Tuesday, 14 May 2024
COLUMNIST

'ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย' สู้กันทุกเม็ดบนสนามกระบี่ จุดเริ่มเกมปั้นสถานะ 'พรรคใหญ่' ต้องได้เลือก ไม่ใช่ถูกเลือก

สนามเลือกตั้งฝั่งอันดามัน ดูจะกลายเป็นสนามเดือดในการช่วงชิง 14 ที่นั่งในสภา จาก 6 จังหวัด อันประกอบด้วย ระนอง 1 ภูเก็ต 2 พังงา 2 กระบี่ 3 ตรัง 4 และสตูล 2 ซึ่งจะเป็นการเชือดเฉือนกันของสองพรรคการเมืองหลัก คือ 'ประชาธิปัตย์' และ 'ภูมิใจไทย'

ทั้งสองพรรคประกาศยึดฝั่งอันดามัน จากเดิมที่มีประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ แบ่งกันอยู่แล้ว อย่าวกระบี่ ในการเลือกตั้งครั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทยมีอยู่แล้ว 1 คือ สฤษดิ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประชาธิปัตย์มีอยู่แล้ว 1 เช่นกัน คือสาคร เกี่ยวข้อง คราวที่แล้ว 'ตระกูลเกี่ยวข้อง' ตกลงกันได้แบ่งกันพรรคละเขต เลือกตั้งครั้งใหม่กระบี่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น จำนวน ส.ส.จึงเพิ่มเป็น 3 คน

แน่นอนว่าทั้งประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ต่างหมายมั่นปั้นมือรักษาของเก่า และเพิ่มของใหม่ โดยทั้งสองพรรคตั้งเป้ายึด 3 ที่นั่งของกระบี่ ซึ่งต่างเปิดตัวผู้สมัครกันไปหมดแล้ว เพื่อยืนยันความพร้อม

ย้อนไปเมื่อวันเสาร์ที่ (13 ส.ค. 2565) อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และโกเกี๊ยะ-พิพัฒน์ รัชกิจประการ แม่ทัพใต้ ได้ยกทีมไปเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.กระบี่ ทั้ง 3 เขต ที่ลานพระอาทิตย์ อบจ.กระบี่

พรรคภูมิใจไทย ได้วางตัวผู้สมัคร ส.ส.ไว้เรียบร้อยแล้วเขต 1 โกหนึ่ง-กิตติ กิตติธรกุล เลขานุการนายก อบจ.กระบี่ ถือเป็นตระกูลการเมืองใหญ่ของกระบี่ เขต 2 สจ.ม้อ-ถิรเดช ตั้งมั่นก่อกิจ อดีต ส.อบจ.กระบี่ เขต อ.อ่าวลึก และเขต 3 โกสุทธิ์-สฤษดิ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ 

พรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ปล่อยให้ภูมิใจไทยเหยียบจมูกในฐานะเจ้าถิ่นเก่า โดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรีฑาทัพหลวง ทั้งบัญญัติ บรรทัดฐาน, เฉลิมชัย ศรีอ่อน, นิพนธ์ บุญญามณี ไปจัดสัมมนาที่กระบี่ พร้อมเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.กระบี่ ทั้ง 3 เขต ประกาศความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง 'จุรินทร์' มั่นใจว่า จะกลับมายึดกระบี่คืนได้ทั้ง 3 เขต

3 คนของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะลงสู้ศึกครั้งหน้าชื่อเสียงเรียงนามไม่ธรรมดาเหมือนกัน เขต 1 โกเคี่ยง ธนวัช ภูเก้าล้วน ลูกชายกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ มีฐานะจัดอยู่ในระดับเศรษฐีเขต 2 สาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ และเขต 3 พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลูกสาวพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล นั่นเอง

แม่ทัพตัวจริงของภูมิใจไทย เมืองกระบี่คือ โกหงวน- สมศักดิ์ กิตติธรกุล นายก อบจ.กระบี่ 7 สมัย สหายร่วมรบของ 'เนวิน ชิดชอบ' แห่งเมืองบุรีรัมย์

โค้งสุดท้ายของรัฐนาวา เปิด 4 ภารกิจยากที่ 'ประยุทธ์' ต้องตัดสินใจ จะเดินหน้า หรือพอแค่นี้ในวัยย่าง 68 ปี

หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังอยู่ในตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันพล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อถึงปี 68 เดินทางกลับเข้าทำเนียบทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้

ภารกิจเริ่มต้นในวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2565 เข้าทำเนียบให้บรรดาเอกอัครราชทูต, ทูตที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใหม่เข้าพบ วันอังคารก็จะทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติ และวันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม ก็จะเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมจากฤทธิ์ของพายุโนรู ที่จังหวัดอุบลราชธานี

แต่หลังจากนี้ยังมีภารกิจที่ต้องตัดสินใจทันทีอีก 4 เรื่องที่รออยู่...

>> ภารกิจแรก คือ การตัดสินใจว่าจะปรับคณะรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่หรือไม่ 4 ตำแหน่ง คือ 

1.) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แทนนิพนธ์ บุญญามณี จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกไปสู้คดีในชั้นศาลกับ ป.ป.ช.ที่ถูก ป.ป.ช.กล่าวหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่เบิกจ่ายงบให้บริษัทเอกชนผู้ชนะการประมูลรถอเนกประสงค์ซ่อมบำรุงทางของ อบจ.สงขลา สมัยเป็นนายกฯอบจ.สงขลา ด้วยเหตุผลว่า พบมีการฮั้วประมูล

2.) แทนตำแหน่งของกนกวรรณ วิลาวัลย์ พรรคภูมิใจไทย ที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา หลังศาลประทับรับฟ้องคดีบุกรุกป่าเขาใหญ่ ถือเป็นการละเมิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย มีคดีตัวอย่างที่ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐโดนมาแล้ว ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต

3.) ปรับแทนตำแหน่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง จากปฏิบัติการล้มประยุทธ์กลางสภา แต่แผนรั่วเสียก่อน จึงถูกเตะออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

