Wednesday, 23 April 2025
TheStatesTimes

‘พีระพันธุ์’ บรรยายหลักสูตร ‘มินิ วปอ.’ คลี่ผลประโยชน์บนพลังงานชาติ ชี้!! ต้องเดินหน้าทลายทุนผูกขาด กลับสู่หลักการ ‘พลังงานเพื่อประชาชน’

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้บรรยายในหัวข้อ ‘ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต’ แก่ผู้อบรมในหลักสูตร วปอ.บอ.2 

โดยในลำดับแรกนายพีระพันธุ์ ได้เริ่มต้นการบรรยายว่า เรื่องของพลังงานนั้นเกี่ยวข้องกับตนตั้งแต่สมัยยังเด็กเนื่องจากคุณพ่อเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง ซึ่งสิ่งที่ตนเคยได้รับฟังตั้งแต่เด็กคือเรื่องพลังงานคือเรื่องความมั่นคง 

สำหรับพื้นฐานเรื่องพลังงานน้ำมันในประเทศไทย เริ่มต้นในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เริ่มมีแนวคิดในการพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อความมั่นคงของประเทศ ต่อมาจึงมีการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามข้อมูลที่ว่ามีการกลั่นน้ำมันไว้ใช้เองได้ จึงเป็นที่มาของการกลั่นน้ำมันครั้งแรกในประเทศไทยที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 

น้ำมันที่ได้นั้นแต่เดิมมีแนวคิดว่าจะเป็นการนำมาใช้ในกองทัพเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากปริมาณที่จำนวนมาก และแบ่งเบาภาระของประชาชนจึงมีการเปิดปั๊มน้ำมันสามทหารซึ่งจำหน่ายน้ำมันราคาถูกให้แก่ประชาชนคนไทย 

ดังนั้นเรื่องของพลังงานของประเทศไทยจึงเริ่มต้นมาจากความมั่นคง เริ่มต้นจากกองทัพ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ จึงมีการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. และได้มีการโอนทรัพย์สินของ องค์การเชื้อเพลิง มาเป็นของ ปตท. 

ป้ายสามทหารตามปั๊มน้ำมันถูกปลดถูกเปลี่ยนถ่ายเป็นป้ายของ ปตท. และมีการแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“หลังจากยุคองค์การเชื้อเพลิงมิติความมั่นคงในด้านพลังงานถูกมองข้ามไปตลอด และมองในมิติธุรกิจการค้าด้านพลังงานตลอดจนถึงทุกวันนี้ จึงเป็นโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องของน้ำมันมายึดถือผลประโยชน์ของชาติประชาชนเหมือนดังแต่ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากแต่ต้องทำ” นายพีระพันธุ์กล่าว 

สำหรับสถานการณ์น้ำมันในทุกวันนี้ที่ราคาน้ำมันในประเทศสูงมาก สาเหตุที่แท้จริงมาจากโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยมีลักษณะพิเศษจากประเทศอื่น คือ มีภาษีหลายส่วน จากราคาเนื้อน้ำมันประมาณ 18 บาท ราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชนอยู่ที่ 42 บาทต่อลิตร ซึ่งมีโครงสร้างจากภาษีน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม การจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการจ่ายค่าการตลาด จึงเป็นเหตุผลที่ในภูมิภาคราคาน้ำมันไทยถึงแพงมาก

ซึ่งหากคิดจากโจทย์ที่ว่าจะต้องเอาหลักการเรื่องความมั่นคง หลักการดูแลประชาชนกลับมาในการดูแลเรื่องของน้ำมัน ทำให้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีน้ำมันสำหรับผู้มีรายได้น้อย มีน้ำมันเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ มีน้ำมันสำหรับพี่น้องชาวประมง ที่ทุกวันนี้ใช้น้ำมันมาตรฐาน EURO5 ในอุปกรณ์ทางการเกษตรและจ่ายค่าน้ำมันในราคาเดียวกันกับรถ Super Car

จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องออกกฎหมายใหม่ให้ยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชน มีมิติด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

สำหรับมิติพลังงานเพื่อความมั่นคงคือหลักการยึดผลประโยชน์ของประชาชน แต่สำหรับความมั่นคงด้านพลังงาน สิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคือ น้ำมันสำรองที่เป็นของรัฐ ที่จะตอบโจทย์ทั้งน้ำมันเพื่อความมั่นคงและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นยิ่งตอกย้ำความจำเป็นในข้อนี้ และน้ำมันที่จะสำรองต้องเป็นน้ำมันที่เป็นของรัฐ ไม่ใช่น้ำมันสำรองของเอกชน

ปัจจุบันในทุก ๆ วันมีการใช้น้ำมันประมาณ 120 ล้านลิตร หรือประมาณ 1 ล้านบาร์เรล แต่ที่ผลิตได้มีเพียง 7 หมื่นบาร์เรลต่อวันเท่านั้น การมีน้ำมันสำรองจึงเป็นทางออกในการรองรับทุก ๆ สถานการณ์ด้านพลังงาน

คลังน้ำมันสำรอง หรือ Strategic Petroleum Reserve(SPR) เป็นแนวคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากสงครามอ่าวในตะวันออกกลางที่ทำให้ราคาของน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และมีการร่วมกันก่อตั้ง International Energy Agency หรือ IEA ภายใต้แนวคิดจะต้องมีการสต็อกน้ำมันเพื่อดูแลประเทศสมาชิกในช่วงที่เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น เป็นการใช้ปัญหาน้ำมันมาแก้ปัญหาน้ำมัน โดยการเก็บน้ำมันในช่วงราคาถูก และเอาออกมาใช้ในช่วงที่ราคาแพง โดยมีมาตรฐานที่จะต้องเก็บไว้ 90 ของปริมาณความต้องการในแต่ละวัน 

จากหลักการที่ตนกล่าวข้างต้นประเทศไทยจะต้องมีการเก็บน้ำมันประมาณ 10,000 ล้านลิตร ซึ่งหากมีการริเริ่มทยอยเก็บมาเรื่อย ๆ สิ่งนี้สามารถเป็นจริงได้ 

หลายคนปรามาสว่าประเทศจะหางบประมาณจากไหนเพื่อจัดทำระบบ SPR ซึ่งสำหรับผมเราไม่สามารถใช้เรื่องของเงินมาแก้ปัญหาน้ำมันได้ เราจะต้องใช้เรื่องของน้ำมันมาแก้ไขปัญหาของน้ำมันโดยการเปลี่ยนจากเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันมาเป็นการเก็บน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันแทน ซึ่งนอกจากจะได้ความมั่นคงด้านพลังงานแล้วสิ่งหนึ่งที่ทำได้ทันทีคือ การลดราคาน้ำมันจากเงินที่จัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันที่หายไปทันที

นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า “แม้จะมีการท้วงติงว่าถ้าทำเช่นนี้ผู้ประกอบการจะอยู่ไม่ได้ แต่เราต้องนึกไว้เสมอว่าไม่มีผู้ประกอบการประชาชนอยู่ได้ แต่ไม่มีประชาชนผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาเราต้องประชาชนมาก่อน”

เนื่องจากเรื่องของพลังงานคือ น้ำมัน-ไฟฟ้า-แก็ส ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของพี่น้องประชาชน เราต้องเปลี่ยนจากที่คิดบนหลักพื้นฐานของธุรกิจการค้ามาเป็นประชาชนเป็นหลักแทน วันนี้เราต้องวางหลักการให้ชัดว่าพลังงานเป็นไปเพื่อความมั่นคงไม่ใช่เพื่อธุรกิจการค้า ซึ่งทั้งหมดกำลังทำผ่านกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ 

สิ่งแรกที่ทำคือ ทุกวันนี้ที่ทราบว่าราคาเนื้อน้ำมันมีราคา 18 บาทนั้น ตัวเลขที่มีการรายงานมาถูกต้องหรือไม่ ผู้ประกอบกิจการทุกรายไม่ต้องรายงานเพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นความลับทางการค้า จึงเป็นที่มาว่าในการดำเนินการใด ๆ จึงมีการอ้างอิงราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นที่มาที่ตนต้องออกประกาศเป็นครั้งแรกให้มีการแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งกลายเป็นว่าราคาน้ำมันของไทยแพงกว่าตลาดโลก เนื่องจากมีการตั้งบริษัทลูกหลายบริษัทและขายต่อเป็นทอด ๆ ทำให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป

แต่สิ่งนี้มาจากแนวคิดที่ผ่านมาที่เราไม่เคยกำกับ ไม่เคยควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเราไม่ได้ยึดว่าเรื่องของพลังงานต้องเอาความมั่นคงมาเป็นตัวตั้ง สิ่งหนึ่งที่ผมใช้อธิบายตลอด คือ การขอขึ้นราคามาม่าต้องมีการขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ ต้องชี้แจงต้นทุน แต่น้ำมันผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาได้ด้วยตนเอง

เรื่องของไฟฟ้าและเรื่องของแก๊สเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกันค่อนข้างมาก ในอดีตไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นส่วนมากใช้น้ำมันเตาและถ่านหินในการผลิต แต่เนื่องด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทำให้มีการปรับตัวและเข้าสู่แก๊สธรรมชาติที่มีการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และกำลังเดินหน้าสู่ยุคพลังงานสะอาด 

ปัจจุบันแหล่งแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยเรามีกำลังการผลิตประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ฟุต ต่อวัน แต่มีความต้องการในการใช้ 5,000 ล้าน ลบ.ฟุต ซึ่งส่วนที่ขาดมีทั้งการนำเข้าจากแหล่งแก๊สในพม่า และนำเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบ LNG ที่มีต้นทุนสูงจากการเปลี่ยนสถานะและมีความผันผวนตามราคาตลาดโลก 

จากระบบปัจจุบันที่แก๊สมีราคาเดียวทั้งโรงไฟฟ้า พี่น้องประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้แก๊สในการเดินเครื่องจักรที่มีประมาณ 1,000 โรงงาน มาเป็นสองราคา โรงงานอุตสาหกรรมไม่ควรใช้ราคาเดียวกับพี่น้องประชาชน ไม่ควรมีการแบกราคาของโรงงานอุตสาหกรรมไว้บนบ่าของพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งชาติ

แต่ในเรื่องนี้เมื่อมีการสอบถามทางโรงงานแล้วปรากฏว่ามีเอกชนที่ส่งแก๊สมาขายยังโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดราคาขายตามตลาดโลก ทำให้มี 2 บริษัทในประเทศที่กอบโกยผลประโยชน์ของประเทศไปเปล่าถึงปีละ 20,000 ล้านบาท 

เรื่องของไฟฟ้านั้นปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตประมาณ 50,700 MW ซึ่งตามกฎหมายหน้าที่ส่วนนี้ควรเป็นของ กฟผ. แต่ปัจจุบัน กฟผ. ผลิต 16,261.02 MW เอกชนรายใหญ่ผลิต 18,973.50 MW และในเอกชนรายใหญ่เพียงบริษัทเดียวผลิตถึง 16,000 ?” 

สำหรับผู้ผลิตรายเล็ก 9,254.68 ส่วนใหญ่เป็นการผลิตโดยใช้พลังงานสะอาด และเหล่ารายเล็กประสบปัญหาจากการเซ็นสัญญาไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ต้นทุนสูง จึงมีการจ่ายค่า ADDER หรือให้กำไรฟรี ๆ ซึ่งแทนที่จะให้สัญญาปีต่อปี ก็การแก้จนกลายเป็นสัญญาชั่วนิรันดร์ เนื่องจากเอกชนบอกว่าหาคนปล่อยกู้ยาก และเซ็นกันมาตั้งแต่ปี 50 และที่ร้ายกาจคือไม่มีการหมดอายุ คือพอครบวาระจะต่อสัญญาโดยทันที และรัฐไม่สามารถยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวได้ ซึ่งสัญญาที่มีค่า ADDER เรามีมากกว่า 500 สัญญา 

ในปีที่ผ่านมาไฟฟ้าคนใช้เยอะที่สุด 36,000 MW ค่าเฉลี่ย 25,100 MW แต่เรามีกำลังการผลิตประมาณ50,000 MW เรามีไฟสำรองเกินกว่า 25,600 MW ทำให้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ต้องเดินเครื่องจักร 

แต่ตอนทำสัญญาเอกชนอ้างว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 1,000 MW ต้องลงทุนสร้างสูงแต่เมื่อเดินเครื่องไม่เต็มกำลังการผลิตจะทำให้การชำระเงินกู้ลำบาก รัฐจึงต้องมีการจ่ายค่าพร้อมจ่ายให้เต็มกำลังการผลิต เป็นการจ่ายทั้งหมดเหมือนเดินเครื่องจักรปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้ประชาชนเป็นผู้แบกภาระ 

