Tuesday, 8 October 2024
COLUMNIST

วีรบุรุษต่างเชื้อชาติ!! ‘Kostas Sarantidis’ ชายชาวกรีซแห่งกองกำลัง Viet Minh ผู้ได้รับการยกย่องเป็น ‘วีรบุรุษแห่งกองทัพประชาชนเวียดนาม’


Kostas Nguyen Van Lap ชายชาวกรีซผู้ซึ่งกลายเป็นวีรบุรุษของเวียดนาม

๒ สิงหาคมที่ผ่านมา เวียดนามได้จัดพิธีรำลึกจัดถึง Kostas Nguyen Van Lap (Kostas Sarantidis - Nguyen Van Lap) ขึ้นที่เมืองดานัง ทางตอนกลางของประเทศ Kostas Nguyen Van Lap ชายผู้มีสัญชาติกรีซและเวียดนาม เข้าร่วมกับกองกำลัง Viet Minh ของเวียดนามในสงครามต่อต้านอาณานิคมของฝรั่งเศส และกลายเป็นวีรบุรุษแห่งกองทัพประชาชนเวียดนาม

Kostas Nguyen Van Lap ประดับเหรียญอิสริยาภรณ์ “วีรบุรุษแห่งกองทัพประชาชนเวียดนาม (Hero of the People's Armed Forces of Vietnam)

Kostas Nguyen Van Lap (1927 - 25 มิถุนายน ค.ศ. 2021) เดิมชื่อ Kostas Sarantidis (Κώστας Σαραντίδης) เขาเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่เคยได้รับตำแหน่ง “วีรบุรุษแห่งกองทัพประชาชนเวียดนาม (Hero of the People's Armed Forces of Vietnam) เขาเป็นทหาร "เวียดนามใหม่" ซึ่งเป็นชาวกรีซเพียงคนเดียวที่เคยรับใช้ในกองกำลัง Viet Minh ระหว่างสงครามเวียดนามกับฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม



Kostas Nguyen Van Lap เกิดในครอบครัวคนงานในเมือง Thessaloniki ประเทศกรีซ เมื่อเขาอายุ ๑๖ ปี กรีซถูกนาซีเยอรมันยึดครอง เขาจึงถูกเกณฑ์เป็นทหารแล้วถูกส่งไปเยอรมนี ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาไม่สามารถกลับไปกรีซได้ เพราะไม่มีเอกสารประจำตัว เขาถูกส่งไปยังค่ายกักกันในอิตาลีในช่วงต้นปี ค.ศ. 1946 และต่อมาได้สมัครเข้าร่วมกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศส และถูกส่งไปยังอินโดจีนภายใต้ภารกิจในการปลดปล่อยประชาชน และปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น

หน่วยของเขาเดินทางไปเวียดนามทางเรือ เมื่อถึงไซง่อนแล้วก็ถูกพาขึ้นรถไฟไปยังตอนกลางของเวียดนาม ในวันแรกที่เขามาถึงเวียดนาม เขาได้เห็นความโหดร้ายมากมายของกองทัพฝรั่งเศสที่กระทำต่อชาวเวียดนาม เขาจึงตระหนักว่า ฝรั่งเศสเป็นเพียงผู้รุกราน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจที่จะแปรพักตร์ เข้าร่วมกับกองกำลัง Viet Minh โดย Kostas Nguyen Van Lap เล่าว่า "เราเข้าร่วมในการต่อสู้หลายครั้งในภาคใต้ ทหารได้รับคำสั่งให้โจมตีและเผาหมู่บ้านเพื่อพิสูจน์ตนเองว่า แข็งแกร่ง ผมอยากจะลาออก เพราะผมทนไม่ไหวแล้ว ในวันสุดท้ายในกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสของผม ผมเห็นด้วยตาตนเองว่า ทหารของกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสทั้งหมวดข่มขืนเด็กหญิงอายุเพียง ๑๔-๑๕ ปี” 

ขณะเขาประจำการอยู่ที่เมือง Binh Hoa ก็ได้พบกับ Mai Le สายลับหญิงซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยให้ Kostas Nguyen Van Lap เข้าร่วมกับกองกำลัง Viet Minh โดยพ่อแม่ของ Mai Le เป็นผู้รักชาติ เข้าร่วมสงครามต่อต้านและเสียสละตัวเอง แม้จะอายุน้อยมาก แต่ Mai Le และเพื่อนร่วมชั้นก็ออกจากเมืองเข้าร่วมกลุ่มต่อต้าน เขาพบกับ Mai Le ในฐานะที่เธอเป็นภรรยาของร้อยโท Christianis หัวหน้าหน่วยในเมือง Phan Thiet โดย Mai Le ได้ฝากฝังเขากับกองกำลัง Viet Minh (ต่อมาสายลับหญิงผู้นี้ถูกจับและถูกประหารชีวิตโดยฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1946) 

เวลา ๐๒.๐๐ น. ของวันที่ ๖ เมษายน เขาทิ้งกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสเพื่อไปยังเขตปลอดทหารใน Binh Thuan นอกจากนี้ เขายังปล่อยนักโทษอีก ๒๔ คน นำถือปืนกลเบรนและปืนไรเฟิลไปด้วยอีกสองกระบอก ระเบิดมือสองกล่อง และกระสุนอีกจำนวนหนึ่ง ที่พื้นที่ต่อต้านเขาพบว่า กองกำลัง Viet Minh มีอาวุธที่แย่มาก อาทิ ปืนคาบศิลาฝรั่งเศสสามกระบอกที่มีความยาวต่างกัน นายทหารมีปืนพกที่เก่ามาก ทหารบางคนยังใช้มีด หรือดาบ เขามอบปืนที่เขานำมาด้วยให้กับกองกำลัง Viet Minh ทหารเวียดนามดีใจมากเพราะได้อาวุธใหม่ หลังจากนั้นทหารเวียดนามจึงฆ่าลูกวัวเพื่อทำอาหารฉลอง หลังจากนั้น Kostas ได้รับชื่อเวียดนามว่า Nguyen Van Lap และเข้าร่วมกองทัพประชาชนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ในฐานะหนึ่งในทหาร "เวียดนามใหม่ " 

ในช่วงปี ค.ศ. 1946 - 1948 สภาพความเป็นอยู่ของกองกำลัง Viet Minh นั้นเลวร้ายมาก เขาเล่าว่า "เราได้รับอาหารเพียง ๘๐๐ กรัมต่อวัน และมีเพียงผักเป็นอาหารเท่านั้น” สโลแกนการต่อต้านของกองกำลัง Viet Minh มีความคล้ายคลึงกับสโลแกนของชาวกรีซซึ่งก็คือ "เสรีภาพหรือความตาย" กองกำลัง Viet Minh ให้เขาทำงานในหน่วยประจำเขตพื้นที่ ๕ เขตสนามรบ “กว๋างนาม – ดานัง” เขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ออกอากาศไปยังกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศสชักจูงให้ทหารแปรพักตร์ออกจากกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศส และช่วยชีวิตเชลย ๑๒๐ คนที่ถูกจับ 

