Monday, 20 May 2024
ECONBIZ NEWS

คืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ส่งมอบพื้นที่แล้ว 86% รวม 5,521 ไร่ เตรียมพร้อมร่วมเอกชนรุกงานก่อสร้าง ยกระดับบริการแอร์พอร์ต ลิงก์ มั่นใจเปิดบริการปี 2568 ดันท่องเที่ยวโต จูงใจการลงทุน มีงานในพื้นที่ รายได้ดีมั่นคง

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี รายงานความก้าวหน้าการลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project list) ภายหลังได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) ได้ร่วมกันเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1.) ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง เป็นตามขั้นตอนกฎหมาย ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เตรียมการส่งมอบพื้นที่ในช่วงสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดำเนินโครงการประมาณ 5,521 ไร่ งานมีความคืบหน้า 86% ให้กับเอกชนคู่สัญญาแล้ว

นอกจากนี้ การรื้อย้ายสาธารณูปโภคเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง การส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาของรฟท. ที่เดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อเนื่องเช่นกัน และจะพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้

2.) เริ่มแล้วงานก่อสร้าง ถนนสะพาน บ้านพักคนงาน โรงหล่อชิ้นส่วน ยันพร้อมเปิดบริการปี 2568 งานก่อสร้างโครงการ ฯ จะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันบริษัท ฯ เอกชนคู่สัญญา ได้ดำเนินการออกแบบ และเริ่มงานเตรียมการก่อสร้าง (early work) เช่น ก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวสำหรับงานก่อสร้างโครงการ (access road and temporary bridge) ก่อสร้างสำนักงานสนาม (site office) บ้านพักคนงาน (labour camp) และก่อสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนโครงสร้างทางวิ่ง (concrete yard) แล้ว

โดยมีความพร้อมเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ทันที เมื่อได้รับมอบพื้นที่โครงการฯ ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา จาก รฟท. ซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4-5​ปี และจะเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ในปี 2568 ตามแผนเร่งรัด

3.) ยกเครื่องแอร์พอร์ต ลิงก์ โฉมใหม่ คนใช้สะดวกขึ้น บริการทั่วถึงปลอดภัย ซึ่งการส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ขณะนี้ รฟท. พร้อมส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งยืนยันว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ระหว่างการถ่ายโอนกิจการในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 นี้ โดยเฉพาะเรื่องบัตรโดยสาร ยังสามารถใช้บัตรโดยสารรายเดือนเดิมของ รฟท.ได้ต่อไปหลังการถ่ายโอน และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยให้ผู้โดยสารเปลี่ยนบัตรโดยสารใหม่ต่อไป

ขณะที่ด้านความพร้อมของเอกชนคู่สัญญา ในช่วงก่อนการรับโอนสิทธิ์เพื่อเข้าดำเนินโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ได้ประกาศใช้งบประมาณสูงถึง 1.7 พันล้านบาท นำผู้เชี่ยวชาญการเดินรถและให้บริการระบบรางทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบอย่างละเอียด พร้อมทั้งสำรวจสภาพทางเทคนิคของสถานี ระบบรถไฟฟ้า เตรียมความพร้อมปรับปรุงสถานี พัฒนาด้านบุคลากรเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการปรับปรุงเพื่อยกระดับคุณภาพบริการ (Level of Service and Customer Satisfaction) ซึ่งได้เสนอมายัง รฟท. มีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้...

1.) ปรับปรุงระบบไฟฟ้าที่จำเป็น เช่น ระบบติดต่อสื่อสารทางวิทยุ ระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถไฟฟ้า เพื่อให้ขบวนรถมาตรงเวลามากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงระบบกล้องวงจรปิด รักษาความปลอดภัยผู้โดยสาร ระบบรางรถไฟฟ้า ระบบป้องกันอัคคีภัย และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถไฟฟ้า เป็นต้น

2.) ปรับปรุงสถานีรถไฟ เช่น ป้ายสัญลักษณะและบอกทาง ปรับปรุงทางเดิน สิ่งอำนวยความสะดวกสถานีและเพิ่มห้องน้ำสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและปรับปรุงระบบการจราจร ที่จอดรถโดยรอบ เพิ่มระบบแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย เพิ่มพัดลมระบายอากาศ แผงกันสาดป้องกันแสงแดดและฝนภายในสถานี เพื่อสร้างความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

