Wednesday, 2 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘บิ๊กตู่’ เคาะงบกลาง 1.48 พันลบ. แก้ของแพง สั่งตั้งจุดขายสินค้าราคาถูกให้ประชาชน 3 เดือน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. อนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,480 ล้านบาท ให้กระทรวงพาณิชย์ใช้แก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง ผ่านโครงการพาณิชย์ ลดราคา ช่วยประชาชน ปี 65 มีระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเพิ่มช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในราคาประหยัด

สำหรับรูปแบบของโครงการฯ จะเป็นการจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพให้แก่ประชาชนในราคาประหยัด คือ จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางจำหน่าย ทั้งบริเวณร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น หรือตลาด พื้นที่สาธารณะหรือลานอเนกประสงค์และสถานีบริการน้ำมัน รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 จุด ตามแหล่งชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และภูมิภาค รวมถึงการจำหน่ายผ่านรถโมบายไม่น้อยกว่า 50 คัน ตามแหล่ง ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเปิดจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น สินค้าเกษตร เนื้อไก่ ไข่ไก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น จากสมาคม/ผู้ค้าปลีก/ค้าส่ง/ซัพพลายเออร์ในพื้นที่ เพื่อจำหน่ายในจุดจำหน่าย

ถึงรอบชาวสวนยาง!! โอนเงินประกันรายได้ยางงวด 3 แล้ว! เกษตรกรชาวสวนยาง 1.88 ล้านราย ยิ้มออก

ยางพารา เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเกษตรกรเกือบ 2 ล้านครัวเรือน สาเหตุที่ประเทศไทยปลูกยางพารามากขนาดนี้ นั่นเพราะยางพาราเป็นพืชที่ทำรายได้สม่ำเสมอ กรีดน้ำยางได้เกือบทุกวัน เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีตลาดรองรับ 100% และยังให้ผลผลิตนานกว่า 15 ปีต่อต้น

แต่ทว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับไม่สามารถกำหนดราคายางพาราเองได้ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับความผันผวนของราคา ส่งผลให้รายได้ไม่แน่นอน ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงที่ภาวะราคายางตกต่ำ

ดังเช่น รัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ได้ใช้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ในการบริหารจัดการ ผ่านกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหัวเรือใหญ่ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ขับเคลื่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการนี้ เป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้หาเสียง เมื่อครั้งเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 นั่นเอง

ในส่วนของยางพารา โครงการดังกล่าวเป็นการประกันรายได้ตามการผลิตแต่ละประเภท ได้แก่ ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันรายได้ที่ราคา 60 บาท/กิโลกรัม, น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันรายได้ที่ราคา 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันรายได้ที่ราคา 23 บาท/กิโลกรัม 

รบ.ออกแพ็กเกจสร้างความมั่นคงแรงงานอิสระ รองรับวัยเกษียณได้บำนาญ - คุ้มครองอุบัติเหตุ 

"รัฐบาล" ออกแพ็กเกจสร้างความมั่นคงแรงงานอิสระ เชิญชวนสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ เกษียณได้บำนาญ คุ้มครองอุบัติเหตุ

วันที่ 18 ม.ค. 65 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชิญชวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ประกันตนตามมาตรา 40(1) สมัครออมเงินควบคู่ไปกับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเติมเต็มเงินออมและสร้างความมั่นคงทางการเงิน สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตของประชากร ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)

โดย กอช. ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จัดคู่หูสวัสดิการเพื่อประชาชน เชิญชวนผู้ที่มีสิทธิสมัคร อายุ 15 - 60 ปี และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40(1) วางแผนเงินออมหลังอายุ 60 ปี ควบคู่กับ กอช. เพียงออมเงินขั้นต่ำ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ทั้งนี้ สมาชิกจะได้สวัสดิการจาก 2 หน่วยงานรวมกัน โดยจะได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลเพิ่มตามช่วงอายุสมาชิก สูงสุด 100% ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีผลตอบแทนเพิ่มเติมจากการลงทุน ซึ่งได้รับความค้ำประกันผลตอบแทน รวมถึงสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้เต็มจำนวนเงินออมสะสม และในระหว่างการทำงาน สมาชิกจะได้เงินทดแทนรายได้กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ค่าทำศพจากสำนักงานประกันสังคม และเมื่ออายุหลังอายุ 60 ปี จะได้บำนาญรายเดือนจาก กอช. และได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามเกณฑ์อีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครสมาชิก กอช. มีอายุตั้งแต่ 15 - 60 ปี ได้แก่ นักเรียน นิสิตและนักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ผู้ที่ขับรถรับจ้างทั่วไป ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่แอปพลิเคชัน “กอช.” หรือ เว็บไซต์ กอช. www.nsf.or.th หรือสอบถาม สายด่วนเงินออม โทร. 02-049-9000

