Saturday, 23 September 2023
ECONBIZ NEWS

‘EA’ คว้ารางวัลใหญ่ ‘Corporate Excellence Award’ จาก ‘APEA 2023’ ตอกย้ำ ‘ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด’

EA ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด คว้ารางวัลใหญ่ ‘Corporate Excellence’ Category-Energy ในเวทีระดับสากล Asia Pacific Enterprise Awards (APEA) แห่งปี 2023 เชิดชูเกียรติกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ในฐานะองค์กรที่เป็นเลิศด้านการบริหารงานและสร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง จัดโดย Enterprise Asia Enterprise Asia ซึ่งได้คัดเลือกองค์กรที่มีผลงานดีเด่นในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนทั่วภูมิภาคเอเชีย

นายวสุ กลมเกลี้ยง Executive Vice President บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า EA มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยรางวัล Corporate Excellence Award APEA 2023 เป็นอีกหนึ่งรางวัล สะท้อนถึงการที่บริษัทฯ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการองค์กรที่ดีเลิศ มีพัฒนาองค์กรการเติบโตที่มั่นคงแข็งแกร่งและยั่งยืน การันตีความสำเร็จของกลุ่ม EA จากการขับเคลื่อนองค์กรด้วยการนำเทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรมด้วยฝีมือคนไทยในด้านพลังงานสะอาด สู่เวทีระดับสากล

โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้น มีรากฐานจากกลยุทธ์การบริหารธุรกิจแบบ ‘Green Produt’ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมในทุกมิติด้านพลังงานสะอาด ทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน ที่มีการวิจัยและพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันสู่ผลิตภัณฑ์ Biodiesel, Glycerin, Green Diesel และ Bio-PCM ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานจากลม (Wind) และแสงอาทิตย์ (Solar) กำลังการผลิต 664 เมกะวัตต์ (MW) ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจที่จะยกระดับนวัตกรรมฝีมือถือคนไทยสู่ระดับนานาชาติ 

โดย EA มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจร โดยมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) กำลังผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ต่อยอดสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบวงจรกำลังผลิตสูงสุดที่ 9,000 คันต่อปี อีกทั้งธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere มีสถานีชาร์จไฟฟ้าให้บริการทั่วประเทศกว่า 500 สถานี หรือกว่า 2,500 หัวชาร์จ ทั้งยังมีอาคารจอดรถ ‘รามาธิบดี-พลังงานบริสุทธิ์’ อาคารต้นแบบด้านการจัดการพลังงานสำหรับการชาร์จแห่งแรก ที่มีหัวชาร์จมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ EA ยังเดินหน้าพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) ซึ่งสามารถเพิ่มตู้แบตเตอรี่แยก (Power Car)  เพิ่มระยะทางการวิ่งรวมแบตเตอรี่ขนาด 4.1 MWh วิ่งได้ระยะกว่า 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ พร้อมมีการพัฒนาสถานีชาร์จขนาดใหญ่แห่งแรกของโลก 

“EA พร้อมจะขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม สร้าง Champion Product : Commercial EV ยกระดับขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวก สบายและทันสมัย ทั้ง รถ-เรือ-ราง ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ และด้วยกลยุทธ์บริหารธุรกิจ EA Ecosystem จะเป็นกุญแจสำคัญให้อุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve ได้เติบโตพร้อมกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานสะอาด สร้างโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมให้ประเทศ ด้วยผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ภาคภูมิใจ” นายวสุกล่าวทิ้งท้าย

JKN ส่อผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 443 ล้านบาท เตรียมขอผ่อนผันชำระ หลังครบกำหนด 1 ก.ย.นี้

JKN เผยไม่สามารถหาแหล่งเงินชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หุ้นกู้ รุ่น JKN239A มูลค่า 609 ล้านบาท แต่มียอดค้างชำระ 443 ล้านบาท ครบกำหนด 1 ก.ย.นี้ จ่อเปิดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 29 ก.ย.นี้ ขอมติผ่อนผันจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ป้องกันปัญหาผิดนัดชำระหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ

บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ว่า ตามที่หุ้นกู้ของบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2563 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2566 (หุ้นกู้รุ่น JKN239A) ถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ในวันที่ 1 กันยายน 2566 จำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 609,981,369.6 บาท 

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวได้โดยบริษัทจะชำระเงินต้นบางส่วนจำนวน 146,618,630.14 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 9,981,369.86 บาท รวม156,600,000 บาท ในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ (1 กันยายน 2566) โดยคงเหลือยอดค้างชำระจำนวน443,400,000 บาท 