ต่อมาเขาและเพื่อนร่วมหน่วยสามารถยิงเครื่องบิน Morane-Saulnier ตก และจับกุมนักบินชาวฝรั่งเศสสามคนที่ยังมีชีวิตอยู่ใกล้ ๆ กับ Phu Cang (กว๋างนาม) เมื่อเมษายน ค.ศ. 1948 หน่วยของเขาสามารถสังหารกองกำลังศัตรูได้ ๒๐๐ นาย ที่ Huong An - Ba Ren

สัจธรรมแห่งอนิจจัง รู้จัก!! อารยธรรมซาโปเทก แห่งมอนเต อัลบาน อีกหนึ่งความเฟื่องฟูก่อนสูญหายตามกาลเวลา

อนุสรณ์สถานและโบราณสถานทั้งหลายเป็นหลักฐานสำคัญ บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ และเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงมนุษยชาติในแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนผ่านจากอารยธรรมหนึ่งไปสู่อีกอารยธรรม

เมื่อพูดถึงอารยธรรมเก่าแก่แห่งทวีปอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมโสอเมริกา (Mesoamerica) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางเหนืออย่างเม็กซิโก ไกลไปจนถึงประเทศคอสตาริกา เรามักจะคุ้นเคยกับอารยธรรมของชาวโอลเมก (Olmec People) ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งความเจริญของทวีปนี้ เพราะเก่าแก่กว่าใครอื่นใด ที่โดดเด่นมากด้วยในยุคถัดมา คือชาวมายา (Maya People) กับรูปแบบสังคมอันซับซ้อน รวมถึงพีระมิดมากมายของพวกเขา ไม่ก็ชาวแอซเท็ก (Aztec People) ซึ่งแผ่ขยายอำนาจได้กว้างไกลมาก เหล่านี้ล้วนได้รับการเล่าขานกันในวงกว้าง แต่ยังมีอีกชนชาติโบราณแห่งทวีปนี้ที่รุ่งเรืองไม่แพ้กันมาตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาล ซึ่งอยู่ในยุคไล่เลี่ยกันกับมายาและแอซเท็กเช่นกัน ครอบครองพื้นที่ยาวนานพันกว่าปี คือกลุ่มคนที่เรียกขานกันว่าชาวซาโปเทก (Zapotec People) นั่นเอง

ศูนย์กลางของอารยธรรมกับอาณาจักรซาโปเทก คือเมืองซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาความสูงราวสองพันเมตรจากระดับน้ำทะเล ชื่อมอนเต อัลบาน พิกัดในปัจจุบันนี้คือภูเขานอกเมืองวาฮากา (Oaxaca City) อันเป็นเมืองหลวงของรัฐวาฮากาแห่งประเทศเม็กซิโก หลักฐานชี้ชัดว่าก่อร่างสร้างเมืองเมื่อราว 4-5 ศตวรรษก่อนคริสตกาล ได้รับการออกแบบ วางผังเมือง และก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำของสมัยนั้น เป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครอง ศาสนา และเศรษฐกิจ นับว่าเป็นโบราณสถานสำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุดในรัฐวาฮากา 

เชื่อกันว่าในช่วงเจริญสูงสุดนั้น ประชากรเมืองหลวงแห่งนี้เคยมีมากถึงสองหมื่นห้าพันคน โดยมีหมู่บ้านนับพันแห่งอยู่รอบมอนเต อัลบาน ปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซม เปิดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าชม เป็นหนึ่งในสิ่งที่พลาดไม่ได้เมื่อไปเที่ยววาฮากา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงไม่ถึงขั้นอยากรู้รายละเอียดทุกอย่างของมอนเต อัลบาน แต่น่าจะพากันไปเพื่อเห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์กับตาตัวเอง เพื่อถ่ายรูปพีระมิด นอกจากนี้ข้างบนนั้นยังมองเห็นวิวของหุบเขาด้านล่างอีกด้วย ใครไปเองก็เดินอ่านป้ายตามจุดต่าง ๆ ซึ่งมีคำอธิบายคร่าว ๆ 

ส่วนคนที่ใช้บริการทัวร์ก็มักจะได้ไกด์ท้องถิ่นเดินอธิบายอะไรต่อมิอะไร ได้รสชาติและการท่องเที่ยวในแง่มุมที่ลึกซึ้งมากกว่า 

บรรดานักโบราณคดีและนักวิจัยทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม พยายามไขข้อสงสัย รวมถึงหาความเชื่อมโยงกันระหว่างอาณาจักรซาโปเทกกับอาณาจักรอื่น ๆ ทางตอนเหนืออย่างแอซเท็กและมายาซึ่งครอบครองอยู่ทางตอนใต้ของดินแดนเมโสอเมริกา ได้รับความกระจ่างในหลายด้าน แต่บางเรื่องก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่จนถึงทุกวันนี้ด้วยเช่นกัน

ย้อนรอยคดีดัง!! สามคนร้ายลักพาตัวเด็กนักเรียนใน Chowchilla หวังเรียกค่าไถ่ ก่อนฝังเหยื่อ ๒๗ รายทั้งเป็น

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ผู้ปกครองของเด็ก ๒๖ คนในเมืองชนบท Chowchilla มลรัฐแคลิฟอร์เนียต้องเผชิญกับฝันร้ายที่เลวร้ายที่สุดเมื่อลูก ๆ ของพวกเขาหายตัวไป รถโรงเรียนซึ่งมีเด็กนักเรียนอายุระหว่าง ๕ ถึง ๑๔ ปี หายไปอย่างลึกลับระหว่างกลับจากทัศนศึกษาในช่วงฤดูร้อน 

โดยเวลาราว ๑๖.๓๐ น. ขณะที่ รถโรงเรียนที่ขับโดย Frank Edward ‘Ed’ Ray วัย ๕๕ ปี กำลังขับรถพาเด็ก ๆ กลับนั้น ทันใดก็มีรถตู้สีขาวขับปาดหน้ารถโรงเรียนจนต้องจอดกลางถนน ชายสองคนสวมหมวกคลุมศีรษะและถือปืนลูกซองตัดลำกล้องปีนขึ้นไปบนรถโรงเรียน คนหนึ่งควบคุมตัว Ray ไว้ ในขณะที่อีกคนเข้าควบคุมรถ ส่วนชายคนที่สามรออยู่ในรถตู้ที่จอดขวางอยู่