3.) ปรับเปลี่ยนตู้ขนสัมภาระจำนวน 4 ตู้ ให้เป็นตู้รองรับผู้โดยสารแทน โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อชั่วโมง ลดการรอคอยขบวนรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วนที่เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน

สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ทุกขั้นตอนดำเนินการโปร่งใส รัดกุม และประเทศได้ประโยชน์สูงสุด มีมูลค่าการลงทุนรวม กว่า 257,464 ล้านบาท (ภาครัฐ 157,872 ล้านบาท และเอกชน 99,592 ล้านบาท) เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่อีอีซี เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง

เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์สามารถเชื่อมต่อกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี และเมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ

 

https://www.youtube.com/watch?v=vXjfYWBXU8c&ab_channel=EECWECAN


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากงาน ไร้กังวล กองทุนเงินทดแทน ให้การดูแลค่ารักษาพร้อมเงินทดแทนเต็มที่

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ซึ่งดำเนินงานตามนโยบายของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จะได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล และเงินทดแทนจากกองทุน เงินทดแทนที่ลูกจ้างพึงจะได้รับอย่างเต็มที่ ซึ่งจากผลการวินิจฉัยเรื่องการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานประจำปี 2563 มีลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนไปแล้วจำนวน 25,518 ราย โดยข้อมูล ในปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) มีลูกจ้างที่อยู่ในข่ายได้รับเงินทดแทนแล้วจำนวน 26,673 ราย 

อย่างไรก็ดี กองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมในฐานะที่ดูแลจึงขอให้ลูกจ้างตระหนักถึงความปลอดภัย ในการทำงาน ทั้งนี้ รวมถึงสถานประกอบการต้องให้ความระมัดระวังความปลอดภัยในการทำงาน และหากเป็นเหตุการณ์ที่ประสบอันตราย นายจ้างมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย ตายหรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 (กท.16) ส่งให้สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ที่นายจ้างขึ้นทะเบียนไว้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ ทราบการประสบอันตราย ของลูกจ้าง กรณีลูกจ้างประสบอันตรายเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคม ขอแนะนำให้นายจ้าง ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน 

โดยที่นายจ้างไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาล่วงหน้าและสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวง ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2563 ซึ่งค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 300,000 บาท หรือหากไม่เพียงพอ สามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้ รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ และสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีกแต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท 

โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้ความเห็นชอบ เว้นแต่ ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาล ของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกแต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/ สาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทรสายด่วน 1506 ติดต่อสอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

“สุพัฒนพงษ์” แจงกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ควบคู่กับการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ในการพักชำระหนี้และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในอนาคตที่ไม่แน่นอน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงถึงการแก้ปัญหาโควิค-19 ของรัฐบาล ว่า ที่ผ่านมาได้ออกพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยและรายอื่นๆ รวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับผลกระทบในปีที่แล้ว

ขณะที่เดือน เม.ย. ปีนี้ มีปริมาณผู้ติดเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อ ครม. จึงออกมาตรการเยียวยาเพิ่ม โดยนำเงินที่เหลือจาก 1 ล้านล้านบาท มาช่วยในปีนี้ ทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 รวมถึงโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.ฟื้นฟู ในโครงการ ซอฟท์โลน 2.5 แสนล้านบาท และ 1 แสนล้านบาท โครงการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อจะดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กในช่วงที่ได้รับผลกระทบ รวม 3.5 แสนล้านบาท (สรุป 3.5 แสนล้านบาท คือเงินเก่าที่กู้มา 1.9 ล้านล้านบาท)

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังมีการออกพระราชกำหนดแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรน่า 2019 (ฉบับที่2) วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคต หรือการระบาดที่อาจจะต้องทอดยาวไปอีก โดยยืนยันว่า รัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่ที่จะบริหารและสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดได้ คาดว่าในไตรมาส 2 น่าจะควบคุมได้ แต่ต้องมาจากความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วนที่จะต้องเข้มงวดในมาตราการสาธารณสุขไปพร้อม ๆ กัน

สมาคมธนาคารไทย ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 6 เดือน 1 แสนล.