จึงไม่เป็นไปตามข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ สำหรับ หุ้นกู้ของบริษัท เจเคเอ็นโกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2563 ครบกำหนดไถ่ ถอนปี 2566 ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ภายใต้โครงการตราสารหนี้ (Medium Term NoteProgram)  ปี พ.ศ. 2563 วงเงินหุ้นกู้ทั้งสิ้นไม่เกิน 2,500,000,000 บาท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง (Revolving Basis) (ซึ่งรวมถึงการเพิ่มวงเงินเสนอขาย (ถ้ามี) ที่ได้มีการเปิดเผยเพิ่มเติมในแบบ 69-Supplement) (ข้อกำหนดสิทธิ)

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวข้างตัน ส่งผลให้บริษัทจะต้องมีการดำเนินการตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิก่อน ได้แก่ (1) ผู้ออกหุ้นกู้ได้รับการร้องขอเป็นหนังสือจากผู้ถือหุ้นกู้ไม่ว่ารายเดียวหรือหลายรายที่ถือหุ้นกู้หรือถือหุ้นกู้รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอนทั้งหมด หรือ (2) มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ให้ถือว่าบริษัทตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และให้หุ้นกู้ถึงกำหนดชำระโดยพลันในการนี้ 

บริษัทได้จัดเตรียมแผนการชำระหนี้ตามหุ้นกู้รุน JKN239A โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน 2566 ต่อไป เพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้พิจารณาอนุมัติ (1) แผนการชำระเงินตัน และดอกเบี้ยหุ้นกู้การแก้ไขเปลี่ยนปลงข้อกำหนดสิทธิ รวมถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้อง และ (2) การขอผ่อนผันให้การผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ และ ไม่เรียกชำระหนี้ตามหุ้นกู้โดยพลัน(Call Default) หากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ บริษัทเชื่อมั่นว่า บริษัทจะสามารถเสนอเงื่อนไขในการชำระเงินตันและดอกเบี้ยตามแผนที่กำหนดไว้ได้

ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจถึงการผิดนัดชำระเงินต้น ดังกล่าว โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้พิจารณาสรรหาแหล่งเงินทุนหลากหลายวิธีการ อย่างไรก็ตาม การเจรจากับผู้ร่วมทุนของบริษัทไม่เป็นไปตามที่บริษัทคาดหวัง ในการนี้บริษัทยืนยันและรับรองว่า บริษัทมีความตั้งใจและขอให้ความเชื่อมั่นว่าบริษัทมีเจตนาที่จะชำระคืนเงินดัน และดอกเบี้ยทั้งหมดของหุ้นกู้รุ่น JKN239A รวมถึงหุ้นกู้ใด ๆ ของบริษัททั้งหมด โดยบริษัทจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

‘ปาริน นาคเสน’ ชี้ ธุรกิจสตาร์ตอัปไทยรอวันเจ๊ง เหตุหาเงินทุนหนุนยาก หลัง Investor เริ่มไม่เชื่อมั่น

ปาริน นาคเสน CEO & Founder OneDee.ai โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "สิ้นสุดยุค Startup เมื่อ Startup หมดมนต์ขลัง"... ถามว่าทุกวันนี้ หลายคนยังเชื่อในคำว่า Startup อยู่ไหมนะ? ด้วยกระแสที่ผู้ก่อตั้ง Startup ระดับโลกเป็นข่าวเรื่องหลอกลวงอย่าง Theranos และอีกหลายๆ เจ้าในระดับโลก แต่ในไทย กลับไม่เป็นข่าว กลายเป็นแค่เรื่องซุบซิบนินทา กันเฉพาะคนวงใน กันบางกลุ่มแค่นั้น .. 

ถามว่า Startup เป็นเรื่องหลอกลวงหรือไม่ .. โดยหลักการแล้วมันไม่ใช่เรื่องหลอกลวง มันมีแนวคิดที่ดี วิธีการที่ดี แต่ตัวคนต่างหาก ที่เอากระแสมาใช้ประโยชน์จนมันฉิบหายเป็นโดมิโนกันอยู่ทุกวันนี้ .. เอาเป็นว่า สรุปความฉิบหาย กันเป็นเรื่องๆ ละกัน

จุดเริ่มต้นจากนักเรียนนอก มาเผยแพร่ Startup ในไทยจากเด็กจบนอกไปทำงานบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ ออกมาทำ Startup ในอเมริกา เจ๊งภายใน 3 เดือน ซมซานกลับมาเมืองไทย เป็นผู้บุกเบิก Startup ในไทย ทุกคนชื่นชมเป็นกูรู กูรู้ ประหนึ่ง เคยทำ Startup สำเร็จมาก่อน ... สร้าง Community และมีสื่อที่เป็น Connection ในมือ แม้แต่ผมก็อดชื่นชม ติดตามไปด้วย จริงๆ ก็น่าชื่นชมนะครับ เพราะก็ช่วยให้หลายๆ คนลืมตาอ้าปากได้ รวมถึงผมด้วย แต่แค่กระดุมเม็ดแรกก็ไม่น่ารอดแล้ว สุดท้ายก็เป็นการ Leverage จาก Connection กันเอง สื่อพวกเดียวกัน ก็ยกหางกันเอง

