Thursday, 22 May 2025
TheStatesTimes

23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ‘ในหลวง ร.10’ พระราชทานทรัพย์กว่า 2,800 ล้านบาท สมทบทุน-จัดหาอุปกรณ์การแพทย์ รับมือวิกฤตโควิด-19

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เพจโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยแพร่ข้อความระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยประชาชน และบุคลากรการแพทย์ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างยิ่ง

การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสมทบทุนและจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ได้แก่…

1. พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 100,000,000 บาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช

2. พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 2,407,144,487.59 บาท แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ และสถานพยาบาล 29 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์

3. พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 345,000,000 บาท แก่เรือนจำ ทัณฑสถาน และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์

‘อุดรธานี’ (ว่าที่) เมืองแห่งสองมรดกโลก หลัง ‘ภูพระบาท’ มีลุ้น!! ปลายกรกฎาคมนี้

แหล่งมรดกโลกเป็นสถานที่สำคัญและพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศที่บริหารงานโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ว่ามีความสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ สถานที่เหล่านี้ได้รับการตัดสินว่ามี ‘มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติทั่วโลกที่ถือว่ามีคุณค่าโดดเด่นต่อมนุษยชาติ’ โดย UNESCO จะเป็นผู้พิจารณาในการกำหนดแหล่งมรดกโลก (World Heritage Sites) ที่มีคุณค่าสากลอันโดดเด่นใน 2 ด้าน คือ (1) มรดกทางวัฒนธรรม และ (2) มรดกทางธรรมชาติ ซึ่งแหล่งมรดกโลกดังกล่าวเหล่านั้นได้รับการเสนอชื่อโดยประเทศผู้ลงนามในอนุสัญญามรดกโลกของยูเนสโก ปี 1975 (พ.ศ. 2518)

โดย ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ประกอบด้วยอนุสรณ์สถาน เช่น งานสถาปัตยกรรม ประติมากรรมขนาดใหญ่ หรือจารึก กลุ่มอาคาร และสถานที่ รวมถึงแหล่งโบราณคดี ส่วน ‘มรดกทางธรรมชาติ’ ประกอบด้วยการก่อตัวทางกายภาพและชีวภาพ การก่อตัวทางธรณีวิทยาและทางกายภาพ ซึ่งรวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชที่ถูกคุกคาม และแหล่งธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญจากมุมมองของวิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ หรือความงามตามธรรมชาติ ให้คำจำกัดความว่าเป็นธรรมชาติ มรดก ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กันยายน 1987 (พ.ศ. 2530)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 (พ.ศ. 2566) ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกอยู่ในรายการบัญชีทะเบียนแหล่งมรดกโลกอยู่ของ UNESCO อยู่ 7 แห่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 4 แห่ง และอีก 3 แห่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยแหล่งมรดกโลกของไทย 3 แห่งแรก ถูกประกาศในปี 1991  (พ.ศ. 2534) ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เมืองประวัติศาสตร์อยุธยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ปี 1992 (พ.ศ. 2535) ต่อมา แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ปี 2005 (พ.ศ. 2548) กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ปี 2021 (พ.ศ. 2564) กลุ่มป่าแก่งกระจาน และแหล่งมรดกโลกของไทยที่ได้การประกาศขึ้นทะเบียนล่าสุดคือ เมืองโบราณศรีเทพเมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้องในปี 2023  (พ.ศ. 2566)

ทั้งนี้ ที่ตั้งแหล่งมรดกโลกในประเทศไทยตามรูปประกอบ ‘จุดสีทอง’ บ่งบอกถึงแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และ ‘จุดสีเขียว’ เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ หมายเลข 1-5 ที่ตั้งเขตป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ : 1. เขาใหญ่, 2. ทับลาน, 3. ปางสีดา, 4. ตาพระยา, 5. ดงใหญ่ และหมายเลข 6-9 แสดงถึงที่ตั้งของป่าแก่งกระจาน 6. เฉลิมพระเกียรติไทยประจัน, 7. แม่น้ำภาชี, 8. แก่งกระจาน และ  9. กุยบุรี

 

