Sunday, 28 April 2024
ECONBIZ NEWS

'เทสลา' ตั้งเงื่อนไข ลงทุนไทย ต้องได้ที่ดิน 2 พันไร่แปลงเดียว ด้าน 'เศรษฐา' มอบ 'รมว.ปุ้ย' ถกผังเมืองอุตฯ เอื้อลงทุน

(12 มี.ค. 67) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า เมื่อไม่นานมานี้ นายเศรษฐา ได้สั่งการให้ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าหารือเพื่อแก้ปัญหาผังเมืองอุตสาหกรรมไม่เอื้อการลงทุนอย่างจริงจัง พร้อมให้หารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อปลดล็อกอุปสรรคครั้งนี้ เพราะจากตัวเลขการลงทุนปี 2566 ที่เติบโตต่อเนื่องถึงปีนี้ จากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตลอดจนยอดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยอดเช่า/ซื้อที่ดินของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน ที่เป็นผลจากการเคลื่อนย้ายลงทุน และรัฐบาลนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐบาลออกไปชักจูงการลงทุนในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน 

ล่าสุดได้รับเสียงสะท้อนจากนักลงทุนจำนวนมากแต่ผังเมืองภาคอุตสาหกรรมของไทยที่พบปัญหาไม่เอื้อต่อการลงทุน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา

“ตัวอย่างนักลงทุนที่ร้องเรียน อาทิ ญี่ปุ่นที่มีที่ดินติดปัญหาเคยมีลำน้ำสาธารณะที่ปัจจุบันไม่มีน้ำแล้ว นักลงทุนเสนอขุดลำน้ำให้ใหม่แต่ชุมชนไม่ยอม นอกจากนี้ยังพบว่า เทสลา ต้องการที่ดินลงทุนผลิตรถอีวีจำนวนมากถึง 2,000 ไร่ แต่ผังเมืองไม่เอื้อ” รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ปลายปีที่ผ่านมา เทสลาได้เข้ามาดูพื้นที่ลงทุนในไทย หลังนายเศรษฐา โรดโชว์สหรัฐอเมริกา และได้เชิญชวนเทสลาเข้ามาลงทุน โดยเงื่อนไขการลงทุนของเทสลาคือ ต้องใช้พื้นที่ลงทุน 2,000 ไร่ เป็นผืนเดียวกัน แต่พื้นที่ลงทุนของไทยในนิคมฯ ไม่เพียงพอ ทั้งของ กนอ.และนิคมฯเอกชน เพราะปกติการจัดตั้งนิคมฯ จะใช้พื้นที่ประมาณ 1,000-2,000 ไร่ และการลงทุนจะใช้หลักร้อยไร่ต่อราย อาทิ บีวายดี ใช้ 600 ไร่จึงสามารถหาได้ทันที

รายงานข่าวระบุว่า เบื้องต้นมีรายงานเทสลากำลังพิจารณาที่ดินย่านลาดกระบัง 2,000 ไร่ แต่ไม่ใช่นิคมฯ จึงต้องดูว่าจะปิดดีลได้หรือไม่ และพื้นที่ดังกล่าวจะไม่เกิดปัญหาผังเมืองตามมา

'อ.อุ๋ย-ปชป.' วอนรัฐสนับสนุนวิชาชีพช่างแว่นตา ชี้!! สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาท

(12 มี.ค. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กทม. เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็น ว่า...

"วันนี้สวมหมวกที่ปรึกษากฎหมายของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ บรรยายหัวข้อ 'กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับช่างแว่นตา' ซึ่งจัดโดยชมรมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาแห่งประเทศไทย

"วิชาชีพช่างแว่นหรือช่างวัดสายตาประกอบแว่น (optician) เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของวิชาชีพทางด้านจักษุ ซึ่งได้แก่ จักษุแพทย์ นักทัศนมาตร และช่างแว่น ซึ่งต้องทํางานสอดประสานกันเพื่อเติมเต็มบริการสาธารณสุขทางด้านจักษุ ปัจจุบันตลาดแว่นตาไทยมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท มีร้านแว่นตาทั่วประเทศกว่า 20,000 ร้าน และเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% 

"จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐควรเข้ามากํากับดูแลเพื่อรักษามาตรฐาน และยกระดับ/พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการของกิจการแว่นตาไทย สร้างมูลค่าเพิ่มและ productivity เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สําคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

"ปัจจุบันร่างกฎกระทรวงกำหนดให้กิจการตรวจวัดสายตาประกอบแว่นเป็นกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ....ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งหากประกาศใช้แล้วจะยกระดับมาตรฐานวิชาชีพช่างแว่นให้เทียบเท่าสากล พัฒนากลไกเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานะต่างๆตามกฎหมายซึ่งนําไปสู่การสนับสนุนในรูปแบบอื่น ๆ จากภาครัฐต่อไปในอนาคต ผมจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกอบวิชาชีพนี้และผู้บริโภคครับ"

‘รมว.ปุ้ย’ มอบนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ขับเคลื่อน SMEs ไทย ฟาก ‘SME D Bank’ ขานรับ ชู ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ วงเงินกู้สูงสุด 50 ลบ.

(11 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ว่า ได้มอบนโยบายการทำงานแก่คณะกรรมการ และคณะผู้บริหาร SME D Bank ให้เดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับ Thailand Vision ที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใน 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์-สุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่ง ยานยนต์อนาคต ดิจิทัล และการเงิน โดยให้บริการด้านการพัฒนาควบคู่กับการให้สินเชื่อ พร้อมเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ขอให้ SME D Bank นำแนวทาง ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ มายกระดับขั้นตอนการทำงาน หมายถึง รื้อ ลด และปลด สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี พร้อมกับสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น การพัฒนาศูนย์ One Stop Service สำหรับให้บริการกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการ และมุ่งสู่การเป็น Digital Banking โดยสมบูรณ์ 

นอกจากนี้ ธนาคารจะต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูล Data Warehouse และระบบ Core Banking System (CBS) ที่ธนาคารพัฒนาขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์ วิจัย และประมวลผลให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (SME Insight) สำหรับกำหนดเป็นนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีต่อไป

นอกจากนั้น SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ จะต้องวางภาพลักษณ์องค์กรเป็น Professional Banking มีวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นมืออาชีพ

“ดิฉันมั่นใจในศักยภาพของ SME D Bank และยินดีที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของ SME D Bank ในทุกมิติ เพื่อให้ SME D Bank เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สามารถช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพแก่เอสเอ็มอีไทย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ประชาชนมีรายได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งต่อประโยชน์ไปยังทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมขานรับดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านกระบวนการ ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ ช่วยเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยด้าน ‘การเงิน’ จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท 

นอกจากนั้น ยังเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่อนนานพิเศษสูงสุด 15 ปี และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน ช่วยลดภาระทางการเงิน อีกทั้ง ใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ขณะเดียวกัน พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง 

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา SME D Bank ดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สามารถพาเข้าถึงแหล่งเงินทุนกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้กว่า 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีกว่า 75,000 ราย อีกทั้ง ช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท

ส่วนด้าน ‘การพัฒนา’ ยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอี ผ่านโครงการ SME D Coach ที่เชื่อมโยงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 50 แห่งมาไว้ในจุดเดียว เน้นเติมความรู้ใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การตลาด 2.มาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ 3.เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.การเงิน เขียนแผนธุรกิจ บัญชี ภาษี 5.การผลิต และ 6.บ่มเพาะเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน 

ทั้งนี้ SME D Bank ยังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล แก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบให้แก่ประชาชนและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มรหัส 21 (วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 10 ล้านบาท และเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566) ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น พักชำระหนี้เงินต้น 1 ปี อีกทั้ง ระหว่างพักชำระเงินต้นจะได้ลดดอกเบี้ย 1% ต่อปี 

