Saturday, 26 April 2025
TodaySpecial

27 ธันวาคม ของทุกปี  เป็นวัน ‘จิตอาสา’  ผู้อุทิศให้กับการทำงานอาสาสมัคร

วันที่ 27 ธันวาคมของทุกปีเป็น ‘วันจิตอาสา’ โดยวันจิตอาสาก่อตั้งขึ้นหลังจากวันเกิดเหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เพื่ออุทิศให้กับการทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

โดยในวันนั้นมีอาสาสมัครจำนวนมากหลั่งไหลลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิอย่างเร่งด่วน โดยสิ่งตอบแทนอย่างเดียวของพวกเขาคือการได้เห็นผู้รอดชีวิตให้มากที่สุด ขณะที่หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เครือข่ายจิตอาสาจึงกำหนดให้วันที่ 27 ธันวาคมของทุกปีเป็นวัน ‘จิตอาสา’ เพื่ออุทิศให้กับการทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และรณรงค์ให้ผู้คนทำความดีต่อกันโดยไม่หวังผลตอบแทน

สำหรับเหตุการณ์สึนามิประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 07.58 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โดยได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ซึ่งจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร ซึ่งมีความรุนแรงขนาด 8.9 ริกเตอร์ ทำให้ส่งผลกระทบเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร 

เหตุการณ์สึนามิประเทศไทยในครั้งนั้น ได้ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน และบาดเจ็บกว่า 8,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย

28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

วันนี้เมื่อ 51 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จออกประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชพิธีประวัติศาสตร์ การสถาปนาสยามมกุฎราชกุมาร ‘พระองค์ที่ 3’ ของไทย

ในปี พ.ศ. 2515 อันเป็นวาระที่ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ’ ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษานั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร’ ตามโบราณขัตติยราชประเพณี หลังจากพระราชพิธีนี้ได้ว่างเว้นมาเป็นเวลากว่า 80 ปี 

โดยได้มีการอนุโลมการจัดพระราชพิธีฯ ตามโบราณราชขัตติยราชประเพณี โดยกำหนดเป็น 5 ตอน คือ

วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและพระราชลัญจกร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล การเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต 

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

ทั้งนี้ ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร’ และทรงเป็น ‘มกุฎราชกุมาร’ พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีและของประเทศไทย 

‘พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร’ เป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และพระบรมราชจักรีวงศ์ เกี่ยวกับการแต่งตั้งรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 

ราชประเพณีการแต่งตั้งรัชทายาทเพื่อสืบราชสมบัติ ได้ปรากฏเป็นกฎหมายมั่นคงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นไว้เมื่อจุลศักราช 720 (พ.ศ. 1901) ลำดับพระอิสริยยศพระราชโอรสว่า ‘พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระอัครมเหสีเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า พระราชกุมารอันเกิดแต่แม่ยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช’ แต่ก็มิได้กำหนดให้ชัดเจนว่า ตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าเป็นรัชทายาท 

จนถึงแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตราพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1998 ทรงกำหนดให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งได้เฉลิมพระราชมณเฑียรแล้วทรงศักดินาหนึ่งแสน และทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ 

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานตำแหน่ง ‘พระมหาอุปราช’ แก่พระบรมวงศ์ผู้มีความชอบอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เมื่อตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง ก็มิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบรมวงศ์พระองค์ใดขึ้นดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลาสืบต่อกันหลายปีก็มี 

จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชเสด็จทิวงคต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่าตำแหน่งนี้ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย มีประโยชน์น้อยและทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน จึงมีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อวันที่ 5 กันยายน ปีเดียวกัน 

และมีพระราชดำริต่อมาว่า พระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช’ ซึ่งเรียกว่า ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทองนั้น เป็นขัตติยราชประเพณีอันมีมาแต่โบราณกาล และสอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศ ที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มี พระราชพิธีสถาปนา ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ’ พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร’ ดำรงพระราชอิสริยยศตำแหน่งรัชทายาท เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2429 

