิทรรศการพระธาตุดอยกองมู พระธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นต้น

ที่พิเศษในปีนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ร่วมสนับสนุนการจัดงาน "ปอยเหลิน 12 เดินขึ้นพระธาตุดอยกองมู" ตามกำหนดการดังนี้

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 
เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป จัดทำผ้าห่มองค์พระธาตุดอยกองมู (ผ้าส่างกานห่มกองมู) และประดิษฐ์โคมไฟ เพื่อบูชาพระธาตุ ณ สำนักงานเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เชิญร่วมจารึกชื่อ-สกุล และคำอธิษฐานบนผืนผ้าห่มองค์พระธาตุเพื่อความเป็นสิริมงคล

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 
เวลา 17.00 น.ตั้งขบวนแห่เครื่องสักการะพระธาตุ ผ้าห่มองค์พระธาตุ ( ผ้าส่างกานห่มกองมู ) และโคมไฟบูชาพระธาตุ  
เวลา 17.30 น. เคลื่อนขบวนแห่ไปยังวัดพระธาตุดอยกองมู โดยขึ้นทางบันไดนาค
เวลา 19.00 น. ถวายโคมไฟบูชาพระธาตุดอยกองมู และเชิญเที่ยวงานนมัสการพระธาตุดอยกองมู ณ ลานพระธาตุ

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 
เวลา 08.49 น. พิธีถวายเครื่องสักการะพระธาตุและผ้าห่มองค์พระธาตุดอยกองมู ( ผ้าส่างกานห่มกองมู )
เวลา 09.30 น.ถวายจตุปัจจัยไทยทาน แก่หัววัดต่าง ๆ เนื่องในงานนมัสการพระธาตุดอยกองมู ณ อาคารผู้สูงอายุ วัดพระธาตุดอยกองมู

‘อ.เจนภพ’ ปลื้มใจ!! ยูเนสโก ยก ‘สุพรรณฯ’ เป็น ‘เมืองสร้างสรรค์ทางดนตรี’ เผย ดีใจที่ได้ช่วยขับเคลื่อนศิลปะเชิงวิชาการ ดัน ‘เพลงลูกทุ่งไทย’ สู่สากล

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66 นายเจนภพ จบกระบวนวรรณ นักจดหมายเหตุและนักวิชาการเพลงลูกทุ่งไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

“เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ‘ยูเนสโก’ ประกาศผลรับรองเมืองสมาชิกเครือข่ายสร้างสรรค์จาก 55 เมืองทั่วโลก ให้ ‘สุพรรณบุรี’ เป็น ‘เมืองสร้างสรรค์ทางดนตรี’

ในฐานะที่เป็นเข็มหมุดเล็กๆ เล่มหนึ่งที่บุกเบิกริเริ่มในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ ‘เจนภพ จบกระบวนวรรณ’ ประกาศให้ ‘เมืองสุพรรณบุรี’ เป็น ‘เมืองหลวงของเพลงลูกทุ่งไทย’ มาตั้งหลายสิบปีแล้ว

ผมดีใจ ปลื้มใจ หายเหนื่อยไม่น้อย เมื่อได้ยินข่าวนี้ ต่อไปภายหน้าจะเป็นไปเช่นไร คงต้องเป็นภาระหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ๆ แล้วกระมัง คนอย่างเจนภพ บุกเบิกมาได้เท่านี้ก็น่าดีใจแล้ว…”

“เมื่อราวๆ วันที่ 3-5 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ผมไม่แน่ใจว่าจะยังมีใครจำได้บ้างหรือเปล่า ว่ามีงาน ‘วิถีคนเมืองเหน่อ’ จัดขึ้นที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จ.สุพรรณบุรี และงานนี้นี่เองที่ ผม - เจนภพ จบกระบวนวรรณ ได้นำเสนอ ‘มหกรรมลูกทุ่งเลือดสุพรรณ มหัศจรรย์คนเสียงเหน่อ’ ผมกราบเรียนเชิญ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ขวัญจิต ศรีประจันต์, ศรเพชร ศรสุพรรณ, สุรชาติ สมบัติเจริญ, สลักจิต ดวงจันทร์, เสมา ทองคำ, เด่นชัย สายสุพรรณ, อัมพร แหวนเพชร, โสนน้อย เมืองสุพรรณ, นงเยาว์ ดาวสุพรรณ, แสงจันทร์ ดาวลอย, นพพร เมืองสุพรรณ, จ่อย ไมค์ทองคำ, แพรวา พัชรี, ศรศรี คีรีพันธุ์ ฯลฯ ขึ้นเวทีแสดงศักยภาพของนักร้องเมืองสุพรรณอย่างเต็มที่

แต่ครั้งกระนั้น ยังเป็นเรื่องของการรวบรวมเอานักร้องสายเลือดสุพรรณเป็นหลัก ยังไม่ได้ลงลึกในเชิงวิชาการสักเท่าไหร่”

“ถ้าท่านจำได้ เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 ปีเดียวกัน ผมนำเสนอ ‘มหกรรมเพลงนครปฐม’ ที่สถาบันศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา และครั้งกระนั้น คือ งานแสดงดนตรีลูกทุ่งเชิงวิชาการครั้งแรกในเมืองไทย ที่ผมภาคภูมิใจนำเสนอแนวคิดนี้ ถ้าถามผม ผมก็อยากจะทำงานเชิงวิชาการบันเทิงศิลปะอย่างนี้ให้สัญจรไปทุกจังหวัด แล้วแต่โอกาสวาสนาจะเอื้ออำนวย

