Sunday, 20 April 2025
USA

นักวิชาการไทยชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนไร้ทางจบเร็ว แฉลึก ‘ธุรกิจอาวุธ’ สหรัฐฯ ฟันกำไรจากวิกฤติ

(23 ม.ค.68) ภายหลังที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนกลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำสหรัฐสมัยที่สองอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าทรัมป์อาจผลักดันให้ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียสิ้นสุดเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของ ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว TASS ของรัสเซีย เชื่อว่าความขัดแย้งในยูเครนไม่น่าจะคลี่คลายอย่างรวดเร็วภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่  

ผศ.ดร.กฤษฎา ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า

“ภายใต้การบริหารงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ผมไม่เชื่อว่าความขัดแย้งนี้จะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว เรายังไม่เห็นแผนที่ชัดเจนในการยุติสงครามจากเขาหรือทีมงานของเขา การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เงื่อนไขที่ทั้งยูเครนและรัสเซียยอมรับได้” 

เขาเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม เราสามารถเห็นได้ว่าจุดยืนปัจจุบันของทั้งสองฝ่ายยังไม่สอดคล้องกัน ซึ่งทำให้การเจรจาเป็นไปได้ยาก”  

กฤษฎา ยังมองว่า กลุ่มอำนาจรัฐพันลึกในสหรัฐฯ (Deep State) อาจไม่อนุญาตให้โดนัลด์ ทรัมป์ ยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ “ปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเมืองภายในและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ถูกกำหนดและควบคุมโดยกลุ่มอำนาจรัฐพันลึก โดยเฉพาะบริษัทอาวุธที่มองว่าสงครามเป็นผลประโยชน์ของพวกเขา โดยเฉพาะในด้านการค้าอาวุธ”  

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังให้ความเห็นอีกว่า มีแนวโน้มที่บางประเทศยุโรปที่  'เริ่มถอนการสนับสนุนจากยูเครน' โดยเขากล่าวว่า “วาทกรรมที่มุ่งต่อต้านรัสเซีย (Russophobia) ของประเทศในยุโรปทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถยอมรับได้ว่ารัสเซียจะเป็นฝ่ายชนะในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เรามักได้ยินการโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อชาติตะวันตกว่า รัสเซียจะไม่หยุดที่ยูเครน แต่จะบุกประเทศอื่นต่อไป วาทกรรมนี้ทำให้ประเทศตะวันตกยังคงสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง”  

ตามรายงานของ Wall Street Journal ทรัมป์ได้มอบหมายให้ คีธ เคลล็อก ผู้แทนพิเศษด้านยูเครนของเขาเป็นผู้รับผิดชอบในการยุติความขัดแย้งในยูเครนภายใน 100 วัน อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า “การเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย อาจเป็นเรื่องยากกว่าที่ทรัมป์สัญญาไว้ระหว่างการหาเสียง โดยเขาเคยกล่าวว่าจะยุติความขัดแย้งนี้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง” ขณะที่คีธ เคลล็อก กล่าวว่าเขาต้องการทำตามเป้าหมายภายใน 100 วัน  

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไม่นานหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตน ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าสหรัฐฯ อาจหยุดการส่งอาวุธให้ยูเครน และย้ำถึงความพร้อมที่จะพบกับปูติน อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังระบุด้วยว่าสหรัฐฯ อาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หากรัสเซียปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพ  

ด้านปูตินกล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัสเซียพร้อมที่จะเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครนกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของวิกฤติ พร้อมยืนยันว่ารัสเซียกำลังจับตาถ้อยแถลงของทรัมป์และทีมงานที่แสดงถึงความต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ และการทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันสงครามโลกครั้งที่ 3

ทรัมป์สั่งพนักงานรัฐแจ้งเบาะแส หากเจอโครงการหนุนความหลากหลายทางเพศ

(23 ม.ค.68) รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งให้พนักงานรัฐรายงานหากพบว่ามีการซ่อนโครงการส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการไม่แบ่งแยก (Diversity, Equity, and Inclusion – DEI) โดยขู่ว่าจะดำเนินการทางวินัยหากไม่รายงานภายใน 10 วัน