เวลาต่อมา ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร’ ทรงเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาพระราชโอรสพระองค์ลำดับถัดมา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ขึ้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2437 โดยทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ

29 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ‘เปเล่’ แชมป์ฟุตบอลโลก 3 สมัย เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ครบรอบ 1 ปี ‘เปเล่’ อดีตดาวเตะระดับตำนาน แห่งทีมชาติบราซิล เจ้าของแชมป์ฟุตบอลโลก 3 สมัย เสียชีวิตอย่างสงบ หลังต่อสู้กับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

‘เปเล่’ หรือ ‘เอ็ดสัน อารันเตส โด นาสซิเมนโต้’ ถือเป็นนักเตะที่ได้รับการเชิดชู และประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของวงการฟุตบอล จารึกสถิติทำประตูเอาไว้ 1,281 ลูกจากการลงสนาม 1,363 นัด (รวมทุกแมตช์ทั้งทางการ และไม่เป็นทางการ)​ ตลอดอาชีพการค้าแข้ง 21 ปี รวมถึงสถิติการยิง 77 ประตูจาก 92 นัดกับทีมชาติบราซิล ครองดาวซัลโวสูงสุดของทัพแซมบ้าร่วมกับเนย์มาร์

นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของฉายา ‘ไข่มุกดำ’ และเป็นนักเตะคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ถึง 3 สมัย ในปี 1958, 1962 และ 1970

ก่อนจะเสียชีวิต ‘เปเล่’ ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง ภายหลังจากถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเจ้าตัวต้องรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด แต่ก็ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเท่าไหร่นัก

และต่อมาวันที่ 29 ธ.ค. 65 ได้มีการยืนยันข่าวเศร้าอย่างเป็นทางการว่า ‘เปเล่’ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบหลังต่อสู้กับอาการป่วยมาอย่างยาวนาน ตามการยืนยันของ เคลลี คริสตินา นาสซิเมนโต ลูกสาวของเขา

31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ปิดตำนาน 11 ปี ‘สายการบินไทยสมายล์’ ให้บริการ 4 เที่ยวบินสุดท้ายก่อนยุติบทบาท

วันนี้ 31 ธันวาคม 2566 ‘สายการบินไทยสมายล์’ จะเปิดให้บริการเป็นวันสุดท้าย และจะให้บริการเพียง 4 เที่ยวบินไป-กลับสุดท้าย พร้อมส่งต่อลูกค้าและการปฏิบัติการบินให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดูแลต่อตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นไป

โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจควบรวมสายการบินไทยสมายล์ โดยระบุว่า พร้อมดูแลลูกค้าของสายการบินไทยสมายล์ให้ได้รับความสะดวกสบายอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ และโอนย้ายการปฏิบัติการบินและบริการต่าง ๆ ทั้งหมดจากไทยสมายล์ไปยังการบินไทย ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เว็บไซต์ thaismileair.com ได้ปิดให้บริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 66 ขณะที่ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Smile Contact Center) จะให้บริการจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 เช่นเดียวกับเที่ยวบินของไทยสมายล์ภายใต้โค้ดการบิน WE จะทำการบินวันสุดท้ายในวันที่ 31 ธ.ค.66 โดยมีเที่ยวบินไป-กลับ 4 เที่ยวบินสุดท้าย ประกอบด้วย

- เที่ยวบิน WE249 เส้นทางกรุงเทพฯ - กระบี่ เวลา 18.25 น.
- เที่ยวบิน WE250 เส้นทางกระบี่ - กรุงเทพฯ เวลา 20.20 น.

- เที่ยวบิน WE046 เส้นทางกรุงเทพฯ - ขอนแก่น เวลา 19.40 น.
- เที่ยวบิน WE047 เส้นทางขอนแก่น - กรุงเทพฯ เวลา 21.10 น.