4.) ปรับแทน ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกปลดพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อม ร.อ.ธรรมนัส จากปฏิบัติการล้มประยุทธ์เช่นกัน

โดยในกรณี ร.อ.ธรรมนัส และ ดร.นฤมล ถือเป็นเด็กในคาถาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และหลังจากถูกปลดก็ยังไม่มีการแต่งตั้งใครมาแทน แต่ในสถานการณ์ใกล้เลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง จึงน่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ในเร็ววัน เพราะคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็จะหมดวาระลงพร้อมวาระของสภาในวันที่ 23 มีนาคม 2566 

>> ภารกิจที่สอง คือ การเตรียมความพร้อมในการจัดประชุมเอเปกในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่สำคัญคือจะแก้หน้าอย่างไรกับการที่ผู้นำโลกอย่าง 'โจ ไบเดน' ไม่มาร่วมประชุมด้วย แค่ขออยู่ร่วมงานแต่งงานของหลาน ที่สำคัญคือในฐานะเจ้าภาพต้องจัดงานให้เป็นที่ประทับใจ เกิดประโยชน์กับชาติประเทศ และประเทศไทยให้มากที่สุดด้วย

สิ่งที่ไทยได้ทันที กางผลลัพธ์ APEC 2022 ไม่ต้องรอถึงเดือน 11 เพราะผลสำเร็จต่อศก.ไทย เกิดขึ้นแล้วตลอดทั้งปี

สิ่งที่อาจจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดสำหรับหลายๆ คนเกี่ยวกับ APEC นั่นคือ ผู้คนต่างเข้าใจว่า การประชุม APEC หรือ การประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 นั้น คือผลลัพธ์ที่จะทำให้ไทยได้ประโยชน์

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การประชุม APEC และการประชุมที่เกี่ยวข้องของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมมูลค่าทางเศรษฐกิจในราว 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก แท้จริงแล้วได้เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี และในประเทศไทยเอง ก็ได้มีการประชุมไปแล้วมากกว่า 14 คลัสเตอร์ 

ที่ต้องใช้คำว่า ‘คลัสเตอร์’ เนื่องจากใน 1 ช่วงเวลาที่มีการจัดการประชุมอาจจะมีการประชุมเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง ครอบคลุมเนื้อหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ และการประชุมเองก็มีการจัดทั้งในรูปแบบการประชุมทางไกล ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีการประชุมแบบ On-site ที่เกิดขึ้นทั้งใน กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ภูเก็ต และขอนแก่น 

โดยการประชุมคลัสเตอร์สำคัญๆ เฉพาะที่เป็นของภาครัฐ ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือ ในระดับตั้งแต่รองอธิบดี, อธิบดี, ปลัดกระทรวง ขึ้นไปจนถึงระดับรัฐมนตรี และช่วงเวลาที่เกิดขึ้น รวมทั้งสถานที่การจัดงานสามารถสรุปได้ดังนี้…

>> คลัสเตอร์ที่ 1 ตลอดปี 2020-2021 ในช่วงเวลาที่เชื้อโควิด-19 กำลังระบาด การประชุมทางไกล และการประชุมแบบพบหน้า (เท่าที่มีโอกาส) ของหน่วยงานสำคัญๆ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนในนาม สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ APEC หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ร่วมกับ ภาคประชาชน เครือข่ายนักวิชาการ สื่อสารมวลชน และภาคส่วนต่างๆ ได้มีการจัดขึ้นตลอดทั้ง 2 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมและกำหนด Theme ของการประชุมที่ประเทศไทยจะได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในปี 2022

>> คลัสเตอร์ที่ 2 ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ การประชุม First Senior Officials’ Meeting (SOM1) and Related Meeting ซึ่งเป็นการประชุมหลายครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อม กำหนดวาระ และสารัตถะของการประชุม เมื่อประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพต่อจากประเทศนิวซีแลนด์ ก็ได้มีการประชุมในรูปแบบการประชุมทางไกล จำนวนหลายครั้ง

>> คลัสเตอร์ที่ 3 เมื่อ 16-17 มี.ค. การประชุมของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางของเขตเศรษฐกิจ APEC หรือ Finance and Central Bank Deputies’ Meeting (FCBDM) ก็เกิดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกล เพื่อลงลึกในรายละเอียดของความร่วมมือในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังร่วมกันของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ

>> คลัสเตอร์ที่ 4 เมื่อ 9-19 พ.ค. เริ่มต้นการประชุมแบบพร้อมหน้าครั้งแรก หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มคลี่คลาย ตลอดทั้ง 10 วันที่ได้มีการกำหนดตารางเวลาเอาไว้ ก็มีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ Second Senior Officials’ Meeting (SOM2) and Related Meeting เพื่อเจรจาในการเดินหน้าสารัตถะสำคัญที่จะนำเสนอและรับการพิจารณาโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และผู้นำ APEC ก็เกิดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร 

>> คลัสเตอร์ที่ 5 เมื่อ 21-22 พ.ค. กระทรวงพาณิชย์รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการต้อนรับ และประชุมคณะทำงาน จนถึงการประชุมสำคัญที่สุดอีกประชุมหนึ่งของ APEC นั่นคือ การประชุมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการค้า หรือ Ministers Responsible for Trade (MRT) Meeting ของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ

บ๊ายบายบางกอก!! ย้อนอดีต 30 ปี เมื่อครั้งจากเมืองไทยสู่อเมริกา ประสบการณ์สุดล้ำค่า กับภาพจำที่ยังชัดเจน

