Saturday, 26 April 2025
TodaySpecial

17 เมษายน พ.ศ. 2557 ‘บิลลี่ พอละจี’ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง หายตัวไปอย่างไม่มีวันกลับ

‘บิลลี่ พอละจิ รักจงเจริญ’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และเป็นหลานชายของ ‘ปู่คออี้’ ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน จังหวัด เพชรบุรี เขาเติบโตขึ้นมาโดยเป็นที่ไว้วางใจของคนในหมู่บ้านในเรื่องการช่วยต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชน

โดยบิลลี่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาช่วยชาวบ้านในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อเรียกร้องถึงสิทธิชุมชน โดยหลายกรณีคือความขัดแย้งที่ชาวกะเหรี่ยงต้องสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ในประเด็นที่อยู่อาศัย-การไล่รื้อที่อยู่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงและรัฐนั้น มีเรื่องระหองระแหงกันอยู่เสมอ ๆ

หนึ่งในกรณีสำคัญ คือ การที่เขาเตรียมจะฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้ามารื้อที่อยู่อาศัยและทำให้ทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวต้องเสียหายไปเมื่อปี 2554

โดยในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 บิลลี่ ได้หายตัวไป ซึ่งเช้าวันนั้นเองเขาเดินทางออกจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อไปตัวอำเภอแก่งกระจาน พยานที่พบเห็นบิลลี่เป็นครั้งสุดท้าย ระบุว่า เขาเห็นบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานจับกุมตัวไป แต่ไม่รู้ว่าพาไปไหนต่อ

ในวันต่อมาผู้ใหญ่บ้านบางกลอยได้เข้าแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ตรวจสอบพบว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเอาไว้จริง แต่ก็ได้ปล่อยตัวไปแล้วตามปกติ ต่อมาพนักงานสอบสวนตรวจสอบพบว่านายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยอมรับว่า ควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริง โดยให้เหตุผลว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองจึงเรียกไปตักเตือนแต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว

หลังจากการหายตัวไปของบิลลี่ ทางครอบครัวก็ได้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับเขา ทั้งไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รวมถึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ให้ไต่สวนกรณีควบคุมตัวบิลลี่ขัดกับหลักกฎหมาย (ในตอนนั้นครอบครัวเชื่อว่า บิลลี่ยังมีชีวิตอยู่แต่ถูกควบคุมตัวเอาไว้) อย่างไรก็ดี ศาลได้ยกคำร้องเรื่องการควบคุมตัวบิลลี่ไปในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

หลังจากนั้น การหายตัวไปของบิลลี่ก็ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าที่ควร แต่ทางครอบครัวก็ยังไม่ยอมแพ้ และพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับบิลลี่อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ภรรยาของบิลลี่ มึนอ ที่เดินทางไปยื่นหนังสือต่อองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงองค์กรและสถานทูตต่างประเทศ

และในช่วงต้นปี 2561 เมื่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ได้รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่ไปเป็น ‘คดีพิเศษ’ ขณะที่องค์กรภาคประชาชน และภาคประชาสังคมก็ยังคงจับตาการสอบสวนคดีนี้อย่างต่อเนื่อง ทางด้านองค์กรด้านสิทธิเรียกการสูญหายไปของบิลลี่ว่าเป็น ‘การถูกบังคับให้สูญหาย’ (forced disappearance) ซึ่งมีนัยของการที่บุคคลหนึ่งถูกอุ้มหายไปจากสังคม ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่งที่ร้ายแรง

ซึ่งในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562 มีข้อมูลใหม่ที่ถูกเปิดเผยออกมาว่าเจ้าหน้าที่ได้ค้นพบวัตถุบางอย่างในอุทยานแก่งกระจาน ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงไปถึงการหายตัวไปของบิลลี่ได้ ทางด้านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มานะ เพิ่มพูล บอกว่า อุทยานฯ ได้รับทราบถึงหลักฐานชิ้นใหม่นี้แล้ว ซึ่งข้อมูลที่พอจะให้ได้ก็คือ เป็นหลักฐานที่ค้นพบแถวๆ สะพานแขวน ซึ่งจุดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของแก่งกระจาน

18 เมษายน พ.ศ. 2498 การจากไปของ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ สุดยอดอัจฉริยะของโลก