รับวาเลนไทน์! เราเที่ยวด้วยกัน เริ่มก.พ. นี้ “พิพัฒน์” พร้อมชงครม.ไฟเขียว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 25 ม.ค.นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเพิ่มสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 อีก 2 ล้านสิทธิ (คืน) ภายใต้กรอบวงเงิน 13,200 ล้านบาท หลังจากที่ผ่านมาได้เห็นชอบในหลักการโครงการไปแล้ว และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้หารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ไปแล้ว เบื้องต้นหากที่ประชุมครม.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ คาดว่า จะเปิดให้ประชาชนจองสิทธิได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อใช้สิทธิภายในเดือน ก.ย.65

ทั้งนี้ที่ผ่านมาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 กำหนดสิทธิเอาไว้จำนวน 2 ล้านสิทธิ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก และมีประชาชนจองไปครบแล้วในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย โดยโครงการนี้รัฐช่วยจ่ายค่าที่พักให้ 40% สูงสุดไม่เกินคืนละ 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน รับคูปอง 600 บาทต่อวัน และเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่า การเปิดให้จองสิทธิจำนวน 2 ล้านสิทธิครั้งนี้ น่าจะได้รับความสนใจจำนวนมาก และสิทธิอาจถูกใช้หมดภายในเดือน เม.ย.65 เพราะเข้าช่วงฤดูท่องเที่ยวของคนไทย โดยเฉพาะตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน

พาณิชย์ตั้ววอรูม สกัดของแพง หลังเจอน้ำอัดลมจ่อขึ้นราคา

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากมีภาคเอกชนส่งสัญญาณการปรับราคาน้ำอัดลมจากผู้ประกอบการค่ายน้ำดำเจ้าใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งมีการแจ้งขอปรับรายการส่งเสริมการขาย เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีผลทำให้ราคาขายปลีกหน้าร้านขยับราคาขึ้นเฉลี่ยประมาณขวดละ 1 บาท ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เรียกประชุมกระทรวงพาณิชย์เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้มีข้อสั่งการให้ตั้งวอรูมขึ้น โดยปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานทำหน้าที่ติดตามราคาสินค้า แก้ปัญหาและดำเนินคดีกับพวกฉวยโอกาสอย่างเต็มที่ โดยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในฐานะประธานกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ระดับจังหวัด เป็นประธานวอรูมในระดับจังหวัด

มัลลิกา เผย โอนเงินประกันรายได้ "ยางพารา" งวดล่าสุดแล้ว "ชู" เกษตร-พาณิชย์ ช่วยเกษตรกรทุกปี 1.88 ล้านครัวเรือน คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้นทันตา!  "ราคายางยกระดับ-แตกต่างจากก่อนหน้านี้" 

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกร โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของยางพารา โครงการดังกล่าวเป็นการประกันรายได้ตามการผลิตแต่ละประเภท ได้แก่ ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันรายได้ที่ราคา 60 บาท/กิโลกรัม  น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันรายได้ที่ราคา 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันรายได้ที่ราคา 23 บาท/กิโลกรัม เป้าหมายเกษตรกร 1.88 ล้านราย พื้นที่สวนยางกว่า 19.16 ล้านไร่ ในส่วนของปีที่ 3 นั้นเตรียมวงเงินไว้สำหรับเกษตรกรไปแล้ว 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ความคืบหน้าการโอนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 นั้นล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ธ.ก.ส. ได้โอนเงินประกันรายได้ดังกล่าวเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงแล้ว ทั้งนี้เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่สมัครใช้บริการ   BAAC Connect ของ ธ.ก.ส.รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ซึ่งพี่น้องเกษตรกรสามารถไปกดเงินได้เลย 

