Sunday, 20 April 2025
USA

พีท เฮกเซธ ว่าที่รมว.กลาโหมสหรัฐ ถูกจี้กลางสภา ปมขาดความรู้เรื่องอาเซียน

(16 ม.ค.68) วุฒิสภาสหรัฐได้จัดประชุมพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่เตรียมขึ้นดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยหนึ่งในผู้เข้ารับการพิจารณาคือ พีท เฮกเซธ อดีตทหารผ่านศึกและผู้ประกาศข่าวจากช่อง Fox วัย 44 ปี ซึ่งถูกเสนอชื่อเป็นว่าที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ  

ในการประชุม แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐสังกัดพรรคเดโมแครตได้สอบถามถึงความรู้ด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของเฮกเซธ โดยถามว่าเขาสามารถระบุชื่อประเทศสมาชิกอาเซียนได้หรือไม่ พร้อมอธิบายถึงความสัมพันธ์และข้อตกลงของสหรัฐกับประเทศเหล่านั้น  

เฮกเซธตอบกลับอย่างไม่ตรงคำถาม โดยระบุว่าเขาไม่ทราบจำนวนประเทศในอาเซียน แต่กล่าวถึงพันธมิตรของสหรัฐในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมถึงข้อตกลง AUKUS ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ  

คำตอบดังกล่าวทำให้แทมมีสวนกลับทันทีว่า “ทั้งสามประเทศที่คุณกล่าวมาไม่ได้อยู่ในอาเซียน” และยังแนะนำให้เฮกเซธศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิภาคนี้  "ฉันแนะนำให้คุณทำการบ้านเพิ่มเติม"

รายงานระบุว่า คำถามของแทมมีเกิดขึ้นหลังจากเฮกเซธกล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จีนกำลังแผ่อิทธิพลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน อินโดนีเซียเองก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยจีน  

ที่ผ่านมาสหรัฐมีพันธมิตรตามสนธิสัญญากับไทยและฟิลิปปินส์ และพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคเพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน โดยทำเนียบขาวเน้นย้ำถึงการสร้างภูมิภาคที่ "เปิดกว้าง เจริญรุ่งเรือง ปลอดภัย และยืดหยุ่น"  

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนย้ำว่า อาเซียนเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยนอกจากจีนและสหรัฐ อาเซียนยังมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงการประชุมอาเซียน+3 และอาเซียน+6 ที่มีผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วม  

นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นศูนย์กลางของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ลงนามในปี 2563 และถือเป็นกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ลือสะพัด TikTok เตรียมปิดบริการในสหรัฐฯ จับตาทรัมป์ ต่ออายุให้อีกแบน 90 วัน หลังต้องปิดตัว 19 ม.ค.นี้

(16 ม.ค.68) รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวว่า TikTok วางแผนจะปิดการให้บริการแอปพลิเคชันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้ใช้ถึง 170 ล้านคนหลังจากคำสั่งห้ามของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่จะมีผลบังคับใช้ โดยจะไม่มีการผ่อนผันในนาทีสุดท้ายภายในวันที่ 19 มกราคมนี้

อย่างไรก็ตาม จากรายงานของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งใน 20 มกราคม หนึ่งวันหลังจากการบังคับใช้คำสั่งห้าม อาจพิจารณาออกคำสั่งบริหารเพื่อชะลอการบังคับใช้คำสั่งปิดแอปออกไปอีก 60 ถึง 90 วัน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะดำเนินการอย่างไร

กฎหมายที่ลงนามในเดือนเมษายนกำหนดให้ต้องห้ามดาวน์โหลด TikTok ใหม่จากแอปสโตร์ของ Apple หรือ Google หาก 'ไบต์แดนซ์' บริษัทแม่จากจีนไม่ยอมขายกิจการ แต่ผู้ที่ดาวน์โหลดแอปไปแล้วยังสามารถใช้งานได้ต่อไป ยกเว้นว่ากฎหมายจะห้ามไม่ให้บริษัทในสหรัฐฯ ให้บริการหรืออัปเดตแอปตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมนี้เป็นต้นไป

ทีมงานของรัฐบาลชุดใหม่ของทรัมป์ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่าจะไม่มีการแทรกแซงการห้ามในช่วงวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง เว้นแต่จะมีการขายกิจการ TikTok ที่น่าเชื่อถือ