หากกล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่พลิกโฉมวงการวิทยาศาสตร์ และมีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก ชื่อแรกที่หลายคนต่างนึกถึงก็คือ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ โดยในวันนี้เป็นวันสำคัญที่โลกต่างระลึกถึง ต่อการจากไปของอัจฉริยะคนสำคัญของโลกผู้นี้

‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ เป็นศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์และนักฟิสิกส์ทฤษฎี ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นผู้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนากลศาสตร์ควอนตัม กลศาสตร์สถิติ และจักรวาลวิทยา เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี 2464 จากการอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก และจากการทำประโยชน์แก่ฟิสิกส์ทฤษฎี

หลังจากที่ไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ในปี 2458 เขาก็กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยธรรมดานักสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ในปีต่อ ๆ มา ชื่อเสียงของเขาได้ขยายออกไปมากกว่านักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ ไอน์สไตน์ได้กลายมาเป็นแบบอย่างของความฉลาดหรืออัจฉริยะความนิยมในตัวของเขาทำให้มีการใช้ชื่อไอน์สไตน์ในการโฆษณา หรือแม้แต่การจดทะเบียนชื่อ "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ให้เป็นเครื่องหมายการค้า

วันนี้เมื่อ 56 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบข้ามอ่าวไทย ด้วยลำพังพระองค์เอง จากพระราชวังไกลกังวล ไปยังหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

‘การแล่นใบ’ นับเป็นหนึ่งในพระอัจฉริยภาพอันเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ ทั้งยังทรงมีพระปรีชาสามารถในการต่อเรือใบและการทรงเรือใบเป็นอย่างยิ่ง

ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นอกจากที่เราจะได้ประจักษ์ผ่านการแข่งขันกีฬาเรือใบที่พระองค์ทรงเข้าร่วมหลายต่อหลายครั้งแล้ว 

ในวันนี้พระองค์ได้ทรงเรือใบประเภทโอเค ชื่อ "เวคา" เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้ามอ่าวไทยไปยังหาดเตยงาม ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวมระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล หรือ 97 กิโลเมตร
 

20 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันภาษาจีน’ เพื่อเฉลิมฉลองประเด็นเรื่องพหุภาษาและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

หากพูดถึงภาษาในโลกใบนี้ที่มีมากมายหลายภาษา หนึ่งในภาษาที่มีความนิยมเป็นอย่างมาก และเรียกได้ว่าใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ ‘ภาษาจีน’ ที่ผู้คนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเองต่างก็ให้ความสนใจและเลือกที่จะเรียน ‘ภาษาจีน’ เป็นภาษาที่สอง หรือภาษาที่สาม ไม่แพ้ภาษาอื่น ๆ กันเลยทีเดียว

โดยในวันที่ 20 เมษายน ของทุกปีตรงกับวันสำคัญวันหนึ่ง คือ ‘วันภาษาจีน’ โดยวันภาษาจีนริเริ่มขึ้นโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ในปี พ.ศ. 2553 เพื่อเฉลิมฉลองในประเด็นเรื่องพหุภาษาและความหลากหลายทางวัฒนธรรม 
 

วันนี้เมื่อ 240 ปีก่อน ตรงกับ ‘วันสถาปนากรุงเทพมหานครฯ’

วันนี้เมื่อ 240 ปีก่อน ตรงกับ ‘วันสถาปนากรุงเทพมหานครฯ’ นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรี มาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

และจัดให้ตั้งการพระราชพิธียกเสาหลักเมืองสำหรับพระนครขึ้นเพื่อเป็นหลักชัยอันสำคัญ พระฤกษ์ยกเสาหลักเมืองกระทำในวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 06.54 น. พระราชทานนามพระนครใหม่ว่า 

“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถานอมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” 
 

22 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันคุ้มครองโลก’ เพื่อปลุกจิตสำนึกปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันคุ้มครองโลกถือกำเนิดในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513 นักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่งได้จัดให้มีการแสดงพลังครั้งใหญ่ เพื่อปลุกเร้าจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหา สิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันยิ่งถูกมนุษย์ทำลาย ในการแสดงพลังครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่า 20 ล้านคน และปรากฏขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ เกือบทั้งสหรัฐ 