และนี่คือเหตุผลที่ผู้ผลิตไฟฟ้าถึงร่ำรวยมหาศาลในระยะเวลาไม่กี่ปี  โดยกฎหมายของ กฟผ. มีมาตั้งแต่ปี 2511 สภาพการผลิตไฟฟ้า การค้า และเศรษฐกิจแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ให้ทุกวันนี้ กฟผ. ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องของการผลิตไฟฟ้าเพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับ กกพ. ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ผู้ที่เซ็นสัญญาไม่มีอำนาจในการเจรจากำลังการผลิต

หัวข้อต่อไปคือการเปลี่ยนผ่านพลังงานเรื่องของน้ำมัน และแก๊ส เป็นทรัพยากรธรรมชาติไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ แต่พลังงานไฟฟ้ากำลังสู่การเปลี่ยนผ่าน โดยเป็นการเปลี่ยนผ่านกรรมวิธีการผลิตไฟฟ้าจากตอนนี้ที่ใช้แก๊สธรรมชาติไปเพิ่มพลังงานหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า RE คือพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมด ทั้งแสงแดด ลม น้ำ ชีวมวล 

ซึ่งเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านมีการกำหนดร่วมกันว่าในปี ค.ศ. 2050 เราจะต้องมีการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และในปี ค.ศ.2070 เราจะมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ดังนั้นก่อน 2070 เราจะต้องเปลี่ยนการใช้แก๊ส น้ำมัน ถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้าเป็น RE ทั้งหมด ซึ่งเคยมีปัญหาว่าจะต้องมีการจัดเก็บในช่วง RE ไม่สามารถผลิตได้ เทคโนโลยีที่สำคัญคือเรื่องของแบตเตอรี่ 

และเรื่องของ RE ที่มีความสำคัญคือการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เนื่องจากทั้งพลังงานลมและพลังงานน้ำที่มีความไม่แน่นอนสูง 

“เราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนได้เสียด้านพลังงาน ตนเป็นนักการเมือง มาแล้วก็ไป แต่ช่วงที่มาทำงานต้องทำให้ดี วางแผนยังไงให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการคิดถึงแต่เรื่องของธุรกิจการค้า การเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน ไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาการผูกขาดด้านพลังงานได้ ทุกคนต้องช่วยผลักดันให้เรื่องพลังงานหลุดพ้นจากธุรกิจการค้ากลับมาเป็นเรื่องความมั่นคง เหมือนที่กองทัพได้ริเริ่มจัดทำไว้ผ่านองค์การเชื้อเพลิง” นายพีระพันธุ์กล่าวในตอนท้าย

‘ดร.อักษรศรี’ ชี้ ‘เวียดนาม’ อยู่เป็น ในภาวะสหรัฐฯ เก็บภาษีอ่วม ต่อสายตรงเจรจา ‘ทรัมป์’ พร้อมเสนอลดภาษีสหรัฐฯ เหลือศูนย์

(5 เม.ย. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ว่า…

#เวียดนาม 🇻🇳 เทหมดหน้าตัก #จำใจยอม ถอยสุดซอย เพราะพึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐในสัดส่วนสูงมากกกกก #โตเลิม 🇻🇳 ผู้นำเบอร์หนึ่งเวียดนามต่อสายโทรคุยกับ #ทรัมป์ 🇺🇸 เสนอว่าจะ #ลดภาษีเหลือศูนย์ ให้สหรัฐฯ ถ้ามีข้อตกลงกันได้!! สัญญาณเหมือนจะดี ทรัมป์พอใจและบอกว่า “a very  productive call” และครอบครัวทรัมป์โดย Trump Organization ก็มีผลประโยชน์ทางธุรกิจในเวียดนาม มีโครงการสร้างสนามกอล์ฟและรีสอร์ตแถวเมืองบ้านเกิดโตเลิม มูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ 🤔เรื่องนี้จะจบอย่างไร ติดตามกันนะคะ #ภาวะผู้นำ ในยามวิกฤตสำคัญยิ่งยวด 🇻🇳 #เวียดนามอยู่เป็น

รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี อธิบายเพิ่มเติมว่า #ผลประโยชน์ส่วนตัวของทรัมป์ในเวียดนาม 🤔 ครอบครัวทรัมป์ โดย Trump Organization และพันธมิตรในเวียดนาม คือ กลุ่ม Kinh Bac Urban Development Corporation (KBC) มีโครงการลงทุนกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสนามกอล์ฟ โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม

ตามรายงานจาก Reuters โดยอ้างคำพูดของโฆษกของ Trump Organization ระบุว่า “โครงการนี้จะลงทุนมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในจังหวัดฮึงเอียน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเลขาธิการใหญ่โต เลิม คาดว่า จะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคมปีนี้”

แหล่งข่าวอ้างว่า “โครงการที่ร่วมมือกับ KBC ที่จังหวัดฮึงเอียนจะประกอบด้วยสนามกอล์ฟ 18 หลุม รวม 3 สนาม รวมทั้ง Resort Complex ที่จะเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกของ Trump Organization”

ในวันที่ 18 มีนาคม 2025 ตัวแทนของ Trump Organization ได้พบกับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ โดยมีตัวแทนจากบริษัทระดับบิ๊กของสหรัฐฯ และสภาธุรกิจ U.S. ASEAN Business Council อื่นๆ ร่วมเข้าพบด้วย เช่น Boeing, Apple, Intel, Coca-Cola, Nike และ Amazon

#จุดแข็งเวียดนาม 🇻🇳 เวียดนามมีศักยภาพสูง เพราะมี 2 ปัจจัยหลักที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง คือ

(1) #ผู้นำดีมีชัย !! ผู้นำเวียดนามมองไกล มีวิสัยทัศน์ และกล้าลงมือทำ (ไม่ดีแต่พูด) มีความเฉียบขาดในการ regulate จัดการปัญหา/ขจัดจุดอ่อน และมีเป้าหมายที่แน่วแน่ long term strategy (ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา)

(2) #คุณภาพคนในชาติ !! คนเวียดนามขยันมากกก กระหายความสำเร็จ (ไม่งอมืองอเท้ารอคอยแต่โชคชะตาฟ้าลิขิต)

แถมอีกเรื่อง คือ คนในชาติเวียดนาม #ไม่แตกแยกกันเอง และทุกคน #รักชาติยิ่งชีพ ด้วยค่ะ