รถบรรทุกที่ใช้ขังเหยื่อถูกฝังไว้ใต้ดินลึก ๑๒ ฟุต

หลังจากขับรถพาเหยื่อออกเดินทางเป็นระยะทางสั้น ๆ คนร้ายสามคนก็จอดรถโรงเรียนไว้ในบริเวณที่เรียกว่า ลำธาร Berenda อันเป็นลำธารสาขาที่แห้งขอดของแม่น้ำ Chowchilla ซึ่งล้อมรอบด้วยพุ่มไม้สูง โดยมีรถตู้อีกคันจอดรอไว้อยู่แล้ว พวกเขาสั่งให้ Ray และเด็ก ๆ ขึ้นไปด้านหลังของรถตู้ทั้งสองคัน ซึ่งดัดแปลงมาจากรถขนนักโทษของเรือนจำ หน้าต่างทาสีดำ และด้านในบุด้วยไม้ระแนงเพื่อกันไม่ให้เด็ก ๆ มองเห็นหรือได้ยินเสียง จากนั้นคนร้ายทั้งสามก็ได้ขับรถตู้สองคันวนไปมาราว ๑๑ ชั่วโมง ในที่สุดก็หยุดจอดที่เหมืองหินที่อยู่ห่างออกไปราว ๑๐๐ ไมล์ในเมือง Livermore พวกเขาบังคับ Ray และเด็กๆ ทุกคนปีนลงบันได และให้เข้าไปในรถบรรทุกซึ่งถูกฝังไว้ใต้ดินลึก ๑๒ ฟุต ซึ่งมีอาหารและน้ำจำนวนเล็กน้อยและฟูกนอนอีกนิดหน่อย

เด็ก ๆ ที่เป็นเหยื่อส่วนหนึ่งกับ Frank Edward ‘Ed’ Ray คนขับรถโรงเรียน

Ray รู้ว่า เขาและเด็ก ๆ คงอยู่ได้อีกไม่นานถ้าอากาศหมด ซ้ำหลังคารถบรรทุกก็ยุบตัวลงมา Ray และบรรดาเด็กโตก็ได้ช่วยกันวางฟูกที่นอนเพื่อให้เอื้อมถึงช่องเปิดที่ด้านบนของหลังรถบรรทุก ซึ่งถูกวางทับด้วยแผ่นโลหะที่หนักมากและแบตเตอรี่อุตสาหกรรมขนาด ๔๕ กิโลกรัมอีกสองลูก 

หลังจากใช้ความพยายามอยู่หลายชั่วโมง Ray และ Michael Marshall เด็กชายที่โตที่สุดวัย ๑๔ ปี ก็สามารถใช้เศษไม้งัดช่องเปิดออก แล้วย้ายแบตเตอรี่จนพ้นช่องเปิด จากนั้นพวกเขาก็ขุดเศษซากสิ่งของที่ปิดทางออกที่เหลือ สิบหกชั่วโมงหลังจากที่ถูกบังคับให้เข้าไปในรถบรรทุก พวกเขาก็สามารถหนีออกมาได้ และพากันเดินไปยังกระท่อมยามของเหมือง ซึ่งอยู่ใกล้กับอุทยาน Shadow Cliffs 

สามคนร้ายจากซ้าย Frederick Newhall Woods IV พี่น้อง James และ Richard Schoenfeld

Frederick Newhall Woods IV ลูกชายเจ้าของเหมืองหิน วัย ๒๔ ปี ตกเป็นผู้ต้องสงสัยอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นหนึ่งในคนที่มีกุญแจของเหมืองหินแห่งนั้น และสามารถเข้าไปในเหมืองได้ลึกมากพอที่จะฝังรถบรรทุกไว้ที่นั่น เขากับเพื่อนอีกสองคน พี่น้อง James และ Richard Schoenfeld (อายุ ๒๔ และ ๒๒ ปี) เคยถูกตัดสินว่า มีความผิดฐานขโมยรถยนต์ ซึ่งพวกเขาถูกตัดสินลงโทษโดยการถูกคุมประพฤติ มีการออกหมายค้นที่ดินของพ่อของ Woods แล้วตำรวจก็พบอาวุธปืนหนึ่งกระบอกที่ใช้ในการลักพาตัว เช่นเดียวกับร่างจดหมายเพื่อเรียกค่าไถ่ แต่คนร้ายทั้งสามหนีไปแล้ว

สองสัปดาห์ต่อมาหลังจากการลักพาตัว Woods ถูกจับตัวได้ในนคร Vancouver มณฑล British Columbia ประเทศแคนาดา James Schoenfeld ถูกจับในวันเดียวกันที่ Menlo Park มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่ Richard Schoenfeld สมัครใจมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแปดวันหลังจากการก่อเหตุลักพาตัว


สภาพของรถบรรทุกที่ใช้ขังเหยื่อถูกฝังไว้ใต้ดินลึก ๑๒ ฟุต หลังจากถูกขุดขึ้นมา 

ผู้ลักพาตัวไม่สามารถติดต่อเรียกค่าไถ่จำนวน ๕ ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่ากับ ๒๓.๘ ล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔) เนื่องจากโทรศัพท์ของสถานีตำรวจ Chowchilla ไม่ว่างเลย ด้วยสายเข้าจากโทรศัพท์ของสื่อและครอบครัวที่ตามข่าวลูก ๆ ของพวกเขา ในตอนดึกของวันที่ ๑๖ กรกฎาคม รายงานข่าวทางโทรทัศน์ก็แจ้งว่า เหยื่อสามารถหลบหนีออกมาได้โดยปลอดภัยแล้ว 

ในภายหลัง James Schoenfeld เล่าว่า แม้จะเขามาจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย แต่ทั้งเขา Richard และ Woods ต่างก็มีหนี้สินมากมาย “เราต้องลักพาเหยื่อหลายรายเพื่อให้ได้เงินหลายล้าน และเราตัดสินใจเลือกเด็ก เพราะเด็กมีค่าเสมอ รัฐยินดีจ่ายค่าไถ่สำหรับพวกเขา และเด็ก ๆ มักจะไม่ต่อสู้ขัดขืน อ่อนแอ และเอาแต่ใจ" ผู้กระทำความผิดทั้งสามสารภาพว่า ได้ปล้นรถ และลักพาตัวเด็ก ๆ เพื่อเรียกค่าไถ่ แต่ปฏิเสธที่จะสารภาพว่า ได้ทำร้ายร่างกายเด็ก ๆ เนื่องจากเชื่อว่าการถูกดำเนินคดีในข้อหานั้นร่วมกับข้อหาลักพาตัวจะมีโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ต้องรอลงอาญา หรือไม่ได้รับทัณฑ์บนเพื่อลด/พักโทษในภายหลัง 

พวกเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายด้วย และถูกตัดสินว่า มีความผิดและได้รับโทษจำคุก แต่ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาของพวกเขาโดยพบว่าอาการบาดเจ็บทางร่างกายของเด็ก ๆ (ส่วนใหญ่บาดแผลและรอยฟกช้ำ) ไม่เป็นไปตามเกณฑ์การทำร้ายร่างกายภายใต้กฎหมาย