ในกรณีที่ TikTok ถูกแบน ผู้ใช้ที่พยายามเปิดแอปจะเห็นข้อความแจ้งที่นำไปสู่เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแบน พร้อมทั้งเสนอทางเลือกในการดาวน์โหลดข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อบันทึกข้อมูลไว้ ก่อนที่แอปจะปิดตัวลง

หากคำสั่งห้ามยังคงมีผลในอนาคต TikTok อาจประสบปัญหาในการให้บริการในประเทศอื่นๆ เนื่องจากผู้ให้บริการหลายร้อยรายในสหรัฐฯ ช่วยให้แพลตฟอร์มสามารถใช้งานได้ทั่วโลก

นอกจากนี้แอปฯ Xiaohongshu หรือที่รู้จักในชื่อ 'Red Note' ซึ่งเป็นแอปโซเชียลมีเดียจากจีน กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ หลังจากมีข่าวการประกาศการปิดตัวของ TikTok โดยแอปนี้มีฟังก์ชันที่คล้ายกับ Instagram และ Pinterest โดยได้รับความสนใจจากผู้ใช้ที่ย้ายจาก TikTok มาใช้แพลตฟอร์มนี้

ถึงแม้จะมีการวิจารณ์เรื่องการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล TikTok ก็ยังคงมีผู้ใช้จำนวนมากในสหรัฐฯ โดยบางคนไม่สนใจข้อกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและยังคงใช้แอปอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจอเมริกันกระทบแน่หากแบน TikTok จับตาซีอีโอดีลทรัมป์ขอขยายแบนอีก 90 วัน

(17 ม.ค.68) ท่ามกลางกระแสความไม่แน่นอนว่า วันที่ 19 มกราคมนี้ ชี้ชะตาอนาคตแพลตฟอร์ม TikTok ในสหรัฐว่าจะถูกแบนหรือไม่ แต่ภายในองค์กรของ TikTok ที่สหรัฐเองก็ออกจดหมายเวียนเป็นการภายใน แจ้งข่าวต่อพนักงานว่าบริษัทมีแผนดำเนินการต่อไปอย่างปกติแม้จะมีความไม่แน่นอนจากการพิจารณาคดีของศาลสหรัฐฯ  

TikTok ระบุต่อพนักงานเป็นการภายในว่า บริษัทจะยังคงดำเนินงานต่อไปในตอนนี้ตามปกติ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแอปก็ตาม ย้ำว่ากฎหมายนี้มีผลเฉพาะส่วนการใช้งานแอปของคนอเมริกา แต่ไม่มีผลกับการทำงานของพนักงานของ TikTok

หากการแบนในวันที่ 19 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับมาให้บริการในไม่ช้า เนื่องจากนาย Shou Zi Chew ซีอีโอของ TikTok เป็นหนึ่งในบรรดาแขกวีไอพีที่เข้าร่วมงานพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคมนี้ ซึ่งมีรายงานข่าวว่านาย Shou Zi Chew ได้หารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ในประเด็นนี้แล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด

การแบน TikTok กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในสหรัฐฯ เนื่องจากจะมีผลกระทบกับผู้ใช้งานกว่า 170 ล้านคน ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานในสหรัฐฯ เริ่มหันไปมองหาแอปทางเลือก โดยแอปที่ได้รับความนิยมมากขึ้นคือ RedNote (Xiaohongshu) ซึ่งกำลังเป็นกระแสในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ รวมถึงการเติบโตของแอปเรียนภาษาจีนอย่าง Duolingo ที่เพิ่มขึ้นกว่า 200%

อย่างไรก็ตาม การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจขนาดเล็กและการทำการตลาดในอเมริกาเช่นกัน

ด้านสำนักข่าว AP ระบุว่าผลกระทบจากการแบน TikTok อาจส่งผลต่อธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯ โดย TikTok ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการโปรโมทธุรกิจให้กับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก เช่น Desiree Hill เจ้าของธุรกิจซ่อมรถ Crown’s Corner Mechanic ในจอร์เจีย ที่สามารถขยายธุรกิจจากการใช้ TikTok และสร้างงานเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น

รายงานจาก Oxford Economics ระบุว่า TikTok ส่งผลต่อการจ้างงานในสหรัฐฯ โดยสนับสนุนการจ้างงานกว่า 224,000 ตำแหน่ง และสร้างรายได้จากภาษีสูงถึง 5.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023

