‘อ.พงษ์ภาณุ’ ห่วง!! ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง ความขัดแย้งกระทบนโยบายการคลังรัฐ สะเทือนเศรษฐกิจ

จากรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในหัวข้อ ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle) เมื่อวันที่ 8 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...
ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle)

วัฏจักรธุรกิจเกิดขึ้นเป็นปกติในทุกประเทศ กล่าวคือเศรษฐกิจมีขาขึ้นและขาลง (Boom and Bust) ช่วงขาขึ้นเศรษฐกิจขยายตัวสูงและเงินเฟ้อก็สูงด้วย แต่ช่วงขาลงเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อก็ต่ำหรือบางทีก็เกิดเงินฝืด 

วัฏจักรธุรกิจสัมพันธ์กับนโยบายการเงินและดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด ธนาคารกลางมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินและมีกรอบอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นและลง (Inflation Targeting) แต่วัฏจักรธุรกิจการเมืองอาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่ก็เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย 

เมื่อรัฐบาลใกล้ครบวาระและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป มักจะขอหรือสั่งการธนาคารกลางให้ลดหรือไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่มีความจำเป็นต้องสกัดภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดของตนเองและเพื่อให้รัฐบาลที่กำลังจะครบวาระชนะการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ค่อยกลับมาขึ้นดอกเบี้ยในภายหลัง แม้ว่าจะสายเกินไปและอาจทำให้ตลาดเงินตลาดทุนเกิดความผันผวนอย่างยิ่งจนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้างก็ตาม

ประเทศไทยในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมามีลักษณะเหมือนวัฏจักรธุรกิจการเมืองดังกล่าว ปี 2565 เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก จนธนาคารกลางเกือบทุกประเทศ นำโดย Federal Reserve ของสหรัฐอเมริกา (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแรงและเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นจาก 0 มาเป็น 5% ในช่วงปลายปี แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรักษาดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่เพียง 1% จนทำให้ไทยมีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ที่อัตรา 6.1% ซึ่งสูงกว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อที่รัฐบาลเห็นชอบกว่า 2 เท่าตัว 

ต่อเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงมาเหลือเพียง 0.3% และประเทศอื่นเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่ ธปท. กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จนก่อให้เกิดความสับสนและขัดแย้งกับนโยบายการคลังของรัฐบาล และเกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนอย่างรุนแรงในขณะนี้ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

วัฏจักรธุรกิจการเมืองนี้ ถือเป็นวงจรอุบาทว์ และจำเป็นต้องขจัดให้หมดสิ้นเพื่อให้นโยบายการเงินเป็นอิสระจากการเมืองอย่างแท้จริง