Tuesday, 29 April 2025
TodaySpecial

26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกของสยาม

วันนี้ เมื่อ 127 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ เปิดการเดินรถไฟรอบปฐมฤกษ์ระหว่างสถานีกรุงเทพ – อยุธยาเป็นครั้งแรก จึงถือเอาวันนี้ เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี

26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังสถานีรถไฟหลวงกรุงเทพ เพื่อประกอบพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่างสถานีกรุงเทพ – สถานีกรุงเก่า

ซึ่งทางรถไฟส่วนแรกที่เปิดเดินนั้น เป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟหลวงสายกรุงเทพ - นครราชสีมา

27 มีนาคม พ.ศ. 2540 วันคล้ายวันเกิด ‘ลิซ่า แบล็กพิงก์’ ศิลปินชาวไทย ที่ดังไกลระดับโลก

27 มีนาคม พ.ศ. 2540 เป็นวันคล้ายวันเกิด ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า แบล็กพิงก์ นักร้องชาวไทย สมาชิกของวงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีใต้ ที่มีชื่อเสียงดังก้องโลก

ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า แบล็กพิงก์ เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2540 ที่จังหวัดบุรีรัมย์  เติบโตในกรุงเทพมหานคร ชื่อเดิมคือ ปราณปรียา แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น ลลิษา ตามคำแนะนำของหมอดู มีความหมายว่า 'ผู้ที่ได้รับการยกย่อง' และมีชื่อเล่นในวัยเด็กว่า 'ป๊อกแป๊ก' และ 'ลลิซ' ตามลำดับ

ลิซ่าใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่กับมารดาชื่อจิตทิพย์ (สกุลเดิม มโนบาล) เป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ และมีบิดาบุญธรรมชื่อ มาร์โค บรอยช์ไวเลอร์ (Marco Brueschweiler) ชาวสวิส เป็นที่ปรึกษาการประกอบธุรกิจร้านอาหารและผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาหารไทยในกรุงเทพมหานคร

ลิซ่าจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนประภามนตรี 1 และ 2 เธอได้รับการเรียกขานว่าเป็น 'เด็กกิจกรรมตัวยง' ของโรงเรียน เธอเคยเป็นตัวแทนโรงเรียนประกวดร้องเพลงในโครงการ '3 คุณธรรมนำไทย' ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภททีม เมื่อ พ.ศ. 2552

ลิซ่าเริ่มสนใจวัฒนธรรมเคป็อปตั้งแต่ยังสมัยเด็ก และตัดสินใจที่จะเป็นศิลปินเคป็อป เธอสนใจการเต้นตั้งแต่เป็นนักเรียนประถมศึกษา และสามารถเต้นท่าฟรีซ (Freeze) ได้ตั้งแต่อายุ 11 ปีไปจนถึงการเต้นหางเครื่องและรำไทย

นอกจากนี้เธอยังเรียนร้องเพลงกับประภัสสร เทียมประเสริฐ เจ้าของรางวัลโทรทัศน์ทองคำ และสุภาพรรณ ผลากรกุล ผู้ฝึกสอนการร้องเพลงประจำรายการ ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย

ลิซ่าเคยแข่งขันเต้นในโครงการทูบีนัมเบอร์วัน และเป็นหนึ่งในสมาชิกของวีซาคูล (We Zaa Cool) ทีมนักเต้นที่มีสมาชิกทั้งหมด 11 คน ไปแข่งขันในรายการ แอลจีเอนเตอร์เทนเนอร์ ล้านฝันสนั่นโลก ทางช่อง 9 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 หลังการแข่งขันจบลง วงวีซาคูลได้รางวัลพิเศษประเภททีม หนึ่งในสมาชิกของวงวีซาคูลคือ แบมแบม ซึ่งต่อมาเป็นสมาชิกเพียงคนเดียวที่ได้ออดิชันกับทางค่ายเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ ปัจจุบันเป็นสมาชิกวงก็อตเซเวน

ร้านค้าบุรีรัมย์กว่า 12 ร้าน ร่วมใจแจกฟรี ‘ลูกชิ้นยืนกิน’  เนื่องในวันคล้ายวันเกิด ‘ลิซ่า BlackPink’ วันที่ 27 มี.ค. นี้

แจกฟรี!! พ่อค้าแม่ค้า "ลูกชิ้นยืนกินบุรีรัมย์" บนสถานีรถไฟบุรีรัมย์ กว่า 12 ร้านค้า ร่วมใจรวมพลังแจกลูกชิ้นยืนกินกว่า 500 กิโลกรัม เนื่องในวันคล้ายวันเกิด ลิซ่า Blackpink 

28 มีนาคม พ.ศ. 2473 กรุงคอนสแตนติโนเปิล แห่งตุรเคีย ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น ‘อิสตันบูล’

วันนี้ เมื่อ 92 ปีก่อน ‘กรุงคอนสแตนติโนเปิล’ อดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์และออตโตมัน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรุงอิสตันบูล’ เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศตุรเคีย

28 มีนาคม พ.ศ. 2473 เปลี่ยนชื่อ ‘คอนสแตนติโนเปิล’ อดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์และออตโตมัน เป็น ‘อิสตันบูล’ อันเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศตุรเคีย ตั้งอยู่ที่จุดใต้สุดของช่องแคบบอสพอรัส เป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก เพราะเป็นเมืองเดียวในโลกที่ตั้งอยู่บนสองทวีปคือเอเชียและยุโรป

29 มีนาคม พ.ศ.2493 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

29 มีนาคม พ.ศ. 2493 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา

และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของ 73 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2493 คือวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 

