Friday, 25 April 2025
TodaySpecial

“วันนักศึกษาวิชาทหาร” รำลึกถึง 'ยุวชนทหาร' วีรกรรมเยาวชนไทยที่หาญกล้าต้าน 'กองทัพญี่ปุ่น'

วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ ของเหล่ายุวชนทหาร ที่หลายคนยังคงไม่ลืม ความเสียสละ รักชาติ การร่วมมือกับทหาร และตำรวจเพื่อต่อต้านการรุกราน จากกองทัพญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งวีรกรรมของยุวชนทหาร ที่ทุกคนจดจำได้เป็นอย่างดี และไม่มีวันลืมคือ วีรกรรมการรบ ที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร ซึ่งต่อมาได้มีการนำเหตุการณ์ดังกล่าว ไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ" ในพ.ศ. 2543

ปัจจุบันรัฐบาล ได้กำหนดให้ ทุกวันที่ "8 ธ.ค. เป็น วันนักศึกษาวิชาทหาร" ซึ่งได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ยุวชนทหาร เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร สำหรับเหตุการณ์การสู้รบ ที่ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ อันน่าจดจำของชนชาวไทย ในการต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศ จากการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นอันเกรียงไกร ที่ได้ถาโถมเข้าประเทศไทย ทางหัวเมืองชายทะเล

ลูกหลานไทย ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปจนถึงปัตตานี ต่างจับอาวุธเข้าต่อตีญี่ปุ่นอย่างดุเดือด สามารถหยุดกองทัพญี่ปุ่นไว้กับที่ได้ จนรัฐบาลอนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปทำศึกในพม่าและมลายู การรบจึงยุติลง ซึ่งที่จังหวัดชุมพรนั้น มีการสู้รบอย่างหนักหน่วงที่สะพานท่านางสังข์ และที่วัดท่ายางใต้ ซึ่งอยู่ในตำบลท่ายาง อำเภอเมืองชุมพร เด็กนักเรียนโรงเรียนศรียาภัยจำนวน 8 คนประกอบด้วย มารุต, ประยุทธ, บรรจง, สนั่น, สังวาน, สังเวียน, ประชุม และวัฒนา ทั้งหมดเป็นเด็กหนุ่มในวัยที่เต็มไปด้วยความฝัน และจินตนาการ แต่แล้วสงครามทำให้เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ ต่างพร้อมใจกันอาสาสมัครที่จะไปตายเพื่อชาติ
 

9 ธันวาคม ของทุกปี ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล’ วันแห่งความตระหนักและร่วมกันต่อต้านการทุจริต

วันต่อต้านการทุจริตสากล หรือ วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 (United Nations Convention against Corruption-UNCAC, 2003) อย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2546 

จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก UN 191 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญา ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ด้วยเหตุนี้ UN จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็น 'วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล'

‘วันรัฐธรรมนูญ’ เพื่อระลึกถึงโอกาสที่ ‘พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ อันแสดงให้เห็นถึงความขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 ซึ่งจัดร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในระหว่าง พ.ศ. 2557-2560 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทยเชิงการเมืองการปกครอง เมื่อคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการสายทหารบก ทหารเรือ และสายพลเรือน จำนวน 99 คน โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

รำลึก 23 ปี "เจมส์ เรืองศักดิ์" รอดปาฏิหาริย์เครื่องบินตก โศกนาฏกรรมสายการบินไทย เหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืม!!

โศกนาฏกรรมเครื่องบินสายการบินไทย นำผู้โดยสารบินจากกรุงเทพฯ ไปยัง จ.สุราษฎร์ธานี ตกกระแทกพื้น มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เหตุเกิดวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2541

เที่ยวบินดังกล่าวมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 146 คน ออกจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เวลา 11.40 น. ตามเวลามาตรฐาน เมื่อเครื่องบินเริ่มลดระดับลงสู่ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี สภาพอากาศที่ฝนตกหนักเนื่องจากพายุดีเปรสชั่นจิล ทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี นักบินพยายามนำเครื่องลงจอดถึง 2 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ในครั้งที่ 3 เครื่องยนต์เกิดชะงัก ทำให้เครื่องบินตกกระแทกพื้น เครื่องเสียหลัก หางเครื่องฟาดหอบังคับการบินบางส่วน เครื่องเสียการทรงตัวพุ่งตกลงไปในป่ายาง ห่างออกไป 2 ไมล์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของท่าอากาศยาน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 101 ราย และได้รับบาดเจ็บ 45 คน

วันนี้เมื่อ 62 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ 'กีฬาซีเกมส์' ครั้งแรกของโลก!

ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 3 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2501 องค์กรการกีฬาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ได้ร่วมประชุมเพื่อก่อตั้งองค์กรการกีฬาในระดับภูมิภาค เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อสนับสนุนความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

โดยองค์กรดังกล่าวใช้ชื่อว่า สหพันธ์กีฬาแหลมทอง (SEAP Games Federation) มีประเทศสมาชิกประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา ร่วมกันจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง หรือ SEAP Games (Southeast Asian Peninsular Games) โดยมีกำหนดจัดการแข่งขันขึ้นทุก ๆ 2 ปี 

โดยการแข่งขันครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 12-17 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ซึ่งในขณะนั้นมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า, ลาว, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย (สิงคโปร์มาเข้าร่วมทีหลัง ส่วนกัมพูชาไม่ได้ร่วมแข่งขัน)