วันนี้ ผมดีใจกับสุพรรณบุรีที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘เมืองสร้างสรรค์ทางดนตรี’ ของ องค์การยูเนสโก และผมก็คาดหวังว่า นับจากนี้ไปน่าจะมีงานดนตรีเชิงสร้างสรรค์ดีๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย”

“ถ้าไม่รังเกียจความคิดของผม ผมก็อยากจะเสนอแนวคิดงานเชิงวิชาการแบบเจนภพด้วย นั่นคือ ‘มหกรรมเพลงสุพรรณบุรี’ จะเป็นเช่นไร จะเป็นไปได้แค่ไหน ลองฟังรายการ ‘ข้าวเกรียบเพลงเก่า’ ทางช่องยูทูบเสียงศิลปิน บ่ายวันนี้ (6 พ.ย.) ดูก่อนก็ได้ครับ ถูกใจ ถูกต้อง ชอบธรรมแล้วก็ค่อยสนับสนุน แต่หากไม่ใช่ก็ลืมๆ ไปเสียก็ได้ แค่ความคิดของศิลปินแก่ๆ คนหนึ่งก็เท่านั้นเอง”

‘สุวัจน์’ ชื่นชม ‘ลุงเปีย’ ครูช่างเรือฉลอมจิ๋วมงคลรายแรกของไทย ยกเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ วิถีชาวประมงไทย ที่ควรอนุรักษ์สืบต่อไป

(7 พ.ย. 66) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ - Suwat Liptapanlop’ ระบุว่า…

ชื่นชม 'ลุงเปีย' ครูช่างเรือฉลอมจิ๋ว เรือมงคลรายแรกของไทย

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เจอกับคุณธนเดช บุญนุ่มผ่อง หรือลุงเปีย ครูช่างเรือฉลอมจิ๋ว เรือมงคล รายแรกของประเทศไทย ที่ห้างบลูพอร์ต หัวหิน

ลุงเปีย เป็น 1 ในครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งเกิดมาในครอบครัวชาวประมง และมีความหลงใหลในการต่อเรือมาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 40 ลุงเปียได้หันกลับมาศึกษาการต่อเรือจิ๋วอย่างจริงจัง และยึดเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบัน

สำหรับเรือฉลอม ในอดีตนิยมใช้เป็นเรือประมงพื้นบ้าน หรือบรรทุกสินค้าไปขายตามหัวเมืองชายทะเล รูปร่างลำเรือคล้ายเรือโป๊ะแต่มีประทุนโค้งกลางลำ ทำจากไม้ไผ่สานขัดแตะมุงด้วยจาก มีต้นกำเนิดในแถบภาคกลาง หรือที่เราคุ้นหูกันกับท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เพราะมีเรือฉลอมจอดอยู่จำนวนมาก 

เรือฉลอม ไม่มีเครื่องยนต์ ใช้ธรรมชาติคือลม และใบเรือในการแล่นเรือ 

ความพิเศษของเรือฉลอมจิ๋วลำนี้ คือ ลุงเปีย ได้นำเอาเลข 9 ใส่เข้าไปเป็นองค์ประกอบของเรือ คือแต่ละด้านของเรือ จะใช้ไม้ทั้งหมด 9 แผ่น เมื่อรวมกัน 2 ด้าน จะเป็น 18 แผ่น ซึ่ง 1 รวมกับ 8 เท่ากับ 9 ความยาวจากเรือไปท้ายเรือ 36 ซม. 3 รวมกับ 6 เท่ากับ 9 ไม้ที่ใช้ต่อเรือทั้งหมดมี 27 แผ่น 2 รวมกับ 7 เท่ากับ 9 ทำให้ทุกสัดส่วนของเรือ คือเลข 9 เลขมงคลทั้งลำ 

เรือฉลอมนี้จึงเป็นเรือฉลอมมงคลรายแรกของประเทศไทย เพราะทุกสัดส่วนตกเลข 9 ทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านั้น วิธีการสร้างเรือฉลอมก็ไม่ธรรมดา เพราะใช้ไม้สักทั้งลำ และต้องเป็นไม้สักลายเดียวกันในการประกอบ เพื่อให้ลายไม้ต่อกัน หากวันไหนทำพลาด ต้องทิ้งทั้งแผ่น แล้วทำใหม่ อีกทั้งยังใช้ไม้ไผ่แทนตะปู เพื่อไม่ให้เกิดสนิม ก่อนจะลงแลคเกอร์เป็นขั้นตอนสุดท้าย

เรือฉลอมลำนี้ นอกจากจะเป็นเรือมงคล ที่มีความหมายมงคล ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวที่ผมประทับใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ลุงเปีย เปิดสอนให้ผู้ที่สนใจมาเรียนฟรี เพื่ออนุรักษ์การต่อเรือฉลอมจำลองให้คงอยู่ตลอดไป และยังเป็นอาชีพ สร้างรายได้อีกด้วย 

ผมขอแสดงความชื่นชมลุงเปีย ที่สร้างสรรค์ผลงานอันน่าทึ่ง ผมว่านี่จะเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวประมงไทย และทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักเมืองไทยมากยิ่งขึ้น จากเรือจิ๋วลำนี้ 

‘สาวเกาหลี’ เช็กอิน!! สังคมไร้เงินสดไทย ลองกินเที่ยว กทม.แบบไม่ขอพกเงินสด อึ้ง!! ‘ระบบสแกนจ่าย’ กระจายทั่ว สะดวกจนไม่ต้องแลกเงินใช้สักบาทเดียว

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 66 ช่องยูทูบ ‘TopMent Thailand’ ได้ออกมาเล่าเรื่องราวของยูทูบเบอร์สาวชาวเกาหลีใต้ ที่ได้มาเที่ยวเมืองไทย และรู้สึกประทับใจกับวิธีการชำระเงินของเมืองไทยเป็นอย่างมาก โดยได้ระบุว่า…

2-3 ปีมานี้การใช้จ่ายเงินด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) กำลังเป็นที่นิยมมากในประเทศไทย โดยทางรัฐบาลมีความพยายามที่จะทำให้สังคมไทยกลายเป็น ‘สังคมไร้เงินสด’ ... และไม่น่าเชื่อเลยว่า การสแกนคิวอาร์โค้ด ที่คนไทยจำนวนมากเริ่มใช้กันจนชินแล้วนั้น จะกลายเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์สำหรับชาวต่างชาติ จนถึงขนาดที่มีสาวชาวเกาหลีใต้รายหนึ่งตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะขอลองเที่ยวกรุงเทพฯ โดยไม่ใช้เงินสด และจะสแกนแต่คิวอาร์โค้ดเท่านั้น

‘TopMent Thailand’ ได้เล่าถึงคลิปวิดีโอต้นเรื่อง ซึ่งเป็นคลิปของ ‘คุณแองเจลิน่า ลี’ จากช่องยูทูบ @AngelinaleeTravel ที่ถูกเผยแพร่เอาไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา และจนถึงตอนนี้ก็ผู้คนจากทั่วโลกเข้ามารับชมคลิปวิดีโอของเธอไปมากกว่า 184,000 วิว

แองเจลิน่า ลี ได้เริ่มต้นคลิปของเธอในระหว่างที่เดินออกมาจากเครื่องบิน พร้อมกับบอกว่า...

"ตอนนี้มาถึงกรุงเทพฯ ผ่านไปเพียงแค่ 3 ปี กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปเร็วมาก" จากนั้นสิ่งแรกที่เธอต้องทำก็คือไปรับ 'ซิมการ์ด' ก่อน ซึ่งเธอยังบอกอีกด้วยว่า "ทุกวันนี้สะดวกมากเพราะสามารถดำเนินการซื้อล่วงหน้าได้ผ่านช่องทางออนไลน์"

หลังที่เธอได้รับซิมการ์ดแล้ว เธอก็เดินผ่านมาทางเคาน์เตอร์แลกเงิน ซึ่งที่จริงแล้ว เธอสามารถทำการแลกเงินที่นี่ได้เลย แต่สำหรับทริปนี้ เธอจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะเธอนั้นได้วางแผนมาล่วงหน้าแล้ว ว่าทริปเที่ยวกรุงเทพฯ ในครั้งนี้เธอจะไม่ใช้เงินสดเลยตลอดทั้งทริป

โดย แองเจลิน่า เผยว่า เธอได้ยินชื่อเสียงของระบบการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดที่กรุงเทพฯ ว่ามีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีแต่คนบอกว่าคุณสามารถชำระเงินได้โดยใช้ระบบคิวอาร์โค้ด แม้แต่ในร้านค้าที่เล็กมากๆ ก็ยังรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเลย ดังนั้น เธอจึงอยากลองใช้ชีวิตการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดดูบ้าง

หลังจากนั้น เธอก็ได้เดินทางไปที่พัก แล้วหาหลังจากเก็บสัมภาระเรียบร้อย ก็ออกไปหาอะไรกิน โดยเธอบอกว่าร้านที่เธอจะไปเป็นร้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในหมู่คนเกาหลี และอยู่ห่างจากโรงแรมที่เธอพักเพียงแค่ประมาณ 2 นาทีเท่านั้น

โดยในระหว่างทาง ขณะที่เธอกำลังเดินอยู่นั้น เธอก็ได้ชมเมืองไทยด้วยว่า "ข้อดีของเมืองไทยก็คือ คุณสามารถเดินออกมาหาของกินข้างนอกได้อย่างปลอดภัย แม้จะเป็นเวลากลางคืนแล้วก็ตาม"