คำสั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของทรัมป์ในการยกเลิกโครงการ DEI ในภาครัฐ ซึ่งถือเป็นการกลับลำนโยบายจากรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ให้ความสำคัญกับ DEI

คำสั่งระบุว่ามีการปกปิดโปรแกรม DEI บางส่วนในรัฐบาลโดยใช้ภาษาที่คลุมเครือ ผู้ที่รายงานภายในเวลาที่กำหนดจะไม่ถูกลงโทษ แต่หากไม่รายงานภายใน 10 วันอาจเผชิญกับผลกระทบทางวินัย

คำสั่งนี้ได้ถูกส่งไปยังพนักงานหลายกระทรวง ซึ่งอ้างว่ามาจากรัฐมนตรีหลายคนในคณะรัฐมนตรีของทรัมป์ เช่น จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยระบุว่าเป็นคำสั่งจากมาร์โก รูบิโอ และจากกระทรวงยุติธรรม โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งจากรักษาการอัยการสูงสุด เจมส์ แมคเฮนรี

ทรัมป์มองว่าโครงการ DEI เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวอเมริกันบางกลุ่ม โดยมุ่งเน้นที่เชื้อชาติและเพศมากกว่าคุณสมบัติของผู้สมัคร ฝ่ายสนับสนุนสิทธิพลเมืองกลับมองว่า DEI เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเหยียดเชื้อชาติที่มีมายาวนาน

การกระทำของทรัมป์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง โดยศาสตราจารย์ไซคี วิลเลียมส์-ฟอร์สัน มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ กล่าวว่าความไม่พอใจในหมู่ชายผิวขาวกำลังปะทุขึ้นอีกครั้ง และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ทรัมป์กลับมามีบทบาททางการเมืองได้ แม้จะเผชิญกับคดีความหลายคดี

ขณะเดียวกัน สส. แฮงค์ จอห์นสัน จากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ทรัมป์กำลังทำลายความก้าวหน้าที่คนผิวดำได้สร้างขึ้นในช่วงหลายทศวรรษ

นอกจากนี้ ในคืนวันอังคารที่ผ่านมา ทรัมป์ยังได้ยกเลิกคำสั่งฝ่ายบริหารปี 2508 ของอดีตประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ที่ห้ามผู้รับเหมาของรัฐบาลกลางเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และยังพยายามกดดันบริษัทเอกชนที่รับงานจากรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการ DEI โดยขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตาม

ล่าสุด รัฐบาลทรัมป์ได้เรียกร้องให้พนักงานรัฐรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ DEI ที่อาจถูกซ่อนไว้ โดยกำหนดให้พนักงานแผนก DEI หยุดงานโดยได้รับค่าจ้างภายในเวลา 17:00 น. ของวันพุธที่ 22 มกราคม และปิดเว็บเพจของหน่วยงาน DEI ทั้งหมดภายในเวลานี้

แคโรไลน์ ลีวิตต์ เลขาธิการฝ่ายสื่อของทำเนียบขาวกล่าวว่า คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้แล้ว และหน่วยงานของรัฐบาลกลางจะต้องส่งแผนการเลิกจ้างพนักงานภายในวันที่ 31 มกราคม

ฝ่ายสนับสนุนสิทธิพลเมืองได้ออกมาต่อต้านการกระทำนี้ โดยมองว่าโครงการ DEI มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเหยียดเชื้อชาติที่ยาวนาน ขณะที่ทรัมป์และผู้สนับสนุนมองว่า DEI เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวอเมริกันคนอื่น

เปิดหลักฐาน!! ยันจีนไม่เคยคุมคลองปานามา หลังทรัมป์กล่าวหาปักกิ่งบงการค่าผ่านทาง

(23 ม.ค.68) หลังโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัย 2 เพียงไม่กี่วัน ได้มีคำสั่งให้นายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีการทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เตรียมเดินทางเยือนปานามาภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนลาตินอเมริกา สะท้อนท่าทีจริงจังของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยึดคลองปานามาคืน นอกจากนี้ รูบิโอยังมีกำหนดที่จะเดินทางไปเยือนกัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และคอสตาริกาด้วย

การเดินทางครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของรูบิโอในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 ม.ค.) การเยือนครั้งนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของปธน.ทรัมป์ที่ต้องการสกัดกั้นการอพยพผิดกฎหมายผ่านเส้นทางอเมริกากลาง และผลักดันให้ผู้อพยพเดินทางกลับประเทศต้นทาง