คำว่าการลงทุน Startup ต้องดูที่ Founder!!! ซึ่งมันก็จริง แต่สำหรับเมืองไทยคือ มรึงลูกใคร.. บ้านรวยไหม มีชื่อเสียงหรือป่าว อยู่ค่ายไหน มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Halo Effect (ไปหาอ่านกันเอาเอง ) เอาสั้นๆ ก็คือเกิดความลำเอียงในใจนั้นแหละ ประเภทเขาหน้าตาดี ชาติตระกูลดี คนรู้จักเยอะ น่าจะเก่ง แล้วก็จบลงด้วยคำพูดหล่อๆ ว่า เราลงทุนเพราะ Founder ครับ เอาจริงๆ คือเพราะก็แค่ พวกเดียวกัน ช่วยกันต่อยอดก็แค่นั้นแหละ สาสสส.. 

ถามว่าทุกวันนี้ ชั้นแนวหน้าที่บอกว่าเป็น Idol startup อยู่ไหนกันหมดล่ะ แมร่งก็โดดออกกันไปหมดแล้ว เอาชื่อเสียงต่อยอด ไปเป็นผู้บริหาร Corporate ยักษ์ใหญ่บ้างล่ะ แม้แต่ระดับ Idol startup ไทย แตกบริษัทแล้ว แตกบริษัทอีก ยอดขายยังแพ้ SME ที่ทุกวันนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วอย่างเช่น MEB ... แต่กับ Startup Idol ได้รับเงินลงทุนหลายร้อยล้าน ไปอยู่ไหนกันหมดล่ะ?

สื่อ Startup ในไทยก็ขยัน "making stupid people famous" กันจัง เพียงเพราะก็สนิทชิดเชื้อกันเอง สรุปในไทยอาจจะใช้ Connection กันพร่ำเพรื่อเกินไป จนมองข้าม Skill จริงๆ กันไป โดยที่พวกเขาก็ไม่รู้ตัวกันเท่าไหร่ เพราะ Halo effect ยิ่งเป็นคนฉลาด ยิ่งสามารถหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองจนปฏิเสธไม่ได้นั่นแหละ

เรื่องต่อมา แนวคิดการทำธุรกิจในไทย ที่คิดว่า มีเงินทำได้ทุกอย่าง และต้องการควบคุมความเป็นเจ้าของสูง ผมได้ยินคำ ๆ นึงจนอยากจะอ๊วก คือ แอพแค่นี้ พี่ไปจ้างโปรแกรมเมอร์ แค่ สามสี่แสน ก็ได้แล้ว ไม่เห็นต้องลงทุนกับน้องเลย หรือบริษัทพี่มี Dev เป็นร้อย ทำเองก็ได้... ผมก็ได้นึกในใจว่า แล้วที่ผ่านมา .. พวกมรึงทำเหี้ยไรกันอยู่อะ?.. แล้วสุดท้ายผ่านไปเป็นปี กูก็ไม่เห็น Corporate ที่ว่า ทำเสร็จนะ มี Dev เป็นร้อยไอ้สัส..

หรือคำพูดแบบว่า เนี่ย พี่เคยลงทุนกับ Startup แล้ว คนนั้นคนนี้ แนะนำมา ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร มันก็วนกลับมาเรื่องเดิม ใคร? แนะนำพี่อะ กลุ่มไหน สุดท้ายก็กลุ่มข้างบนนั่นแหละ ก๊วนเดียวกัน พวกเดียวกัน หลอกแดกเงิน Investor ล๊อตแรกกันจนอิ่ม... ได้กันเป็น สิบล้านร้อยล้าน ทำห่าไรไม่ได้สักอย่าง.. ผลมันก็มาตกกับรุ่นหลังๆ ก็จะเจอคำว่า เมื่อก่อนพี่เคยลงทีเดียว เป็นสิบๆ ล้าน เด่วนี้พี่ไม่เชื่อละ อะ ลงล้านเดียวพอนะ ไปทำมาให้ Success นะน้อง เดฟแอพยังไม่เสร็จดี ค่า Marketing ไม่ต้องพูดถึง ไม่พอแดกหรอก..

ธุรกิจแบบ Startup สุดท้ายมันก็กึ่งๆ เป็น Money game ที่อาศัยปัจจัยทั้งด้านนวัตกรรม และการทุ่มตลาด การที่ระดมทุนไม่ได้มากพอ มันก็เหมือนเบี้ยหัวแตก การได้เงินไม่มากพอ ในการแข่งขันที่สูง ก็ยากละที่จะเดินในวิถี Startup ยิ่งช่วงหลังๆ Corporate ต่างๆ ก็เอาเงินไปจ้าง Dev เป็นร้อยมาวิ่งเล่นในออฟฟิศ กูจะจ้างคนละเจ็ดแปดหมื่นอะ ทำไมอะ กูรวย

