Saturday, 26 April 2025
TodaySpecial

26 มกราคม พ.ศ. 2366 ครบรอบ 201 ปี การจากไปของ ‘เอดเวิร์ด เจนเนอร์’ ผู้คิดค้น ‘วัคซีนโรคฝีดาษ’ ชนิดแรกของโลก

ย้อนกลับไป 201 ปี ‘เอดเวิร์ด เจนเนอร์’ เผชิญกับการตกเลือดในสมอง ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2366 ทำให้ส่วนขวาของร่างกายเป็นอัมพาต ส่งผลให้เขาไม่ได้ฟื้นตัวและเสียชีวิตในวันถัดมาด้วยอาการสโตรกที่ชัดเจนครั้งที่สองในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2366 โดยมีอายุ 73 ปี ซึ่งศพของเขาได้รับการฝังที่ห้องสุสานครอบครัวที่โบสถ์นักบุญแมรี บาร์กลีย์

โดย เอดเวิร์ด เจนเนอร์ เป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดวัคซีนและผลิตวัคซีนโรคฝีดาษ วัคซีนชนิดแรกของโลก ทั้งนี้ คำว่า ‘วัคซีน’ และ ‘การให้วัคซีน’ มาจากคำว่า Variolae vaccinae (ตุ่มหนองของวัว) ซึ่งเป็นคำที่เจนเนอร์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเรียก ’ฝีดาษวัว‘ ใน พ.ศ. 2341 โดยเขาใช้ศัพท์นี้ในหัวข้อ Inquiry into the Variolae vaccinae known as the Cow Pox เพื่อกล่าวถึงผลการป้องกันโรคฝีดาษจากฝีดาษวัว

ทั้งนี้ ในโลกตะวันตก เจนเนอร์ มักได้รับการกล่าวถึงเป็น ‘บิดาแห่งวิทยาภูมิคุ้มกัน’ และกล่าวกันว่าผลงานของเขาได้ช่วยเหลือ ’หลายชีวิตมากกว่าผู้ใด‘ ซึ่งในสมัยของเจนเนอร์ ประชากรโลกประมาณ 10% เสียชีวิตจากโรคนี้ โดยในเมืองและนครที่โรคแพร่กระจายได้ง่าย ตัวเลขพุ่งสูงถึง 20% ใน พ.ศ. 2364 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 และได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีบาร์กลีย์ เป็นสมาชิกราชสมาคม ในด้านสัตววิทยา และเป็นหนึ่งในนักวิชาการสมัยใหม่กลุ่มแรกที่กล่าวถึงภาวะกาฝากของนกคัคคูอีกด้วย

27 มกราคม ของทุกปี วันรำลึกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล ‘กองทัพแดง’ ปลดปล่อยเชลยศึกจากค่ายนาซี

เหตุการณ์ฮอโลคอสต์ ถือเป็นความทรงจำที่เลวร้ายที่สุดของชาวยุโรป นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดจากความเกลียดชังในใจมนุษย์จนนำไปสู่การทำลายล้าง และเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่กระตุ้นให้เรารู้จักยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่น

คำว่า ‘ฮอโลคอสต์’ ในความหมายของนักประวัติศาสตร์มักใช้อ้างถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปราว 6 ล้านคน โดยพรรคนาซีเยอรมันช่วงปี 1941-1945 ซึ่งเหตุการณ์นี้นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สุดของโลก เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายที่สุด มีการวางแผนสังหารหมู่อย่างเป็นระบบโดยการสนับสนุนของรัฐบาล และมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ทั้งนี้ วันที่ 27 มกราคมของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็นวันรำลึกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล หรือ International Holocaust Remembrance Day เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตปลดปล่อยเชลยศึกนาซีในค่าย Auschwitz-Birkenau ค่ายกักกันและค่ายมรณะของนาซีที่ใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1945

28 มกราคม พ.ศ. 2551 ‘สมัคร สุนทรเวช’ ได้คะแนนเสียงจาก สส. ให้ดำรงตำแหน่ง ‘นายกฯ คนที่ 25’ ของไทย