รายงานข่าวระบุว่า ตามธรรมเนียมแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มักจะเลือกเยือนประเทศพันธมิตรสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นทริปแรก เช่น แอนโทนี บลิงเคน ที่เลือกไปญี่ปุ่น หรือเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ที่เลือกไปเยอรมนี

ทรัมป์ได้ประกาศจุดยืนว่าต้องการให้สหรัฐฯ กลับมาควบคุมคลองปานามา หากไม่มีการลดค่าธรรมเนียมผ่านคลองสำหรับเรือรบและเรือพาณิชย์ พร้อมทั้งกล่าวหาอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการคลองแห่งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีปานามารีบออกมาตอกย้ำอธิปไตยเหนือคลองปานามา และยืนยันว่าจีนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการบริหารจัดการคลอง

จากข้อมูลซึ่งเป็นเปิดเผยต่อสาธารณะพบว่า คลองปานามาซึ่งมีความยาว 82 กิโลเมตร (51 ไมล์) เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก ถูกสร้างขึ้นและเป็นของสหรัฐฯ ในช่วงต้นทศวรรษปี 1900 ก่อนที่จะถูกมอบให้กับปานามาในที่สุดในปี 1977 ภายใต้สนธิสัญญาที่รับประกันความเป็นกลางปานามา โดยในปี 2021 ข้อตกลงที่อนุญาตให้ Panama Ports Company ดำเนินการต่อไปได้รับการขยายเวลาออกไปอีก 25 ปี

สหรัฐอเมริกาเป็นลูกค้าผู้ใช้คลองปานามารายใหญ่ที่สุด และรับผิดชอบการขนส่งสินค้าประมาณสามในสี่ส่วนในแต่ละปีจีนตามมาเป็นอันดับสอง ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่เดือน ต.ค. 2023 ถึง ก.ย. 2024 จำนวนเรือขนส่งสินค้าของจีนที่เดินทางมาที่คลองปานามาคิดเป็น 21.4% ปริมาณการขนส่งทางเรือทั้งหมด ซึ่งมากเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ

คำกล่าวของทรัมป์ที่ว่า "จีนคุมคลองปานามาจากทั้งสองฝั่งคลอง" อาจหมายถึง การมีอยู่ของท่าเรืออยู่สองฝั่งของคลองปานามาซึ่งดำเนินการโดยบริษัทในฮ่องกง ซึ่งตลอดเส้นทางคลองปานามานั้น มีท่าเรือทั้งหมด 5 แห่งอยู่ติดกับคลองปานามา โดยมีท่าเรืออื่นๆ เป็นของบริษัทต่างชาติ รวมถึงบริษัทของสหรัฐฯ ด้วย ท่าเรือ 2 แห่งจากที่มีทั้งหมด 5 แห่งบริเวณใกล้เคียงกับคลองปานามา ดำเนินการโดยบริษัทฮัตชิสัน พอร์ต โฮลดิ้งส์ มาตั้งแต่ปี 1997 ท่าเรือทั้ง 2 แห่งได้แก่ ท่าเรือบัลบัวที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลที่ตั้งอยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

ในปี 1996 ปานามาได้ให้สัมปทานแก่บริษัทในฮ่องกงที่ชื่อ ฮัทชิสัน-วัมเปา (hutchison whampoa) ในตอนนั้นในการดำเนินการท่าเรือบัลโบอาในฝั่งแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลในฝั่งแอตแลนติก สัญญาดังกล่าวไม่ได้ทำให้ฮัทชิสัน-วัมโปอาเป็นเจ้าของท่าเรือ แต่ให้สิทธิแก่บริษัทดังกล่าวในการดำเนินการในนามของรัฐบาลปานามา

ปัจจุบันผู้ประกอบการท่าเรือนี้รู้จักกันในชื่อ Hutchison Ports ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CK Hutchison Holdings ซึ่งมีฐานอยู่ในฮ่องกงและเป็นเจ้าของโดยมหาเศรษฐีหลี่ กาชิง (Li Ka-shing) ซึ่งบริษัท Hutchison ต่างก็เข้าไปลงทุนบริหารท่าเรือหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงบริหารท่าเรือแหลมฉบังของไทยด้วย