หลังจากที่เขียนบทความทางการเมืองเป็นชิ้นแรก ก็มานั่งคิดดูว่าคอลัมน์ที่เราเขียนนั้นชื่อว่า “เรื่องเล่าจากนิวแฮมเชียร์” แล้วไฉนเราถึงดันไปเล่าเรื่องชาวบ้าน จึงขออนุญาตตั้งต้นใหม่ คราวนี้เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง เล่าจากมุมมองของตัวเอง ต้องขออภัยแต่เนิ่น ๆ ว่าข้อเท็จจริงอาจจะบิดเบือนไปบ้าง เนื่องจากกาลเวลาผ่านมานานกว่า 30 ปีแล้วที่ขึ้นเครื่องบินมาเพื่อศึกษาต่อ ขอเปลี่ยนชื่อบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในเรื่องเล่า เพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของพวกเขา ไม่อยากให้มีการขุ่นข้องหมองใจเหมือนบล็อกเล่าเรื่องรักหลายเศร้าที่เป็นละครซีรีย์ดังทะลุฟ้าเมื่อหลายปีมาแล้ว ก็อย่างที่เอ่ยมาแล้วข้างต้น มุขปาฐะนั้นมาจากความทรงจำของตนเองล้วน ๆ ไม่ได้อิงอนุทิน เพราะเป็นคนที่เสียนิสัยไม่ชอบจด หวังว่าท่านผู้อ่านคงได้รับความบันเทิงและสาระจากงานเขียนไม่มากก็น้อย

ภาพยนตร์ยอดมนุษย์ที่ดังๆของมาร์เวล เช่น แบตแมน ซุปเปอร์แมน หรือ ชางซี เปิดเรื่องโดยอ้างถึงปูมหลังของแต่ละตัวละคร เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาและเหตุการณ์ในอดีตที่หล่อหลอมความคิด จุดประสงค์ และความสามารถของตัวละครนั้นๆ แต่ก็มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่เริ่มต้นจากฉากที่เร้าใจที่สร้างปมในโครงเรื่อง ซึ่งเทคนิคในการดำเนินเรื่องแบบนี้เรียกว่า In medias res เทคนิคนี้จะใช้ในภาพยนตร์สืบสวนเป็นส่วนใหญ่ เพื่อสร้างความระทึกใจให้แก่ผู้ชม ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนขึ้น สมมุติว่า ถ้าสโนวไวท์ เปิดเรื่องตอนที่นางกัดแอปเปิลแล้วสลบไป แทนที่จะเริ่มจากตอนที่พ่อนางแต่งงานกับแม่มดจำแลงตอนนางเด็กๆ ก็จะทำให้ผู้อ่านสนใจอยากรู้ว่าทำไมตัวเอกถึงมีคนปองร้ายอยากกำจัดนาง เนื่องจากเราไม่ใช่สโนวไวท์ และไม่ได้อยากให้ท่านผู้อ่านหัวใจเต้นตูมตาม จึงตั้งใจเริ่มเรื่องจากวันที่ออกเดินทางจากประเทศไทยไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

ทุกวันนี้ยังจำวันที่ออกเดินทางมาเรียนเป็นครั้งแรกได้อย่างกับเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ วันนั้นคือวันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2534 ออกเดินทางแต่เช้าตรู่โดยสายการบิน Northwest ทั้งครอบครัวมาส่งที่สนามบินดอนเมือง สมัยนั้นเวลาออกเดินทางไปต่างประเทศ ผู้ใหญ่มักจะให้พรและคล้องพวงมาลัยให้เป็นสิริมงคล ทั้งคุณพ่อคุณแม่และพี่ๆคล้องพวงมาลัยให้ ตัวเราเหมือนกับนักร้องลูกทุ่งดังบนเวที เมื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันอย่างหนำใจแล้ว ก็ถึงเวลาอำลาอาลัย น้ำตาหยดแหมะๆไปตามกันทั้งคณะ ผู้เขียนเดินจากครอบครัวอย่างใจหาย ไม่แน่ใจว่าเราจะเผชิญอะไรบ้างในอนาคตอันใกล้นี้ 

เมื่ออยู่ในเครื่องบินน้ำตายังไหลพราก ตัวเราก็ต้องควานหาเพลงมากล่อมอารมณ์ ตอนนั้นพกชาวเบาท์ เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทขนาดพึ่งพาและหูฟัง จริงๆแล้วชื่อเต็มๆของเครื่องเล่นเทปนี้คือ ชาวอเบาท์ (Sound about) ตามที่โซนี่ได้เริ่มผลิตในปีค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) คนไทยก็ติดเรียกกันมาว่าซาวอเบาท์ทั้ง ๆ ที่โซนี่เปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์เป็น Walkman ในปีถัดมา 

นอกจากนั้นคนไทยยังใช้คำว่าซาวเบาท์กับเครื่องเล่นเทปขนาดพกพาของยี่ห้ออื่นๆที่ไม่ใช่โซนี่อีกด้วย ในแนวเดียวกับเรียกผงซักฟอกว่าแฟบ เนื่องจากเวลาการเดินทางรวมทั้งเปลี่ยนเครื่องบินที่ชิคาโกประมาณ 27 ชั่วโมง ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่องจึงหนักอึ้งไปด้วยเทปเพลงทั้งไทยและเทศและถ่านไฟฉายเพื่อไว้ใช้ฟังเพลงฆ่าเวลา

ขณะที่ฟังเพลงเพลิน พนักงานต้อนรับก็มาถามว่าจะรับเครื่องดื่มหรืออาหารอะไร พอเงยหน้าขึ้นไปจะตอบถึงกับผงะเล็กน้อยเพราะเคยชินกับพนักงานต้อนรับของสายการบินไทยสมัยก่อนนั้นอายุไม่เกินสามสิบปี รูปร่างสันทัด และสวยงามเหมือนนางงาม พนักงานต้อนรับของสายการบินต่างประเทศนั้นมีหลากหลายอายุและสัดส่วน สุภาพสตรีที่บริการอาหารและเครื่องดื่มในเที่ยวบินนั้นอายุประมาณเกือบหกสิบ แต่งหน้าเข้ม และท้วม เวลาเธอเข็นรถอาหารเครื่องดื่ม เธอต้องเอียงเข็น ขณะนั้นตัวเราไม่เข้าใจว่าทำไมสายการบินต่างชาติถึงจ้างหญิงสูงอายุและรูปร่างอวบ เมื่อได้มาอยู่ที่อเมริกาถึงเข้าใจว่าเขามีกฎหมายพิทักษ์การจ้างงาน ถ้าหากผู้สมัครสามารถทำงานที่ทางบริษัทกำหนดได้อย่างมาประสิทธิผล ผู้จ้างไม่สามารถเกี่ยงรูปลักษณ์ของผู้สมัครได้

