Friday, 25 April 2025
TodaySpecial

28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 วันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าให้แก่ประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระนามเดิมว่า "สิน” (ชื่อจีนเรียกว่า "เซิ้นเซิ้นซิน) พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ชื่อ "นายไหฮอง” ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ “นางนกเอี้ยง” 

ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระธรรมราชาธิราชที่ 3) ซึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ขอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ต่อมาเมื่ออายุครบ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้น พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 3 เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช "สมเด็จพระบรมราชาที่ 3” (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) 

สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงานเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งปฏิบัติราชการได้รับความดีความชอบมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองตาก ช่วยราชการพระยาตากครั้นพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ทรงโปรดให้เลื่อนเป็น "พระยาตาก ปกครองเมืองตาก” พระราชกรณียกิจสำคัญของพระเจ้ากรุงธนบุรี

เมื่อปี 2540 รัฐบาลฮ่องกงสั่งกำจัดไก่บนเกาะนับล้านตัว!! เพื่อป้องกันการกระจายของโรคไข้หวัดนก ที่สามารถแพร่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้เป็นครั้งแรก

29 ธันวาคม พ.ศ. 2540 รัฐบาลฮ่องกง สั่งกำจัดไก่บนเกาะนับล้านตัวเพื่อป้องกันการกระจายของโรคไข้หวัดนก (avian flu หรือ bird flu-H5N1) ที่สามารถแพร่ติดต่อจากสัตว์ (สัตว์ปีกโดยเฉพาะไก่) ถึงคนได้เป็นครั้งแรกที่ฮ่องกง ทำให้มีผู้ติด 18 ราย เสียชีวิต 6 ราย 

อีก 6 ปีต่อมา เชื้อไข้หวัดนกชนิดเดียวกันได้กลับมาระบาดอีกครั้งที่ฮ่องกง และเริ่มระบาดไปทั่วเอเชียจนเกิดเป็นวิกฤตโรคไข้หวัดนก ทั้งนี้ เชื้อไวรัสไข้หวัดนกก็คือไข้หวัดใหญ่ชนิด A ถือเป็นเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรงที่สุด ค้นพบครั้งแรกในโลกที่อิตาลีเมื่อ 100 กว่าปีก่อน แต่เป็นการระบาดในหมู่สัตว์ปีก 

“วันเบกกิ้งโซดา” (Bicarbonate of Soda Day) เพื่อรำลึกถึงคุโณปการของเบกกิ้งโซดา ซึ่งเริ่มต้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา

วันเบกกิ้งโซดา ตรงกับวันที่ 30 ธันวาคม ของทุกปี เริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา เพื่อรำลึกถึงคุโณปการของเบกกิ้งโซดา ที่มีชื่อทางการค้าที่เรียกกันทั่วไปหลายชื่อด้วยกัน เช่น คุ๊กกิ้งโซดา (Cooking Soda), เบรดโซดา (Bread Soda), โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate), ไบคาร์บอเนตโซดา (Bicarbonate of Soda) เป็นต้น

นอกจากเบกกิ้งโซดาจะมีประโยชน์ในการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของขนมเบเกอรี่ประเภทต่างๆ แล้ว เบกกิ้งโซดา ก็ยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ด้วย เช่น

>> ทำความสะอาดและดับกลิ่นที่นอน
หลังใช้เครื่องดูดฝุ่นกำจัดเศษฝุ่นบนที่นอนแล้ว ให้นำเบกกิ้งโซดากับน้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่ชอบมาผสมกัน แล้วนำไปโรยบนที่นอน ใช้แปรงหัวอ่อนนุ่มขัดเบาๆ ทิ้งไว้ 10 นาที จากนั้นนำเครื่องดูดทำความสะอาดผงเบกกิ้งโซดาออกอีกครั้ง

>> ทำความสะอาดอุปกรณ์เสริมสวย
โดยการผสมน้ำอุ่น 1 กะละมังเล็กกับเบกกิ้งโซดา 1 ช้อนชาให้เข้ากัน จากนั้นนำอุปกรณ์เสริมสวยอย่างหวีหรือแปรงแต่งหน้าลงไปแช่ทิ้งไว้ เมื่อคราบน้ำมันและสิ่งสกปรกหลุดออก ให้นำออกมาล้างและเช็ดให้แห้งก็เรียบร้อยแล้ว

31 ธันวาคม 2492 ครบรอบวันเกิด ‘สืบ นาคะเสถียร’ ตำนานคนป่าไม้ รักษาผืนป่าไทยด้วยชีวิต!!