คนไทยผ่านน้ำตาแห่งการสูญเสียอันยิ่งใหญ่มานับหลายครั้งหลายครา เช่นเดียวกับครั้งที่หัวใจปวงชนชาวไทยต้องแหลกสลาย เมื่อรับทราบข่าวร้ายเรื่องการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล แบบปัจจุบันทันด่วน

ไม่มีใครได้เตรียมตัวเตรียมใจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในพระชนมายุเพียง 20 ย่าง 21 พระชันษา ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง

ทั้ง ๆ ที่ทรงตั้งพระทัยเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวร และจะทรงรับการบรมราชาภิเษก หลังจากที่ทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โดยการสิ้นพระชนม์นั้น เกิดขึ้นก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วันเท่านั้น

ทั้งนี้ หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 วันเดียวกันนั้นเอง รัฐสภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

จากนั้น ก็ได้มีการอัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง จากนั้นมีกำหนดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

ระหว่างนั้น ในวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เวลาผ่านไปจนกระทั่งวันที่ 5 มีนาคม 2493 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัตประเทศไทย เพื่อประกอบพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพ, พระราชพิธีอภิเษกสมรส, และบรมราชาภิเษก (จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง)

โดยเฉพาะวันพระถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้นตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2493 น้ำตาของคนไทยได้ท่วมแผ่นดิน!

เมื่อทุกอย่างผ่านไปเรียบร้อยสมบูรณ์ วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานที่บุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก และจัดให้มีการพระราชกุศลพระบรมอัฐิขึ้น

หลังจากนั้น ได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานทองกลาง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

กระทั่งวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม 

สำหรับ พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือ ล้นเกล้า ร.8 นั้น มีดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงประสูติกาลเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

30 มีนาคม พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง ‘โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน’

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง 'โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน' อันเป็นจุดกำเนิดของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย

วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง 'โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน' ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยมีพระราชปรารภที่จะทรงจัดการปกครองพระราชอาณาจักรให้ทันกาลสมัย จึงจัดตั้งโรงเรียนเพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย

พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ 'พระเกี้ยว' มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน การดำเนินงานของโรงเรียนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

31 มีนาคม วันมหาเจษฎาบดินทร์ วันคล้ายวันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 3

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการแก่สยามประเทศ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม เวลา 22.30 น. ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี

พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กับเจ้าจอมมารดาเรียม (ธิดาพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน)

เมื่อแรกประสูติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระอิสริยฐานันดรศักดิ์เป็นพระเจ้าหลานเธอ หม่อมเจ้าชายทับ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมาก

เพราะนอกจากจะทรงเป็นหลานปู่พระองค์ใหญ่แล้ว ยังมีพระพักตร์คล้ายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชยิ่งนัก จึงเป็นเหตุให้พระองค์ได้รับพระราชทานเกียรติเป็นพิเศษ เช่น เมื่อพระชันษาครบปีที่จะเจริญพระเมาฬีตามประเพณีนิยมของไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเกศากันต์ (ตัดจุก) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี พ.ศ. 2349 พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ ครั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2352 พระองค์ได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ จนปี พ.ศ. 2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยทรงได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณด้วย

1 เมษายน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศเลิกทาสในประเทศไทย

วันนี้ เมื่อ 118 ปีก่อน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ ถือเป็นการเลิกระบบทาสและระบบไพร่ในสยามประเทศ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคที่ประเทศไทยมีพัฒนาการในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการคมนาคม การศึกษา สังคม และวัฒนธรรม

หนึ่งในพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งของพระองค์คือการเลิกทาสและการเลิกไพร่ อันเป็นการยกเลิกระบบที่คนชั้นสูงตั้งขึ้นเพื่อกดขี่ราษฎรให้ทำงานรับใช้หรือส่งทรัพย์สินให้ โดยไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหารและพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

2 เมษายน – วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพารเรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย

พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. 2501 จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใน พ.ศ. 2515 ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ จากนั้น พระองค์ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ จนกระทั่ง พ.ศ. 2520 พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ อยู่เสมอ และทรงช่วยเหลือกิจการโครงการตามพระราชดำริทุกโครงการ พร้อมทรงรับพระบรมราโชบายมาทรงดำเนินการสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในด้านต่างๆ

นอกจากพระราชกรณียกิจหลากสาขา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์เป็นที่ประจักษ์ พระองค์ทรงประพันธ์และแปลหนังสือมากมาย รวมทั้งหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน โดยทรงใช้พระนามแฝงหลายชื่อ อาทิ แว่นแก้ว ที่ทรงใช้เมื่อ พ.ศ. 2521 ในหนังสือพระราชนิพนธ์สำหรับเด็ก ได้แก่ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น และขบวนการนกกางเขน

3 เมษายน พ.ศ. 1893 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีของไทย

วันนี้ เมื่อ 673 ปีก่อน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีของไทย 

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีของไทย ในพ.ศ. 1893 'กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา' ตั้งอยู่บริเวณ หนองโสน (บึงพระราม) บนเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก โดยมีเมืองละโว้ เมืองสุพรรณบุรี เมืองอโยธยา ร่วมมือสร้างความเจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านการเมือง การปกครอง สังคมเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี และความสัมพันธ์กับต่างประเทศ 

ทั้งนี้ ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีคนไทยตั้งบ้านเมืองมาก่อน เช่น เมืองละโว้ เมืองสุพรรณบุรี เมืองอโยธยา เมืองเพชรบุรี และเมืองอื่น ๆ อีกมาก 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top