นอกจากการทำมาร์เก็ตติ้งแล้ว TikTok ยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ ได้สร้างโอกาสในการสร้างรายได้จากการทำคอนเทนต์ และผู้สร้างคอนเทนต์หลายล้านคนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการแบนนี้ เช่น Joanne Molinaro และ Eli Rallo ที่พึ่งพา TikTok ในการสร้างชื่อเสียงและรายได้

ขณะเดียวกันหากเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นแล้ว แม้ว่า Instagram และ YouTube จะพยายามเลียนแบบฟีเจอร์ของ TikTok เช่น Reels และ Shorts แต่ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับ TikTok ซึ่งมีอัลกอริธึมที่เข้าใจผู้ใช้และสามารถนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจได้เสมอ นอกจากนี้ TikTok ยังส่งเสริมการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเหมือนแอปอื่น ๆ

การแบน TikTok จึงไม่ใช่แค่การลบแอปออกไป แต่เป็นการตัดโอกาสทางธุรกิจและการสร้างชื่อเสียงของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ที่ต้องการสร้างตัวตนและทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์มนี้ด้วยเช่นกัน

หลายรัฐในสหรัฐฯ สนับสนุนแนวคิดห้ามใช้มือถือในโรงเรียน ชี้ช่วยปกป้องสุขภาพจิตและเพิ่มสมาธิในนักเรียน

(17 ม.ค.68) แนวคิดการห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือในช่วงเวลาเรียนได้รับการสนับสนุนอย่างรวดเร็วในหลายรัฐของสหรัฐฯ ทั้งจากพรรคการเมืองหลักทั้งสองฝ่าย โดยมีอย่างน้อย 8 รัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา อินเดียนา ลุยเซียนา มินนิโซตา โอไฮโอ เซาท์แคโรไลนา และเวอร์จิเนีย ที่ได้ออกกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนภายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และยังมีหลายรัฐที่กำลังพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวในปีนี้

สำนักข่าวเอพี (AP) รายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ว่า "การผลักดันห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนได้รับแรงผลักดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็ก ๆ และการร้องเรียนจากครูที่พบว่าโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งรบกวนสมาธิในชั้นเรียน"

วิเวก มูรตี นายแพทย์ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสกำหนดให้มีการติดป้ายเตือนเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียต่อชีวิตเยาวชน กล่าวว่า โรงเรียนควรกำหนดช่วงเวลาที่ปราศจากโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยให้เด็ก ๆ สามารถมีสมาธิในการเรียนรู้ได้เต็มที่

ข้อมูลจากศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติระบุว่า 77% ของโรงเรียนในสหรัฐฯ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนหากไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน แต่ข้อมูลนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากไม่ได้หมายความว่านักเรียนทุกคนปฏิบัติตามข้อห้ามเหล่านี้ หรือว่าโรงเรียนทุกแห่งจะบังคับใช้ข้อห้ามอย่างเคร่งครัด

ผมต่อต้านการแบน TikTok มานานแล้ว เพราะขัดกับเสรีภาพในการพูด แต่การที่ TikTok ให้บริการในสหรัฐฯ ได้ แต่ X (Twitter) ให้บริการในจีนไม่ได้ นั้นมันไม่ยุติธรรม

(20 ม.ค. 68) อีลอน มักส์ มหาเศรษฐีเจ้าของเทสลา และสเปซเอ็กซ์ ทวีตข้อความถึงกรณีที่แพลตฟอร์ม TikTok ไม่สามารถใช้งานในสหรัฐได้เนื่องจากคำสั่งแบนของศาลสูงสหรัฐ โดยนายมักส์ ทวีตข้อความระบุว่า "ผมต่อต้านการแบน TikTok มานานแล้ว เพราะขัดกับเสรีภาพในการพูด
แต่การที่ TikTok ให้บริการในสหรัฐฯ ได้ แต่ X (Twitter) ให้บริการในจีนไม่ได้ นั้นมันไม่ยุติธรรม บางอย่างควรต้องมีการเปลี่ยนแปลง"

มัสก์ กล่าวถึงกรณีที่ TikTok มีโอกาสกลับมาให้บริการในสหรัฐได้อีกครั้งภายหลังที่ประธานาธิบดีทรัมป์เตรียมอนุญาตให้ TikTok กลับมาให้บริการในสหรัฐได้อีกครั้ง แต่ต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่มีบริษัทสัญชาติอเมริกันถือหุ้นร่วมด้วย 50% แต่ในขณะที่แพลตฟอร์ม  X (Twitter) ไม่แม้แต่จะสามารถให้บริการในจีนได้