หมดยุค...รักต้องฉุด!! ‘Franca Viola’ หญิงแกร่งคนแรกของอิตาลี ปฏิเสธธรรมเนียม ‘แต่งงานกับผู้ที่ลักพาตัว-ข่มขืน’ เพื่อรักษาเกียรติ

การลักพาตัวเจ้าสาว (Bride kidnapping) หรือรักต้องฉุด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้มาตั้งแต่ครั้งยุคหินแล้ว เราท่านมักจะเห็นในการ์ตูนที่มีภาพของชายยุคหินถือตะบองอันโต ๆ ตีหัวหญิงสาวเพื่อนำมาเป็นภรรยา การฉุดหญิงสาวหรือเรียกกันว่าการแต่งงานโดยการลักพาตัวหรือการแต่งงานโดยการฉุดเจ้าสาวเป็นวิธีการปฏิบัติของชายที่ลักพาตัวหญิงสาวที่เขาปรารถนาจะแต่งงานด้วย การลักพาตัวเจ้าสาวเกิดขึ้นทั่วโลกและตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์และประวัติศาสตร์ ในสังคมผู้คนที่หลากหลายเช่น ชาวเขาบางเผ่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาว Tzeltal ในเม็กซิโก และชาวโรมานีในยุโรป ปัจจุบันรักต้องฉุดยังคงเกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ทั่วโลก แต่พบได้มากที่สุดในแถบคอเคซัสและเอเชียกลางจนทุกวันนี้

ประเทศส่วนใหญ่เกือบทั้งโลกในปัจจุบัน ถือว่าการลักพาตัวเจ้าสาวเป็นอาชญากรรมทางเพศ เนื่องจากองค์ประกอบโดยนัยเป็นการบังคับขืนใจ มากกว่าเป็นรูปแบบในการแต่งงานที่ถูกต้อง บางสังคมอาจถูกมองว่าไปเป็นตามความต่อเนื่องระหว่างการบังคับแต่งงานหรือการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ซึ่งบางครั้งสลับสับสนกับ ‘รักกันหนา พากันหนี’ ซึ่งทั้งคู่หนีไปด้วยกัน แล้วกลับขอความยินยอมจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงในภายหลัง 

ในบางกรณีหญิงคนนั้นอาจให้ความร่วมมือหรือสมัครใจที่จะถูกฉุดไป แต่โดยทั่วไปแล้วจะพยายามรักษาชื่อเสียงหรือเกียรติยศให้กับตัวเองหรือพ่อแม่ของเธอ ในเขตอำนาจศาลหลายแห่ง กฎหมายนี้เคยได้รับการสนับสนุนโดยกฎหมายที่เรียกว่า ‘การแต่งงานเมื่อถูกข่มขืน (Marry-your-rapist laws)’ แม้แต่ในประเทศที่การปฏิบัตินั้นขัดต่อกฎหมาย หากแต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มแข็งเด็ดขาด กฎหมายที่มีลักษณะจารีตประเพณี (แนวปฏิบัติดั้งเดิม) ลักษณะก็อาจมีผลเหนือกว่า

 

ในอิตาลีก็เช่นกันมีคำว่า ‘Fuitina’ อันหมายถึง การหนีตามกันโดยสมัครใจของคู่หนุ่มสาวเพื่อใช้ชีวิตเป็นสามีภรรยากัน แต่กลับถูกเหมารวมถึงการลักพาตัวเจ้าสาว ซึ่งไม่ได้สมัครใจด้วย 

แต่กรณีของ Franca Viola หญิงสาวผู้เด็ดเดี่ยวกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากปฏิเสธ ‘การแต่งงานเพื่อเป็นการรักษาเกียรติหรือหน้าตา (Matrimonio riparatore)’ กับผู้ที่ฉุดและข่มขืนเธอ หลังจากถูกลักพาตัว และถูกจับตัวไว้นานกว่าสัปดาห์ แล้วยังถูกข่มขืนอีกหลายครั้ง นับว่าเธอผู้หญิงอิตาลีคนแรกที่ถูกฉุดและข่มขืนแล้วปฏิเสธการแต่งงานกับผู้ที่ฉุดและข่มขืนเธอ ทั้งเธอยังประสบความสำเร็จในการดำเนินคดีกับผู้ที่ฉุดและข่มขืนเธออีกด้วย 

ผลการพิจารณาคดีนี้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในอิตาลี เนื่องจากพฤติกรรมของ Viola ถูกมองว่าขัดแย้งกับธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมแบบดั้งเดิมในอิตาลีตอนใต้  โดยที่หญิงสาวจะต้องเสียเกียรติหรือหน้าตา หากเธอไม่ยอมแต่งงานกับชายที่เธอสูญเสียพรหมจรรย์ให้ Franca Viola จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและการปลดปล่อยของเหล่าสตรีในอิตาลีภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

Franca Viola เกิดเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ในเขตชนบทของเมือง Alcamo ในซิซิลี ประเทศอิตาลี เธอเป็นลูกสาวคนโตของ Bernardo Viola ชาวนา และ Vita Ferra ในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี เธอได้หมั้นกับ Filippo Melodia ซึ่งขณะนั้นอายุ ๒๓ ปี เป็นหลานชายของ Vincenzo Rimi มาเฟียใหญ่ 

ต่อมา Melodia ถูกจับในข้อหาลักขโมย และพ่อของ Viola ยืนยันว่า เธอได้ขอถอนหมั้นแล้ว จากนั้น Melodia ก็ย้ายไปเยอรมนี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ Viola หมั้นกับชายหนุ่มอีกคนหนึ่ง แต่แล้ว Melodia ก็กลับมาที่เมือง Alcamo และพยายามกลับเข้าไปในชีวิตของ Viola แต่ไม่สำเร็จ โดยเขาพยายามสะกดรอยตามเธอ และคุกคามทั้งพ่อและแฟนของเธอ

สุดยอดพี่เลี้ยงเด็ก!! ‘Kiersten Miles’ พี่เลี้ยงเด็กผู้เสียสละ ตัดสินใจบริจาค ‘ตับ’ บางส่วนให้เด็กหญิงที่ดูแล

Kiersten Miles นักศึกษาวัย ๒๒ ปีจากมลรัฐ New Jersey ต้องทำงานพิเศษเพื่อหาเงินสำหรับการเรียนของเธอ เธอจึงติดต่อผ่านเพื่อนคนหนึ่งเพื่อสมัครเป็นพี่เลี้ยงของลูก ๆ สามคนของครอบครัว Rosko และเริ่มทำงานให้พวกเขาในทันที 

Kiersten ทำงานดูแลลูก ๆ สามคนของ George และ Farra Rosko ได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็มีความรู้สึกผูกพันที่ลึกซึ้งเกิดขึ้นระหว่างเธอกับเด็ก ๆ ทั้งสามคนของครอบครัว Rosko อย่างรวดเร็ว 