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธนาคารต่าง ๆ กำลังเร่งพิจารณาคำขออนุมัติสินเชื่อที่สามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะเห็นยอดตัวเลขสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นไปตามเป้า 1 แสนล้านบาท ใน 6 เดือนแรก

“แม้ระยะเวลาที่เปิดให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการไม่นานนัก เพียงแค่ 3 สัปดาห์ ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว 15,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการ SMEs 5 พันกว่าราย ซึ่งจำนวนนี้เป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมกับธนาคาร ทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ ครอบคลุมทุกธุรกิจทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทย ยังได้ร่วมมือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยขอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวบรวมรายชื่อข้อมูลของผู้ประกอบการที่สนใจขอสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่องและหาแนวทางข้อสรุปในการช่วยเหลือแต่ละราย ซึ่งสมาคมธนาคารไทยจะได้ส่งต่อให้กับธนาคารสมาชิกต่อไป

นอกจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว ยังมีอีกมาตรการที่ผู้ประกอบการธุรกิจให้ความสนใจอย่างมาก คือ โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปรกอบธุรกิจสามารถหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราว เพื่อรอเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยไม่สูญเสียกิจการไป แต่เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือนี้เป็นเรื่องใหม่ มีรายละเอียดเงื่อนไขเฉพาะธนาคาร มีกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน ต้องอาศัยความเข้าใจและความเห็นชอบของลูกหนี้และเจ้าหนี้ อีกทั้งยังมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับภาษี ค่าธรรมเนียมในการโอนทรัพย์เพื่อพักชำระหนี้ ซึ่งต้องอาศัยระเบียบวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ

งานนี้ CP ไม่เกี่ยว! ปัดเอี่ยวรัฐบาล ซื้อ 'ซิโนแวค' เล็งเอาผิด หากพบคนบิดเบือนข้อมูล

CP ออกแถลงการณ์แจงไม่เกี่ยวข้องกรณีรัฐบาลสั่งซื้อวัคซีน 'ซิโนแวค' ชี้เป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ยืนยันไม่ได้ถือหุ้น 15% ขู่เอาผิดคนบิดเบือนข้อมูล

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ออกแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 ระบุว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาล ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เนื่องจากปัจจุบันปรากฏข่าวสารสับสนเกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ทางโลกออนไลน์ โดยระบุว่า

1.) ซีพีถือหุ้นซิโนแวค 15% และ

2.) ซีพีอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขอแจ้งให้ทราบว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้

1.) การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค เป็นแบบรัฐบาล ต่อรัฐบาล (G2G) เท่านั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับซีพี ทั้งทางตรง และทางอ้อม

2.) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น บริษัทซิโนแวค 15% ตามที่เป็นข่าว โดย

ข้อเท็จจริง ผู้ลงทุน คือ Sino Biopharmaceutical ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของจีน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยในบริษัท Sino Biopharmaceutical นี้ เท่านั้น

ข้อเท็จจริง ผู้ขายหุ้น คือ Sinovac Life Sciences เป็นบริษัทลูกของบริษัท ซิโนแวค ต้องการระดมทุน เพื่อต้องการขยายกำลังการผลิตวัคซีนซิโนแวค

ข้อเท็จจริง Sino Biopharmaceutical เข้าไปถือหุ้นใน Sinovac Life Sciences จำนวน 515 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15.03% ถือเป็นการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าวเอง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีหุ้นใด ๆ และไม่ได้มีสิทธิการเป็นเจ้าของ ในบริษัท Sinovac Life Sciences ใด ๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยใน Sino Biopharmaceutical ที่เข้าไปลงทุนผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ไม่มีสิทธิในการบริหารและแทรกแซงการตัดสินใจใด ๆ ใน Sinovac

และเครือเจริญโภคภัณฑ์ขอยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม กับการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาล เข้ามาในประเทศไทยอย่างที่เกิดการบิดเบือนในสื่อออนไลน์แต่อย่างใด ทั้งนี้ หากพบว่า ยังมีการเจตนานำข้อมูลไปบิดเบือน และ สร้างความเสียหาย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม เพิ่มโอกาสทางการตลาด กระตุ้นธุรกิจการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโต ผ่านการจัดแสดงสินค้าออนไลน์รูปแบบเสมือนจริง THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition”

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถาการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายสาขา แต่อุตสาหกรรมอาหารยังได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว โดยรายงานของสถาบันอาหาร ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2563 อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 11 เดือน อยู่ที่ 981,430 ล้านบาท หดตัวลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 7.39 แต่แนวโน้มในปี 2564 นี้ มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมอาหารจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 12 และจะมีมูลค่าราว 1.08 -1.10 ล้านล้านบาท เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการเลือกสินค้าอาหาร หรือวัตถุดิบ เพื่อมาประกอบอาหารเองเพิ่มมากขึ้น

“ดีพร้อม เล็งเห็นถึงโอกาส และความสำคัญของการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มให้สามารถเดินหน้าต่อได้ ภายใต้สถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ จึงเร่งออกมาตรการและแนวทางการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเร็วในหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการขยายช่องทาง

"ขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดกิจกรรมผ่านเวทีการแสดงสินค้านานาชาติรูปแบบออนไลน์เสมือนจริงในงานแสดงสินค้าอาหาร 2564 หรือ THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition” ซึ่งการจัดงานเกิดจากการ่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับหอการค้าไทย"

การจัดงานในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด Driving the next normal ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม "สู่วิถีใหม่” เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารเติบโตได้อย่างต่อเนื่องภายในปี 2564

ทั้งนี้ ภายในงานจะมีการแสดงคูหาเสมือนจริงผ่านรูปแบบ 3 มิติ โดยผู้ชมงานจากต่างประเทศสามารถเข้าไปเลือกสินค้าในชั้นวางสินค้า ชมคลิปวิดีโอ เปิดแคตตาล็อกสินค้า ฝากข้อความนัดเวลาเจรจาการค้าล่วงหน้า หรือเจรจาการค้าได้ทันที โดยจะเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมแสดงสินค้างาน ได้โอกาสใหม่ ๆ ในการเข้าถึงตลาดในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ทาง ดีพร้อม ยังได้สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารที่มีศักยภาพและความพร้อมเข้าร่วมงานในครั้งนี้ จำนวน 20 ราย อาทิ บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน, บริษัท ทิกเกิ้ล ไทม์ จำกัด, บริษัท โคโคเน่ น้ำมันมะพร้าว จำกัด, บริษัท ใบชาโชคจำเริญ จำกัด, บริษัท แคปหมึก ฟู้ดแอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, บริษัท ด.เด็กกินผัก จำกัด, บริษัท พีอันต้า จำกัด, บริษัท ชาโลม เฮลท์ จำกัด, บริษัท จตุพล ชาไทย (ดอยแม่สลอง) ฯลฯ โดยนำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องหอมไทย ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป เข้าร่วมในงานครั้งนี้

คาดว่าการสนับสนุนในครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะผู้ซื้อชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานกว่า 1,230 ราย นายณัฐพล กล่าวเสริม

ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้างานแสดงสินค้าอาหาร 2564 พร้อมชมนิทรรศการเสมือนจริง ภายในงาน THAIFEX-Virtual Trade Show ระหว่างวันที่ 25-29 พฤษภาคม 2564 และงาน THAILEX-ANUGA “The Hybrid Event” ได้ในระหว่างวันที่ 29 กันยายน-3 ตุลาคม 2564 ผ่านทาง www.dipromvirtual.com


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

อินเตอร์ลิ้งค์ พบนักลงทุน ประจำไตรมาส 1 ปี 2564 เดินหน้าสร้าง New-S curve ใหม่ ๆ มั่นใจแนวโน้มรายได้ในปีนี้จะนิวไฮแน่นอน

ILINK พบนักลงทุน Opp Day Q1/64 (25 พ.ค. 64) นำโดย คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ พร้อมด้วย คุณวริษา อนันตรัมพร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยสาระสำคัญ “สำหรับผลการดำเนินงาน มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 21% โดยเป็นผลมาจากกระแส Digital และลุยสร้าง New-S curve ใหม่ ๆ มั่นใจได้ว่าแนวโน้มรายได้ในปีนี้จะนิวไฮตามเป้าอย่างแน่นอน” ทั้งนี้ เป็นการ Live จาก อาคาร สนง.ใหญ่ รัชดา


 

จับตาวาระครม.ด้านเศรษฐกิจเสนอที่ประชุมหลายเรื่อง

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 มีวาระน่าสนใจเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา โดยพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะฝ่ายเลขาของ ศบค. เสนอมติที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา ให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค. 2564 รวมเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากพบการระบาดหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ ที่ตรวจพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ หลายแห่ง 

ส่วนวาระอื่น ๆ กระทรวงการคลัง เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งร่างกฎกระทรวงการอนุญาตจัดตั้งและการเลิกดำเนินการเขตปลอดอากร และร่างกฎกระทรวงการอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร 

