Thursday, 3 July 2025
COLUMNIST

เจ้าชายกำมะลอ โอรสผู้สมอ้าง องค์นโรดมและหม่อมเจ้าหญิงแห่งสยาม

เรื่องของเรื่องที่ผมยกเรื่องนี้มาเขียนให้ทุกท่านได้อ่านกันเพลิน ๆ นั้น เกิดขึ้นจากการที่ผมได้หยิบเอาหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” ของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาอ่านเล่น ๆ อีกคำรบ โดยเฉพาะเรื่องของท่านป้า ม.จ.หญิงฉวีวาด ปราโมช ของท่านอาจารย์ ซึ่งหลายท่านน่าจะทราบว่า ม.จ.หญิงฉวีวาด ทรงหนีไปอยู่เขมร ซึ่งว่ากันว่าการละครในราชสำนักเขมรส่วนหนึ่งก็มาจากพระองค์นำไปเผยแพร่ ซึ่งจะถูกจะผิด จริงเท็จประการใดนั้น ไม่ใช่เนื้อหาในบทความนี้ (ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน “โครงกระดูกในตู้” ผมแนะนำให้ลองหาอ่านดูครับ เล่มเล็ก ๆ ใช้เวลาอ่านไม่นาน) 

เนื้อหาหลักในตอนนี้ก็คือเมื่อครั้ง ม.จ.หญิงฉวีวาด ปราโมช ทรงหนีไปเขมรนั้น มีเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดไว้ใน “โครงกระดูกในตู้” ว่าพระองค์ได้เป็นเจ้าจอมอีกองค์หนึ่งในสมเด็จพระนโรดมกษัตริย์เขมรในเวลานั้น ถึงขนาดที่มีพระโอรสร่วมกัน (อ้างตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) แต่ทว่าพระองค์เจ้าในที่นี้เมื่อชันสูตรแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีจริง อีกทั้งเรื่องราวการเป็นเจ้าจอมนั้นก็ไม่เป็นจริง แต่กลับปรากฏพระองค์เจ้ากำมะลอที่อ้างตนเป็นเชื่อพระองค์ชั้นสูงของกัมพูชาพระองค์หนึ่งชื่อว่า “พระองค์เจ้าพานดุรี” (พานดูรี/พานคุลี/พานตุคี) 

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าในช่วงต้นรัชกาลที่ ๗ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับหนังสือส่วนพระองค์จากพระองค์หญิงมาลิกา ซึ่งในหนังสือนั้นมีเนื้อหาโดยสรุปว่าพระองค์ทรงได้ข่าวว่ามีเจ้านายเขมรเข้ามาตกระกำลำบากอยู่ในหัวเมืองสยาม  จึงใคร่ขอความกรุณาให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ให้ทรงช่วยสืบหา หากว่าเป็นจริง ก็จะทรงสงเคราะห์ช่วยเหลือเจ้านายองค์นั้นสืบไป 

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงช่วยสืบหาเจ้านายที่ว่านั้น ผ่านกระทรวงมหาดไทย ถัดมาอีกสองปีจึงได้รับรายงานจากเจ้าเมืองพิจิตรว่า ได้พบชายเขมรอ้างตัวว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ชื่อ “พระองค์เจ้าพานดุรี” มารดาเป็นเจ้านายสยามพระนามว่า ม.จ.หญิงฉวีวาด จึงนำตัวไปสอบสวนพร้อมถ่ายรูปไว้  ก่อนจะส่งเป็นรายงานมาทูลฯ ถวาย พร้อมกับหนังสือฉบับหนึ่งจาก“พระองค์เจ้าพานดุรี” โดยมีเนื้อหาว่า (ขออนุญาตไม่ปรับเป็นภาษาปัจจุบันนะครับ) 

“ขอพระเดชะ ปกเกล้าปกกระหม่อม ขอพระราชทานกราบถวายบังคมทูลกรมพระดำรงราชานุภาพ ขอทราบใต้ละอองธุลี ข้าพระพุฒิเจ้าขอเล่าความตามต้นเนิ่ม เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๕ หม่อมเจ้าแม่ฉลีวาฏได้ออกจากพระราชอาณาจักรสยามไปที่พึ่งอาไสอยู่ในประเทสเขมร ได้บังเกิดข้าพระพุฒิเจ้าคนหนึ่ง แล้วได้เล่าบอกว่าเป็นพระราชตระกูลในสยาม ตั้งแต่ข้าพระพุฒิเจ้ารู้ความมา ก็ตั้งใจว่าจะทะนุบำรุงชาฏสยามให้อุตตมะชาฏอยู่

บันลุมาถึงรัชการ พระบาทสมเด็จรัชการที่ ๖ ม่อมเจ้าแม่ได้กลับมาอยู่ในสยาม ๑๖ ปีแล้ว ข้าพระพุฒิเจ้าก็ได้ภยายามตามมา หวังใจจะได้พึ่งพระบูรพะโพธิสมภาร ตั้งแต่เกิดมา ข้าพระพุฒิเจ้าเกิดมารู้ตัวว่าพระมารดาเกิดเป็นชาฏสยามก็ตั้งใจจะรักษาชาติสยามให้อุตตะมะชาฏ ที่ข้าพระพุฒิเจ้าเข้ามานี่จะได้แคลงคล้าย ยกเนื้อยกตัวดูถูกพระเจตสะดาพระองค์หนึ่งพระองค์ใดก็หามิได้ ประโยถจะสืบหาพระมาดาให้เห็นเท่านั้น แล้วจะไม่ให้ระคายไนพระราชตระกูลสยามด้วย ค้วนไม่ค้วนก็ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรฏ เพราะข้าพระพุฒิเจ้าเป็นคนเขมรเข้ามาใหม่ แล้วไม่รู่ความผิดชอบ
ลงชื่อ Phantugi”

แต่จริง ๆ แล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงสืบเรื่องของนายพานดุรีผู้มีนี้มาก่อน เพราะครั้ง ม.จ.ฉวีวาด ทรงกลับมาสยามก็ทรงทราบว่าพระองค์มีบุตรชาย แต่จะเกิดจากผู้ใดไม่ชัดแจ้ง พบแต่เพียงว่าติดคุกอยู่ฝั่งเขมร พอได้เรื่องราวแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงได้ทรงส่งหนังสือไปแจ้งแก่พระองค์หญิงมาลิกา เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯก็ทรงได้รับหนังสือของพระองค์หญิงมาลิกา กราบทูลฯ ตอบมาว่า

“ม.จ.ฉวีวาดเมื่อเสเพลไปอาศัยอยู่ในกรุงกัมพูชา สมเด็จพระนโรดมจะได้เลี้ยง ม.จ.ฉวีวาดเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามก็หาไม่  เมื่อหนีตามนายเวนผึ้ง (นายเวร ชื่อผึ้ง) ไปกัมพูชาแล้ว ม.จ.ฉวีวาดได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนโรดมครั้งหนึ่ง ทรงบอกว่าถ้าจะอยู่ในวังท่านก็จะทรงเลี้ยง แต่ม.จ.ฉวีวาดกราบทูลว่าท่านมีครรภ์กับนายเวนผึ้งแล้ว สมเด็จพระนโรดมก็ทรงอนุมัติตามนั้น ม.จ.ฉวีวาดจึงได้อยู่กินกับนายเวนผึ้ง แบบเป็นเมียน้อยเขา เพราะเขามีเมียอยู่ก่อนแล้วถึงสองคน จึงอยู่กับนายเวนผึ้งได้ไม่เท่าไหร่ ก็วิ่งออกไปได้กับออกญานครบาล(มัน) แล้วเสเพลไปได้ออกญาแสรนธิบดี(ปัล) เจ้าเมืองระลาเปือย เป็นผัวอีกคนหนึ่ง  บังเกิดบุตรชายด้วยกันชื่อ "นุด" ซึ่งตั้งตนเป็น “พระองค์เจ้าพานดุรี” นั่นแหละ เมื่อเด็กชายนุดยังเป็นเด็กอายุ ๖ ขวบ  ม.จ.ปุก (ในเจ้าฟ้าอิศราพงศ์) พระอัครนารีเอาตัวไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง  ให้บ่าวในกรมเรียกลูกชายม.จ.ฉวีวาดว่า "คุณ" คนอื่นๆ ก็เรียกตามๆกันไป ไพล่ไปได้กับพระพิทักราชถาน(ทอง) เป็นผัวอีกคนหนึ่ง  ต่อมาพระพิทักราชถานสิ้นชีพไป   ม.จ.ฉวีวาดได้ผัวใหม่  เป็นที่ขุนศรีมโนไมย อยู่กรมกาวัลเลอรีย์ในสมเด็จพระนโรดม  อยู่ด้วยกันเป็นช้านานหลายปี เจ้านุดบุตรชายของ ม.จ.ฉวีวาดกับเจ้าเมืองระลาเปือยนั้นก็อยู่ด้วยกัน....

“นุด” มีบิดาเป็นเจ้าเมืองระลาเปือย ชื่อ “ปัล” เป็นเชื้อเจ๊ก หาเป็นเชื้อเจ้ามิได้ บุตรชาย ม.จ.ฉวีวาดนั้น ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนโรดมติดคุกครั้งหนึ่ง  ออกจากคุกพร้อมกันกับคนโทษด้วยกันหลายร้อยคน เมื่อขณะเปลี่ยนแผ่นดินใหม่...ในแผ่นดินพระศรีสวัดในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๖๑-๒๔๖๒ บุตรชาย ม.จ. ฉวีวาดติดคุกอีกครั้งหนึ่ง แต่โทษเป็นประการใดกระหม่อมฉันก็ลืมไป จำได้แน่แต่ว่าติดคุกด้วยตั้งตนเป็นโจรกรรมในครั้งแรก ในครั้งหลังดูเหมือนไปตั้งตนว่าเป็นเจ้า วานนี้ได้รับจดหมายลายพระหัตถ์ของฝ่าพระบาทก็จวนเพลานักแล้ว ไปดูบาญชีคุกไม่ทัน วานนี้และวันนี้เป็นวันกำเนิดพระเยซู กระทรวงหยุดทำงาน” 

พอกระทรวงเปิดทำการพระองค์หญิงมาลิกาจึงได้ส่งหนังสือมาเพิ่มเติมอีกโดยมีความว่า 

“ถวายบังโคมยังใต้ฝ่าพระบาท ทรงทราบ กระหม่อมฉันไปขออนุญาตกระทรวงยุติธรรมค้นหาหนังสือคุก และสารกรมทัณฑ์ ซึ่งตุลาการตัดสินจากโทษนายนุด บุตรชายของหม่อมเจ้าฉวีวาด ซึ่งตั้งตนเป็นพระองค์เจ้าพานดุรีนั้น โทษเมื่อแผ่นดินก่อนและแผ่นดินปัจจุบัน ค้นหายังไม่ภพ ภพแต่สำเนาสารกรมทัณฑ์ ศาลอุทรณ์กรุงภนมเพญ เห็นพร้อมตามศาลพัตตบอง ขาดโทษเมื่อตอนปลายที่สุด สารกรมราชทัณฑ์ ตุลาการเมืองพัตตบอง เลขที่ ๑๙๔ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๔”