"การยางแห่งประเทศไทย เคาะจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง งวดที่ 3 วันที่ 14 มกราคม สำหรับวงเงินงวดนี้กว่า 850 ล้านบาท โดยนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. รายงานนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ได้เริ่มดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างชดเชยรายได้ให้กับชาวสวนยาง งวดที่ 1 ประจำเดือนตุลาคม 2564 และ งวด 2 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2564 สำหรับงวดที่ 3 ประจำเดือนธันวาคม 2564 โอนเข้าบัญชีของเกษตรกรชาวสวนยางแล้วเมื่อในวันที่14 มกราคม โดยวงเงินงวดนี้ 850.25 ล้านบาท" นางมัลลิกา กล่าว

 

นางมัลลิกา กล่าวว่า การโอนเงินประกันรายได้เกษตรกรยางพารานั้นเป็นไปตามระเบียบหลังจากที่ได้กำหนดราคายางพาราอ้างอิง รอบล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คือ ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี อยู่ที่ 54.85 บาท/กก. ได้ชดเชย 5.15 บาท/กก. ราคาน้ำยางสด DRC 100% อยู่ที่ 51.03 บาท/กก. ได้ชดเชย 5.97 บาท/กก. ราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 23.18 บาท/กก. อันนี้จะไม่มีชดเชย เพราะราคาตลาดสูงกว่าราคารายได้ที่ประกันไว้

‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘แก้หนี้’ เป็นพันธกิจหลักปี 65 สั่งลุยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน - หนี้สิน ขรก.

จากสถิติตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 2 ปี ที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาด ที่ซ้ำเติมให้ ‘ปัญหาหนี้สินครัวเรือน’ มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลล่าสุดจากของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ ไตรมาส 3/2564 (30 ก.ย. 64) ครัวเรือนไทยมีหนี้สินทั้งสิ้น 14.34 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 18 ปีเลยทีเดียว

การที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราที่สูงในขณะนี้ จะสะท้อนไปถึงภาวะความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทย และนำไปสู่ปัญหาในการดำรงชีวิตและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในอนาคต

แน่นอนว่า ปัญหานี้ นับเป็นอีกหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลคงไม่สามารถเพิกเฉยต่อไปได้ 

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้นำรัฐบาล ประกาศชัดว่า จะผลักดันให้ปี 2565 นี้ เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ให้สำเร็จให้ได้ พร้อมกับให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าทุกวิถีทาง เพื่อช่วยบรรเทาภาระและความเดือดร้อนของทุกกลุ่มลูกหนี้ 

ล่าสุดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ผลักดันร่างพ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เข้าสู่รัฐสภาพิจารณา โดยหวังจะได้รับความร่วมมือสมาชิกรัฐสภาผ่านร่างพ.ร.บ. โดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้หนี้นักเรียน นักศึกษา และผู้ค้ำประกันที่คาดว่าจะมีอยู่กว่า 5 ล้านคน ได้หายใจได้คล่องขึ้น 

ไม่เพียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรี ยังได้ประกาศแนวทางหลักๆ 8 แนวทาง ในการแก้หนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน โดย 8 แนวทางที่หยิบยกขึ้นมาจัดการก่อนประกอบด้วย

- การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 
- การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ 
- การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 
- การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ 
- การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ 
- การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 
- การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย และ SMEs 
- การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม

ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ ก็ได้เริ่มเห็นแนวทางที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ได้จัดทำแผนไปบ้างแล้ว เช่น จากแนวทางส่วนการแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ ที่แบ่งการขับเคลื่อนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ บุคลากรครู และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินบุคลากรครู โดยวาง 4 แนวทางแก้ไขปัญหา 

1.) ยุบยอดหนี้ โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู เพื่อให้ยอดหนี้ลดลง และสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน เช่น ใช้เงินบำเหน็จตกทอดมาชำระหนี้บางส่วน

2.) ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 5% เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อ หักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ

3.) ปรับลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกันโดยบุคคลที่ไม่จำเป็น 

4.) ยกระดับระบบการตัดเงินเดือนข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ มีสหกรณ์ครูจำนวน 20 แห่ง ครอบคลุมครูทั่วประเทศ กว่า 2 แสนคน สมัครเข้าร่วมดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงฯกำหนด และคาดว่าจะมีเพิ่มในระยะต่อไป

