17 เมษายน พ.ศ. 2557 ‘บิลลี่ พอละจี’ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง หายตัวไปอย่างไม่มีวันกลับ

‘บิลลี่ พอละจิ รักจงเจริญ’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และเป็นหลานชายของ ‘ปู่คออี้’ ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน จังหวัด เพชรบุรี เขาเติบโตขึ้นมาโดยเป็นที่ไว้วางใจของคนในหมู่บ้านในเรื่องการช่วยต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชน

โดยบิลลี่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาช่วยชาวบ้านในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อเรียกร้องถึงสิทธิชุมชน โดยหลายกรณีคือความขัดแย้งที่ชาวกะเหรี่ยงต้องสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ในประเด็นที่อยู่อาศัย-การไล่รื้อที่อยู่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงและรัฐนั้น มีเรื่องระหองระแหงกันอยู่เสมอ ๆ

หนึ่งในกรณีสำคัญ คือ การที่เขาเตรียมจะฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้ามารื้อที่อยู่อาศัยและทำให้ทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวต้องเสียหายไปเมื่อปี 2554

โดยในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 บิลลี่ ได้หายตัวไป ซึ่งเช้าวันนั้นเองเขาเดินทางออกจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อไปตัวอำเภอแก่งกระจาน พยานที่พบเห็นบิลลี่เป็นครั้งสุดท้าย ระบุว่า เขาเห็นบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานจับกุมตัวไป แต่ไม่รู้ว่าพาไปไหนต่อ

ในวันต่อมาผู้ใหญ่บ้านบางกลอยได้เข้าแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ตรวจสอบพบว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเอาไว้จริง แต่ก็ได้ปล่อยตัวไปแล้วตามปกติ ต่อมาพนักงานสอบสวนตรวจสอบพบว่านายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยอมรับว่า ควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริง โดยให้เหตุผลว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองจึงเรียกไปตักเตือนแต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว

หลังจากการหายตัวไปของบิลลี่ ทางครอบครัวก็ได้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับเขา ทั้งไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รวมถึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ให้ไต่สวนกรณีควบคุมตัวบิลลี่ขัดกับหลักกฎหมาย (ในตอนนั้นครอบครัวเชื่อว่า บิลลี่ยังมีชีวิตอยู่แต่ถูกควบคุมตัวเอาไว้) อย่างไรก็ดี ศาลได้ยกคำร้องเรื่องการควบคุมตัวบิลลี่ไปในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

หลังจากนั้น การหายตัวไปของบิลลี่ก็ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าที่ควร แต่ทางครอบครัวก็ยังไม่ยอมแพ้ และพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับบิลลี่อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ภรรยาของบิลลี่ มึนอ ที่เดินทางไปยื่นหนังสือต่อองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงองค์กรและสถานทูตต่างประเทศ

และในช่วงต้นปี 2561 เมื่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ได้รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่ไปเป็น ‘คดีพิเศษ’ ขณะที่องค์กรภาคประชาชน และภาคประชาสังคมก็ยังคงจับตาการสอบสวนคดีนี้อย่างต่อเนื่อง ทางด้านองค์กรด้านสิทธิเรียกการสูญหายไปของบิลลี่ว่าเป็น ‘การถูกบังคับให้สูญหาย’ (forced disappearance) ซึ่งมีนัยของการที่บุคคลหนึ่งถูกอุ้มหายไปจากสังคม ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่งที่ร้ายแรง

ซึ่งในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562 มีข้อมูลใหม่ที่ถูกเปิดเผยออกมาว่าเจ้าหน้าที่ได้ค้นพบวัตถุบางอย่างในอุทยานแก่งกระจาน ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงไปถึงการหายตัวไปของบิลลี่ได้ ทางด้านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มานะ เพิ่มพูล บอกว่า อุทยานฯ ได้รับทราบถึงหลักฐานชิ้นใหม่นี้แล้ว ซึ่งข้อมูลที่พอจะให้ได้ก็คือ เป็นหลักฐานที่ค้นพบแถวๆ สะพานแขวน ซึ่งจุดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของแก่งกระจาน

การแถลงข่าวของ DSI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2562 ได้ยืนยันว่า พบกระดูกมนุษย์ใกล้ถังน้ำมัน โดยกระดูกส่วนที่เป็นกระโหลกนั้นมีรอยไหม้และรอยแตกร้าว เจ้าหน้าที่ยืนยันด้วยว่า กระดูกนี้เป็นของบิลลี่จริงๆ เพราะได้ตรวจสอบ DNA จากกระดูกแล้วเรียบร้อย แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเขาตายเพราะสาเหตุอะไร ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดี DSI ในขณะนั้น ย้ำว่า นี่คือคดีฆาตกรรม แต่กระดูกที่พบยังไม่ใช่หลักฐานที่เพียงพอในการชี้ตัวคนร้ายได้ จึงขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวนเพิ่มเติม

ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน คดีฆาตกรรมบิลลี่ใน 6 ข้อหา วันต่อมาชัยวัฒน์และพร้อมพวกรวม 4 คน เดินทางไปมอบตัวและยืนยันพร้อมต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563 ชัยวัฒน์ ได้เดินทางยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ร้องขอความเป็นธรรมอัยการในการสั่งคดี ต่อมาวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563 อัยการฝ่ายคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องชัยวัฒน์ กับพวกรวม 4 คน ข้อหาฆ่าบิลลี่ โดยสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาเป็นเจ้าหน้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

โดยระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ DSI สามารถยื่นแย้งกลับมายังอัยการได้ โดยที่ไม่ต้องหาพยาน หลักฐานใดมาเพิ่ม เพียงแค่ทำเรื่องยื่นแย้ง โดยระบุว่าเอกสารพยาน หลักฐานที่มีอยู่มีน้ำหนักมากพอที่จะฟ้องในคดีนี้ โดยขั้นนี้อัยการสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณา โดยกฎหมายไม่ได้ระบุระยะเวลาที่จะยื่นแย้ง แต่หากจะทำ ขอให้ DSI คำนึงถึงระยะเวลาของคดีความด้วย

ซึ่งในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563 มึนอ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายบิลลี่ได้เข้ามาร่วมรับฟังการชี้แจงของสำนักงานอัยการสูงสุด และได้ยื่นหนังสือต่อนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (รองโฆษกอสส.) เพื่อขอให้ชี้แจงเหตุผลที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องชัยวัฒน์เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะข้องใจว่าเหตุใดอัยการเร่งรัดสั่งไม่ฟ้องแทนที่จะสั่งให้ดีเอสไอไปสอบสวนเพิ่มเติม ดังนั้นปัจจุบัน บิลลี่ยังคงหายไปอย่างไร้ร่องรอย ครอบครัวยังคงต้องตามหาความยุติธรรมต่อไป เพราะทางการยังไม่สามารถนำตัวผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษได้


ที่มา : https://thematter.co/brief/recap/recap-1567497600/84145


ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes