Monday, 7 July 2025
ECONBIZ

‘รัดเกล้า’ เผย!! ‘ก.อุตสาหกรรม’ มุ่งแก้ปัญหา PM2.5 ยั่งยืน ผุดมาตรการ ‘คุม รับ รุก’ สร้าง ‘อุตฯ สีเขียว’ สอดรับ BCG Model

(9 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับทราบและไม่ได้นิ่งนอนใจในความกังวลใจของชาวภูเก็ตเรื่องมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้เดินหน้าสั่งการอุตสาหกรรมจังหวัด ทำการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และกำกับติดตามดูแลตามมาตรการระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทันที

นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังย้ำอีกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ และเดินหน้าแก้ไขปัญหา PM2.5 ด้วยมาตรการ ‘คุม รับ รุก’ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางวาระ PM2.5 เป็น 1 ใน 5 วาระเร่งด่วน ยกระดับสู่อุตสาหกรรมยั่งยืน รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า มาตรการ ‘คุม รับ รุก’ ได้แก่ 

1.คุม ควบคุมการระบายอากาศเสียจากโรงงาน โดยใช้อำนาจตาม พรบ. โรงงาน แก้กฎหมาย 
2.รับ การรับและรวบรวมข้อมูลด้านมลพิษอากาศจากโรงงานอย่าง Real-time 
3.รุก การตรวจโรงงานเชิงรุก กทม. ปริมณฑล เหนือ

โดย กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองการเชิงรุกกับโรงงานทั่วประเทศที่จำนวนกว่า 7 หมื่นโรงงาน ทั้งการตรวจโรงงานเชิงรุกในพื้นที่ กทม. และ ปริมณฑล ของโรงงานในกลุ่มเสี่ยงแล้วกว่า 896 โรงงาน (กทม. 260 โรงงาน ปริมณฑล 636 โรงงาน) ดำเนินการตรวจโรงงานเชิงรุกในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 668 โรงงาน

รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ควบคุมการผลิต และตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ออกกฎหมายควบคุมด้านมลพิษอากาศ ออกกฎหมายกำหนดให้โรงงานบางประเภทที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ให้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMS) ตลอดจนการจัดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล (Pollution Online Monitoring System) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาติดตามและตรวจสอบ

“รัฐบาลเร่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยสอดรับ BCG Model มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มและอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) พัฒนาพาอุตสาหกรรมไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งไปสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงต้องร่วมกับผู้ประกอบการและฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ปรับตัวตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ” นางรัดเกล้าฯ กล่าว

‘นายกฯ เศรษฐา’ บินลัดฟ้า หารือทวิภาคีกับ ‘ฮ่องกง’ หวังเดินหน้า EEC เชื่อมโยง เขตเศรษฐกิจ GBA

(9 ต.ค.66) ณ ทำเนียบผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honorable John Lee Ka-chiu) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีมุ่งส่งเสริมพลวัตความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และความเชื่อมโยง ประเทศไทยและฮ่องกงเป็นพันธมิตรทางการค้า และการลงทุนที่สำคัญ อีกทั้งต่างยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกันและกันอีกด้วย รวมถึงได้ชื่นชมความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) ของฮ่องกงด้วย หวังให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือน พร้อมเชิญผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเยือนไทยด้วย

ด้านผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวว่า ไทยและฮ่องกงมีความสัมพันธ์ที่ดี และเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจ และจุดหลอมรวมระหว่างตะวันออก และตะวันตกอีกทั้งประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่ จึงเป็นโอกาสที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันต่อยอดผลประโยชน์เศรษฐกิจ และการเงินการธนาคาร ในสภาวะความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำในขณะนี้

โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือที่มีความสนใจร่วมกัน ดังนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฮ่องกงมีบทบาทที่สำคัญ เชื่อมจีนกับส่วนอื่น ๆ ของโลก ตลอดจนบทบาทในฐานะศูนย์กลางภูมิภาคด้านการค้า การเงิน และบริการ

โดยไทยสามารถเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียนให้แก่ฮ่องกง และจีนได้ ซึ่งรวมถึงการเป็นประตูสำหรับธุรกิจ ตลอดจนสินค้า และบริการจากฮ่องกง และจีนได้ จึงหวังที่จะกระชับความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยง

ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งฮ่องกงมีความเชี่ยวชาญ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย เชิญชวนฮ่องกงมาลงทุนในไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย

โดยไทยหวังที่จะเดินหน้าความร่วมมือเชิงลึกกับฮ่องกง เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง และนโยบายการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อประสาน และเชื่อมโยง EEC กับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA)

‘สามารถ แก้วมีชัย’ ข้องใจ ‘ผลดี-ผลเสีย’ แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น จะเชื่อ ‘รัฐบาล’ หรือ ’นักเศรษฐศาสตร์’ ดีกว่ากัน?