- เที่ยวบิน WE136 เส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงราย เวลา 18.50 น.
- เที่ยวบิน WE137 เส้นทางเชียงราย - กรุงเทพฯ เวลา 20.50 น.

- เที่ยวบิน WE267 เส้นทางกรุงเทพฯ - หาดใหญ่ เวลา 18.40 น.
- เที่ยวบิน WE268 เส้นทางหาดใหญ่ - กรุงเทพฯ เวลา 20.45 น.

สำหรับ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด หรือ สายการบินไทยสมายล์ ก่อตั้งขึ้นโดย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในปี 2555 ในช่วงแรกไทยสมายล์ให้บริการเส้นทางบินในประเทศเป็นหลัก ก่อนที่จะขยายเส้นทางระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน จีน ไต้หวัน และอินเดีย

1 มกราคม ‘วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ’ เจ้านายพระองค์สำคัญในอดีต

วันที่ 1 มกราคม นอกจากจะเป็นวันขึ้นปีใหม่แล้ว ยังถือเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพเจ้านายพระองค์สำคัญในอดีตด้วยเช่นกัน ดังนี้

1 มกราคม พ.ศ. 2423 ถือเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 

1 มกราคม พ.ศ. 2407 วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเป็นพระราชมารดาของรัชกาลที่ 6

และ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 วันพระราชสมภพ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็น​สมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และเป็นสมเด็จพระบรมอัยกาธิบดีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) นอกจากนี้ยังเป็น ‘พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน’ อีกด้วย

30 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ อดีตประธานาธิบดีอิรัก ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

เมื่อ 17 ปีที่แล้ว หรือ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ อดีตประธานาธิบดีแห่งประเทศอิรัก ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

ย้อนเวลากลับไป ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหารในอิรัก ช่วงปี พ.ศ. 2511 โดยทำให้พรรคบะอัธ ที่เขาเป็นหัวหน้าพรรค ก้าวขึ้นสู่อำนาจในระยะยาว พร้อมกับที่ตัวเองขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานาธิบดี หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2522 เขาก็ก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีในที่สุด

‘ซัดดัม ฮุสเซน’ กลายเป็นที่จับตาของผู้คนทั้งโลก ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย (พ.ศ. 2534) จากการที่อิรักบุกยึดครองประเทศคูเวต เป็นเหตุให้เหล่าประเทศพันธมิตร ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ต้องนำกองกำลังทหารเข้าจัดการ สงครามครั้งนั้นกินระยะเวลาราว 5 สัปดาห์ ผลปรากฏว่ากองกำลังของซัดดัมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ก็ยังมีผลพวงของสงครามที่ถูกลากยาวต่อมาอีกหลายปี

ไฟแห่งสงครามครั้งนั้น สิ้นสุดลงจริง ๆ เมื่อราวปี พ.ศ. 2538 ก่อนที่ในเวลาต่อมา ซัดดัมจะถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีจากสหรัฐฯ และฝ่ายพันธมิตร พร้อมกับถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เวลาผ่านไปกว่า 3 ปี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ผู้พิพากษาศาลอิรัก ก็สั่งลงโทษประหารชีวิต ซัดดัม ฮุสเซน จากคดีสังหารหมู่ชาวชีอะห์ 148 ราย โดยเขาถูกประหารชีวิตด้วยการถูกแขวนคอในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549 หรือวันนี้เมื่อ 17 ปีก่อนนั่นเอง

2 มกราคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์

ครบรอบ 16 ปี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเป็นพระธิดาองค์เดียวในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงแนะนำให้ทรงงานเป็นครู จึงทรงเป็นสมเด็จอาจารย์ ทรงสอนภาษาฝรั่งเศสในหลายมหาวิทยาลัย และตามเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั่วประเทศ ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การพยาบาล การสาธารณสุข และการสังคมสงเคราะห์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่อเนื่อง ทรงคุณูปการต่อสังคมไทยเป็นที่ประจักษ์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์’ เนื่องจากทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่อเนื่อง ทรงคุณูปการต่อสังคมหลายด้าน เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หน่วยงาน องค์กรหลายแห่ง ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรางวัล และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์หลากหลายสาขา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทับรักษาพระอาการประชวรครั้งสุดท้ายที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 สิริพระชนมายุ 84 พรรษา