อีกทั้งในปี 1999 จากการสอบสวนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ต่อกรณีที่รัฐบาลปานามาจะมอบสัมปทานแก่ฮัทชิสัน-วัมโปอา ว่า จ้าหน้าที่ของกระทรวงได้ค้นคว้าเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้วและ "ไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่จะสนับสนุนข้อสรุปว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะอยู่ในตำแหน่งที่จะควบคุมการดำเนินงานคลอง" 

ท่ามกลางคำกล่าวของทรัมป์ที่อ้างถึงรัฐบาลปักกิ่งว่าอยู่เบื้องหลังคลองปานามา ทางด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน เหมา หนิง กล่าวว่า “จีนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการดำเนินงานของคลอง และไม่เคยแทรกแซงกิจการของคลอง”

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจาก ไรอัน เบิร์ก ผู้อำนวยการโครงการอเมริกาศึกษา แห่งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ มองว่า การบริหารท่าเรือเหล่านี้ทำให้บริษัท ซีเค ฮัตชิสัน มีข้อมูลทางยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์จำนวนมากของเรือต่าง ๆ ที่ผ่านเส้นทางนี้

"ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้นมีเพิ่มมากขึ้น" เบิร์กกล่าว "ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรือขนส่งสินค้าเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์เมื่อเกิดสงครามเรื่องห่วงโซ่อุปทานเกิดขึ้น"

ถึงแม้ว่าซีเค ฮัตชิสัน จะไม่ได้มีรัฐบาลเป็นจีนเป็นเจ้าของ แต่เบิร์กมองว่า รัฐบาลสหรัฐอาจหวาดระแวงว่า รัฐบาลจีนจะสามารถเข้ามาแทรกแซงในบริษัทบริหารท่าเรือดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด

อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำไทย จ่อนั่งผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ คุมการเมืองเอเชีย ดูแลความสัมพันธ์จีน-เกาหลีเหนือ

(24 ม.ค.68) สำนักข่าวนิเคอิรายงานว่า นาย ไมเคิล ดีซอมบรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับตำแหน่งนักการทูตระดับสูงด้านเอเชียของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในรัฐบาลชุดใหม่

ดีซอมบรี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ มีแนวโน้มที่จะได้รับตำแหน่งแทน แดเนียล คริเทนบริงค์ นักการทูตอาวุโสในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการขั้นสุดท้าย ก่อนจะเสนอชื่อให้วุฒิสภาพิจารณา

ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญที่มีความรับผิดชอบในการจัดการกับประเด็นที่ละเอียดอ่อนในภูมิภาค ทั้งความสัมพันธ์กับจีน ปัญหาความมั่นคงของเกาหลีเหนือ และการรักษาความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมกับพันธมิตรสำคัญ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ดีซอมบรีมีความรู้และประสบการณ์ด้านการควบรวมกิจการในเอเชีย โดยได้ใช้ชีวิตอยู่ในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ก่อนจะดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในช่วงปี 2563-2564 นอกจากนี้ เขายังมีความสามารถในการพูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว และยังสามารถสื่อสารภาษาเกาหลีและญี่ปุ่นได้บ้าง

นักวิชาการชำแหละ ทรัมป์บอกลา WHO ถอนข้อตกลงปารีส เปิดช่องจีนครองบทบาทผู้นำโลก

(24 ม.ค.68) หลังเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยสองเพียงไม่นาน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกใน 2 องค์กรระดับโลกคือ การถอนตัวออกจากสมาชิกองค์การอนามัยโลก และการถอนตัวสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งท่าทีทั้งสองดังกล่าว นักวิชาการจากสถาบันในรัฐแคลิฟอร์เนียมองว่า เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น 

ศาสตราจารย์โรเดอริก เคียวเวียต (Roderick Kiewiet) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (Caltech) เผยต่อสำนักข่าวสปุตนิกว่า ในกรณีการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้น มีลักษณะเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะสหรัฐและประเทศอื่น ๆ แทบไม่มีทางบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ได้อยู่แล้ว