แองเจลิน่าเดินมาถึงร้านดังกล่าว ชื่อ ‘ร้านโจ๊กโภชนา’ โดยเธอได้สั่งอาหารไปทั้งหมด 3 อย่าง ทั้งหมด ราคา 310 บาท ซึ่งเธอบอกว่า ร้านนี้ไม่รับบัตรเครดิต แต่สามารถจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ดได้ เธอจึงขอลองสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อจ่ายเงินทันที ... เธอบอกว่าระบบสแกนคิวอาร์โค้ดนี้ใช้งานง่ายมากๆ เพียงแค่สแกน กดใส่ตัวเลข และกดตกลง จากนั้นก็นำหลักฐานการโอนไปโชว์ให้คนขายดูเพื่อเป็นการยืนยัน เพียงเท่านั้นก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้น เธอได้ไปเดินเล่นเพื่อเที่ยวถ่ายรูปที่ถนนข้าวสารต่อ และที่น่าทึ่งก็คือ บรรดาร้านขายของริมถนนที่เธอเห็น ก็ยังรับชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ด ทำเอาเธออดสงสัยไม่ได้ว่า การชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ดนั้น ได้รับความนิยมในระยะเวลาอันสั้นขนาดนี้ได้อย่างไร ที่สำคัญเธอยังรู้มาว่า การใช้จ่ายแบบนี้ ร้านค้าประเภทนี้ไม่ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารอีกด้วย รับเงินแบบเต็มๆ ซึ่งเป็นอะไรที่ทำให้เธอรู้สึกว้าวมากๆ

หลังจากได้ทดลองใช้คิวอาร์โค้ดในการจ่ายเงินในหลายๆ ร้าน แองเจลิน่า ก็รู้สึกทึ่งกับนวัตกรรมการชำระเงินของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเธอบอกว่า...

"ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสดจริงๆ การที่ไม่ต้องพกเงินสดแบบนี้ มันทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นอย่างมาก และยังช่วยยกระดับการท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะเมื่อ 3 ปีก่อนที่มา ไทยยังไม่มีอะไรแบบนี้ และมันก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ด้วย เนื่องจากระบบการชำระเงินที่แสนสะดวกสบายนี้ ทำให้เราเพลิดเพลินและสนุกสนานไปกับการเดินทางได้ โดยไม่ต้องกังวลกับการหาสถานที่แลกเงินเลย"

ทั้งนี้ หลังจากที่คลิปของคุณแองเจลิน่าได้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีผู้คนเข้ามารับชม พร้อมแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก อาทิ...

- มันช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนเงินไปได้เยอะเลยนะ และมันก็ปลอดภัยกว่า อีกทั้งยังง่ายกับร้านค้าในการชำระเงินด้วย ตัวลูกค้าเองนั้นก็สะดวกสบาย เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด แถมยังป้องกันการเลี่ยงภาษีได้อีกด้วย ฉันหวังว่า สักวันหนึ่ง ประเทศของฉันจะทำแบบนี้บ้าง
- ฉันดีใจที่คุณชื่นชอบที่พักนั้น รวมถึงสระว่ายน้ำก็มีเอกลักษณ์และดูสวยงามมาก
- ดูเหมือนว่าที่นั่นจะสะดวกมากๆ เพราะสามารถใช้จ่ายเงินได้ โดยไม่ต้องใช้เงินสด
- การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแบบนั้นดูสะดวกสบายมาก และมันก็ดูน่าทึ่งมากๆ ที่ประเทศไทยสามารถสร้างสังคมไร้เงินสดด้วยระบบคิวอาร์โค้ดได้แบบนั้น
- กรุงเทพฯ และโลกของพวกเรากำลังเปลี่ยนไป พวกเราจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดกันอีกต่อไปแล้ว

***นอกจากนี้ ยังได้มีคนไทยเข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า...

- ในประเทศไทย คุณสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายเงินได้ตามปกติเกือบทุกที่ แม้แต่ร้านค้าริมทาง ตลาดสด อาหารริมทางของชาวบ้านตามชนบท ตามจังหวัดก็ใช้ได้ทั้งหมด แต่ต้องเป็นเงินบาท โดยปัจจุบันคนต่างจังหวัด หรือคนชนบทก็รับการชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ด คุณแทบไม่จำเป็นต้องพกเงินสดอีกต่อไปในประเทศไทย เพราะแม้แต่คนแก่ หรือผู้เฒ่าในชนบทก็ยังสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อใช้จ่ายได้อย่างง่ายดาย สะดวกสบายมาก
- คุณสามารถชำระเงินด้วยรหัสคิวอาร์โค้ดได้เกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย แม้แต่ร้านอาหารข้างทาง ก็ยังมีรหัสคิวอาร์โค้ดให้คุณได้ใช้ชำระเงิน
- ใน เซเว่น อีเลฟเว่น ที่ประเทศไทย จะแตกต่างไปหน่อย เพราะเขามีระบบกระเป๋าเงินเป็นของตัวเอง คุณจึงไม่สามารถชำระเงินผ่านรหัสคิวอาร์โค้ดในเซเว่น อีเลฟเว่นได้ ต้องใช้บัตรเครดิตหรือเงินสดแทน
- มันช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนเงินไปได้เยอะเลยนะ และมันก็ปลอดภัยกว่า อีกทั้งยังง่ายกับร้านค้าในการชำระเงินด้วย ตัวลูกค้าเองนั้นก็สะดวกสบาย เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด แถมยังป้องกันการเลี่ยงภาษีได้อีกด้วย ฉันหวังว่า สักวันหนึ่ง ประเทศของฉันจะทำแบบนี้บ้าง
- ชาวต่างชาติที่ได้มาเที่ยวที่เมืองไทย จะไม่รู้สึกผิดหวังกับเมืองไทยของเราอย่างแน่นอน คุณจะได้สัมผัสกับสิ่งใหม่ๆ ที่จะทำให้คุณประหลาดใจ ทั้งผู้คน ภาษาพูด ภาษากาย อาหาร และวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค ... ตัวตนของเราชาวไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้ และนั่นก็ทำให้คุณหลงรักเมืองไทย จนต้องกลับมาเที่ยวที่เมืองไทยอีกแน่นอนมัน เพราะเอกลักษณ์นั้น คือ มิตรภาพ และรอยยิ้มอันบริสุทธิ์ที่เราทุกคนมี และมอบให้เพื่อต้อนรับแขกเสมอ

*** หลังจากนั้น ก็มีผู้ชมต่างชาติเข้ามาชื่นชมถึงความน่ารักของเมืองไทย กรุงเทพฯ รวมถึงคนไทย และอยากจะมาเที่ยวไทยในเร็ววัน ผ่านการรีวิวของ แองเจลิน่า และข้อคิดเห็นจากคนไทยผ่านในคลิปนี้อีกด้วย ว่า...

- ฉันสนุกไปกับวิดีโอของคุณมาก และฉันก็รู้สึกแบบนี้ทุกครั้งที่ได้มาเที่ยวเมืองไทย ซึ่งดูเหมือนว่าที่นั่นจะมีเวทมนตร์สักอย่างที่ดึงดูดใจผู้คนได้มากมายขนาดนี้ และฉันก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ตกหลุมรักเมืองไทย ราวกับโดนเวทมนตร์สะกดเอาไว้ ทำให้ฉันได้อาศัยอยู่ที่นั่นนานถึง 15 ปี และทุกวันนี้ ฉันก็ยังคงเดินทางกลับไปท่องเที่ยวที่เมืองไทย เพื่อให้รู้สึกว่าได้เหมือนอยู่บ้านของตัวเอง ฉันเคยไปเที่ยวมาแล้วทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมืองไทยเป็นสถานที่โปรดของฉัน
- ไปเที่ยวที่เมืองไทยนั้นคุ้มค่ามาก และปลอดภัยมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ฉันจึงรู้สึกปลอดภัยมาก ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนในเมืองไทยก็ตาม
- ฉันชอบกรุงเทพฯ ครั้งต่อไป ฉันต้องลองไปเที่ยวที่กรุงเทพฯ บ้างแล้ว
- คนไทยน่ารักมาก!!
- กรุงเทพฯ เป็นที่เที่ยวที่ฉันชอบมาก ซึ่งฉันได้จองทริปไปเที่ยวที่กรุงเทพฯ เอาไว้แล้วในเดือนมีนาคมปี 67 ดีใจมากที่เรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่และบรรยากาศของที่นั่นจากคลิปของคุณ แถมยังได้รู้วิธีการใช้เงินที่ฉันไม่เคยรู้มาก่อนอีกด้วย

‘ม.ฮาร์วาร์ด’ บรรจุ ‘ภาษาไทย’ ลงหลักสูตรการเรียนการสอนปี 66-67 เชื่อ!! ก้าวสำคัญแห่ง 'ภาษาสยาม' ผงาดข้ามสู่ความเป็นอินเตอร์

เมื่อไม่นานมานี้ ช่องยูทูบ ‘สะท้อนไทย’ ได้นำเสนอมุมมองของผู้คนในหลายประเทศ ว่ามีความคิดเห็นยังไงกับประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ

หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของภาษาไทย ที่ดังไกลทั่วโลกจนถึงขั้นมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง ‘ฮาร์วาร์ด’ (Harvard University) ต้องทำการบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา

สำหรับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา โดยได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ค.ศ. 2179

เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีก (Ivy League) โดยในปี ค.ศ. 2009-2010 และได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง ของสหรัฐอเมริกา โดยนิตยสารยูเอสนิวส์ รวมถึงได้รับการจัดอันดับโดย ไทมส์ไฮเออร์เอดยูเคชันซัปพลีเมนต์ (Times Higher Education) หนังสือพิมพ์ชื่อดังจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 7 ของโลก ในปี ค.ศ. 2019-2020 ซึ่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีแห่งหนึ่งของโลก ที่ผู้คนทั่วโลกให้การยอมรับ

ทั้งนี้หากอ้างอิงจาก เพจอาเซียน ได้มีการโพสต์ถึงภาษาของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้มีการบรรจุเข้าไปเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้แก่ ภาษาบาฮาซา (Bahasa) ของประเทศอินโดนีเซีย, ภาษาตากาล็อก (Tagalog) หรือภาษาฟิลิปีโน (Filipino) ประเทศฟิลิปปินส์ และ ภาษาไทย (Thai) ของประเทศไทย

ด้าน เว็บไซต์เดอะสตาร์ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับภาษาตากาล็อก, ภาษาบาฮาซา และภาษาไทยที่ถูกนำมาสอนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไว้ด้วยว่า ภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะทำการจ้างอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน เพื่อสอนภาษาเหล่านี้โดยเฉพาะ สำหรับปีการศึกษา 2566-2567

แน่นอนว่า ภายหลังที่ทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้บรรจุหลักสูตรภาควิชาภาษาไทย เข้าไปเป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอน ก็ทำให้ในโลกออนไลน์ มีการแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก อาทิ...

- “ฉันเรียนภาษาไทยมา 2-3 ปีแล้ว แต่ฉันกลัวเกินกว่าจะพูดกับคนพื้นเมืองเสมอ เพราะฉันมักจะไม่มั่นใจในความเข้าใจของตัวเอง”
- “ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร คำศัพท์แสลงใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกปีที่มาจากคนหนุ่มสาว ง่ายยากอยู่ที่นิสัย และเรียนรู้ได้อย่างเต็มใจ ถ้ามีความสุขภาษา เขาจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว”
- “ภาษาไทยไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย”
- “ภาษาไทยเป็นภาษาที่ทั่วโลกให้การยอมรับ”
- “คนรุ่นใหม่ทั่วโลกอยากเรียนภาษาไทยกันมากขึ้น”

- “ภาษาเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก เมื่อพิจารณาจากจำนวนของเจ้าของภาษา 86 ล้านคน และอันดับที่ 20 ของโลก เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้พูดระดับ 1 และ 2 ภาษาเวียดนามเป็นภาษาประชากรรายใหญ่อันดับ 4 ในสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องปกติที่จะได้รับการสอนภาษาเวียดนามในฮาร์วาร์ด แต่น่าตลกที่ข้อมูลนี้ แสดงเฉพาะภาษาไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเท่านั้น”
- “ถ้าไม่มีภาษาเวียดนาม นั่นคือข่าวปลอม ได้โปรด จงเข้าไปเช็กที่เว็บไซต์ของฮาร์วาร์ด”
- “ภาษาอินโดนีเซียเอามาจากภาษามาเลเซีย” และได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นโต้แย้งความเห็นนี้ว่า “ภาษามาเลเซียไม่มีอยู่จริง”

***ทั้งนี้ ก็มีดรามาเล็กๆ ถึงความเห็นที่พูดถึงเกี่ยวกับภาษาเขมร ซึ่งอ้างว่าเป็นต้นกำเนิดของภาษาไทยในหัวข้อประเด็นนี้ด้วย อาทิ...
- “แล้วภาษาเขมรล่ะ อยู่ที่ไหน?” จากคำถามนี้ ก็ได้มีความคิดเห็นส่วนใหญ่มาตอบกลับใต้คอมเมนต์นี้ว่า…
- “พวกเขาไม่สอนหรอก ภาษาตลกแบบนั้น มันตลกเกินไป”

หลังจากนั้นก็ได้มีชาวกัมพูชาเข้ามาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า…
- “ตัวอักษรไทย มาจากภาษาเขมร ยินดีต้อนรับ คนรับใช้ชาวไทยของเรา”
- “ทำไมเขาถึงไม่สอนภาษาเขมร พวกเขายิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาล”
- “ภาษาต้นฉบับแรกอยู่ที่ไหน? ภาษาเขมรอยู่ที่ไหน?”
- “ต้องมีแค่ภาษาเขมรอย่างเดียวสิ เพราะเขมรคือประเทศมหาอำนาจ”

ไม่ว่าประเด็นข้อถกเถียงจะเป็นเช่นไรก็ตาม แต่สิ่งที่น่าภูมิใจคือ ภาษาไทยกับก้าวสำคัญในการเป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง 'ฮาร์วาร์ด' อาจเป็นจุดเริ่มต้นบทใหม่ของ Soft Power ไทยผ่านภาษาไทยนับต่อจากนี้ ก็เป็นได้...

‘นักบิด MotoGP’ ควงตะหลิวจับกระทะ แข่งทำ ‘ผัดไทย’ ชู ‘สตรีตฟู้ด’ ซอฟต์พาวเวอร์ไทย สู่แฟน MotoGP ทั่วโลก

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค. 66) ฟรังโก้ มอร์บิเดลลี่ นักบิดโมโตจีพีชื่อดังจากยามาฮ่า และ ก๊องส์ ธัชกร บัวศรี นักแข่งดาวรุ่งชาวไทยจากทีมฮอนด้า ครองเจ้าสมรภูมิกระทะเดือด คว้าถ้วย ‘ผัดไทยจีพี’ ไปครอง ในกิจกรรม Pre-Event สุดน่ารักที่จัดต้อนรับนักบิดและเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทำวิดีโอโปรโมตประเทศไทยของทีมดอร์น่า สปอร์ต ที่ปักหลักถ่ายทำ สถานที่สวยงามรอบเกาะรัตนโกสินทร์และแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพ ตื่นตาแฟนโมโตจีพีทั่วโลก ในการนำเหล่าเทพนักบิดชื่อดังระดับโลก ‘กวาร์ตาราโร-มอร์บิเดลลี่-เมียร์’ ปะทะ 3 นักบิดไทย ‘ก้อง-ก๊องส์-ไอเดีย’ แข่งขันทำสุดยอดเมนูสตรีตฟู้ดแสนอร่อยที่สร้างชื่อและภาพจำให้กับประเทศไทยตลอดกาล สูตรเด็ดจากเชฟ ‘กระติ๊บ’ ชวัลกร วรรธนพิสิฐกุล ดีกรีนางเอกดัง เตรียมถ่ายทอดภาพความสวยงามและเรื่องราวต่าง ๆ ในช่วงการแข่งขัน 27-29 ต.ค.นี้ สู่แฟนมอเตอร์สปอร์ตกว่า 207 ประเทศ 800 ล้านคนทั่วโลก