สรุปคือ “พานดุรี” เคยอ้างตนเป็นเชื้อเจ้าที่เขมรมาแล้ว ตามที่บันทึกไว้คือ ขณะที่ขุนศรีมโนไมย สามีคนสุดท้ายของหม่อมเจ้าฉวีวาดกำลังป่วยหนักด้วยไข้ทรพิษ ความกลัวว่าหมอจะมายึดเรือนแล้วเผาทิ้งสมบัติเพราะติดโรคร้าย จึงรีบขายเรือนสมบัติ จากนั้นก็หนีไปเมืองบาสักในกัมพูชาใต้ ต่อมา “นุด” ก็สมอ้างว่ามีศักดิ์เป็นราชบุตรกษัตริย์นโรดมจนมีคนหลงเชื่อให้เงินทองไปไม่น้อยแล้วก็หนีออกจากบาสัก ไปยังพัตตบองและใช้วิธีเดียวกับที่บาสัก แต่คราวนี้ถูกจับเข้าคุก เป็นครั้งที่ ๒ ข้อหาตั้งตนเป็นราชบุตรกษัตริย์ จนได้รับอภัยโทษปล่อยตัว เมื่อสมเด็จพระนโรดมสวรรคตและผลัดรัชกาล ก็ข้ามมาที่สยามเพื่อตามหาหม่อมแม่ นัยว่าอยากจะได้มรดก แต่ก็ไปถูกจับที่เมืองพิจิตรตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น 

เหตุแห่งการสมอ้างดังที่ได้เล่าไปนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากพานดุรีได้รับการเลี้ยงดูมาจากในวัง ทำให้เข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติ การวางตัวจนมีความน่าเชื่อถือ เมื่อสมอ้างตนว่าเป็นเจ้าชาย จึงทำให้มีผู้หลงเชื่อ แม้ว่าขณะที่นายพานดุรีถูกจับจะมีอาชีพเป็นหมอดูและช่างสักก็ตาม ซึ่งการแอบอ้างตนเป็นเจ้านายเขมรก็ยังมีอยู่อีกหลายกรณี ต่างกรรม ต่างวาระกันออกไป

ลับแลกระจก : บานกระจกที่เชื่อมอดีต และปัจจุบัน พร้อมความลับแห่งประวัติศาสตร์ใน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ

หากคุณได้ชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ฉากหนึ่งที่อาจผ่านตาแต่ไม่ทันสังเกต คือฉากในห้องลับหลังหอสมุดวชิรญาณ ที่ตัวละคร 'ลุงดอน' บรรณารักษ์ผู้เงียบขรึม เก็บกระจกบานใหญ่ไว้ในความมืด หากไม่ได้ใส่ใจ คุณอาจมองข้ามสิ่งที่อาจเป็น 'กุญแจ' ของประวัติศาสตร์อันลึกซึ้ง

กระจกบานนั้นใหญ่โต โดดเด่นด้วยกรอบไม้จำหลักลายพรรณพฤกษาและลายรักร้อยผสมผสานลวดลายแบบตะวันตกอย่างกลมกลืน แต่สิ่งที่ทำให้มันน่าสนใจยิ่งขึ้นคือ ไม้กางเขนกับมงกุฎ สัญลักษณ์ที่อาจดูเหมือนไม่ใช่ของไทย แต่กลับปรากฏบนงานฝีมือในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ทำให้เกิดคำถาม—กระจกนี้มาจากไหน และมีความหมายอย่างไร?

จากราชมณเฑียร วังหน้า สู่ความลับในห้องสมุด
การสืบค้นประวัติศาสตร์พาเราย้อนกลับไปสู่ราชมณเฑียร วังหน้า ที่ซึ่งกระจกบานนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชมณเฑียรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กระจกดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะตัว เป็นงานออกแบบที่สะท้อนการพบกันระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก—ลายไทยอันประณีตเคียงคู่กับสัญลักษณ์คริสต์ศาสนาอย่างไม้กางเขนและมงกุฎ สื่อถึงการต่อสู้ การทดสอบ และรางวัลจากสวรรค์ กระจกนี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องตกแต่งพระราชมณเฑียร แต่ยังสะท้อนพระราชรสนิยมและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ในการนำพาประเทศไทยเข้าสู่โลกสมัยใหม่

แรงบันดาลใจในวรรณกรรมและภาพยนตร์
ความลึกลับของกระจกบานนี้ยังอาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ทวิภพ วรรณกรรมเรื่องเยี่ยมที่ตัวเอกใช้กระจกบานใหญ่เป็นช่องทางย้อนเวลา เพื่อสื่อสารและเรียนรู้จากอดีต เช่นเดียวกับบทบาทใน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ที่กระจกนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบัน

กระจกในฐานะสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์
ในบริบทของภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ลับแลกระจกไม่ได้เป็นเพียงสิ่งประกอบฉาก แต่แฝงความหมายที่ลึกซึ้ง มันเป็นเครื่องเตือนใจถึงความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การมองอดีตเพื่อทำความเข้าใจกับปัจจุบัน และความลับที่ถูกเก็บซ่อนไว้ในมุมมืดของประวัติศาสตร์

การปรากฏของลับแลกระจกในภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนถึงความใส่ใจในรายละเอียดของทีมผู้สร้าง ที่นำสิ่งของทางประวัติศาสตร์มาผสมผสานกับการเล่าเรื่องได้อย่างงดงาม นี่ไม่ใช่เพียงเรื่องราวของการปฏิวัติ หากแต่เป็นการชวนให้เรา 'มอง' ประวัติศาสตร์ในแง่มุมใหม่—ผ่านบานกระจกที่สะท้อนความจริงหลายชั้น ทั้งที่เราเคยมองข้ามไปและที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

สำหรับใครที่ชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ แล้วเกิดความสนใจใน ลับแลกระจก ที่ปรากฏในฉากของ 'ลุงดอน' และอยากเห็นของจริง คุณสามารถตามรอยประวัติศาสตร์นี้ได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ตำแหน่งของกระจกในปัจจุบัน
ลับแลกระจกบานนี้ถูกจัดแสดงอยู่ในส่วนหนึ่งของพระที่นั่งบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเดิมเคยเป็นราชมณเฑียรในวังหน้า พระราชวังของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กระจกบานนี้ยังคงความสง่างาม แม้เวลาจะผ่านไปกว่าร้อยปี ด้วยกรอบไม้จำหลักลายพรรณพฤกษาและลายรักร้อยอันวิจิตรที่สะท้อนถึงความสามารถของช่างฝีมือในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น

การเดินทางไปชม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่บริเวณถนนหน้าพระธาตุ ใกล้สนามหลวง กรุงเทพมหานคร การเดินทางสะดวกสบายทั้งด้วยรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารสาธารณะ หรือหากคุณอยู่ใกล้ย่านเมืองเก่า สามารถเดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีม่วง (MRT) มาลงที่สถานีสนามไชย และต่อรถหรือเดินเพียงเล็กน้อยก็ถึงสถานที่

สิ่งที่คุณจะได้พบ
เมื่อไปถึง คุณจะได้สัมผัสกับบรรยากาศทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงอบอวลอยู่ในทุกมุมของพิพิธภัณฑ์ นอกจากลับแลกระจก คุณยังจะได้ชมโบราณวัตถุอื่น ๆ ที่สะท้อนวิถีชีวิต รสนิยม และศิลปะในยุคของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของพระองค์ในประวัติศาสตร์ไทย

ข้อควรทราบ
การเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ควรตรวจสอบเวลาทำการล่วงหน้า โดยทั่วไปเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. และปิดทำการในวันจันทร์-อังคาร การซื้อตั๋วเข้าชมสามารถทำได้ที่จุดขายตั๋วบริเวณพิพิธภัณฑ์

นี่คือโอกาสที่คุณจะได้สัมผัสประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด และชื่นชมความงดงามของลับแลกระจกในสถานที่จริง—การพบกันของอดีตและปัจจุบันผ่านบานกระจกที่สะท้อนความลึกซึ้งของประวัติศาสตร์ไทย

ย้อนประวัติศาสตร์ปฏิบัติการวันคริสต์มาส ภารกิจมนุษยธรรมเพื่อชาวเกาะห่างไกลในแปซิฟิก

ช่วงนี้ยังอยู่ในเทศกาลแห่งความสุข จึงขอนำเรื่องราวดีดี อ่านแล้วมีความสุขมาบอกเล่าให้กับท่านผู้อ่าน TST เป็นความจริงแท้ที่แน่นอนว่า เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ แม้ว่า ด้านหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐฯมักจะมีส่วนร่วมแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับชาติต่าง ๆ ไปทั่วโลกมากมายหลายครั้งหลายหน แต่อีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ โดยกระทรวงกลาโหมและกองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติอยู่เป็นนิจเสมอมาคือ ปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Operations) อันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่เกี่ยวกับมวลชน และ Operation Christmas Drop ก็เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมของกองทัพสหรัฐฯ

Operation Christmas Drop กลายเป็นปฏิบัติการที่เป็นประเพณีได้เริ่มต้นขึ้นในปี 1952 และนับตั้งแต่นั้นได้กลายเป็นภารกิจของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯที่ดำเนินการมายาวนานที่สุดด้วยการปฏิบัติการเต็มรูปแบบ และเป็นปฏิบัติการบินขนส่งเพื่อมนุษยธรรมที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยชุมชนท้องถิ่นในกวม ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบุคลากรในฐานทัพอากาศ Andersen กวม และฐานทัพอากาศ Yokota ประเทศญี่ปุ่น และมีหมู่เกาะ Micronesia เป็นเป้าหมาย ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (DOD) ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงปี ค.ศ. 1948-49 กองทัพสหรัฐฯ ก็ได้เปิดปฏิบัติการ Berlin Airlift เพื่อขนส่งอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์ทางอากาศไปยังชาวเบอร์ลินตะวันตก หลังจากที่สหภาพโซเวียตปิดกั้นการจราจรทางรถไฟและทางถนนไปยังเบอร์ลินตะวันตก ()

ปฏิบัติการนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1951 เมื่อลูกเรือของเครื่องบินลาดตระเวนแบบ WB-29 สังกัดฝูงบินลาดตระเวนตรวจอากาศที่ 54 ซึ่งประจำอยู่ ณ ฐานทัพอากาศ Andersen ในกวม กำลังบินปฏิบัติภารกิจไปทางทิศใต้ของเกาะกวมเหนือ บริเวณเกาะปะการังใกล้เกาะ Kapingamarangi ของ Micronesia เมื่อพวกเขาเห็นชาวเกาะกำลังโบกมือให้ พวกลูกเรือจึงรีบรวบรวมสิ่งของที่มีอยู่บนเครื่องบินใส่หีบห่อที่ติดร่มชูชีพ และทิ้งสิ่งของลงไปในขณะที่พวกเขาทำการบินวนอีกรอบ ชาวบนเกาะ Agrigan เล่าว่า “พวกเราเห็นสิ่งเหล่านี้ออกมาจากด้านท้ายของเครื่องบิน และผมก็ตะโกนว่า ‘มีสิ่งของถูกทิ้งลงมา’ “ในตอนนั้น หมู่เกาะเหล่านั้นยังไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปา และเกาะต่าง ๆ ก็ถูกพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มเป็นระยะ ๆ หีบห่อชุดแรกบางส่วนไม่สามารถลงมาถึงที่หมายตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งชาวเกาะจึงว่ายน้ำออกไปเพื่อเก็บสิ่งของบางส่วน ในขณะที่บางส่วนถูกน้ำพัดห่างออกไปหลายไมล์และถูกค้นพบในหลายเดือนต่อมา

