Thursday, 3 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘นายกฯ’ เล็งปั้น ‘ศุลกากรหนองคาย’ สู่ ‘One Stop Service’ จ่อถกผู้นำลาว เล็งผุด ‘สะพานมิตรภาพ 2’ เชื่อมขนส่งถึงจีน

(29 ต.ค. 66) ที่สำนักงานศุลกากรหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมติดตามประเด็นปัญหาการส่งออก ขั้นตอนพิธีการศุลกากร การค้าชายแดนและการพัฒนา One Stop Service ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสาธารณรัฐประชาชนจีน มีหัวหน้าส่วนราชการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนเดินทางมา จ.หนองคาย เป็นครั้งที่ 2 โดยหนองคาย เป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้เป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์จากไทยไปจีน และจากการพบกับ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงนายกรัฐมนตรีจีน พบว่าต้องการสินค้าการเกษตรอย่างมาก

ดังนั้น เรื่องระบบขนส่งจึงสำคัญ และ จ.หนองคาย ถือเป็นจุดสำคัญที่มีความพร้อมมาก มีนิคมอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมาหยุดแค่ จ.หนองคายหรือฝั่งลาว จึงต้องสร้างสะพานอีกแห่งหนึ่งใน จ.หนองคาย และทำเป็นจุดวันสต็อปเซอร์วิส และอยากให้ศุลกากรเป็นเจ้าภาพเรื่องวันสต็อปเซอร์วิส และใน จ.หนองคาย เป็นต้นแบบแรก

โดยให้ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และตม.หากเราทำให้การค้าขายไม่เดินหน้าจะลำบาก ทั้งนี้ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปพบผู้นำ สปป.ลาว จะพูดคุยในเรื่องทำสะพานมิตรภาพ 2 ในจ.หนองคาย เพื่อให้เราสามารถส่งสินค้าไปถึงจีนได้ ฉะนั้นหน่วยงานในพื้นที่ถ้าติดขัดตรงไหนขอให้บอกมา หากลงทุนแสนล้านแต่ไม่มีความต่อเนื่องในแง่ขนถ่ายสินค้า ลงทุนไปก็จะเสียหายเยอะ

นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้โลกพัฒนาไปมาก ใครจะมาลงทุนต้องดูหลายๆด้าน ถ้าเข้าจะมาลงทุนแล้วติดปัญหาเยอะก็ไม่ดี ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว ไทยขยายได้เยอะ และอยากจะขยายงานแบบนี้ไปอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ตามนโยบายหลักของรัฐบาล ดังนั้น ควรทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อทำให้การท่องเที่ยวเมืองรองดีขึ้น

'อ.พงษ์ภาณุ' เปิด 4 เหตุผล มาตรการแจกเงินดิจิทัลต้องรันต่อ อย่าพะวงเสียงวิจารณ์ ในจังหวะประเทศโตอืดมานาน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 29 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้น่าจะเป็นเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลจะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) และการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็ล้วนไร้เหตุผลที่น่าเชื่อถือและอาจมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง

ทั้งที่ในความเป็นจริง ตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังหดตัว คือ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เพราะโดยปกติสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะเติบโตต่อปีประมาณ 1.5 เท่าของอัตราเติบโตของ GDP แต่หลายเดือนที่ผ่านมาสินเชื่อธนาคารพาณิชย์กลับติดลบแบบ YOY ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่ากลัวมาก ซึ่งผมหวังว่านักวิชาการและธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะหัดดูตัวเลขเหล่านี้บ้าง ยังจะเป็นประโยชน์กว่าไปลอกตำราฝรั่งมา