นอกเหนือจากแหล่งที่ถูกประกาศขึ้นทะเบียนไว้ในรายการแหล่งมรดกโลกแล้ว ประเทศสมาชิกยังสามารถเสนอรายชื่อสถานที่เบื้องต้น (Tentative list) ที่อาจพิจารณาเสนอชื่อเป็นแหล่งมรดกโลกได้ การเสนอชื่อเข้าชิงรายชื่อมรดกโลกจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อสถานที่นั้นเคยอยู่ในรายการเบื้องต้นเท่านั้น ณ ปี 2024  (พ.ศ. 2567) ไทยยังมีสถานที่อีก 7 แห่งอยู่ในรายการเบื้องต้นของแหล่งมรดกโลกได้แก่ (1) อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (2) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช (3) อนุสรณ์สถานแหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงล้านนา (4) พระธาตุพนม และสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง (5) กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด (6) แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน และ (7) สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา

หากนอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว ถ้าพูดถึง ‘จังหวัดอุดรธานี’ แหล่งมรดกโลกแห่งแรกคือ ‘แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง’ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง (ในเขตเทศบาลตำบลบ้านเชียง) อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปี แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี 1992 (พ.ศ. 2535) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ มลรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลกว่า “เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว”

นอกจากนี้ ‘จังหวัดอุดรธานี’ ยังมี ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า ‘ป่าเขือน้ำ’ บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทางประมาณ 67 กม.

โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแห่งนี้ ปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว มีการพบภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้างตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี โดยพื้นที่ภูพระบาทนับเป็นแหล่งสีมาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางธรณีวิทยาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา ในฐานะของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่ประกอบพิธีกรรม

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 ปี 2024 (พ.ศ. 2567) ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย ระหว่างวันที่ 21 - 30 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ ได้รับการบรรจุเป็นวาระในการพิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในครั้งนี้ด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก โดยเมื่อ 1 เมษายน 2003 (พ.ศ. 2547) UNESCO ได้ขึ้น ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ เป็นสถานที่ที่ได้รับขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมไว้แล้ว

แต่กระนั้น ปี 2016 (พ.ศ. 2559) สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (ICOMOS) ได้แจ้งให้ทางการไทยทราบเกี่ยวกับการเสนอ ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของทางการไทย โดยมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมของเสมาหินกับพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ศักยภาพที่โดดเด่นของอุทยานฯ รวมทั้งหากเป็นไปได้ เสนอให้พิจารณาเกณฑ์และขอบเขตการขึ้นทะเบียนอุทยานฯ ตามที่ทางการไทยเสนอ โดยมีข้อมติเสนอให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเสนอให้เปลี่ยนชื่อแหล่งเป็น ‘Phu Phrabat, a testimony to the Sima stone tradition of the Dvaravati period’ หรือ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ รวมทั้งขอให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ภายหลังจากการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกด้วยคุณค่าความโดดเด่นของการที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี

ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและภาคภูมิใจที่ราชอาณาจักรไทยของเราจะได้มีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความเก่าแก่และมีอยู่ของอารยธรรมของมนุษยชาติที่เกิดในอนุภูมิภาคนี้ ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีที่จะมีเรื่องที่ดีงามและน่าภาคภูมิใจเกิดขึ้นในจังหวัดนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจาก ‘แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมไปแล้วเมื่อ 35 ปีก่อน และขอเรียนฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีและคนไทยทุกคนว่า “การเป็น ‘แหล่งมรดกโลก’ นั้น แม้จะเป็นความยากลำบากและต้องทุ่มเททรัพยากรอย่างมากมายแล้ว แต่ภารกิจที่ยากยิ่งกว่าและต้องเผชิญต่อไปไม่สิ้นสุดคือ การรักษาไว้ซึ่งความเป็น ‘แหล่งมรดกโลก’ ให้ดำรงคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป” 

'ลาว' สร้างกระแส “บ่เอาเงินบาท” ชู!! 1 บาทแลกได้ 250 กีบ อาจทำให้ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ-ส่งผลการท่องเที่ยวพัง

(12 ก.ค.67) จากเพจ 'World Forum ข่าวสารต่างประเทศ' ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่ร้านค้าลาวหลายแห่ง เริ่มปฏิเสธการรับเงินบาทและกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับ 250 กีบ (ซึ่งไม่มีการแลกเปลี่ยนจริง) อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในลาวอย่างมาก เพราะการกระทำเช่นนี้อาจทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกไม่มั่นใจในการใช้จ่ายและทำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังลาว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังประสบปัญหาอยู่แล้ว ว่า...