Operation Christmas Drop เป็นภารกิจของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่มีความต่อเนื่องที่สุด ซึ่งยังคงปฏิบัติงานเต็มรูปแบบ และเป็นการบินขนส่งเพื่อมนุษยธรรมที่ยาวนานที่สุดในโลก ในปี 2006 มีการส่งของมากกว่า 800,000ปอนด์ (360,000 กก.) โดยปฏิบัติการดังกล่าวเปิดโอกาสให้กองทัพสหรัฐฯได้ฝึกฝนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เนื่องด้วยคาดว่า กองทัพสหรัฐฯจะลดปฏิบัติการในอิรักหรือพื้นที่อื่น ๆ ลง ภายหลังการถอนกำลังทหารออกมา โดยอาสาสมัครในฐานทัพอากาศ Andersen รวมถึงฝูงบินเคลื่อนย้ายทางอากาศที่ 734 รวมทั้งลูกเรือและเครื่องบินจากฝูงบิน 36 ฐานทัพอากาศ Yokota ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าร่วมในปฏิบัติการด้วย นอกจากนั้นแล้วยังมีสมาชิกของชุมชนต่าง ๆ ในกวมได้ช่วยดำเนินการอีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกิจกรรมระดมทุนต่าง ๆ อาทิ การแข่งขันกอล์ฟ และการแข่งขันวิ่งการกุศล รวมถึงธุรกิจในท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุนสำหรับของขวัญในแต่ละกล่องด้วย ปฏิบัติการในปี 2006 มีการส่งของไป 140 กล่องใน 59 เกาะ และปฏิบัติการในปี 2011 ยังเพิ่มการส่งสารเหลวสำหรับหลอดเลือดจำนวน 25 กล่องไปยังเกาะ Fais เพื่อช่วยในการต่อสู้กับการระบาดของโรคไข้เลือดออกในท้องถิ่น กล่องสิ่งของถูกทิ้งลงในทะเลบริเวณใกล้ชายหาด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งของเหล่านั้นตกใส่ผู้คนในพื้นที่

ในปี 2014 กองกำลังทางอากาศสหรัฐฯประจำภาคพื้นแปซิฟิกได้ส่งมอบเสบียง 50,000 ปอนด์ไปยัง 56 เกาะในหมู่เกาะ Micronesia ในปี 2015 กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่น (JASF) และกองทัพอากาศออสเตรเลีย (RAAF) ได้เข้าร่วมในปฏิบัติการร่วมกับกองทัพอากาศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งต่างได้ส่งเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 Hercules ชาติละ 1 ลำ เพื่อเข้าร่วมฝูงกับเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 อีก 3 เครื่องของสหรัฐอเมริกา JASDF และ RAAF ยังได้เข้าร่วมในปฏิบัติการในปี 2016 และ 2017 และธันวาคม 2017 ถือเป็นเหตุการณ์การฝึกปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมครั้งแรกสำหรับเครื่องบินแบบ C-130J จากฐานทัพอากาศ Yokota รวมถึงการแข่งขัน Quad-lateral ครั้งแรกกับ JASDF, RAAF และกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ในปี 2021 กองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลีได้เข้าร่วมในปฏิบัติการนี้เป็นครั้งแรก และในปี 2023 กองทัพอากาศแคนาดาเข้าร่วมเป็นครั้งแรกเช่นกัน ปัจจุบันประเพณีคริสต์มาสที่ไม่เหมือนใครนี้ ยังคงดำเนินต่อไปด้วยการบริจาคจากผู้อยู่อาศัยและบริษัทธุรกิจของกวม โดยกล่องแต่ละใบที่ถูกทิ้งจากเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 จะมีน้ำหนักราว 400 ปอนด์ (180 กก.) และมีสิ่งของต่าง ๆ เช่น อวนจับปลา วัสดุก่อสร้าง นมผง อาหารกระป๋อง ข้าว ตู้เย็น เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น และอุปกรณ์การเรียน ฯลฯ

ในปี 2020 NETFLIX ได้สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในชื่อเดียวกันคือ Operation Christmas Drop ซึ่งเป็นเรื่องราวของ Erica Miller (Kat Graham) ผู้ช่วย สส. Bradford จาก Washington D.C. ซึ่งได้รับมอบหมายให้มาสืบสวนตรวจสอบฐานทัพอากาศสหรัฐฯแห่งนี้ ด้วยความตั้งใจที่จะหาเหตุผลเพื่อสั่งปิดฐานทัพฯนี้ (โดยเจ้านายของเธอ สส. Bradford วิจารณ์ว่า “เป็นการใช้อุปกรณ์ทางทหารของรัฐบาลเพื่อส่งของขวัญวันคริสต์มาส” แต่ภารกิจนี้มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานเช่นกัน เป็นโอกาสในโลกแห่งความเป็นจริงสำหรับนักบินในการฝึกซ้อมทักษะการบิน ซึ่งต้องใช้ในการสนับสนุนในการปฏิบัติการภาคพื้นดิน) มีเรืออากาศเอก Andrew Jantz (Alexander Ludwig) เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้บังคับการฝูงบินลำเลียง ซึ่งได้รับคำสั่งให้นำ Erica ชมฐานทัพฯ และโน้มน้าวเธอให้เปิดใจให้กว้าง ฐานทัพฯ นี้มีประเพณีประจำปีคือ การส่งของขวัญคริสตมาสให้กับชาวเกาะต่าง ๆ ในช่วงคริสต์มาส Andrew ได้พา Erica ชมรอบ ๆ ฐานทัพฯ และเกาะต่างๆ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ปฏิบัติการอันเป็นประเพณีเช่นนี้มีความคุ้มค่า พร้อมทั้งอธิบายว่า พวกเขารวบรวมอาหารและเงินบริจาคจากคนในท้องถิ่นได้อย่างไร ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าทรัพยากรของฐานทัพ ซึ่งก็คือเงินภาษีของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ถูกนำมาใช้ที่นี่ และเมื่อ Erica ได้รับประสบการณ์ในการเข้าร่วมปฏิบัติการดังกล่าว และได้สร้างแรงบันดาลใจจนทำให้เธอมีจิตวิญญาณแห่งคริสต์มาส เธอจึงยอมรับว่า ปฏิบัติการนี้เป็นประเพณีนี้คุ้มค่า และไม่สมควรต้องปิดฐานทัพอากาศแห่งนี้

เพชรสีน้ำเงินกับขนแกะทองคำ : ไขปริศนาใน 2475 วัตถุทรงคุณค่าที่ถูกนำมาสร้างความสับสนกับ ‘คดีเพชรซาอุ’

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ได้ดูภาพยนตร์ 2475: Dawn of the Revolution คุณอาจจำฉากหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรพิเศษได้ ฉากที่หนังสือเล่มหนึ่งวางอยู่อย่างเรียบง่ายบนโต๊ะ แต่ถ้าสังเกตดี ๆ คุณจะเห็นว่าหน้าหนึ่งหนังสือมีภาพผู้หญิงและเพชรสีน้ำเงิน ซึ่งแฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ในระดับสากล

เพชรสีน้ำเงินนั้นคือ The Wittelsbach Diamond เพชรที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของราชวงศ์ Wittelsbach แห่งบาวาเรีย เพชรนี้ไม่ใช่แค่เพชรธรรมดา แต่เป็นส่วนหนึ่งของ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ขนแกะทองคำ (Order of the Golden Fleece) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศและอำนาจในยุโรปยุคโบราณ

จุดพิเศษของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชิ้นนี้
สิ่งที่ทำให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีความพิเศษอย่างยิ่งคือ "ขนแกะสีทอง" ที่ปรากฏอยู่ด้านล่าง เพชร Wittelsbach ทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางบนยอดของเครื่องราชฯ ขณะที่ขนแกะทองคำด้านล่างถูกออกแบบมาอย่างประณีตเพื่อสื่อถึงตำนานกรีกโบราณเกี่ยวกับขนแกะทองคำ (Golden Fleece) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและความรุ่งเรือง

การออกแบบที่ซับซ้อนและความสำคัญทางสัญลักษณ์ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ทำให้มันเป็นสมบัติที่ยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ยุโรป โดยเฉพาะราชวงศ์ Wittelsbach ซึ่งใช้เพื่อแสดงสถานะและอำนาจในยุคนั้น

การบิดเบือนในประวัติศาสตร์
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ภาพของ The Wittelsbach Diamond เคยถูกใช้ผิดบริบทโดยสื่อบางสำนักในประเทศไทย โดยนำมาเชื่อมโยงกับ คดีเพชรซาอุ ในลักษณะที่บิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมทั้งปล่อยข่าวลือที่มีเจตนาใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ความเข้าใจผิดนี้สะท้อนถึงการใช้ภาพลักษณ์ของวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความเข้าใจผิดในเชิงการเมือง

สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ยิ่งสับสนไปกว่านั้นคือ เพชรซาอุ ที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในเวลานั้น แท้จริงแล้วไม่มีใครเคยเห็นหน้าตาที่แท้จริงของมันเลย ไม่มีภาพถ่ายหรือหลักฐานชิ้นใดที่ระบุได้ชัดเจนว่าเพชรดังกล่าวมีรูปลักษณะอย่างไร แต่ภาพที่ถูกนำมาใช้เพื่อประกอบข่าวในช่วงนั้นกลับเป็นภาพของอัญมณีที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับคดี

หนึ่งในภาพที่ถูกหยิบมาใช้คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ขนแกะทองคำ ที่มีเพชร Wittelsbach ประดับอยู่ด้านบน โดยสื่อบางสำนักนำภาพนี้มาเผยแพร่ในฐานะตัวแทนของเพชรซาอุ ทั้งที่มันเป็นสมบัติของราชวงศ์ Wittelsbach แห่งบาวาเรีย และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเรื่องดังกล่าวเลย

นอกจากนี้ ยังมีการหยิบยกภาพของ Hope Diamond ซึ่งเป็นเพชรบลูไดมอนด์อีกเม็ดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองมาประกอบข่าวเช่นกัน Hope Diamond เป็นเพชรสีน้ำเงินที่โด่งดังจากความงดงามและเรื่องเล่าถึงคำสาป 

หนึ่งในเจ้าของที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Hope Diamond คือ Evelyn Walsh McLean สตรีผู้มั่งคั่งในสังคมชั้นสูงของอเมริกา ซึ่งได้รับเพชรนี้จาก Pierre Cartier ในปี 1911 Evelyn มักสวมเพชรนี้ในงานสังคม ทำให้มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราและเอกลักษณ์ แต่ชีวิตของเธอกลับเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม เช่น การสูญเสียลูกชายและสามี รวมถึงปัญหาหนี้สิน ซึ่งหลายคนเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับคำสาปของเพชร

แต่อย่างไรก็ตาม Hope Diamond นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด การเผยแพร่ภาพเหล่านี้สร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน และทำให้เกิดการจดจำภาพผิด ๆ จนกลายเป็นเรื่องโกหกที่ถูกกล่าวซ้ำไปซ้ำมา

การบิดเบือนลักษณะนี้สะท้อนถึงวิธีการของผู้ไม่หวังดีที่ใช้ความไม่รู้หรือความคลุมเครือของข้อมูลเพื่อสร้างความเสียหายแก่สถาบันหรือบุคคลสำคัญ แม้ว่าความจริงจะถูกเปิดเผยในภายหลัง แต่ภาพจำผิด ๆ ก็ยังคงอยู่และถูกนำมาใช้ในวาระต่าง ๆ เพื่อหวังผลทางการเมืองหรือเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันกษัตริย์ไทย

เหมือนดั่งในบทสนทนาของ 'ลุงดอน' ตัวละครในภาพยนตร์ 2475 มีคำพูดที่โดดเด่นว่า "เรื่องโกหกแม้ว่าจะถูกพิสูจน์ด้วยข้อเท็จจริงแล้ว แต่ก็ยังมีคนหยิบเอามาพูดถึงเรื่อย ๆ" ซึ่งคำพูดนี้ เป็นการอุปมาอุปไมยโดยหยิบยกกรณีคดีเพชรซาอุ  เพื่ออธิบายความเท็จในเนื้อหาบางส่วนที่ปรากฏในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งบิดเบือนภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475...