ทูตเยอรมนีปูดแผนทรัมป์สมัยสอง สั่นคลอนประชาธิปไตย-ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีร่วมกุมอำนาจ

(20 ม.ค. 68) แอนเดรียส มิคาเอลิส เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหรัฐฯ  ออกคำเตือนว่า รัฐบาลใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและสื่อมวลชนในสหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มที่จะให้อำนาจกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ร่วมกำหนดทิศทางการปกครองประเทศ รายละเอียดดังกล่าวถูกเปิดเผยในเอกสารลับที่สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รับการตรวจสอบ

เอกสารลับฉบับนี้ลงวันที่ 14 มกราคม พร้อมลายมือชื่อของแอนเดรียส โดยเนื้อหาในเอกสารระบุว่า วาระซ่อนเร้นของทรัมป์ในสมัยที่สองจะสร้าง "การสั่นคลอนระบบครั้งใหญ่" และนำไปสู่ "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งจะรวบอำนาจไว้ที่ตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะเดียวกันลดบทบาทของรัฐสภาและรัฐบาลมลรัฐ

เอกสารยังชี้ให้เห็นว่า หลักการประชาธิปไตยและกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลจะถูกลดทอนจนแทบไม่มีความหมาย หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สื่อมวลชน และฝ่ายนิติบัญญัติจะถูกควบคุมให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ยืนยันว่า เยอรมนีจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ แต่จะยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเช่นกัน เมื่อถูกถามถึงจุดยืนของเอกอัครราชทูตมิคาเอลิสต่อทรัมป์ แบร์บ็อคกล่าวว่า ท่านทูตเพียงปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ
บทบาทสำคัญของฝ่ายตุลาการ

เอกสารลับยังระบุว่า ฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะศาลฎีกา จะมีบทบาทสำคัญต่อความพยายามของทรัมป์ในการผลักดันวาระต่าง ๆ แม้ว่าศาลฎีกาจะมีแนวโน้มสนับสนุนการขยายอำนาจของประธานาธิบดี แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยังเชื่อว่า ศาลจะสามารถยับยั้งสถานการณ์เลวร้ายที่สุดได้

เอกสารยังกล่าวถึงความพยายามของทรัมป์ที่จะควบคุมกระทรวงยุติธรรมและ FBI เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เช่น การกวาดล้างผู้อพยพ การล้างแค้นศัตรูทางการเมือง และการสร้างความคุ้มกันทางกฎหมายให้ตนเอง

แอนเดรียส มิคาเอลิส คาดการณ์ว่า ทรัมป์และอีลอน มัสก์ เจ้าของแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์เดิม) อาจมีบทบาทในการปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์ โดยใช้วิธีข่มขู่และบิดเบือนอัลกอริทึมบนแพลตฟอร์มออนไลน์

การสนับสนุนพรรคฝ่ายขวาจัดในเยอรมนีของมัสก์ก่อนการเลือกตั้งระดับชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เกิดความไม่พอใจในรัฐบาลเยอรมนี แม้ว่าจะยังไม่มีการถอนตัวจากแพลตฟอร์มดังกล่าว

ในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและสหรัฐฯ เต็มไปด้วยความตึงเครียดจากนโยบายการค้าของทรัมป์ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์เยอรมนีที่ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณด้านการทหารให้เป็นไปตามเป้าหมายของนาโต

แม้การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในสหรัฐฯ อาจไม่ส่งผลให้เอกอัครราชทูตต้องพ้นตำแหน่งโดยอัตโนมัติ เอกสารลับฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนีต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ

ย้อนประวัติศาสตร์สาบานตน หลังทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกรอบ 40 ปีที่หนีหนาวเข้าทำพิธีในรัฐสภา

(20 ม.ค. 68) ตามเวลาท้องถิ่นกรุงวอชิงตันดี.ซี. ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศไทยราว 2 ชั่วโมง โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมเข้าพิธีสาบานตนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยสองคนที่ 47 ของสหรัฐ 

สำหรับพิธีสาบานตนในสมัยที่สองนี้มีขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวจัดในกรุงวอชิงตันดี.ซี. ด้วยอุณหภูมิถึง -11 ถึง -5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ต้องมีการย้ายสถานที่จัดงานไปจัดในอาคารรัฐสภา ซึ่งจะถือเป็นพิธีเข้ารับตำแหน่งที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 40 ปี การย้ายพิธีสาบานตนไปจัดในอาคารครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 1985 ในสมัยของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