“สืบ นาคะเสถียร” เกิดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2492 ที่ จ.ปราจีนบุรี หลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี และโท จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เข้ารับราชการเป็น พนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ประจำอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี

ต่อมาในปี 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโท ในสาขาอนุรักษวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากบริติชเคาน์ซิล หลังสำเร็จการศึกษาในปี 2524 เขาก็ได้รับตำแหน่ง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ ก่อนขอย้ายไปเป็นนักวิชาการประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อทำงานด้านวิจัย และมีผลงานการวิจัยออกมาจำนวนมาก ที่เป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติจนถึงทุกวันนี้

โดยเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เขาเข้าใจว่า ลำพังการทำงานด้านวิจัยเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถรักษาผืนป่าและชีวิตสัตว์ป่าได้ ก็คือการที่สืบได้รับมอบหมายให้เป็น หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จ.สุราษฎร์ธานี สืบและคณะต้องช่วยกันอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่กว่าแสนไร่ โดยไม่ได้รับการอนุมัติอุปกรณ์ช่วยชีวิตสัตว์ป่า และมีงบประมาณเริ่มต้นเพียง 8 แสนบาทเท่านั้น แม้สืบและคณะสามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าไม่ให้ถูกน้ำท่วมได้กว่าพันตัว แต่สัตว์เหล่านั้นก็ต้องตายลงเป็นส่วนใหญ่หลังจากนั้นไม่นานนัก

2 มกราคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระชนม์ ด้วยพระอาการผิดปกติเกี่ยวกับพระนาภี (ท้อง)

‘ศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์’ เป็นพระธิดาพระองค์เดียวในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี (พี่สาว) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

‘สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์’ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา และอื่นๆ กับทั้งยังมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน ด้านการกีฬา และด้านการถ่ายภาพ

107 ปี พระราชพิธีก่อพระฤกษ์ ตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน

เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปัจจุบัน คืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์ โดยต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

โดย ‘ศิลาพระฤกษ์’ มีลักษณะเป็นกล่องศิลา ภายในมีกล่องโลหะอีกสองชั้น บรรจุสิ่งของ แบบอาคาร เอกสาร หนังสือพิมพ์ ที่เป็นเครื่องบ่งบอกยุคสมัยของเหตุการณ์ในวันสำคัญนั้น รวมถึง ‘หนังสือสำคัญอันเป็นเล่มสมุด’ จำนวน 15 เล่ม ที่สะท้อนถึงความสำคัญของการอ่าน การเขียน และการเรียนรู้ ในช่วงแรกแห่งการอุดมศึกษาในสยาม หนังสือเหล่านี้ให้ความรู้ในหลากหลายสาขา ทั้งการศึกษา การปกครอง การบริหารรัฐกิจ โบราณคดี วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ตลอดจนข่าวสารบ้านเมืองเมื่อร้อยกว่าปีล่วงแล้ว

18 ปี ไฟใต้ปะทุ จากเหตุ ‘ปล้นปืน’ ที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส

เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ค่ายปิเหล็ง" ในตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง โดยเหตุการณ์ครั้งนี้นับได้ว่าเป็นจุดปะทุของความรุนแรงในสถานการณ์ไฟใต้ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้มีทหารเสียชีวิต 4 นาย ทางด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า คนร้ายได้อาวุธปืนไปทั้งสิ้น 413 กระบอก ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ยึดคืนมาได้ 94 กระบอก

ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดี ป.วิอาญา ร่วมกันบุกปล้นปืน โดยมีจำนวน 11 คน ถูกจับได้ 2 คน คือ นายมะซูกี เซ้ง และนายซาอีซูน อับดุลรอฮะ พร้อมอาวุธปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ถูกนำไปใช้ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2555

โดยในระหว่างปี 2547 - 2554 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบนี้กว่า 4,500 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 9,000 คน นับเป็นความขัดแย้งที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2554 สถานการณ์กลายเป็นการคุมเชิงระดับต่ำ ส่วนใหญ่ลักษณะการก่อเหตุเป็นการประกบยิง แต่มีเหตุระเบิดแสวงเครื่อง เฉลี่ย 12 ครั้งต่อเดือน มีเหตุการณ์ความรุนแรงกว่า 11,000 ครั้ง และการวางระเบิดกว่า 2,000 ครั้ง

เหตุการณ์เมื่อ 81 ปีที่แล้ว “กรณีพิพาทอินโดจีน” ประเทศไทยประกาศสงครามกับฝรั่งเศส ทวงผืนแผ่นดินคืนจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ครั้งสยามเสียดินแดน

