‘เด็กหมาป่า’ เด็กกำพร้าเยอรมันที่ถูกลืม ผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 กับชะตากรรมอันโหดร้ายจากความหิว ความหนาว และการสูญเสียตัวตน
‘เด็กหมาป่า’ (Wolf children) เด็กกำพร้าเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
‘เด็กหมาป่า’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเด็กที่เคยอาศัยอยู่กับฝูงหมาป่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างในอินเดีย แต่เป็นเรื่องราวของเด็กกำพร้าเร่ร่อนชาวเยอรมันและชาวเยอรมันเชื้อสายลิทัวเนีย ซึ่งมีอยู่ใน ‘ปรัสเซียตะวันออก’ (‘ปรัสเซีย’ คือชื่อเดิมของ ‘เยอรมนี’ ซึ่งในอดีตมีพื้นที่กว้างขวางกว่าในปัจจุบัน) เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กหมาป่าส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการอพยพของพลเมืองปรัสเซียตะวันออก เพื่อหลบหนีการบุกของ ‘กองทัพแดง’ (สหภาพโซเวียต) เมื่อต้นปี 1945 โดยหลายคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย จึงต้องไปอาศัยอยู่ในป่าของปรัสเซียตะวันออกหรือถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวชาวลิทัวเนีย
การรุกปรัสเซียตะวันออกของกองทัพแดงในช่วงปลายปี 1944 ถึงต้นปี 1945 ทำให้ประชาชนชาวเยอรมันทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กหลายล้านคนต้องอพยพหลบหนี แต่เมื่อผู้ใหญ่จำนวนมากเสียชีวิตหรือบาดเจ็บระหว่างการโจมตีด้วยระเบิด หรือความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวที่รุนแรงโดยไม่มีอาหารและที่พักพิง เด็กกำพร้าหลายพันคนจึงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และต้องหลบหนีเข้าไปในป่าโดยรอบ ถูกบังคับให้ดูแลตัวเองและต้องเผชิญกับการตอบโต้ที่รุนแรง หากถูกทหารโซเวียตจับได้ โดยเด็กโตมักพยายามรวบรวมพี่น้องไว้ด้วยกัน และเอาชีวิตรอดด้วยการค้นหาอาหารและที่พักพิง กลายเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งของพวกเขา
เด็กหมาป่าจำนวนมากเดินทางไปหาอาหารในป่าของลิทัวเนียที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งต่อมาเด็กส่วนหนึ่งได้รับการรับเลี้ยงโดยเกษตรกรชาวลิทัวเนียในชนบท และเรียกพวกเด็กหมาป่าเหล่านี้ว่า ‘Vokietukai’ (เยอรมันตัวน้อย) และมักจะแบ่งปันอาหารและที่พักให้พวกเด็กหมาป่า
เด็กหมาป่าเหล่านี้ส่วนใหญ่เดินทางไปกลับมาหลายครั้ง เพื่อหาอาหารให้แม่หรือพี่น้องที่ป่วย โดยเดินทางไปตามรางรถไฟ บางครั้งก็นั่งบนรถหรือระหว่างตู้รถไฟ และกระโดดลงก่อนถึงสถานีที่ควบคุมโดยโซเวียต หลังทศวรรษ 1990 เด็ก ๆ ถูกเรียกว่าเป็น ‘เด็กหมาป่า’ เพราะพวกเขาใช้ชีวิตเหมือนหมาป่าที่เดินเตร่อยู่ในป่า
เกษตรกรชาวลิทัวเนียที่ขายผลิตภัณฑ์ของตนในเมืองเล็ก ๆ ของปรัสเซียตะวันออกในปี 1946 ได้พากันมองหาเด็กหมาป่าเพื่อให้มาช่วยพวกเขาในการทำงานประจำวัน และด้วยเหตุนี้ เด็กหมาป่าจำนวนมากจึงหลั่งไหลไปยังภูมิภาคบอลติกตะวันออกเป็นประจำ เพื่อรับอาหารแลกกับแรงงานหรือข้าวของต่าง ๆ ที่พวกเขาสามารถหามาได้ เกษตรกรชาวลิทัวเนียรับเลี้ยงเด็กที่อายุน้อยบางส่วน และเด็กหลายคนก็อยู่ในฟาร์มที่ลิทัวเนียเป็นการถาวร ตามการประมาณการคร่าว ๆ มีเด็กเยอรมันราว 45,000 คนอาศัยอยู่ในลิทัวเนียในปี 1948 แต่ไม่ปรากฏสถิติที่แน่นอน
ชาวลิทัวเนียที่ช่วยเหลือเด็ก ๆ ชาวเยอรมันต้องพยายามซ่อนเด็ก ๆ จากทางการโซเวียต เพราะการรับเลี้ยงเด็กเยอรมันนั้นเสี่ยงต่อการถูกลงโทษอย่างรุนแรง หากถูกตรวจพบ โดยพวกเขาได้ทำการเปลี่ยนชื่อของเด็กชาวเยอรมันจำนวนมาก และหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1990 พวกเขาจึงสามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงได้ เด็กหมาป่ามากมายได้รับชื่อและนามสกุลใหม่และกลายเป็นชาวลิทัวเนียโดยไม่มีทางเลือก เนื่องจากถูกห้ามไม่ให้เลือกเป็นเยอรมัน ไม่มีรายงานเหตุการณ์ของเด็กหมาป่าในสื่อเลย และเหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนเมื่อปี 1990 หลังจากการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก
คำแถลงอย่างเป็นทางการของรัฐบาลโซเวียตและโปแลนด์ในขณะนั้นคือ “ไม่มีชาวเยอรมันในพื้นที่เหล่านี้ และนี่เป็นตำแหน่งอย่างเป็นทางการของพวกเขาตั้งแต่ต้นตาม ‘ข้อตกลงพ็อทซ์ดัม’ (Potsdam Declaration) ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488”