นอกจากนั้น ยกดอกเบี้ยผิดนัดให้ทั้งหมด และหากปิดบัญชี ลดดอกเบี้ยค้างให้ 100% เป็นต้น สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2568 ณ สาขา SME D Bank ที่ใช้บริการสินเชื่อ

สำหรับปีนี้ (2567) SME D Bank ยังเดินหน้ากระบวนการ ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ พร้อมยกระดับนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการเอสเอ็มอีได้คลอบคลุม และกว้างขวางยิ่งขึ้น ได้แก่ ระบบ Core Banking System (CBS) ที่สามารถให้บริการทางการเงินได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง และแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. ช่วยเติมศักยภาพให้เอสเอ็มอีสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

‘กสิกรไทย-อินโนพาวเวอร์’ เตรียมเปิดแพลตฟอร์ม REC  หนุนรายย่อยสร้างรายได้จากการใช้ ‘โซลาร์รูฟท็อป’

‘ธนาคารกสิกรไทย’ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ ‘อินโนพาวเวอร์’ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านพลังงาน เปิดตัวแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) สำหรับองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทย เตรียมเปิดแพลตฟอร์มให้บริการในไตรมาส 2 ปี 67 ช่วยให้ลูกค้ารายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถขอและขายใบรับรอง REC ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย และส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนในประเทศ

(11 มี.ค. 67) ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสนับสนุนหลากหลายรูปแบบภายใต้แนวคิด Go Green Together 

โดยความร่วมมือกับ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดระบบนิเวศสีเขียวที่ยั่งยืน (Green Ecosystem) ผ่านการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในภาคประชาชน ถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะมีช่องทางการให้บริการที่ง่ายและสะดวกในการขึ้นทะเบียน REC และทำการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนผ่านบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด จากที่ผ่านมาจะเป็นการขึ้นทะเบียนให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย 

โดยคาดว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยจุดกระแสให้ประชาชนทั่วไปหันมาผลิตและใช้พลังงานสะอาดผ่านการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้สำเร็จ

ทั้งนี้ ธนาคารได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลในการพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้กับโครงการฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ 

1.) ให้บริการยืนยันตัวตนและนำส่งข้อมูลประกอบการขึ้นทะเบียน REC
2.) ออกแบบ UX/UI และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสาระสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟสมัครใช้บริการขึ้นทะเบียน REC 
3.) ให้บริการ Cash Management ซึ่งเป็นการพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่เชื่อมต่อระหว่างธนาคาร อินโนพาวเวอร์ และลูกค้าที่ขาย REC ให้มีรูปแบบการชำระเงินที่เหมาะสม ปลอดภัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้รายย่อย และสร้างประสบการณ์ที่ดีในการรับ-จ่ายเงิน

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “อินโนพาวเวอร์ เป็นผู้ให้บริการจัดหาและซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ครบวงจรอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้บริการกับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยเข้าไปช่วยรวบรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าระดับรายบุคคลและองค์กรรายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดกำลังการผลิตไม่ถึง 500 กิโลวัตต์ โดยผู้ผลิตเหล่านี้มีเป็นจำนวนมากและตลาดโซลาร์รูฟท็อปมีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 26% บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนา REC Aggregator Platform ผ่านการรวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลการขึ้นทะเบียน REC เพื่อช่วยผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยสามารถยื่นขอใบรับรอง REC ได้สะดวกขึ้น และอำนวยความสะดวกในการนำ REC ที่ออกและได้รับการรับรองไปจำหน่ายแก่ผู้รับซื้อ 

โดยนอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถขาย REC เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังช่วยกระตุ้นให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในตลาดเติบโตยิ่งขึ้น และยังช่วยให้องค์กรและประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) อย่างเป็นรูปธรรม

ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) คือใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่สามารถซื้อขายได้ เพื่อยืนยันที่แหล่งผลิตว่ามาจากพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, น้ำ และลม เป็นต้น การซื้อขายใบรับรองมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดย REC สามารถนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ในกิจกรรมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า (Scope 2: Indirect Emission) 