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ‘จักรวรรดิอิตาลี’ ขยายอำนาจเข้ายึดครอง ‘ลิเบีย’ ตำนานนักต่อสู้ ฉายา ‘สิงโตแห่งทะเลทราย’ จึงเกิด

เมื่อไม่นานมานี้ มีเพื่อนในเฟซบุ๊ก ‘ดร.โญ มีเรื่องเล่า’ ของผม ได้ส่งข้อความมาหาและขอให้ผมเล่าเรื่องราวของจักรวรรดิอิตาลี ยินดีครับ จัดให้เลย กลังจากค้นคว้าหาข้อมูล เรียบเรียง แล้วจึงส่งบทความที่น่าสนใจนี้มาเผยแพร่ใน THE STATES TIMES และสำหรับใครที่สนใจเรื่องอะไร อยากรู้เรื่องไหน สามารถเขียนบอกที่คอมเมนต์ได้เลยครับ

พฤติกรรมหรือนิสัยของฝรั่งโซนยุโรปอย่างหนึ่งที่มีมานานแล้วคือ ‘การล่าเมืองขึ้น’ หรือที่เรียกว่า ลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism) เป็นการใช้พลังอำนาจ โดยเฉพาะกำลังทางทหารที่เหนือกว่าไม่ว่าด้วยจำนวนกำลังพลหรือเทคโนโลยีด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ในการเข้าบังคับยึดเอารัฐหรือดินแดนอื่นให้มาอยู่ภายใต้อาณัติ เพื่อกอบโกย (หรือปล้น) ทรัพยากรของรัฐหรือดินแดนนั้นๆ ทั้งทางตรง (ยึดแล้วขนกลับประเทศเลย) และทางอ้อม (ด้วยวิธีการเรียกเก็บภาษีอากรต่าง ๆ)

สาธารณรัฐอิตาลี เดิมคือ ราชอาณาจักรอิตาลี เป็นรัฐอธิปไตยบนคาบสมุทรอิตาลี ซึ่งได้มีการสถาปนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๔ (ค.ศ. 1861) จากการรวมตัวกันของรัฐอิตาลีหลายๆ รัฐ ภายใต้การนำของราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย 

ต่อมาอิตาลีได้ประกาศสงครามต่อออสเตรียในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ (ค.ศ. 1866) โดยมีปรัสเซีย (เยอรมนีในอดีต) เป็นพันธมิตรร่วม แม้ว่าอิตาลีจะทำการรบล้มเหลว แต่ชัยชนะของปรัสเซียก็ได้ทำให้อิตาลีได้สิทธิครอบครองเวนิส ต่อมาอิตาลีได้ยกทัพเข้ายึดกรุงโรมในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ (ค.ศ. 1870) เป็นการปิดฉากอำนาจการปกครองทางโลกของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ต่อเนื่องยาวนานมานับพันปี 

อิตาลีเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑

ต่อมาอิตาลีได้ตอบรับข้อเสนอของ ออทโต้ ฟอน บิสมาร์ค ผู้นำปรัสเซียในการเข้าร่วมกลุ่มไตรพันธมิตรกับเยอรมนีและออสเตรียในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. 1892) หลังจากที่อิตาลีเกิดความไม่พอใจในการขยายอาณานิคมของฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีกับเยอรมนีจะเป็นไปด้วยดียิ่ง แต่ความเป็นพันธมิตรกับออสเตรียกลับอยู่ในลักษณะเป็นทางการเท่านั้น 

ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ (ค.ศ. 1915) อิตาลีจึงได้ตอบรับคำเชิญของสหราชอาณาจักรในการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสงครามครั้งนั้นได้ทำให้อิตาลีก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจ โดยมีที่นั่งถาวรอยู่ในสภาสันนิบาตชาติ และราชอาณาจักรอิตาลีดำรงคงอยู่จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. 1946) เมื่อประชาชนชาวอิตาลีได้มีการลงประชามติให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบราชอาณาจักรไปสู่ระบบสาธารณรัฐ

จักรวรรดิอาณานิคมของอิตาลีถูกสร้างขึ้นหลังจากอิตาลีเข้าไปมีส่วนร่วมกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ในการแสวงหาอาณานิคมในต่างประเทศในยุคของ ‘การแย่งชิง/การล่าอาณานิคมในแอฟริกา’ ซึ่งจักรวรรดิอาณานิคมของอิตาลีถูกสร้างขึ้นช้ากว่าหรือยังคงเล็กเกินไปที่จะนำไปเปรียบเทียบกับการครอบครองโพ้นทะเลขนาดใหญ่ของมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ เช่น โปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งต่างก็ได้สร้างจักรวรรดิขนาดใหญ่แล้วมาเป็นเวลาหลายร้อยปี และหนึ่งในพื้นที่สุดท้ายที่เหลืออยู่ที่เปิดให้ล่ารัฐหรือดินแดนมาเป็นอาณานิคมก็คือ ดินแดนในทวีปแอฟริกา 

ดังนั้นจักรวรรดิอิตาลีจึงกำเนิดก่อเกิดขึ้นเฉพาะในแอฟริกาตะวันออกและในลิเบีย ในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการที่ประเทศเข้าสู่ลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) ภายใต้การนำของ ‘เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini)’

เรื่องที่น้อยคนจะรู้!! เปิดอีกด้านของมหกรรมกีฬา ‘โตเกียวโอลิมปิก’ งานระดับโลกสุดยิ่งใหญ่ที่ซ่อนปม ‘สินบน-ทุจริต’ เพียบ!!