ซึ่งทุกคน ณ เวลานั้นก็ทราบดีว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเท็จแต่ก็มีการหยิบยกประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1ขึ้นมาพูดถึงเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาโดยตลอด

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์ 2475: Dawn of the Revolution ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงนำเสนอเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญของประเทศไทย แต่ยังแฝงไว้ด้วยรายละเอียดที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์โลกและวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง

ข้าพเจ้ายังมั่นใจว่ามีอีกหลายฉาก หลายสัญลักษณ์ที่รอให้เราได้ค้นพบและตีความ หากทุกท่านสนใจ ข้าพเจ้าจะค่อย ๆ หยิบยกมาเล่าในครั้งต่อ ๆ ไป เพราะทุกฉากในภาพยนตร์นี้เหมือนหน้าหนังสือที่มีเรื่องเล่าซ่อนอยู่ พร้อมรอให้เราเปิดอ่าน

ดังนั้น ข้าพเจ้าขอเชิญชวนทุกท่านที่หลงใหลในประวัติศาสตร์หรือสนใจในแง่มุมที่ลึกซึ้งของเรื่องราวในอดีต มาร่วมติดตามกันต่อ เพราะยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอการเปิดเผย และข้าพเจ้าขอสัญญาว่าจะเล่าให้ฟังอย่างถึงแก่นในครั้งหน้า

‘ยุให้แตกแยกแล้วปกครอง’ กลยุทธ์เก่า!! ตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมัน ที่ยังใช้ได้ผลอยู่เสมอ ข้อมูลคือกระสุน ความระแวงคือเป้าหมาย และความสามัคคีคือ ‘เกราะสุดท้าย’ ของเรา

(22 ธ.ค. 67) การสร้างความแตกแยก : กลยุทธ์เก่าในสงครามใหม่ที่คมกริบ รับปี2025

ในยุคที่โลกหมุนไปตามข้อมูลและเทคโนโลยี การต่อสู้ที่เคยอาศัยกองทัพและสนามรบกลับแปรเปลี่ยนเป็นสงครามในพื้นที่สาธารณะเสมือนจริง บนจอโทรศัพท์ และผ่านข้อความไม่กี่บรรทัด หลักการ ‘สร้างความแตกแยก’ ซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่อาณาจักรโรมัน กลับมาทรงพลังขึ้นในรูปแบบที่ซับซ้อนและยากจับต้องยิ่งขึ้น

นี่คือสงครามที่ศัตรูไม่ต้องใช้กำลัง แต่สร้างศัตรูในใจเราแทน พวกเขาใช้ข้อมูลเป็นกระสุน ปลุกปั่นความคิด ขยายความขัดแย้ง และสร้างความหวาดระแวงในสังคม หลายคนอาจมองไม่เห็นว่าอาวุธชนิดนี้อยู่ตรงหน้า เพราะมันไม่ได้แหลมคมเหมือนหอกดาบ แต่แฝงตัวในคำพูด การเล่าเรื่อง และการแบ่งแยกความคิดผ่านหน้าจอ

‘เมื่อสังคมแตกแยก ความสามัคคีที่เคยเป็นเกราะกำบังย่อมพังทลาย’ และนี่คือยุคของสงครามข้อมูลข่าวสาร หรือ Hybrid Warfare ที่ผสานการใช้เทคโนโลยี บิดเบือนข้อมูล และการบ่อนทำลายจิตใจ ด้วยการสร้างศัตรูในที่ที่ควรมีความไว้เนื้อเชื่อใจ บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึก 7 กลยุทธ์ที่สร้างความแตกแยกในยุคดิจิทัล และยกระดับเป็นเครื่องมือทางการเมืองและสงครามที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

จาก ‘การสร้างความไม่ไว้วางใจ’ ขยายความแตกต่างเป็นปัญหา สู่การปลุกปั่นผู้คนผ่าน ‘ไมโครอินฟลูเอนเซอร์’ ผู้ทำงานอยู่เงียบ ๆ แต่ทรงอิทธิพลเกินคาด คุณจะเห็นชัดว่า การแตกแยกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่เป็นกลยุทธ์ที่ถูกออกแบบมาอย่างแยบยลและเฉียบคม

ในโลกที่สงครามสนามรบถูกแทนที่ด้วยการต่อสู้ทางความคิดและข้อมูล ‘การรู้เท่าทัน’ คือเกราะป้องกันที่ดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม ‘หากบ้านเราแตกแยกจากภายใน ประตูชัยย่อมเปิดกว้างให้ศัตรูภายนอกเสมอ’

บทความนี้จะพาคุณไปดูกลยุทธ์หลักที่ถูกขัดเกลาให้เหมาะกับยุคดิจิทัล ตั้งแต่การสร้างไมโครอินฟลูเอนเซอร์ผู้เงียบเชียบแต่ทรงอิทธิพล ไปจนถึงการบิดเบือนข้อมูลที่ใช้โจมตีสถาบันหลักในประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ผลลัพธ์ก็คือ ‘ความแตกแยก’ ที่ฝังรากลึกอย่างไม่ทันตั้งตัว

• ความไม่ไว้วางใจที่ถูกหว่านลงผ่านข้อมูลเท็จ
ข้อมูลเท็จ ข่าวปลอม หรือการบิดเบือนความจริงถูกปล่อยออกไปอย่างมีเป้าหมาย เพื่อสร้างความสงสัยและระแวงในหมู่ประชาชน ทำให้ความเชื่อใจที่เคยมีต่อกันและสถาบันหลักถูกกัดกร่อนไปทีละน้อย จนในที่สุด ความไม่มั่นคงทางความคิดก็กลายเป็นความขัดแย้งในระดับสังคม

• ความแตกต่างเล็ก ๆ ที่ถูกขยายให้กลายเป็นขั้วความขัดแย้ง
ความแตกต่างทางความคิด ชนชั้น ศาสนา หรือภูมิภาค ที่เคยอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ ถูกหยิบยกขึ้นมาขยายความ ให้กลายเป็น ‘ประเด็นใหญ่’ จนประชาชนแบ่งฝ่าย และมองอีกฝ่ายเป็น ‘ศัตรู’ อย่างไม่รู้ตัว

• ผลประโยชน์ที่ถูกบิดเบือนให้เป็นเชื้อไฟของความไม่พอใจ
การจัดสรรผลประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมถูกนำมาเป็นเครื่องมือปลุกปั่น โดยบิดเบือนให้เห็นว่า ‘มีใครบางคนได้มากกว่า’ หรือ ‘นี่คือความไม่ยุติธรรม’ ทำให้ฝ่ายหนึ่งรู้สึกถูกเอาเปรียบและเกิดความไม่พอใจ กลายเป็นเชื้อไฟที่พร้อมลุกลาม

• ตัวแทนปลอมที่ถูกส่งมาบ่อนทำลายจากภายใน
คนกลุ่มนี้มักถูกสร้างภาพให้ดูเหมือนเป็น ‘ผู้นำ’ หรือ ‘ตัวแทนของประชาชน’ แต่แท้จริงแล้วกลับทำหน้าที่ปลุกปั่นความขัดแย้ง บ่อนทำลายความสามัคคี และสร้างความวุ่นวายจากภายในสังคมทีละน้อย

• ไมโครอินฟลูเอนเซอร์: นักรบยุคใหม่ในสนามความคิค
อย่าคิดว่าใครจะต้องมีชื่อเสียงระดับประเทศถึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะในสงครามยุคนี้ ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้มีอิทธิพลขนาดเล็ก ถูกสร้างขึ้นมาเป็นหัวหอกในการปลุกปั่นความคิด พวกเขาทำงานเงียบ ๆ แต่สร้างกระแสความแตกแยกได้อย่างทรงพลัง ด้วย 4 ขั้นตอนที่แยบยลสุดขีด

1. การสร้างผู้นำความคิดเห็นแบบแฝง ดูเหมือนเป็นกลาง แต่แท้จริงกำลังชี้นำสังคมให้เดินตามแผนที่ถูกวางไว้

2. ปลุกปั่นผ่านข่าวลือ ข่าวเท็จและข้อมูลบิดเบือนถูกแพร่กระจาย ราวกับโรคระบาดที่หยุดไม่อยู่

3. ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว ขุดคุ้ยเรื่องราวส่วนตัวมาขยายผล กลายเป็นเครื่องมือทำลายชื่อเสียงอย่างไร้ความปรานี

4. สร้างความหวาดระแวงและแบ่งขั้ว เมื่อคนเริ่มไม่เชื่อใจกันเอง สังคมก็ไม่ต่างจากเรือที่รั่วรอวันจม

‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ : ตำราที่ใช้ได้เสมอ

หากย้อนกลับไปในยุคโรมัน จักรวรรดิเคยทำให้ชนเผ่าต่าง ๆ แยกจากกันได้อย่างไร? 

คำตอบคือการบ่มเพาะความหวาดระแวงและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ให้มีใครรวมพลังกันได้ นั่นคือ ‘Divide and Rule’ กลยุทธ์แสนคลาสสิกที่ยังคงถูกหยิบมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเวทีการเมืองโลก

หลายพันปีผ่านไป เครื่องมือในการแบ่งแยกอาจเปลี่ยนจากคำสั่งทหารเป็น ‘คำพูด’ และ ‘ข่าวสาร’ แต่เป้าหมายยังเหมือนเดิม คือทำให้ทุกคนลุกขึ้นมาตั้งแง่ระแวงซึ่งกันและกัน ขัดแย้งกันเองโดยไม่ต้องรบสักนัด ลองสังเกตดูสิว่า ทุกครั้งที่สังคมเกิดประเด็นร้อน ๆ ทำไมเราถึงรีบจัดฝ่าย จัดขั้ว ยืนอยู่ตรงข้ามกันอย่างรวดเร็วราวกับถูกวางหมากเอาไว้?
พวกเขาอาจสร้างศัตรูขึ้นมาสักคน สร้างปัญหาขึ้นมาสักอย่าง และชี้นิ้วว่า ‘นั่นแหละคือสาเหตุ’ เราเองก็หลงติดกับดัก ด่าทอกันจนลืมไปว่า ศัตรูที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่เป็นคนที่คอยบงการอยู่เบื้องหลังอย่างแยบยล

ที่เจ็บปวดยิ่งกว่า คือการบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นสายใยผูกพันให้สังคมมั่นคงกลับกลายเป็นเครื่องมือสร้าง ‘ความเกลียดชัง’ นำเรื่องเล่าผิด ๆ มาเติมเชื้อไฟจนผู้คนหันมารบราฆ่าฟันกันเอง ทั้งที่เราควรเรียนรู้จากอดีต แต่กลับถูกหลอกใช้ให้ทำลายอนาคตของตัวเอง

สงครามสมัยใหม่ : การต่อสู้ที่มองไม่เห็น
สงครามไฮบริดในปัจจุบันผสมผสานการบ่อนทำลายจากภายใน ผ่านจิตวิทยาและเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น สงครามยูเครน-รัสเซีย หรือกลยุทธ์แบบ Hun Sen Model ที่ใช้การควบคุมกองทัพและแทรกแซงสถาบันหลักในประเทศ คุณจะเห็นชัดว่า การแตกแยกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่เป็นกลยุทธ์ที่ถูกออกแบบมาอย่างแยบยลและเฉียบคม