'EGCO Group' แต่งตั้ง 'กัมปนาท บำรุงกิจ' ดำรงตำแหน่ง 'รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่'

(11 มี.ค. 67) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ประกาศแต่งตั้ง นายกัมปนาท บำรุงกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานปฏิบัติการ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ และทำหน้าที่รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดย่อย ได้แก่ กรรมการลงทุน กรรมการกำกับความเสี่ยง และกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าคณะกรรมการบริษัทจะแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่

ทั้งนี้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการกำกับความเสี่ยง ซึ่งจะมีผลในวันที่ 14 มีนาคม 2567 แต่ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการลงทุน และกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืนของบริษัท

‘เอแบค’ โพลชี้ ชาวเจน Z กว่า 73.2% ชอบการไหว้ขอพร เผย ทำแล้วสบายใจ-ได้ผลทันตาเห็น

(9 มี.ค.67) Business Tomorrow สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ทำการสำรวจ AU Poll เรื่อง 'เส้นทางสายมูของ GEN Z' จากนักศึกษาปริญญาตรีทั่วประเทศ จำนวน 950 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2023 พบว่า ชาวเจน Z ถึง 73.2% เป็นชาวสายมู หรือชื่นชอบการขอพรหรือเสริมดวง โดยพบอีกว่า 77.4 % ชอบดูดวง ลายมือ ไพ่ยิปซี 72.5 % ชอบการอธิษฐานขอพร และ69.6 % ชอบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่าง ๆ

การมูเตลูสำหรับคนรุ่นใหม่ถือเป็นสิ่งที่พบเห็นและเข้าถึงง่ายเพราะ 37.0% เห็นข้อมูลเกี่ยวกับการมูเตลูจากแหล่งต่าง ๆ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเห็นทางช่องทางโซเชียลมากที่สุดถึง 86.2%

ทั้งนี้ยังเป็นกิจกรรมสานสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนได้ดี เพราะ ส่วนใหญ่ที่เข้าวงการมูเตลู 60.0 % เพราะเพื่อนพามู โดยเรื่องที่ชาวเจน Z จะขอพรนั้น เรื่องการเรียนมีมากถึง 73.7% รองลงมาคือ เรื่องการเงิน 60.7%

จำนวนเม็ดเงินรายหัวต่อครั้งอยู่ที่ 300-400 บาท โดยตลาดการมูเตลูของชาวเจน Z ส่วนใหญ่นั้น พบว่า 28.2% จะมูอย่างน้อยปีละครั้ง ในขณะที่ 20.7% มู 2-3 เดือนต่อครั้ง และ 16.4% ที่มูอย่างน้อยเดือนละครั้ง ทำให้ถือเป็นตลาดที่มีการเข้ามาใช้จ่ายได้ในทุก ๆ เดือน ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องมูนั้นคือ ความสบายใจที่ได้รับถึง 66.7% ในขณะที่ 20.1% ที่เห็นผลในทางบวก เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

‘โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ’ เดินหน้าช่วยสังคมไทยระลอกใหม่ มอบ 100 ล้านสานฝันเด็กไทย ผ่าน ‘Aerosoft Give Scholarships’

จากรายการ The Tomorrow มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 9 มี.ค.67 ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ใจดีของสังคมไทย คุณโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ แอโร่ซอฟ (Aerosoft) ซึ่งมาเผยถึงผลสำเร็จของโครงการสนับสนุนการศึกษาเด็กไทยทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Aerosoft Give Scholarships มอบทุน 100 ล้าน สานฝันให้เด็กไทย’ ซึ่งเป็นโครงการมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์กีฬาให้แก่ 1. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 2. ศึกษาพิเศษ 3. ศูนย์ศึกษาพิเศษ และ 4. ศึกษาสงเคราะห์ ทั่วประเทศ รวม 2,549 โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567