‘สมัคร สุนทรเวช’ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน พรรคที่พัฒนามาจากพรรคไทยรักไทยในอดีตที่ถูกยุบพรรคไปเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และทำให้นายสมัครได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังจากเหตุการณ์การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ทั้งนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีมีขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 ครั้งนั้นมีเรื่องสำคัญที่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์หยิบขึ้นมาพูดคุยกัน 2 ประเด็น คือ 1.) การเสนอให้ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ และ 2.) การเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากผลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะได้คะแนนเสียงเกือบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงไม่ห่างกันมาก ที่สำคัญคือภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สส.ของแต่ละพรรคไม่จำเป็นต้องทำตามญัตติพรรค สส.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้อิสระตามความคิดของแต่ละคน ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาแข่งกับ นายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน

ซึ่งในการเลือกนายกรัฐมนตรี ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ มีการลุกขึ้นชี้แจงของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ส่วนฝ่ายพรรคพลังประชาชนไม่ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ จึงเสียเวลาประชุมหาข้อสรุปกันในเรื่องนี้

ทั้ง 2 ฝ่ายต่างชิงไหวพริบกันในที่ประชุม โดยหลังจากนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สส.พรรคพลังประชาชน (แบบสัดส่วน) เสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจึงมีการประชุมเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ โดยนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ (แบบสัดส่วน) มีความเห็นว่า “เพราะนายกเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ วิสัยทัศน์การบริหารประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการจัดสรรบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ผมคิดว่าจะต้องเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถและที่สำคัญคือความซื่อสัตย์”

ขณะที่นายสุขุมพงศ์ โง่นคํา สส.พรรคพลังประชาชน (แบบสัดส่วน) จากกาฬสินธุ์ เห็นแย้งว่า “ในการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผลก็ออกมาแล้วว่าพรรคพลังประชาชนชนะได้เสียงข้างมาก 233 เสียง นั้นก็แสดงถึงเจตนาของประชาชนแล้วที่เปล่งเสียงออกมาว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะระหว่างที่มีการรณรงค์หาเสียงนั้นมีการแสดงวิสัยทัศน์กัน 45 วัน ทั้งกลางวันและทั้งกลางคืน ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้รับทราบรู้ดีกันมาโดยตลอดถึงคุณสมบัติถึงวิสัยทัศน์ถึงนโยบายในการที่จะบริหารราชการแผ่นดิน”

เมื่ออภิปรายกันเป็นเวลาหลายชั่วโมงแล้วจึงมีมติให้เลิกประชุมเรื่องอภิปรายการแสดงวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน แล้วให้มาเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน เพราะเป้าหมายการประชุมในวันนี้คือการเลือกนายกรัฐมนตรี มิใช่การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี และผลปรากฏว่านายสมัครชนะนายอภิสิทธิ์ ด้วยคะแนนเสียง 310 ต่อ 163, งดออกเสียง 3, ไม่อยู่ในที่ประชุม 1 ดังนั้นนายสมัครจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย

29 มกราคม พ.ศ. 2546 เกิดจลาจลเผา ‘สถานทูตไทย’ ในกรุงพนมเปญ ผลพวงจากการยุยงปลุกปั่นให้เกลียดชังไทย

วันนี้เมื่อ 21 ปีก่อน เกิดเหตุจลาจลเผาสถานทูตไทย ในกรุงพนมเปญของกัมพูชา หลังหนังสือพิมพ์ ‘รัศมี อังกอร์’ (Rasmei Angkor) ตีพิมพ์บทความปลุกปั่นให้คนคลั่งเกลียดชังไทย

เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546 เกิดเหตุจลาจลในกรุงพนมเปญ ของกัมพูชา ที่ชาวไทยยังจำได้ไม่ลืม โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากข่าวแปลกๆ ออกมาว่า เขมรจะทวงคืนปราสาทตาเมือนธมและสต๊กก๊กธม ในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 และบูรณะมาตลอด

กล่าวกันว่าเป็นการปล่อยข่าวจากพรรคฝ่ายค้านของนายสม รังสี ซึ่งต้องการสร้างกระแสชาตินิยมเป็นคะแนนให้พรรคสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนกรกฎาคมนั้น ข่าวนี้ทำคะแนนให้พรรคที่เป็นเจ้าของความคิดพอสมควร พรรคการเมืองคู่แข่งจึงต้องหาทางสร้างกระแสทำคะแนนบ้าง

ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2456 ก็มีข่าวในหนังสือพิมพ์ ‘รัศมีอังกอร์’ ลงข่าวว่าดาราสาวไทย ‘กบ สุวนันท์ คงยิ่ง’ ให้สัมภาษณ์ในทีวีช่องหนึ่ง ตอบผู้สัมภาษณ์ที่ถามว่าเธอเกลียดอะไรมากที่สุดในโลก กบ สุวนันท์ บอกว่า เกลียดคนเขมรเหมือนเกลียดหมา เพราะชาวเขมรขโมยนครวัดไปจากไทย เมื่อถามว่าเธอจะเดินทางไปกัมพูชาหรือเล่นละครที่กัมพูชาเป็นผู้สร้างหรือไม่ ดาราสาวไทยก็บอกว่าจะเล่นก็ต่อเมื่อเขมรยอมคืนนครวัดให้แก่ไทย

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์รัศมีอังกอร์ เป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆ มีคนอ่านไม่เท่าไหร่ ข่าวนี้เลยจุดไม่ติด ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม หนังสือพิมพ์ ‘เกาะสันติภาพ เดลี่’ ซึ่งเป็นหนังสือขายดีของเขมร ก็เลยต้องถ่ายทอดจากรัศมีอังกอร์ ไปกระพือต่อ ทีนี้เลยได้ผล อีกทั้ง ยังมีหนังสือพิมพ์กัมพูชารับลูกเสนอเป็นข่าวใหญ่ต่อมาว่า นักศึกษา 3 มหาวิทยาลัยในกรุงพนมเปญ รวมทั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ประณามดาราสาวไทย รับกับการเสนอข่าวกุของหนังสือพิมพ์ โดยไม่ได้วินิจฉัยความเป็นไปได้ของข่าว

เป็นที่รู้กันว่า กบ สุวนันท์ เป็นดาราสาวไทยที่ได้รับความนิยมจากคนเขมรอย่างคลั่งไคล้ และระดับการศึกษาของเธอก็ขั้นปริญญา คงไม่ปัญญาอ่อนไปด่าคนเขมรที่นิยมในตัวเธออย่างท่วมท้นแบบนั้น ตรงกันข้ามเธอจะต้องรักคนเขมรอย่างมากด้วยที่นิยมในตัวเธอ สนับสนุนความเป็นดาราของเธอ ซึ่ง กบ สุวนันท์ ได้แถลงทั้งน้ำตาว่า เธอไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับคนเขมรแบบนั้นเลย ทั้งยังอยากไปชมนครวัดสักครั้งด้วย ถ้าหากเธอพูดก็น่าจะบอกให้ชัดเจนว่าเธอพูดที่ไหน เมื่อไหร่ จะได้เอาเทปมาพิสูจน์กัน

เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ ในวันที่ 27 มกราคม สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ไปปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดกัมปงจาม บ้านเกิดของนายสม รังสี กล่าวแสดงความไม่พอใจในคำให้สัมภาษณ์ของดาราสาวไทย และว่าเธอไม่มีค่าอะไรมากไปกว่าต้นหญ้าที่ขึ้นรอบนครวัด พร้อมทั้งเรียกร้องให้คนกัมพูชามีความพอใจในวัฒนธรรมของตน โดยระบุว่าชาวบ้านหลายคนไม่ยอมประดับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และพระราชินีกัมพูชา หรือแม้แต่ภาพพ่อแม่ของตน แต่กลับนำรูปของสุวนันท์ คงยิ่งมาติดแทน ทั้งยังประกาศว่าได้ออกคำสั่งให้งดฉายละครโทรทัศน์ของไทยเรื่อง ‘ลูกไม้หล่นไกลต้น’ ที่มี กบ สุวนันท์แสดงไปแล้ว