นี่ไม่ใช่สงครามที่มีรถถังประจันหน้า หรือเสียงปืนดังสนั่น แต่มันคือสงครามที่เล่นกับความคิดของเราโดยไม่รู้ตัว เราไม่ได้กำลังต่อสู้กับทหารที่ยกพลมาหน้าประตูเมือง แต่กำลังเผชิญกับเกมจิตวิทยาผ่านข่าวปลอม โพสต์ที่ชวนขบคิด และการปลุกปั่นให้สังคมแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ

สงครามไฮบริดในปัจจุบันคือการสอดแทรกความขัดแย้งในทุกมิติ จากเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงความเชื่อและวัฒนธรรม สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่ควันปืน แต่คือความร้าวฉานที่แผ่กระจายไปทั่ว ราวกับไฟลามทุ่งที่ไม่มีใครหยุดได้

สิ่งที่น่ากลัวคือ เราทุกคนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามนี้อย่างไม่รู้ตัว เพียงแค่แชร์โพสต์ ปล่อยความเกลียดชังให้แพร่กระจาย หรือเลือกยืนขั้วใดขั้วหนึ่งโดยไม่ทันได้คิดว่า 

‘แล้วสุดท้ายใครได้ประโยชน์’

สิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่การชนะสงครามในสนามรบ แต่คือการเห็น ‘เราต่อสู้กันเองจนหมดแรง’ แล้วในวันที่ความสามัคคีของเราสูญสิ้น นั่นแหละคือ ‘วันที่พวกเขาชนะอย่างสมบูรณ์แบบ’

บทสรุป : แพ้หรือชนะขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของเราเอง
‘การแตกแยกจากภายใน’ เป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ หากประชาชนไม่ตระหนักรู้และร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด การล่มสลายของชาติย่อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะในสงครามยุคนี้ ‘ข้อมูลคือกระสุน ความระแวงคือเป้าหมาย และความสามัคคีคือเกราะสุดท้ายของเรา’

ถ้าเรารู้เท่าทัน ตื่นตัว และไม่ปล่อยให้ใครมาปลุกปั่นความเกลียดชังได้ง่าย ๆ ความสามัคคีก็จะกลายเป็นเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุด

รู้จัก ‘สำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐ (D.O.G.E.)’ หน่วยงานระดับกระทรวงล่าสุดภายใต้รัฐบาล Trump ชุดใหม่

ประธานาธิบดี Donald Trump มีกำหนดจะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในวันที่ 20 มกราคม 2025 โดยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา Trump ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2021 มีกำหนดจะเข้ารับตำแหน่งหลังจากที่เขาเอาชนะ Kamala Harris รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 โดยชนะทั้งคะแนนนิยม (Popular vote) และคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral college) เมื่อเข้ารับตำแหน่ง เขาจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่สองในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งไม่ติดต่อกันต่อจากอดีตประธานาธิบดี Grover Cleveland ในปี 1893 และเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุด (78 ปี) ทั้งยังเป็นคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งหลังจากถูกฟ้องร้องเพื่อถอดถอนและเป็นคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา

ความแปลกและแตกต่างจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนอื่น ๆ ที่ผ่านมาของประธานาธิบดี Donald Trump ด้วยพื้นฐานภูมิหลังจากการเป็นนักธุรกิจและทำงานด้านสื่อมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน กอปรกับประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้วหนึ่งสมัย ทำให้เกิดคำมั่นสัญญาในการหาเสียงของประธานาธิบดี Trump ที่จะลดการใช้จ่าย ลดขนาด และการขาดดุลการคลังของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยแนวคิดในการตั้งคณะทำงานที่เรียกว่า ‘สำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐ (Department of Government Efficiency : D.O.G.E.)’ เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยหารือระหว่าง Elon Musk ผู้บริหาร TESLA และประธานาธิบดี Trump โดย Musk ได้เสนอแนวคิดในการตั้งสำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐในเดือนสิงหาคม 2024 ประธานาธิบดี Trump ได้กล่าวในการหาเสียงว่า หากเขาได้รับการเลือกตั้ง เขาจะให้ Musk รับตำแหน่งที่ปรึกษาเสริมสร้างประสิทธิภาพในรัฐบาล และเพื่อตอบสนองต่อเรื่องนี้ Musk ได้เขียนโพสต์บน X ระบุว่า "ผมเต็มใจที่จะให้บริการ" พร้อมกับภาพของเขาที่สร้างโดย AI ซึ่งยืนอยู่หน้าแท่นปราศรัยที่มีข้อความว่า "สำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐ" ต่อมาประธานาธิบดี Trump ได้เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวและให้ Musk และ Vivek Ramaswamy (ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Roivant Sciences CEO ของ OnCore Biopharma และ Arbutus Biopharma) เป็นผู้รับผิดชอบ

Musk ระบุว่า D.O.G.E. จะสามารถช่วยลดงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯได้ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การลดความสูญเปล่า การยกเลิกหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน และการจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง Ramaswamy ยังระบุด้วยว่า D.O.G.E. อาจจะยุบหน่วยงานของรัฐบาลกลางทั้งหมด และลดจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางลงได้มากถึง 75% และ Musk ยังเสนอให้รวมหน่วยงานของรัฐบาลกลางจากมากกว่า 400 หน่วยให้เหลือต่ำกว่า 100 หน่วย ซึ่ง Musk ได้อธิบายว่าการยกเลิกและปรับปรุงกฎระเบียบเป็นเส้นทางเดียวที่จะไปสู่โครงการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารของ SpaceX และให้สัญญาว่าเขาจะ "ทำให้รัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระและเงินของประชาชนอีกต่อไป" 

สำนักงานนี้จะมีลักษณะเป็นคณะทำงานซึ่งคล้ายกับความพยายามก่อนหน้านี้ อาทิ คณะกรรมาธิการ Keep ในสมัยอดีตประธานาธิบดี Theodore Roosevelt หรือคณะกรรมาธิการ Grace ในสมัยอดีตประธานาธิบดี Ronald Reagan และคณะกรรมาธิการ National Partnership for Reinventing Government ของอดีตรองประธานาธิบดี Al Gore และ 14 พฤศจิกายน 2024 Musk ได้เชิญชวนให้บุคคลที่สนใจเข้าทำงานให้กับ D.O.G.E. โดยสามารถส่ง CV ไปยังบัญชี X ของ D.O.G.E. บนโซเชียลมีเดีย และแม้จะเรียกว่า ‘กระทรวง (Department)’ แต่ก็ไม่ใช่หน่วยงานบริหารระดับรัฐบาลกลางซึ่งจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาก่อนจึงจะจัดตั้งหน่วยงานนี้ได้ แต่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาที่ปฏิบัติงานนอกรัฐบาลแทน โดยหน่วยงานนี้อาจดำเนินงานภายใต้รัฐบัญญัติคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับรัฐบาลกลาง (The Federal Advisory Committee Act)

แม้ว่า D.O.G.E ไม่น่าจะมีอำนาจในการควบคุมใด ๆ ด้วยตัวเอง แต่แทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่าหน่วยงานแห่งนี้สามารถมีอิทธิพลต่อฝ่ายบริหารชุดใหม่และมีกระบวนการกำหนดงบประมาณได้ ประธานาธิบดี Trump กล่าวว่าหน่วยงานดังกล่าวจะช่วย “ปรับปรุงแก้ไข ยุบเลิกระบบรัฐการ ลดกฎระเบียบที่มากเกินไป ลดรายจ่ายฟุ่มเฟือย และปรับโครงสร้างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลกลาง” นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่ามัสก์และรามาสวามีจะทำงานร่วมกับสำนักงานบริหารจัดการและงบประมาณเพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่า "การฟุ่มเฟือยและการฉ้อโกงครั้งใหญ่" ในการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2024 Musk ได้เสนอให้ยุบสำนักงานคุ้มครองทางการเงินผู้บริโภค (The Consumer Financial Protection Bureau) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ 1,600 นาย ใช้งบประมาณปีละราว 600ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แนวคิดของ Musk และ Ramaswamy เป้าหมายสูงสุดของ D.O.G.E. คือการมีประสิทธิภาพมากพอที่จะขจัดความจำเป็นของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุด และมีการกำหนดวันสิ้นสุดการทำงานของ D.O.G.E ไว้ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2026 ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของ Ramaswamy ที่ว่าโครงการของรัฐบาลส่วนใหญ่ควรจะต้องมีวันสิ้นสุดโครงการที่ชัดเจน สอดคล้องกับประธานาธิบดี Trump ที่กล่าวว่างานของ D.O.G.E. จะ "เสร็จสิ้น" ไม่เกินวันที่ 4 กรกฎาคม 2026 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 250 ปีการลงนามในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาตรงกับการเฉลิมฉลองครบรอบ 250 ปีของสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดี Trump เรียกผลลัพธ์ที่เสนอโดย D.O.G.E. ว่าเป็น "ของขวัญที่สมบูรณ์แบบสำหรับอเมริกา" จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในอันที่จะเห็นว่า D.O.G.E. จะทำให้ภารกิจของกระทรวงต่าง ๆ ที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

สำหรับบ้านเราแล้ว มีหน่วยงานในลักษณะนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 22 ปีก่อน จากการปฏิรูประบบราชการเมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารงานและการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการในทุกกระทรวง ทบวง กรม ครั้งใหญ่ อันเป็นผลมาจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ทำให้เกิดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ ริเริ่ม ผลักดัน และเสนอแนะนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการ และการพัฒนาระบบราชการ ผ่านกลไกต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่พี่น้องประชาชนคนไทย ผลงาน 22 ปีของสำนักงาน ก.พ.ร.ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นจากประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหน่วยราชการตามที่เราท่านได้ใช้บริการและประสบพบเจอในปัจจุบันทุกวันนี้

เปิดปมปลิดชีพ 'อิกอร์ คิริลลอฟ' นายพลรัสเซีย ผู้แฉตะวันตกหนุนยูเครนใช้อาวุธชีวภาพ

(19 ธ.ค. 67) เป็นข่าวน่าสนใจอีกครั้งในรัสเซียเมื่อพลโทอิกอร์ คิริลลอฟ (генерал-лейтенант Игорь Кириллов) หัวหน้ากองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ (РХБЗ) ของกองทัพรัสเซีย พร้อมด้วยนายอิลยา โปลิการ์ปอฟ (Илья Поликарпов) ลูกน้องคนสนิทถูกลอบสังหารจากเหตุระเบิดในเช้าวันที่ 17 ธันวาคม 2024 ที่ผ่านมาด้วยระเบิดในเขตของอาคารที่พักอาศัยบริเวณถนนเรียซานสกี้ โพรสเปคทางตะวันออกเฉียงใต้ของมอสโก โดยอุปกรณ์ระเบิดถูกติดตั้งไว้ในสกู๊ตเตอร์ที่จอดอยู่บริเวณทางเข้าอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่ง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเวลาประมาณ 6 นาฬิกา พลังของอุปกรณ์ระเบิดแบบทำเองนั้นมีพลังของ TNT ประมาณ 300 กรัม เป็นไปได้มากว่าระเบิดดังกล่าวจะเปิดใช้งานด้วยสัญญาณวิทยุหรือการโทรจากโทรศัพท์มือถือ การสืบสวนของทางการรัสเซียสงสัยว่าหน่วยข่าวกรองหลักของกระทรวงกลาโหมหรือหน่วยรักษาความปลอดภัยของยูเครนเป็นผู้จัดวางระเบิด หลายคนถามว่าทำไมพลโทอิกอร์ คิริลลอฟ จึงเป็นเป้าหมายการลอบสังหารของทางหน่วยรักษาความปลอดภัยของประเทศยูเครน ผมพิจารณาแล้วพบว่าเหตุผลการลอบสังหารพลโทอิกอร์ คิริลลอฟมีเหตุผลสำคัญ 2 เหตุผลดังนี้

