Tuesday, 1 July 2025
ECONBIZ NEWS

ดึงนักท่องเที่ยว 'ออสเตรเลีย' เที่ยวไทยเพิ่ม ลุยเปิดบินตรงมาภูเก็ตแล้ว

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชีย และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ ททท. สำนักงานซิดนีย์ ได้ร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ร่วมกับสายการบินไทย เพื่อกระตุ้นการเดินทางมาประเทศไทย ในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ และร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวในพื้นที่เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น กลุ่มนักกอล์ฟ กลุ่มแต่งงานและฮันนีมูน ล่าสุดได้มีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ ทีจี 478 บินตรงจากสนามบินคิงส์ฟอร์ด สมิธ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ถึงสนามบินภูเก็ต เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นโอกาสดีในการดึงนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งภาคใต้ของไทย 

สำหรับเส้นทางบินเส้นทางนี้ จะให้บริการ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ออกเดินทางจากสนามบินคิงส์ฟอร์ด สมิธ เวลา 9.30 น. ถึงสนามบินภูเก็ต เวลา 14.40 น. ทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยระหว่างเดือนธ.ค.64 – ม.ค.65 ประมาณ 90-140 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน อีกทั้ง สายการบินไทยได้เพิ่มเที่ยวบินเส้นทาง ซิดนีย์-กรุงเทพฯ-ซิดนีย์ จาก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ให้บริการทุกวันจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ พร้อมทั้งมีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินเมลเบิร์น-กรุงเทพฯ-เมลเบิร์น ในเดือนม.ค.65 ด้วย

‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ รวย 1.7 แสนลบ. ครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 3 ปีซ้อน

ตลาดหุ้นไทยฟื้นหลังโควิด-19 คลี่คลาย หนุนความมั่งคั่งเศรษฐีหุ้นไทยปี 2564 พุ่ง 3.3 แสนล้านบาท “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ครองหุ้นกัลฟ์ ขึ้นแท่นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 3 สมัย รวย 1.7 แสนล้านบาท “นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” นั่งเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ถือหุ้นบางกอกแอร์เวย์ส-โรงพยาบาลกรุงเทพ/นนทเวช รวมมูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท “นิติ โอสถานุเคราะห์” ทายาทโอสถสภา โชว์พอร์ตหุ้นมูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท ติดอันดับ 3

วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ 28 แล้ว โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสูงสุด 10 อันดับแรกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาด mai ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2564

สำหรับผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2564 ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ปรากฏว่า แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2564 ยังคงเป็นของ สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 173,099.73 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 57,809.73 ล้านบาท หรือ 50.14% ซึ่งสารัชถ์ เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ GULF ในสัดส่วน 35.55%

มูลค่าความมั่งคั่งของ สารัชถ์ เศรษฐีหุ้น 3 สมัย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ที่ได้ก้าวเข้ามาเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยเป็นปีแรก โดยสารัชถ์ ผู้ถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีความมั่งคั่งรวม 120,959.99 ล้านบาท ต่อมาในปีที่ 2 ความมั่งคั่ง 115,289.99 ล้านบาท และทะยานสู่ 173,099.73 ล้านบาท ในปีนี้ จากราคาหุ้นของ GULF ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2560

เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือหมอเสริฐ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพและสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 58,217.83 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 8,138.52 ล้านบาท หรือ 16.25%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ในปีนี้ยังคงเป็นของ นิติ โอสถานุเคราะห์ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 56,253.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,071.53 ล้านบาท หรือ 16.75% จากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นที่อยู่ในพอร์ตลงทุนที่มีชื่อนิติเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรกในปีนี้

เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ได้แก่ สมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กิจการธุรกิจพลังงาน จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากหล่นไปอยู่ในอันดับ 8 เมื่อปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าหุ้น EA ที่ถือครองในสัดส่วน 23.21% มูลค่า 53,026.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,613.93 ล้านบาท หรือ 54.09%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 5 และ 6 ได้แก่ 2 เจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) หรือชื่อเดิมคือ เมืองไทยลิสซิ่ง โดย ดาวนภา เพ็ชรอำไพ ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 5 จากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้น MTC ในสัดส่วน 33.96% มูลค่า 41,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,480 ล้านบาท หรือ 18.27% ส่วนชูชาติ เพ็ชรอำไพ ขึ้นจากอันดับ 7 มาอยู่อันดับ 6 โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 41,631.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,354.06 ล้านบาท หรือ 18.01%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 7 ได้แก่ วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท ทีโอเอ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA หล่นมาอยู่อันดับ 7 จากอันดับ 4 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 35,100.85 ล้านบาท ลดลง 6,112.30 ล้านบาท หรือ 14.83%

ก.อุตฯ ผนึกภาคเอกชน ช่วยหนุน SMEs ไทย ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันยุค 4.0

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์เครื่องจักรต่าง ๆ เข้ากับโลกดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ประกอบกับที่บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ปราจีนบุรี) มีเป้าหมายที่ตรงกันที่อยากจะช่วยพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมของภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 
.

“การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในวันนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันช่วยยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนกิจกรรมความร่วมมือใน 3 ด้าน ได้แก่... 

1.) ด้านการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาบุคลากร โดยจะให้ความร่วมมือด้านวิชาการและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนในกระบวนการทำงาน ตลอดจนการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำในสถานประกอบการผ่านหลักสูตรที่เน้นการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ขององค์กรสู่บุคลากรได้ 

2.) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี โดยให้ความร่วมมือในการสนับสนุนด้านกลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในการวางแผนและปฏิบัติการ (Strategic Planning and Operating) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ที่เหมาะสมในการปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ 

และ 3.) ด้านการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม โดยให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรม นิทรรศการวิชาการ และเผยแพร่ให้ความรู้ทางวิชาการ ผ่านการประชาสัมพันธ์และการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ด้านต่าง ๆ ในสถานประกอบการได้อย่างเหมาะสม 

‘ซิตี้แบงก์’ เลือก ‘กรุงศรีฯ’ ชนะประมูล คว้าพอร์ตธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในไทย

บลูมเบิร์กเผย ซิตี้แบงก์เลือกแบงก์กรุงศรีฯ คว้าประมูลสินทรัพย์ธุรกิจลูกค้ารายย่อยในไทย ตามแผนถอนกิจการลูกค้ารายย่อย 13 ชาติเอเชีย

วันที่ 7 ธันวาคม 26564 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ซิตี้กรุ๊ป ซึ่งมีแผนถอนตัวธุรกิจลูกค้ารายย่อย ออกจากในหลายชาติของเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ได้เลือกผู้เสนอราคาสำหรับการรับช่วงต่อธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้แบงก์ในแต่ละชาติแล้ว โดยบลูมเบิร์กอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดว่า “ซิตี้กรุ๊ป” (Citigroup) สถาบันการเงินระดับโลก ได้เลือก บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชนะประมูลเข้าซื้อสินทรัพย์รายย่อยในไทย

โดยเบื้องต้นยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการซื้อขาย ระบุเพียงว่ายังอยู่ในช่วงการเจรจาเงื่อนไขข้อตกลงซึ่งอาจมีความชัดเจนขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ประเมินว่ามูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ในไทยอาจมีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์

เปิดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมฟื้นตัว 3 เดือนติดต่อกัน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม โดยสำรวจผู้ประกอบการ 1,381 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ในเดือนพ.ย. 2564 พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 85.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.1 ในเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง 

ขณะที่การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน ส่งผลให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยกเลิกมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิวส์) และอนุญาตให้สถานที่หรือกิจการบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้ รวมทั้งการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ พังงา และภูเก็ต เพื่อรองรับการเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 97.3 จากระดับ 95.0 ในเดือนต.ค. 2564  

'Omicron' เขย่าเศรษฐกิจ หลายฝ่ายเชื่อระบบสาธารณสุขเอาอยู่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีการตรวจพบผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนรายแรกของไทย ว่า ไม่อยากให้ทุกฝ่ายต้องตื่นตระหนก จนถึงขนาดต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง เนื่องจากหากมีการปิดประเทศอีก เศรษฐกิจที่กำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น จะกลับมาอยู่ในภาวะช็อกได้ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง เพราะการปิดประเทศ ไม่ถือเป็นการตอบโจทย์แล้ว ต้องหาวิธีที่ทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ 

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า นโยบายการเปิดประเทศรับต่างชาติมาไทยก็ยังไม่ได้สะดุด แม้จะพบรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาในประเทศไทยเป็นรายแรกแล้ว แต่ก็เชื่อว่าระบบสาธารณสุขของไทย สามารถรับได้ เพราะในกรณีนี้ พบว่ามาจากนักท่องเที่ยวที่มาในรูปแบบ Test & Go ก็ได้รับการคัดกรอง พร้อมกับตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันแรกด้วยวิธี RT-PCR จึงมั่นใจว่า การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปด้วยความรอบคอบเฝ้าระวังสูงสุด และไม่ได้มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีมากนักหากบริหารจัดการได้ดี