CVC คือความฉิบหายของ Startup ไทย.. เอาพนักงานประจำที่ไม่เคยทำธุรกิจห่าอะไร มาตัดสินอนาคตธุรกิจ Startup มันจะได้อะไรไหมอะ? ความจริงใจของ CVC ไทยที่ลงทุนแค่จะเอาหน้า หรือแค่ต้องการซื้อตัว Dev ไปเป็นลูกจ้าง ส่วน Product ก็เอาไปเผาทิ้ง ถามว่า ทุกวันนี้มี CVC ไหนในไทยยัง Active อยู่เหรอ บาง CVC ถึงขนาดเอาเงินมาจ้าง Dev เอง แล้วบอก Dev จะเอาแบบ Startup เจ้านั้นเจ้านี้ แล้วก็บอก กูเป็น Incubator 

รวมถึงนักลงทุนที่ตั้งตัวเป็น Investor ออกข่าว ออกสื่อ แต่ผ่านไป 3 ปี ไม่เคยลงทุนห่าอะไร ตอบหล่อๆ ว่า พอดียังไม่เจอ Startup ที่ใช่ .. เอาจริงๆ มรึงว่าง... แค่จะเอาป้าย Investor มาแปะหน้า แล้วก็เดินหล่อๆ ในงาน ให้ Startup ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ไปยกมือไหว้ปะหลกๆ ทุกวันนี้หายไปไหนหมดอะ บางคนยังออกสื่อ เป็นไลฟ์โค้ชสบายๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยลงเหี้ยไรเลย งงไหมล่ะ

หลายคนบอกว่า Startup สมัยนี้ เน้นความยั่งยืน ต้องมีรายได้จริง ลูกค้าจริง ค่อยๆ โต... ... มรึง SME ไอ้สัส... 
ตอนต่อไป Startup หนีตาย ไปทำคริปโต เร็วกว่า แรงกว่า เชี่ยกว่า ทะลุนรก..

ชวนคิด!! 'ผู้ปกครอง-นักศึกษา' ศึกษาตลาดงานยุคใหม่ 'สายอาชีพ' ไม่เป็นรองใคร หลัง 'ลุงตู่' ปูทาง EEC ไว้ระยะยาว

(30 ส.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Sappaisansook Yodmongkhol' โดยนายยอดมงคล ทรัพย์ไพศาลสุข ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสายวิชาชีพที่ควรเรียนและไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป ว่า...

จากมาตรการไทยแลนด์ 4.0 ในรัฐบาลลุงตู่ ทำให้ในส่วนภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถเป็นอย่างมาก รัฐบาลที่ผ่านมา แม้แต่ลุงตู่เองก็พยายามสนับสนุนให้เยาวชนหันมาเรียนทางด้านสายอาชีพมากขึ้น ซึ่งพยายามสนับสนุนผลักดันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว หลายคนก็ยังดูถูกดูแคลนวิสัยทัศน์ สุดท้ายจบมาตกงาน เพราะไม่เชื่อที่ลุงแนะนำ 

คนไทยยังติดยึดกับค่านิยมเดิม ๆ ที่ชอบเรียนสายสามัญมากกว่า เพื่อไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในปัจจุบันมีหลายสาขาอาชีพที่มีบุคลากรล้นเกิน จึงเกิดปัญหาเรื่องของการว่างงาน โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ ดังนั้นผู้ปกครองกับเยาวชนควรต้องวางแผนการศึกษาต่อให้ดี มองไปให้ถึงการประกอบอาชีพในอนาคต ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลือกเรียนในสาขาอาชีพที่ขาดแคลนบุคลากร จบการศึกษามาแล้ว ก็จะหางานทำได้ง่าย ๆ สบาย ๆ

งานด้านสายอาชีพในปัจจุบัน ไม่สามารถดูถูกดูแคลนได้เลย บางครั้งสามารถทำงานหาเงินได้มากกว่าสายสามัญที่จบมาเสียอีก ผู้ปกครองควรมองสายอาชีพเป็นทางเลือกของบุตรหลานท่านบ้าง โดยดูตามความชอบ ศักยภาพ อาชีพที่จะทำเมื่อจบการศึกษามาแล้ว ความพร้อมของท่านและบุตรหลานไปพิจารณาประกอบด้วยครับ

‘กรมวิชาการเกษตร’ เร่งยกระดับ ‘สมุนไพรไทย’ สู่มาตรฐาน GAP ป้อนอุตสาหกรรม ‘อาหาร-เวชสำอาง’ สร้างรายได้เกษตกรยั่งยืน

จากกระแส รักสุขภาพ (Health Conscious) ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ แนวทางขับเคลื่อนพืชสมุนไพรเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566-2570 โดยมีเป้าหมายเร่งการส่งเสริมการแปรรูปพืชสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่าสู่ ‘อาหารสุขภาพและอาหารสัตว์สมุนไพร’ ที่หลากหลาย เช่น อาหารฟังก์ชัน, อาหารใหม่ (Novel Food) อาหารนวัตกรรมใหม่ (innovative food) อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) และอาหารอินทรีย์