1) พลโทอิกอร์ คิริลลอฟ เป็นนายทหารชั้นสูงของรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับสงครามรัสเซีย – ยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อาวุธทำลายล้างสูง จากประวัติพลโทอิกอร์ คิริลลอฟ เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 1970 ในเมืองโคสโตรม (Kostroma) ซึ่งเขาได้รับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่นั่น เขารับราชการในกองทัพสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 1987 ในปี 1991 เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกองบัญชาการทหารระดับสูงด้านการป้องกันสารเคมีในโคสโตรมา ตั้งแต่ปี 1991 เขารับราชการในเยอรมนีในกลุ่มกองกำลังตะวันตก หลังจากกลับจากเยอรมนีในปี 1994 เขาก็รับราชการในเขตทหารมอสโก คิริลลอฟเริ่มรับราชการในกองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ (РХБЗ) ในปี 1995 โดยเริ่มจากผู้บังคับหมวด ในปี 2007 เขาจบการศึกษาจากสถาบันการทหารป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ ตั้งชื่อตามจอมพลทิโมเชนโก ในปี 2014 เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถาบันการศึกษาแห่งนี้ และในปี 2017 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองกำลังฯ ทำให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้อาวุธรังสี เคมี และชีวภาพคนสำคัญของทางรัสเซีย

โดยกองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ (РХБЗ) เป็นกองกำลังพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องประชากรทหารและพลเรือนจากการปนเปื้อนของรังสี สารเคมี หรือชีวภาพ ผลที่ตามมาของการใช้อาวุธทำลายล้างสูง และภัยคุกคามอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังภาคพื้นดิน ภารกิจหลักของกองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ มีอยู่ด้วยกัน 4 ภารกิจ ได้แก่ การประเมินสถานการณ์ทางรังสี เคมี และชีวภาพ ตลอดจนขนาดและผลที่ตามมาของการทำลายรังสี วัตถุอันตรายทางเคมี และชีวภาพ การป้องกันการผลกระทบของอาวุธทำลายล้างสูง การทำความสะอาดผลที่ตามมาจากอุบัติเหตุที่โรงงานรังสีเคมีและชีวภาพที่เป็นอันตราย การสร้างความเสียหายแก่ศัตรูโดยใช้เครื่องพ่นไฟและเพลิงไหม้ กองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ เป็นกองกำลังที่มีวัตถุประสงค์สองวัตถุประสงค์ 1) พวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาทางทหารและ 2) มีส่วนร่วมในการกำจัดผลที่ตามมาจากอุบัติเหตุและภัยพิบัติในยามสงบ กองกำลังนี้มีบทบาทสำคัญเข้าร่วมในการทำความสะอาดผลที่ตามมาจากอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล และหลังจากการระบาดใหญ่กองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการต่อสู้กับการแพร่กระจายของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขามีส่วนร่วมในการฆ่าเชื้อในศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ ของรัสเซีย 2) พลโทอิกอร์ คิริลลอฟเป็นผู้เปิดเผยแผนการใช้อาวุธเคมีและชีวภาพของสหรัฐฯ และยูเครนต่อชาวโลก โดยพบว่าหลังจากสงครามเต็มรูปแบบปะทุขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 พลโทอิกอร์ คิริลลอฟเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการออกมาเปิดโปงและกล่าวหาสหรัฐฯ และยูเครนว่าใช้อาวุธชีวภาพที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการชีวภาพบางแห่งในเคียฟ 

ในเดือนมีนาคม 2022 เขากล่าวหาสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรว่าพยายามสร้าง "สารชีวภาพที่สามารถเลือกแพร่เชื้อไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ" โดยเฉพาะชาวสลาฟ และย้อนกลับไปในปี 2021 กระทรวงกลาโหมยูเครนได้มีคำสั่งให้นักวิทยาศาสตร์ชาวยูเครนรวบรวมเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคสูง ซึ่งสามารถข้ามกำแพงสายพันธุ์ได้ ทำให้เกิดการระบาดของไข้หวัดนกและการตายของนกจำนวนมากในภูมิภาค Kherson สิ่งนี้ทำให้เกิดความกังวลในหมู่กระทรวงกลาโหมรัสเซียเกี่ยวกับอุบัติการณ์ของโรคไข้หวัดนกที่เพิ่มขึ้นในรัสเซีย และในการบรรยายสรุปครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2022 พลโทอิกอร์ คิริลลอฟได้กล่าวหาสหรัฐอเมริกาว่ากำลังพัฒนาโครงการชีววิทยาการทหารในดินแดนของยูเครนโดยกำลังศึกษาไวรัสที่สามารถแพร่เชื้อโดยยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ไข้ซิกาและไข้เหลือง ตามข้อมูลของพลโทอิกอร์ คิริลลอฟ กล่าวว่าสหรัฐฯ วางแผนที่จะใช้โดรนเพื่อส่งยุงที่ติดเชื้อไปยังพื้นที่ที่ต้องการและปล่อยยุงออกจากภาชนะเพื่อแพร่เชื้อให้กับกองทัพรัสเซีย ในเดือนสิงหาคม 2023 พลโทอิกอร์ คิริลลอฟ ได้ออกมากล่าวหาสหรัฐฯ ว่าได้สร้าง "แผนกเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาด" และกำลังเตรียมการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งใหม่ "ด้วยการกลายพันธุ์ของไวรัส" ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน คิริลลอฟระบุว่าพบเอกสารใหม่ในห้องทดลองของยูเครนในเมือง Rubezhnoye, Severodonetsk และ Kherson ที่ "บ่งบอกถึงลักษณะที่เป็นอันตรายของกิจกรรมทางชีวภาพของเพนตากอน" และยืนยันว่าพนักงานของเขตสงวนชีวมณฑลยูเครนกำลังศึกษาสายพันธุ์ของไข้หวัดนกอยู่ 

นอกจากนี้พลโทอิกอร์ คิริลลอฟยังกล่าวหาว่ายูเครนมีความตั้งใจที่จะสร้าง "Dirty Bomb" และรับรองว่าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วสามารถนำมาใช้สำหรับสิ่งนี้ได้ ซึ่งถูกกล่าวหาว่านำเข้าจากยุโรปมาในประเทศเพื่อกำจัด และโครงการนี้ได้รับการดูแลเป็นการส่วนตัวโดยนายอังเดร เออร์มัค (Андрей Ермак) หัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดีแห่งยูเครน แหล่งข่าวภายในกระทรวงกลาโหมฯ ของรัสเซียยังระบุว่าในวันที่เกิดการฆาตกรรมพลโทอิกอร์ คิริลลอฟจะจัดให้มีการบรรยายสรุปอีกครั้งแต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นหัวข้อใด

ในเดือนตุลาคม 2024 คิริลลอฟกล่าวหากองทัพยูเครนว่าใช้อาวุธเคมีของตะวันตกในเมือง Sudzha ภูมิภาคเคิร์สต์ ส่งผลให้ทหารรัสเซียมากกว่า 20 นายได้รับบาดเจ็บ “สาเหตุของการบาดเจ็บต่อบุคลากรคือการเข้าไปในร่างกายผ่านทางทางเดินหายใจของละอองลอยที่มีคลอรีนจำนวนมาก รวมถึงสารพิษที่ทำให้หายใจไม่ออก” หนึ่งวันก่อนการลอบสังหารหน่วยรักษาความปลอดภัยของประเทศยูเครน (SBU) ได้ออกมาตั้งข้อหานายพลอิกอร์ คิริลลอฟของรัสเซียว่าเป็นผู้ "สั่งการใช้อาวุธเคมี" จำนวนมหาศาลต่อกองทัพยูเครนและอ้างว่าข้อเท็จจริงของการใช้อาวุธดังกล่าวได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการอิสระสองแห่งขององค์กรเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมี (OPCW) นายพลคิริลลอฟยังถูกสงสัยในการกระทำผิดทางอาญาเกี่ยวกับอาชญากรรมสงคราม แหล่งข่าวทางตะวันตกและยูเครนหลายสำนัก เช่น “Ukrainian Pravda”, “BBC Russian Service” และ Reuters กล่าวว่าการสังหารคิริลลอฟเป็นปฏิบัติการพิเศษของ SBU “คิริลลอฟเป็นอาชญากรสงครามและเป็นเป้าหมายที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเขาสั่งให้ใช้อาวุธเคมีต้องห้ามกับกองทัพยูเครน” ทำให้พลโทอิกอร์ คิริลลอฟยังได้ถูกมาตรการคว่ำบาตรจากทางยูเครนและสหราชอาณาจักร แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อพลโทอิกอร์ คิริลลอฟ นายมิคาอิล โปโดลยัคที่ปรึกษาหัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดีแห่งยูเครน ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว โดยกล่าวว่ายูเครนมุ่งเน้นการทำงานในทิศทางทางกฎหมาย และยังกล่าวว่ายูเครนไม่ได้ใช้ “วิธีการก่อการร้าย” “การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือนายพลนั้นจะเกิดขึ้นในสนามรบ ไม่ใช่ที่อื่น” เขาเชื่อว่า "ความขัดแย้งที่สะสมภายใน" นำไปสู่การฆาตกรรมของนายพลคิริลลอฟ 

นายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าสหรัฐฯ ไม่ทราบเกี่ยวกับการลอบสังหารนายพลคิริลลอฟที่กำลังจะเกิดขึ้น “ผมไม่มีข้อมูลการระเบิดครั้งนี้ ผมสามารถพูดได้ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ทราบเรื่องนี้ล่วงหน้าและไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” เมื่อถูกถามว่าคิริลลอฟเป็นเป้าหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ นายแมทธิว มิลเลอร์ ตอบว่านายพลรายนี้เกี่ยวข้องกับ “ความโหดร้ายหลายประการ” รวมถึงการใช้อาวุธเคมีต่อกองทัพยูเครน มาเรีย ซาคาโรวาโฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ให้ความเห็นว่า “พลโท อิกอร์ คิริลลอฟเปิดเผยอาชญากรรมของแองโกล – แอกซอนอย่างเป็นระบบเป็นเวลาหลายปีและมีข้อเท็จจริงต่าง ๆ อยู่ในมือ เขาทำงานเพื่อมาตุภูมิ เพื่อความจริงอย่างไม่เกรงกลัวต่อการยั่วยุของ NATO ด้วยอาวุธเคมีในซีเรีย การจัดการกับสารเคมีต้องห้ามของอังกฤษ และการยั่วยุในซอลส์บรีและเอมส์เบอรี กิจกรรมที่อันตรายถึงชีวิตในห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาของอเมริกาในยูเครน และอื่นๆ อีกมากมาย เขาเปิดหน้าชก ไม่ได้ซ่อนอยู่หลังคนอื่น...” รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ กล่าวว่า “การโจมตีของผู้ก่อการร้ายครั้งนี้เป็นความเจ็บปวดของระบอบการปกครองบันเดรา ด้วยความแข็งแกร่งสุดท้ายของเขาเขาพยายามที่จะพิสูจน์การดำรงอยู่อันไร้ค่าของเขาต่อชาวตะวันตเพื่อยืดเวลาสงครามและความตาย เพื่อพิสูจน์สถานการณ์หายนะในแนวหน้า เมื่อเขาตระหนักถึงความพ่ายแพ้ทางทหารของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เขาจึงโจมตีเมืองที่สงบสุขอย่างขี้ขลาดและเลวทราม” นายเวียเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาดูมา กล่าวว่า “ เรารู้จัก พลโทอิกอร์ คิริลลอฟ เป็นอย่างดีจากการทำงานร่วมกันของเราในระหว่างการสอบสวนของรัฐสภาในห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาของยูเครน หลังจากงานเสร็จสิ้น ปฏิสัมพันธ์ยังคงดำเนินต่อไปภายในกรอบการทำงานของคณะทำงานดูมาเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ อิกอร์ อนาโตลีเยวิชซึ่งเป็นทหารอาชีพ ผู้รอบรู้ ผู้รักชาติรัสเซียได้ทำอะไรมากมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกองทหารป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ เพื่อให้มั่นใจในความมั่นคงและอธิปไตยของประเทศของเรา” นายอันเดรย์ คาร์ตาโปลอฟ หัวหน้าคณะกรรมาธิการกลาโหมดูมาแห่งรัฐกล่าวว่า “ผู้จัดให้มีการก่อการร้ายและผู้กระทำความผิดจะถูกพบและลงโทษ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครและอยู่ที่ไหนก็ตาม”

