Saturday, 26 April 2025
TodaySpecial

วันนี้ เมื่อ 58 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเปิดเขื่อนภูมิพลอย่างเป็นทางการ

โครงการสร้างเขื่อนภูมิพล เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดยในระยะแรกนี้ใช้ชื่อว่า "เขื่อนยันฮี" ถือเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งและเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ แห่งแรกของประเทศไทยเลยทีเดียว ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระปรมาภิไธยให้ใช้เป็นชื่อเขื่อนนี้ว่า "เขื่อนภูมิพล"

ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเอเชียอาคเนย์ และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลกในขณะนั้น สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตรความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462  ล้านลูกบาศก์เมตร

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เจ้าชายนักประพันธ์ สิ้นชีพิตักษัย ในต่างแดน

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ประสูติเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 ณ ตำบล สามเสน เป็นโอรสองค์ที่ 6 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กับหม่อมอ่อน 

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ และศึกษาต่อชั้นมัธยม 4 ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่สอบตกชั้นมัธยม 7 จึงทรงออกจากโรงเรียน เสด็จไปศึกษาต่อวิชากฎหมายที่สำนักมิดเดิ้ลเทมเปิ้ล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ด้วยความที่ไม่โปรดในเรื่องกฎหมาย จึงทรงคลุกคลีอยู่กับหมู่นักหนังสือพิมพ์อังกฤษ จนล้มเหลวในเรื่องการศึกษา แต่โชคดีที่ได้รับพระราชทานทุนจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไปศึกษาวิชาการต่างประเทศ ที่เมืองจอร์จทาวน์ สหรัฐ แต่ประชวรหนักทำให้ต้องเสด็จกลับประเทศไทย

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงเข้ารับราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข และกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ทรงสนทัยในการประพันธ์มาตั้งแต่ครั้งศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยทรงร่วมกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ ทำหนังสือในห้องเรียน เมื่อมาทำงานที่กรมสาธารณสุข ได้นิพนธ์นวนิยายเรื่องแรก คือ "ละครแห่งชีวิต" โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ประทานเงินทุนในการจัดพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ. 2472 แม้ว่าจะมีราคาสูงถึงเล่มละ 3.50 บาท แต่ปรากฏว่าขายหมดทั้ง 2,000 เล่ม จนต้องมีการพิมพ์ครั้งที่สอง

‘วันอาภากร’ วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

วันอาภากร ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงได้รับสมัญญาเป็น องค์บิดาแห่งกองทัพเรือ ซึ่งทหารเรือยกย่องและเทิดทูนพระเกียรติคุณอย่างสูงสุด เนื่องจากพระองค์ทรงริเริ่มวางรากฐานกิจการทหารเรือและนำความเจริญมั่นคงและรุ่งเรืองมีสมรรถภาพสู่กองทัพเรือเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป ทำให้ทัพเรือไทยทันสมัยมีมาตรฐาน และเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยะประเทศ กองทัพเรือจึงกำหนดให้ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น วันอาภากร ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ เพื่อเป็นการเทิดทูน เผยแพร่พระเกียรติคุณ และแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน

พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อ 19 ธันวาคม 2423 เป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์ที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง

ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ ทรงมีจุดประสงค์แรงกล้าจะฝึกให้ทหารเรือไทยเดินเรือทะเลได้อย่างชาวต่างประเทศ และสามารถรบทางเรือได้ เนื่องจากอดีตประเทศไทยต้องว่าจ้างชาวต่างชาติมาเป็นผู้บังคับการเรือโดยตลอด

วันนี้ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ด้วยพระบารมีในหลวงร.9 นำไปสู่การดับไฟ ‘พฤษภาทมิฬ’

ย้อนกลับไปในคืนวันช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 คนยุคหนึ่งจะรู้ดีว่าบ้านเมืองเราได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ”

แน่นอนความเลวร้ายของเหตุการณ์นี้คนไทยจดจำได้เป็นอย่างดี แม้แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่เมื่อได้ย้อนอ่านการบันทึกทางประวัติศาสตร์ จากแหล่งต่าง ๆ ก็จะสัมผัสได้ถึงความโศกสลด และอาจถึงสิ้นหวัง กับความขัดแย้งที่คนรุ่นก่อน และก็เป็นคนในชาติเดียวกันทำต่อกันได้

หากแต่มีสิ่งหนึ่งที่คนไทยจดจำระลึกถึงมากยิ่งกว่า ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อวันนี้ของ 27 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 อันเปรียบเสมือนน้ำทิพย์จากฟากฟ้าที่มาดับไฟให้แก่บ้านเมือง 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำรัสอันทรงคุณค่า ให้แก่เราชาวไทยทุกคน และเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็จบลงในทันใด

โดยในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

วันนี้ในอดีต 21 พ.ค. 56 เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี ของประเทศไทย