ต่อมา ‘Ruth Kibelka’ เด็กหมาป่าคนหนึ่งได้ทำการค้นคว้าและตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ ‘Wolfkinder’ ซึ่งมีบันทึกทางประวัติศาสตร์บางส่วนที่เด็กหมาป่าหลายคนจากปรัสเซียตะวันออกได้มอบให้ โดยบรรยายว่า ครอบครัวของพวกเขาถูกกดดันโดยกองกำลังโซเวียตที่กำลังรุกคืบในขณะที่พวกเขาพยายามหลบหนี พวกเขาถูกส่งกลับไปยังบ้านเกิดในปรัสเซียตะวันออก และพบว่าบ้านของพวกเขาถูกทำลายจนเสียหายหมด บางคนถูกไล่ออกจากบ้าน และบางคนก็เสียชีวิตจากความอดอยาก เจ็บป่วย และเป็นไข้ไทฟอยด์ เด็กกำพร้าต้องหาทางเอาชีวิตรอดจนกลายเป็นเด็กหมาป่า
เด็กหมาป่าหลายร้อยคนถูกค้นพบในลิทัวเนียหลังจากที่แยกตัวออกจากรัสเซีย ปัจจุบันมีเด็กหมาป่าเกือบ 100 คนที่ยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เหล่าเด็กหมาป่าได้ต่อสู้เพื่อสัญชาติเยอรมันของพวกเขา โดยพวกเขามีสมาคมของตัวเอง แต่สำนักงานบริหารกลางภายในกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนี ยึดถือแนวคิดที่ว่า “บุคคลที่ออกจากดินแดน ‘Königsberg’ (ปรัสเซียตะวันออกเดิม ปัจจุบันคือ ‘Kaliningrád’ ของรัสเซีย) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ได้สละสัญชาติเยอรมันของตนแล้ว”
นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต บรรดาเด็กหมาป่าได้เดินทางไปค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของพวกเขา เพื่อกลับคืนมาเป็นชาวเยอรมันอีกครั้ง สภากาชาดเยอรมันช่วยค้นหาและระบุสมาชิกในครอบครัวของเด็กหมาป่าที่ขาดการติดต่อระหว่างกัน นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ชะตากรรมของผู้สูญหายอีกประมาณ 200,000 คนได้รับการชี้แจงแล้ว แต่ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวเยอรมันที่ถูกจับเข้าคุกและเสียชีวิตยังคงไม่ได้รับการเปิดเผย ปัจจุบันรัฐบาลเยอรมันได้ให้ความสนใจและให้ความสนับสนุนในการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของเด็กหมาป่ามากขึ้น เพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับสัญชาติเยอรมันกลับคืน
เด็กกำพร้าชาวญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งไว้ในจีน : หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กกำพร้าชาวญี่ปุ่นในประเทศจีนส่วนใหญ่ถูกครอบครัวชาวญี่ปุ่นทิ้งไว้ หลังจากการส่งชาวญี่ปุ่นออกจากหูหลู่เต่า ตามตัวเลขของรัฐบาลจีนเด็กชาวญี่ปุ่นประมาณ 4,000 คนถูกทิ้งไว้ข้างหลังในจีน หลังสงคราม เด็กชาวญี่ปุ่น 90% ในมองโกเลียในและจีนตะวันออกเฉียงเหนือ (แมนจูกัวในขณะนั้น) ถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวชาวจีนในชนบท
ในปี 1980 เด็กกำพร้าเริ่มเดินทางกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขา แต่กลับต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากพวกเขาขาดทักษะภาษาญี่ปุ่น และประสบปัญหาในการหางานที่มั่นคงทำ
ณ เดือนสิงหาคม 2004 มีเด็กกำพร้าญี่ปุ่นที่เติบโตในจีนจำนวน 2,476 คน ได้ตั้งถิ่นฐานในญี่ปุ่น ตามตัวเลขของกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่น พวกเขาได้รับเงินรายเดือนจำนวน 20,000-30,000 เยนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในปี 2003 มีเด็กกำพร้า 612 คนยื่นฟ้องรัฐบาลญี่ปุ่น โดยอ้างว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบต่อการที่พวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โจทก์แต่ละคนขอเงินจำนวน 33 ล้านเยน
นอกจากเด็กกำพร้าแล้ว ยังมีผู้หญิงชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็ถูกทิ้งไว้ในจีนอีกด้วย ผู้หญิงญี่ปุ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ต่อมาได้แต่งงานกับชายชาวจีน และกลายเป็นที่รู้จักในนาม ‘ภรรยาที่ตกค้างในสงคราม’ เนื่องจากพวกเขามีลูกกับผู้ชายชาวจีน ผู้หญิงเหล่านี้จึงไม่ได้รับอนุญาตให้พาครอบครัวชาวจีนของพวกเธอ กลับมาอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นเหมือนผู้ชายญี่ปุ่นที่สามารถพาภรรยาต่างชาติกลับญี่ปุ่นพร้อมกับพวกเขาได้ ทำให้ส่วนใหญ่ยังคงต้องตกค้างอยู่ในจีน เนื่องจากญี่ปุ่นมีกฎหมายที่อนุญาตให้เฉพาะเด็กที่มีพ่อเป็นชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะสามารถขอสมัครเพื่อเป็นพลเมืองของญี่ปุ่นได้
เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