นายอเล็กซานเดอร์ โซโคลอฟผู้ว่าการภูมิภาคคิรอฟ กล่าวว่า“เราเป็นเพื่อนบ้านในโคสโตรมามาเป็นเวลานาน อิกอร์เป็นเจ้าหน้าที่ที่ซื่อสัตย์และเหมาะสมมาโดยตลอด ผมยังจำวันที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพของกองทัพรัสเซีย หน่วยของเขาได้ทำอะไรมากมายเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา เขาอยู่ในที่ที่มาตุภูมิต้องการเขาเสมอ เขาเปิดเผยการปฏิบัติงานของสายลับพิเศษต่างประเทศในซีเรียและยูเครน” นับตั้งแต่เริ่มสงครามมีการระเบิดหลายครั้งในรัสเซียโดยมีเป้าหมายคือบุคลากรทางทหารหรือบุคคลสาธารณะที่สนับสนุนสงคราม เช่นในเดือนเมษายน ปี 2023 แม็กซิม โฟมิน “นักข่าวทหาร” หรือที่รู้จักในชื่อวลาดเลน ทาทาร์สกี ถูกสังหารในเหตุระเบิดในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กโดยดาเรีย เตรโปวาผู้อาศัยในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมซึ่งตามการสืบสวนเขาได้ปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยบริการพิเศษของยูเครน ในเดือนกรกฎาคม 2024 รถยนต์คันหนึ่งเกิดระเบิดในมอสโกทำให้นายอังเดร ทอร์กาชอฟ เจ้าหน้าที่เสนาธิการกองทัพรัสเซียได้รับบาดเจ็บ ในเดือนพฤศจิกายน 2022 การระเบิดของรถ SUV ในโดเนตสค์ได้คร่าชีวิตนายเซอร์เกย์ เอฟซูคอฟ (Sergei Evsyukov) อดีตหัวหน้าเรือนจำโอเลฟนิกา ในสาธารณรัฐประชาชนโดเนสต์ที่ประกาศตัวเองเป็นเอกราช และกรณีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดกรณีหนึ่งคือการเสียชีวิตของนางดาเรีย ดูกินาลูกสาวของนายอเล็กซานเดอร์ ดูกิน นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ทางการเมือง ในเดือนสิงหาคม 2022 จากเหตุระเบิดในรถยนต์โดยเคียฟปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมดูจินาและเหตุระเบิดอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน เราต้องจับตาดูว่าทางรัสเซียจะตอบโต้การเสียชีวิตของ67

ย้อนอดีตถึงปัจจุบันปักปันเขตแดน ‘ไทย - พม่า’ ชี้! แนวทางสันติแบ่งเส้นเขตแดนอาจจบได้ด้วยการเจรจา

"ชายแดนไทย-พม่า: เส้นเขตแดนที่ไม่ได้เขียนด้วยลำน้ำ แต่จารึกด้วยการเจรจา"

ในหน้าประวัติศาสตร์ของการสำรวจและปักปันเขตแดนระหว่างไทยและพม่านั้น ย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพื้นที่ชายแดนเหล่านี้เต็มไปด้วยความซับซ้อน ทั้งด้านภูมิศาสตร์ กฎหมาย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2530-2531 เมื่อสองประเทศได้เริ่มต้นกระบวนการปักปันเขตแดนที่แม่น้ำสายและแม่น้ำรวกในจังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 59 กิโลเมตร เส้นเขตแดนดังกล่าวถูกกำหนดด้วยหมุดหลักเขตแดนจำนวน 492 คู่ ตั้งแต่จุดสบรวกในอำเภอเชียงแสนไปจนถึงหัวเขาดอยคาในอำเภอแม่สาย

แม่น้ำทั้งสองสายนี้ไม่ได้เป็นเพียงพรมแดนธรรมชาติ แต่ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามร่วมกันระหว่างไทยและพม่าในการหาข้อยุติให้กับพื้นที่ที่เคยเป็นประเด็นถกเถียงมายาวนาน ในที่สุด เมื่อปี พ.ศ. 2535 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามรับรองเส้นเขตแดน โดยยืนยันว่าต่อให้ลำน้ำเปลี่ยนทิศทาง เส้นเขตแดนนี้ก็ยังคงอยู่ตามที่กำหนดไว้

จากแผนที่ในอุดมคติ สู่ความจริงที่ยังห่างไกล
ในปี พ.ศ. 2540 มีการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-พม่า (JBC) เพื่อหาทางสำรวจและปักปันเขตแดนเพิ่มเติมตลอดแนวที่เหลือ ระยะทางยาวกว่า 2,342 กิโลเมตร ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดระนอง แต่ความคืบหน้ากลับต้องสะดุด เมื่อทั้งสองฝ่ายมีมุมมองที่ไม่ตรงกัน พม่ายืนยันให้มีการระบุรายละเอียดเส้นเขตแดนไว้ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขณะที่ฝ่ายไทยเห็นว่าหลักฐานเดิม เช่น สนธิสัญญาและแผนที่แนบท้ายเพียงพอแล้วที่จะใช้ในการปักปัน

เมื่อหมุดไม่มั่นคง แม่น้ำเปลี่ยนทิศ เส้นเขตแดนจึงต้องปรับตัว
ช่วงปี พ.ศ. 2543-2547 ทั้งสองฝ่ายกลับมาร่วมมือกันอีกครั้งในการซ่อมแซมหลักเขตแดนบริเวณแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก หลังจากที่หมุดหลักอ้างอิงบางส่วนชำรุด สูญหาย หรือถูกทำลาย รวมถึงการสร้างหลักเขตแดนใหม่ในบริเวณที่แม่น้ำเปลี่ยนทิศทาง จึงมีการติดตั้งหลักแบบ A และ B เพิ่มเติม รวมถึงซ่อมแซมหลักเขตแดนเดิมให้กลับมาใช้งานได้

ระหว่างนั้น ทั้งสองฝ่ายยังได้จัดทำ 'แผนที่แถบ' หรือ Strip Map เพื่อแสดงรายละเอียดเขตแดนบริเวณแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก กระบวนการนี้เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2547 โดยมีกรมแผนที่ทหารของไทยเป็นผู้ดำเนินการ

บทเรียนที่ย้ำเตือนอนาคต
สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตสะท้อนให้เห็นว่าการปักปันเขตแดนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไขได้ด้วยแผนที่หรือสนธิสัญญาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการเจรจา ความร่วมมือ และความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับสภาพภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง ความคลุมเครือของเส้นเขตแดนไม่ใช่เพียงปัญหาด้านดินแดน แต่ยังเป็นจุดวัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การสำรวจและปักปันเขตแดนไทย-พม่ายังคงเป็นบทเรียนที่สำคัญในเวทีระหว่างประเทศ ความพยายามเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการวาดเส้นลงบนแผนที่ แต่คือการสร้างความมั่นคงและความไว้วางใจในความสัมพันธ์ที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบแน่ เมื่อ ‘ทรัมป์’ คัมแบค ชี้!! หนัก - เบา อยู่ที่การสร้างสมดุล ‘ไทย - จีน – สหรัฐ’

สรุปสั้น ๆ จากนโยบายต่างประเทศและวิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียของ ทรัมป์ในอดีต  เมื่อทรัมป์ได้กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 จะมีผลกระทบที่สำคัญกับประเทศไทยยังไงบ้างในด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ พอสรุปได้กว้าง ๆ ในมิติสำคัญ ๆ ได้ประมาณนี้ครับ 

1. ความสัมพันธ์ด้านการค้าและผลกระทบกับไทยด้านเศรษฐกิจการส่งออก: 
ด้วยความที่ทรัมป์ชูนโยบาย 'America First' มาโดยตลอด ทำให้ดีลข้อตกลงการค้าขายกับประเทศต่างๆที่ผ่านมารวมถึงไทยด้วยนั้นคงจะโดนตรวจสอบใหม่ทั้งหมดโดยดีลไหนที่เห็นว่าทางอเมริกาเสียเปรียบหรือไม่ได้ประโยชน์ที่เหมาะสมในปัจจุบันก็คงต้องเจรจากันใหม่ ซึ่งภาคธุรกิจส่งออกไทยที่ส่งสินค้าเข้าไปขายในอเมริกาก็คงจะโดนผลกระทบเข้าไปเต็ม ๆ ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกไทยไปอเมริกาก็เติบโตเกินดุล (ไทยส่งออกไปอเมริกามากกว่านำเข้า) มาโดยตลอด ซึ่งก็อาจจะไปเตะตาและดึงความสนใจจากคณะทำงานของทรัมป์ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่านอกเหนือจากจีนที่ ทรัมป์มองว่าเป็นภัยคุกคามเบอร์หนึ่งแล้วทรัมป์จะมองว่าประเทศไหนที่มีความสำคัญที่จะต้องจัดการในอันดับรอง ๆ ลงมาอีก 

2. ความร่วมมือทางด้านการทหารและความมั่นคง: 
ที่ผ่านมาไทยกับอเมริกามีความร่วมมือทางการทหารมาอย่างยาวนานและแน่นแฟ้น ที่ทุกคนคุ้น ๆ กันคือการฝึก Cobra Gold ซึ่ง ณ ตอนนี้คงต้องรอดูท่าทีว่าทรัมป์จะเอายังไงต่อ จะเพิ่ม, จะลด หรือคงความร่วมมืออยู่ในระดับเดิมก็คิดว่าทรัมป์น่าจะรอดูท่าทีในระดับภูมิภาคโดยมีตัวแปรสำคัญคือท่าทีของเราว่าจะเอายังไงกับจีน อาจมีการพยายามดึงให้ไทยมาอยู่ฝั่งอเมริกาในกรณีที่ความสัมพันธ์ อเมริกา-จีนมีความตึงเครียด (ซึ่งมีแน่ ๆ เมื่อทรัมป์กลับมาสมัยที่ 2) สรุปก็คือในด้านการทหารและความมั่นคง อเมริกาจะเอายังไงกับไทย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอายังไงกับจีนนั่นเอง (งูกินหางเลยทีเดียวเชียว ไม่งงเนอะ 😅)