รวมถึง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรรวม 4 ฉบับ คือ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 และมาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) จากที่สิ้นสุดระยะเวลาไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 

ส่วนกระทรวงพาณิชย์เสนอ ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้รถจักรยานยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน และปรับลดขั้นตอนการนำเข้ารถจักรยานยนต์ใช้แล้วบางประเภทเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว

สปส.ห่วงความปลอดภัยนายจ้าง ผู้ประกันตน แนะติดต่องานประกันสังคม ห่างไกลโควิด-19 ผ่านช่องทาง SSO e-Service หรือระบบออนไลน์

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดสถานที่บางแห่งเป็นการชั่วคราว การงดจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งให้ลดการรวมตัวกันเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำนักงานประกันสังคมได้ตอบสนองมาตรการภาครัฐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของผู้ประกันตน ผู้ใช้บริการ และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมกับสำนักงานประกันสังคม ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่ไม่ต้องเดินทางเข้ามายังสำนักงานประกันสังคม ได้หลากหลายช่องทาง ดังนี้

กรณีผู้ประกันตน ขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ว่างงาน และชราภาพ ท่านสามารถรับแบบขอรับสิทธิประโยชน์ได้ที่ช่องทาง download แบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทนใน www.sso.go.th และส่งแบบพร้อมเอกสารได้ที่ไปรษณีย์ลงทะเบียน (AR ตอบรับ) โทรสาร (Fax) ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) แอพพลิเคชั่น (Line) รายละเอียดของแต่ละหน่วยงานท่านสามารถเข้าดูได้ที่ www.sso.go.th หรือ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับงานประกันสังคม สามารถติดต่อสอบถามที่หน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th ผ่านช่องทาง E-mail : [email protected] Webboard (กระดานสนทนา) Live Chat รวมทั้ง Facebook.com/ssofanpage สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

กรณีนายจ้างขอทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้นายจ้างเข้าช่องทาง e-Service ในเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ในหัวข้อบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขอ User สถานประกอบการ และ Password เพื่อการนำส่งข้อมูลเงินสมทบ แจ้งผู้ประกันตน เข้า-ออก จากงาน หรือแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ประกันตน พร้อมชำระเงินสมทบของผู้ประกันตน ผ่านระบบ e-payment ได้ตลอดเวลา

กรณีการตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกันตน สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบ ยอดเงินชราภาพ และการรับสิทธิประโยชน์รวมถึงเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทุกกรณี โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลและสิทธิประโยชน์ ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ ช่องทางระบบสมาชิก ผู้ประกันตน ในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือทางโทรศัพท์มือถือ สามารถดาวน์โหลด Application SSO Connect หรือสอบถามผ่าน facebook Messenger ของสำนักงานประกันสังคม หรือโทรสายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำนักงานประกันสังคมจึงขอความร่วมมือ นายจ้าง ผู้ประกันตน ใช้ช่องทางดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการรวมตัวกัน ป้องกันการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี สำนักงานประกันสังคม พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีความมุ่งมั่นช่วยเหลือป้องกันและควบคุมโรค เพื่อความมั่นคงต่อชีวิตและความปลอดภัยต่อสุขภาพของพี่น้องผู้ประกันตนเป็นสำคัญ

'ล็อกเป้า เล็งทิศ' เศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทย ใน 5​ ปี พร้อมแผนจุดติดเศรษฐกิจไทย หลังยุคโควิด

(24 พ.ค. 64) สัมมนาวิชาการ ประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า “EEC Macroeconomic Forum” ในรูปแบบออนไลน์ (VDO conference) โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นผู้ดำเนินการ และมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่...

ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง พร้อมกลุ่มผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมกว่า 600 คน

สัมมนาวิชาการฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่นักวิชาการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ร่วมหารือแนวทางเตรียมพร้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อผลักดันเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยการสัมมนาวิชาการฯ ได้นำเสนอภาพเศรษฐกิจไทยว่าจะเติบโตจากปัจจัยใดหลังโควิด-19 อาทิ...

>> การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่สร้างมูลค่าสูงขึ้น เพิ่มเทคโนโลยีการผลิต และส่งออกสินค้าให้เท่าทันโลก

>> ความจำเป็นของข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งการกระจายความเท่าเทียม สร้างโอกาสทางรายได้และการศึกษา

>> การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

สำหรับประเด็นสำคัญ สัมมนาประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า พบว่า...

