Friday, 25 April 2025
TodaySpecial

52 ปี ‘โรงแรมดุสิตธานี’ เริ่มเปิดดำเนินกิจการเป็นครั้งแรก

27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 โรงแรมดุสิตธานีเริ่มเปิดดำเนินกิจการ การตั้งชื่อว่า “ดุสิตธานี” ก็เพื่อให้พ้องกับชื่อสวรรค์ชั้นที่ 4 ที่ชื่อว่า “ดุสิต” เพื่อให้ผู้มาใช้บริการรู้สึกเหมือนอยู่ในสวรรค์ นอกจากนี้โรงแรมยังตั้งอยู่ตรงข้ามสวนลุมพินี ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ผู้ทรงสร้างเมืองแม่แบบประชาธิปไตยชื่อ “ดุสิตธานี”

ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบประสมขนาดใหญ่ บนที่ดินขนาด 23 ไร่ 2 งาน 2.72 ตารางวา บริเวณหัวมุม ถนนพระราม 4 ตัดถนนสีลม (แยกศาลาแดง) ตรงข้ามกับสวนลุมพินี

ในพื้นที่แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ และ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

สำนักงานสีลม บริหารงานโดย บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ภายใต้การร่วมทุนของ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และ กลุ่มเซ็นทรัล โดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าขึ้นเป็นแลนด์มาร์กหนึ่งของเส้นขอบฟ้ากรุงเทพมหานคร ด้วยความสูงสุดของอาคารที่ 78 ชั้น ภายใต้สถาปัตยกรรมแบบไทยโบราณร่วมกับสถาปัตยกรรมแบบไทยร่วมสมัย รองรับกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

พื้นที่ของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค แต่เดิมแล้วเป็นบ้านศาลาแดง ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) โดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย

ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาคณะกรรมการโรงแรม ปริ๊นเซส ได้ดำเนินการขอเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินผืนดังกล่าว เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงแรมระดับห้าดาวที่หรูหราแห่งแรกในกรุงเทพมหานครเมื่อ 2511 ภายใต้ชื่อ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยตัวอาคารมีความสูง 23 ชั้น

นับเป็นอาคารสูงหลังแรกในประเทศไทย และใช้สถาปัตยกรรมแบบไทยเดิมร่วมสมัยที่ออกแบบโดยกลุ่ม Kanko Kikaku Sekkeisha ที่นำโดย โยโซะ ชิบาตะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ในส่วนของชื่อโรงแรมได้ตั้งตามชื่อเมืองจำลองของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันแปลว่า “เมืองสวรรค์” ซึ่งแต่เดิมพระองค์เคยมีพระราชประสงค์ที่ต้องการจะสร้างเมืองแห่งประชาธิปไตยและให้ชื่อว่าดุสิตธานีนั่นเอง ซึ่งการตั้งชื่อโรงแรมยังเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปในตัว เนื่องมาจากพื้นที่ตั้งของโรงแรมตั้งอยู่ตรงข้ามสวนลุมพินี และมีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ของทุกปีตรงกับวัน ‘ช่างตัดเสื้อโลก’

วันช่างตัดเสื้อโลก หรือ World Tailors Da ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยมีการเฉลิมฉลองกันในหลายประเทศทั่วโลก มีที่มาจากวันเกิดของเซอร์ วิลเลียม เอเลียส โฮว์ ผู้ประดิษฐ์จักรเย็บผ้าให้กับโลกเมื่อปี 2388

สำหรับ Elias Howe Jr. เป็นผู้ประดิษฐ์จักรเย็บผ้าที่ใช้งานได้เครื่องแรก ชายชาวแมสซาชูเซตส์คนนี้เริ่มต้นจากการเป็นเด็กฝึกงานในร้านขายเครื่องจักรกลและได้มาพร้อมกับองค์ประกอบที่สำคัญ สำหรับจักรเย็บผ้าแบบตะเข็บล็อกตัวแรก แต่แทนที่จะสร้างและขายเครื่องจักร Howe สร้างรายได้ด้วยการยื่นฟ้องศาลกับคู่แข่งที่เขารู้สึกว่าละเมิดสิทธิบัตรของเขา

การสัมผัสพื้นผิวดาวศุกร์ครั้งแรกของโลก จากการพุ่งชนของ ‘ยานเวเนรา 3’

วันนี้เมื่อ 56 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2509 ได้เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งเกิดขึ้น กับ ‘ยานเวเนรา 3’ ยานอวกาศที่ถูกสร้างและปล่อยขึ้นสู่อวกาศโดยสหภาพโซเวียต เพื่อไปสำรวจพื้นผิวของดาวศุกร์ 

