รัฐบาลสั่งปลดฟ้าผ่า ทีมอัยการที่สอบเอาผิดทรัมป์ ปมพยายามพลิกผลเลือกตั้งปี 2020

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (27 ม.ค.68) ระบุว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมหลายคนที่มีบทบาทในคดีความเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการยกระดับการดำเนินการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามของทรัมป์

เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของทีมสืบสวนภายใต้การดูแลของอัยการพิเศษ แจ็ค สมิธ ซึ่งทำคดีที่เกี่ยวข้องกับการพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2563 และเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 รวมถึงคดีจัดการเอกสารลับของทรัมป์  

“วันนี้ เจมส์ แมคเฮนรี รักษาการอัยการสูงสุด ได้เลิกจ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีกับประธานาธิบดีทรัมป์” แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรมกล่าวกับสำนักข่าวเอ็นบีซี  

เขาเสริมว่า “การกระทำของพวกเขาทำให้รักษาการอัยการสูงสุดไม่เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะสามารถสนับสนุนการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีได้อย่างซื่อสัตย์ การตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามพันธกิจที่ต้องการยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง”  

สำนักข่าวเอบีซีรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ในทีมสืบสวนที่ถูกปลดออกนั้นมีจำนวนมากกว่าสิบคน  

ในขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาว่ากระทรวงยุติธรรมภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมืองต่อเขา ทรัมป์ยังประกาศว่าจะตอบโต้และแก้แค้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง  

อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำครั้งนี้ โดยระบุว่าการปลดเจ้าหน้าที่ออกเนื่องจากบทบาทในคดีที่พวกเขาได้รับมอบหมายถือเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม และอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระทรวงในอนาคต  

“การไล่เจ้าหน้าที่ออกเพราะพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่ได้รับมอบหมายไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้” จอยซ์ แวนซ์ อดีตอัยการสหรัฐฯ กล่าว  

ทรัมป์เองได้ออกคำสั่งพิเศษหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเน้นย้ำว่าการดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ “ยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง” อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่า เจ้าหน้าที่ที่ถูกปลดยังคงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดไว้  

เรื่องนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงผลกระทบต่อการบริหารงานของกระทรวงยุติธรรมและความยุติธรรมในระบบกฎหมายของสหรัฐฯ