เหตุการณ์ในครั้งนี้ เริ่มต้นจากกระแสชาตินิยมอย่างหนัก จนถึงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 คณะนิสิตนักศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมทั้งประชาชน ร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาล ทวงเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ที่ถูกยึดไปในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 อาทิ เสียมราฐ พระตะบอง จำปาศักดิ์

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสมัยนั้น ส่งกำลังทหารบุกข้ามพรมแดน เข้าไปยึดดินแดนดังกล่าวคืนทันที ท่ามกลางกระแสชาตินิยมอย่างหนัก เพลงปลุกใจในเวลานั้น ได้ถูกเปิดอย่างต่อเนื่อง เช่น เพลงข้ามโขง เพลงดอกฟ้าจำปาศักดิ์ เพลงเสียมราฐ เป็นต้น

>> จุดเริ่มต้นแห่งสงครามอินโดจีน “สงครามฝรั่งเศส-ไทย” หลังจากฝรั่งเศสแพ้ต่อนาซีเยอรมนีปี 2483 พลตรีแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น ตัดสินใจว่าความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส ทำให้ประเทศไทยได้โอกาสทวงดินแดนที่เคยเสียไป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คืนมาจากการปกครองอาณานิคมของอินโดจีนฝรั่งเศส ทั้งฝรั่งเศสวีซีถูกตัดขาดความช่วยเหลือ และกำลังบำรุงจากภายนอก หลังจากญี่ปุ่นบุกยึดครองอินโดจีนเมื่อ กันยายน พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสถูกบีบให้อนุญาตให้ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพ

รัฐบาล พลตรีแปลก พิบูลสงคราม เชื่อว่าฝรั่งเศสวีซี คงไม่สามารถต้านทานการเผชิญหน้าอย่างจริงจังกับไทยได้ รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ให้ถือเอาแม่น้ำโขงเป็นเส้นพรมแดน และให้ฝรั่งเศสรับรองว่าถ้าฝรั่งเศสไม่สามารถปกป้องดินแดนอาณานิคมได้ ก็ให้คืนดินแดนทั้งลาวและกัมพูชาแก่ประเทศไทย ซึ่งประเทศไทย หรือสยาม เสียให้แก่ฝรั่งเศสในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ฝรั่งเศสกลับไม่ยินยอม พร้อมส่งเครื่องบินรบล่วงล้ำอธิปไตยเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เป็นเหตุให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ

กองทัพไทยจึงทำการตอบโต้ โดยส่งกำลังทหาร และยุทโธปกรณ์จากทั้งกองทัพบก และกองทัพอากาศ บุกเข้าไปในอินโดจีนทางลาว และกัมพูชา กองทัพอากาศของประเทศไทย ได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีใส่ฐานที่มั่น ของอินโดจีนฝรั่งเศส ของฝรั่งเศสวีซีไปเรื่อยๆ ส่วนกองทัพเรือไทย ส่งกองเรือรบออกไปสกัดกั้น กองเรือฝรั่งเศส ที่ล่วงล้ำอ่าวไทยเข้ามา จนเกิดการปะทะกันที่เกาะช้าง เกิดยุทธนาวี ที่กล่าวขานกันจนถึงปัจจุบัน คือ “ยุทธนาวีเกาะช้าง”

‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล’ รัชกาลที่ 8 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี

โรงพยาบาลอานันทมหิดล กรมแพทย์ทหารบก ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกองทัพบกไทย ให้บริการทั้งข้าราชการทหารและพลเรือนรวมถึงประชาชนทั่วไป และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สามรองจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี

โรงพยาบาลอานันทมหิดล เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2480 และแล้วเสร็จในปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ มากระทำพิธีเปิดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันเปิดค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

7 มกราคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (วังหน้า)

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย เป็นพระราชบุตรลำดับที่ 50 หรือ พระราชกุมารพระองค์ที่ 27 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 3 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระองค์พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่พระมงกุฎ วชิรญาณะ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกาลต่อมา) จึงมอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แต่พระมงกุฎยังไม่ลาผนวชและตรัสว่าต้องอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่สามารถควบคุมกำลังทหารเป็นอันมากได้ จึงมีพระชะตาแรงและต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ 

ดังนั้น จึงได้มีการเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นทรงราชสมบัติที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม และทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

"พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์มหิศเรศรังสรรค์ มหันตรวรเดชโชไชย มโหฬารคุณอดุลย สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทร สูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทร บวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวร มหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตนไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทรโรดมกิจโกศล สัตปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชยอุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"

หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ จนกระทั่งประชวรด้วยวัณโรคและเสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 สิริพระชนมพรรษา 58 พรรษา ทรงอยู่ในบวรราชสมบัติทั้งสิ้น 15 ปี
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top