ฉะนั้น หากมองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าจะจำเป็นหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางเศรษฐกิจ การคลัง และรูปแบบของมาตรการเอง เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาเป็นเวลานาน นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 2540 ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง การปฏิวัติรัฐประหาร รวมทั้งวิกฤตโควิดก็ทำให้ไทยได้รับผลกระทบมากว่าประเทศอื่น แม้ว่าวิกฤตจะผ่านไปแล้วเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้เหมือนประเทศอื่น แนวโน้มระยะข้างหน้าก็ไม่สู้จะดีนัก เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ช่องว่างทางการคลัง (Fiscal Space) ของไทยยังถือว่ามีอยู่ค่อนข้างมาก แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาจะสร้างหนี้สาธารณะไว้เป็นจำนวนมาก แต่ระดับหนี้สาธารณะที่ 62%ของ GDP ก็ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีหนี้เกิน 100% ขึ้นไปทั้งนั้น ส่วนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แม้ว่าจะตึงตัวขึ้นบ้างและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ยังถือว่าตลาดยังเปิดสำหรับการกู้ยืมโดยภาครัฐ ทั้งนี้คำนึงจาก Yield Curve ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และเงินเฟ้อในประเทศที่เข้าใกล้ศูนย์เข้าไปทุกที

รูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ Fiscal Stimulus ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ 4 T ได้แก่ Timely / Targeted / Temporary และ Transparent มาตรการเงินดิจิทัลของรัฐบาลมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ประการ กล่าว คือ...

1) ทันการสามารถอัดฉีดการใช้จ่ายเงินเข้าภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันที ต่างจากข้อเสนอให้ใช้การลงทุนภาครัฐ ที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปีกว่าจะบังเกิดผล 

2) มีเป้าหมายชัดเจน เพราะมุ่งให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคกระจายไปทั่วประเทศและกระตุ้นการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 

3) ชั่วคราว ใช้แล้วจบ ไม่ฝังอยู่ในโครงสร้างทางการคลัง และไม่เป็นภาระการคลังในระยะ และที่สำคัญที่สุด 

4) โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะระบบดิจิทัลจะสามารถแสดงข้อมูลแบบ Online และ Real time เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีสามารถติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลไปพร้อมๆ กับองค์กรตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ

อ.พงษ์ภาณุ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า "ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมแจกทุกคนเหมือนกันหมด อยากเรียนว่ามาตรการนี้ไม่ใช่เรื่องสังคมสงเคราะห์หรือสวัสดิการสังคม แต่เป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ คนไทยทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนก็ได้รับผลกระทบจากโควิดหรือสงครามเหมือนกันหมด และคนไทยทุกคนก็ควรมีโอกาสใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งทรัมป์และไบเดน ก็ได้จ่ายเช็คไปยังทุกครัวเรือนในจำนวนเท่ากันเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นจากโควิดได้อย่างรวดเร็ว"

‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ทุบสถิติ!! ยอดผู้โดยสารพุ่งสูงสุด ตั้งแต่เปิดให้บริการนโยบาย 20 บาทตลอดสายมา

(28 ต.ค.66) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ต.ค.66 ซึ่งเป็นวันศุกร์สิ้นเดือนแรก หลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 16 ต.ค.66 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายสีแดงสูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา โดยมีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,675,588 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

1. รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 81,539 คน-เที่ยว แบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 29,583 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 51,956 คน-เที่ยว 
2. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,594,049 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

- รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 224 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 742,752 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 34,161 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 143 คน-เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ)
- รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 74,208 คน-เที่ยว  
- รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 490 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 27 เที่ยววิ่ง) จำนวน 494,335 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,264 เที่ยววิ่ง จำนวน 869,736 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 219 เที่ยววิ่ง จำนวน 6,911 คน-เที่ยว 
- รถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 41,946 คน-เที่ยว

จากข้อมูลข้างต้น พบว่า ภายหลังจากดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสายสีแดงและสายสีม่วงสูงสุด 20 บาทแบบตลอดทั้งวัน โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค.66 มีประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) จำนวน 34,161 คน-เที่ยว มากที่สุดตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ)  เพิ่มมากขึ้นจำนวน 2,704 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.60 เมื่อเทียบกับวันศุกร์ที่ 20 ต.ค.66 (วันที่ 20 ต.ค.66 ผู้ใช้บริการสายสีแดงนิวไฮก่อนหน้านี้ทั้งหมด 31,457 คน-เที่ยว (รวมทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 139 คน-เที่ยว) และเพิ่มขึ้น 7,887 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.02% เมื่อเทียบกับวันศุกร์สิ้นเดือน ก.ย.66 ก่อนมีนโยบายฯ (ศุกร์ 29 ก.ย.66 สายสีแดงมีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 26,274 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 150 คน-เที่ยว)) เนื่องจากเมื่อวานเป็นศุกร์สิ้นเดือน ประกอบกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตจัดงานเปิดบ้านธรรมศาสตร์ Open house 2023 ระหว่างวันที่ 27-28 ต.ค.66