ไม่รู้ว่าข่าว ‘การทุจริตในโตเกียวโอลิมปิก’ จะมีคนไทยกี่คนที่รู้และเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เพราะสื่อบ้านเราเป็นสื่อที่มักง่าย เลือกนำเสนอข่าวที่หาง่าย ไร้การตรวจสอบ หรือไม่ทำการบ้านใดๆ เลย แต่สำหรับผมแล้ว ข่าว ‘การทุจริตในโตเกียวโอลิมปิก’ นี้ค่อนข้างมีความน่าสนใจ เพราะมีจุดเชื่อมโยงกับรัฐบาลญี่ปุ่น รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซผู้ล่วงลับ จึงสรุปข่าวนี้ให้เข้าใจได้ง่ายๆ และมาแบ่งปันให้ผู้อ่านได้อ่านกันครับ

ค่าใช้จ่ายในการจัดโตเกียวโอลิมปิกทั้งหมดนั้นอยู่ที่ 1,432,800 ล้านเยน (1兆4328億円) หรือเทียบเป็นเงินไทยตอนนี้ก็ราวๆ 375,913 ล้านบาท โดยผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดแบ่ง มีดังนี้
1.) ประเทศ 42% 
2.) เมืองโตเกียว 13%
3.) คณะกรรมการจัดการแข่งขัน 45%

โดยประเทศและเมืองโตเกียวนั้น ที่มาของเงินก็คือภาษีจากประชาชนนั่นเอง รวมเป็น 55% คิดเป็นเงิน 783,400 ล้านเยน ส่วนอีก 45% ที่รับผิดชอบโดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันนั้นมาจากการรับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ภาคเอกชนนั้นเอง 

จึงสามารถพูดได้ว่าการจัดโตเกียวโอลิมปิกเกินครึ่งหนึ่งเป็นเงินแผ่นดิน แต่กลับมีคนบางกลุ่มหาประโยชน์จากการจัดงานกีฬาระดับประเทศที่ใช้เงินแผ่นดินนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ซึ่งจุดที่มีการค้นพบการทุจริตในครั้งนี้ก็คือ คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม หรือ Public Interest Incorporated Foundation (公益財団法人) และด้วยเพราะการเป็นองค์กรแบบนี้ กฎหมายญี่ปุ่นจึงไม่ได้บังคับให้ต้องแสดงและเผยแพร่ข้อมูลทางธุรกิจทั้งหมดให้สังคมได้รับทราบ พูดง่ายๆ คือไม่สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายขององค์กรด้วยวิธีปกติได้ทั้งหมด 

ตัวละครที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้ในปัจจุบันคือ อดีตหนึ่งในคณะกรรมการจัดการแข่งขันชื่อ ทาคาฮาชิ ฮารุยูกิ (高橋 治之) อดีตดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทเดนท์สุ บริษัทตัวแทนโฆษณาอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ผู้มีฉายาว่าท่านดอนแห่งวงการธุรกิจด้านกีฬา โดยหน้าที่ที่ทาคาฮาชิได้รับในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการจัดการแข่งขันคืออำนาจในการเลือกสปอนเซอร์ ที่จะเป็นเงินทุนให้กับการจัดโตเกียวโอลิมปิกถึง 45% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้เกิดการรับสินบนจากภาคเอกชนที่จะมาเป็นสปอนเซอร์

ณ ปัจจุบัน (26 กันยายน 2565) มีบริษัทที่กำลังถูกสืบสวนการจ่ายสินบนดังต่อไปนี้
1.) บริษัท AOKI บริษัทผลิตเสื้อสูทสำเร็จขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น (ตัวผมก็ซื้อสูทพิธีการตอนสมัยเรียนที่ญี่ปุ่นจากบริษัทนี้) ได้จ่ายเงินสินบน 51 ล้านเยน ทำให้อดีตประธานบริษัทถูกจับกุมแล้ว
2.) บริษัท KADOKAWA บริษัทสื่อบันเทิงของญี่ปุ่น ที่ประเทศไทยอาจคุ้นเคยในสื่อประเภทการ์ตูน อนิเมชั่น นิยาย รวมไปถึงธุรกิจโรงเรียนสอนศิลปะ ได้จ่ายเงินสินบน 76 ล้านเยน ทำให้อดีตประธานบริษัทถูกจับกุมแล้ว
3.) บริษัท Daiko บริษัทสื่อโฆษณา ถูกสำนักงานอัยการตั้งข้อสงสัยว่าอาจจ่ายสินบน 14 ล้านเยน กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน เก็บหลักฐาน
4.) บริษัท Park24 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่เน้นทำธุรกิจให้เช่าที่จอดรถในโตเกียว ถูกสำนักงานอัยการตั้งข้อสงสัยว่าอาจจ่ายสินบนเพื่อให้ได้เป็นสปอนเซอร์ของโตเกียวโอลิมปิก กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน เก็บหลักฐาน

แต่ระดับผู้กว้างขวางในวงการสื่อสารมวลชนของญี่ปุ่น คงไม่ทำอะไรให้โดนจับง่ายๆ ถ้าไม่มีหลักฐานมัดให้ตัวคาหนังคาเขา จากการสืบสวนของสำนักงานอัยการ พบว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับว่าเป็นการติดสินบน นายทาคาฮาชิได้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาชื่อ Commons (コモンズ) เพื่อรับเงินสินบนนั้นในรูปแบบเงินค่าที่ปรึกษา จ่ายเป็นเงินรายเดือน 

นอกจากนี้แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัยว่าบริษัทของนายทาคาฮาชิรับค่าที่ปรึกษาจากบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์เพียงบริษัทเดียว จึงมีการเพิ่มตัวละครที่ชื่อ ฟุคามิ คาซุมาซะ (深見和政) ที่มีบริษัทที่ปรึกษาชื่อ Commons2 (コモンズ2) เข้ามารับเงินค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์อีกบริษัทหนึ่ง 

จากบริษัทที่ขึ้นลิสต์ข้างต้นไป บริษัท AOKI จ่ายค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทของนายทาคาฮาชิ โดยตรง ส่วนบริษัท KADOKAWA และ Daiko จ่ายค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทของนายฟุคามิ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างนายทาคาฮาชิ และนายฟุคามินั้น มีหลายจุดที่ทำให้สำนักงานอัยการคิดว่าทั้งคู่สมรู้ร่วมคิดกันในการรับสินบนครั้งนี้คือ ทั้งคู่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องสมัยที่ทำงานที่บริษัทเดนท์สุ และบริษัท Commons2 (コモンズ2) ที่นายฟุคามิก่อตั้งในปี 2012 มีนายทาคาฮาชิเป็นกรรมการบริษัท ถึงปี 2013 นอกจากนี้แล้วบริษัท Commons2 รับงานทำ CM โปรโมตโตเกียวโอลิมปิกจากบริษัท AOKI ที่ได้รับการแนะนำจากบริษัท Commons (コモンズ) อีกทอดหนึ่ง 