แคมเปญ เซฟเงินกีบ ลาว 🇱🇦

น่าจะทำให้ลาวเอง ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และเสียโอกาส ดึงนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ ผู้ที่ถือเงินบาท / ดอลลาร์

>> เหตุผล...

1. ร้านค้าจำนวนมาก ประกาศให้เรท 1 บาท / 250 กีบ เพราะอัตราแลกจริง 1 บาท / 700 กีบ โดยประมาณ 

2. ภาครัฐลาว ต้องการเงินตราต่างประเทศ ใช้นำเข้าน้ำมัน อาหาร ฯลฯ และใช้หนี้ต่างประเทศ ซึ่งล้วนแต่ต้องการเงินตราต่างประเทศ เพราะรายได้หลักคือส่งออกและท่องเที่ยว รวมทั้งแรงงานที่ส่งเงินกลับบ้าน 

**จากข้อ 1 นักท่องเที่ยวถือ 'เงินบาท-ดอลลาร์' ไม่กล้าซื้อของ (ซื้อเท่าที่แลกเงินไป) เสียโอกาสการขาย 

**จากแคมเปญระยะยาวถือเป็นเรื่องปลูกจิตสำนึก กระตุ้นการใช้เงินกีบ แต่ไม่ใช่ระยะสั้น และตั้งค่าเงินเอง...?

แน่นอนว่าเหตุผลของแคมเปญ คือ ลดอัตราเงินเฟ้อ และหยุดการอ่อนค่าเงินกีบ (ประเด็น : หากมองญี่ปุ่นเงินเยนอ่อน ยิ่งดึงนักท่องเที่ยวได้มากจนล้น ยิ่งส่งออกได้มาก) 

จากไวรัลหลายร้านค้า ออกมาประกาศ 1 บาทแลกได้ 250 กีบ ซึ่งไม่สอดคล้องอัตราแลกเปลี่ยนจริง น่าจะมีผลต่อการซื้อขาย และความสะดวกในการซื้อ เสียการขาย และเสียนักท่องเที่ยว

‘รมว.ปุ้ย’ ชูกลไก 3 ด้าน ขับเคลื่อน ‘อุตฯ สีเขียว’ ปักธงลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7.2 ล้านตันต่อปี

เมื่อวานนี้ (12 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกลไก 3 ด้าน ประกอบด้วย

>>Green Productivity โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนพลังงานสะอาด อาทิ ปลดล็อกเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และโครงการโรงไฟฟ้าสีเขียว (UGT) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคธุรกิจ 

ผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular แห่งแรกของประเทศในพื้นที่ EEC เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมการ Recycle เพื่อลดการเกิดของเสีย สนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวภาพแทนการเผาทิ้ง เพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 

พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG

>>Green Marketing เน้นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม และ SME ในตลาดยุคใหม่ที่มีการกีดกันทางการค้า รวมถึงกฎหมาย และกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความ ท้าทายในโลกยุคปัจจุบัน พร้อมสนับสนุนการทำ Carbon Footprint of Product และ Carbon Footprint of Organization นอกจากนี้ ยังส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

>>Green Finance ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ผ่านการให้สินเชื่อลดโลกร้อน ต่าง ๆ อาทิ สินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) จากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG Loan) จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และสินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (DIPROM Pay for BCG) จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM)

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาวะโลกเดือด โดยมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นจนเกินสมดุล

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้ดีพร้อม เร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถนำร่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้มากกว่า 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีดีพร้อม กล่าวว่า ดีพร้อม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม ‘Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา’ ซึ่งจะมีเทรนด์ธุรกิจ องค์ความรู้ และมุมมองการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ครบทุกมิติ ทั้งการบรรยายและเสวนาจากองค์กรและบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรมสีเขียว 

รวมถึงกิจกรรมคลินิกให้คำปรึกษาแนะนำจากหน่วยงานพันธมิตรที่มาจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การให้แนะนำสินเชื่อสำหรับธุรกิจรักษ์โลกจากสถาบันการเงิน 

นอกจากนี้ โครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังมีรูปแบบกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศจำนวนกว่า 1,800 ราย และคาดการณ์ว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,380 ล้านบาท 

"เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608"

รรท.รอง ผบ.ตร. เร่งรัดขับเคลื่อนงานความมั่นคงในพื้นที่ภาคเหนือ มุ่งแก้ไขความเดือดร้อน สร้างความสงบสุขอย่างยั่งยืนแก่ประเทศชาติและประชาชน