(8 ต.ค. 66) นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า…

นโยบายแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท ที่ต้องใช้งบประมาณทันทีถึงห้าแสนหกหมื่นล้านบาท กับผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว จะให้เชื่อใครดี ระหว่างรัฐบาลกับนักการเงิน การธนาคารและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์    

‘การบินไทย’ คว้ารางวัล ‘TTG Travel Hall of Fame’ ควบ ‘Best Inflight Service’ ในงาน TTG Travel Awards 2023

(9 ต.ค. 66) นายกรกฏ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนบริษัทฯ รับรางวัล TTG Travel Hall of Fame และรางวัล Best Inflight Service ในพิธีประกาศรางวัล ทีทีจี ทราเวล อวอร์ด ครั้งที่ 32 ประจำปี 2566 (the 32nd TTG Travel Awards 2023) ณ ห้องเวิลด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

การประกาศรางวัล ทีทีจี ทราเวล อวอร์ด จัดขึ้นทุกปี เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลและองค์กรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ โดยจัดอันดับจากการลงคะแนนของผู้อ่านนิตยสาร TTG Travel Trade Publishing รวมทั้ง TTG Asia, TTG China, TTG India, TTG Mice, TTG Associations, TTG-BT Mice China, และ TTG Asia Luxury

ทั้งนี้ บุคคลหรือองค์กรที่ได้รางวัล TTG Travel Hall of Fame จะเป็นบุคคลหรือองค์กรที่ได้รางวัลเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งการบินไทยได้รับรางวัลสายการบินยอดเยี่ยมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติดต่อกันครบ 10 ปี และได้รับเกียรติบันทึกใน TTG Travel Hall of Fame ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน

‘สส.ณัฐพงษ์’ ยัน!! ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ไม่ใช่การหาเสียง ย้ำ!! รัฐบาลมุ่งกระตุ้นกำลังซื้อ พ่วงกระตุ้นภาคการผลิต

นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ประธานกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า…

ทราบถึงความกังวลและความไม่เข้าใจของคนกลุ่มต่าง ๆ ขณะนี้อยู่ในช่วงที่รัฐบาลเริ่มต้นจัดทำนโยบาย หลายฝ่ายอาจไม่ทราบข้อมูลชัดเจน จากการหารือกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ทราบว่าจะประกาศความชัดเจนเต็มรูปแบบเร็ว ๆ นี้ 

โครงการนี้ไม่ใช่โปรยเงินหาเสียง แต่ต้องการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมให้มีกำลังจับจ่ายใช้สอย ทำให้เศรษฐกิจประเทศหมุนเวียนครั้งใหญ่ แม้นักวิชาการบางส่วนเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังดีขึ้นไม่จำเป็นต้องดำเนินโครงการนี้ แต่ในข้อเท็จจริงประชาชน โดยเฉพาะต่างจังหวัดยังยากลำบาก จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงไปที่ประชาชนจำนวนมากให้มีกำลังซื้อมากขึ้น เมื่อมีกำลังซื้อ สินค้าก็ขายได้ จะกระตุ้นภาคการผลิตสินค้าต่าง ๆ ให้คนมีงานทำ

‘กระทรวงพลังงาน’ เกาะติดสถานการณ์สู้รบ ‘อิสราเอล-ฮามาส’ หวั่นดันราคาพลังงานโลกพุ่ง ย้ำ ปริมาณสำรองของไทยยังมีพร้อม

(9 ต.ค. 66) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงานเกาะติดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Hamas) หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่ได้มีการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์

เนื่องจากปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณร้อยละ 57 และในส่วนของแอลเอ็นจีนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 33 จากหลากหลายแหล่ง

ทางกระทรวงพลังงานก็ได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงาน

โดยปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 3,910 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,637 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 2,180 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 21 วัน

“หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจะเป็นเรื่องของราคาพลังงานโลก เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก ซึ่ง sentiment หรือสภาวะอารมณ์ของตลาดอาจจะมีผลทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นได้ แม้ว่าในปัจจุบันราคาน้ำมันจะยังคงแกว่งตัวในช่วงแคบ ๆ แต่ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด”

นายประเสริฐกล่าวว่า แต่อย่างไรก็ดีกระทรวงพลังงานจะยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่ในการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤตนี้และร่วมกันใช้พลังงานโดยเฉพาะน้ำมันอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

‘THEOS-2’ ทะยานขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ พร้อมเริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก ด้าน ‘นายกฯ’ ร่วมยินดี หนุนใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยขับเคลื่อนประเทศ

ดาวเทียม ‘THEOS-2’ ประสบความสำเร็จขึ้นสู่วงโคจรแล้ว เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก นายกฯ เศรษฐา ร่วมยินดี ขอบคุณกระทรวง อว. ขณะที่ ‘ศุภมาส’ ชี้ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกนำมาวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใน 5 – 8 วันจากนี้

(9 ต.ค. 66) มีการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก ‘THEOS-2’ (Thailand Earth Observation Satellite 2) ขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ มี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ ‘GISTDA’ รวมทั้งสักขีพยานจากประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศสรวมถึงประชาชนทั่วโลก ที่สนใจในเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้

โดยเมื่อถึงเวลา 08.36 น.ตามเวลาในประเทศไทย ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกนำส่งด้วย จรวด ‘VEGA’ พร้อมมีการให้สัญญาณนับถอยหลังใน 10 วินาทีสุดท้ายหลังจากนั้นดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรท่ามกลางความตื่นเต้นดีใจ หลังจากลุ้นระทึก โดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญต่างพากันจับมือแสดงความยินดี

ทั้งนี้ น.ส.ศุภมาส กล่าวภายหลังจากดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรของอวกาศว่า รู้สึกดีใจและโล่งใจที่การปล่อยดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ราบรื่น ประสบความสำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการ

โดยขณะนี้ สามารถกล่าวได้ว่าดาวเทียม THEOS-2 ได้เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลกแล้ว โดยหลังจากปล่อยดาวเทียมในเวลา 08:36 น. จะใช้เวลากว่า 52 นาทีในการเข้าสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 621 กิโลเมตร เมื่อดาวเทียมขึ้นไปแล้ว จะทดสอบระบบในอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินราวๆ 3 เดือน ก่อนจะใช้งานได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีสถานการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น อาทิ ภัยพิบัติ THEOS-2 ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้ภายใน 5 – 8 วัน หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร

“ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของกระทรวง อว.และประเทศไทย หลังจากนี้จะมีการต่อยอดยกระดับด้านต่างๆ ของประเทศรวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนให้รู้ว่าดาวเทียม THEOS-2 มีประโยชน์อย่างไร สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกใช้ในการปรับปรุงและทำให้ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยเป็นปัจจุบัน ทันสมัย และมีความละเอียดที่ถูกต้อง ช่วยให้ทุกการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รมว.กระทรวง อว.กล่าว

ในโอกาสนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดี ว่า ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยทุกคน ขอแสดงความยินดีที่วันนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จสามารถส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลมุ่งเน้นมาตลอดว่าจะใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการนำไปพัฒนาสร้างประโยชน์ได้ในหลากหลายมิติ อาทิ การบริหารจัดการเกษตร การบริหารจัดการเมือง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการภัยธรรมชาติ ซึ่งจะนำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงของพี่น้องประชาชน

“ผมขอขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ GISTDA ที่จะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันวงการอวกาศของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า” นายเศรษฐา กล่าว

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า “หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว จะทำการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โหมดของการทำงาน รวมทั้งทดสอบระบบควบคุมและติดต่อสื่อสารกับภาคพื้นดิน เพื่อความเสถียรและความแม่นยำของข้อมูลโดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือให้การบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป”

‘ชนินทร์’ ยัน!! เงินดิจิทัล 1 หมื่น ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยพ้นภาวะโคม่า

นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกลุ่มนักวิชาการเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทว่า...

โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการเติมกำลังซื้อครั้งใหญ่ให้ประเทศ กระจายอยู่ทุกชุมชน เงิน 1 หมื่นบาทต่อคนไม่ใช่แค่ช่วยปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชนเดินต่อได้ แต่เป็นจำนวนมากพอที่จะดึงดูดการลงทุน เปิดธุรกิจใหม่ ๆ มารองรับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นและหมุนวนรอบต่อไปเรื่อย ๆ เงินจำนวนนี้หมุนเวียนต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจไทย 

ส่วนความกังวลที่มาของเงินและมาตรการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่อาจไม่รัดกุมนั้น รัฐบาลตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่ประสานความเห็น มุมมองรอบด้านจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ มาเป็นกรรมการร่วมตัดสินใจดำเนินนโยบาย มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจใด ๆ รัดกุม โปร่งใส รักษาผลประโยชน์ประชาชนมากที่สุด 

รัฐบาลมีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศอย่างรวดเร็ว ปั๊มหัวใจเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ปลุกกำลังซื้อให้ฟื้นตัว ให้เศรษฐกิจประเทศพ้นโคม่า จากนั้นจะมีนโยบายอื่นๆมาเสริมให้ประชาชนสร้างรายได้ เศรษฐกิจหมุนเวียน ฟื้นประเทศไทย ยึดกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างรัดกุม

‘แอนิเทค’ เปิดตัวเครื่องชาร์จ EV แบบพกพา เจ้าแรกที่ผลิตในไทย รับรองมาตรฐาน มอก. เพิ่มความมั่นใจผู้ใช้งาน เบิกทางสู่กรีนเทคโนโลยี

เมื่อไม่นานนี้ นายโธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เทรนด์การใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ทั้งแบบแบตเตอรี่และแบบปลั๊กอินไฮบริด มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

โดยมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ มีปริมาณกว่า 15 ล้านคัน และในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นรวมกว่า 17.9 ล้านคัน ทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยก็มีส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV และ PHEV มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนกว่า 59.2% จึงเป็นโอกาสและที่มาของการแตกไลน์เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของแอนิเทค ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับวิศวกรรถยนต์ EV กว่า 1 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 5 ล้านบาท

‘แอนิเทค’ จึงเป็นแบรนด์แรกที่ผลิต ‘Portable EV Charger’ ในประเทศไทยเป็นเจ้าแรก ด้วยการนำ มอก.11 และ มอก.166 มาใช้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานให้แก่ผู้บริโภค และยังรับประกันสินค้า 1 ปี รับประกันสูงสุดถึง 300,000 บาท เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในกลุ่มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพสูงและบริการหลังการขายที่เข้าถึงได้ ด้วยความเชี่ยวชาญกว่า 18 ปี ในตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

โดยภายในปีนี้ คาดว่าเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ‘แอนิเทค อีวี วัน’ จะสร้างยอดขายได้มากกว่า 1,000 ชิ้น และจะสูงขึ้นในปีต่อๆ ไปตามเทรนด์ ผ่านการขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และรับผลิตให้กับแบรนด์รถยนต์ที่ตั้งฐานผลิตและประกอบในประเทศไทย

ทั้งยังมองโอกาสที่จะขยายไปยังต่างประเทศ ที่มีส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV และ PHEV ถึง 40% โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่างๆ

สำหรับ ‘แอนิเทค อีวี วัน’ มีรูปแบบหัวปลั๊ก Type2 ที่ปรับกำลังไฟฟ้า ได้ 4 ระดับตั้งแต่ 16 แอมป์, 13 แอมป์, 10 แอมป์ และ 8 แอมป์ พร้อมกำลังขับ 3.5 กิโลวัตต์ หน้าจอแสดงผล LCD ขนาด 3 นิ้ว ไฟแสดงสถานะแบบ LED พร้อมปุ่มทัชสกรีน มีมาตรฐานการป้องกันน้ำและฝุ่น IP65 ปริมาณกระแสไฟฟ้า Input/ Output : 250 VAC 50 Hz และสายไฟยาว 5 เมตร ทั้งยังเพิ่มความสะดวกสบายด้วยโหมดการตั้งเวลาชาร์จ