‘ปราชญ์ สามสี’ ย้อนรอยเครือข่าย ‘พอล แชมเบอร์-ตั๋วปารีส’ ชี้!! การถูกจับด้วย ม.112 คือจุดจบของเกมที่คนเหล่านี้เริ่มไว้

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก 'ปราชญ์ สามสี' ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ย้อนรอยไม่ลืม — จากข้อมูลเครือข่าย ‘ตั๋วปารีส’ สู่วันที่คนเหล่านี้โดนจับ
โดย ป.สามสี

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คือ ‘เรื่องเก่า’ ที่ข้าพเจ้าและอีกหลายคนเคยพูด เคยเตือน และเคยเขียนไว้แล้วนับตั้งแต่หลายปีก่อน

ชื่อของ Paul Wesley Chambers และเครือข่ายนักวิชาการต่างชาติ-ไทย ที่สนิทชิดเชื้อกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ไม่ได้โผล่มาแบบไร้ร่องรอย แต่มีประวัติปรากฏชัดเจนในฐานข้อมูลสาธารณะและแหล่งทุนต่างชาติหลายแห่ง

พวกเขาคือขบวนการที่อ้างชื่อวิชาการ แต่แฝงไว้ด้วยแนวคิดแทรกแซงประเทศ ใช้วาทกรรมเสรีนิยมครอบสังคมไทยด้วยการบิดเบือนประวัติศาสตร์ชาติ บั่นทอนสถาบันหลัก และสร้างภาพจำแบบตะวันตกให้กับคนรุ่นใหม่ผ่านหนังสือ บทความ สัมมนา และทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างชาติ

ในปี 2564 ชื่อของเขาถูกบันทึกไว้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนจาก Taiwan Foundation for Democracy เพื่อผลิตผลงานในเครือข่าย Milk Tea Alliance ซึ่งเราเคยชี้ไว้แล้วว่านี่คือกลไกแทรกแซงทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ ที่แฝงตัวอยู่ในวงวิชาการอาเซียน

และวันนี้ — ปี 2568 — ความจริงที่เคยถูกมองข้ามก็ย้อนกลับมาทวงถาม
เมื่อข่าวออกมาว่า หนึ่งในบุคคลที่เคยได้รับการกล่าวถึงในข้อมูลนี้ ถูก เจ้าหน้าที่ไทยควบคุมตัว และ ตรวจสอบสถานะการพำนัก-การทำงานในประเทศ โดยมีหลักฐานเชื่อมโยงทั้งทางเครือข่าย ทุนต่างชาติ และกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของวีซ่า

นี่จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจสำหรับผู้ติดตาม ‘ขบวนการตั๋วปารีส’ และพฤติกรรมแทรกแซงของนักวิชาการข้ามชาติ แต่เป็นเพียง ‘จุดจบของเกม’ ที่คนพวกนี้เริ่มเล่นไว้นานแล้ว

สิ่งที่น่าคิดคือ… ทำไมหน่วยงานไทยเพิ่ง ‘กล้าจับ’ ในวันนี้? หรือว่าวันนี้ เราเริ่มตาสว่างและเลิกกลัวเสียงจากต่างชาติแล้วจริง ๆ

เรื่องนี้ไม่ใช่บทสรุปของการต่อสู้ทางความคิด — แต่มันคือเครื่องเตือนใจว่า หากเราไม่เฝ้าระวัง สิ่งที่เรียกว่า ‘วิชาการ’ อาจกลายเป็นอาวุธที่ย้อนกลับมาทำลายชาติเราเอง

นอกจากนี้ ยังได้แชร์โพสต์ที่ทางเพจเคยโพสต์ไว้เมื่อ 17 ส.ค. 66 ที่ระบุว่า…

เรามารื้อเครือข่ายอาจารย์ ในเครือข่าย #ตั๋วปารีส ที่สนิท ชิดเชื้อ ปวิน กันมั่งดีกว่า 
พอล แชมเบอร์ (Dr. Paul Wesley Chambers)

-อาจารย์ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
-นักวิจัยในสังกัด Peace Research Institute Frankfurt (PRIF)
-เกิดที่เมืองนอร์แมน รัฐโอกลาโฮมา สหรัฐฯ
-จบการศึกษาปริญญาเอกจากคณะ Southeast Asian Studies and Political Science มหาวิทยาลัย Northern Illinois University

-อดีตผู้ช่วยอาจารย์มหาวิทยาลัย Northern Illinois University
-เคยทำงานให้กับ Cambodian Institute for Cooperation and Peace
-อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัย Institute of South East Asian Affairs (ISEAS) - Yusof Ishak Institute องค์กร Think Tank ประเทศสิงคโปร์
-อดีตเจ้าหน้าที่ Peace Corps หน่วยงานในสังกัดรัฐบาลสหรัฐฯ

นายพอล แชมเบอร์ เคลื่อนไหวในรูปแบบของนักวิชาการ ร่วมกับเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ มีข้อมูลสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบุคคลและเครือข่ายของ National Endowment for Democracy (NED) คือนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

และเว็บไซต์ the101.world อีกทั้งยังมีความใกล้ชิดกับคนในขบวนการต่อต้านสถาบันฯ หลายคน เช่น นาย เซอฮัด อูนาลดิ (Serhat Ünaldi) มหาวิทยาลัยฮุมโบลด์แห่งเบอร์ลิน.  ผู้เขียนหนังสือ Working towards the Monarchy: The Politics of Space in Downtown Bangkok

นายเดวิด สเตร็คฟัสส์ (David Streckfuss) นายเคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti) นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้เขียนหนังสือ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand (Southeast Asia Studies Monographs), ASEAN-U.S. Relations: What Are the Talking Points, มนุษย์ต่างด้าว, การทูตทักษิณ, Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand เป็นต้น

แล้วถึงแม้ว่านายพอลจะเป็นอดีตผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัย ISEAS แต่เมื่อเดือนกันยายน 2565 นายพอลก็ยังเขียนบทความเกี่ยวการเมืองไทยให้กับ ISEAS (บริหารโดย Choi Shing Kwok อดีตผอ.ข่าวกรองฯ กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์) และเดือนกรกฎาคม 2564 นายพอลเป็น 1 ใน 4 คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้รับทุนจาก The Taiwan Foundation for Democracy (NGO ในเครือพันธมิตร NED ของไต้หวัน) สำหรับงานวิจัย ‘Strengthening the Milk Tea Alliance: Building Democracy and Freedom through Film and Discussion’