คุณโกมล เผยถึงรายละเอียดด้วยว่า ทุนที่มอบให้ในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย มอบเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดี / ความประพฤติดี ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3-5 โรงเรียนละ 6 ทุน ทุนละ 5,000 บาท (ระดับชั้นละ 2 คน ชาย 1 คน หญิง 1 คน) มอบทุนสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียน ทุนละ 5,000 บาท และมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่โรงเรียน โรงเรียนละ 5,571 บาท เป็นทุนที่มอบให้ในลักษณะให้ฟรี โดยไม่มีพันธะผูกมัดใด ๆ

“การมอบทุน 100 ล้านบาท จาก Aerosoft เพื่อสนับสนุนการเด็กไทยทั่วประเทศในครั้งนี้  มีแนวคิดมาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ผมมองเห็นว่าเด็กนักเรียนในชนบทจำนวนมาก เป็นเด็กที่เรียนดี เป็นเด็กที่เก่ง เพียงแต่พวกเขามักจะขาดแคลนทุนทรัพย์กันพอสมควร ผมจึงมองว่าเงินตรงนี้ สามารถปรับเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาที่จะช่วยให้พวกเขานำไปต่อยอดโอกาสในการเรียนและสร้างขวัญกำลังใจให้พวกเขาได้มากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการมอบอุปกรณ์เครื่องกีฬาที่มีการแจกให้กับโรงเรียนต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกายและห่างไกลจากยาเสพติด” คุณโกมล กล่าว

เมื่อถามถึงการขยายโครงการการมอบทุน ‘Aerosoft Give Scholarship’ เพิ่มเติมในอนาคต? คุณโกมล เผยว่า ขอประเมินผลจากการดำเนินงานในครั้งนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ส่วนตัวมีแนวคิดว่าจะเพิ่มทุนให้กับนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์จริงๆ อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

“ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ อยากฝากหลานๆ ทุกคนให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียรในการศึกษา เพราะความรู้เท่านั้นที่จะนำพาเราสู่อนาคตที่ดีได้ ที่สำคัญอย่าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การพนันออนไลน์ ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งกล้าปฏิเสธไม่ทำในสิ่งที่ผิด แล้วนำความรู้จากการศึกษาเล่าเรียนไปพัฒนาตัวเอง เมื่อมีหน้าที่การงานที่ดีจะได้กลับมาตอบแทนพระคุณพ่อแม่ได้ในอนาคต” คุณโกมล เสริม

เมื่อถามถึงเหตุผลว่า ทำไม คุณโกมล และ Aerosoft ในช่วงระยะหลังจึงออกมาช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2020 (EURO 2020) ให้คนไทยได้ดูฟุตบอลยูโรฟรีๆ การบริจาคเงิน 100 ล้านบาท และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลศิริราช ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และยังได้ดำเนินงานด้านงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อแก้ปัญหา พร้อมยกระดับวงการข้าวไทยครบวงจร ภายใต้มูลนิธิรวมใจพัฒนา เป็นต้น? คุณโกมล บอกว่า... 

“ผมแค่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมไม่ได้หวังผลตอบแทนใดกลับคืนครับ แต่ผมตั้งใจอยากตอบแทนบุญคุณคืนแก่แผ่นดินของเรา ผมคิดแค่นั้น ฉะนั้นถ้ามีโครงการในรูปแบบใดที่จะช่วยเหลือสังคมและประเทศได้ ผมก็จะลงมือช่วยทันที อย่างในอนาคตอันใกล้นี้ก็มีการคิดจะสร้างโรงพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลในบ้านเรายังขาดแคลนอยู่มาก”

‘พีระพันธุ์’ เข้ม!! กฟผ. ร้อนนี้ไฟฟ้าห้ามดับ พร้อมรณรงค์ชวนคนไทยร่วมยึดหลัก 5 ป.