โดยมีระบบการป้องกันครอบคลุมทุกความปลอดภัย ได้แก่  ป้องกันแรงดันไฟฟ้าเกิน, ป้องกันไฟฟ้าไหลเกินกำลัง, ป้องกันแรงดันไฟฟ้าตก, ระบบสายดินป้องกันไฟฟ้ารั่วไหล, ป้องกันอุณหภูมิสูงเกินไป รวมถึงป้องกันฟ้าผ่า

“ปีนี้แอนิเทคมีสินค้าที่เปิดตัวใหม่กว่า 150 รายการ เมื่อรวมกับสินค้าทั้งหมดจะทำให้แอนิเทคมีสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดมากกว่า 1,000 รายการ ครอบคลุมในหมวดสินค้า computer accessories, home devices, home appliences และ personal care และในปีหน้าคาดว่าจะเปิดตัวสินค้าใหม่อีก 200 รายการ จะทำให้แอนิเทคมีสินค้ารวมกันมากกว่า 1,200 รายการ” นายโธมัส พิชเยนทร์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายในการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม Green Technology ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลกยุคใหม่และมีผลกระทบต่อคนทั่วโลก โดยจะมีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกรีนเทคโนโลยี ตามมาอีกมากมายตัวอย่างเช่น Anitech EV-ONE V2L ที่คาดว่าจะเปิดตัวต้นปีหน้าด้วย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ห่วง!! ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง ความขัดแย้งกระทบนโยบายการคลังรัฐ สะเทือนเศรษฐกิจ

จากรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในหัวข้อ ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle) เมื่อวันที่ 8 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...
ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle)

วัฏจักรธุรกิจเกิดขึ้นเป็นปกติในทุกประเทศ กล่าวคือเศรษฐกิจมีขาขึ้นและขาลง (Boom and Bust) ช่วงขาขึ้นเศรษฐกิจขยายตัวสูงและเงินเฟ้อก็สูงด้วย แต่ช่วงขาลงเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อก็ต่ำหรือบางทีก็เกิดเงินฝืด 

วัฏจักรธุรกิจสัมพันธ์กับนโยบายการเงินและดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด ธนาคารกลางมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินและมีกรอบอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นและลง (Inflation Targeting) แต่วัฏจักรธุรกิจการเมืองอาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่ก็เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย 

เมื่อรัฐบาลใกล้ครบวาระและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป มักจะขอหรือสั่งการธนาคารกลางให้ลดหรือไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่มีความจำเป็นต้องสกัดภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดของตนเองและเพื่อให้รัฐบาลที่กำลังจะครบวาระชนะการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ค่อยกลับมาขึ้นดอกเบี้ยในภายหลัง แม้ว่าจะสายเกินไปและอาจทำให้ตลาดเงินตลาดทุนเกิดความผันผวนอย่างยิ่งจนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้างก็ตาม

ประเทศไทยในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมามีลักษณะเหมือนวัฏจักรธุรกิจการเมืองดังกล่าว ปี 2565 เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก จนธนาคารกลางเกือบทุกประเทศ นำโดย Federal Reserve ของสหรัฐอเมริกา (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแรงและเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นจาก 0 มาเป็น 5% ในช่วงปลายปี แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรักษาดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่เพียง 1% จนทำให้ไทยมีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ที่อัตรา 6.1% ซึ่งสูงกว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อที่รัฐบาลเห็นชอบกว่า 2 เท่าตัว 

ต่อเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงมาเหลือเพียง 0.3% และประเทศอื่นเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่ ธปท. กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จนก่อให้เกิดความสับสนและขัดแย้งกับนโยบายการคลังของรัฐบาล และเกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนอย่างรุนแรงในขณะนี้ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

วัฏจักรธุรกิจการเมืองนี้ ถือเป็นวงจรอุบาทว์ และจำเป็นต้องขจัดให้หมดสิ้นเพื่อให้นโยบายการเงินเป็นอิสระจากการเมืองอย่างแท้จริง

‘ธ.ก.ส.’ สรุปยอด ‘พักหนี้เกษตรกร’ ผ่านแอปฯ BAAC mobile สัปดาห์แรก ชี้ ขอเข้าโครงการทะลุ 1.2 แสนคนแล้ว ย้ำ ทำได้ถึง 31 ม.ค.67 เท่านั้น