จะเห็นได้ว่า เครือข่ายอาจารย์ทั้งไทยและต่างชาติที่ไปปรากฏตัวที่ปารีส ส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งขบวนการ พันธมิตรชานม ที่เข้าแทรกแซง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเอง

ตัวนาย พอล แชมเบอร์ เข้าใจว่า ที่อยู่ในไทยได้เพราะได้รับการสนับสนุน จาก อาจารย์บางท่าน ใน ม.นเรศวร ให้การสนับสนุน ให้ข้าวให้น้ำมากเลยทีเดียว ไม่รู้เป็นไรกันน่อ…

เรื่อง : ปราชญ์ สามสี

‘ราชกิจจาฯ’ ประกาศ ‘ทางพิเศษบูรพาวิถี-กาญจนาภิเษก’ วิ่งฟรี 7 วัน ช่วย ปชช. ลดค่าครองชีพ ลดมลพิษ จราจรคล่องตัวช่วงเทศกาลสงกรานต์

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.68) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม 2 ฉบับ มีเนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 นี้ โดยเปิดให้ประชาชน ‘ขึ้นทางด่วนฟรี’ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดังนี้

1.ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้ สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2568

2.ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2568

ตามประกาศกระทรวงคมนาคมทั้ง 2 ฉบับ กำหนดการเปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี รวมระยะเวลา 7 วัน เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568

เส้นทางที่เปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี
-ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้ สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อม ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี

-ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)

สำหรับการเปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี 2 เส้นทางดังกล่าว ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ประเมินว่า จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นทำให้การจราจรมีความคล่องตัว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ และลดมลพิษทางอากาศ 

โดยการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเส้นทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คาดว่าจะมีปริมาณจราจรมาใช้ทางพิเศษประมาณ 2,377,669 คัน จะทำให้กทพ.ไม่ได้รับรายได้ประมาณ 86,128,889 บาท 

แต่จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจประเมินเป็นมูลค่าเงินประมาณ 153,424,348 บาท ประกอบด้วย

-มูลค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ 93,664,900 บาท 
-มูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง 59,759,448 บาท

เปิด 4 ประเด็นสำคัญ 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' สื่อสารตรงไปตรงมากับประชาชนสิงคโปร์ ยอมรับความจริง สร้างความมั่นใจ ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

(5 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของประเทศสิงคโปร์ ประกาศเตือนประชาชนผ่านคลิปวิดีโอบนยูทูบ ‘@Lawrence_Wong’ ระบุว่า “เราไม่สามารถคาดหวังได้อีกว่า กฎกติกาที่เคยปกป้องประเทศเล็กๆ อย่างเรา จะยังดำรงอยู่เหมือนเดิม”

นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ระบุเพิ่มว่า “โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความจริงอันโหดร้ายที่ประเทศมหาอำนาจจะขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ส่วนตน และใช้อำนาจทางเศรษฐกิจหรือแรงกดดันเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ…

“เราจะต้องเตรียมพร้อมทั้งทางจิตใจและการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท เราไม่สามารถรอให้ภัยมาถึงหน้าประตูบ้านแล้วค่อยตั้งรับ ความเสี่ยงนั้นเป็นเรื่องจริง และเดิมพันในครั้งนี้สูงมาก”

นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างรุนแรงในเวทีการค้าโลก โดยระบุว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้สะท้อนว่า ยุคของโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนด้วยกฎเกณฑ์และการค้าเสรีได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังถูกแทนที่ด้วยโลกที่เต็มไปด้วย กำแพงภาษี การกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอน”

เขายกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำในการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดตามกฎ WTO (องค์การการค้าโลก) ว่า “ขณะนี้กลับกลายเป็นผู้นำในการบ่อนทำลายระบบนั้นด้วยการดำเนินนโยบายแบบทวิภาคีและตอบโต้เชิงภาษี สิ่งที่สหรัฐฯ ทำอยู่ไม่ใช่การปฏิรูประบบ WTO แต่เป็นการละทิ้งระบบที่พวกเขาเองเคยสร้างขึ้น”

แม้สิงคโปร์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราภาษีในระดับต่ำ ประมาณ 10% จากโครงสร้างใหม่ของสหรัฐฯ แต่นายหว่องเตือนว่า “ผลกระทบเชิงระบบจะลึกและกว้างกว่านั้นมาก โดยเฉพาะหากประเทศอื่น ๆ เลือกดำเนินรอยตามแนวทางเดียวกัน ประเทศเล็กอย่างเราเสี่ยงที่จะถูกบีบ ถูกมองข้าม และถูกทิ้งไว้ข้างหลังในระบบที่ไม่เอื้อให้กับผู้เล่นขนาดเล็ก”

นายกสิงคโปร์ เน้นย้ำ จุดแข็งของประเทศ คือ ความสามัคคีและเงินสำรอง แม้ภาพรวมของโลกตอนนี้จะมีความน่ากังวล แต่นายหว่องกล่าวย้ำว่า “สิงคโปร์ยังคงมี ‘ข้อได้เปรียบเชิงโครงสร้าง’ ที่ทำให้ประเทศสามารถตั้งรับและปรับตัวได้อย่างแข็งแกร่ง”

“เรามีเงินสำรองที่มั่นคง เรามีความเป็นเอกภาพภายในประเทศ และเรามีความมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดในหลักการของเรา” เขากล่าว “เราจะยังคงเสริมสร้างขีดความสามารถของเรา และขยายเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน”

เขายังย้ำถึงความจำเป็นในการตระหนักรู้ต่อความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งในระดับการค้า การเมือง และความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนมีสติ เตรียมพร้อม และไม่ประมาทต่อคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังซัดเข้ามา

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ว่า…

“#ผู้นำสิงคโปร์ 🇸🇬 นายกฯ สิงคโปร์ #ไม่ชะล่าใจ ออกทีวี เน้นพูดอย่างจริงใจ พูดตรงจุดตรงใจในสิ่งที่ประชาชนกังวล/ต้องการความมั่นใจ (ไม่พูดเยิ่นเย้อ ไม่ใช้สำนวนลิเก ไม่บ้าประดิษฐ์คำ) สรุป 4 ประเด็น ตามนี้ค่ะ

1) ยอมรับปัญหา this troubled world โลกถูกปั่นป่วนไม่เหมือนเดิม กล้าพูดความจริงกับประชาชน #ไม่โลกสวย 