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (27 ต.ค.66) กระทรวงคมนาคมได้จัดประชุมหน่วยที่เกี่ยวข้องในการทำแผนจัดทำระบบฟีดเดอร์ (feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางป้อนผู้โดยสารให้กับระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ภายหลังจากได้มีการปรับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแล้วพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวทางเพิ่มศักยภาพจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญต่าง ๆ ที่ควรนำมาใช้อำนวยความสะดวก อาทิ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศิริราช ตลอดจนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อไป

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางยังได้มีการติดตามปริมาณผู้โดยสารระบบรางประจำวันอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการประเมินผลหลังปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายสำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม ครบ 1 เดือนและรอบ 3 เดือนต่อไป

ถอดกลยุทธ์ 'ท่องเที่ยวไทย' ยุคดิจิทัล พิชิตเป้า 25 ล้านนักท่องเที่ยว พร้อมวอนคนไทยต้อง Land of Smile ไม่เผลอ Crocodile Smile

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 28 ต.ค.66 ได้พูดคุยกับ คุณนรินทร์ ทิจะยัง ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปี พ.ศ. 2566 โดยมีเนื้อหาดังนี้...

ปีนี้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่ที่ 25 ล้านคน ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยประมาณ 21 ล้านคนแล้ว ซึ่งมีโอกาสเป็นไปตามเป้า 

ส่วนผลกระทบเรื่องสงครามในตะวันออกกลางก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ อาจมีการชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) มีการกระจายความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวไว้หลากหลายตลาด ทั้งในยุโรป, สหรัฐอเมริกา และโดยเฉพาะในตลาดเอเชีย ซึ่งมีการกระจายไว้หลายส่วน 

โดย Top 5 ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย, จีน, เกาหลีใต้, อินเดีย และรัสเซีย ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยเราก็ตั้งเป้าไว้ทั้งปี เฉลี่ย 250 ล้านคน/ครั้ง 

ทั้งนี้ คุณนรินทร์ ได้เล่าถึงในส่วนของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ด้านการท่องเที่ยวไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า...

"ตอนนี้เรามีการวางแผนไว้ทั้ง Before Trip During Trip และ End of trip ซึ่งแต่ละส่วนจะมีเครื่องมือขับเคลื่อน เช่น Before Trip ก็จะมีแพลตฟอร์ม Social Media ที่เป็น Marketing Tools ซึ่งทาง ททท. มีมากถึง 9 แพลตฟอร์ม พร้อมผู้ติดตามรวมแล้วประมาณ 10 ล้าน (Follower) ด้วยการส่งเสริมให้เห็นถึงภาพการเดินทางจริงของนักท่องเที่ยวได้มิติต่างๆ ของไทย 

"ส่วน During Trip คือ ในช่วงระหว่างการเดินทาง ก็จะมีสื่อสังคมออนไลน์คอยให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดการใช้จ่าย ณ แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ 

"และ End of trip คือ เมื่อท่องเที่ยวเสร็จ ก็จะมีการรับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว เป็น Voice Of Social ถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง มีความประทับใจส่วนใดบ้างหรือไม่ เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยวในด้านดิจิทัล คุณนรินทร์ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้...

