พีท เฮกเซธ ว่าที่รมว.กลาโหมสหรัฐ ถูกจี้กลางสภา ปมขาดความรู้เรื่องอาเซียน
(16 ม.ค.68) วุฒิสภาสหรัฐได้จัดประชุมพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่เตรียมขึ้นดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยหนึ่งในผู้เข้ารับการพิจารณาคือ พีท เฮกเซธ อดีตทหารผ่านศึกและผู้ประกาศข่าวจากช่อง Fox วัย 44 ปี ซึ่งถูกเสนอชื่อเป็นว่าที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ
ในการประชุม แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐสังกัดพรรคเดโมแครตได้สอบถามถึงความรู้ด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของเฮกเซธ โดยถามว่าเขาสามารถระบุชื่อประเทศสมาชิกอาเซียนได้หรือไม่ พร้อมอธิบายถึงความสัมพันธ์และข้อตกลงของสหรัฐกับประเทศเหล่านั้น
เฮกเซธตอบกลับอย่างไม่ตรงคำถาม โดยระบุว่าเขาไม่ทราบจำนวนประเทศในอาเซียน แต่กล่าวถึงพันธมิตรของสหรัฐในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมถึงข้อตกลง AUKUS ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ
คำตอบดังกล่าวทำให้แทมมีสวนกลับทันทีว่า “ทั้งสามประเทศที่คุณกล่าวมาไม่ได้อยู่ในอาเซียน” และยังแนะนำให้เฮกเซธศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ "ฉันแนะนำให้คุณทำการบ้านเพิ่มเติม"
รายงานระบุว่า คำถามของแทมมีเกิดขึ้นหลังจากเฮกเซธกล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จีนกำลังแผ่อิทธิพลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน อินโดนีเซียเองก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยจีน
ที่ผ่านมาสหรัฐมีพันธมิตรตามสนธิสัญญากับไทยและฟิลิปปินส์ และพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคเพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน โดยทำเนียบขาวเน้นย้ำถึงการสร้างภูมิภาคที่ "เปิดกว้าง เจริญรุ่งเรือง ปลอดภัย และยืดหยุ่น"
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนย้ำว่า อาเซียนเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยนอกจากจีนและสหรัฐ อาเซียนยังมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงการประชุมอาเซียน+3 และอาเซียน+6 ที่มีผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วม
นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นศูนย์กลางของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ลงนามในปี 2563 และถือเป็นกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์