“การถอนตัวของสหรัฐเป็นเพียงการยืนยันว่าทั่วโลกยังคงใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอัตราเดิมต่อไปอีกนาน” เคียวเวียตกล่าว ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับศาสตราจารย์คานิชกัน สถาสิวัม (Kanishkan Sathasivam) จากมหาวิทยาลัยเซเลมสเตต รัฐแมสซาชูเซตส์ เห็นด้วยว่าการถอนตัวครั้งนี้เป็นเพียง 'เชิงสัญลักษณ์' และคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว  

“หลายสิ่งที่สหรัฐทำในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นดำเนินการผ่านกฎหมายในประเทศ ทั้งระดับรัฐบาลกลางและรัฐ ซึ่งแม้แต่ประธานาธิบดีก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยลำพัง” สถาสิวัมกล่าว  

ด้าน ศาสตราจารย์ริชาร์ด เบนเซล (Richard Bensel) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวว่า การถอนตัวของสหรัฐจากข้อตกลงปารีสจะลดบทบาทของประเทศในเวทีโลก ขณะเดียวกัน จีนอาจใช้โอกาสนี้เพื่อเพิ่มบทบาทความเป็นผู้นำของตัวเอง “ผลกระทบหลักจากการถอนตัวครั้งนี้คือการสูญเสียอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐ ขณะที่จีนจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่ทรัมป์ทิ้งไว้” เบนเซลกล่าว  

ขณะที่กรณีทรัมป์สั่งถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) สะท้อนว่าทรัมป์ละเลยความเป็นจริงของวิกฤตภูมิอากาศและผลกระทบในระดับโลก แกเร็ธ เจนกินส์ นักวิจัยอาวุโสอิสระจากโครงการศึกษาซิลค์โร้ดและศูนย์ตุรกีแห่งสถาบันนโยบายความมั่นคงและการพัฒนาในกรุงสตอกโฮล์มกล่าวว่า 

"ทุกประเทศจำเป็นต้องดำเนินมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิก เช่นเดียวกับที่เราทุกคนต้องรับผลกระทบ หากสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันมากขึ้น ก็จะสร้างมลพิษมากขึ้น และเช่นเดียวกับที่การแพร่ระบาดของโควิดแสดงให้เห็นว่าโรคระบาดเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน แน่นอนว่า WHO จะทำงานได้อย่างแข็งแกร่งหากสหรัฐยังเป็นสมาชิกอยู่ ดังนั้นการถอนตัวจาก WHO จะจะยิ่งทำให้องค์กรนี้อ่อนแอลง" เจนกินส์กล่าว 

อย่างไรก็ตาม เจนกินส์ เห็นพ้องกับนักวิชาการคนอื่นๆ ว่า การที่สหรัฐถอนตัวจาก WHO จะเป็นโอกาสทองที่จีนจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในองค์กรด้านสาธารณสุขระดับโลกนี้มากขึ้น 

สส.รีพับลิกัน ผุดไอเดียแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดัน 'ทรัมป์' นั่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3

(24 ม.ค.68) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกันได้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 มกราคม เพื่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีในอนาคตสามารถดำรงตำแหน่งได้มากถึง 3 สมัย

ญัตติที่เสนอขึ้นมาเพียงไม่กี่วันหลังจากที่นายทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง โดยนายแอนดี้ โอเกิลส์ สส.พรรครีพับลิกันจากรัฐเทนเนสซี ซึ่งเป็นผู้เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ได้กล่าวว่า นายทรัมป์ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นฟูสหรัฐให้กลับมายิ่งใหญ่และควรได้รับโอกาสอีกครั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ปัจจุบัน มาตราที่ 22 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดให้ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกสามารถดำรงตำแหน่งได้สูงสุดเพียง 2 สมัย โดยระบุว่า "ไม่มีบุคคลใดจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกินกว่า 2 ครั้ง" ในขณะที่การแก้ไขครั้งนี้จะเปลี่ยนเป็น "ไม่มีบุคคลใดจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกินกว่า 3 ครั้ง"

นอกจากนี้ยังมีการเสนอการแก้ไขเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เกิน 2 ปีในระหว่างที่บุคคลอื่นดำรงตำแหน่ง ซึ่งจะสามารถลงเลือกตั้งได้อีกเพียงครั้งเดียว