กีฬาแหลมทองครั้งแรกมีการแข่งขันทั้งหมด 12 ประเภท คือ กรีฑา, แบดมินตัน, บาสเกตบอล, มวย, จักรยาน, ฟุตบอล, เทนนิส, ยิงปืน, ว่ายน้ำ, ปิงปอง, วอลเลย์บอล และยกน้ำหนัก ประเทศที่ได้เหรียญรางวัลมากที่สุดคือ ประเทศไทย รองลงมาคือ เมียนมา และมาเลเซีย ตามลำดับ
 

30 ปี ‘อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา' ได้รับการยกย่อง เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จาก ‘ยูเนสโก’

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ 1,810 ไร่ โดยตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน 

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ 3,000 ไร่ โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือ ตามถนนสายเอเชีย ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ในนามนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

ประวัติความเป็นมาเริ่มจากพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใน พ.ศ. 1893 และได้ถูกพม่าทำลายลงในพุทธศตวรรษที่ 23 แม้จะถูกทำลายลงก็ยังคงมีร่องรอยความยิ่งใหญ่และความเจริญรุ่งเรืองของเมืองดังที่ปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน 

ต่อมาครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี ได้มีการรื้ออิฐจากสถาปัตยกรรมในกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปก่อสร้างกรุงเทพมหานคร ทำให้โบราณสถานต่าง ๆ ถูกทำลายและทิ้งร้างไป จนกระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อนุรักษ์และฟื้นฟูโบราณสถานในกรุงศรีอยุธยาขึ้นอีกครั้ง

14 ธันวาคม ค.ศ. 1701 ‘วันแห่งการแก้แค้น ของ 47 โรนิน’

‘การแก้แค้นของ 47 โรนิน’ บางครั้งอาจเรียกว่า 'การแก้แค้นของ 47 ซามูไร' หรือ ‘เหตุการณ์เก็นโรกุอาโก’ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเอโดะในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ชื่อ ไอแซก ทิทซิงก์ กล่าวว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในวิถีบูชิโด 

เรื่องราวกล่าวถึงกลุ่มนักรบซามูไรจำนวน 47 คนในสังกัดของไดเมียวอาซาโนะ นางาโนริ ซึ่งถูกบังคับให้กระทำเซ็ปปูกุ (การฆ่าตัวตายโดยการคว้านท้อง) เมื่อปี ค.ศ. 1701 หลังจากบันดาลโทสะ ใช้ดาบทำร้ายคิระ โยชินากะ ข้าหลวงผู้มีอิทธิพลของโชกุนโทกูงาวะ สึนาโยชิ ที่ปราสาทมัตสึโอะโอโรกะ 

‘วันชาสากล’ วันที่เกษตรกรผู้ปลูกชา ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการค้าชา และเป็นวันแห่งเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก!! 

วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันชาสากล” (International Tea Day) ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยจุดเริ่มต้นของวันชาสากลมาจากเกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ หลายกลุ่มในเบงกอลตะวันตกและหลายรัฐทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิและความชอบธรรมในการค้าชาของตนเอง

ในช่วงนั้นแม้ชาจะเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ แต่อุตสาหกรรมค้าชาในประเทศอินเดียกลับมีความอ่อนแอและบริหารจัดการได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ ในหลายพื้นที่ได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการปลูก ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตดีขึ้น ได้ผลิตผลเพิ่มมากขึ้น และชาที่ได้ก็มีคุณภาพดี

แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรเหล่านี้กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้าขาย พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดราคา จนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง จนกระทั่งองค์กรเพื่อการสื่อสารและการศึกษาของประเทศอินเดีย (CEC-Centre for Communication and Education) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสิทธิของเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พวกเขาได้ร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติเข้ามาพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ค้าชากลุ่มย่อย ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรมในการค้าชาและทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น

‘วันกีฬาแห่งชาติ’ 16 ธันวาคม เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” รัชกาลที่ 9

"การแล่นใบ สอนให้คนคิดเองทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปเล่นเรือใบแล้วเรือไม่วิ่ง จะไม่มีใครมาคอยสอน เราต้องคิดเอง ทำเอง ว่าลมมาทางไหน ลมแรงขนาดนี้ เราสู้ไหวไหม ถ้าไหวเราก็สู้ แต่ถ้าไม่ไหวแล้วเรายังสู้ เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบาเราจะต้องทำอย่างไรเรือจึงจะวิ่ง แล้วถ้าไม่มีลมเราจะทำอย่างไร เราก็ควรจะนั่งรอสักครู่ให้ลมมา ถ้าเราเล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้แล้วนำมาใช้ในชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้ ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต เด็กไทยจะรู้จักและเข้าใจในการคิดเอง ทำเอง" พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว " ในหลวงรัชกาลที่ 9"  

"เรือใบ" เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ทรงโปรดปราน เช่นเดียวกับ แบดมินตัน, เทนนิส และยิงปืน "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ทรงต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และทรงนำไปแข่งขันในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นซีเกมส์) 

พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการแล่นเรือ ที่ต้องใช้ลมในการบังคับทิศทางจนได้รับชัยชนะในการแข่งขันเรือใบประเภท OK เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ทรงครองเหรียญทอง ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้รับการบันทึกให้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในทวีปเอเชีย ที่ได้ครองรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน เป็นที่ยอมรับในวงการกีฬาเรือใบระดับโลก 

วันพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์” โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ‘พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด พระราชทานเลี้ยงอาหารเย็น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส. 

พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ "เกษตรศาสตร์" ให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขึ้นในวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างหาที่สุดมิได้ 

สำหรับเพลงพระราชนิพนธ์ "เกษตรศาสตร์" นี้ ในเวลานั้นมีเพียงทำนองยังไม่มีเนื้อร้อง จึงเรียกว่า เพลง K.U. Song ภายหลัง ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้เป็นผู้แต่งเนื้อร้องให้ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน


ที่มา : http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p9007.html


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top