กลุ่มคนกลางคืน นักร้อง นักดนตรี เฮ! นายก สั่ง รมว.เฮ้ง คลอดมาตรการเยียวยาจ่าย 5,000 ม.33 รับ 2 ต่อ 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นางสาวสุนทราลักษณ์ เพ็ชรกูล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน จากสภาพัฒน์ และผู้แทนกลุ่มคนกลางคืน นำโดย คุณธเนส สุขวัฒน์ ตัวแทนนักดนตรี ผู้จัดงานคอนเสิร์ต คุณวรพจน์ นิ่มวิจิตร ตัวแทนผู้จัดงานคอนเสิร์ต อีเว้นท์ จากสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการเยียวยานักร้อง นักดนตรี นักแสดง และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 นายจ้าง ให้ลงทะเบียนโครงการ SME (โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน) ต่ออีก 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างกลุ่มนี้ 3 เดือน โดยไม่มีภาษี กลุ่มที่ 2 ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะให้ประกันสังคมเยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ และจ่ายอีก 5,000 บาท จากรัฐบาล (ม.33 เรารักกัน) กลุ่มที่ 3 ลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล โดยใช้เงินกู้จากรัฐบาล แต่ต้องให้สมาคม/สมาพันธ์รับรอง ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบตัวเลขในระบบพบว่า ทั้งประเทศคาดว่าอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1.5 แสนราย ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินกู้จากรัฐบาลเยียวยาประมาณ 750 ล้านบาท ส่วนผู้ที่เกินอายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่เข้าข่ายมาตรา 40 ของประกันสังคม จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรมสำรวจตัวเลขและเป็นผู้ดูแลเยียวยาต่อไป

น้ำท่วม-น้ำมันแพง ทำเงินเฟ้อ พ.ย.พุ่ง 2.71% จับตาโอไมครอนปลายปี

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนพ.ย.2564 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพ.ย 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.71 จาก 2.38% ในเดือนก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน รวมถึงราคาผักสด ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่นเดียวกับเนื้อสุกร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุน สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวสาร ไก่สด ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำดื่มบริสุทธิ์ กาแฟผงสำเร็จรูป) และเสื้อผ้า ส่วนสินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกลไกของตลาดในปัจจุบัน

“เงินเฟ้อในเดือนนี้ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งมาตรการด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ในประเทศ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมและกำลังซื้อของประชาชนปรับตัวดีขึ้น”

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนธ.ค. 2564 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงและมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง ส่วนราคาสินค้าในกลุ่มอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการ ปริมาณผลผลิต ต้นทุนและวัตถุดิบ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

ลุ้น "บิ๊กตู่" ประชุมศบศ. เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-การลงทุน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. มีวาระที่น่าสนใจ โดยที่ประชุมจะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย เช่นเดียวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจการคลาวด์เชอร์วิส มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ

นอกจากนี้ยังเตรียมรับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดและแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทย จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการจัดงานสภาอุตสาหกรรมเอ็กซ์โป หรือ FTI Expo 2022 Made in Thailand จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้วย 

กนอ. ขานรับนโยบาย ‘สุริยะ’ ดันโรงงานมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว คิกออฟ ‘นิคมฯ หนองแค โมเดล’ ที่แรก

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ชู ‘นิคมฯหนองแค โมเดล’ พัฒนาตามแนวทางส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล เน้นพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ภายใต้การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยเพื่อชุมชน เตรียมปรับเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) ปี 2565 พร้อมผลักดันสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวให้เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้! 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งส่งเสริมให้ การประกอบกิจการต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล หรือ BCG Model ที่เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติไปพร้อมกัน ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลเกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

“กระทรวงฯมุ่งมั่นผลักดันโรงงานสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) โดยตั้งเป้าทุกแห่งภายในปี 2568 แบ่งเป็น เป้าหมาย 60% ในปี 2565 เป้าหมาย 80% ในปี 2566 เป้าหมาย 90% ในปี 2567 และเป็น 100% ในปี 2568 ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว 2564 - 2580 เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมและกำกับดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการ” นายสุริยะ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top