นอกจากนี้ภาครัฐเร่งส่งเสริมการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะหลังโควิด-19 ด้วยพืชสมุนไพร อาโวคาโด เป็นต้น การส่งเสริมการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อป้อน ‘โรงงานสกัดสารมูลค่าสูง’ ในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ผ่านการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้วหลายโครงการ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ร่วมไปถึง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพืชสมุนไพรสู่ ‘อุตสาหกรรมอาหารสัตว์สมุนไพร’ ล้วนส่งผลให้มีความต้องการวัตถุดิบพืชสมุนไพรจำนวนมาก พืชสมุนไพรมีการปลูกมากถึง 1.15 ล้านไร่ แต่ผ่านการรับรองมาตรฐานเพียง 6.4 หมื่นไร่ หรือ 5.6% ทำให้มาตรฐานการผลิตสินค้าพืชสมุนไพร ยังไม่ตอบสนองของอุตสาหกรรม เกิดปัญหาด้านคุณภาพที่หลากหลาย ล้วนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์

‘กรมวิชาการเกษตร’ เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ทำการวิจัยพืชสมุนไพรและเครื่องเทศเศรษฐกิจมากกว่า 20 ชนิด เพื่อให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐาน GAP พืชอาหาร (มกษ.9001-2556) เดิมมุ่งพัฒนาด้านเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ยกระดับคุณภาพและปลอดโรค รวมทั้งยังได้รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยจากทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 200 ชนิด

ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร เร่งวิจัย เพื่อยกระดับพืชสมุนไพรสู่มาตรฐานใหม่ GAP พืชสมุนไพร (มกษ.3502-2561) ตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข 11 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน บัวบก กระชายดำ มะขามป้อม ฟ้าทะลายโจร พลูคาว ว่านหางจระเข้ หญ้าหวาน มะแขว่น กระดอม และจันทน์เทศ (แผนแม่บทว่าด้วยสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1) รวมถึงศึกษากระตุ้นการเพิ่มสารสำคัญในกล้วยไม้สมุนไพรไทยและการเพาะเลี้ยงรากของตังกุยและโสมให้ได้ สารจินเซนโนไซด์ ในห้องปฏิบัติการแทนการปลูกในแปลง

ในอนาคต (ปี 2568-2570) กรมวิชาการเกษตรจะเร่งวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP พืชสมุนไพร อีก 4 ชนิด ได้แก่ กระชาย ไพล เพชรสังฆาต และมะระขี้นก (แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2) และเร่งสร้างชุดเทคโนโลยีการผลิตพืชสมุนไพรเชิงอุตสาหกรรม 3 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน บัวบก และว่านหางจระเข้

ทั้งนี้ งานวิจัยพัฒนาพืชสมุนไพรของกรมวิชาการเกษตร จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกร / ภาคเอกชน สามารถผลิตวัตถุดิบสมุนไพรได้ตาม มาตรฐานสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia) ยกระดับทั้งปริมาณผลผลิตและปริมาณสารสำคัญให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์ ปลอดภัยจากสารพิษและโลหะหนัก เป็นผลผลิตที่เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรมการแปรรูป เช่น ยาสมุนไพร อาหารเสริมสุขภาพ เวชสำอาง และต่อยอดสู่อาหารและอาหารสัตว์สมุนไพร ซึ่งจะสร้างอนาคตที่สดใส และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่เกี่ยวเนื่องอย่างยั่งยืน

INTERLINK ประกาศกร้าว!! ขอสร้างการเติบโตยั่งยืน แม้ผลัดใบรัฐบาล ชู!! 'สินค้าดี-บริการเยี่ยม-ราคาเป็นธรรม' นำธุรกิจเอื้อผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม

(29 ส.ค.66) นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ได้เผยถึงพันธสัญญาของ INTERLINK ต่อทุกผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศธุรกิจของบริษัท ถึงการเปลี่ยนผ่านขั้วรัฐบาลใหม่ ว่า...

“ตลอดระยะเวลา 2-3 อาทิตย์นี้ ถ้าไม่พูดถึงรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะตั้ง ก็ดูจะเชยและไม่ทันสถานการณ์   แต่เนื่องจากผมเป็นประธานกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ซึ่งต้องนำพาธุรกิจของกลุ่มให้เติบโตต่อเนื่องและยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใคร หรือใครจะเข้ามาบริหารกระทรวงต่าง ๆ”

“ทั้งนี้ เป้าหมายที่กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ต้องทำ คือดำเนินการให้ผลประกอบการ สามารถเติบโตต่อเนื่อง ทั้งรายได้และกำไร ตามที่ได้สัญญาไว้กับนักลงทุน”