โดยเฉพาะกับลูกสาวคนสุดท้องที่ชื่อ Talia วัย ๑๖ เดือนของครอบครัว Rosko ซึ่ง Talia ตอนอายุเพียงสองเดือนก็รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับที่หายาก (Biliary Atresia) และเข้าสู่ระยะสุดท้ายในปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่แพทย์ในเมือง Jackson มลรัฐ New Jersey บอกกับ George และ Farra พ่อแม่ของ Talia ว่าหากเธอไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ Talia น่าจะมีชีวิตอยู่ไม่เกินสองขวบ เมื่อ Kiersten ทราบเรื่องก็อาสาโดยไม่ได้คิดอะไรเลยแม้แต่น้อยที่จะยอมสละชิ้นส่วนตับของเธอส่วนหนึ่ง หากสามารถช่วยชีวิต Talia ได้


โรคที่ Talia เป็นคือ โรค Biliary Atresia (ท่อน้ำดีตีบตันในทารก) เป็นภาวะที่ท่อน้ำดีตีบตันอย่างถาวรทำให้น้ำดีจากตับไม่สามารถไหลสู่ลำไส้เล็ก ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

1.) ความผิดปกติแต่กำเนิด
2.) การติดเชื้อไวรัสบางชนิด
3.) ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหรือพันธุกรรม

โดยผู้ป่วยจะมีอาการ ตัวหรือตาเหลืองในช่วงอายุ ๒-๓ สัปดาห์แรก อุจจาระมีสีเหลืองอ่อนหรือขาวซีด ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ท้องมานหรือท้องโตผิดปกติ และต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งควรทำภายในอายุ ๖๐ วัน หากล่าช้าจะเกิดภาวะตับแข็ง และเสียชีวิตได้


George และ Farra พ่อแม่ของ Talia ซึ่งไม่แน่ใจในตอนแรก แต่ก็ได้อธิบายให้ Kiersten ฟังว่า เรื่องที่เธอเสนอนั้นมีความเสี่ยงที่ร้ายแรงเพียงใด การบริจาคตับบางส่วนไม่เหมือนกับการให้เลือด การผ่าตัดอาจทำให้ร่างกายของ Kiersten มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา และเป็นความเสี่ยงที่มากมายด้วย แต่ Kiersten ตัดสินใจสมัครเป็นผู้บริจาคตับให้กับ Talia ทันที และเมื่อผลการทดสอบออกมาก็พบว่า ตับของ Kiersten เหมาะกับ Talia อย่างสมบูรณ์แบบ!

The Royal Military College, Duntroon ราชวิทยาลัยวิชาการทหาร Duntroon แห่งเครือรัฐออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยการทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ

ด้วยเดือนนี้เป็นเดือนมหามงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๐ พรรษา จึงขอนำเรื่องของ ราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon (The Royal Military College, Duntroon) อันเป็นราชวิทยาลัยทางการทหารแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งล้นเกล้าฯ ในหลวงของเราทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงได้รับถวายสัญญาบัตรจากราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon และปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย New South Wales มาเล่าให้ผู้อ่านได้รับทราบกันครับ

ก่อนการก่อตั้งกรุง Canberra (นครหลวงของเครือรัฐออสเตรเลีย) บริเวณที่เรียกว่า Duntroon เป็นอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว Campbell ก่อนที่จะถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนฝึกนายทหาร โดยพลตรี Sir William Throsby Bridges (ซึ่งเป็นผู้บัญชาการราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon คนแรก) ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ (ค.ศ. ๑๙๑๐) ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา Mount Pleasant ใกล้กับทะเลสาบ Burley Griffin และกระทรวงกลาโหมที่ Russell Hill เทียบได้กับ ราชวิทยาลัยการทหาร Sandhurst (โรงเรียนนายร้อยทหารบกแห่งสหราชอาณาจักร) และโรงเรียนนายร้อยทหารบกสหรัฐฯ ณ West Point (United States Military Academy West Point) โดย ราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon ตั้งอยู่ติดกับ Australian Defense Force Academy (ADFA) ซึ่งเป็นสถาบันการทหารทั้งสามเหล่าทัพของกองทัพแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย (Australian Defense Force) ที่ให้การศึกษาฝึกฝนอบรมด้านการทหารในระดับอุดมศึกษาสำหรับนายทหารแห่งกองทัพบกออสเตรเลีย กองทัพเรือออสเตรเลีย และกองทัพอากาศออสเตรเลีย

ราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ โดยผู้สำเร็จราชการ ลอร์ด Dudley ซึ่งได้ประกาศชื่อวิทยาลัยแห่งนี้ว่า ราชวิทยาลัยการทหารแห่งออสเตรเลีย (The Royal Military College : RMC) หลักสูตรที่ RMC ได้รับการออกแบบให้เป็นหลักสูตรสี่ปี โดยมีวิชาทหารครึ่งหนึ่ง และวิชาการทั่วไปอีกครึ่งหนึ่ง เนื่องจากการขยายตัวของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การศึกษาในยุคแรกจึงทำให้นักเรียนนายร้อยจบการศึกษาเร็วเป็นพิเศษเพื่อจะถูกส่งไปปฏิบัติการในต่างประเทศ การรับนักเรียนเข้าเรียนในสามรุ่นต่อมาก็สั้นลงเช่นกัน และนักเรียนนายร้อยในสี่รุ่นแรกส่วนใหญ่ถูกบรรจุในกองทัพจักรวรรดิออสเตรเลียน (The Australian Imperial Force (AIF)) และกองทัพบกของนิวซีแลนด์


พลตรี Sir William Throsby Bridges 
(ซึ่งเป็นผู้บัญชาการราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon คนแรก)

ในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พลตรี Bridges (ผู้บัญชาการราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon คนแรก) ได้รับคำสั่งจากกองทัพจักรวรรดิออสเตรเลียนที่ ๑ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ และเสียชีวิตในสมรภูมิที่แหลม Gallipoli (เมือง Gelibolu ประเทศตุรเคียในปัจจุบัน) ร่างของเขาถูกส่งกลับมายังออสเตรเลีย และถูกฝังไว้บนเนินเขา Mount Pleasant ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon ได้อย่างชัดเจน สรุปโดยรวมแล้วนายทหารออสเตรเลียจำนวน ๔๐ นายที่จบจากราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon ยุคแรก ๆ จากทั้งหมด ๑๑๗ นายเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในปีพ.ศ. ๒๔๗๔ ราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon ถูกย้ายไปอยู่ที่ค่าย Victoria นคร Sydney ด้วยที่ตั้งแห่งใหม่ ราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ 'Duntroon Wing, ค่าย Victoria แต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ราชวิทยาลัยการทหาร Duntroon ก็ถูกย้ายกลับมาที่ Duntroon กรุง Canberra เช่นเดิม เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๓๙) หลักสูตรการศึกษาสี่ปีถูกลดลงเหลือสองปี มีการเข้าเรียนพิเศษเพิ่มเติมเป็นเวลา หก เก้า และสิบสองเดือน ภายในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ แต่ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งทางการทหารที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้สามารถขยายระยะเวลาของหลักสูตรได้ และเปลี่ยนเป็นหลักสูตรสามปี ในปีพ.ศ. ๒๔๙๐ ได้มีการเปลี่ยนเป็นหลักสูตรสี่ปี (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งรวมถึงหลักสูตรการศึกษาทางเลือกในสาขาศิลปศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ และต่อมาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรเหล่านี้ช่วยให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับการยกเว้นวิชาได้ถึงครึ่งจำนวนสำหรับหลักสูตรพลเรือนที่ดำเนินการในมหาวิทยาลัย โดยหลักสูตรการทหารมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างข้อกำหนดระยะสั้นของนายทหารชั้นต้น และรากฐานที่กว้างขึ้น ซึ่งจำเป็นสำหรับตำแหน่งอาวุโสในกองทัพบกต่อไป
 

RMC-D ร่วมกับมหาวิทยาลัย New South Wales เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี โดยเริ่มในปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๑ ในอันที่จะสำเร็จการศึกษาจาก RMC-D นักเรียนนายร้อยจะต้องผ่านการศึกษาทั้งด้าน การทหาร และวิชาการ ตลอดจนความเป็นผู้นำ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้มีการตัดสินใจว่า การฝึกนายทหารในเบื้องต้นทั้งหมดจะรวมศูนย์ไว้ที่ RMC-D ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ RMC-D เข้ารับหน้าที่ในการฝึกอบรมจากสถาบันฝึกอบรมนายทหารเต็มเวลาอื่น ๆ ทั้งหมด รวมถึงโรงเรียนนายร้อยที่ Portsea (Victoria) หน่วยฝึกอบรมนายทหารหญิงที่ Georges Heights (Sydney) และหน่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่ Canungra (Queensland) ในเวลานี้ความรับผิดชอบในการสอนระดับปริญญาได้ถูกโอนไปยัง Australian Defense Force Academy (ADFA) ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ และหลักสูตรถูกลงลดให้เหลือเพียงสิบแปดเดือนเฉพาะการศึกษาทางทหารล้วน ๆ ผู้สำเร็จการศึกษาจาก ADFA Army ได้รับสถานะขั้นสูงหกเดือน อันเนื่องจากการฝึกอบรมดำเนินการในช่วงพักการศึกษา ระเบียบปฏิบัตินี้ยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ครบรอบ ๑๐๐ ปีของวิทยาลัย ผู้บัญชาการของ RMC ได้รับการแต่งตั้งและมอบอำนาจทางกฎหมายให้เป็นผู้บังคับการเต็มรูปแบบ โดยผู้บัญชาการกองทัพบกเพื่อรับผิดชอบบริหารและสั่งการหน่วยฝึกที่สำคัญของกองทัพบก ประกอบด้วย RMC - Duntroon (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ RMC-D) ศูนย์ฝึกอบรมทหารเกณฑ์ที่ Kapooka (Wagga Wagga) และศูนย์สงครามทางบกที่ Canungra (Queensland) ดังนั้น ผู้บัญชาการ RMC-D จึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหลักสูตร ‘เริ่มต้น’ และ ‘หลักสำคัญในอาชีพ’ ทั้งหมดสำหรับทุกระดับตั้งแต่พลทหารไปจนถึงพันตรี ภาพรวมนี้เป็นที่รู้จักในนามของ Royal Military College - Australia (RMC-A)

‘Moon Sun Myung’ ผู้ก่อตั้งลัทธิ ‘Unification Church’ ที่มาของพิธีการสมรสหมู่อันโด่งดัง

Moon Sun Myung ผู้ก่อตั้งลัทธิ Unification Church (โบสถ์แห่งความสามัคคี)

 

หลังจากอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น Shinzo Abe ถูกยิงเสียชีวิตก็มีการขุดคุ้ยประวัติของ Tetsuya Yamagami ผู้เป็นมือปืน และพบว่า มารดาของมือปืนเป็นสมาชิกของลัทธิ Unification Church (โบสถ์แห่งความสามัคคี) ถึงกับเคยบริจาคเงินก้อนใหญ่ให้กับลัทธิดังกล่าว และในเวลาต่อมาเธอกลับต้องล้มละลาย ซึ่งทำให้ Tetsuya Yamagami ผู้เป็นลูกชายไม่พอใจมาก และมีความเชื่อที่ว่า Shinzo Abe อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับลัทธิดังกล่าวด้วย


 

สัญลักษณ์ของลัทธิ Unification Church

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า Shinzo Abe อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับลัทธิ Unification Church ตามที่ถูก Tetsuya Yamagami ผู้เป็นมือปืนนำมากล่าวอ้าง เพราะลัทธินี้ก่อตั้งโดย Moon Sun Myung ชาวเกาหลี โดยปกติแล้วชาวญี่ปุ่นซึ่งมีความเป็นชาตินิยมสูงมักจะไม่ให้ความสนใจหรือให้ความสำคัญใด ๆ โดยเฉพาะกับเรื่องราวของลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ที่เป็นของชาวต่างชาติ ซ้ำยังเป็นลัทธิความเชื่อที่มาจากเกาหลีที่ชาวญี่ปุ่นสายอนุรักษ์นิยมมักจะดูแคลน เพราะเกาหลีเคยเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นมาก่อน 

คงไม่ขอกล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับ Shinzo Abe อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่เป็นข่าวดังข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แต่จะขอพูดถึงเฉพาะเรื่องราวของ Moon Sun Myung ผู้ก่อตั้งลัทธิ Unification Church โดย Moon Sun Myung เกิดเมื่อ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่เมืองกวางจู ซังซารี จังหวัดเปียงยางเหนือ ประเทศเกาหลี (ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตเกาหลีเหนือ) ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เขาได้ก่อตั้งสมาคมพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อการรวมกลุ่มของศาสนาคริสต์โลก (Holy Spirit Association for the Unification of World Christianity) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่า Unification Church (โบสถ์แห่งความสามัคคี)

Moon Sun Myung เริ่มเผยแพร่หลักคำสอนของเขาในเกาหลีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ และสองปีต่อมาเขาถูกปัพพาชนียกรรม (ประกาศขับออก) โดยคริสตจักรเพรสไบทีเรียนแห่งเกาหลี และหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ถูกทางการเกาหลีเหนือคุมขังด้วยข้อหาฐานสอดแนมให้กับเกาหลีใต้ และได้รับโทษจำคุกห้าปีในค่ายแรงงานฮงนัม ในปีพ.ศ. ๒๔๙๓ ระหว่างสงครามเกาหลี กองทหารของสหประชาชาติได้เข้าโจมตีค่ายแรงงานฮงนัม ทำให้ Moon Sun Myung ได้รับการปล่อยตัว จึงเดินทางใต้ไปยังเมืองปูซานของเกาหลีใต้ ที่ซึ่งต่อมาเขาได้ก่อตั้งลัทธิ Unification Church (โบสถ์แห่งความสามัคคี) ขึ้น