นายโอเกิลส์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะช่วยให้สหรัฐสามารถรักษาผู้นำที่กล้าหาญไว้ในประเทศได้

มาตราที่ 22 ได้รับการเสนอในปี 2490 และมีการรับรองในปี 2494 เพื่อป้องกันไม่ให้ประธานาธิบดีคนใดดำรงตำแหน่งยาวเกินไป โดยอ้างอิงถึงอดีตประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ผู้เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรครีพับลิกันจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่จำนวนที่นั่งเพียงแค่ 3 ที่นั่งทำให้การผ่านญัตตินี้ยังมีความยากลำบาก และคาดว่าแนวทางนี้อาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเดโมแครต

รัฐบาลสั่งปลดฟ้าผ่า ทีมอัยการที่สอบเอาผิดทรัมป์ ปมพยายามพลิกผลเลือกตั้งปี 2020

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (27 ม.ค.68) ระบุว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมหลายคนที่มีบทบาทในคดีความเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการยกระดับการดำเนินการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามของทรัมป์

เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของทีมสืบสวนภายใต้การดูแลของอัยการพิเศษ แจ็ค สมิธ ซึ่งทำคดีที่เกี่ยวข้องกับการพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2563 และเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 รวมถึงคดีจัดการเอกสารลับของทรัมป์  

“วันนี้ เจมส์ แมคเฮนรี รักษาการอัยการสูงสุด ได้เลิกจ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีกับประธานาธิบดีทรัมป์” แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรมกล่าวกับสำนักข่าวเอ็นบีซี  

เขาเสริมว่า “การกระทำของพวกเขาทำให้รักษาการอัยการสูงสุดไม่เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะสามารถสนับสนุนการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีได้อย่างซื่อสัตย์ การตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามพันธกิจที่ต้องการยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง”  

สำนักข่าวเอบีซีรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ในทีมสืบสวนที่ถูกปลดออกนั้นมีจำนวนมากกว่าสิบคน  

ในขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาว่ากระทรวงยุติธรรมภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมืองต่อเขา ทรัมป์ยังประกาศว่าจะตอบโต้และแก้แค้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง  

อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำครั้งนี้ โดยระบุว่าการปลดเจ้าหน้าที่ออกเนื่องจากบทบาทในคดีที่พวกเขาได้รับมอบหมายถือเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม และอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระทรวงในอนาคต  

“การไล่เจ้าหน้าที่ออกเพราะพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่ได้รับมอบหมายไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้” จอยซ์ แวนซ์ อดีตอัยการสหรัฐฯ กล่าว  

ทรัมป์เองได้ออกคำสั่งพิเศษหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเน้นย้ำว่าการดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ “ยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง” อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่า เจ้าหน้าที่ที่ถูกปลดยังคงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดไว้  

เรื่องนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงผลกระทบต่อการบริหารงานของกระทรวงยุติธรรมและความยุติธรรมในระบบกฎหมายของสหรัฐฯ

ผู้อพยพประท้วงรบ.ทรัมป์ บอยคอตหยุดงาน แสดงพลังเป็นเบื้องหลังผู้สร้างศก.อเมริกา

(4 ก.พ. 68) สื่อท้องถิ่นสหรัฐรายงานว่า บรรดาประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพ ต่างออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายจับกุมและเนรเทศผู้อพยพของรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะที่นครลอสแอนเจลิส (LA) ซึ่งมีการรวมตัวประท้วงหลายจุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า การประท้วงทั่วเมืองใหญ่ในสหรัฐภายใต้แคมเปญ Day without immigrations ที่นครลอสแองเจลิส กลุ่มผู้ประท้วงเดินขบวนไปยังศาลากลาง LA พร้อมโบกธงและถือป้ายต่อต้านมาตรการแข็งกร้าวต่อผู้อพยพ ก่อนที่บางส่วนจะเคลื่อนตัวไปปิดกั้นทางด่วนหมายเลข 101 ส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาตในใจกลางเมืองนานหลายชั่วโมง ขณะที่เมืองริเวอร์ไซด์ ทางตะวันออกของ LA ก็มีการชุมนุมเช่นกัน โดยบางกลุ่มใช้รถยนต์เบิร์นยางกลางสี่แยกเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ

ส่วนที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส กลุ่มภาคประชาสังคมได้เดินขบวนประท้วงนโยบายเข้มงวดของทรัมป์ ที่มุ่งเน้นจับกุมและเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมาย พร้อมเพิ่มงบประมาณปิดกั้นพรมแดน รายงานระบุว่ารัฐบาลทรัมป์จับกุมผู้อพยพเฉลี่ยวันละ 900-1,200 คน โดยเฉพาะในเมืองที่มีศูนย์พักพิงขนาดใหญ่ เช่น นิวยอร์กและชิคาโก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกาใต้ เปรียบเทียบกับยุครัฐบาลโจ ไบเดน ที่มีอัตราการจับกุมเฉลี่ยเพียง 311 คนต่อวัน

กลุ่มผู้อพยพหลายกลุ่มได้แสดงพลังในการสนับสนุนบทบาทของแรงงานต่างด้าวในฐานะกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยการบอยคอตการทำงานและการงดซื้อสินค้าต่างๆ เพื่อแสดงออกว่าแรงงานต่างด้าวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ หากขาดแรงงานต่างด้าว สหรัฐฯ จะไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงได้

ขณะเดียวกันนาย มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดการเดินทางเยือนปานามา ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับคลองปานามา ซึ่งทรัมป์เคยขู่ว่าจะใช้กำลังทหารเข้าควบคุม อ้างเหตุผลว่าค่าธรรมเนียมผ่านทางสูงเกินไปและปานามาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโฮเซ ราอูล มูลิโน ของปานามายืนยันว่าคลองปานามาเป็นของประเทศตนและไม่สามารถเจรจาเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะพิจารณาข้อกังวลของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการลงทุนของบริษัทจีนและฮ่องกง รวมถึงมาตรการควบคุมผู้อพยพ

รูบิโอยังมีกำหนดเดินทางเยือนเอลซัลวาดอร์ คอสตาริกา กัวเตมาลา และสาธารณรัฐโดมินิกัน เพื่อหารือเรื่องการผลักดันผู้อพยพกลับประเทศต้นทาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเข้มงวดของทรัมป์ในการควบคุมการเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ทรัมป์เปิดฉากขึ้นภาษีสินค้าจีน 10% ปักกิ่งเอาคืนหนักเก็บ 15% พร้อมคุมส่งออกแร่หายาก

(4 ก.พ. 68) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ และจำกัดการส่งออกแร่หายาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

โดยมาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 00:01 น. ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ของวันที่ 4 ก.พ.โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่าจีนไม่จริงจังในการสกัดกั้นการนำเข้าเฟนทานิล ซึ่งเป็นตั้งต้นสารเสพติดที่สร้างปัญหาในสหรัฐฯ อย่างหนัก โดยทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีน

ส่งผลให้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที กระทรวงการคลังของจีนประกาศมาตรการตอบโต้ โดยเรียกเก็บภาษี 15% สำหรับถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ รวมถึงภาษี 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท โดยมาตรการนี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์

นอกจากการขึ้นภาษีสินค้าแล้ว จีนยังเปิดฉากโจมตีบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเริ่มสอบสวนการผูกขาดของ Alphabet Inc. บริษัทแม่ของ Google พร้อมทั้งเพิ่มบริษัท PVH Corp. ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Calvin Klein และ Illumina บริษัทไบโอเทคของสหรัฐฯ เข้าใน "บัญชีหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ"

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากรของจีนประกาศควบคุมการส่งออกแร่หายากสำคัญ เช่น ทังสเตน เทลลูเรียม รูทีเนียม และโมลิบดีนัม อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดทั่วโลก เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่

สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากทรัมป์ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีกับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกออกไปอีก 30 วันเพื่อแลกกับมาตรการคุมเข้มชายแดนของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังเตือนว่าอาจเพิ่มภาษีจีนอีกหากจีนไม่หยุดการส่งออกเฟนทานิลมายังสหรัฐฯ

จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยยืนยันว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องภายในของสหรัฐฯ และเตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้มีการเจรจา

การปะทะกันทางเศรษฐกิจครั้งนี้สร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินทันที โดยตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลง กดดันค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียให้ลดลงตามไปด้วย