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า “ผมอยากจะบอกข่าวสำหรับธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ เพราะตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา มีสัญญาณที่ส่งให้ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ขายดี เป็นเทน้ำเทท่า (พนักงานบอก) เริ่มจากการจัด Mid Year Sales ที่ผลปรากฏว่าสินค้าที่เตรียมไว้ ได้รับการตอบรับอย่างเกินความคาดหมาย เป็นผลให้ทีมโลจิสติกส์ และทีมจัดส่ง ไม่มีวันได้หยุดพักเลย ต้องจัดส่งทุกวันทั้งในกรุงเทพและในทุก ๆ ภูมิภาค” 

"อีกทั้งเผอิญบริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้าของประเทศไทยรายใหญ่มีปัญหาไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามกำหนด ดังนั้น INTERLINK จึงเกิดปรากฏการณ์ส้มหล่น สินค้าสายสัญญาณและสายคอนโทรล ขายดีจนขาดตลาด อาทิ สาย Sola Cable, สายโทรศัพท์, สาย Security and Control, สาย CVV, สาย THW-F เป็นต้น ซึ่งโรงงานของ ILINK พร้อมที่จะผลิตสินค้าเหล่านี้เข้ามาทดแทนตลาดที่ขาดหายไป”

นายสมบัติ กล่าวทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “คาดว่าใน 3 เดือนข้างหน้านี้ ผลิตภัณฑ์สายสัญญาณและสายคอนโทรลของ ILINK จะได้เป็นทางเลือกใหม่ภายใต้สโลแกน 'สินค้าคุณภาพ ราคาถูกกว่า และบริการที่ดีกว่า' แน่นอนครับ”

‘บางจาก’ ตั้งโต๊ะซื้อ ‘เอสโซ่’ หุ้นละ 9.89 บ. ทยอยเปลี่ยนป้ายปั๊ม 1 ก.ย. ปิดตำนาน 129 ปี

ภายหลัง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัทได้ดำเนินการในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO โดยได้ตกลงราคาซื้อขายสุดท้ายตามสัญญาซื้อขายหุ้นที่ได้ลงนามไป เมื่อ 11 ม.ค. 66 ในสัดส่วน 65.99% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด (หรือราว 2.28 พันล้านหุ้น) จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ESSO บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอเชีย โฮลดิ้ง พีทีอี แอลทีดี (ExxonMobil) 

ล่าสุดได้กำหนดราคาสุดท้ายเสร็จสิ้นเมื่อ 25 ส.ค. 2566 ที่ราคา 9.8986 บาทต่อ หุ้น โดย BCP จะชำระค่าหุ้นสามัญจำนวน 2.28 พันล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 65.99% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ ESSO คิดเป็น มูลค่ารวมราว 2.26 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 31 ส.ค. 2566 นี้ ถือเป็นการเปลี่ยน อำนาจควบคุม

จากนั้น ทาง BCP จะดำเนินการเข้าทำคำเสนอหุ้นที่เหลือของ ESSO สัดส่วน 34.01% (หรือราว 1.18 พันล้านหุ้น) ในช่วงต้นเดือน ก.ย. 66 ในราคาเดียวกันที่ 9.8986 บาทต่อหุ้น และคาดการทำ tender จะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. 66 และหากว่าtender ได้ไม่ครบจำนวน ก็ไม่มีแผนที่จะซื้อเพิ่มในตลาดฯ ให้ครบ เพราะสัดส่วนหลัก 65.99% ใน ESSO ก็ถือว่ามี อำนาจควบคุมแล้ว

ทั้งนี้ หลังควบรวมกิจการเรียบร้อย จะส่งผลให้บางจากจะส่งผลให้กำลังการกลั่น เพิ่มขึ้นเป็น 2.94 แสนบาร์เรลต่อวันจากปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นโรงกลั่นที่ขนาดกำลังการผลิตที่ใหญ่ ที่สุดในประเทศไทย และจะส่งผลให้ธุรกิจ การตลาด (Retail Marketing) ขึ้นอยู่ในอันดับ 2 ในส่วนของส่วนแบ่งการตลาด

และตั้งแต่ 1 ก.ย. 66 เป็นต้นไป จะเริ่มทยอยเปลี่ยนป้ายปั๊ม ESSO จำนวน 780 สถานี เป็น บางจากทั้งหมด โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งจะทำให้บางจากมีปั๊มน้ำมันรวมกว่า 2,100 สถานี

มั่นใจ!! 'แลนด์บริดจ์' พาไทยสู่จุดศูนย์กลางของโลกในการขนส่งสินค้า ลดต้นทุนมหาศาล ผ่านเส้นทางเดินเรือใหม่ จูงใจเหล่าผู้ประกอบการ

(28 ส.ค. 66) จากเฟซบุ๊ก 'KUL' โดย กุลวิชญ์ สำแดงเดช ผู้ดำเนินรายการ Ringside การเมือง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ระบุว่า...