ขณะที่หนึ่งในแขกวีไอพีที่จะเข้าร่วมงาน ทางด้านรัฐบาลปักกิ่งได้ส่งรองประธานาธิบดี หาน เจิ้ง เข้าร่วมพิธีด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะมีผู้นำระดับสูงเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของผู้นำกรุงวอชิงตัน 

สำนักข่าวสปุตนิก ได้ย้อนประวัติศาสตร์และเรื่องราวสุดแปลกที่เคยเกิดขึ้นในพิธีสาบานตนของผู้นำสหรัฐหลากหลายสมัยที่ผ่านมา

ครั้งหนึ่งพิธีสาบานตนเคยจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคา โดยย้อนไประหว่างปี  ค.ศ. 1792 ถึง 1937  วันสาบานตนจัดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นวันที่ 20 มกราคมในปี  1933  ตามคำสั่งของสภาคองเกรส เพื่อลดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระหว่างประธานาธิบดีคนเก่าและคนใหม่ 

นอกจากนี้ธงชาติสหรัฐที่ใช้ประดับอาคารัฐสภา จะเปลี่ยนจำนวนดาวตามลำดับที่รัฐของประธานาธิบดีเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ อย่างในกรณีของทรัมป์ที่ลงสมัครจากสองรัฐในปี 2020 และ 2024 (นิวยอร์กและฟลอริดา) ธงที่ใช้มีดาว 13 ดวงและ 27 ดวงตามลำดับ  

ในปี 1825 จอห์น ควินซี อดัมส์ เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ไม่ได้ใช้คัมภีร์ไบเบิลในพิธีสาบานตน  

จิมมี คาร์เตอร์ ในปี 1977 เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ใช้ชื่อเล่น “Jimmy” ในพิธี แทนชื่อเต็ม “James Earl Carter” ในระหว่างทำพิธีสาบานตน

ในปี 1837 มาร์ติน แวน บิวเรน เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เกิดในยุคที่สหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ  

นอกเหนือจากธงชาติสหรัฐที่ประดับในพิธีการแล้ว หนึ่งในไฮไลท์ของพิธีสาบานตนคือ ขบวนพาเหรดวันสาบานตนซึ่งเริ่มจัดตั้งแต่ปี 1841 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่มีครั้งนึงในปี 1973 ระหว่างพิธีสาบานตนครั้งที่สองของริชาร์ด นิกสัน เกิดเหตุการณ์นกพิราบกินสารเคมีที่ใช้ไล่นก ส่งผลให้ขบวนพาเหรดเต็มไปด้วยซากนกตาย ซึ่งนั่นก็เป็นลางบอกเหตุที่นิกสัน เป็นประธานาธิบดีเพียงหนึ่งเดียวของสหรัฐที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งอันเป็นพลผวงจากคดีวอเตอร์เกต

หนึ่งในพิธีสาบานตนที่เรียบง่ายที่สุดคือในปี 1789 จอร์จ วอชิงตัน ทานอาหารเพียงลำพังหลังพิธี ขณะที่สุนทรพจน์สาบานตนครั้งที่สองของเขาในปี 1793 มีเพียง 135 คำเท่านั้น  

พิธีสาบานตนสะท้อนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในแต่ละยุค เช่น  ในปี 1857 เจมส์ บูแคนัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มีภาพถ่ายในพิธี, ปี 1897 วิลเลียม แมคคินลีย์ เป็นคนแรกที่พิธีถูกบันทึกในภาพยนตร์  และปี 1949 แฮร์รี ทรูแมน เป็นคนแรกที่พิธีถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์  

ในปี 1961 การสาบานตนของจอห์น เอฟ. เคนเนดี ถือเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดโทรทัศน์สีเป็นครั้งแรก ขณะที่พิธีสาบานตนของบิล คลินตัน ในปี 1997 นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ครั้งแรก

พิธีสาบานตนที่หนาวที่สุดจัดขึ้นในปี 1873 ระหว่างการสาบานตนครั้งที่สองของยูลิสซีส เอส. แกรนต์ อุณหภูมิลดลงถึง -9 องศาเซลเซียส ขณะที่ในปี 1841 วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน เสียชีวิตหลังจากพิธีเพียง 3 สัปดาห์ โดยมีความเชื่อว่าเกิดจากปอดบวมหลังกล่าวสุนทรพจน์กลางอากาศหนาว  