ความเคลื่อนไหวกิจกรรม Pre Event ต้อนรับนักแข่ง โมโตจีพี สนามประเทศไทย รายการ ‘OR Thailand Grand Prix 2023’ ที่จัดขึ้นในวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ห้องราชพฤกษ์บอลรูม ชั้น 2 อาคารสปอร์ตคลับเฮ้าส์ ราชพฤกษ์คลับ นอร์ธปาร์ค ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นักบิดโมโตจีพีชื่อดัง ได้แก่ ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร และฟรังโก้ มอร์บิเดลลี่ นักบิดชื่อดังจากยามาฮ่า, โจอัน เมียร์ จากฮอนด้า รวมทั้งนักบิดไทยที่ลงแข่งขันในศึกโมโตจีพี สนามประเทศไทย 3 คน ได้แก่ ก้อง สมเกียรติ จันทรา จากฮอนด้า ในรุ่น Moto2, รุ่น Moto3 ไอเดีย กฤตภัทร เขื่อนคำ จากยามาฮ่า และ ก๊องส์ ธัชกร บัวศรี จากทีมฮอนด้า พร้อมด้วยเหล่าแฟนคลับและกองทัพสื่อมวลชน ร่วมชมการถ่ายทำวิดีโอประชาสัมพันธ์ประเทศไทย โดยทีมงานดอร์น่า สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขัน

ซีนสำคัญของการถ่ายทำวิดีโอโปรโมตประเทศไทย เป็นการเดินเรื่องที่ นักบิดต่างชาติได้พบกับ รถเข็นขาย ‘ผัดไทย’ จึงชักชวนกันไปฝึกหัดและแข่งขันกันทำผัดไทย สู่ซอฟต์พาวเวอร์สตรีตฟู้ดอาหารไทยที่เลื่องชื่อไปทั่วโลก ส่งผ่านวัฒนธรรมอาหารผ่านกิจกรรม Pre-Event ที่ฝ่ายจัดฯ โมโตจีพี เตรียมไว้ต้อนรับในนักแข่งในชื่อ ‘ผัดไทยจีพี’ หรือ ‘PadThai GP Contest’

บรรยากาศภายในงานเริ่มจากขบวนกลองยาว การฟ้อนรำต้อนรับ โดยมีคณะผู้บริหารจากภาครัฐ-เอกชน ที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันให้เกิดงานโมโตจีพี สนามประเทศไทย นายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประธาน พร้อมด้วย นาย นิธี  สีแพรรองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ นายอารักษ์ พรประภา ประธาน บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด, นายวีรพงษ์ ธนากิจจานนท์ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายกีฬายานยนต์ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด, นายสุรเชษฐ คล้ายแจ้ง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานงานทะเบียนและภาษีรถ กรมการขนส่งทางบก และตนัยศิริ ชาญวิทยารณ์ กรรมการผู้อำนวยการ สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ร่วมให้การต้อนรับ มอบพวงมาลัย และมอบผ้ากันเปื้อนผัดไทยจีพีให้กับเหล่านักบิด

การแข่งขันได้เชฟฝีมือดี ดีกรีนางเอกชื่อดัง กระติ๊บ ชวัลกร วรรธนพิสิฐกุล นำสูตรเด็ด เคล็ดลับการทำผัดไทยให้อร่อย มาสอนให้เหล่านักบิดได้ลงมือทำในแบบต้นตำรับ เมนูสตรีตฟู้ดแสนอร่อยของคนไทยที่กลายเป็นจานโปรดของคนทั่วโลก ซึ่งเมื่อได้ทาน ชวนให้นึกถึงประเทศไทย โดย อ็อกซ์ฟอร์ด ดิกชันนารี บรรจุชื่อ ‘pad thai’ (ผัดไทย) ให้เป็นคำศัพท์สากล เนื่องจากเป็นเมนูที่โด่งดังเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

การตัดสินการแข่งขันครั้งนี้ โดยเหล่าคณะกรรมการจากภาครัฐเอกชนและแฟนคลับโมโตจีพี ร่วมชิมและโหวตให้กับ ฟรังโก้ มอร์บิเดลลี่ นักบิดโมโตจีพีชื่อดังจากยามาฮ่า และ ก๊องส์ ธัชกร บัวศรี นักแข่งดาวรุ่งชาวไทยจากทีมฮอนด้า ครองเจ้าสมรภูมิกระทะเดือด คว้าถ้วยผัดไทยจีพีไปครอง โพเดี้ยมอันดับ 2 ได้แก่ โจอัน เมียร์ จากฮอนด้า และ ไอเดีย กฤตภัทร เขื่อนคำ จากยามาฮ่า โพเดี้ยมอันดับ 3 ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร จากยามาฮ่า และ ก้อง สมเกียรติ จันทรา จากฮอนด้า บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ประทับใจ 

ทั้งนี้ การแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือโมโตจีพี ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ภายใต้ชื่อรายการ ‘โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2023’ (OR Thailand Grand Prix 2023) ศึกสองล้อที่เร็วที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีกำหนดแข่งขันระหว่าง 27- 29 ตุลาคม 2566 ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์   