3. การกดดันเรื่องความสัมพันธ์กับจีน: 
ต่อเนื่องจากข้อ 2 ด้วยความทรัมป์ ลุงแกก็อาจมีการกดดันไทยให้ลดความสัมพันธ์และจำกัดความร่วมมือต่างๆจากจีน ไม่ว่าจะด้านเทคโนโลยี, โครงสร้างพื้นฐานต่างๆและ ความร่วมมือทางทหาร ซึ่งอันนี้ทางเราก็ต้องหาทางบาล้านซ์และหลบหลีกหลีกหนีให้ดีว่าระหว่างอเมริกากับจีนเราจะเลือกใคร (แต่ถ้าให้เดา ทางเราคงอยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ฝีมือของรัฐบาลเราครับ) 

4. ผลกระทบกับไทยในฐานะสมาชิก ASEAN: 
อันนี้ก็เหมือนกับข้อ 2,3 แต่ขยายขึ้นเป็นระดับทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ (ที่เน้นเรื่องการต่อต้านจีน) อาจจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในชาติสมาชิกของ ASEAN ซึ่งอาจนำมาซึ่งการต้อง “เลือกข้าง” ว่าจะไปทางจีนหรืออเมริกาของแต่ละประเทศ รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์แบบ “เฉพาะตัว” ของแต่ละประเทศกับอเมริกา ซึ่ง again อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลของประเทศเล็กๆ น้อยๆ ตะมุตะมิ ไม่ค่อยมีปากมีเสียงแต่ละประเทศแถวนี้ๆ ว่าสุดท้ายจะเอายังไงกันดี 

5. ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และ การปกครอง: 
โดยทั่วไปทรัมป์ถือคติว่าจะ 'ไม่ยุ่ง' การเมืองภายในประเทศอื่นๆ แต่ก็ต้องขีดเส้นใต้หนัก ๆ ด้วยว่า “ที่ไม่ส่งผลเกี่ยวข้องกับอเมริกา” ซึ่งก็คงทำให้ไทยถูกจับตาน้อยลงในประเด็นเรื่อง ความเป็นประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน และการคุกคามเสรีภาพของประชาชน ซึ่งต่างจากรัฐบาลของไบเดนที่ผ่านมา ซึ่งไทยก็โดนตรวจสอบ โดนเตือน โดนแซะจากทำเนียบขาวเป็นระยะๆ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่คงต้องรอดูผลกระทบในระยะยาวต่อไปครับ 

6. ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว: 
เมื่อทรัมป์กลับเข้าทำเนียบขาวได้สำเร็จ จะมีการปรับนโยบายการเดินทางเข้า-ออกประเทศ, การขอ Visa และเพิ่มข้อจำกัดต่างๆ (เพื่อจัดการกับคนเข้า-ออกอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย) ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจส่งผลกระทบทางอ้อมกับธุรกิจท่องเที่ยวของไทยที่มีนักท่องเที่ยวอเมริกันเป็นหนึ่งในลูกค้าสำคัญด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นนโยบายเศรษฐกิจของ ทรัมป์ ก็อาจส่งผลถึงเม็ดเงินที่ลดลงจากนักท่องเที่ยวอเมริกันที่เดินทางมาเที่ยวในเมืองไทยด้วยในที่สุด

สรุปในสรุปอีกที ไทยจะได้รับผลกระทบยังไงถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง โดยหลักแล้วขึ้นอยู่กับท่าทีและปฏิสัมพันธ์ของเรากับจีนในเรื่องต่างๆและฝีมือของรัฐบาลในการบริหารจัดการแรงกดดันจากลุงทรัมป์กับลุงสี จิ้น ผิงโดยที่ต้องหาสมดุลของความสัมพันธ์ไทย-จีน และ ไทย-อเมริกาให้ได้เป็นที่น่าพอใจของทั้งสองลุงนั่นเองครับ

‘Matthew De Meritt’ หนึ่งในผู้ที่ทำให้ ‘E.T.’ มีชีวิต โลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม จากเด็กชายวัย 12 ปี ซึ่งเกิดมาไม่มีขา สู่นักแสดงหนังในตำนานของ Spielberg

E.T. (the Extra-Terrestrial หรือ E.T.) เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อเมริกันออกฉายในปี 1982 สร้างและกำกับโดย Steven Spielberg เขียนบทโดย Melissa Mathison ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง Elliott Taylor เด็กชายผู้มีเพื่อนเป็นมนุษย์ต่างดาวที่เรียกว่า E.T. ซึ่งถูกทิ้งไว้บนโลก Elliott พร้อมกับเพื่อนและครอบครัวของเขาต้องหาวิธีช่วยให้ E.T. หาทางกลับบ้าน ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดย Dee Wallace, Henry Thomas, Peter Coyote, Robert MacNaughton และ Drew Barrymore

แรงบันดาลใจและการสร้างสรรค์ ‘E.T.’ ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่องนี้ มาจากการที่พ่อแม่ของ Spielberg หย่าร้างในปี 1960 Spielberg ได้เติมเต็มความว่างเปล่าในจิตใจด้วยเพื่อนมนุษย์ต่างดาวในจินตนาการที่เขาเล่าในภายหลังว่า "เพื่อนที่อาจเป็นพี่ชายที่ Spielberg ไม่เคยมี และเป็นพ่อที่ Spielberg ไม่รู้สึกว่า มีอีกต่อไป" Spielberg ได้เล่าแนวคิดเรื่อง Buddy มนุษย์ต่างดาวที่เป็นมิตรเพียงคนเดียวที่เป็นเพื่อนกับเด็กให้ Melissa Mathison ผู้เขียนบท ในฉากสุดท้ายของบทภาพยนตร์ Buddy ถูกทิ้งไว้บนโลกได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดเรื่อง E.T. ในเวลาไม่ถึงสองเดือน Mathison เขียนร่างแรกของบทภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า E.T. and Me ซึ่งต้องเขียนใหม่ถึงสองครั้ง แต่เรื่องนี้ถูกปฏิเสธโดย Columbia Pictures ซึ่งสงสัยในศักยภาพเชิงพาณิชย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ในที่สุด Universal Pictures ก็ได้ซื้อบทภาพยนตร์นี้ในราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

การถ่ายทำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่องนี้ใช้เวลาตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม 1981 ด้วยงบประมาณ 10.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แตกต่างจากภาพยนตร์ส่วนใหญ่ E.T. 0tถ่ายทำตามลำดับเวลาคร่าว ๆ เพื่อให้ทีมนักแสดงรุ่นเยาว์สามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างดีที่สุด เทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Animatronics) ของ E.T. และตัวละครอื่น ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการออกแบบโดย Carlo Rambaldi ผู้เชี่ยวชาญด้านเอฟเฟกต์พิเศษและการแต่งหน้าชาวอิตาลี ผู้ซึ่งออกแบบมนุษย์ต่างดาวสำหรับภาพยนตร์มาแล้วมากมาย 

ภาพร่างของ E.T. นั้น Rambaldi ได้ออกแบบให้คอสามารถยืดและหดได้โดยไม่เหมือนใคร ใบหน้าของ E.T. ได้รับแรงบันดาลใจจากใบหน้าของ Carl Sandburg, Albert Einstein และ Ernest Hemingway ศีรษะของ E.T. 4 หัวถูกสร้างขึ้นสำหรับการถ่ายทำ หัวหนึ่งเป็น Animatronics หลัก และอีกหัวสำหรับการแสดงออกทางสีหน้ารวมถึงเครื่องแต่งกาย ทีมนักเชิดหุ่นควบคุมใบหน้าของ E.T. ด้วย Animatronics จากคนแคระ 2 คน Tamara De Treaux และ Pat Bilon รวมถึง Matthew De Meritt เด็กชายวัย 12 ปี ซึ่งเกิดมาโดยไม่มีขา โดยผลัดกันสวมชุดดังกล่าวขึ้นอยู่กับฉากที่ถ่ายทำ De Meritt เดินด้วยมือในทุกฉากที่ E.T. เดินอย่างเก้ ๆ กัง ๆ หรือหกล้ม หุ่น E.T. นี้สร้างขึ้นภายในสามเดือนด้วยเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Matthew De Meritt ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ช่วยให้ ET ได้รับความนิยม ตลอดระยะเวลา 40 ปีนับตั้งแต่ภาพยนตร์ออกฉาย เขาแทบไม่ได้เปิดเผยตัวตนเลย แต่ในบทสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Mirror ของอังกฤษเมื่อปี 2002 เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปีของภาพยนตร์ เขาได้อธิบายว่า เหตุใดเขาจึงได้รับบทนี้ ขณะนั้น De Meritt อายุราว 11-12 ปี ซึ่งไม่มีขาตั้งแต่เกิด และกำลังเข้ารับการกายภาพบำบัดที่ศูนย์การแพทย์ UCLAในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เขาได้รับการติดต่อให้ทำการทดสอบหน้ากล้อง “มีการลองชุดและพวกเขาวัดขนาดของผมทั้งหมด และถ่ายวิดีโอที่ผมใช้มือช่วยเดิน” เขาบอกว่า “ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ตอนที่พาผมไปที่นั่น” เขากล่าวเสริม “ผมไม่เคยแสดงให้ใครเห็นว่า ผมเดินได้ด้วยมือ และผมไม่เห็นว่าพวกเขาคิดว่า ผมสามารถใส่ชุดคอสตูมเดินไปมา และแสดงเป็นมนุษย์ต่างดาวได้อย่างสบายๆ ได้อย่างไร แต่สุดท้ายมันก็ออกมาแบบนั้น

แม้ว่าผู้ชมจะไม่เห็นตัว De Meritt เลย แต่น่าจะจำฉากหนึ่งของเขาได้ นั่นคือตอนที่ E.T. ดื่มเบียร์ “ตอนนั้นอากาศร้อนมาก แล้ว Spielberg ก็เดินมาหาผมแล้วถามว่า เป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นเขาก็ต้องการให้แน่ใจว่า ผมจะไม่บาดเจ็บ และก็พูดว่า มีทางไหนที่คุณจะเดินตรงเข้าไปในตู้ตรงนั้น หกล้มก้นจ้ำเบ้าแล้วลุกขึ้น หันหลังแล้วล้มหน้าฟาดพื้นในตอนจบได้หรือเปล่า” De Meritt เล่าให้ The Mirror “ฉากไหนก็ตามที่พวกเขาอยากให้ E.T. หกล้ม พวกเขาจะให้ De Meritt แสดงโดยสวมชุดที่ทำจากยาง และฉีดสารอะไรบางอย่างลงไปเพื่อให้มันดูเหนียว” De Meritt อธิบาย “มีรอยแยกตรงหน้าอกให้ผมสามารถมองออกไปได้ และส่วนหัวก็วางอยู่บนศีรษะของผมอีกที” นอกจาก De Meritt แล้ว Tamara De Treaux และ Pat Bilon นักแสดงผู้ล่วงลับซึ่งทั้งคู่มีภาวะคนแคระก็ได้รับเครดิตในการเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของภาพยนตร์ E.T. เช่นกัน 

ด้วยทุนในการสร้าง 10.5ล้านเหรียญ ภาพยนตร์ E.T. สามารถทำรายได้ใน Box Office ได้ถึง 792.9ล้านเหรียญ ไม่รวมรายได้จากลิขสิทธิ์ของที่ระลึก หนังสือ VDO game และ ET Adventure เครื่องเล่นในสวนสนุก Universal Studios ฯลฯ อีกมากมาย 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top