พิธีสาบานตนของโจ ไบเดน ในปี 2021 ถือว่าเป็นการจัดสาบานตนท่ามกลางระบาดของโรคโควิด จัดขึ้นภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการปิดพื้นที่โดยรอบและจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมท่ามกลางการระบาด

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐจากองค์การอนามัยโลก

(21 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับหลังจากเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง โดยหนึ่งในคำสั่งที่ทรัมป์ลงนามคือ ให้สหรัฐถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลและพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงสุขภาพของประชาชนและชุมชนทั่วโลก โดยปัจจุบันอนามัยโลกมีชาติสมาชิกกว่า 124 ประเทศทั่วโลก

ทรัมป์เคยให้ความเห็นถึงประเด็นอนามัยโลกในครั้งหนึ่งว่า “จีนจ่าย 39 ล้านดอลลาร์ และเราจ่าย 500 ล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่จีนเป็นประเทศที่ใหญ่กว่า ไม่ยุติธรรมเลย” โดยเขาพูดถึงค่าใช้จ่ายในการมีส่วนร่วมนั้นสูงเกินไปสำหรับสหรัฐฯ โดยบอกว่าสหรัฐฯ จ่ายเงินไปแล้ว 500 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนองค์กร ในขณะที่จีนจ่ายเพียง 39 ล้านดอลลาร์เท่านั้น 

ทรัมป์ยังเคยกล่าวว่า กรณีอนามัยโลกเราต้องเจรจาเพิ่มเติม "พวกเขา (อนามัยโลก) ต้องการให้เรากลับมา ดังนั้นเมื่อเราถอนตัวจะรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

ทั้งนี้ ข้อมูลจากอนามัยโลก ณ ปี 2018-2019 ระบุว่า สหรัฐเป็นผู้บริจาคเงินให้อนามัยโลกมากถึง 893 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนบริจาคให้ที่ 86 ล้านดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏอมูลการบริจาคเงินในช่วงปี 2023-2024 ว่าทั้งสองชาติให้เงินอุดหนุนอนามัยโลกจำนวนเท่าใด

สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสมาชิกอนามัยโลก ครั้งแรกในปี 1948 โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้สั่งถอนการเข้าร่วมของทั้งประเทศในสมัยการดำรงตำแหน่งวาระแรกของเขาในปี 2020 และได้รับการคืนสถานะโดยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดนในปี 2021

จากข้อมูลของเว็บไซต์อนามัยโลก ระบุว่า "สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน WHO ในการปกป้องและปรับปรุงสุขภาพของชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลก"

อดีตทูตอังกฤษเผยวิธีดีลกับ 'ทรัมป์' แนะทิ้งทุกทฤษฎีการทูต พร้อมหมัดเด็ดรับมือ

(21 ม.ค. 68) ในที่สุดโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กลับเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่สองอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางการจับตาของบรรดาชาติเอเชียและตะวันตก ถึงการรับมือด้านนโยบายต่างๆ 

หนึ่งในประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดสหรัฐที่สุดแต่ขณะนี้มีรัฐบาลที่มาจากคนละขั้วการเมืองคือ สหราชอาณาจักร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ จากพรรคแรงงาน ซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้าย ขณะที่รีพับลิกันของทรัมป์ค่อนข้างมีนโยบายทางขวาจัด ส่งผลให้นายคิม ดาร์รอค (Kim Darroch) อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐฯ ระหว่างปี 2016 - 2019 ซึ่งเคยอยู่ในสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยแรกในปี 2017 ได้ออกมาให้คำแนะนำต่อ นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ถึงแนวทางการรับมือต่อท่าทีของทรัมป์ในสมัยที่สอง

คิม ดาร์รอค ได้เขียนบทความแนะนำการรับมือของรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของพรรคแรงงานผ่านเว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน โดยระบุว่า รัฐบาลอังกฤษควรทิ้งทุกตำราการทูตที่รู้มา เพื่อรับมือกับทรัมป์ 2.0 

ดาร์รอคแนะนำแนวทางสำคัญที่รัฐบาลอังกฤษควรใช้ในการจัดการกับการกลับมาของทรัมป์ โดยระบุว่า หากมีการพูดคุยแบบทวิภาคี ควรเน้นการพูดคุยที่กระชับ เข้าประเด็น และนำเสนอแนวคิดของสหราชอาณาจักรที่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกา มากกว่าที่จะเน้นความสัมพันธ์แบบพิเศษระหว่างสองประเทศในแบบที่อังกฤษนิยมทำมาในอดีต