6 ท่า ‘บริหารสมอง’ ห่างไกลอัลไซเมอร์

“สมอง” เป็นอวัยวะสำคัญของมนุษย์ ประกอบด้วยเซลล์จำนวนนับแสนล้านเซลล์ที่มีการเชื่อมโยงต่อกันด้วยความสลับซับซ้อน สมองเป็นอวัยวะที่มีความยืดหยุ่น ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ตลอดเวลา ยิ่งเซลล์สมองได้รับการฝึกฝนก็ยิ่งทำให้มนุษย์มีความฉลาดในการแก้ปัญหามากขึ้น แต่หากสมองได้รับความเสียหายจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ได้รับสารพิษหรือมลภาวะ อาจส่งผลให้การเรียนรู้ช้าลง มีปัญหาเรื่องความจำหรือการแก้ปัญหา โดยเมื่อเกิดโรคทางสมองมักส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย

สมองแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้
สมองส่วนหน้า (Forebrain) เป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับข้อมูล รวมทั้งการประมวลผลทางประสาทสัมผัส เช่น การมองเห็น, ภาษา, การสื่อสาร, ความคิด, ความจำ, การตัดสินใจ, การวางแผน, ความมีเหตุผล

สมองส่วนกลาง (Midbrain) มีหน้าที่รับส่งกระแสประสาทระหว่างสมองส่วนหน้าและสมองส่วนท้าย ทั้งยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้การมองเห็น, การเคลื่อนไหวของลูกตา และการได้ยิน

สมองส่วนท้าย (Hindbrain) มีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อขณะเคลื่อนไหว, ควบคุมการหายใจ, ช่วยประมวลการรับรู้และควบคุมการสั่งงานของสมอง

จะเห็นได้ว่าสมองมีความสำคัญกับระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้นการบริหารสมองจึงมีส่วนช่วยให้การเคลื่อนไหว ความคิด ความจำ อารมณ์และการแสดงออกต่าง ๆ เป็นปกติ

เทคนิคการบริหารสมอง 6 ท่า

ท่าที่ 1 ฝึกหายใจ
ในท่านั่งผ่อนคลาย นำมือวางไว้ที่บริเวณใต้ลิ้นปี่ หายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ กลั้นลมหายใจสุดท้ายค้างไว้ 3 วินาที แล้วหายใจออกทางปากช้า ๆ ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง สมองจะได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ ช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้น

ท่าที่ 2 นวดขมับ
ใช้ปลายนิ้วนวดคลึงบริเวณขมับเบา ๆ 30 วินาที ท่านี้ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายความเครียดและกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้ายและขวา

ท่าที่ 3 นวดไหปลาร้า
ใช้ปลายนิ้วนวดคลึงบริเวณไหปลาร้าเบา ๆ 30 วินาที ท่านี้ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนไปสู่สมองดีขึ้น

สิงคโปร์ ท้าโลกร้อน ขอเปลี่ยนเมืองร้อนให้เป็นเมือง Cool ด้วยนวัตกรรม

สิงคโปร์ ประเทศเล็ก ๆ แต่รวยมากในย่าน อาเซียน มีความเจริญแทบทุกด้านติดอันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินในภูมิภาค ที่หลายคนต่างมองด้วยความทึ่ง ในความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองนี้ 

แต่ถึงจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีจุดแข็งในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ยังมีปัญหาหนึ่งรัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ไขมานานหลายสิบปี แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงของปัญหาได้ นั่นก็คือ "ความร้อน" 

สิงคโปร์เป็นประเทศในเขตร้อน อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรเพียง 137 กิโลเมตร สภาพอากาศจัดอยู่ในโซนป่าฝนเขตร้อน จึงมีอากาศร้อนชื้น ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่มักจะค่อนมาทางร้อน แดดจัด  อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส

แต่นอกเหนือตำแหน่งที่ตั้งของสิงคโปร์ อยู่ในโซนเส้นศูนย์สูตรที่ก็ร้อนอยู่แล้ว สิงคโปร์ยังเจอปัญหาจาก Urban Heat Island Effect หรือปรากฏการณ์โดมความร้อน อันเนื่องจากสิงคโปร์เป็นเกาะที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกคอนกรีตสูงใหญ่เป็นจำนวนมาก ที่กักเก็บความร้อนให้ระอุอยู่ภายในเมือง จึงทำให้ตัวเมืองมีอากาศร้อนจัด

แต่ชาวสิงคโปร์ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของอดีตรัฐบุรุษผู้ล่วงลับ ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้สร้างชาติสิงคโปร์  นาย ลี กวน ยู ที่มองเห็นว่า เมืองที่มีต้นไม้ร่มรื่นจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชาติ และส่งเสริมสุขภาพทั้งกาย และใจ ให้กับประชาชน 

จึงได้ริเริ่มแคมเปญปลูกต้นไม้ใหญ่บนเกาะสิงคโปร์ให้ได้อย่างน้อยปีละ 10,000 ต้น ตั้งแต่ปี 1963  และต่อมา วัฒนธรรมการปลูกต้นไม้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวสิงคโปร์ ที่จะมีวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ จัดในวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน ตั้งแต่ปี 1971 โดย นายลี กวน ยู เอง  ที่ชักชวนชาวสิงคโปร์ให้ออกมาปลูกต้นไม้ด้วยกันในวันนี้ ซึ่งเขารักการปลูกต้นไม้มาก และจะเจียดเวลามาปลูกต้นไม้ให้ได้อย่างน้อยปีละ 60 ต้น เป็นประจำ 

และแคมเปญการปลูกต้นไม้ของรัฐบาลสิงคโปร์ ยังคงเดินหน้ามาถึงใน ปัจจุบัน และในปีนี้ 2021 รัฐบาลสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันนำโดย นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง บุตรชายของนายลี กวน ยู ก็ประกาศเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้บนเกาะสิงคโปร์ให้ได้ถึง 1 ล้านต้นภายใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้สิงคโปร์เป็นเมืองกลางสวนเขียวชอุ่มอย่างแท้จริง ตามที่พ่อของเขาเคยตั้งเป้าหมายไว้ 

ถึงแม้การปลูกต้นไม้ใหญ่ และ สร้างสวนสาธารณะชุมชนเพิ่มขึ้น จะบรรเทาความร้อนจากผลกระทบของ Urban Heat Island Effect ไปได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิภายในเมืองสิงคโปร์ลดลง ตรงกันข้าม จากข้อมูลสถิติกลับพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกถึง 2 เท่า 