เช็กเลย ธ.ก.ส. โอนเงินช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง เข้าบัญชีแล้ว

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า วันนี้ (14 ม.ค. 2565) ธ.ก.ส. ได้โอนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 เข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง สำหรับรอบที่ 1-2 เพิ่มเติม และรอบที่ 3 แก่เกษตรกรจำนวน 484,609 ราย เป็นเงิน 568 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำ อันเนื่องมากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยธรรมชาติ และช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพ 

อีกทั้งในวันเดียวกัน ธ.ก.ส. ได้โอนเงินตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ครั้งที่ 3 แก่เกษตรกร 62,374 ราย เป็นเงิน 490 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงเป็นการจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี เพื่อที่จะมีโอกาสขายข้าวในราคาที่สูงและมีรายได้มากขึ้น

ก.เกษตรฯ ลั่นป้องกันโรค ASF ในสุกรตั้งแต่ปี 61 ยัน ไม่ปกปิด - เยียวยาแล้วกว่า 3 พันราย

กระทรวงเกษตรฯ. เคลียร์ทุกประเด็นโรค ASF ในสุกร ยืนยันป้องกันโรคตั้งแต่ปี 2561 ไม่ปกปิดไม่ละเลย เผยช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรแล้วกว่า 3 พันราย ผนึกทุกภาคีเครือข่ายร่วมควบคุมโรคให้สงบและขอคืนสภาพปลอดโรคโดยเร็ว

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ว่า ตามที่ประเทศไทยได้มีการตรวจพบเชื้อโรค ASF ในสุกรจากการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวสัมผัส (surface swab) ที่โรงฆ่าแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ตรวจโดยห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์เพื่อยืนยันผล ตนได้มีความห่วงใยต่อเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ต้น และสั่งการด่วนให้กรมปศุสัตว์รีบดำเนินการทันที ทั้งนี้นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เร่งดำเนินการเพื่อหารือและทำความเข้าใจร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว ได้ประชุมคณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ASF ในสุกรและแถลงต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565 ซึ่งจะประกาศเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรค และรายงานแจ้งไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ต่อไป โดยการดำเนินการต่างๆ จะคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ เพื่อลดความเสียหายและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด วอนเกษตรกรอย่าตระหนก โรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ย้ำไม่ระบาดติดต่อสู่คน

กรมปศุสัตว์ย้ำ ไม่เคยปกปิดโรค ASF ในสุกร ได้ดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคมาตั้งแต่ปี 2561 ที่พบการระบาดเกิดโรค ASF ในสุกรครั้งแรกในประเทศจีน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคมาโดยตลอด

โดยสั่งการในปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค การซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือ จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ASF ในสุกร (contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรค ASF ในสุกร (Clinical Practice Guideline) และได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์ การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจเข้มนักท่องเที่ยวและเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเข้าประเทศ เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการส่งออก ลดความเสี่ยงจากการส่งออกสุกร โดยห้ามรถขนส่งสุกรมีชีวิตเข้าไปส่งสุกรในประเทศที่มีการระบาด ให้ใช้รถขนถ่ายข้ามแดนในการส่งสุกรไปยังประเทศปลายทางแทน และต้องมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ในการจัดประชุมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ในการป้องกันโรค การทำงานบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ในการจัดตั้งโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งหมด 5 จุด ที่ด่านกักกันสัตว์เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และสระแก้ว การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ โดยได้จัดทำเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว ภาษาพม่า ภาษาเขมร เป็นต้น

การสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเพื่อเฝ้าระวังโรค ซึ่งผลวิเคราะห์จากการเก็บตัวอย่างตอนนั้นเป็นลบต่อโรค ASF ในสุกรทั้งหมด แต่ให้ผลบวกต่อโรคชนิดอื่นๆ เช่น โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) และโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) เป็นต้น