โดย ยานเวเนรา 3 นั้น ถูกปล่อยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 จาก Baikonur คาซัคสถาน

ซึ่งเป้าหมายในการออกไปนอกโลกในครั้งนี้ คือ ภารกิจลงจอดบนพื้นผิวของดาวศุกร์ โดยลำตัวมีระบบวิทยุสื่อสาร เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ แหล่งพลังงานไฟฟ้าและมีตราแผ่นดินของสหภาพโซเวียต

แต่ภารกิจในครั้งนี้กลับไม่เป็นไปตามอย่างที่วางแผนไว้ เมื่อยานอวกาศดังกล่าวลงสู่ดาวศุกร์ แต่กลับลงด้วยการชนกระแทก เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2509 และกลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงอื่น 

ซึ่งด้านที่ตกนั้นเป็นดาวมืดของดาวศุกร์ ซึ่งพิกัดการลงจอดกระแทกน่าจะอยู่ที่พิกัด -20° to 20° N, 60° to 80° E อย่างไรก็ตาม ระบบสื่อสารของยานได้ล้มเหลวก่อนที่จะมีการส่งข้อมูลใดๆ กลับมายังโลก

อีกทั้งดาวศุกร์ มีอุณหภูมิประมาณ 500 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้การลงจอดของยานสำรวจเวเนรารุ่นต่อๆ ไป ก็ยังเป็นอุปสรรค จนกระทั่ง เวเนรา 7 ที่ลำตัวของยานเป็นไททาเนียม สามารถลงจอดที่พื้นผิวอย่างนุ่มนวลได้สำเร็จเป็นลำแรกและส่งข้อมูลกลับมายังโลกได้ 23 นาที

122 ปี การแข่งขันฟุตบอลครั้งแรกในประเทศไทย

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2443 ได้มีการแข่งขันฟุตบอลซึ่งนับว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย ระหว่างทีมศึกษาธิการ กับทีมบางกอก ที่ทุ่งพระเมรุ ผลการแข่งขันเสมอกันไป 2 - 2 โดยนับเป็นการแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย

แต่หากย้อนกลับไปถึงที่มาที่ไปของกีฬาชนิดนี้ในประเทศไทย เรียกได้ว่ากีฬาฟุตบอลในประเทศไทย มีการเล่นตั้งแต่สมัย "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระองค์ได้ส่งพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานยาเธอ และข้าราชบริพารไปศึกษาวิชาการด้านต่างๆ ที่ประเทศอังกฤษ 

ซึ่งการส่งคนไทยไปศึกษาวิชาการต่างๆ ในครั้งนี้ ยังนำกีฬาชนิดหนึ่งกลับมาที่เมืองไทยอีกด้วย ซึ่งผู้ที่นำกีฬาฟุตบอลกลับมายังประเทศไทยเป็นคนแรกคือ "เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)" หรือ ที่ประชนชาวไทยมักเรียกชื่อสั้นๆ ว่า "ครูเทพ" ซึ่งท่านได้แต่งเพลงกราวกีฬาที่พร้อมไปด้วยเรื่องน้ำใจนักกีฬาอย่างแท้จริง เชื่อกันว่าเพลงกราวกีฬาที่ครูเทพแต่งไว้นี้จะต้องเป็น "เพลงอมตะ" และจะต้องคงอยู่คู่ฟ้าไทย

ย้อนรอยเหตุลอบสังหาร อดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’

หากย้อนกลับไปเมื่อ 21 ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างเสนอข่าวอย่างครึกโครม เมื่อในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2544 เครื่องบินโบอิง 737 ของการบินไทยเกิดระเบิดขึ้นที่ลานจอด แต่ความน่าสนใจที่มากกว่านั้นคือ 1 ในรายชื่อของผู้โดยสารเครื่องบินลำดังกล่าวคือ ‘พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร’

โดยในวันเกิดเหตุเครื่องบินลำดังกล่าว เที่ยวบินที่ 114 โบอิง 737-4D7 ของการบินไทย ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่จะเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ในเวลา 14.48 น. หากแต่ว่าก่อนเวลากำหนดการบิน 35 นาที เครื่องบินลำดังกล่าวกลับระเบิดขึ้น ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งขณะเกิดเหตุนั้นยังไม่มีผู้โดยสารอยู่บนเครื่อง มีเพียงเจ้าหน้าที่จำนวน 8 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 คน

