เหตุการณ์เมื่อ 81 ปีที่แล้ว “กรณีพิพาทอินโดจีน” ประเทศไทยประกาศสงครามกับฝรั่งเศส ทวงผืนแผ่นดินคืนจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ครั้งสยามเสียดินแดน

เหตุการณ์ในครั้งนี้ เริ่มต้นจากกระแสชาตินิยมอย่างหนัก จนถึงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 คณะนิสิตนักศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมทั้งประชาชน ร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาล ทวงเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ที่ถูกยึดไปในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 อาทิ เสียมราฐ พระตะบอง จำปาศักดิ์

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสมัยนั้น ส่งกำลังทหารบุกข้ามพรมแดน เข้าไปยึดดินแดนดังกล่าวคืนทันที ท่ามกลางกระแสชาตินิยมอย่างหนัก เพลงปลุกใจในเวลานั้น ได้ถูกเปิดอย่างต่อเนื่อง เช่น เพลงข้ามโขง เพลงดอกฟ้าจำปาศักดิ์ เพลงเสียมราฐ เป็นต้น

>> จุดเริ่มต้นแห่งสงครามอินโดจีน “สงครามฝรั่งเศส-ไทย” หลังจากฝรั่งเศสแพ้ต่อนาซีเยอรมนีปี 2483 พลตรีแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น ตัดสินใจว่าความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส ทำให้ประเทศไทยได้โอกาสทวงดินแดนที่เคยเสียไป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คืนมาจากการปกครองอาณานิคมของอินโดจีนฝรั่งเศส ทั้งฝรั่งเศสวีซีถูกตัดขาดความช่วยเหลือ และกำลังบำรุงจากภายนอก หลังจากญี่ปุ่นบุกยึดครองอินโดจีนเมื่อ กันยายน พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสถูกบีบให้อนุญาตให้ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพ

รัฐบาล พลตรีแปลก พิบูลสงคราม เชื่อว่าฝรั่งเศสวีซี คงไม่สามารถต้านทานการเผชิญหน้าอย่างจริงจังกับไทยได้ รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ให้ถือเอาแม่น้ำโขงเป็นเส้นพรมแดน และให้ฝรั่งเศสรับรองว่าถ้าฝรั่งเศสไม่สามารถปกป้องดินแดนอาณานิคมได้ ก็ให้คืนดินแดนทั้งลาวและกัมพูชาแก่ประเทศไทย ซึ่งประเทศไทย หรือสยาม เสียให้แก่ฝรั่งเศสในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ฝรั่งเศสกลับไม่ยินยอม พร้อมส่งเครื่องบินรบล่วงล้ำอธิปไตยเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เป็นเหตุให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ

กองทัพไทยจึงทำการตอบโต้ โดยส่งกำลังทหาร และยุทโธปกรณ์จากทั้งกองทัพบก และกองทัพอากาศ บุกเข้าไปในอินโดจีนทางลาว และกัมพูชา กองทัพอากาศของประเทศไทย ได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีใส่ฐานที่มั่น ของอินโดจีนฝรั่งเศส ของฝรั่งเศสวีซีไปเรื่อยๆ ส่วนกองทัพเรือไทย ส่งกองเรือรบออกไปสกัดกั้น กองเรือฝรั่งเศส ที่ล่วงล้ำอ่าวไทยเข้ามา จนเกิดการปะทะกันที่เกาะช้าง เกิดยุทธนาวี ที่กล่าวขานกันจนถึงปัจจุบัน คือ “ยุทธนาวีเกาะช้าง”

สงครามอินโดจีน “สงครามฝรั่งเศส-ไทย” ดำเนินการสู้รบมาจนถึง 28 มกราคม พ.ศ. 2484 ทางญี่ปุ่นเกรงว่าการสู้รบครั้งนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อญี่ปุ่นเอง จึงเข้าไกล่เกลี่ยจนทั้งสองฝ่ายจำต้องยินยอม และในที่สุดผลการไกล่เกลี่ย ประเทศไทยได้ดินแดนที่เป็นข้อพิพาทกลับคืนมา

หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน “สงครามฝรั่งเศส-ไทย” โดยญี่ปุ่นเป็นตัวกลางเจรจา ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส และได้ลงนามใน อนุสัญญาสันติภาพ ที่กรุงโตเกียว เมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ทำให้ประเทศไทย ได้ดินแดนพิพาทคืนมาอยู่ในการปกครอง

โดยจัดตั้ง 4 จังหวัดขึ้นใหม่คือ จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ จังหวัดลานช้าง จังหวัดพิบูลสงครามและจังหวัดพระตะบอง รวมพื้นที่ดินแดนที่ได้คืนมากว่า 24,000 ตารางกิโลเมตร 4 จังหวัดดังกล่าวประเทศไทยได้ทำการปกครองเรื่อยมา จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ปี 2488 กับจำต้องคืนดินแดนทั้ง 4 จังหวัดเหล่านี้ให้กับฝรั่งเศส หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

การสู้รบสงครามฝรั่งเศส-ไทย ครั้งนี้ถูกเรียกว่า กรณีพิพาทอินโดจีน หรือ สงครามอินโดจีน โดยได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ ดังกล่าวในครั้งนี้คือ อนุสาวรีย์ “ชัยสมรภูมิ” นั่นเอง

>> การสูญเสีย ประเทศไทยสูญเสียทหารเสียชีวิต 160 นาย บาดเจ็บ 307 นาย ตกเป็นเชลย 21 นาย เสียอากาศยาน 8-13 ลำ สูญเสียเรือรบ 1 ลำ และเสียหายอีก 2 ลำ ส่วนทางฝรั่งเศสสูญเสียทหารเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ 321 นาย สูญหาย 178 นาย ตกเป็นเชลย 222 นาย เสียอากาศยาน 22 ลำ


ที่มา : https://www.77kaoded.com/news/chairat/1173920


ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
YouTube > https://www.youtube.com/c/THESTATESTIMES