จากหลักฐานที่สืบสวนได้ ยังสามารถจับกุมได้เพียงนายทาคาฮาชิ, นายฟุคามิ และผู้บริหารบริษัทเอกชนข้างต้นเท่านั้น ยังมีการตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติม เนื่องจากโตเกียวโอลิมปิกเป็นการแข่งขันระดับประเทศที่ยิ่งใหญ่ สปอนเซอร์ก็ถูกจัดแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ 
1.) Worldwide Olympic Partner
2.) Gold Partner
3.) Official Partner
4.) Official Supporter

ทั้งสี่บริษัทล้วนเป็นเพียง Official Supporter ระดับล่างสุดของสปอนเซอร์โตเกียวโอลิมปิกเท่านั้นหรือ? แล้วระดับสูงขึ้นไปจะมีการรับสินบนหรือไม่? นั้นเป็นสิ่งที่สำนักงานอัยการกำลังสืบสวนเพิ่มเติม ถ้าได้ผลอย่างไร จะนำมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ

ถอดบทเรียนวิกฤตศรัทธาพา ‘ปอนด์’ ป่วย สู่ 3 ทางรอดค่าเงินบาท ที่ไม่ควรเดินตามรอย

ถือเป็นการปรับลดค่าเงินปอนด์อย่างรุนแรงเป็นผลโดยตรงจากนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ตามที่นายกฯ Liz Truss ได้หาเสียงไว้ว่าจะทั้งเพิ่มเงินกู้อย่างมหาศาล และจะปรับลดภาษีพร้อมกัน ท่ามกลางความกดดันที่มีอยู่เดิมจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งอังกฤษขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่แล้วถึง 8% ของ GDP และอาจจะเพิ่มเป็น 10% ได้ด้วยนโยบายของนายกฯ คนใหม่ ในขณะที่หนี้สาธารณะอยู่ที่กว่า 100% ของ GDP อยู่แล้ว

วันนี้เงินปอนด์อยู่ที่ประมาณ 1.08 ต่อดอลลาร์ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่อ่อนค่าที่สุดเป็นประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ สาเหตุคือวิกฤติศรัทธา นักลงทุนสูญเสียความไว้วางใจในนโยบายรัฐบาล นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ไทยเราเองกำลังจะเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้ง คือเข้าสู่ช่วงลดแลกแจกแถม เราจึงต้องตระหนักในความรับผิดชอบทางการคลัง 

วันนี้เราเป็นประเทศที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยที่กว้างมากที่สุดในอาเซียนเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยของอเมริกา หากทำอะไรให้เกิดวิกฤติศรัทธาขึ้นมาเราจะเสี่ยงที่จะถูกตลาดเงินกดดันให้ต้องเพิ่มดอกเบี้ยอย่างแรง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับผู้ประกอบการและประชาชนที่เป็นหนี้ อย่าคิดว่าทำอะไรก็ได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกที่วันนี้เปราะบางมาก ความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ศึกเลือกตั้ง ‘เมืองคอน’ ส่อแววระอุ ‘วิทยา’ ดันลูกชายลงชิงเก้าอี้ เขต 1 แข่ง พปชร.

การเมืองนครศรีฯสนุกแล้วครับ

ปรากฏโฉมขึ้นมาอีกรายเพื่อท้าชิงเก้าอี้ ส.ส.เขต 1 นครศรีธรรมราช คือ ‘พูน แก้วภารดัย’ ลูกชายของพี่น้อย ‘วิทยา แก้วภารดัย’ที่สไลด์ตัวเองออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปอยู่ร่วมหัวจมท้ายกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

พี่น้อยโพสต์ด้วยตัวเองว่า พูน-ลูกชายจะลงสมัคร ส.ส.เขต 1 นครศรีธรรมราช ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค มีแนวทางชัดเจนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่เอกนัฐ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรคยืนยันว่า พรรคจะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคเป็น ‘แคนดิเดต’ นายกรัฐมนตรี

กล่าวถึงพูน เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคลุงกำนัน รวมพลังประชาธิปไตย ที่เวลานี้เปลี่ยนมาเป็นพรรครวมพลัง

ปัจจุบันพูนอยู่ในทีมที่ปรึกษาของ ดร.โจ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช แต่น่าแปลกใจว่า ทำไมพี่น้อยให้ลูกชายลงเขต 1 ทำไมไม่ไปลงเขตปากพนัง หัวไทร ซึ่งพี่น้อยมีฐานคะแนนอยู่ เป็น ส.ส.อยู่หลายสมัย จนอาจจะพูดได้ว่า ‘ผูกขาด’ เพิ่งมาพลาดให้กับ ดร.สัญหพจน์ สุขศรีเมือง จากพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้เอง และพี่น้อยมีดีกรีเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เข้าใจว่า พี่น้อย และพูนเองหวังการสนับสนุน ช่วยเหลือจาก ดร.โจ ที่ชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีด้วยคะแนนล้นหลาม เอาชนะอภิชาติ ศักดิเศรษฐ์ ไปได้อย่างเกินความคาดหมาย

แต่การเปิดตัวช้าของพูนมันจะช้าไปหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้ ดร.โจ เดินพาน้องติ๊ก-จรัญ ขุนอินทร์ นายธนาคารจาก ธกส. ศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศ และปัจจุบันเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าเบญจมะอยู่ด้วย ออกแนะนำตัวมานานพอสมควรแล้ว ‘ฝากด้วย น้องผม’ ซึ่งน้องติ๊กจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคภูมิใจไทย

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ดร.โจจะช่วยเหลือใคร การเมืองเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยนได้ ดร.โจจะช่วยที่ปรึกษา หรือจะช่วยเหลือทีมร่วมสถาบัน