(7 ต.ค.66) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แจ้งว่า ยอดผู้แจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC mobile ณ วันที่ 7 ต.ค. 66 เวลา 11.00 น. มีจำนวนทั้งสิ้น 122,206 ราย หลังจากยอดทะลุ 100,000 รายไปเมื่อวานนี้

ทั้งนี้ ธนาคารเปิดให้แจ้งความประสงค์มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งยังสามารถทำได้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 โดย ธ.ก.ส. จะนำข้อมูลมาพิจารณาเพื่อนัดหมายผู้ผ่านเกณฑ์ไปที่สาขาหรือจุดบริการที่นัดหมาย เพื่อจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องและเข้ารับการประเมินศักยภาพ ความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพต่อไป

โดยการแจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile เพียงกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แสดงความประสงค์ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ จากนั้นระบบจะมีการประมวลข้อมูลตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อนัดหมายผู้ผ่านเกณฑ์และผู้ค้ำประกันไปที่สาขาหรือจุดบริการที่นัดหมาย เพื่อจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ารับการประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้

รวมถึงการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพภายใต้แนวทาง ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่’ เพื่อให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลังการพักชำระหนี้ พร้อมเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ในการจัดหาปัจจัยการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถยืนได้อย่างมั่นคงหลังการพักชำระหนี้

ทั้งนี้ โครงการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี รอบนี้ ลูกหนี้ที่เข้าข่ายต้องมีหนี้ค้างชำระที่มีเงินต้นเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายกว่า 2.69 ล้านราย 

'รมว.อว.' ชี้แจง ปมเลื่อนส่ง 'THEOS-2' ดาวเทียมสำรวจโลกกะทันหัน เหตุพบสัญญาณผิดปกติในจรวดนำส่ง ส่วนกำหนดการใหม่รอแจ้งอีกครั้ง

(7 ต.ค.66) กรณีการส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ของไทยขึ้นสู่วงโคจรในช่วงเช้าของวันที่ 7 ต.ค.ที่ ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ และปรากฏว่าระบบมีการแจ้งเตือนว่าพบปัญหาจากอุปกรณ์บางอย่างจึงเลื่อนการนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรออกไปก่อนนั้น

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. เปิดเผยหลังจาก Arianespace แจ้งเลื่อนการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ก่อนนับถอยหลังเพียง 14 วินาที เนื่องจากระบบตรวจสอบได้พบค่ากระแสไฟฟ้าเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (threshold) ที่อุปกรณ์ Safety Management Unit ของจรวดนำส่ง ระบบจึงตัดการทำงานทั้งหมดโดยอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างละเอียดจาก Arianespace ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในช่วงเช้าวันที่ 8 ตุลาคม (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือ คืนนี้ตามเวลาในประเทศไทย ส่วนกำหนดการส่งใหม่อีกครั้งจะเป็นวันและเวลาใด ทาง GISTDA จะแจ้งให้ทราบต่อไป

WARRIX ปลื้มโต 30% เล็ง 4 ปีทะลุ 2,700 ล้าน ปูธุรกิจเสริม ‘คลินิกกายภาพ’ ช่วยเสริมแกร่งถึงเป้า

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 7 ต.ค.66 ได้พูดคุยกับ นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX ผู้จำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงทิศทางภาพรวมชุดกีฬาในประเทศไทย พร้อมแนวทางการเติบโตของ วอริกซ์ ไว้ว่า…

จากการประมาณมูลค่าตลาดชุดกีฬาในปัจจุบัน มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 20,000 -30,000 ล้านบาท (รวมทั้งแบรนด์ไทยและต่างชาติ) โดยวอริกซ์ มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 10% ในกลุ่มเสื้อผ้ากีฬา ไม่รวมรองเท้ากีฬา ซึ่งปัจจุบันมีแข่งขันกันสูงมากในทุกมิติ แต่สินค้าของวอริกซ์ เติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา มียอดขายประมาณ 1,070 ล้านบาท เติบโต 20-30%  