แลนด์บริดจ์
ได้ คุ้ม เสีย

โครงการแลนด์บริดจ์ คือ ภาคต่อของการขุดคอคอดกระ หรือคลองไทย สร้างเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ ที่แม้ว่า ไทยจะได้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การสัญจรทางเรือ จะเปลี่ยนมาใช้ช่องทางนี้ แทนช่องแคบมะละกา

แต่ชัดเจนว่า ทำไม่ได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องความมั่นคง จากการแยกไทยเป็น 2 ส่วน และเรื่องสิ่งแวดล้อม จากการ ปล่อยกระแสน้ำจากอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ไหลมาบรรจบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์มหาศาล

ที่สุดแล้วโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ จึงถือเกิดขึ้น

แลนด์บริดจ์ คือ การสร้างเส้นทางสัญจรจากฝั่งอันดามัน ไปฝั่งอ่าวไทย พร้อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกด้าน Logistic อย่างเต็มรูปแบบ

มีความพยายามหาพื้นที่ในการสร้างมาอย่างยาวนาน กระทั่งมาเคาะว่าสมควรจะเป็น คือ บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู (หน่วยนับขนาดตู้คอนฯ ขนาด 20 ฟุต/20 ฟุต = 1 TEU) รวมถึงแนวเส้นทางการพัฒนาระบบเชื่อมโยง ระยะทาง 93.9 กิโลเมตร (กม.) โดยเป็นระยะทางบนบก 89.35 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือระนอง 2.15 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือชุมพร 2.48 กม.

ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน (1.435 เมตร) รองรับการขนส่งสินค้า และรางขนาด 1 เมตร เพื่อเชื่อมการเดินทางขนส่งผู้โดยสารในโครงข่ายรวมของประเทศอีกด้วย โดยมีรูปแบบทั้งทางยกระดับ ทางระดับพื้น และอุโมงค์ จำนวน 3 แห่ง

หลักการง่าย ๆ คือ เมื่อเรือมาเทียบที่ท่าฝั่งอ่าวไทย ก็จะขนไปขึ้นเรือที่รออยู่ฝั่ง อันดามัน (หรืออันดามัน ไป อ่าวไทย) ในเวลาที่รวดเร็ว

หากทำสำเร็จ จะเป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลกในการขนส่งสินค้า และจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ ที่มีแรงจูงใจผู้ประกอบการ คือ ลดระยะเวลาการขนส่งเส้นทาง จากที่ผ่านช่องแคบมะลากาจาก 9 วัน เหลือ 5 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุน และเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางมหาสมุทรอินเดีย ไปยังทะเลจีนใต้ ซึ่งสามารถกระจายสินค้าไปได้ทั่วโลก

จะเป็นการขนส่งสินค้า ระหว่างสหภาพยุโรป, ตะวันออก, อินเดีย, บังกลาเทศ, เวียดนาม, จีน โดยลูกค้าหลัก จะเป็นเรือสินค้า ฟีดเดอร์ ขนาด 5,000-6,000 ทีอียู และเป็นทางเลือกของสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) การขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก

โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน และเกิดอุตสาหกรรมหลังท่า (Port Industry) มีการตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพรส่งเสริมแลนด์บริดจ์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้

การพัฒนาแลนด์บริดจ์ประมาณมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.001 ล้านล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินมหาศาล แต่ก็คุ้มค่า หากไทยคิดจะลงทุน โดยที่ผ่านมาโปรเจคในลักษณะของการพัฒนาพื้นที่ ในเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  เราไม่เคยเห็นความล้มเหลวเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นอิสเทิร์น ซีบอร์ด หรือ อีอีซี ก็ตาม นี่จึงเป็นความเสี่ยงที่คุ้มเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม มีแรงต้านแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มนักสิ่งแวดล้อม และนักอนุรักษ์วิถีดั้งเดิม เพราะโครงการขนาดนี้ ลงไปที่ไหน ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับพลิกฝ่ามือ วัฒนธรรมชาวบ้าน ย่อมได้รับแรงสะเทือน วิถีชุมชน ต้องมีการปรับเปลี่ยน สิ่งแวดล้อม ได้รับผลกระทบ

ทว่าหากมองมุมของเศรษฐกิจ แล้ว ผมย้ำคำเดิม

ได้คุ้มเสีย #KUL

‘Free YOUTH’ เหน็บ!! ‘VAT’ คือภาษีที่สร้างความเหลื่อมล้ำ หากเพิ่มจาก 7% เป็น 10% คนรายได้น้อยแบกภาระเต็มๆ

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 66 ภายหลังจากมีกระแสข่าวว่าสภาพัฒน์เสนอจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT จากเดิม 7% เพิ่มเป็น 10% ก็ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์ รวมถึงเพจ ‘เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH’ กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า…

“VAT คือภาษีที่สร้างความเหลื่อมล้ำ”