เศรษฐกิจไทยปี 2564-2565 และการบริหารภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยที่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น โดยประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 กรอบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่าง 1.0-2.0% และปี 2565 จะขยายตัวระหว่าง 1.1-4.7% ซึ่งการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการฟื้นตัว และมาตรการการคลังของภาครัฐมีความสำคัญช่วยบรรเทาเยียวยาได้ ให้ระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ในเกณฑ์ รวมทั้งนโยบาย

ด้านการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการเต็มที่ ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดประวัติการณ์ และมาตรการช่วยเหลือประชาชน เอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงิน จะช่วยคลายความกังวล อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ให้มีแนวโน้มลดต่ำลง และช่วยลดการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยจากโควิด-19

มาตรการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ และประมาณการความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลางจากมาตรการบรรเทาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้อนุมัติโครงการแล้ว 8.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 83% ของวงเงิน และครอบคลุม ด้านสาธารณะสุข ด้านผลกระทบระยะสั้น และด้านการฟื้นฟูระยะยาว

ทั้งนี้ ในส่วนหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 54.3% ต่อ GDP ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์กรอบวินัยการเงินการคลังที่ไม่เกิน 60% และอยู่ในวิสัยที่ประเทศไทยเคยเผชิญจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ด้านการก่อหนี้ภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินในรูปแบบเงินบาท ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ โดยการกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท นั้น อาจส่งผลต่อหนี้สาธารณะขั้นต้น (Gross debt) เกินกว่า 60% ต่อ GDP เล็กน้อย แต่จะไม่กระทบต่อความยั่งยืนของการคลังในระยะปานกลาง ทั้งนี้ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีหนี้สาธารณะระดับไม่น้อยกว่า 30% ต่อ GDP เพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร (Bond) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน

ความเหลื่อมล้ำ : โจทย์สำคัญหลังโควิด-19 ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยจะมีโจทย์สำคัญ 3 ด้าน ที่ต้องเผชิญ ได้แก่

การเติบโตที่ไม่สมดุลเชิงพื้นที่ จากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นก่อนโควิด-19 เมืองหลักที่เป็นเมืองเศรษฐกิจมีเพียง 15 จังหวัด คิดเป็น 70% ของ GDP ประเทศ เมืองรองยังคงเป็นจังหวัดที่ยากจน โดยโควิด-19 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับด้าน (Reverse trend) ย้ายออกเพราะตกงาน และย้ายเข้าเมืองหลวง เพื่อหางานทำ ความยากจนเหลื่อมล้ำเรื้อรัง โควิด-19 ทำให้คนจนเพิ่มขึ้นทั่วโลก 15 ล้านคน เป็นคนไทย 1.5 ล้านคนจากฐานคนจนเดิม 4.3 ล้านคน ส่งให้ผลคนจนในไทยเพิ่มขึ้นรวม 5.8 ล้านคน (เท่ากับจำนวนคนจนปี 2559)

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี 30 จังหวัด ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว​ โดยสหประชาชาติประเมินว่า ในปีหน้า 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) และในปี 2573 จะเข้าสู่อย่างเต็มที่ (Super aged society) และในอีก 10 ปี ประชากรและวัยแรงงานของไทยจะลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาระการคลัง และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะมีศักยภาพลดลง

ในส่วนของประมาณการศักยภาพของประเทศ ในแผน 13 (5 ปีข้างหน้า) นั้น​ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของประเทศ หายไปสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท และเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นชนวนสำคัญเร่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าช่วงปกติก่อนโควิด-19 ที่ประมาณการไว้เพียง 3-4 % ซึ่งเป็นเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ทั้งนี้ การจัดทำแผน ฯ 13 ในปี 2565 ที่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวจาก 2.5% เป็น 4.5% จำเป็นต้องเกิดการลงทุนเพิ่มปีละ 6 แสนล้านบาท ซึ่งมีข้อจำกัดแหล่งเงินในการสนับสนุนลงทุนในประเทศ และภาครัฐไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก จึงจำเป็นต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่น เช่น สภาพคล่องส่วนเกินที่มีในระบบ และการเร่งดึงเงินลงทุนจากภาคเอกชน และต่างประเทศ โดยเงินลงทุนในระยะยาวของประเทศต้องดำเนินการอย่างมีระบบในพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพ และจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจน


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top