โดยหลังเกิดเหตุ ทักษิณ แถลงว่าการระเบิดครั้งนี้เป็นการก่อวินาศกรรมเพื่อหวังลอบสังหารตนเอง โดยฝีมือของผู้เสียผลประโยชน์ชาวต่างชาติ (ว้าแดง) เนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล หลังจากที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานของไทยตรวจพบหลักฐานที่เชื่อว่าอาจเป็นร่องรอยของระเบิดซีโฟร์หรือเซมเท็กซ์ (Semtex) และช่วงหนึ่งของคำแถลงนั้นระบุว่า

“เป็นการปองร้าย ไม่ใช่การก่อการร้าย ไม่ทราบว่าปองร้ายใคร ส่วนคนที่ทำนั้นสิ้นคิด ไม่ต้องทำกับนายกรัฐมนตรี ทำกับใคร ประเทศชาติก็เสียหาย”

73 ปี สังหารกลางกรุง ‘4 อดีตรัฐมนตรี’ โดยตำรวจอ้างว่าเกิดการปะทะชิงตัวกับ ‘โจรมลายู’

วันนี้เมื่อ 73 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่กลางกรุงอย่างอุกอาจ เมื่อผู้ถูกลอบสังหารหมู่นั้น เป็นถึง “4 อดีตรัฐมนตรี” ซึ่งประกอบด้วย รองอำมาตย์ตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นนักการเมือง ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรณี “พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว” ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น นักการเมืองผู้ต่อสู้เพื่อชาวอีสานอย่างแท้จริงคนหนึ่ง

นายถวิล อุดล เป็นนักการเมือง หนึ่งใน “สี่เสืออีสาน” ซึ่งประกอบด้วย ตัวนายถวิลเอง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ และนายจำลอง ดาวเรือง

นายถวิล ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด 2 สมัย เป็นหัวหน้าเสรีไทย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเคยเดินทางไปติดต่อขอความร่วมมือจาก ประเทศจีน แนวคิดทางการเมืองที่สำคัญ คือ เงินภาษีที่เก็บจากประชาชน ต้องเป็นประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนทั้งหมด

ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ อดีตรัฐมนตรี และเป็นคณะราษฎร อดีตส.ส.จังหวัดนครนายก และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ

นายจำลอง ดาวเรือง ขุนพลเมืองมหาสารคาม ผู้นำเสรีไทยหน่วยมหาสารคาม เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 อดีตส.ส.ตัวแทนชาวไร่ชาวนาเมื่อปี 2480 อยู่ในกลุ่ม “สี่เสืออีสาน”

โดยเหตุสังหารหมู่อย่างอุกอาจ “4 อดีตรัฐมนตรี” หลายคนเชื่อว่าเป็นจุดจบแบบอำพราง เนื่องจากช่วงค่ำวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2492 ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้ง “4 อดีตรัฐมนตรี” ไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหมายเลขทะเบียน กท. 10371 โดยมี “พ.ต.อ.หลวงพิชิต ธุรการ” เป็นผู้ควบคุม โดยรับ “ดร.ทองเปลว” ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน  “นายจำลอง” ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา “นายถวิล” ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และ “นายทองอินทร์” ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน

เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนไม่ต่ำกว่า 10 นัดจนร่างเละ ทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ โดยได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง

ต่อมาตำรวจแถลงว่า ในที่เกิดเหตุกลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

ว่ากันว่าญาติของผู้ต้องหากว่าจะทราบเรื่องการเสียชีวิต ก็เมื่อได้ไปเยี่ยมที่สถานีตำรวจเดิมที่คุมขังแล้วไม่พบตัว ต้องไปตามหาตามที่ต่างๆ เช่น วังปารุสกวัน ซึ่งในขณะนั้นเป็น “กองบัญชาการตำรวจนครบาล” และได้รับคำบอกต่อให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง จึงได้ทราบเรื่อง

ศพของ “4 อดีตรัฐมนตรี” ตั้งบำเพ็ญกุศลที่ “วัดมกุฎกษัตริยาราม” กระนั้นในงานศพก็ยังมีตำรวจสายสืบและสันติบาลมาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานศพ “4 อดีตรัฐมนตรี” อยู่เสมอ

จากความผิดปกติในครั้งนี้ ทำให้สังคมโดยทั่วไปไม่เชื่อว่าทั้งหมดเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนของโจรมลายูจริง แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตำรวจเอง ภายใต้การบัญชาการของ “พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์” ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏและมีตำแหน่งเป็น “รองอธิบดีกรมตำรวจ” ในเวลานั้น