สำหรับ ประเด็นเงินชดเชย เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนและยารักษาจำเพาะ หากพบการระบาดของโรคในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยากก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ดำเนินการคือการลดความเสี่ยงโดยการทำลายสุกรที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันการเกิดโรค อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายเพื่อป้องกันโรค ที่ผ่านมาได้ดำเนินการขออนุมัติจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยได้ดำเนินการชดเชยค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง รวมเกษตรกรทั้งสิ้น 3,239 ราย สุกรจำนวน 112,752 ตัว เป็นเงิน 470,426,009 บาท

และในปี 2565 กรมปศุสัตว์ได้ขออนุมัติงบประมาณในส่วนดังกล่าวแก่เกษตรกรจำนวน 4,941 ราย สุกรจำนวน 159,453 ตัว เป็นเงิน 574,111,262.5 บาท เพื่อเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ซึ่งครม. ได้อนุมัติแล้ว จะเร่งเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเร็วต่อไป

กรณี ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพง มาจากหลายปัจจัย สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณสุกรมีชีวิตที่ถูกแปรสภาพเป็นเนื้อสุกรลดลง ประกอบกับภาวะต้นทุนการผลิตสุกรขุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์มสุกร และต้นทุนด้านการขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ผลผลิตสุกรลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพในฟาร์มสุกรของไทยเพิ่มขึ้น ในรอบปี 2564 พบการระบาดของโรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) เกษตรกรต้องลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์ม และเลิกเลี้ยงสุกรในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพ โดยได้มีมาตรการให้การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยมาตรการระยะเร่งด่วนกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ประกาศห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 เดือน (6 มกราคม-5 เมษายน 2565) ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์ จัดสินเชื่อพิเศษ เพื่อให้เกษตรกรได้กลับมาเลี้ยงใหม่ ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องต้นทุนที่เกิดขึ้น และเร่งสำรวจภาพรวมการผลิตสุกรเพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการ พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน มาตรการระยะสั้น มีการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

รองเลขาฯ พท. ไม่เห็นด้วยรีดภาษีคริปโต ชี้ไม่ใช่ภัยคุกคาม แนะ ‘ตัดแต่ง’ ไม่ใช่ ‘ตัดตอน’

13 ม.ค. 65 - นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีภาษีคริปโทเคอร์เรนซี (คริปโตฯ) ว่า ปัจจุบันการต่อสู้ทางความคิดระหว่างนโยบายการเงินแบบเดิม กับคริปโทเคอร์เรนซีนั้นยังไม่สะเด็ดน้ำ ธนาคารกลางจำเป็นต้องเรียนรู้อีกมากถึงความเป็นไปได้ของการผสานนโยบายการเงินแบบเดิม ควบคู่กับคริปโตฯ หรือแม้แต่การปล่อยให้คริปโตฯ เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงิน และคริปโตฯ ก็ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมาก ในการทำหน้าที่เป็นเงินตราดิจิทัล เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน หรือแม้แต่มีการพูดกันไปไกลถึงการแทนที่ระบบธนาคารกลางเลย ซึ่งปัจจุบันยังเป็นเครื่องหมายคำถามที่ตัวใหญ่มากที่คริปโตฯ ต้องพยายามตอบ

วันนี้ยังไม่มีใครรู้ถึงทิศทางการพัฒนา วันนี้เรารู้แค่ว่าระบบการชำระเงินเดิมมีข้อจำกัด ธนาคารกลางเองก็ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังเร็วไปมากที่จะสรุปว่าคริปโตฯ เป็นคำตอบ และเร็วไปมากที่ภาครัฐจะตัดสินใจเชิงนโยบายบนความไม่รู้ว่า จะเปิดรับ ต่อต้าน ปิดกั้น หรือสนับสนุนอย่างไร จึงไม่เห็นด้วยกับการเร่งรีบกระโจนเข้าเก็บภาษีคริปโตฯ ของกรมสรรพากร ซึ่งถือเป็นมาตรการที่มีผลในเชิงต่อต้านการพัฒนาการของระบบการเงินรูปแบบใหม่นี้ ทั้งๆ ที่ในภาพใหญ่ในเชิงนโยบายยังไม่ได้ข้อสรุป สรรพากรข้ามไปคุยเรื่องเก็บภาษีอย่างไรแล้ว ทั้งที่ในภาพใหญ่เรายังไม่สะเด็ดน้ำเลยว่าควรจะเก็บหรือไม่ และเก็บเมื่อไหร่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top