3 มกราคม ค.ศ. 1959 ‘รัฐอะแลสกา’ ถูกยกให้เข้าเป็นรัฐที่ 49 ของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด และเป็นหมุดหมายที่หลายคนอยากมา

‘อะแลสกา’ พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซียเมื่อในอดีต เป็นดินแดนที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ กระทั่งราวปี ค.ศ. 1867 อะแลสกาก็ได้กลายไปเป็นของสหรัฐอเมริกา ในเวลานั้นชาวอเมริกันเอง ต่างพากันแปลกใจที่รัฐบาลใช้เงินซื้อพื้นที่ที่ไกลแสนไกล แถมยังร้างไร้ผู้คน หนำซ้ำยังมีแต่ก้อนน้ำแข็ง

แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป อะแลสกากลายเป็นดินแดนแห่งความหวัง เริ่มมีการค้นพบทองคำ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติมากมาย พื้นที่แห่งนี้ค่อย ๆ ถูกยกระดับจากทางการสหรัฐฯ กระทั่งเมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1959 (หรือราวปี พ.ศ. 2502) อะแลสกาก็ถูกยกสถานะให้กลายเป็น ‘รัฐที่ 49’ ของประเทศสหรัฐอเมริกาในที่สุด

เสน่ห์ของรัฐอะแลสกา คือความเป็นอเมริกาที่ไม่ใช่อเมริกา ด้วยพื้นเพของผู้คนดั้งเดิมในพื้นที่นั้นเป็นชาวเอเชียที่มาตั้งรกรากอยู่เมื่อกว่า 10,000 ปีก่อน จึงทำให้ผู้คนที่นี่มีลักษณะที่ต่างจากชาวอเมริกันออกไป มากไปกว่านั้น คือพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล (เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา) ที่นี่จึงเต็มไปด้วยธรรมชาติอันหลากหลาย เป็นหนึ่งในหมุดหมายของนักเดินทางทั่วโลกที่อยากมาเยือนให้ได้สักครั้ง

4 มกราคม พ.ศ. 2547 จุดเริ่มต้น ‘ความไม่สงบ-ขัดแย้ง’ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ค่ายปิเหล็ง’ ในตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง โดยเหตุการณ์ครั้งนี้นับได้ว่าเป็น ‘จุดปะทุของความรุนแรงในสถานการณ์ไฟใต้’ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้มีทหารเสียชีวิต 4 นาย ทางด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า คนร้ายได้อาวุธปืนไปทั้งสิ้น 413 กระบอก ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ยึดคืนมาได้ 94 กระบอก

ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดี ป.วิอาญา ร่วมกันบุกปล้นปืน โดยมีจำนวน 11 คน ถูกจับได้ 2 คน คือ นายมะซูกี เซ้ง และนายซาอีซูน อับดุลรอฮะ พร้อมอาวุธปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ถูกนำไปใช้ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2555

โดยในระหว่างปี 2547 - 2554 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบนี้กว่า 4,500 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 9,000 คน นับเป็นความขัดแย้งที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2554 สถานการณ์กลายเป็นการคุมเชิงระดับต่ำ ส่วนใหญ่ลักษณะการก่อเหตุเป็นการประกบยิง แต่มีเหตุระเบิดแสวงเครื่อง เฉลี่ย 12 ครั้งต่อเดือน มีเหตุการณ์ความรุนแรงกว่า 11,000 ครั้ง และการวางระเบิดกว่า 2,000 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ไม่สงบเหล่านี้ ทางฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเอง ไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองออกมาชัดเจน จึงไม่สามารถสาเหตุได้ชัดเจนว่า เหตุใดความไม่สงบจึงปะทุกลับมาอีกครั้ง 

ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์ วิเคราะห์ว่า การก่อเหตุได้มีการเปลี่ยนจากเป้าหมายด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์และแบ่งแยกดินแดนมาเป็นอิสลามิสต์หัวรุนแรง สถานที่ก่อเหตุย้ายจากป่าเข้ามาในหมู่บ้าน เมืองและนคร ในโครงสร้างแบบเซลล์ โดยใช้กลุ่มผู้ก่อเหตุขนาดเล็กประมาณ 5-10 คน โครงสร้างแบบเซลล์นี้ทำให้ไม่ต้องใช้เงินทุนสนับสนุนมากนัก

ช่วงกลางปี 2549 ตำรวจประเมินว่ามีแนวร่วมก่อเหตุราว 3,000 คน ปฏิบัติการใน 500 เซลล์ จากจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 1,574 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

รายงานของกลุ่มวิกฤตระหว่างประเทศปี 2548 ระบุว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน เคร่งศาสนา ติดอาวุธไม่ดีและพร้อมสละชีพเพื่ออุดมการณ์ กลางปี 2548 ยอดผู้เสียชีวิตชาวมุสลิมสูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตชาวพุทธ ซึ่งเชื่อว่ามุสลิมที่ตกเป็นเป้านั้นใกล้ชิดกับทางการไทยหรือค้านความคิดอิสลามิสต์

จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่า ความถี่ของการก่อเหตุขึ้น ๆ ลง ๆ แต่สูงสุดในปี 2550 (2,409 เหตุการณ์) และ ปี 2555 (1,851 เหตุการณ์) ซึ่งศูนย์ฯ ตั้งข้อสังเกตว่าความถี่ของเหตุการณ์อาจเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นวัฏจักรโดยจะมีความถี่สูงสุดทุก 5 ปี ยอดผู้เสียชีวิตรายปีลดลงทุกปีนับแต่ปี 2556

5 มกราคม พ.ศ. 2537 ห้างสรรพสินค้า ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ เปิดให้บริการสาขาแรก บนถนนแจ้งวัฒนะ

วันนี้เมื่อ 30 ปีก่อน หรือ 5 มกราคม พ.ศ. 2537 ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ ห้างสรรพสินค้าที่ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกันดี เปิดให้บริการสาขาแรก บนถนนแจ้งวัฒนะ

‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ (Big C) เป็นศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทย ดำเนินกิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และฮ่องกง 

โดย ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ ในไทยเกิดขึ้นจากกลุ่มเซ็นทรัล ได้มีแนวคิดในการขยายธุรกิจออกสู่รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต ต่อมาได้ร่วมทุนกับกลุ่มอิมพีเรียล ของตระกูลกิจเลิศไพโรจน์ ในนาม ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ เมื่อ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 และเปิดให้บริการไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรกในนาม ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ บนถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เมื่อ 5 มกราคม พ.ศ. 2537

นับจากวันแรกที่เปิดให้บริการสาขาแรกที่ถนนแจ้งวัฒนะ จนถึงวันนี้ ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ หรือ ‘บิ๊กซี’ ที่คนไทยรู้จักกันดีก็ขยายสาขาออกไปมากถึง 1,810 สาขา โดยแบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 154 สาขา บิ๊กซีมินิ 1,449 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเพรส 1 สาขา และร้านค้าส่ง เอ็มเอ็ม ฟู้ด เซอร์วิส 1 สาขา มีร้านค้าขายยาเพรียว 146 สาขา รวมถึงมีรูปแบบที่เป็น ตลาด จำนวน 7 สาขา

ทั้งนี้ ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “ห้างค้าปลีกของคนไทยที่อยู่ในใจชุมชน
โดยยึดถือลูกค้าเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงาน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top