แฟนความเร็วซื้อบัตรชมการแข่งขันได้ที่ Counter Service All Ticket ในร้าน 7-Eleven  ทุกสาขาทั่วประเทศ ส่วนบัตรแอดมิชชัน(ADMISSION) เข้าร่วมชมงานในลานกิจกรรม บูธจำหน่ายสินค้า คอนเสิร์ตและมวย ซื้อบัตรได้ที่บูธ Allticket หน้างาน วันที่ 27-29 ต.ค. เท่านั้น ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แฟนเพจ Chang Circuit Buriram

ยอมใจ!! 'สาวจีน' ปั่นจักรยาน 4,000 กิโลเมตร เพื่อมาเรียนมวยไทย กับ 'บัวขาว บัญชาเมฆ'

(25 ต.ค.66) นับว่าเป็นเรื่องราวดี ๆ ของวงการมวยไทย หลังจากเพจเฟซบุ๊ก Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ) ได้เผยว่า มี ผู้หญิงชาวจีน ลงทุนลงแรงปั่นจักรยาน 4,000 กิโลเมตร มาเรียนมวยไทยกับ บัวขาว บัญชาเมฆ ที่ค่ายในจังหวัดเชียงใหม่ นับเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ชั้นดี จนกลายเป็นที่ฮือฮาในประเทศจีนอย่างมาก

เพจของบัวขาว ระบุว่า “นี่ก็อีกราย Soft power อีกราย คนนี้จากประเทศจีน ตอนนี้ติดชาร์ตอันดับที่ 3 ของเวยป๋อละ กับการที่ หลี่ เจิน เซียง สาวจีน จากเมืองเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน ได้ตัดสินใจขี่จักรยาน เป็นระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร มายังประเทศไทยเพื่อทำความฝันให้สำเร็จในการมาฝึกซ้อมมวยไทยที่ค่ายพี่บัวขาวที่เชียงใหม่ละขึ้นชก ในประเทศต้นตำรับของมวยไทย พวกเรามาเอาใจช่วยกันครับ เผื่อใครในนี้เจอเขา ก็ทักยิ้มให้บ้างช่วยกันแสดงความเป็นเจ้าบ้านที่ดี และต้อนรับเขาในฐานะที่ชื่นชอบมวยไทยเหมือนกัน เราควรภาคภูมิใจที่ชาวต่างชาติต่างหลงใหลในมวยไทยที่เป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของเรา”

'อนุทิน' ชื่นชมหนัง 'สัปเหร่อ' ยกของดีที่ควรต้องโชว์  ตัวอย่างความสำเร็จซอฟต์พาวเวอร์ผ่านวิถีชาวบ้าน

(24 ต.ค.66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกระแสภาพยนตร์เรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ คือตัวอย่างความสำเร็จจากการนำเสนอสิ่งที่เป็นวิถีของชาวบ้าน หลายสิ่งหลายอย่างเราเคยสงสัย หนังเรื่องนี้ เฉลยไว้หมดแล้ว แล้วยังให้แง่คิดเรื่องชีวิต ครอบครัว ความรัก ไว้ด้วย หนังทำให้เราเห็นว่า วิถีไทย ไทยสไตล์ ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ก็ต่างมีเสน่ห์ทั้งนั้น ไม่ต้องไปทำตามแบบใครเลย ภูมิใจในความเป็นเรานี่เอง ดีที่สุด ต้องชื่นชมคนนำเสนอที่ภูมิใจในวิถีของตัวเอง กล้านำเสนอ อย่างตรงไปตรงมา กินใจผู้ชม ของอะไรก็ตาม มันมีดี ให้โชว์ทั้งนั้น ขอแค่ภูมิใจ แล้วกล้าโชว์ อย่าไปมองว่า เราด้อยกว่าเขา เราอ่อนกว่าเขาเด็ดขาด กับของไทยๆ สินค้าไทย กับฝีมือคนไทย มั่นใจว่าไม่แพ้ใครในโลก“อย่าง OTOP สำหรับผม ผมว่าหลายอย่างงดงามระดับโลกเลยนะ ผ้าไทย ผมใส่โชว์เลย ก็มันสวย แล้วผมก็เป็นคนที่ภาคภูมิใจในการใช้ของไทยอยู่แล้ว ถ้า

เรากล้าอวดซะอย่าง ของที่เราอวดมันก็มีคุณค่าขึ้นมาแล้ว เหมือนหนังเรื่องไทบ้าน ก่อนที่จะมีสัปเหร่อ คนทำเขากล้า หนังมันก็ได้ฉาย อย่างน้อยที่สุด สมมติ ถ้าไม่ได้กำไร ขาดทุน แต่เรื่องราววิถีไทบ้านที่เขาอยากนำเสนอมันก็ไปถึงคนอื่นๆ แล้ว ใครอยากจะปั้น Soft Power ไทยต้องกล้าทำ กล้าโชว์ก่อน ถ้ามานั่งกล้าๆ กลัวๆ ที่แย่กว่าคือด้อยค่ากันเอง แบบนั้นไปไม่รอด ถ้วยกาแฟใบโปรดของผมก็ซื้อจากงาน OTOP สวยงามมาก ผมยังโพสต์อวดอยู่เลย” นายอนุทิน กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top