1.การพัฒนาเครื่องมือทางการตลาดดิจิทัล เช่น ในอนาคตเราเตรียมใช้ Social Listening เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสียงจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกว่าพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างไร ชอบสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนเป็นพิเศษ เพื่อนำมาประมวลผลและทำเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวให้ตรงใจชาวต่างชาติต่อไป

2.การพัฒนาโครงสร้างข้อมูลให้พร้อม โดยเฉพาะ Data นำข้อมูลมาสอนให้พนักงานของ ททท. เข้าใจและใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ มากขึ้น 

3.การพัฒนาองค์กรให้มีสมรรถภาพสูงและมีธรรมาภิบาลด้วย ส่วนของ Smart Data ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจทางหลวง สำนักงานอุตุนิยมวิทยา โดยนำข้อมูลต่างๆ มา ทำให้เกิดข้อมูลพร้อมใช้สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งยังเป็นการรวบรวมข้อมูลทางการตลาดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าร่วมโครงการ เช่น โครงการท้าทาย ของ ททท. ซึ่งรวบรวมข้อมูลในลักษณะ Core Plus ขึ้นมา เพื่อสร้างฐานข้อมูลชุดใหม่เพื่อให้กับนักท่องเที่ยวได้

นอกจากนี้ ยังมองถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการนำ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Technology) มาใช้ตามวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศและส่งมอบคุณค่าที่ดีและพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน โดยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไหนที่มีความสอดคล้องกับการท่องเที่ยว ก็จะถูกเลือกนำมาใช้ เช่น เทคโนโลยีที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวตระหนักถึงการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทราบว่ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นต้น

"อย่างไรก็ตาม อีกเรื่องสำคัญ คือ ต้องขอฝากคนไทยให้ช่วยกันต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้ม มีไมตรีจิต เพราะเราคงไม่อยากให้นักท่องเที่ยวพูดว่า เมื่อก่อนเป็น Land of smile แต่ตอนนี้เป็น Crocodile smile แล้ว ผู้ประกอบการจึงไม่ควรเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว หรือหลอกลวงให้นักท่องเที่ยวซื้อรายการนำเที่ยว สินค้าต่างๆ ในราคาที่สูงเกินจริง เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น" คุณนรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

ส่องแผนแม่บท พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน EEC ถึงเวลาเปิดรับผู้ร่วมทุนรายย่อย 'นานาชาติ' ใต้สิทธิพิเศษแล้ว

(28 ต.ค.66) จากเพจเฟซบุ๊ก 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับแผนแม่บท พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน EEC ที่พร้อมเปิดรับผู้ร่วมทุนรายย่อย นานาชาติ รวมถึงสิทธิพิเศษ EEC สู่ศูนย์เศรษฐกิจใหม่ของไทย ไว้ดังนี้...

วันนี้แวะไปชมเว็บไซต์ ของ UTA ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานสนามบินอู่ตะเภา Terminal 3 และพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลักของการพัฒนา EEC 

>> ลิงก์เว็บไซต์โครงการ : https://www.uta.co.th

โดยในเว็บไซต์ได้มีการเปิดข้อมูล และแผนแม่บทการใช้พื้นที่ของสนามบินอู่ตะเภา ใน 3 ส่วนคือ…

- อาคาร Terminal 3 สนามบินอู่ตะเภา
- เมืองการบินภาคตะวันออก
- พื้นที่คลังสินค้านานาชาติ 

ซึ่งในเว็บไซต์ UTA มีการเปิดให้นักลงทุนรายย่อย เข้ามาร่วมทุนในการพัฒนาเมือง สาธารณูปโภค และการดึงดูดบริษัทมาให้บริการในพื้นที่เมืองการบิน

โดยมีสิทธิพิเศษในพื้นที่เมืองการบิน และ EEC ได้แก่...
- สถานบริการ และสถานบันเทิง 24 ชั่วโมง
- พื้นที่ปลอดภาษี (Free Trade Zone)
- พื้นที่ให้บริการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี
- การบริการพิธีการศุลกากร ด้วยระบบพิเศษ
- ขยายมูลค่าการซื้อสินค้า เข้า-ออก จากเขตระหว่างประเทศ
- ให้สิทธิพิเศษด้านการขอสิทธิ์การทำงาน (Work Permit)
- สิทธิพิเศษด้านภาษี ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล

ความคืบหน้าล่าสุด!!
- มีการส่งมอบพื้นที่เพื่อเริ่มก่อสร้าง (NTP) ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566!!
- เปิดให้บริการพื้นที่พาณิชยกรรม ในปลายปี 2569