2) #ยอมรับความจริง เศรษฐกิจสิงคโปร์มีขนาดเล็ก small and open economy ยังไงก็ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลก เสี่ยงสูงต่อปัจจัยภายนอก

3) #สร้างความมั่นใจ ในศักยภาพของสิงคโปร์ หากเกิดวิกฤต สิงคโปร์ก็ยังมี #ทุนสำรอง reserves มากพอ (มากติดอันดับ 10 ของโลก) ไว้ใช้ยามฉุกเฉินจำเป็น และจะ #สร้างเครือข่าย ความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดเหมือนกัน 

4) ขอให้เตรียมใจ be mentally prepared ขอให้มี resolute and united แล้วเราจะผ่าน #โลกที่เต็มไปด้วยปัญหา นี้ไปด้วยกัน 🇸🇬 #เน้นความสามัคคีแน่วแน่  ของคนในชาติ

คลิกฟังคลิปเต็ม นายกฯ Lawrence Wong ของสิงคโปร์ 🇸🇬 04.04.2025 https://youtu.be/A3hS93y7C0I?feature=shared

‘อ.เจษฎ์’ ยืนยัน!! ‘ต้นไมยราบ’ ใช้เตือนภัยแผ่นดินไหวไม่ได้ ตอบสนองไวต่อ ‘ลม-น้ำฝน-แมลง’ มากกว่าแรงสั่นแผ่นดินไหว

(5 เม.ย. 68) จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางประเทศเมียนมา แต่ส่งผลกระทบกับไทยในหลายจังหวัดและเป็นสาเหตุของตึก สตง. ถล่มจนทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและ สูญหายหลายราย หลังจากนั้นในโซเชียลก็ได้มีข้อมูลส่งต่อกันว่า ‘ต้นไมยราบ’ สามารถเตือนแผ่นดินไหวได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ‘อ.เจษฎ์’ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Jessada Denduangboripant’ ว่า….

“ถึงแม้ว่า ต้นไมยราบ หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mimosa pudica จะถูกตั้งสมญานามให้กว่า เป็น earthquake plant เพราะคิดกันว่ามันน่าจะหุบใบได้ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหว พอลองตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่าเป็นความจริงนะครับ ที่บอกว่าคนญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นไมยราบเพื่อแจ้งเหตุล่วงหน้า แถมก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ ว่า ต้นไมยราบมันสามารถทำเช่นนั้นได้จริง ออกจะเป็นเรื่องเล่า เชื่อตามกันมากกว่า”

“โดยทาง IG ของ wachistudio ซึ่งเป็น content creator ด้านการเพาะพันธุ์และจำหน่ายพืชไม้ประดับ ได้ไปหาข้อมูลและสอบถามคนญี่ปุ่นเพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ ว่าจริงหรือไม่ที่ชาวญี่ปุ่นปลูกต้นไมยราบเพื่อตรวจเช็กแผ่นดินไหว?”

“ไม่จริงครับ แม้ว่าไมยราบจะเป็นพืชที่ไวต่อการสัมผัส ใบจะหุบเมื่อถูกกระทบ จนบางคนตั้งสมมติฐานว่า น่าจะเอามาตรวจจับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้”

“แต่ในความเป็นจริง ไมยราบไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจแผ่นดินไหว เพราะการตอบสนองของมัน อ่อนไหวต่อปัจจัยอื่น ๆ เช่น ลม หรือน้ำฝน หรือการสัมผัสจากสัตว์เล็ก ๆ มากกว่าจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั่นเอง”

“สำหรับการตรวจจับแผ่นดินไหว ญี่ปุ่นจะใช้เซ็นเซอร์ และระบบเครื่องมือทันสมัย ในการตรวจจับ แทนการที่จะใช้พืช อย่างไมยราบครับสำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ พฤติกรรมของต้นไมยราบกับแผ่นดินไหวนั้น เคยมีการทำในสมัยทศวรรษที่ 1970 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ตามที่มีเรื่องเล่าว่า ใบของต้นไมยราบก่อนจะเกิดแผ่นดินไหวได้”

“โดยในปี 1977 มีนักวิจัยพยายามวัดค่า Tree Bio-electric Potential (TBP) ด้วยการติดอิเล็กโทรด ขั้วหนึ่งไว้ที่ใบของต้น กับอีกขั้วหนึ่งฝังลงในดิน วัดค่าศักย์ไฟฟ้า electricpotential ระหว่างอิเล็กโทรดทั้งสอง ขณะที่เกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ขนาดประมาณ 7.0 จำนวน 28 ครั้ง ซึ่งพบว่ามีอยู่ 17 ครั้งที่แสดงสัญญาณที่ผิดปกติไป และคาดว่าอาจจะเกิดจากการได้รับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า (electric magnetic, EM) ห่างจากดินสู่ราก หรือได้รับประจุไอออนบางอย่างจากอากาศ”

“แต่นักวิจัยก็สรุปว่ายังไม่สามารถจะอธิบายได้ชัดเจนถึงกลไกที่เกิดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะใช้มาทำนายการเกิดแผ่นดินไหว ทั้งในเรื่องของเวลา สถานที่และขนาด นั้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก”

“คำสรุปก็คือว่า เรื่อง ‘ต้นไมยราบบอกเหตุแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า’ ก็ไม่น่าจะเป็นความจริง เป็นแค่เรื่องเล่า ไม่ค่อยต่างอะไรกับที่บอกว่าสัตว์ต่าง ๆ สามารถแจ้งเตือนแผ่นดินไหวช่วงหน้าได้ ซึ่งไปทางธรณีวิทยานั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่าจริงครับ”

‘พีระพันธุ์’ มอบ ‘เลขา รมต.’ ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ ส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์จากชาวบ้าน พร้อมแนะพัฒนาด้านคุณภาพ-ความปลอดภัย

เมื่อวานนี้ (5 เม.ย. 68) นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ หลังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติขยะยโสธร ขอรับงบประมาณสนับสนุนในการซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะมาใช้ในพื้นที่

ก่อนการลงพื้นที่ในวันนี้ (5 เม.ย. 68) ได้มีการสั่งการให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน พร้อมพลังงานจังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ ซึ่งใช้กระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) เป็นกระบวนการสลายตัวด้วยความร้อนที่ไม่สมบูรณ์ในสภาวะปราศจากออกซิเจนหรือมีออกซิเจนน้อยที่สุด อุณหภูมิที่เหมาะสมสําหรับพลาสติกอยู่ในช่วง 300-500 องศาเซลเซียส โดยความร้อนจะทําให้พันธะเคมีสลายตัว 