ดาร์รอค ยกตัวอย่างว่า หากจะพูดคุยเรื่องสหรัฐตั้งภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของยุโรป ควรพูดคุยกับทรัมป์โดยชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อาจโน้มน้าวได้ง่ายขึ้น เช่น พูดถึงสินค้าอะไร ภาษีเท่าไร หากเก็บภาษีจะกระทบสหรัฐอย่างไร

ตามคำแนะนำของดาร์รอค หากไปบอกการขึ้นภาษีของสหรัฐจะทำร้ายเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างไร ทรัมป์จะไม่สนใจ คู่เจรจรต้องพยายามโน้มน้าวให้ทรัมป์เห็นว่าการขึ้นภาษีจะทำร้ายอเมริกาอย่างไรจึงจะได้ผล 

ดาร์รอค ยังแนะนำอีกว่า ในยุคทรัมป์ 2.0 ควรหลีกเลี่ยงการตอบโต้กับบรรดาผู้ใกล้ชิดทรัมป์ อาทิ หากเกิดประเด็นปะทะคารมกับอีลอน มักส์ ให้หลีกเลี่ยงการปะทะคารมผ่านโซเชียลมีเดีย โดยดาร์รอคชี้ว่าความคิดเห็นของมัสก์ส่วนใหญ่มาจากความโกรธภายในมากกว่าจะมีผลต่อการเมืองจริงจัง

อดีตทูตอังกฤษ ยังระบุว่า ทรัมป์เป็นคนไม่ชอบการพูดยาวเวิ่นเว้อ หากต้องการโน้มน้าวเขา ควรใช้วิธีการอธิบายให้ตรงประเด็นว่า แนวคิดของคุณจะเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไร โดยเฉพาะการอธิบายว่าแนวคิดนี้จะช่วยผลักดันนโยบาย “America First” ได้อย่างไร

เขาแนะนำว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เกลียดบทสนทนายืดยาว ถ้าคุณเริ่มพูดอะไรยืดเยื้อเมื่อไหร่ ทรัมป์จะแทรกตัดบทหรือไม่ก็เบือนหน้าหนีทันที แล้วอำนาจต่อรองก็จะหายไปทันที และหากคุณนำเสนอหลายข้อเสนอ ทรัมป์อาจไม่สนใจเลย แต่หากคุณยื่นข้อเสนอที่ไม่มากเกินไป และอธิบายถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับ ก็จะมีโอกาสสำเร็จ

ดาร์รอค ยังให้ความเห็นว่า ในยุคทรัมป์ 2.0  การทูตระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนจะไม่สามารถใช้ได้ในยุคนี้ ทรัมป์อาจจะเป็นสัญญาณของการฟื้นฟูแนวคิดแบบสร้าง "เขตอิทธิพล" เหมือนที่บรรดาชาติยุโรปเคยทำในในยุคศตวรรษที่ 19 กลับมาใช้ในยุคศตวรรษที่ 21

ทรัมป์ล้มทุกนโยบาย LGBTQ พร้อมสั่งห้ามสถานทูตใช้ธงสีรุ้ง

(22 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ไม่นานหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โดยคำสั่งนี้กำหนดให้รัฐบาลกลางยอมรับเพียง 2 เพศ คือ ชายและหญิง และยกเลิกตัวเลือกเพศ "X" ซึ่งได้รับการนำเสนอในช่วงที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำหนดให้ประชาชนสามารถเลือกเพศที่ไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิดในเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น หนังสือเดินทาง วีซา และบัตร Global Entry

คำสั่งนี้มีชื่อว่า "ปกป้องสตรีจากสุดโต่งแห่งอุดมการณ์เรื่องเพศและฟื้นฟูความจริงทางชีววิทยาในรัฐบาลกลาง" โดยระบุให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดใช้คำว่า "sex" (เพศ) แทนคำว่า "gender" (อัตลักษณ์ทางเพศ) และยืนยันว่าสิ่งที่เป็นเพศนั้นเป็นลักษณะทางชีววิทยาที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งขัดแย้งกับการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายที่มีผลจากนโยบายของรัฐบาลไบเดน