ผมไม่ค่อยห่วงกับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน เป็นโครงการที่มีขอบเขตชัดเจน และทหารเรือเป็นผู้ส่งออกให้

แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญและยังสรุปรายละเอียดไม่ลงตัว คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการปรับแก้ไขสัญญา 

หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเร่งการเจรจาและจบได้ภายในปี 2566 เพื่อให้เดินหน้าได้ในปี 2567

‘พิมพ์ภัทรา’ ลงพื้นที่ชลบุรี เร่งหารือพัฒนาภาคอุตสาหกรรม หวังปั้นเมืองชลฯ สู่เมืองเศรษฐกิจชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน

(27 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอจ.ชลบุรี) พร้อมหารือแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีนางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม, นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (หน.ผตร.อก.), นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเตมีย์ พันธุ์วงค์ราช ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือ และมีนางสาวอังศุมาลิน ฉัตรสุวรรณวารี อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (อสจ.ชลบุรี), นางสาวภารดี เสมอกิจ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรม รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 (ศภ.9) ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สอจ.ชลบุรี และ ศภ.9 และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอท.ชลบุรี) ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ชั้น 7 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 จังหวัดชลบุรี

อสจ.ชลบุรี ได้รายงานว่า จังหวัดชลบุรี มีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 4,248 โรงงาน อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ แหลมฉบัง ปิ่นทอง ดับบลิวเอชเอ และปิ่นทอง (แหลมฉบัง) จำนวน 1,099 โรงงาน นอกนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 3,149 โรงงาน มีวิสาหกิจชุมชน จำนวน 620 กลุ่ม มี OTOP จำนวน 1,395 ราย มีเหมืองแร่ในจังหวัดได้ประทานบัตร 31 แปลง เปิดการทำเหมือง 22 แปลง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิต หินปูน และอยู่ระหว่างต่ออายุ 6 แปลง หยุดการทำเหมือง 3 แปลง

นอกจากนี้ สอจ.ชลบุรี ได้รายงานแนวทางปฏิบัติงานภายใต้นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) MIND ใช้ ‘หัว’ และ ‘ใจ’ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ ที่ทันสมัย และเป็นสากล ซึ่งจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีนักลงทุนชาวต่างชาติ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป มาลงทุนเป็นจำนวนมาก และได้ดำเนินงานโครงการต่างๆ เช่น โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว, โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมในภูมิภาค, โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และได้มีการจัดทำระบบ LINE Open Chat เป็นกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SME ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 1,800 ราย เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

ด้านนายณัฏฐ์ธน สารทจีนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี ‘เมืองเศรษฐกิจชั้นนำอาเซียน นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า แลนด์มาร์ก การท่องเที่ยว สังคมคุณภาพ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน’ การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG และ ESG ของจังหวัดชลบุรี ในด้านยุทธศาสตร์ทางจังหวัดได้ตั้งเป้าในลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดลงร้อยละ 16 ผ่านการดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งจังหวัด โดยเฉพาะแสงสว่าง ปรับเปลี่ยนพลังงานเป็นพลังงานสะอาด จัดรูปแบบการขนส่งและการขนส่งสาธารณะ แบบ multimodal transportation โครงการปลูกป่า 1 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 1 ป่า 1 ไร่ ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ได้มีการตั้งค่าเป้าหมายระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับที่ 5 ภายในปี 70

ทั้งนี้ สอท.ชลบุรี มีข้อเสนอในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี ดังนี้

1.) ส่งเสริมให้มีนิคมอุตสาหกรรมของรัฐฯ เนื่องจากราคาที่ดินในการนิคมของภาคเอกชนมีราคาค่อนข้างสูงเป็นอุปสรรคปัญหาของนักลงทุนที่ต้องการสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

2.) ต่อยอดพัฒนาเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านเทคโนโลยี เงินทุนหมุนเวียน และการตลาด ซึ่งการต่อรองกับผู้ประกอบการที่เป็นแบรนด์ของสินค้าให้มีการเลือกใช้ผู้ประกอบการไทยเป็นหลัก