วันนี้ (12 กรกฎาคม 2567) พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.) ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนงานความมั่นคงในพื้นที่ภาคเหนือ ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้ความสำคัญในการรักษาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และแก้ไขปัญหาภัยคุกคามด้านความมั่นคงในทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้บรรลุผลสำเร็จ เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุดนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้นำนโยบายมาสู่การปฏิบัติ โดยได้มอบหมาย พล.ต.ท.ประจวบฯ ขับเคลื่อนงานความมั่นคงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ให้บรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้ร่วมพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมี นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน โดย พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” และพบปะสมาชิกสันนิบาตเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่ และผู้นำท้องถิ่นภาคเหนือ กว่า 1,200 คน ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อร่วมแสวงหาแนวทางและใช้กลไกความร่วมมือเครือข่ายผู้นำท้องถิ่นและประชาชน ร่วมป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ปัญหาความมั่นคง ชุมชนต้องเข้มแข็งและยั่งยืน            

จากนั้น พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้ตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญ ส.ต.อ.ชินวุฒิ มันทนา ผบ.หมู่ กก.ตชด.33 ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ถูกยิงบริเวณช่องท้องและต้นขา จำนวน 2 นัด ขณะเข้าจับกุมคดียาเสพติด บริเวณบ้านห้วยตุ๊บ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา และพักรักษาตัว ณ โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ พร้อมมอบสิ่งของและเงินบำรุงขวัญ ตลอดจนกำชับให้หน่วยงานต้นสังกัดเร่งรัดสิทธิประโยชน์ให้ได้รับครบถ้วนโดยเร็ว

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ประจวบฯ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ผู้แทนกองทัพภาคที่ 3, สำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 5, สำนักงานศุลกากรภาคที่ 3, จังหวัดเชียงใหม่, ตำรวจภูธรภาค 5, ตำรวจภูธรภาค 6, กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3, กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5, กองบังคับการตำรวจทางหลวง และกองบังคับการตำรวจน้ำ ได้ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ภาคเหนือ ณ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 โดยได้กำชับการป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือ สกัดกั้นขบวนการลักลอบขนยาเสพติดเข้ามาพื้นที่ชั้นใน ตลอดจนการสกัดกั้นทางน้ำ ในส่วนพื้นที่ชั้นใน ต้องบูรณาการกับฝ่ายปกครอง และสำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 5 ในการจับกุมผู้ค้า ขยายผลจับกุมทั้งขบวนการ และใช้มาตรการยึดทรัพย์ โดยชุมชนต้องร่วมมือกันทำให้ชุมชนเข้มแข็งปลอดยาเสพติด และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

พล.ต.ท.ประจวบฯ ยังได้กำชับการแก้ไขปัญหาการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ต้องปราบปรามขบวนการรับตัวจากชายแดน ซุกซ่อนมากับรถเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน ทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง มีรถนำคล้ายกับขบวนการขนยาเสพติด ซึ่งจากสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมา ทำให้มีการหลบหนีเข้ามาหางานทำในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เกิดปัญหาด้านความมั่นคง อาชญากรรมต่าง ๆ จึงต้องเร่งจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวโดยเร็ว พร้อมทั้งเร่งรัดปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติทุกรูปแบบ กลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มทุนสีเทา ซึ่งมักใช้พื้นที่ตามแนวชายแดนประเทศไทยเข้า - ออก ไปประเทศเพื่อนบ้านทางช่องทางธรรมชาติ เพื่อกระทำผิดกฎหมาย เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ เป็นต้น ต้องพิจารณารื้อถอนเสาสัญญานอินเตอร์เน็ต ตรวจค้นแหล่งพักพิงสำหรับใช้เป็นที่กระทำผิด การจับกุม ขยายผล และดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน ในมาตรการยึดทรัพย์ พร้อมทั้งกวดขันการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี และของเถื่อนต่างๆ อีกทั้งได้เน้นย้ำไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์โดยเด็ดขาด

อีกทั้งยังได้แถลงผลการจับกุมรายสำคัญในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 5 ได้แก่ สภ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จับกุมยาบ้า 1 ล้านเม็ด ขยายผลจับกุมเครือข่าย 7 ราย ตรวจยึดทรัพย์สินกว่า 10 ล้านบาท , กองร้อย ตชด.327 ตรวจยึดยาบ้า 3 ล้านเม็ด , บก.สส.ภ.5 จับกุมผู้ต้องหาลักลอบตั้งโรงงานผลิตอาวุธปืน กลางเมืองพะเยา เปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าบังหน้า ตรวจยึดอุปกรณ์การผลิตและส่วนประกอบอาวุธปืนกว่า  269 ชิ้น เงินหมุนเวียนกว่าล้านบาท และจับกุมผู้ต้องหา 4 ราย ติดตั้งเครื่อง Simbox ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 12 เครื่อง ซึ่งสามารถโทรศัพท์หลอกลวงเหยื่อได้วันละไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย

ทั้งนี้ พล.ต.ท.ประจวบฯ ขอบคุณหน่วยร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยตำรวจทุกหน่วย กองกำลังชายแดน ฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่นและภาคประชาชน และหน่วยสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมบูรณาการทำงานด้านความมั่นคงในทุกมิติ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปฏิบัติจะบรรลุผลสำเร็จ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีความปลอดภัย สังคมมีความสงบเรียบร้อย มีสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน

‘หลวงพี่หนุ่ม’ ทำบุญวันเกิด ถวายปัจจัยหลักแสน ร่วมสร้างเจดีย์ ณ วัดป่านาคำน้อย จ.อุดรธานี

(12 ก.ค.67) หลังจากละทางโลกหันหน้าเข้าสู่ทางธรรมมาได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว สำหรับนักร้องชื่อดัง ‘หนุ่ม กะลา’ หรือ หนุ่ม ณพสิน แสงสุวรรณ ที่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่ และอุทิศกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา พร้อมได้รับฉายาทางธรรมว่า ‘สุวณฺโณ’ แปลความหมายได้ว่า ‘ผู้มีแสงธรรมดั่งทอง’ ทางด้านแฟน ๆ และคนบันเทิงต่างร่วมอนุโมทนาบุญกันอย่างมากมาย

ล่าสุด เฟซบุ๊ก Num kala ได้ออกมาโพสต์ภาพพร้อมเปิดเผยว่า ‘หลวงพี่หนุ่ม’ ได้ถวายปัจจัยเป็นจำนวน 106,500 บาท เพื่อร่วมสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ปฏิปทาพระธุดงค์กรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่านาคำน้อย ของหลวงตาอินถวาย อ.นายูง จ.อุดรธานี เนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 43 ปี วันที่ 10 กรกฎาคม 2567

‘ชาวเน็ต’ จวก!! ‘เขตราษฎร์บูรณะ กทม.’ หลังโชว์งานซ่อมฝาท่อ เหน็บ!! งานชุ่ย - ยางมะตอยรับจบ - ควรขอบคุณหรือกลุ้มใจ

(12 ก.ค. 67) เพจ ‘สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ’ ได้โพสต์ภาพฝาท่อระบายน้ำ ภายในซอยสุขสวัสดิ์ 26 หลังเข้าแก้ไขซ่อมแซมจนเรียบร้อย โดยได้นำภาพก่อนซ่อมและหลังซ่อมมาเปรียบเทียบ พร้อมระบุข้อความว่า…

“ใส่ใจดูแลแก้ไขปัญหา วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เขตราษฎร์บูรณะ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธากลุ่มงานระบายน้ำดำเนินการแก้ไขเรื่องร้องเรียน Traffy Fondue ฝาท่อระบายน้ำทรุดตัว การซ่อมเปลี่ยนบ่าลองฝาท่อระบายน้ำขนาดขอบบ่อ 75×108 cm. พร้อมแก้ไข ผิวจราจรชำรุดโดยการใช้ยางมะตอยสำเร็จรูปบริเวณใกล้เคียง ภายในซอยสุขสวัสดิ์ 26 ถนนสุขสวัสดิ์ แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและความปลอดภัยให้กับประชาชนที่สัญจรไป-มา”

หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ กลับได้รับคำวิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากการแก้ปัญหาดังกล่าว คล้ายการเพิ่มปัญหามากกว่า เนื่องจากเป็นการซ่อมแซมโดยใช้ยางมะตอยทดแทนบริเวณที่ชำรุด ทำให้ฝาท่อดังกล่าวอาจเปิดยาก หากต้องการระบายการอุดตันภายในท่อ และยางมะตอยดังกล่าวอาจทำให้เป็นเนิน รถสัญจรผ่านอาจเกิดอุบัติเหตุได้ 