แต่เท่าที่รู้ สมนึก เกตุชาติ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครศรีธรรมราชหลายสมัย และเป็นพ่อของ ดร.โจ ช่วยเหลือ ‘ราชิต สุดพุ่ม’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงสมัครเขต 1 เหมือนกัน เพราะลุงนึกกับราชิตเป็นญาติกัน เป็นคนถิ่นหัวไทรด้วยกันและน่าสังเกตว่า รูปพูนที่พี่น้อยนำมาลง เป็นรูปที่พูนใส่เสื้อสีเหลือง และปักที่หน้าอกว่า ‘ทีม ดร.โจ’

วาระที่โลกจับตา เดินหน้าสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ความคืบหน้าที่ต้องจับตาใน APEC 2022

ภายหลังจากที่ APEC เริ่มยกระดับการประชุมสู่กลไกการตัดสินใจร่วมกันของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ หรือ APEC Summit ที่เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 1993 เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งแรก ณ Blake Island ในรัฐวอชิงตัน การผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจสมาชิกก็ดูจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

ตามประเพณีของ APEC เขตเศรษฐกิจที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ประธานในแต่ละปี จะเกิดขึ้นจากฉันทามติของที่ประชุม APEC โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างเขตเศรษฐกิจในทวีป สลับกับเขตเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก 

ในปี 1994 ประเทศอินโดนีเซียซึ่งอยู่ในฟากฝั่งทวีปเอเชียจึงได้รับเกียรติให้เป็นประธานการประชุมต่อจากสหรัฐอเมริกัน ซึ่งถือเป็นสมาชิกทางภาคพื้นแปซิฟิก โดยรัฐบาลอินโดนีเซียเลือกที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ขึ้นที่เมือง Bogor ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ลงไปประมาณ 60 กิโลเมตรจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ

ในการประชุมครั้งนั้น สาระสำคัญที่สุดที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการประชุมในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นั่นคือ ผู้นำ APEC ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายระยะยาวในการสร้าง ‘เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก’ หรือที่ประชุมใช้คำว่า Free and Open Trade and Investment in the Asia-Pacific และได้กำหนดเป็น ‘เป้าหมาย’ หรือ ‘Bogor Goals’ ที่ตั้งเอาไว้ว่า “สำหรับเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ระดับสูงและมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพัฒนาแล้ว จะเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนกับสมาชิก APEC ภายในปี 2010 และให้แต้มต่อกับเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ และมีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับกำลังพัฒนาให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในปี 2020”

หลังจากนั้น ก็ได้มีการตั้งคณะที่ปรึกษาภาคเอกชนขึ้นมาเป็นกลไกสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีและความร่วมมือในมิติอื่นๆ กับการประชุมของภาครัฐและผู้กำหนดนโยบาย โดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council) หรือ ABAC ได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1995 และได้ทำหน้าที่ประชุมควบคู่กันไปกับการประชุมของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ Asian Financial Crisis หรือที่พวกเราชาวไทยนิยมเรียกว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ต่อเนื่องกระแสที่ตกต่ำลงของการประชุมเพื่อเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคีขององค์การการค้าโลก ที่ล้มเหลวในการเปิดการเจรจารอบ Millennium Round ในปี 1999 และความล่าช้าของการเจรจาในรอบ Doha Development Round ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2001 นั้น ได้ทำให้การเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในกรอบใหญ่ๆ ดูเหมือนจะหยุดชะงักลง และหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็มาให้ความสำคัญกับการเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าในระดับทวิภาคี และในระดับภูมิภาค นั่นจึงทำให้การเจรจาการค้าในกรอบ APEC ดูจะซบเซา

อย่างไรก็ตามในปี 2007 แนวคิดที่จะปัดฝุ่นการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในกรอบ APEC ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอีกครั้ง โดยการผลักดันอย่างแข็งแกร่งจากภาคเอกชน ABAC นั่นจึงเป็นการฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งของความร่วมมือที่ต่อจากนี้ไปจะถูกเรียกว่า เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific) หรือ FTAAP (อ่านว่า เอฟ-แท็บ) 

ด้านสำนักเจรจาการค้าพหุภาคี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการทำสรุปประเด็นการก่อกำเนิดของ FTAAP ไว้อย่างน่าสนใจในปี 2009 เอาไว้ว่า ผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจคืองานศึกษาของเกาหลีใต้ที่ได้รวบรวมมาจากงานวิจัยของนักวิชาการต่างๆ โดยรายงานการศึกษาได้ยกคำถามรวมทั้งความเห็นต่อคำถามเหล่านั้นไว้ให้สมาชิกเอเปก หารือกันต่อ คำถามหลัก ๆ อาทิ... 

1.) ทำไมต้องมี FTAAP
2.) FTAAP มีประโยชน์หรือไม่
3.) การจัดทำ FTAAP เป็นไปได้หรือไม่
4.) การจัดตั้ง FTAAP จะใช้วิธีใด
5.) เอเปกควรศึกษาประเด็นใดเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการจัดตั้ง FTAAP เป็นต้น

>> ‘ทำไมต้องมี FTAAP?’ 
นักวิชาการต่างเห็นว่า เหตุผลสำคัญที่ FTAAP จะเป็นหนึ่งในหลายทางเลือกในเชิงนโยบายสำหรับสมาชิกเอเปกและโลก คือความล่าช้าในการดำเนินงานเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) ปัญหา Spaghetti bowl จากความซับซ้อนของการจัดทำ FTA / RTA ของสมาชิกเอเปก รวมทั้งความล้มเหลวในการเปิดเสรีรายสาขาโดยสมัครใจของเอเปกในช่วงที่ผ่านมา

>> ‘FTAAP มีประโยชน์หรือไม่?’ 
ผลจากงานวิจัยได้แสดงผลกระทบด้านความกินดีอยู่ดีในเชิงปริมาณว่า การจัดทำ FTAAP จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเอเปกและเศรษฐกิจโลกโดยรวม หากเอเปกไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก (Unilateral Open Regionalism Approach) โดยจะสร้างความแข็งแกร่งแก่การเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคี อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่แต่ละสมาชิกจะได้รับนั้นจะแตกต่างกันตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