ส่วนที่เป็นองค์ประกอบคาร์บอนที่ระเหยได้จะกลายเป็นก๊าซเชื้อเพลิงและบางส่วนที่ถูกควบแน่นจะกลายเป็นของเหลวที่มีลักษณะคล้ายนํ้ามันเตา ซึ่งนํ้ามันดังกล่าวสามารถนําไปใช้ประโยซน์และต่อยอดในการใช้งานได้ เนื่องจากมีค่าความร้อนสูง จึงสามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพี่อผลิตความร้อนสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ อีกทั้ง หากมีการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะมีคุณสมบัติเทียบเท่านํ้ามันเชื้อเพลิงสามารถใช้งานกับเครื่องยนต์ทางการเกษตรได้

ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวมีราคาประมาณ 25,000 บาท แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตอาจจะเกิดสารปนเปื้อนซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้ปฎิบัติงานในระยะยาว อีกทั้งตำแหน่งการจัดวางเครื่องมีความเสี่ยงที่อาจจจะเกิดการลุกไหม้ได้ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ไม่เหมาะสม 

นอกจากนั้น น้ำมันที่ผลิตได้มีลักษณะเป็นยางเหนียวที่สามารถเกาะเคลือบบริเวณที่สัมผัสกับเครื่องยนต์ ถึงแม้จะมีการกลั่นเบื้องต้นแล้ว น้ำมันสามารถใช้ได้เฉพาะกับเครื่องยนต์การเกษตร กระทรวงพลังงานจึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงคุณภาพเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยกับเครื่องยนต์และผู้ใช้งาน

“หลังจากได้รับหนังสือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติขยะยโสธร นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งปกติท่านให้ความสำคัญกับประชาชนทุกคน และคิดว่าเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ จึงไม่อยากให้สิ่งประดิษฐ์นี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ แค่ในอำเภอชัยบาดาล เพราะถ้าเครื่องกลั่นน้ำมันมีคุณภาพ นำไปใช้งานได้จริง ก็จะสามารถขยายผลไปสู่ระดับประเทศและระดับโลกได้ เพราะการนำขยะมาสร้างมูลค่า ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้อีกทาง ซึ่งการผลิตน้ำมันได้เองนี้ก็เป็นเป้าหมายสำคัญในการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน…

“แต่ทั้งนี้ เพื่อให้เครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะ มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และที่สำคัญต้องมีความปลอดภัย จึงได้มอบหมายให้ดิฉันฯ ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เจ้าหน้าที่กรมธุรกิจพลังงาน และพลังงานจังหวัดลพบุรี ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้น เครื่องกลั่นน้ำมันดังกล่าวยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย จึงได้มอบหมายให้ผู้แทน พพ. พิจารณาตรวจสอบเครื่องกลั่นน้ำมัน และให้ ธพ. ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันที่ได้จากเครื่อง คาดว่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ และจะนำเรื่องเสนอท่านรัฐมนตรีต่อไป” นางสาวอรพินทร์ฯ กล่าว 

‘จีน’ สั่งระงับนำเข้า ‘เนื้อสัตว์ปีก-ข้าวฟ่าง’ จากสหรัฐฯ หลังตรวจพบสารปนเปื้อนที่อันตรายต่อสุขภาพ

(5 เม.ย. 68) สำนักข่าว Xinhua News รายงานว่า ‘จีน’ ตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ด้วยการขยับภาษีในอัตราเดียวกัน 34% ในสินค้าหลายประเภท และล่าสุดสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีน ประกาศระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีก และข้าวฟ่างจากบริษัทสหรัฐฯ บางแห่งมายังจีน

ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2568 จีนจะระงับคุณสมบัติของบริษัทซี&ดี (ยูเอสเอ) อิงก์ (C&D (USA) Inc.) ในการส่งออกข้าวฟ่างสู่จีน รวมถึงระงับคุณสมบัติของบริษัทสหรัฐฯ อีก 3 แห่ง ได้แก่ อเมริกัน โปรตีนส์, อิงก์ (American Proteins, Inc.) เมาน์แทร์ ฟาร์มส ออฟ เดลาแวร์, อิงก์ (Mountaire Farms of Delaware, Inc.) และดาร์ลิง อินกรีเดียนต์ส อิงก์ (Darling Ingredients Inc.) ในการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและกระดูกป่นสู่จีนด้วย

การตัดสินใจนี้ เกิดขึ้นหลังจากศุลกากรของจีนตรวจพบสารซีราลีโนน และเชื้อราในข้าวฟ่างนำเข้าจากสหรัฐฯ ในปริมาณสูงเกินมาตรฐาน รวมถึงสารซาลโมเนลลาในเนื้อสัตว์ปีกและกระดูกป่นนำเข้าจากสหรัฐฯ จึงต้องมีการระงับการนำเข้าเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคชาวจีน และความปลอดภัยของภาคการเลี้ยงสัตว์ในจีน

ในประกาศแยกอีกฉบับ สำนักบริหารฯ ยังประกาศระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากบริษัทสหรัฐฯ 2 แห่งทันที ได้แก่ เมาน์แทร์ ฟาร์มส ออฟ เดลาแวร์, อิงก์ และโคสทอล โพรเซสซิง จำกัด (Coastal Processing, LLC)

"การระงับการนำเข้าครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ศุลกากรของจีน ตรวจพบสารฟูราซิลลิน ซึ่งเป็นยาต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ไก่ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ หลายครั้ง และการตัดสินใจนี้เป็นไปเพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค" รายงานจาก สำนักบริหารฯ กล่าวสรุป 

อย่างไรก็ตาม การประกาศระงับนำเข้าเนื้อสัตว์ปีก ข้าวฟ่าง จากสหรัฐ เหตุพบสารปนเปื้อนครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังการประกาศขึ้นภาษีของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อจีนและหลายประเทศทั่วโลก เพียง 1 วัน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จีน ยังได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) จากการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้จากคู่ค้าทุกราย เช่นกัน

‘หนุ่มจีน’ ตัดสินใจเลิกเลี้ยงสุนัข หันมาเลี้ยงควายในห้องเช่าแทน เผย เลี้ยงไว้เตือนใจตัวเอง ไม่ให้ถูกกดขี่ทำงานหนักแบบไร้จุดหมาย

