Friday, 25 April 2025
TodaySpecial

‘พินอคคิโอ’ ภาพยนตร์แอนิเมชันรางวัลออสการ์ ออกสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก

พินอคคิโอ (Pinocchio) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องที่สองของวอลท์ ดิสนีย์ โดยได้ออกฉายครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483 โดยฝีมือการกำกับโดย Ben Sharpsteen

ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องพินอคคิโอ เป็นเรื่องราวการผจญภัยของหุ่นไม้ที่มีชีวิต กับพ่อผู้ยากจนของเขา เจปเปตโต ซึ่งเป็นช่างไม้ โดนลักษณะเด่นของหุ่นไม้มีชีวิตพินอคคิโอ มีที่รู้จักกันดี คือ เมื่อใดที่พูดโกหก จมูกของเขาจะยาวขึ้น

โดยเนื้อเรื่องแต่เดิมนั้น กอลโลดี นักประพันธ์ชาวอิตาเลียนนั้นไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสำหรับเด็กตั้งแต่แรก เพราะในเนื้อเรื่องดั้งเดิม พินนอคคิโอ ปิดฉากลงด้วยการถูกแขวนคอตาย เนื่องจากทำความผิดนับครั้งไม่ถ้วน 

8 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ตรงกับ ‘วันขอแต่งงาน’ วันสำคัญวันหนึ่งของชาวอินเดีย

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นับว่าเป็นช่วงเดือนแห่งเทศกาล แน่นอนว่าเทศกาลแรกๆ ที่คนนึกถึงคงไม่พ้น ‘วันวาเลนไทน์’ วันแห่งความรักที่เราจะเห็นผู้คนมากมายแสดงความรักต่อกัน และเฉลิมฉลองกันอย่างแพร่หลายในทั่วโลก

แต่รู้หรือไม่ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์เอง ก็มีวันสำคัญเช่นเดียวกัน แถมยังเป็นวันที่คนต่างแสดงความรักให้กัน ไม่ต่างไปจากวันวาเลนไทน์อีกด้วย!!!

วันนี้ในอดีต มติสภาผู้แทนราษฎรได้เลือก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 โดยดำรงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 ถึงปีพ.ศ. 2549

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2537 ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เข้าสู่วงการเมืองสังกัดพรรคพลังธรรม โดยการชักนำของ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ต่อมาก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2541 หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก

นโยบายเด่น ได้แก่ การขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลดความยากจนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการประกาศสงครามยาเสพติด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท

‘ทักษิณ ชินวัตร’ ดำรงตำแหน่งสมัยแรกจนครบวาระสี่ปี ผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ทำให้ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ รัฐบาลทักษิณถูกกล่าวหาหลายอย่าง เช่น ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นเผด็จการรัฐสภา มีผลประโยชน์ทับซ้อน และควบคุมสื่อ ส่วนข้อกล่าวหาของตัวทักษิณเอง ก็มีว่าเลี่ยงภาษี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตลอดจนขายทรัพย์สินของบริษัทไทยให้นักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น

วันนี้เมื่อ 85 ปีที่แล้ว เป็นวันก่อตั้งสนามกีฬาแห่งชาติ หรือสนามศุภชลาศัย 

สนามศุภชลาศัย หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ แต่เดิมมีชื่อว่า กรีฑาสถานแห่งชาติ (The National Stadium of Thailand) กรีฑาสถานแห่งชาติมีต้นกำเนิดจากการแข่งขันกรีฑานักเรียน ซึ่งจัดขึ้นในสนามกีฬาของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ได้มีดำริในการจัดหาสถานที่ตั้งสนามกีฬากลางกรมพลศึกษา, โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง (คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และสโมสรสถานลูกเสือ (ที่ทำการคณะลูกเสือแห่งชาติ) จึงได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเช่าที่ดินขนาด 77 ไร่ 1 งาน

ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 มีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะเดียวกันก็ให้ย้ายการแข่งขันกรีฑานักเรียนไปจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงเป็นการชั่วคราว โดยในปีต่อมา กรมพลศึกษาจึงย้ายที่ทำการเข้ามาอยู่ภายในบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติ ซึ่งการใช้สนามกรีฑาสถานเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481 ซึ่งเปลี่ยนสถานที่จัดมาจากท้องสนามหลวง

วันนี้ในอดีต ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ นัดชุมนุมขับไล่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ลาออกจากตำแหน่ง

วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548 - 2549 เริ่มต้นจากการประท้วงขับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากข้อกล่าวหาการบริหารประเทศของรัฐบาลที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง และได้ขยายตัวเป็นวงกว้างยิ่งขึ้นเมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2548 โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้นำ และขยายตัวในวงกว้างไปยังบุคคลในหลายสาขาอาชีพในเวลาต่อมา

ในการรณรงค์ขับนี้ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ในกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีลาออกก็มีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นหลายๆ กลุ่ม ในเรื่องกระบวนการและประเด็นในการขับ ส่วนในกลุ่มที่สนับสนุน ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมไปถึงกลุ่มคาราวานคนจน และขบวนรถอีแต๋นเดินทางมาจากต่างจังหวัด ก็ได้รวมตัวชุมนุมเพื่อสนับสนุนให้นายทักษิณ ชินวัตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยปักหลักอยู่ที่สวนจตุจักร และตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย

12 กุมภาพันธ์ “วันดาร์วิน” เพื่อระลึกถึง ‘ชาร์ลส์ ดาร์วิน’ ผู้ปฏิวัติความคิดเรื่องจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิต จากความเชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นผู้สร้าง สู่ทฤษฎีการวิวัฒนาการสมัยใหม่

วันดาร์วินสากล (International Darwin Day) ตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยา ชาวอังกฤษ ผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิต และนำเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ รวมไปถึงหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

ผลงานหนังสือที่ตีพิมพ์ของชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นผลงานที่มีประโยชน์อย่างมาก ทั้งทางชีววิทยา และมานุษยวิทยา โดยเฉพาะทฤษฎีวิวัฒนาการ ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในวงการชีววิทยา สำหรับผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาก็คือ On the Origin of Species (กำเนิดสรรพชีวิต) ซึ่งได้รวมทฤษฎีของศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต และอธิบายถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต เปลี่ยนมุมมองความคิดเรื่องจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิต จากพระเจ้าเป็นผู้สร้าง มาสู่ทฤษฎีการวิวัฒนาการ

ต้นกำเนิดภาพยนตร์ โดยสองพี่น้อง ‘AUGUSTE & LOUISE LUMIERE’ ประดิษฐ์ ‘เครื่องฉายภาพยนตร์’ เครื่องแรกของโลก

พี่น้องตระกูลลูมิแอร์ "ออกุส" และ "หลุยส์" ชาวฝรั่งเศส (Auguste Lumiere-Louis Lumiere) ได้ออกแบบกล้อง "ซิเนมาโตกราฟ" (Cinematographe) ที่เป็นทั้งกล้องถ่ายและเครื่องฉายภาพยนตร์ได้ วันนั้นนับเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่ทดลองนำภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกได้จากกล้องซิเนมาโตกราฟ มาฉายเป็นหนังทดลองลงบนจอภาพขนาดใหญ่ได้สำเร็จ และทำให้ความหมายของคำว่าภาพยนตร์สมบูรณ์

โดย กล้อง "ซิเนมาโตกราฟ" (Cinematographe) ถูกดัดแปลงมาจากกล้อง "คีเนโตกราฟ" (Kinetograph) ที่ใช้ฟิล์มแผ่นพลาสติกเซลลูลอยด์ และเครื่องฉายภาพ "คีเนโตสโคป" (Kinetoscope) ที่เป็นตู้รับชมภาพยนตร์ด้วยวิธีการส่องดูทีละคน ในลักษณะการถ้ำมอง 

14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535  ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานนาม ‘สถาบันราชภัฏ’

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้ เป็นวันราชภัฏ เมื่อปี 2535 ในสมัยที่ ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้วิทยาลัยครูทั่วประเทศได้ขยายขอบเขตการจัดการศึกษา ซึ่งแต่เดิมมีลักษณะเป็นวิทยาลัยวิชาชีพเฉพาะทางให้สามารถจัดการศึกษาให้กว้างขวางขึ้น 

กรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ สรภ.) จึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานนาม วิทยาลัยครูใหม่ เพื่อเป็นสิริมงคลและเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานนามใหม่แก่วิทยาลัยครูทุกแห่งว่า “สถาบันราชภัฏ”

ต่อมาในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2538 ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญตราพระราชลัญจกรส่วนพระองค์ เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ เป็นสิ่งที่นำความภาคภูมิใจสูงสุดมาสู่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนาม “ราชภัฏ” และตราประจำมหาวิทยาลัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเกียรติยศสูงสุดแก่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วพระราชอาณาจักร โดยนาม “ราชภัฏ หมายความว่า เป็นคนของพระราชา”

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 อนุสรณ์เตือนใจ ‘ไทยมุง’ หลังเกิดเหตุ ‘รถขนแก๊ประเบิด’

ในช่วงเย็นของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ขบวนรถบรรทุก “แก๊ปไฟฟ้า” ประกอบด้วยรถสิบล้อ 1 คัน รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ 1 คัน มีรถตำรวจทางหลวงนำหน้า เดินทางจากภูเก็ตมุ่งหน้าไปสระบุรีโดยผ่านกรุงเทพฯ

การเดินทางดำเนินไปตามปกติ จนกระทั่งมาถึงบริเวณสามแยกตลาดทุ่งมะพร้าว หน้าสถานีอนามัยทุ่งมะพร้าว จังหวัดพังงา ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นโศกนาฏกรรมที่คนไทยจะต้องจดจำไปอีกนาน เพราะเมื่อถึงบริเวณทางโค้ง รถบรรทุกสิบล้อเกิดเสียหลักพลิกคว่ำ แก็ปไฟฟ้านับล้านแท่งซึ่งบรรจุในลังไม้ตกกระจายเกลื่อนเต็มถนนและสองข้างทาง

ชาวบ้านทุ่งมะพร้าวจำนวนกว่า 10 คน ที่เห็นเหตุการณ์ได้กรูเข้ามาเก็บแก็ปไฟฟ้า โดยไม่ยอมฟังคำห้ามปรามของตำรวจว่า ‘อาจเกิดระเบิด’ และได้กลายเป็นเหตุการณ์ชุลมุนในที่สุด

ซึ่งในระหว่างนั้นเอง ก็ยังมีรถที่สัญจรไปมา ต้องมาจอดติดรอให้ยกรถที่พลิกคว่ำขวางถนนออก ซึ่งมีทั้งรถบขส. บรรจุผู้โดยสารเต็มคันรถ รถสองแถว 4-5 คันและจักรยานยนต์อีกกว่า 50 คัน

ซึ่งเหตุการณ์ชุลมุนผ่านกว่าชั่วโมง ตำรวจยังคงควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ มีไทยมุงจำนวนหนึ่งนำเหล็กมางัดตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุแก๊ปไฟฟ้า ทันใดนั้นเองก็เกิดเสียงระเบิด สนั่นหวั่นไหวไปทั่วบริเวณ เปลวเพลิงลุกพรึ่บสลับกับเสียงระเบิดของแก๊ปไฟฟ้าที่ตกเกลื่อนกลาด

โดยรัศมีระเบิดกินพื้นที่ถึง 1 กม. บ้านเรือนโดยรอบ อาคารตึกปะทะกับแรงระเบิดจนพังยับเยิน อีกทั้งแรงระเบิดยังทำให้ถนนเป็นหลุมยักษ์ลึกถึง 4 เมตร ส่งผลให้การสัญจรถูกตัดขาด ซึ่งนอกจากบ้านเรือนที่เสียหายแล้ว แรงระเบิดยังทำให้ไทยมุงตายทันที 60 ศพ ด้วยอนุภาคของระเบิดที่ปะทะเข้าอย่างจังกับร่าง

แม้แต่รถบขส.ที่จอดติดอยู่พังยับ ผู้โดยสารตายคารถจำนวนมาก ไทยมุงที่เพลินกับการเก็บแก๊ปไฟฟ้าถูกแรงระเบิดไฟลุกท่วมตัวล้มตายอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ บางคนไฟลุกท่วมตัววิ่งหนีแต่ยังถือแก๊ปอยู่ในมือจึงเกิดระเบิดเป็นลูกโซ่ มือขาดแขนขาดล้มลงเสียชีวิต

‘วันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช’ วันสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 

สมเด็จพระนารายณ์ หรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โดยทรงขึ้นครองราชย์เมื่อแรม 2 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ. 2199 ในขณะที่มีพระชนมายุ 25 พรรษา ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงมีพระราชกรณียกิจที่ส่งเสริมให้กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านการค้าขาย ได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากยิ่งกว่าในรัชสมัยอื่นๆ ทรงปรับปรุงกรมพระคลังสินค้า โปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกำปั่นหลวง เพื่อทำการค้ากับต่างประเทศ จึงทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ

ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ผู้เป็นชาวกรีกได้ช่วยปรับปรุงงานของกรมพระคลังสินค้าอีก ทำให้การค้าขายกับต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองสูงสุด มีพ่อค้าชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่า “ในชมพูทวีปไม่มีเมืองใดที่จะแลกเปลี่ยนสินค้ามากเท่ากับในสยาม สินค้าขายได้ดีมากในสยามและการซื้อขายใช้เงินสด” 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top