3.) การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางพี่ช่วยน้อง (big brother) ในการช่วยบริหารจัดการแบบมีผลประโยชน์ร่วมกัน

4.) การพัฒนาการตรวจประเมินรับรองและสร้างมาตรฐาน เรื่อง Carbon Neutrality เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

5.) การพัฒนาฝีมือแรงงานภาคอุตสาหกรรมและการยกระดับฝีมือแรงงานตามคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งยังไม่ตรงเป้าหมายตามความต้องการ

6.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีวัตถุดิบภายในประเทศ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย พืชสมุนไพร เป็นต้น

นอกจากนี้ ทาง สอท. ยังได้เพิ่มเติมในเรื่อง FTA (Free Trade Area) เขตการค้าเสรี ซึ่งเป็นการทำความตกลงทางการค้าของประเทศ โดยขอให้มีการเปิดเขตการค้าเสรีให้มากยิ่งขึ้น ควรมีการพัฒนากฎหมายให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และภาครัฐควรมีการรวบรวมฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลมาพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันนี้ได้รับทราบข้อเสนอแนะของทางภาคเอกชน และจะนำข้อเสนอแนะของท่านไปหารือกับคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้งหรือน้ำหลาก มีนโยบายเตรียมการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาว

และสุดท้ายนี้ ขอให้กำลังใจพี่ๆ น้องๆ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกท่านไม่ว่าจะเป็น สอจ.ชลบุรี ศภ.9 สอท.ชลบุรี ที่ปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ให้กับ อก. หรือการบริหารจัดการความขัดแย้งระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มาก ขอเป็นตัวแทนของ อก. ขอบคุณทุกท่านที่เสียสละ และสนับสนุนในทุกๆ กิจกรรมของกระทรวง

หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีฯ ได้เยี่ยมชมบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด (เครือสหพัฒน์) ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค แบบครบวงจร โดยมีนายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวรจักร สถาพรภิญโญ นายอำเภอศรีราชา และคุณสายชล ศีติสาร กรรมการบริหารการผลิต บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ

'สุริยะ' เผย 'สนามบินเชียงใหม่' พร้อมเปิดให้บริการ 24 ชม. รองรับ นทท. ตามนโยบาย 'Quick-Win' เริ่ม!! 1 พ.ย.นี้

(27 ต.ค. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการอำนวยความสะดวกการเดินทางและรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) อาทิ นักท่องเที่ยวจีน ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายวีซ่าฟรี รวมถึงรองรับนักท่องเที่ยวจากยุโรปและประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น (Quick-Win) ของรัฐบาลนั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จึงเตรียมเปิดดำเนินการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง (ชม.) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป จากเดิมเปิดดำเนินการทำการบิน 18 ชม. หรือตั้งแต่เวลา 06.00 - 24.00 น. เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และเที่ยวบินที่จะเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามสำหรับเที่ยวบินแรกที่จะเริ่มทำการบิน ภายหลังท่าอากาศยานเชียงใหม่เปิดดำเนินการ 24 ชม. นั้น คือ สายการบินไทยเวียตเจ็ท เที่ยวบินที่ VZ822 เส้นทางเชียงใหม่ - โอซาก้า ออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ เวลา 00.30 น. ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 (คืนวันที่ 31 ตุลาคม 2566) เดินทางถึงท่าอากาศยานคันไซ (โอซาก้า) เวลา 07.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่น)