ซึ่งสิ่งที่มาเป็นตัวเร่ง และแรงเสริมที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในเมืองสิงคโปร์ยังคงพุ่งสูงอย่างน่ากลัว ก็คือปัญหาจากภาวะโลกร้อน  และคาดว่าอาจทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในสิงคโปร์เพิ่มถึง 35-37 องศา ภายในไม่เกินศตวรรษหน้า 

และด้วยปัญหาความร้อนนี้ จึงทำให้ชาวสิงคโปร์จำเป็นต้องพึ่งพาความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ ที่มักมีติดกันทุกบ้าน ทุกอาคาร เพื่อบรรเทาความร้อน ชื้นที่รุนแรงขึ้นทุกปี จึงไม่แปลกใจที่พบว่าในประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนเครื่องปรับอากาศต่อประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

และยิ่งใช้เครื่องปรับอากาศมาก ก็ยิ่งไปเร่งให้เกิดปรากฏการณ์โดมความร้อน และยังเผาผลาญพลังงาน ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มอีก กลายเป็นห่วงโซ่ของปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ไม่อาจแก้ได้แค่เพียงการปลูกต้นไม้ แต่ต้องลดการใช้พลังงานคาร์บอนและลดการพึ่งพาความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ

หว่อง ยุก เหียน อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เห็นว่า การออกแบบอาคารในสิงคโปร์นับจากนี้ ต้องคำนึงเรื่องการลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ที่สิ้นเปลืองพลังาน และไม่เป็นผลดีต่อสภาพอากาศในสิงคโปร์  เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องหานวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยทำให้อาคารเย็นลง ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ และทางเลือกนั้นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

โจทย์นี้ กลายเป็นที่มาของโครงการ Cooling Singapore Project ทีมนักวิจัยที่ต้องการหาทางออกให้กับสิงคโปร์ ด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบ ที่ประกอบด้วยกุญแจสำคัญ 7 ประการ อันได้แก่ ความเขียวขจีของต้นไม้, เรขาคณิตของเมือง, การใช้น้ำลดความร้อน, การใช้วัสดุ พื้นผิวที่เหมาะสม. การสร้างร่มเงา, ระบบคมนาคม และการใช้พลังงาน

ดังจะเห็นได้จากรูปแบบสถาปัตยกรรมตึก และอาคารสมัยใหม่ของสิงคโปร์ จะเน้นความสำคัญของการออกแบบให้มีระดับความสูงต่ำ ที่แตกต่างกัน อาคารมีลักษณะโค้งมน และมีการเว้นช่องว่าง แทนที่จะเป็นทรงเหลี่ยม สร้างอย่างทึบแน่น เต็มพื้นที่ หรือเน้นความสูงระฟ้า เพื่อเปิดช่องทางลม ให้หมุนไหลเวียนภายในตัวเมือง ลดการสะสมความร้อนที่เป็นสาเหตุของ Urban Heat Island Effect

นอกจากนี้ยังมีการแทรกสวนหย่อม ต้นไม้ภายในอาคาร มีโซนบ่อน้ำเป็นฉนวนกันความร้อน ใช้วัสดุที่สะท้อนแสง และไม่เก็บความร้อน เน้นสีอ่อน เน้นความพริ้วเบา ที่ช่วยส่งเสริมการถ่ายเทลม

ยกตัวอย่างเช่นอาคาร โรงแรม Park Royal และ Oasis ในสิงคโปร์ ที่ผสานสวนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร  หรือโครงการ The Interlace คอนโดนิเนียมที่ได้รับรางวัลด้านสถาปัตย์ ที่ออกแบบเหมือนบล็อคที่ถูกนำมาวางซ้อนกัน แต่สับหว่างให้เกิดช่องลมไหลเวียนทั่วทั้งโครงการ 

นอกจากมุมมองด้านการออกแบบแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยี Cooling System ระบบทำความเย็นด้วยท่อน้ำเย็นขนาดใหญ่ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินของอาคาร และเดินท่อน้ำเย็นขึ้นไปภายในอาคาร เพื่อช่วยลดความร้อน แทนการใช้เครื่องปรับอากาศ แล้วไหลเวียนกลับสู่ระบบเพื่อปรับอุณหภูมิแล้ววนกลับไปใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง 

ซึ่งอาคารที่ใช้ระบบนี้ และมีชื่อเสียงอย่างมากก็คือ  Marina Bay District ที่มีศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อน้ำเย็นใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ดูแลระบบความเย็นทั้งภายในอาคารทั้งหมดใน Marina Bay District และ บริเวณใกล้เคียง ที่สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 40%  

และในอนาคต รัฐบาลสิงคโปร์มีแนวคิดที่จะขยายระบบท่อน้ำเย็นนี้ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งอาคารพาณิชย์ และ อาคารที่อยู่อาศัยของประชาชนด้วย และเชื่อว่าจะสามารถลดการใช้พลังงาน และเครื่องปรับอากาศได้อย่างมาก 

ส่วนขั้นต่อไปของ Cooling Singapore 2.0  คือการขับเคลื่อนเมืองไปสู่ยุค Smart City ด้วยการพัฒนาระบบตรวจสอบประสิทธิภาพของเมือง ด้วยโปรแกรม Digital Urban Climate Twin (DUCT)  ในการประเมินผลลัพธ์ด้านสถาปัตย์ ระบบความเย็น สวนสาธารณะ พลังงานทางเลือก รถยนต์ปลอดคาร์บอน ว่ามีผลต่อสิ่งแวดล้อมภายในเมืองมากน้อยเพียงใด เพื่อประกอบเป็นข้อมูลในการวางผังเมือง การออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการมลภาวะภายในสิงคโปร์ให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการเปิดฉากต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในแบบของสิงคโปร์ ประเทศที่ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ภายใน ปี 2050 กับความฝันที่อย่างเป็นเมืองแห่งสวนสุด Cool เย็นได้ ไม่ง้อแอร์  ให้ได้จริง ๆ สักวันหนึ่ง 


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.bloomberg.com/news/features/2020-12-01/singapore-climate-change-reducing-heat-takes-trees-and-technology

https://www.todayonline.com/singapore/plant-underground-district-cooling-network-marina-bay-commissioned

https://www.channelnewsasia.com/news/cnainsider/singapore-hot-weather-urban-heat-effect-temperature-humidity-11115384

https://www.straitstimes.com/singapore/environment/cooling-singapore-project-comes-up-with-new-ways-to-beat-the-heat

https://www.clc.gov.sg/events/lectures/view/Building-and-Cooling-Singapore-in-an-Era-of-Climate-Change

https://www.cnbc.com/2016/03/27/lee-kuan-yew-was-actually-singapores-chief-gardener.htm


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top