และในวันที่ 29 มกราคม นายเหมา อาวุธ ประธานสมาคมโทรทัศน์กัมพูชา ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า ในวันที่ผ่านมาคณะของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์กัมพูชามีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ทุกสถานีหยุดแพร่ภาพออกอากาศรายการโทรทัศน์ของไทยทั้งหมดไว้ก่อน จากนั้นในเช้าวันที่ 29 มกราคม นั้น มีนักศึกษาประชาชนกว่า 500 คน ไปชุมนุมกันที่หน้าสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวุฒิสภา และห่างจากกระทรวงมหาดไทยไม่ถึง 100 เมตร โดยมีผู้ชุมนุมซึ่งเชื่อกันว่าเป็นม็อบจัดตั้ง ได้ชูป้ายด่ากบ สุวนันท์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ต่อมาก็ได้มีการนำธงชาติไทยมาเหยียบย่ำและจุดไฟเผา

นายชัชเวทย์ ชาติสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทย เห็นว่าเหตุการณ์ไม่น่าไว้วางใจ มีตำรวจยืนดูอยู่ไม่กี่คน จึงโทรศัพท์ไปหาพลเอก เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอกำลังสารวัตรทหารมาคุ้มครอง แต่ก็ได้รับคำปฏิเสธ

และช่วงบ่ายสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น มีการงัดป้ายสถานทูตไทยไปเผา ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้เจ้าหน้าที่ไทยที่ถูกกักตัวอยู่ในสถานทูต จึงได้โทรศัพท์ไปถึงพลเอก เตีย บันห์อีกถึง 3 ครั้ง และนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ยังได้โทรศัพท์สายตรงถึงสมเด็จฮุนเซนขอให้ช่วยดูแลคนไทย ซึ่งก็ได้รับคำรับรอง แต่ประมาณ 17.00 น. ผู้ประท้วงหลายร้อยคนลุกฮือเข้าไปในสถานทูตและทำลายข้าวของ ท่านทูตได้เรียกเจ้าหน้าที่สถานทูตให้หลบไปอยู่ในบ้านพักด้านหลัง ผู้ชุมนุมก็ตามไปอีก เจ้าหน้าที่สถานทูต 14 คนต่างปีนรั้วหนีตายลงในแม่น้ำ บางคนก็ได้รับบาดเจ็บ โชคดีที่มีคนไทยเอาเรือมารับไปพักที่โรงแรมรอยัลพนมเปญ ขณะหนีก็เห็นไฟลุกขึ้นในสถานทูตแล้ว ต่อมาผู้ช่วยทูตทหารได้มารับท่านทูตไปพักที่บ้านพัก เจ้าหน้าที่บางส่วนยังพักที่โรงแรมต่อไป แต่ต่อมาทั้งโรงแรมรอยัลพนมเปญและบ้านพักผู้ช่วยทูตทหารก็ไม่รอด ถูกเผาวอดทั้ง 2 แห่ง ต้องหนีตายกันต่อไป

หลังจากเผาสถานทูตไทยแล้ว ม็อบมอเตอร์ไซค์ก็ตะเวนเผาโรงแรมและบริษัทห้างร้านของคนไทย บรรดาคนไทยต้องหนีตายกันหัวซุกหัวซุน หลายคนถูกปล้นรูดทรัพย์เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่ถูกอาศัยโอกาสไปด้วย พวกโจรได้สมทบเข้าปล้นและงัดแงะทรัพย์สินของคนไทย โดยไม่มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาดูแล

จนในเช้าตรู่ของวันที่ 30 มกราคมทันทีที่ฟ้าสาง เครื่องบิน ซี 130 ของกองทัพอากาศไทย 5 เครื่องก็ออกจากสนามบินดอนเมือง มุ่งสู่สนามบินโปเซนตง ที่กรุงพนมเปญ พร้อมด้วยหน่วยรบพิเศษของกรมอากาศโยธิน 30 นาย ยานยนต์หุ้มเกราะ 2 คัน รถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก 4 คัน เพื่อไปคุ้มกันความปลอดภัยของคนไทยหลายร้อยคนที่หนีตายมารออยู่ที่สนามบิน และรับพวกเขากลับบ้าน ทั้งยังมีเฮลิคอปเตอร์ติดปืนกล 2 ลำ เฮลิคอปเตอร์แบบซีนุค 2 ลำ เครื่องบินไอพ่น เอฟ 16 อีก 8 เครื่อง บินลาดตระเวนอยู่ชายแดน พร้อมที่จะเข้าไปช่วยได้ภายใน 5 นาที