ขณะเดียวกันยังได้สั่งการให้ ทอท. หารือร่วมกับสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดตารางการบินให้เหมาะสม และเกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด และให้ดำเนินการเป็นไปตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งให้มีมาตรการในการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม ให้ ทอท. จัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอีกครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ให้เตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในทุกมิติ เช่น สถานที่ บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น อีกทั้งให้ประสานระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรับ - ส่งนักท่องเที่ยว เข้าไปยังที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ตามนโยบาย “Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน” ขณะเดียวกัน มอบหมายให้ ทอท. พิจารณาจัดสรรพื้นที่ในท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนฯ นำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อเปิดให้บริการ 24 ชม. นั้น ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สายการบิน และผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้ครอบคลุมเวลาเปิดให้บริการ โดยคาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย จะมีเที่ยวบินและผู้โดยสารเส้นทางระหว่างประเทศของท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปัจจุบันมีผู้โดยสารระหว่างประเทศเฉลี่ยประมาณ 4,800 คนต่อวัน มีเส้นทางระหว่างประเทศ 20 เส้นทาง และมีเที่ยวบินระหว่างประเทศขาเข้าและขาออก (เที่ยวบินปกติ - เที่ยวบินพิเศษ) รวม 36 เที่ยวบินต่อวัน

อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก ดังนั้น การขยายเวลาการเปิดให้บริการของท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็น 24 ชม. ถือเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดด้านเวลาที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว รองรับเที่ยวบินระยะกลางหรือระยะไกล ที่ใช้เวลาบินออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่หลังเวลา 24.00 น. เพื่อไปถึงประเทศปลายทางในตอนเช้า รวมถึงเป็นการเพิ่มตารางการบิน (Slot) และเที่ยวบิน ให้สายการบินมีทางเลือกในการจัดตารางการบินด้วย

‘ผู้แทนการค้าไทย’ หารือความร่วมมือฯ ทูต ‘กลุ่มประเทศเบเนลักซ์’ หวังเจาะตลาดยุโรปเพิ่ม ผลักดันเอฟทีเอ ‘ไทย-อียู’ สำเร็จใน 2 ปี

(27 ต.ค. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงการหารือกับเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ประจำประเทศไทย นางซีบีย์ เดอ การ์ตีเย ดีฟว์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียม, นายแพทริก เฮมเมอร์ เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์ก และนายเร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายและแนวทางยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศไทย กับสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป ที่เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ไม่รวมอาเซียน โดยการค้ารวมมีมูลค่า 41,038.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 6.95% ของการค้าไทยในตลาดโลก

นางนลินี กล่าวว่า การเจรจาความตกลงฯ ไทย-สหภาพยุโรป หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 ต่อมาเดือน มี.ค. 2566 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันประกาศเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยวางแผนว่าจะจัดการประชุมปีละ 3 ครั้ง ตั้งเป้าเบื้องต้นเพื่อหาข้อสรุปการเจรจาภายใน 2 ปี โดยเริ่มเจรจารอบแรก ณ กรุงบรัสเซลล์ เมื่อวันที่ 18 - 22 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยการเจรจาเป็นไปด้วยดี และเราหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนการเจรจา เพื่อให้สามารถสรุปผลและบังคับใช้ได้โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ด้วย และไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจารอบต่อไปในเดือน ม.ค. 2567

นางนลินี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า รัฐบาลมีแนวทางสร้างรายได้โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มสหภาพยุโรป และมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายข้อตกลงสีเขียว (EU Green Deal) ของสหภาพยุโรป ที่ต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ทันสมัย ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2030 และลดเป็นศูนย์ภายในปี 2050

ทั้งนี้ ไทยคาดหวังว่าจะมีการพูดคุยและร่วมมือเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรการ การรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการไทยในการส่งสินค้าออกไปยังสหภาพยุโรปต่อไป

‘กรมทรัพย์สินทางปัญญา’ ขึ้นทะเบียน ‘มังคุดทิพย์พังงา’ เป็นสินค้า GI มุ่งจัดระบบควบคุมคุณภาพสินค้า-สร้างมูลค่าเพิ่ม-ดึงรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

(26 ต.ค. 66) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียน ‘สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์’ หรือ ‘GI’ เพื่อคุ้มครองสินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกทั้งยังเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ ‘มังคุดทิพย์พังงา’ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพังงา ที่มีการเพาะปลูกกันมาอย่างยาวนาน มีชื่อเสียงและมีผลผลิตจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น จีน เวียดนาม เป็นต้น สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนกว่า 280 ล้านบาท