หลังจากนั้นความห่วงใยปัญหาสภาพแวดล้อมของสหรัฐฯ ก็เพิ่มพูนขึ้น มีการออกกฎหมายควบคุมการกระทำที่สร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ

สำหรับประเทศไทยเริ่มพูดถึงวันคุ้มครองโลกครั้งแรก เมื่อปี 2533 ถือเป็นการเริ่มต้นของสังคมไทย ยุคเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะหลังจากสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง กระทำอัตวินิบาตกรรม โดยมีอาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน 16 สถาบันได้จัดงาน วันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่าอนุรักษ์ และตระหนักถึงวิกฤตการณ์ ทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้

23 เมษายน ค.ศ. 1616 สูญเสียยอดกวีเอกของโลก ‘วิลเลียม เชกสเปียร์’

วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) เกิดเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้แน่ รู้แต่ว่าเขาได้รับศีลล้างบาปในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1564 ซึ่งตามธรรมเนียมในสมัยนั้นการรับศีลของทารกมักจะทำกัน 3 วันหลังการเกิด วันที่ 23 เมษายนจึงถูกถือเอาเป็นวันเกิดของเขา

เชกสเปียร์เติบโตขึ้นในเมืองสแตรทฟอร์ดริมฝั่งเอวอน (Stratford-upon-Avon) วอร์วิกไชร์ (Warwickshire) ประเทศอังกฤษ รายละเอียดของชีวประวัติของเชกสเปียร์มีบันทึกไม่มากนักเนื่องจากเขามิใช่ชนชั้นสูง เรื่องราวในชีวิตช่วงแรกๆ ของเขาจึงมีแต่เพียงเรื่องที่ถูกบันทึกในเอกสารของทางการ เช่น การรับศีล และการแต่งงาน

พ่อของเขาจอห์น เชกสเปียร์ (John Shakespeare) ทำการค้าหลายอย่างและดูเหมือนจะมีปัญหาทางการเงินเป็นระยะ ขณะที่แม่ของเขาแมรี อาร์เดน แห่งวิล์มโคต (Mary Arden, of Wilmcote) มาจากครอบครัวเก่าแก่และเป็นทายาทที่จะได้รับมรดกเป็นที่ดินบางส่วน ทำให้เชื่อกันว่าการแต่งงานของทั้งคู่เป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อยกฐานะของจอห์น เชกสเปียร์

เชื่อกันว่าเชกสเปียร์น่าจะเข้าเรียนในโรงเรียนไวยากรณ์ (Grammar School เป็นโรงเรียนสอนภาษาละตินและวรรณกรรมคลาสสิกในยุคกลาง ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นโรงเรียนระดับมัธยมของอังกฤษ) ในสแตรทฟอร์ด แต่ไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

เมื่ออายุได้ 18 ปี เขาแต่งงานกับแอนน์ แฮทธาเวย์ หญิงซึ่งแก่กว่าเขา 8 ปี และตั้งท้องอยู่แล้วก่อนแต่งงานกับเขา หลังแต่งงานได้ 6 เดือนทั้งคู่ได้ลูกสาวคนแรกชื่อว่า ซูซานนา (Susanna) ในปี 1585 ทั้งคู่ได้ลูกแฝด แฮมเน็ต (Hamnet) และจูดิธ (Judith) ก่อนที่แฮมเน็ตลูกชายคนเดียวของครอบครัวเชกสเปียร์จะเสียชีวิตในอีก 11 ปีถัดมา

เชกสเปียร์เริ่มมีชื่อถูกอ้างถึงในฐานะนักเขียนในปี 1592 เมื่อเขาถูกวิจารณ์โดย โรเบิร์ต กรีน (Robert Greene) ผู้เป็นนักเขียนบทละครเช่นเดียวกับเชกสเปียร์ เชื่อกันว่าในขณะนั้นเชกสเปียร์ น่าจะเขียนเรื่องเฮนรีที่ 6 (Henry VI) ไปแล้ว 3 ตอน ในปี 1593 วีนัสแอนด์อดอนิส (Venus and Adonis) เป็นบทกวีชิ้นแรกของเชกสเปียร์ที่ถูกนำออกเผยแพร่ ซึ่งเป็นงานที่ทำขึ้นเพื่ออุทิศให้กับเฮนรี ไรโอเธสลีย์ ที่ 3 เอิร์ลแห่งเซาแธมป์ตัน (Henry Wriothesley, the 3rd earl of Southampton)

