Monday, 17 June 2024
ธนาคารกลาง

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ห่วง!! ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง ความขัดแย้งกระทบนโยบายการคลังรัฐ สะเทือนเศรษฐกิจ

จากรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในหัวข้อ ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle) เมื่อวันที่ 8 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...
ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle)

วัฏจักรธุรกิจเกิดขึ้นเป็นปกติในทุกประเทศ กล่าวคือเศรษฐกิจมีขาขึ้นและขาลง (Boom and Bust) ช่วงขาขึ้นเศรษฐกิจขยายตัวสูงและเงินเฟ้อก็สูงด้วย แต่ช่วงขาลงเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อก็ต่ำหรือบางทีก็เกิดเงินฝืด 

วัฏจักรธุรกิจสัมพันธ์กับนโยบายการเงินและดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด ธนาคารกลางมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินและมีกรอบอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นและลง (Inflation Targeting) แต่วัฏจักรธุรกิจการเมืองอาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่ก็เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย 

เมื่อรัฐบาลใกล้ครบวาระและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป มักจะขอหรือสั่งการธนาคารกลางให้ลดหรือไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่มีความจำเป็นต้องสกัดภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดของตนเองและเพื่อให้รัฐบาลที่กำลังจะครบวาระชนะการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ค่อยกลับมาขึ้นดอกเบี้ยในภายหลัง แม้ว่าจะสายเกินไปและอาจทำให้ตลาดเงินตลาดทุนเกิดความผันผวนอย่างยิ่งจนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้างก็ตาม

ประเทศไทยในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมามีลักษณะเหมือนวัฏจักรธุรกิจการเมืองดังกล่าว ปี 2565 เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก จนธนาคารกลางเกือบทุกประเทศ นำโดย Federal Reserve ของสหรัฐอเมริกา (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแรงและเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นจาก 0 มาเป็น 5% ในช่วงปลายปี แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรักษาดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่เพียง 1% จนทำให้ไทยมีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ที่อัตรา 6.1% ซึ่งสูงกว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อที่รัฐบาลเห็นชอบกว่า 2 เท่าตัว 

ต่อเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงมาเหลือเพียง 0.3% และประเทศอื่นเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่ ธปท. กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จนก่อให้เกิดความสับสนและขัดแย้งกับนโยบายการคลังของรัฐบาล และเกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนอย่างรุนแรงในขณะนี้ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

วัฏจักรธุรกิจการเมืองนี้ ถือเป็นวงจรอุบาทว์ และจำเป็นต้องขจัดให้หมดสิ้นเพื่อให้นโยบายการเงินเป็นอิสระจากการเมืองอย่างแท้จริง

‘รัชดา’ แนะ ‘เพื่อไทย’ ให้อ่านบทความของ IMF เพื่อจะได้ไม่เขลา เรื่องความเป็นอิสระของ ‘ธนาคารกลาง’

(5 พ.ค.67) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีตสส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองโฆษกรัฐบาล โพสต์เฟซบุ๊กชวนพรรคเพื่อไทย ให้อ่านบทความจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หัวข้อ Strengthen Central Bank Independence to Protect the World Economy เผยแพร่เมื่อ 21 มี.ค. 24 ซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องจากที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในงานอีเวนต์ของพรรคเพื่อไทยว่า ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ...

บทความจาก IMF เรื่องความสำคัญของความเป็นอิสระของธนาคารกลาง เพื่อไทย ควรหาโอกาสอ่าน จะได้มีทัศนคติที่ถูกต้องในการบริหารประเทศ ปลอดอคติจากความเขลาต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเสียที

น.ส.รัชดา ระบุว่า บางส่วนที่น่าสนใจของบทความ 

1.ผลสำรวจของ IMF ยืนยันความสำคัญ ‘ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ’ 

2.ธนาคารกลางที่มีlคะแนนความเป็นอิสระสูง ทำได้ดีในการควบคุมการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของประชาชน ซึ่งช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ 

3.ความเป็นอิสระยังส่งผลต่อการสร้างเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว 

4.รัฐบาลและธนาคารกลางต่างมีหน้าที่และบทบาทที่ตนเองต้องรับผิดชอบ ซึ่งต้องหารือกัน ไม่ใช่แทรกแซงกัน เพื่อให้เกิดการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงานที่สำคัญลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! เงื่อนไขความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ควรอยู่ใต้กรอบนโยบายรัฐและโฟกัสเฉพาะนโยบายการเงิน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง' เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

คงไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการที่ว่า ธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงร่วมกับรัฐบาล

สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็สมควรมีอิสระในการทำงาน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) focus เฉพาะนโยบายการเงิน และ (2) อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายทางนโยบายของรัฐบาล

ประการแรก ธนาคารกลางที่สำคัญทั่วโลกทำหน้าที่หลักของธนาคารกลาง ซึ่งได้แก่การดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น นโยบายการเงินคือการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำทุกอย่าง ตั้งแต่การกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน จนถึงการแก้ปัญหาโลกร้อน เมื่อทำหลายอย่างก็ย่อมเกิด Conflict of Interest การเข้าไปกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ก็อาจทำให้เกิดความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายธนาคารจนนำไปสู่ความเกรงอกเกรงใจ จนไม่กล้าที่จะลดดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรลดลง

การทำหน้าที่แบบจับฉ่ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังนำมาซึ่งการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรและการใช้เงินภาษีอากร ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ทางการคลังของรัฐบาล เมื่อธนาคารกลางเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาล แล้วจะไม่ให้รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่งกับธนาคารกลางได้อย่างไร?

ดังนั้นหากต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระ มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วนเพื่อจำกัดบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยให้อยู่เฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น ไม่ใช่ทำแบบไม้จิ้มฟันยันเรือรบเช่นในปัจจุบัน

ประการที่สอง ความเป็นอิสระย่อมต้องมาควบคู่กับความรับผิดชอบต่อเป้าหมายและสังคม (Accountability) 'การพลาดเป้า' ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้เป็นครั้งแรก เราคงจำวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 กันได้ ความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องเข้าให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จนกลายเป็นหนี้สาธารณะจำนวน 1.4 ล้านล้านบาท และยังใช้หนี้ไม่หมดจนทุกวันนี้

มาถึงวันนี้ นโยบายการเงินพลาดเป้าเงินเฟ้อมา 2 ปีติดต่อกัน และกำลังจะพลาดเป้าอีกครั้งในปีนี้ ปี 2565 เงินเฟ้อไทยขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% สูงที่สุดในอาเซียน พอปี 2566 เงินเฟ้อติดลบจนเข้าใกล้ภาวะเงินฝืดประเทศเดียวในอาเซียน ความผันผวนทางการเงินยังความเสียหายแก่ประเทศเป็นอย่างมาก ในภาวะที่นโยบายการเงินพลาดเป้าอย่างน่าอับอายขายหน้าเช่นนี้ คนไทยยังจะยอมให้แบงก์ชาติเป็นรัฐอิสระอยู่อีก หรือจะรอให้เกิดต้มยำกุ้ง ภาค 2 ก่อนจึงค่อยแก้ไข?


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top