‘มังคุด’ ถือเป็นราชินีแห่งผลไม้เมืองร้อน รสชาติอร่อย เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยชื่อ ‘ทิพย์พังงา’ มีความหมายว่า ‘ผลไม้ของเทวดาที่มีรสเลิศจากจังหวัดพังงา’ มีลักษณะเด่นคือ เป็นมังคุดพันธุ์พื้นเมือง ผลทรงกลม เปลือกค่อนข้างหนา แห้ง แตกลาย เนื้อสีขาว หนานุ่ม ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา ซึ่งสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชัน ดินระบายน้ำดี อีกทั้งลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ทำให้จังหวัดพังงามี 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน

ด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ประกอบกับกระบวนการปลูกมังคุดของเกษตรกรชาวพังงาที่เน้นการดูแลรักษาแบบธรรมชาติ จึงเกิดเพลี้ยไฟในช่วงออกดอกและติดผลอ่อน มีผลดีคือ ทำให้โครงสร้างของผิวเปลือกเปลี่ยนแปลง มีรอยแยกระหว่างเซลล์เกิดเป็นช่องว่างบนผิว ทำให้ผิวของผลมังคุดส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลาย ระบายน้ำในผลออกมาได้ดี ส่งผลให้เนื้อมังคุดสีขาว แห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ และเปลือกมังคุดค่อนข้างหนาทำให้เนื้อมังคุดไม่ช้ำง่าย

‘มังคุดทิพย์พังงา’ ถือเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัดพังงา ต่อจากทุเรียนสาลิกาพังงา และข้าวไร่ดอกข่าพังงาที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า และสนับสนุนช่องทางการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอเชิญชวนทุกท่านติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว และร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้า GI ได้ที่ Facebook Page : GI Thailand หรือโทรสายด่วน 1368

‘นายกฯ’ ปักหมุดไทยศูนย์กลางผลิตรถ EV - ชิ้นส่วนในอาเซียน พร้อมหนุนสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เฟส 2

(26 ต.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถึงเรื่องการเร่งเครื่องลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งแบบสันดาปและอีวี ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็นเบอร์ 1 ที่มีโรงงานผลิตรถยนต์อีวี และมีอัตราการใช้รถอีวีที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด ซึ่งตนได้ให้ความมั่นใจกับนักลงทุนในสหรัฐฯ ไปว่า มีการสนับสนุนการประกอบรถยนต์อีวีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ทราบว่าสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจะให้ได้นานขนาดไหน ซึ่งไทยจำเป็นต้องดูแลพาร์ตเนอร์เก่ารายใหญ่ที่สุดในรอบ 50-60 ปี คือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรถแบบสันดาป แต่ก็กำลังค่อย ๆ เฟดลงไป

ส่วนการขับเคลื่อนโครงการสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ที่เป็นสนามทดสอบสมรรถนะและความเร็วของรถซึ่งสร้างที่จังหวัดฉะเชิงเทราไปแล้วเฟสแรก เพื่อรองรับ จะสนับสนุนการลงทุนในเฟสที่ 2 ต่อหรือไม่ อย่างไรนั้น นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดของโครงการนี้ จึงต้องขอดูเรื่องก่อน แต่ยืนยันว่า ถ้าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้นก็พร้อมสนับสนุน

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยดำเนินอยู่บนพื้นที่ 1,235 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการลงทุนของภาครัฐทั้งหมดภายใต้กรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท  

ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการ พบว่าได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 55% ใช้งบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินประมาณ 1,667.69 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 หากแล้วเสร็จสมบูรณ์ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียนและอันดับที่ 11 ของโลก

ล่าสุดทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดให้มีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา 1 สนาม ได้โดยมีข้อมูลอยู่ในระบบอีบิดดิ้ง มีผู้แข่งขัน 2 รายและมีผู้รับการคัดเลือก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทผู้รับคัดเลือกมีราคาต่ำสุด อยู่ที่ 844,230,000 บาท  

โดยคาดว่าจะมีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ชนะการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้ ให้สามารถดำเนินโครงการในแต่ละระยะให้แล้วเสร็จทั้งโครงการและเปิดใช้บริการได้ในปี 2569 ตามกรอบเวลาของโครงการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top