(5 เม.ย. 68) เรื่องราวของชายชาวจีนวัย 30 ปีในเมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน กลายเป็นกระแสร้อนบนโลกออนไลน์ หลังโพสต์คลิปวิดีโอที่เขาเลี้ยงควายไว้ในห้องเช่า ดูแลอย่างดี ทั้งอาบน้ำ ใส่เสื้อผ้า และพาไปเดินเล่น โดยตั้งชื่อควายว่า ‘หนิวโหมวหวัง’ ซึ่งแปลว่า ‘ราชาควาย’

ชายแซ่เฉิน เคยเป็นนักมวยมาก่อน ปัจจุบันรับจ้างเป็นครูฝึกมวยในฟิตเนส เขาเล่าว่าเดิมทีเคยเลี้ยงหมาแต่รู้สึกว่าเสียงดังและซนเกินไป จึงเปลี่ยนมาเลี้ยงควายแทนเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

เฉินบอกว่าเขาเคยเช่าห้องอยู่ในหมู่บ้าน แต่พอเลี้ยงควายได้ไม่นานก็ถูกเจ้าของบ้านไล่ออก เขาจึงต้องย้ายมาหาห้องเช่าใหม่ที่ไม่ห้ามเลี้ยงสัตว์ เขายืนยันว่าควายของเขาเชื่อง ไม่สร้างปัญหาให้เพื่อนบ้าน “มันจะร้องแค่ตอนหิวเท่านั้น ปกติแล้วนิ่งมาก”

สำหรับสิ่งที่ยากที่สุดในการเลี้ยงควายในเมืองคือเรื่องความสะอาด เฉินบอกว่าเขาต้องล้างพื้นและฆ่าเชื้อเป็นประจำ

มีคนตั้งคำถามว่าเขาทำแบบนี้เพื่อเรียกกระแสหรือสร้างชื่อเสียงหรือไม่ แต่เฉินตอบว่าเหตุผลจริง ๆ ที่เลี้ยงควาย เพราะต้องการเตือนใจตัวเองว่า “อย่ายอมให้ใครใช้งานหนักเหมือนวัวเหมือนม้า” หมายถึงไม่ยอมใช้ชีวิตแบบคนที่ถูกกดขี่หรือถูกสั่งให้ทำงานหนักโดยไร้จุดหมาย 

เขาเสริมว่า “ผมรู้ตัวว่าไม่ใช่คนธรรมดา ผมเลี้ยงควายเพื่อเตือนตัวเองว่าต้องไม่ยอมแพ้ ต้องพยายามและลุกขึ้นสู้ให้ได้เสมอ”

ตอนนี้เขาพาควายกลับบ้านต่างจังหวัดช่วงเทศกาลเช็งเม้ง และยืนยันว่าจะเลี้ยงมันต่อไป แม้จะลำบากแค่ไหนก็ตาม “ถ้าคุณรักมัน คุณก็ยอมรับมันได้ทุกอย่าง”

ผิดมหันต์!! แนวคิด ‘ปล่อยธนาคารยึดคอนโดฯ’ หลังเกิดแผ่นดินไหว เพราะคือจุดเริ่มต้นของ ‘คดีความยืดเยื้อ’ เสียประวัติ-ติดเครดิตบูโร

(5 เม.ย. 68) จากเฟซบุ๊ก Joe Amatyakul ได้โพสต์ข้อความเตือนใจกลุ่มคนที่กำลังผ่อนคอนโดฯ แต่เริ่มมีความคิดจะปล่อยให้ธนาคารยึด หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ว่า…

“หลังแผ่นดินไหว เห็นน้อง ๆ บางคนโพสต์ว่า ย้ายออกจากคอนโด จะไม่ผ่อนต่อแล้ว จะทิ้งให้ ธ.ยึดไปเลย…

“อย่าทำเด็ดขาด…อ่านโพสต์พี่โจก่อนครับ…

“ต้องแยกแยะก่อนว่า การซื้ออสังหาโดยผ่อนกับ ธ. ตัวคุณคือ ‘ผู้ถือกรรมสิทธิ์’ ในบ้าน/คอนโดนั้น ส่วน ธ.อยู่ในฐานะ ‘เจ้าหนี้’ ที่ให้คุณยืมเงินเพื่อไปจ่ายให้ผู้ขาย…

“ธ.ไม่ใช่เจ้าทรัพย์ ธ.ต้องการแค่ ‘ดอกเบี้ย’ (และเงินต้น) จากคุณอย่างครบถ้วน ธ.ไม่ต้องการบ้านของคุณ…

“การที่คุณขนของออกจากคอนโด ปล่อยให้เค้ายึด แล้วคิดว่านั่นคือจบ.. มันไม่จบครับ ‘คดีเพิ่งเริ่มต้น’ 
ธ.ไม่สนว่าคุณจะอยู่จะไป แต่เมื่อคุณหยุดจ่าย ธ.จะทวง พอเยอะเข้า ธ. ก็จะดำเนินคดีให้คุณจ่ายทั้งต้นทั้งดอก…

“เมื่อคุณไม่จ่าย ธ.ก็ฟ้องยึดบ้านไปขายทอดตลาด…

“ส่วนใหญ่ก็จะขายได้ต่ำกว่ายอดหนี้เยอะ ซึ่ง ธ.ไม่หยุดแค่นั้น จะฟ้องคุณซ้ำอีกเพื่อเรียกส่วนที่ยังขาด ถ้าคุณไม่จ่ายอีก ก็จะเข้าสู่ขั้นตอน ‘สืบทรัพย์’ ว่าคุณมีทรัพย์อะไรที่ไหนบ้าง ตามยึดที่ไร่ที่นาบ้าง ตามยึดรถบ้าง โดนอายัดเงินเดือนก็มี จนกว่าเจ้าหนี้จะได้ครบทั้งต้นทั้งดอก…

“สรุปคืออย่าหาทำนะครับ จะเป็นคดีติดตัวเปล่า ๆ ทั้งเครดิตบูโรก็จะพังเละเทะทำอะไรไม่ได้ไปอีกนาน 
จะกัดฟันส่งต่อ จะขาย จะปล่อยเช่า จะลดแลกแจกแถมอะไรก็เหอะ แต่ปล่อยให้ ธ.ยึดไม่ได้เด็ดขาด คดียาว…

“เป็นหนี้ก็ต้องใช้ ไม่มีหนี้คือดีที่สุด แต่ถ้าพลาดไปแล้วก็ต้องหาทางลงแบบถูกวิธี ปล่อยทิ้งไม่ได้นะครับ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top