ส่วนทางทะเล ร.ล.จักรีนฤเบศร ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน ร.ล.พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร.ล.สุโขทัย ร.ล.ศรีราชา ไปลอยลำในน่านน้ำสากลใกล้เกาะกง เมื่อประสานไปทางกัมพูชาก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปรับคนไทยที่ต้องการกลับประเทศได้ แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงทางด้านนี้

หลังจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลกัมพูชาได้ออกมาแถลงขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประกาศจ่ายเงินชดเชยความเสียหายต่อสถานทูตไทยจำนวน 6 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะชดเชยความเสียหายให้กับธุรกิจของไทย และมีการจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นผู้ก่อจลาจลราว 150 คน รวมถึงบรรณาธิการวิทยุข่าวและบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รัศมี อังกอร์ก็ถูกจับกุมเช่นกัน แม้ต่อมาจะถูกให้ประกันตัวและไม่ได้ถูกดำเนินคดีใดๆ ก็ตาม และผู้ก่อจลาจลหลายคนถูกสั่งจำคุกราว 6 เดือน ก็ได้รับการปล่อยตัวด้วยเช่นกัน

30 มกราคม พ.ศ. 2491 ‘มหาตมะ คานธี’ ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งอินเดีย ถูก ‘ปลิดชีพ’ ด้วยปลายกระบอกปืนจากผู้คลั่งศาสนา

ย้อนกลับไปในช่วงเย็นของวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2491 ‘มหาตมะ คานธี’ ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งอินเดียกำลังยืนอยู่กลางสนามหญ้า และสวดมนต์ตามกิจวัตร เหมือนอย่างเคย หากแต่วันนี้ทุกอย่างดำเนินไปจน ‘เกือบ’ จะปกติ แต่มีบางสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เมื่อ ‘นายนาถูราม โคทเส’ ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนาและไม่ต้องการฮินดู (อินเดีย) สมานฉันท์กับมุสลิม (ปากีสถาน) ได้ใช้อาวุธปืนปลิดชีพผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งอินเดีย ด้วยลูกกระสุน 3 นัด จนเขาล้มลงขณะพนมมือ 

ขณะที่เขาล้มลง คานธีได้เปล่งเสียงแผ่วเบาว่า “ราม” (บ้างก็ว่า “เห ราม” ซึ่งมีความหมายว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า) และนั่นจึงกลายเป็นคำพูดสุดท้าย ในบั้นปลายชีวิตของมหาบุรุษผู้ต่อสู้กับมหาอำนาจด้วยสันติวิธีในวัย 78 ปี หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ได้เพียง 6 เดือน

สิ่งที่ทำให้ชื่อของ ‘มหาตมะ คานธี’ เป็นที่รู้จักนั่นเพราะการเรียกร้องเอกราชและความเสมอภาค ด้วยวิธี ‘สัตยาเคราะห์’ ที่เน้นความเป็นสันติวิธี อันมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่คานธีเป็นทนายความในวัย 24 ปี โดยเกิดขึ้นบนสถานีรถไฟในประเทศแอฟริกาใต้ครั้งยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

ในขณะนั้นเขาเพิ่งเรียนจบกฎหมายจากลอนดอนกลับมาอยู่ที่อินเดียได้ไม่นาน และได้เดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อไปเป็นนักกฎหมายประจำบริษัท Dada Abdulla ที่ทำการค้าอยู่ที่นั่น ในเดือนเมษายน ปี 1893 คานธีซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นตู้รถไฟที่หรูหราสะดวกสบายตามอัตราค่าบริการที่สูง แต่เขากลับถูกไล่ลงจากสถานีแรก ให้ไปอยู่ที่ตู้รถไฟชั้นสาม (ชั้นทั่วไปที่ไม่มีความสะดวกสบายและราคาถูก) โดยพนักงานตรวจตั๋วและผู้โดยสารชาวอังกฤษที่อ้างว่าตู้รถไฟชั้นหนึ่งสร้างขึ้นสำหรับผู้โดยสารผิวขาวเท่านั้น