ในปี 1594 เชกสเปียร์ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะละครลอร์ดแชมเบอร์เลน (Lord Chamberlain’s Men) ซึ่งภายหลังกลายเป็นคณะละครในพระบรมราชูปถัมภ์ (King’s Men) เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 1 (James I) ขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นคณะละครที่เชกสเปียร์ร่วมงานด้วยจนกระทั่งเขาเกษียณอายุ

‘ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล บริการเพื่อประชาชน’ 24 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันเทศบาล’ 

กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้วันที่ 24 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันเทศบาล” เพื่อระลึกถึงความสำคัญของการก่อกำเนิดเทศบาล และเพื่อให้พนักงานเทศบาลตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการประชาชน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเทศบาลสามัญ พนักงานครูเทศบาล พนักงานสถานธนานุบาล พนักงานจ้างตามภารกิจ พนักงานจ้างทั่วไป นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างความรัก ความผูกพัน ความสามัคคี ให้กับบุคลากรในเทศบาล เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีที่จะส่งผลเชิงบวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ การให้บริการ การอำนวยความสะดวก พร้อมสร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดเทศบาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ โดยจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และได้ขยายการตั้งสุขาภิบาลออกไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ 

ต่อมา ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 กำหนดให้เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น จึงได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2467 และเกิดรูปแบบของเทศบาลตั้งแต่นั้นมา

การเรียกชื่อของเทศบาลนั้นแตกต่างกันตามจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้แก่

เทศบาลตำบล คือ ท้องถิ่นซึ่งมีการประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย มีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 12 คน

25 เมษายน วันคล้ายวันสวรรคต ‘สมเด็จพระนเรศวรมหาราช’

วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ประชาชนชาวไทยควรตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่พระองค์ทรงเสียสละ ต่อสู้กับข้าศึกศัตรูแม้ในยามที่ทรงประชวรหนัก ก็ยังไม่ห่วงพระวรกายยังคงทำหน้าที่ของนักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่ยอมให้ศัตรูมารุกรานบ้านเมือง จนกระทั่งสวรรคตในสนามรบ จึงได้ทำให้เหล่าทวยราษฎร์ต่างเทิดทูนถึงพระมหากรุณาธิคุณ เราชาวไทยควรรำลึกถึงพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยของเราให้ได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีย์ ทรงพระราชสมภพ ณ พระราชวังจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2098 พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา คือ พระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรถ ในขณะที่พระองค์ทรงพระเยาว์ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก และทรงขอสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นตัวประกันที่หงสาวดี จนพระชนมายุได้ 15 พรรษา พระองค์จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2098 ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ณ เมืองแครง ประกาศอิสรภาพของชาติไทยโดยไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป และทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์สุโขทัย

36 ปี ภัยพิบัติเชอร์โนบิล โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ระเบิด

ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2529 เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl Nuclear Power Plant) ที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน (สมัยนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) เกิดการระเบิดขึ้น สร้างความเสียหายและทำลายสภาพแวดล้มของเมืองจนกลายเป็นเมืองร้างมาจนถึงปัจจุบัน 

โดยเหตุระเบิดในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ทีมวิศวกรตรวจสอบการทำงานของระบบทำความเย็น โดยปิดระบบรักษาความปลอดภัย เมื่อแรงดันไอน้ำภายในสูงขึ้นอย่างฉับพลันแต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติกลับไม่ทำงาน ส่งผลให้ให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ระเบิด 

แน่นอนว่าสารกัมมันตรังสีเกือบทั้งหมดแพร่กระจายสู่บรรยากาศ ในรัศมี 30 กิโลเมตร ทำให้ในบริเวณนั้นมีการปนเปื้อนรังสีสูง และได้ถูกประกาศเป็นเขตอันตรายในที่สุด (Zone of alienation) ซึ่งสารกัมมันตภาพรังสีเหล่านี้ ได้ลอยออกไปปนเปื้อนทั้งในอากาศ แม่น้ำ ผืนดิน ทั่วทวีปยุโรปกว่า 3.9 ล้านตารางกิโลเมตร ต้องอพยพประชาชนประมาณ 336,000 คน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top