ย้อนไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว...21 พ.ค. 56 เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี ของประเทศไทย โดยเหตุเกิดขึ้นระหว่าง เวลา 18.52 - 21.50 น. นานเกือบ 3 ชั่วโมงเต็ม สาเหตุเนื่องจากสายส่งกระแสไฟฟ้าจอมบึง - บางสะพาน ถูกฟ้าผ่าที่อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ส่งผลให้เกิดการลัดวงจร ระบบป้องกันสายส่งจึงสั่งปลดสายส่งออกจากระบบ ทำให้เกิดสภาพกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการ ความถี่ในระบบไฟฟ้าจึงลดต่ำกว่ามาตรฐาน จนโรงไฟฟ้าทั้งหมดในภาคใต้ที่เดินเครื่องอยู่หยุดเดินเครื่องอัตโนมัติ เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงมา ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อนและความตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ปัจจุบันในภาคใต้มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่ 6 โรง คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, โรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช, โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา 2 โรง, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ จังหวัดกระบี่ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา 

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ‘คสช.’ ยึดอำนาจการปกครอง เป็นการทำรัฐประหารครั้งที่ 13 ในไทย

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16.30 น. ได้เกิดการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ รัฐประหารโค่นรัฐบาลรักษาการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และอิทธิพลของนายทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย

ก่อนหน้านั้นสองวัน คือ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 03.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้

23 พฤษภาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันเต่าโลก’ หรือ World Turtle Day 

สำหรับวันเต่าโลก ทางองค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเล ในสหรัฐอเมริกา หรือ American Tortoise Rescue ได้เสนอให้ทุกวันที่ 23 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันเต่าโลก (World Turtle Day) เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมให้ตระหนักรู้และร่วมกันอนุรักษ์เต่า ทั้งเต่าบกและเต่าทะเล เนื่องจากปริมาณประชากรเต่าที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

ถึงแม้ว่าเต่าจะขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่อายุยืน แต่จากรายงานสถานภาพสัตว์ทะเลหายาก ปี 2560 ของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กลับพบว่า สถิติการลดลงของเต่าทะเลยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ มีปัญหาการลักลอบเก็บไข่เต่า อีกทั้งพื้นที่วางไข่และหากินของเต่าทะเลที่ลดลงจากการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่ง ทำให้สถิติการวางไข่ของเต่าทะเลลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5 ส่วน ภายในระยะเวลา 60 ปี

ที่ผ่านมา การอนุรักษ์เต่าในประเทศไทยนั้นมีการการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และการอนุรักษ์ทั้งเต่าบกและเต่าทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยที่เต่ามะเฟืองถูกบรรจุอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ ยังมีการปลูกจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมด้านการอนุรักษ์เต่าจากหน่วยงานภาครัฐและชุมชน รวมทั้งองค์กรอิสระในการเพิ่มประชากรทั้งเต่าบกและเต่าทะเล ให้ดำรงชีวิตอยู่ตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2564 มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย

24 พฤษภาคม 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อัญเชิญพระบรมอัฐิ ร.7 กลับถึงสยาม

วันนี้ เมื่อ 73 ปีก่อน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อัญเชิญพระบรมอัฐิ ร.7 จากลอนดอนกลับถึงสยาม 

24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 รัฐบาลไทย ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จากประเทศอังกฤษกลับมาถึงประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในที่อันสมควรแก่พระบรมราชอิสริยยศ ร่วมกันกับพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ หอพระบรมอัฐิ ที่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง 

อีกทั้ง ได้อัญเชิญพระสรีรางคารเข้าบรรจุในแท่นฐานชุกชีพระพุทธคีรส พระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งทรงถือเป็นวัดประจำรัชกาล ทั้งนี้ รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484


ที่มา : https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_12544
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์

วันนี้เมื่อ 167 ปีก่อน คือ วันพระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตรย์ ในลำดับรัชกาลที่ 4 พระองค์ที่ 2

25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2351 

26 พฤษภาคม 2562 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตปธ.องคมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม ในวัย 99 ปี

ครบรอบ 3 ปี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรม 

พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก เปรม ติณสูลานนท์ (26 สิงหาคม 2463 – 26 พฤษภาคม 2562) ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย ระหว่างปี 2523 ถึง 2531 ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ชื่อ “เปรม” นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุล “ติณสูลานนท์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462 เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)

พล.อ.เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ในหมายเลขประจำตัว 167 และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)
 
เมื่อจบการศึกษาในปี 2484 ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2485 – 2488 ที่เชียงตุง

ภายหลังสงคราม พลเอกเปรมรับราชการอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี พร้อมกับพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ และพลเอกวิจิตร สุขมาก เมื่อปี 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top