นั่นทำให้คานธีตระหนักได้ว่า ไม่เฉพาะชาวอินเดียที่ถูกข่มเหงจากคนอังกฤษ ยังรวมไปถึงชาวแอฟริกาที่ถูกกระทำไม่ต่างกับสัตว์ ในที่สุดคานธีคิดว่าเขาจะอยู่ต่อและต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม ช่วงแรกของการต่อสู้ที่แอฟริกา คานธีจัดประชุมอพยพชาวอินเดีย นี่คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อสิทธิชาวอินเดียในแอฟริกา (ท้ายที่สุดกลายเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวผิวสีทุกคน) เพื่อต่อต้านกฎหมายที่อังกฤษร่างขึ้นเพื่อใช้กดขี่ทั้งชาวอินเดียและชาวแอฟริกา ทั้งเขียนบทความ ออกไปพูดชักชวนคนอินเดียให้ประท้วง ในช่วง 7 ปีในแอฟริกาคานธีถูกจับ ถูกเฆี่ยนตี แต่ในทุกครั้ง เขากลับเดินเข้าคุกด้วยความสงบ และยิ้มรับด้วยความเต็มใจ

คานธี จึงตั้งชื่อขบวนการต่อสู้นี้ว่า สัตยาเคราะห์ (สัตยาคฤห Satyagraha) ซึ่งเป็นคำสมาสจากคำในภาษาสันสกฤตคำว่า สัตยา ที่แปลว่า ความจริง (ที่นำมาสู่ความรัก) และคำว่า อะเคราะห์ ที่แปลว่า ความเด็ดเดี่ยว (ที่นำมาสู่พลัง) รวมกันเป็น “ความจริงและความรักที่ผนึกเข้าเป็นพลังอันแข็งเกรง” นำมาอธิบายแนวคิดของการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่ปฏิบัติได้จริง

นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดของคานธีที่นำมาใช้เรียกร้องเอกราชของอินเดียในเวลาต่อมา และเป็นแบบอย่างของการเรียกร้องแนวอหิงสา (ความไม่เบียดเบียน การเว้นจากการทำร้าย) ภายใต้คำว่า “สัตยาเคราะห์” ของชายชื่อ มหาตมะ คานธี

31 มกราคม พ.ศ. 2408 อัญเชิญ ‘พระบาง’ จากวัดจักรวรรดิราชาวาส กลับคืนสู่ ‘หลวงพระบาง’ ประเทศลาว

พระบางเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง แต่ชาวอีสานมีความเลื่อมใสมากและมักจะจำลองพระบางมาไว้ที่วัดสำคัญๆ ของท้องถิ่น โดยพระบางเป็นพระพุทธรูปที่เคยอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร ถึง 2 ครั้ง และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสังคมอีสานอยู่เนืองๆ

เดิมนั้น พระบาง ประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงของอาณาจักรขอม จนเมื่อ พ.ศ. 1902 พระเจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์แห่งล้านช้างซึ่งมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพระราชอาณาจักร จึงได้ทูลขอพระบางเพื่อมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทอง อันเป็นนครหลวงของอาณาจักรล้านช้างในขณะนั้น

แต่เมื่ออัญเชิญพระบางมาได้ถึงเมืองเวียงคำ (บริเวณแถบเมืองเวียงจันทน์ในปัจจุบัน) ก็มีเหตุอัศจรรย์ขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พระบางจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองนี้จนถึง พ.ศ. 2055 อันเป็นสมัยของพระเจ้าวิชุลราช ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองเวียงคำมาก่อน จึงสามารถนำเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุลราชในนครเชียงทอง ทำให้เมืองเชียงทองถูกเรียกว่า หลวงพระบาง นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในระหว่างปี พ.ศ. 2321-2322 เกิดสงครามระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ชัยชนะแก่พระเจ้าสิริบุญสาร (องค์บุญ) จึงได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตและพระบางเจ้าลงไปถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส หรือ วัดสามปลื้ม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ. 2325 ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านันทเสน อัญเชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองหลวงพระบาง ซึ่งพระบางสถิตอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 ปีเศษ

และความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ประจำพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง ก็ได้ปรากฏขึ้นในกรุงเทพฯ ครั้งแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2327 ครั้งนั้นโปรดให้อัญเชิญพระบางอันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองหลวงพระบาง แล้วตกไปเป็นของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ พระองค์ได้ทรงอัญเชิญลงมาพร้อมกับพระแก้วมรกต เข้ามาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เจ้านันทเสนบุตร พระเจ้าล้านช้างกราบบังคมทูลว่าผีซึ่งรักษาพระแก้วมรกตกับพระบางเป็นอริกัน พระพุทธรูป 2 พระองค์นั้นอยู่ด้วยกันในที่ใด มักมีเหตุภัยอันตราย อ้างอุทาหรณ์แต่เมื่อครั้งพระแก้วมรกตอยู่เมืองเชียงใหม่ กรุงศรีสัตนาคนหุตก็อยู่เย็นเป็นสุข

ครั้งพระเจ้าไชยเชษฐาเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปไว้ด้วยกับพระบางที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ก็เป็นกบฏต่อกรุงศรีสัตนาคนหุต แล้วพม่ามาเบียดเบียน จนต้องย้ายราชธานีลงมาตั้งอยู่ ณ นครเวียงจันทน์

ครั้นอัญเชิญพระบางลงมาไว้นครเวียงจันทน์กับพระแก้วมรกตด้วยกันอีก ก็เกิดเหตุจลาจลต่างๆ บ้านเมืองไม่ปกติ จนเสียนครเวียงจันทน์ให้กับกรุงธนบุรี

ครั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมาไว้ด้วยกันในกรุงธนบุรี ไม่ช้าก็เกิดเหตุจลาจล ขออย่าให้ทรงประดิษฐานพระบางกับพระแก้วมรกตไว้ด้วยกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริว่า พระบางก็ไม่ใช่พระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะงาม เป็นแต่พวกชาวศรีสัตนาคนหุตนับถือกัน จึงโปรดให้ส่งพระบางคืนขึ้นไปไว้ ณ นครเวียงจันทน์ โดยให้เชิญพระบางออกจากวัดจักรวรรดิราชาวาสคืนไปหลวงพระบางเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2408

1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เกิดเหตุระเบิดป่วนเมือง 2 จุดกลางกรุง ส่งผลทรัพย์สินเสียหาย ไร้ผู้เสียชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 20.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุเสียงดังคล้ายระเบิด 2 ครั้งที่บริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม และลานน้ำพุศูนย์การค้าสยามพารากอน ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. จึงรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ

เบื้องต้นพบจุดเกิดเหตุมี 2 จุด จุดแรก ระเบิดเวลา 20.05 น. บริเวณหม้อแปลงไฟฟ้าป้ายหน้าห้างสยามพารากอน แรงระเบิดทำให้ฝากล่องเหล็กเปิดออก แผ่นกระจกที่ติดตั้งบนทางเชื่อมแตก 3 บาน 

จุดที่ 2 ระเบิดเวลา 20.06 น. ที่อยู่ใกล้กันหน้าบริษัทบีเอ็มเอ เอ็กซ์เพรส เซอร์วิส เปิดเป็นบริษัทรับส่งเอกสาร ได้รับความเสียหายประตูด้านหน้าที่เป็นแผงเหล็กฉีกขาด ผนังกำแพงด้านข้างเปิด ฝ้าเพดานร่วง 3 แผ่น เจ้าหน้าที่สามารถเก็บเศษตะปูยาว 1.5 นิ้ว ได้จำนวนมาก ทั้ง 2 จุดไม่พบผู้เสียชีวิต 

จากเหตุระเบิด 2 จุด เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารต้องทำการกั้นพื้นที่ไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในจุดเกิดเหตุ ทำให้ประชาชนที่จับจ่ายซื้อของและสัญจรรถไฟฟ้าพากันแตกตื่น ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอสงดหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารสถานีสยามชั่วคราว 

2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ‘วันนักประดิษฐ์’ วันทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา ‘พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย’ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสนอ โดยกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ และเพื่อให้ประชาชนเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท รวมทั้งปลูกฝัง เสริมสร้าง และส่งเสริม ให้เยาวชนไทยให้มีทุนทางสังคมของความเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น พัฒนา และส่งเสริมนักประดิษฐ์ ให้ร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญและความมั่นคงของประเทศชาติ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย ด้วยทรงสนพระราชหฤทัย ในเรื่องการประดิษฐ์เครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการพัฒนาการเกษตรรูปแบบต่างๆ โดยอยู่บนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ ใช้ภูมิปัญญาของเราเอง ใช้วัสดุภายในประเทศ เน้นความง่ายต่อการใช้งาน การซ่อมบำรุงและราคาถูก เช่น เครื่องสีข้าว กังหันน้ำ และทรงออกแบบเรือใบมด ซึ่งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 เครื่องกลเติมอากาศ ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียน และออกสิทธิบัตรให้แก่พระบรมราชวงศ์ด้วย จึงนับได้ว่าเป็น ‘สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก’

>> สิ่งประดิษฐ์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้แก่... 