8 มี.ค. 67 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ ได้มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2567 เมื่อเวลา 19.47 น. ที่ 32,704 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากฤดูร้อนที่เริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และคาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยอาจจะสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้มีการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เกิด Peak เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. ที่ 34,826 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตรวจสอบและดูแลระบบการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อมิให้กระทบต่อประชาชนและการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมออกนโยบาย 5 ป. ได้แก่ ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน ปลูก ซึ่งประกอบด้วย…

1. ปิด : การปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน
2. ปรับ : ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศา
3. ปลด : ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังการใช้งาน
4. เปลี่ยน : หากมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5
5. ปลูก : ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน

“ผมได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมในการดูแลเรื่องการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในทุกภาคส่วน และจะต้องไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเกิดขึ้น

ในปีนี้ คาดว่าอุณหภูมิจะร้อนมากกว่าปีที่แล้ว จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าผ่านนโยบาย 5 ป. เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าลง ซึ่งนอกจากจะสามารถลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมได้แล้ว ยังสามารถลดค่าไฟฟ้าของประชาชนได้อีกด้วย

และในช่วงหน้าร้อนนี้ ขอเชิญชวนให้ทุกบ้านล้างแอร์ เพื่อให้แอร์สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ก็จะสามารถลดค่าไฟไปได้อีกทาง” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘กกพ.’ เปิด 3 แนวทางค่าไฟงวดใหม่ สูงสุด 5.44 ต่ำสุดตรึงไว้ที่ 4.18 เท่าเดิม

(8 มี.ค. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 ประกอบด้วย

กรณีที่ 1 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดในงวดเดียว แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียวหรือ 146.03 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น >> 5.4357 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ภายใน 4 งวดๆ ละ จำนวน 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น >> 4.3405 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ. เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวดๆ ละ จำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น >> 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวข้างต้น ยังไม่รวมเงินภาระคงค้างค่าก๊าซที่เกิดจากนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจที่นำเข้าก๊าซเรียกเก็บราคาค่าก๊าซเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 คงที่ตามมติ กพช. จึงมีส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ (AF Gas) โดยภาระดังกล่าวยังคงค้างที่ ปตท. (เฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ) เป็นจำนวนเงิน 12,076 ล้านบาท และยังคงค้างที่ กฟผ. เป็นจำนวนเงิน 3,800 ล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย ปตท. และ กฟผ. นำค่าประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้จัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้ในการประมาณการค่าเอฟทีรอบคำนวณเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค. - ส.ค.2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารอบ พ.ค - ส.ค.2567 ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนราคา LNG ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลทำให้ราคาประมาณการ Pool Gas ลดลงจาก 333 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็น 300 ล้านบาทต่อล้านบีทียู

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแหล่งเอราวัณจะมีแผนทยอยปรับเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 400 เป็น 800 ล้านลูกบากฟุตต่อวันในเดือน เม.ย.2567 แต่ประมาณการปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับเดิมหรือลดลงเล็กน้อย

อีกทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเมียนมายังมีแนวโน้มที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเสริมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายและเสริมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันและในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง

“กกพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป” นายคมกฤช กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ยัน!! ‘ก.อุตฯ’ เร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ กรณีไฟไหม้โกดังลักลอบเก็บสารเคมี อยุธยา พร้อมสั่งลงโทษผู้กระทำผิด

เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายวันมูหะหมัด นอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยนางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ สมาชิสภาผู้แทนราษฎร จ.พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นกระทู้สดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีเพลิงไหม้ของเสียอันตรายที่ลักลอบเก็บในโกดัง อ.ภาชี จ.อยุธยา ทั้งในส่วนของการนำของเสียไปกำจัดบำบัด บทลงโทษ การเยียวยา และการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงว่า...