>> ‘การจัดทำ FTAAP เป็นไปได้หรือไม่?’ 
ในรายงานได้กล่าวอย่างระมัดระวัง โดยยอมรับถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณา FTAAP ว่าเป็นหนึ่งนโยบายทางเลือกในการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนของเอเปก โดยคงไว้ซึ่งนโยบายการเปิดกว้างในภูมิภาค (Open Regionalism) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเอเปกยังขาดแรงผลักดันทางการเมือง (Political Will) ที่จะส่งเสริมการจัดทำ FTAAP ภายในเอเปก รวมทั้งมีข้อจำกัด/อุปสรรคเฉพาะในบางเรื่องในการจัดตั้ง Regional Trade bloc ของตน เช่น การดำเนินงานของเอเปกอยู่บนหลักของความสมัครใจ (voluntary) เป็นต้น

ในห้วงเวลานั้น สมาชิกเอเปกกำลังทำการบ้านกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ FTAAP เช่น ศึกษาผลกระทบจากการจัดทำ FTAAP ทางเศรษฐกิจต่อสมาชิกเอเปกและโลก ศึกษาวิเคราะห์กลไกในการจัดทำ FTAAP ศึกษาความเหมือน/แตกต่างของข้อบทต่าง ๆ ในความตกลงการค้าเสรีของสมาชิกเอเปก (เช่น Market Access, Rules of Origin, Customs Procedures, Technical Barriers to Trade) และศึกษาเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) เป็นต้น

เช็คความพร้อม 'ประชาธิปัตย์' นครศรีธรรมราช เตรียมเปิดตัวผู้สมัคร 9 เขต มั่นใจกวาดยกจังหวัด

"นครศรีธรรมราชไม่เงียบนะ" เป็นคำตอบมาจาก 'แทน-ชัยชนะ เดชเดโช' ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ รองเลขาธิการพรรค

"พรรคเตรียมเปิดตัวผู้สมัครทั้ง 9 เขต ในเดือนพฤศจิกายน ขณะเราได้ตัวผู้สมัครแล้ว 8 คน 8 เขต อีก 1 เขตรอการทำโพลล์"

8 คนที่ได้ตัวผู้สมัครแล้ว เป็น ส.ส.ปัจจุบัน 4 คน และเลือดใหม่ 4 คน ประกอบด้วย...

ส.ส.4 คน ประกอบด้วย ชัยชนะ เดชเดโช, ชินวรณ์ บุณยเกียรติ์, ประกอบ รัตนพันธ์ และพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล' ซึ่งใครลงเขตไหนยังระบุชัดไม่ได้ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศเขตเลือกตั้งออกมา 

ส่วนเลือดใหม่ 4 คน ประกอบด้วย ราชิต สุดพุ่ม, พิทักษ์เดช เดชเดโช, อวยพรศรี เชาวลิต และ ลูกชายของชินวรณ์

ส่วนอีก 9 คน เพราะ ส.ส.นครศรีธรรมราชมี 9 คน คือ โซนหัวไทร ชะอวด เชียรใหญ่ อยู่ระหว่างเตรียมการทำโพลล์ เนื่องจากมีผู้เสนอตัวลงสมัครมากกว่า 1 คน พรรคจึงต้องทำโพลล์ เป็นการทำโพลล์ระหว่าง 'ยุทธการ รัตนมาศ' อดีตรองนายกฯอบจ.นครศรีธรรมราช นายกสมาคมกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช กับ 'พงศ์สิน เสนพงศ์' น้องชายของเทพไท เสนพงศ์ เคยลงสมัครเมื่อครั้งเลือกตั้งซ่อม เขต 3 คือพื้นที่โซนนี้แหละ แต่แพ้ให้กับอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ก็คิดว่า เวลาในการพบปะแนะนำตัวเหลือน้องลงทุกวัน

ไม่ว่าจะเป็นพงศ์สิน หรือยุทธการ ในมุมมองของ #นายหัวไทร เชื่อว่า มีฐานเสียงเดียวกัน คือโซนชะอวด ฐานเสียงโซนหัวไทรจะเบาบางทั้งคู่

"เรามีวิธีในการเรียกคะแนนจากประชาชน ขอให้สนามเลือกตั้งเปิดก่อน" เป็นคำยืนยันจาก 'ชัยชนะ'

'แทน-ชัยชนะ' ยังเชื่อมั่นว่า เลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนพรรคประชาธิปัตย์จะชนะยกจังหวัด 9 ที่นั่ง

ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงสำหรับสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ แต่ก็ต้องเชื่อในฝีมือของ ส.ส.แทน กับปัจจัยเกื้อหนุน แต่ก็ไม่ควรปรามาสคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งจากพรรคพลังประชารัฐที่เขามีอยู่ครึ่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช 4 ที่นั่ง ทั้ง ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ, สายัณห์ ยุติธรรม, อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ และสัญหพจน์ สุขศรีเมือง ที่พวกเขาฝ่าด่านมาได้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา รวมถึงเลือกตั้งซ่อมด้วย และไม่ควรมองข้ามพรรคภูมิใจไทยที่กระแสดี มีผลงาน “พูดแล้วทำ” เขากำลังจัดทัพสู้เต็มที่เหมือนกัน ปัจจัยพร้อม กระสุนดินดำมี ถ้าได้ผู้สมัครที่มีชื่อชั้น ก็จะมีราคามาต่อรองกับพรรคประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐได้เช่นกัน

ส.ส.แทน คงจะประเมินในสถานการณ์ที่ชินวรณ์ และพิมพ์ภัทรา ยังยืนหยัดสู้อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีกระแสข่าวหนาหูว่าทั้งสองคนถูกพรรคอื่นทาบทาม ซึ่งในสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงแย่งฐานภาคใต้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งสองคนจะถูกแซะจากพรรคคู่แข่ง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทั้งสองคน และขึ้นอยู่กับประชาธิปัตย์ว่าจะให้บทบาทให้ความสำคัญกับทั้งสองคนแค่ไหนในระดับไหน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top