นักวิเคราะห์จาก Oxford Economics เตือนว่าการตอบโต้ครั้งนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในรอบใหท่ และสหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราภาษีต่อจีนอีกหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ว ๆ นี้

ทรัมป์เล็งสั่งยุบกระทรวงศึกษาฯ คืนอำนาจมลรัฐ หวังลดงบประมาณ แต่ติดด่านสภาคองเกรส

(5 ก.พ. 68) สื่อสหรัฐรายงานว่า ทำเนียบขาวเตรียมออกคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามคำสั่งเพื่อยุบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นไปตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่สามารถยุบกระทรวงศึกษาธิการได้ตามใจชอบ หากไม่ได้รับการรับรองจากสภาคองเกรสเสียก่อน

สำหรับหน่วยงานด้านการศึกษาสหรัฐเคยก่อตั้งขึ้นในปี 1867 โดยประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน แต่ในขณะนั้นมีหน้าที่้เพียงรวบรวมข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับโรงเรียนทั่วประเทศ กระทั่งในปี  1979 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ แห่งพรรคเดโมแครต ได้สั่งก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ (United States Department of Education)ขึ้น โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบาย บริหารความช่วยเหลือด้านการศึกษาของรัฐบาลกลาง และช่วยประธานาธิบดีบังคับใช้กฎหมายการศึกษาเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่จำเป็นและสมควรได้รับ กล่าวคือ เป็นหน่วยงานที่คอยกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนทั่วสหรัฐ มีหน้าที่ดูแลการจัดสรรเงินทุนสำหรับโรงเรียนของรัฐ บริหารจัดการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือนักเรียนที่มีรายได้น้อย

รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐในสหรัฐฯ มีหน่วยงานด้านการศึกษาที่ดูแลสถานศึกษาและงบประมาณในพื้นที่ของตน แต่ไม่สามารถกำหนดหลักสูตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ตามที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้ เขาต้องการให้แต่ละมลรัฐมีอิสระในการจัดการหลักสูตรและการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลว่า หากแต่ละมลรัฐต้องบริหารการศึกษาเอง อาจเกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากงบประมาณที่มีในแต่ละท้องถิ่นไม่เท่ากัน

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ทรัมป์หาเสียงเลือกตั้ง เขาเคยกล่าวในหลายครั้งว่า "อีกสิ่งหนึ่งที่ผมจะทำในช่วงเริ่มต้นบริหารคือการปิดกระทรวงศึกษาธิการในวอชิงตัน ดี.ซี. และโอนงานด้านการศึกษาทั้งหมดกลับไปยังหน่วยงานท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐต่างๆ"

ทรัมป์ยังกล่าวว่า " “ในสังคมอเมริกันโดยรวมแล้ว เราทุ่มเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับระบบการศึกษาของรัฐ แต่เราแทนที่จะอยู่บนสุดของรายชื่อการศึกษาโลก เรากลับอยู่ล่างสุดอย่างแท้จริง ... เดาสิเพราะอะไร"

จากข้อมูลในปี 2024 ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ ภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ได้จัดโปรแกรมประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้แก่นักเรียนมากกว่า 50 ล้านคนในโรงเรียนรัฐบาลประมาณ 98,000 แห่งและโรงเรียนเอกชน 32,000 แห่ง นอกจากนี้ยังให้ ทุนการศึกษา เงินกู้ และความช่วยเหลือด้านการทำงานและการเรียนแก่นักเรียนระดับหลังมัธยมศึกษาจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน

ด้าน เบ็กกี้ พริงเกิล ประธานสมาคมการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานสำคัญ ออกแถลงการณ์เตือนเมื่อวันอังคารว่า คำสั่งที่กำลังจะออกของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่เปราะบาง

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยุบกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนหน้านั้นในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้เคยมีความพยายามยุบกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลางแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่ง กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยกรมประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล (DOGE) ซึ่งก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ การตรวจสอบนี้เกิดขึ้นหลังจากพนักงานหลายสิบคนของกระทรวงฯ ถูกสั่งพักงานตามนโยบายของทรัมป์ ที่ต่อต้านโครงการสนับสนุนความหลากหลาย (DEI) คำสั่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดจำนวนพนักงานและโครงการของรัฐบาลในหน่วยงานต่างๆ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top