นับตั้งแต่กระทรวงฯ ตรวจพบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในโกดังและบริเวณโดยรอบพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการยึดอายัดของเสียอันตรายในโกดังดังกล่าว จำนวนกว่า 4,000 ตัน รวมทั้งยึดอายัดรถบรรทุกและรถแบคโฮที่ใช้ในการลักลอบขนถ่ายของเสียอันตรายไว้เป็นของกลาง พร้อมทั้งดำเนินคดี และสั่งการเจ้าของที่ดิน ผู้เช่าที่ดิน ผู้ขนส่ง และผู้ลักลอบนำของเสียอันตรายมาเก็บไว้ที่โกดังดังกล่าว อีกทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด สั่งปิดโรงงานและเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานของบริษัทเอกชนสองรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเมื่อปี 2566

ภายหลังจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในบริเวณโกดังหลังที่ 1 และ 2 จากทั้งหมด 5 โกดัง มีของเสียอันตรายถูกเพลิงไหม้จำนวน 13 กระบะ และรถบรรทุกของกลางถูกเพลิงไหม้จำนวน 1 คัน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยภายหลังจากการควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังจุดความร้อนและตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยรอบสถานที่เกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน พบว่า คุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป มีค่าไม่เกินมาตรฐาน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศอย่าต่อเนื่อง รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังไม่ให้เหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นอีก จึงขอให้พี่น้องประชาชนโดยรอบในพื้นที่ดังกล่าว มีความมั่นใจได้ว่าสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

ส่วนสาเหตุของการเกิดเหตุเพลิงไหม้พบหลักฐาน เช่น ขวดและถังใส่น้ำมัน พร้อมธูปและระเบิดปิงปองในพื้นที่เกิดเหตุหลายจุด เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่ามีผู้ไม่หวังดีกระทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้โดยสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการสืบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนโดยรอบพื้นที่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของของเสียอันตรายไม่ให้มีการกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมในทันที จากนั้นจะทำการจำแนกของเสียทั้งหมด เพื่อนำของเสียอันตรายในส่วนที่ถูกเพลิงไหม้และของเสียที่มีการรั่วไหลหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนไปกำจัดบำบัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการก่อนโดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 

สำหรับการกำจัดบำบัดของเสียอันตรายที่เหลือทั้งหมดในโกดังและพื้นที่โดยรอบ และการทำการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ จากการประเมินคาดว่าต้องใช้งบประมาณอีกกว่า 50 ล้านบาท เพื่อนำของเสียอันตรายทั้งหมดที่เหลือไปกำจัดบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยภายหลังจากการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดคืนจากบริษัทและผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดต่อไป

“ดิฉันขอให้พี่น้องประชาชนโดยรอบในพื้นที่ดังกล่าวมีความมั่นใจได้ว่า สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ กระทรวงฯ มีนโยบายให้ความสำคัญและมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการลักลอบกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงานทั้งระบบ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ยกระดับปรับแก้กฎหมายโดยการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ กำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานจนกว่ากากอุตสาหกรรมจะได้รับการกำจัดบำบัดจนแล้วเสร็จ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังเร่งปรับแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรงงานในหลายประเด็น  ได้แก่...

(1) การเพิ่มบทกำหนดโทษให้มีการจำคุกและการปรับในอัตราสูง แก่ผู้ที่กระทำความผิดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้อายุความในการดำเนินคดีเพิ่มขึ้น จากเดิมมีอายุความเพียง 1 ปีเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าที่กระทำผิด 

(2) การเพิ่มฐานอำนาจให้สามารถสั่งการให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยเป็นปกติ ซึ่งปัจจุบันหากสั่งปิดโรงงานแม้จะมีผลให้โรงงานถูกเพิกถอนใบอนุญาตแต่การสิ้นสภาพการเป็นโรงงานจะทำให้ไม่สามารถถูกสั่งการตามกฎหมายโรงงานได้อีกต่อไป 

และ (3) การจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการป้องกันการแพร่กระจายของมลพิษโดยเร่งด่วนได้ ตลอดจนป้องกันหรือยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายในทันที จนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว  

“ในนามของกระทรวงอุตสาหกรรม ดิฉันมีความห่วงใยพี่น้อง และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดชุดเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นซ้ำอีก พร้อมจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top