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการฆาตกรรมนักการเมืองและบุคคลฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เช่น นายเตียง ศิริขันธ์, นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์, นายอารีย์ ลีวีระ

5 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับ ‘วันนักข่าว’ หรือ ‘วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ’

วันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับวันสำคัญวันหนึ่ง นั่นก็คือ ‘วันนักข่าว’ หรือ ‘วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ’ ซึ่งตรงกับวันก่อตั้ง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่นบุกเบิก จำนวน 15 ท่าน ได้แก่ โชติ มณีน้อย, เท่ห์ จงคดีกิจ, ประจวบ อัมพะเสวต, วิเชียร โรจนวงศานนท์, ถาวร มุ่งการดี, สนิท เอกชัย, เชาว์ รูปเทวินทร์, จรัญ โยบรรยงค์, กุศล ประสาร, ชลอ อาภาสัตย์, อนงค์ เมษประสาท, วิสัย สุวรรณผาติ, นพพร ตุงคะรักษ์, วิภา สุขกิจ และเลิศ อัศเวศน์ 

ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการนัดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมีชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุม

แน่นอนว่าวันสำคัญของวงการสื่อสารมวลชนเช่นนี้ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวันสำคัญของพวกตนเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่มีประเพณีที่ทราบกันดี ระหว่างหนังสือพิมพ์และผู้อ่านว่า ในวันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของบรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย 

แต่แล้วประเพณีนี้ก็ไม่สามารถทำได้นาน เพราะสุดท้ายหนังสือพิมพ์ก็ต้องออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากประชาชนในฐานะผู้อ่านต่างเกิดความตื่นตัว และมีความต้องการที่จะบริโภคข่าวสารที่มากขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป

ดังนั้น สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี 

6 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับ ‘วันหมอฟัน’ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพช่องปากและบทบาทของทันตแพทย์

ทุกวันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับวัน ‘วันหมอฟัน’ หรือ ‘Dentist’s Day’ โดยจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึง สุขภาพช่องปากแก่ประชาชนทั่วไป 

อีกทั้งเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของสุขภาพช่องปากและสนับสนุนให้ผู้ที่ไม่เคยไปพบทันตแพทย์เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปาก

7 มีนาคม พ.ศ. 2563 สิ้น ‘คณากร เพียรชนะ’ ผู้ทวงคืน ‘ความยุติธรรม’ ให้กับ ‘กระบวนการยุติธรรม’ ด้วยปลายกระบอกปืน

‘คณากร เพียรชนะ’ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา เป็นที่รู้จักจากการกระทำ อัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ให้แก่กระบวนการยุติธรรม โดยความพยายามในการปลิดชีพตัวเองของเขานั้น เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 คณากร ยิงตัวเองจนบาดเจ็บสาหัส หลังพิพากษายกฟ้องคดียิงชาวบ้านใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิต 5 ราย ณ ห้องพิจารณา 4 ศาลจังหวัดยะลา

หลังจากนั้นได้มีการเปิดเผยจดหมายของ คณากร จำนวน 25 หน้า บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่สะท้อนถึงความยากลำบากในการทำงาน พร้อมลงท้ายด้วยถ้อยคำว่า “คำแถลงของผม อาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน” และ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรม ให้ประชาชน”

การเปิดเผยจดหมายสร้างความสนใจให้คนในสังคมไม่น้อย หากแต่ว่าความพยายามปลิดชีพ พร้อมจดหมายที่กล่าวถึงความอัดอั้นใจ ในการทำงานในครั้งนี้ ทำให้ คณากร ถูกตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 68 คือเป็นกรณีที่ถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย และมีมติให้นายคณากรไปช่วยทำงานชั่วคราวในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่

8 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับ ‘วันสตรีสากล’ 

ในวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันที่กรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงจากการถูกเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้าง ที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน โดยเริ่มต้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1857 โดยเกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ 

อีก 50 ปีต่อมา ในวันเดียวกัน 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาเรียกร้องสิทธิจากการถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างที่ต่ำ แต่ชั่วโมงการทำงานที่มากถึง 16 - 17 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด หรือประกัน เรื่องนี้ทำให้ "คลาร่า เซทคิน" นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรี ด้วยการนัดหยุดงานในวันนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องการปรับลดเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย และแม้ว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องในครั้งนี้ “ไม่สำเร็จ” แต่ "คลาร่า เซทคิน” เองก็ได้จุดประกายความคิดให้ผู้หญิงตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ในปีถัดมา 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 มีแรงงานหญิงกว่า 1.5 หมื่นคน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก พร้อมกับมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top