การที่ไม่นานมานี้สภาพัฒน์เสนอขึ้นภาษี VAT จาก 7% เป็น 10% นั้น โดยอ้างว่าต้องการเก็บเพื่อนำมาจัดสรรสวัสดิการให้คนสูงวัยในอนาคต คือการพยายามขูดรีดคนรากหญ้า แทนที่จะเป็นการลดงบกองทัพ หรืองบที่ไม่ได้มีความจำเป็นแก่การพัฒนาประเทศเพื่อนำมาสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับคนทุกวัย

VAT คือภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าหรือบริการ โดยอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าหรือบริการนั้น สาเหตุที่ VAT ถูกวิจารณ์ว่าเป็นภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพราะ ‘ผู้ที่มีรายได้ต่ำจะต้องจ่ายภาษีในอัตราสูงเท่ากับผู้ที่มีรายได้สูง’ ทำให้หากมีการขึ้นภาษี VAT ไปมากกว่าเดิม จะทำให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ เราจึงสามารถเรียกได้ว่า VAT คือ ‘ภาษีแห่งความเหลื่อมล้ำ’

หากยกกรณีตัวอย่าง 
คุณซื้อสินค้าหนึ่งในราคา 40 บาท
หาก VAT เป็น 10% คุณจะเสียอีก 4 บาท
จากอัตราปัจจุบันที่ 7% คุณจะจ่ายอีกประมาณ 2.8 บาท

ความต่างในด้านเงินจำนวนนี้ดู ๆ แล้วอาจไม่เยอะมาก แต่หากนึกถึงคนจนที่มีรายได้น้อยมาก ๆ หากสิ่งของหลายรายการ นั่นก็อาจเป็นเงินหลายบาทสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ในวันหนึ่ง เขาอาจหาเงินได้ไม่กี่บาท

‘การเก็บภาษีขั้นบันได’ คือภาษีที่เรียกเก็บจากผู้มีรายได้โดยอ้างอิงตามช่วงของรายได้นั้น ๆ ผู้ที่มีรายได้ต่ำจะต้องจ่ายภาษีในอัตราต่ำ และผู้ที่มีรายได้สูงจะต้องจ่ายภาษีในอัตราสูง ทำให้เป็นกลไกหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ด้วยค่าครองชีพที่สูงเกินกว่าใครหลายคนจะรับไหว การเพิ่มภาษี VAT ให้มากไปกว่าเติม จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก ‘ภาษีขั้นบันได’ จึงถือว่าเป็นคำตอบให้กับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้นทุกทีในสังคมไทย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ มอง!! ความท้าทายอาเซียนในสมรภูมิโลก หลากเงื่อนไขทาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์-ศก.’ ที่ยังฉุดให้โตช้า

ทีมข่าว THE STATES TIMES / THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 27 ส.ค.66 เกี่ยวกับประเด็นไทยในอาเซียน โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญและใกล้ชิดที่สุดของไทย แม้ว่าในทางการเมือง ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมากในบางประเทศ ทั้งเรื่องความรุนแรงและความไม่สงบ เช่น ในเมียนมา หรือแม้แต่ประเด็นความขัดแย้งกับจีนเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ แต่ในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนก็ได้มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ในระดับที่สูงขึ้นตามลำดับ เพียงแต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงได้กับสหภาพยุโรป (European Union) ที่ได้เข้าสู่ความเป็นสหภาพการเงิน (Monetary Union) ที่มีเงินยูโรสกุลเดียวมากว่า 20 ปีแล้ว

สำหรับก้าวแรกของการรวมตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 เมื่อนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอในการประชุมผู้นำอาเซียนให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area - AFTA) โดยประเทศสมาชิก 10 ประเทศสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้า ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีได้ภายในปี 2008 ก่อให้เกิดตลาดการค้าเดียว อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการลงทุนมากมาย

วันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนอยู่ในห้วงแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจ แม้เกิด AFTA (เขตการค้าเสรีอาเซียน) แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้นำอาเซียนจะสามารถผลักดันความร่วมมือที่มีนัยสำคัญได้เลย เพราะการเปิดเสรีด้านการค้าบริการก็ไปไม่ถึงไหน เนื่องจากประเทศสมาชิกยังคงยึดมั่นปกป้องธุรกิจบริการของตน ส่วนการเปิดเสรีแรงงานเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์เพราะเป็นสังคมสูงอายุ ก็ไม่คืบหน้า ทั้ง ๆ ที่มีแรงงานอพยพ (Migrant Workers) ในอาเซียนอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน 

สุดท้ายด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ ก็มีลักษณะแข่งขันกันเองมากกว่าที่จะร่วมมือกัน ความหวังที่จะให้เกิด ASEAN Single Visa ทำนองเดียวกับกลุ่ม Schengen ยังเป็นแค่ความฝัน

ฉะนั้นในวันนี้ ในวันที่อาเซียนยังหาผู้นำไม่เจอ จึงยังไม่สามารถนำอาเซียนสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่สูงขึ้น 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top