1.) เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุดซ้ำแบบทุ่นลอย (กังหันน้ำชัยพัฒนา)
ยื่นคำขอวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ประกาศวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536

2.) การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล (น้ำมันไบโอดีเซล)
ยื่นคำขอวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2544 ประกาศวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2544

3.) กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน)
ยื่นคำขอวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ประกาศวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

4.) ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ
ยื่นคำขอวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ประกาศวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

5.) เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ
ยื่นคำขอวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2544 ประกาศวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2544

6.) อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว (ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง)
ยื่นคำขอวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2546

7.) การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน เป็นสิ่งประดิษฐ์ชื่อ ‘ฝนหลวง’
ยื่นคำขอวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2545

8.) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์
ยื่นคำขอวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2545

9.) ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย
ยื่นคำขอวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2546 ประกาศวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546

10.) การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ 2 จังหวะ
ยื่นคำขอวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545

‘วันทหารผ่านศึก’ ร่วมรำลึกวีรกรรมทหารกล้า เชิดชูความเสียสละ ต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเมือง

‘วันทหารผ่านศึก’ ซึ่งตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยจะได้รำลึกถึงคุณงามความดีและความเสียสละของทหารผ่านศึก การที่ประเทศไทยสามารถดำรงเอกราชจนเป็นปึกแผ่นมาได้ตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นเพราะเรามีบรรพบุรุษที่กล้าหาญ มีจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่พร้อมสู้เพื่อบ้านเมืองและส่วนรวม โดยไม่หวาดหวั่นต่อภัยอันตราย ซึ่งต่างเรียกขานเขาเหล่านั้นว่า ‘ทหารผ่านศึก’

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบสงครามมหาเอเชียบูรพา แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงโดยกะทันหัน ส่งผลให้ทหารที่ไปร่วมรบและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนในการครองชีพ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาให้การช่วยเหลือ โดยจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาหาทางช่วยเหลือทหารกองหนุน ซึ่งต่อมาเมื่อมีการขยายการสงเคราะห์เพิ่มมากขึ้น

กระทรวงกลาโหมจึงได้เสนอเป็นพระราชบัญญัติ จัดตั้ง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ขึ้น เป็นหน่วยงานถาวร เพื่อทำหน้าที่ในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกโดยตรง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น เรียกว่า พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2491 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 เหตุนี้เองจึงได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็น ‘วันทหารผ่านศึก’

5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนหลักสายแรกของไทย

‘ถนนเจริญกรุง’ เป็นถนนที่ ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ’ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2407 มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้น เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น และมีพวกกงสุลขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ

ในปี พ.ศ. 2404 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงาน รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม เรียกว่าถนนเจริญกรุงตอนใต้ (แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าเจริญกรุงตอนล่าง) กว้าง 5 วา 4 ศอก (ประมาณ 10 เมตร หรือเทียบได้กับถนน 4 เลน) โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนน

และในปี พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง พระยาบรรหารบริรักษ์ (สุ่น) เป็นนายงาน รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน คือช่วงระยะทางตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน) กว้าง 4 วา โดยสร้างเป็นถนนดินอัด เอาอิฐเรียงตะแคงปูให้ชิดกัน ตรงกลางนูนสูง เมื่อถูกฝนไม่กี่ปีก็ชำรุด การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้ เดิมกำหนดให้ตัดตรงจากสะพานดำรงสถิต ถึงกำแพงเมืองด้านถนนสนามไชย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทักท้วงว่าการสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวังอาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ตั้งปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาหักมุมเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิต

เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ซิงพะโล่ว แปลว่าถนนตัดใหม่ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนคร ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top