การบังคับใช้คำสั่งนี้จะส่งผลต่อเอกสารราชการต่างๆ เช่น หนังสือเดินทางและวีซา ที่จะต้องแสดงเพศตามกำเนิดของผู้ถือเอกสาร นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการพื้นที่แยกตามเพศ เช่น เรือนจำ ศูนย์พักพิงผู้อพยพ และสถานพักพิงสำหรับเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบในการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ที่อยู่ในพื้นที่แยกตามเพศ

คำสั่งนี้ยังได้กำหนดมาตรการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาษีเพื่อป้องกันการสนับสนุนอุดมการณ์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศในหน่วยงานรัฐบาล ข้อกำหนดเหล่านี้จะมีผลทันทีและต้องได้รับการปฏิบัติในทุกหน่วยงานของรัฐ

การออกคำสั่งนี้ถือเป็นการย้อนกลับนโยบายของรัฐบาลไบเดนที่ได้เพิ่มตัวเลือกเพศ "X" ในเอกสารราชการ โดยไม่ต้องการเอกสารทางการแพทย์ในการเปลี่ยนแปลงเพศ และยังเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายสามารถเลือกระบุเพศของตนเองได้

การออกคำสั่งนี้ส่งผลให้ชุมชน LGBTQI+ เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียสิทธิทางกฎหมาย โดยเฉพาะสิทธิในการแต่งงานเพศเดียวกัน ซึ่งได้รับการรับรองในคดี Obergefell v. Hodges ปี 2558 การกลับมาของทรัมป์และการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมทำให้เกิดความกลัวว่าอาจจะมีการยกเลิกคำตัดสินนี้ในอนาคต

ท่ามกลางความกังวลนี้ คู่รัก LGBTQ หลายคู่ได้เร่งจดทะเบียนสมรสเพื่อให้สิทธิทางกฎหมายก่อนที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายจะมีผล ข้าราชการและอาสาสมัครในหลายรัฐได้ร่วมกันจัดพิธีแต่งงานฟรีให้คู่รักเหล่านี้ ขณะเดียวกัน คู่รักหลายคู่ยังได้เร่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงเอกสารสำคัญ เช่น สูติบัตรและใบขับขี่ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีการยกเลิกคำตัดสิน Obergefell หรือสิทธิการแต่งงานเพศเดียวกันโดยตรง แต่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายได้เตือนว่าความเสี่ยงทางกฎหมายยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะจากท่าทีของผู้พิพากษาบางคนที่มีแนวคิดขัดแย้งกับสิทธิของ LGBTQ ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมาย Respect for Marriage Act จะยังคงบังคับให้รัฐบาลกลางยอมรับการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้ออกนโยบาย "ธงเดียว" คือธงชาติสหรัฐเท่านั้น โดยคำสั่งของนายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐคนใหม่ ได้สั่งห้ามสถานทูตสหรัฐฯ ใช้ธง LGBTQ และ BLM โดยระบุว่าจะมีการแสดงเพียงธงชาติสหรัฐฯ เท่านั้น และธงที่เคยใช้ในยุคไบเดนเช่นธง LGBTQ และ Black Lives Matter จะไม่ได้รับอนุญาตให้ชักธงดังกล่าวอีกต่อไป

คำสั่งนี้ระบุไว้ตามรายงานของ The Washington Free Beacon ซึ่งได้รับสำเนาของคำสั่งว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ธงชาติสหรัฐอเมริกาจะได้รับการอนุญาตให้ชูหรือแสดงที่สถานที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในเนื้อหาของรัฐบาลสหรัฐฯ ธงชาติสหรัฐฯ คือสัญลักษณ์ที่รวมใจชาวอเมริกันทุกคนภายใต้หลักการพื้นฐานของความยุติธรรม เสรีภาพ และประชาธิปไตย ค่านิยมเหล่านี้ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศที่ยิ่งใหญ่ของเราได้รับการยอมรับจากพลเมืองอเมริกันทุกคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน … ธงชาติสหรัฐฯ เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ และมันเป็นเรื่องที่เหมาะสมและให้เกียรติที่ธงชาติสหรัฐฯ เท่านั้นที่จะถูกชูหรือแสดงที่สถานที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

หากมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศละเมิดนโยบายใหม่ดังกล่าว จะได้รับการดำเนินการทางวินัย รวมถึงการยกเลิกการจ้างงานหรือสัญญา หรือการโอนไปยังหน่วยงานต้นสังกัด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top