นายวิศัลย์ กล่าวด้วยว่า ในปีนี้มีกลยุทธ์ในการขยายทุกมิติทั้งเสื้อกีฬาผู้หญิง เสื้อไลฟ์สไตล์ โดยมีการขยายสาขาไปเปิดร้านที่สยามสแควร์เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่น โดยภายใน 4 ปี ทางบริษัทฯ มีเป้าหมายเติบโต 2,700 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันทางวอริกซ์ ได้เปิดให้บริการคลินิกกายภาพ ในรูปแบบสหคลินิก โดยมีการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาใช้ โดยมองกลุ่มลูกค้า ได้แก่ นักกีฬามืออาชีพ ผู้สูงอายุ พนักงานบริษัททั่วไปที่มีปัญหาออฟฟิศซินโดรม มีอาการนอนไม่หลับ ฯลฯ โดยตัวคลินิกจะเน้นให้ความรู้ด้านกายภาพ ออกกำลังกาย และมีทั้งด้านโภชนาการ วิตามิน อาหารเสริม รวมถึงมีเสื้อนอนเพื่อสุขภาพ ซึ่งถือเป็นการขยายจากธุรกิจสปอร์ตแวร์ ต่อยอดไปเป็น ‘เฮลท์ แอคทีฟ ไลฟ์สไตล์’ ได้อย่างน่าจับตา

สำหรับผู้ที่สนใจมาใช้บริการคลินิกกายภาพดังกล่าว สามารถดูรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก warrixhealth

‘อนุทิน’ เล็ง!! ‘ขยายเวลาปิดสถานบันเทิง’ หลัง ‘นายก’ สั่งการตรง หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เมื่อวานนี้ (5ต.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายขยายเวลาปิดสถานบันเทิงเพื่อรองรับการท่องเที่ยวว่าได้รับนโยบายนี้มาจากรัฐบาล ซึ่งเราก็จะพิจารณาจังหวัดท่องเที่ยวเป็นหลัก และดูโซนจังหวัดที่มีความเหมาะสมที่จะขยายเวลา รวมถึงต้องดูเรื่องความปลอดภัย หากปลอดภัยก็จะอนุญาตให้เปิดได้

เมื่อถามว่าจะนำร่องขยายเวลาปิดสถานบันเทิงในพื้นที่ท่องเที่ยวก่อนใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า คงไม่ใช่นำร่อง แต่เมื่อเป็นนโยบายของนายกฯ ที่สั่งการตรงมาที่ตน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงผู้ที่ทำงานในระบบกลางคืนทั้งหมดที่เคยประสบปัญหาจากช่วงโควิด แต่ขณะนี้เราพ้นจากสถานการณ์โควิดมาแล้ว เราก็ต้องให้โอกาสพวกเขากลับมาฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของเขาให้เร็วที่สุด

'99 นักวิชาการเศรษฐศาสตร์' นำทัพ!! ค้านแจกเงินดิจิทัล ดึงเงินเฟ้อสูง แถมเสียโอกาสลุยโครงสร้างพื้นฐาน

(6 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จำนวน 99 คน ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้ รัฐบาลยกเลิก ‘นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท’ เพราะเป็นนโยบายที่ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ โดยยกเหตุผลประกอบด้วย

1.เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 2.8% ในปีนี้และ 3.5% ในปีหน้าจึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้น การบริโภคภายในประเทศการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึง 7.8% ซึ่งสูงที่สุดใน 20ปี คิดเป็นกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัว 6.1% และ 4.6% ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า

นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจาก 6.1% มาอยู่ที่ ประมาณ 2.9% ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้จะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflationexpectation) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

2.เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นต้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไปค่าเสียโอกาสสำคัญคือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

3.การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัวโดยรัฐแจกเงินจำนวน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริงเพราะปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal mutiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอยไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้าไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และ/หรือ ราคาสินค้าแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้ออันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน

4. เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือ 61.6% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่าย คืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อการเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี นี่ยังไม่นับจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงิน digital คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย

5.ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยรัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จำเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมากเพื่อใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่ฉลาดรอบคอบโดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation) ทั้งนี้เพื่อสร้าง ‘ที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต

“นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับจากภาษี เพียง 13.7% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มากการทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (creditrating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย”

6.การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและ สาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก 'นโยบายแจกเงิน digital 10,000บาท' แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น ๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาวแม้รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ทำลายความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว หากจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ก็ควรทำแบบเฉพาะเจาะจงแทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทยและความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top