ทั้งนี้ ชาวเน็ตได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย เช่น “ไม่รู้จะขอบคุณหรือกลุ้มใจดี” / “ยางมะตอยรับจบทุกอย่าง” / “ทำดีที่สุดแล้วไม่เห็นมีใครเข้าใจ 555” / “โอ้โหฝีมือซ่อมนายช่างไทย กทม. ก็ยังกล้าเอามาโชว์ บ้าบอ” / “มาตรฐานงานดีที่สุดแล้วใช้ไหม” / “ปรับปรุงแก้ไข หรือ สร้างปัญหา​เพื่ออนาคต”

24 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 ‘อาภัสรา หงสกุล’ คว้ามงกุฎ 'Miss Universe' มาครอง ผงาด 'นางงามจักรวาล' คนแรกของประเทศไทย

วันนี้ในอดีตเมื่อ 59 ปีก่อน ‘อาภัสรา หงสกุล’ นางสาวไทย ได้รับเลือกเป็น 'นางงามจักรวาล' หรือ 'Miss Universe' ในเวทีประกวดที่ชายหาดไมอามี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) นับเป็นนางงามจักรวาลคนแรกของไทย และเป็นคนที่ 2 จากเอเชีย (หลังจาก อากิโกะ โคจิมะ นางงามจากประเทศญี่ปุ่นในปีพ.ศ. 2502)

ในขณะนั้น ‘อาภัสรา หงสกุล’ มีส่วนสูง 164 ซม. (5 ฟุต 7 นิ้ว) สัดส่วน 35-23-35 ซม. สามารถชนะใจกรรมการและคว้ามงกุฎมาครองได้สำเร็จ โดยในปีนั้นรองนางงามจักรวาลอันดับที่ 1 คือนางงามจากประเทศฟินแลนด์ รองฯ อันดับที่ 2 จากสหรัฐอเมริกาเจ้าบ้าน รองฯ อันดับที่ 3 จากประเทศสวีเดน และรองฯ อันดับที่ 4 จากประเทศฮอลแลนด์

อนึ่ง ‘อาภัสรา หงสกุล’ นับเป็นตัวแทนคนที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจาก ‘อมรา อัศวนนท์’ รองนางสาวไทย 2496 ซึ่งเป็นตัวแทนคนแรกเข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาล 1956 ตามด้วย ‘สดใส วานิชวัฒนา’ ในการประกวดนางงามจักรวาล 1959

'ธนกร-รวมไทยสร้างชาติ' ดักทาง 'กมธ.นิรโทษกรรม' ถอยปลดล็อก ม.112 เชื่อ!! คนไทยทั้งชาติรับไม่ได้ หากให้มีการนิรโทษฯคนหมิ่นสถาบันฯ

(12 ก.ค. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน โดยกมธ.ไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องนิรโทษกรรมคดีมาตรา 110 และ คดีมาตรา 112 ซึ่งถือเป็นคดีที่มีความอ่อนไหว และ คดีที่มีความรุนแรง ตามมาตรา 289 ด้วยการลงมติได้ ว่า 

“ตนขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาตามหลักการกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในหมวด 2 มาตรา 6 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบุว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ หากกรรมาธิการฝืนให้ลงมติให้คดีที่ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับสถาบันฯ ให้ได้รับการนิรโทษกรรม อาจเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญได้”

เมื่อถามว่า การที่กมธ. ไม่สามารถลงมติได้ว่าไม่รวมคดีที่มีความอ่อนไหว ม.110, ม.112 และคดีร้ายแรง สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า 

“ความจริงแล้วถ้ายึดหลักการกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงจารีตประเพณีรากเหง้าของประเทศแล้ว ตนเชื่อว่า กรรมาธิการจะไม่เสียงแตกแบบนี้ เพราะทุกคนต่างทราบดีอยู่แล้วว่า หากเราไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์คงไม่มีประเทศไทยในวันนี้ ซึ่งการจะนิรโทษกรรมผู้ที่หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่ควรเกิดขึ้น ควรจะใช้ช่องทางอื่นเพื่อจะขอพระราชทานอภัยโทษจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”

“แม้ว่ากมธ.นิรโทษกรรม ไม่มีข้อยุติเรื่องคดีม.110,112 โดยมีข้อสรุปให้ส่งเรื่องเสนอต่อสภาฯ และให้สส. เป็นผู้พิจารณาในรายละเอียด ของการบัญญัติเป็นกฎหมายก็ตาม ผมมองว่า การที่กมธ.ไม่ชี้ชัด ไม่มีข้อสรุปว่าจะไม่รวมคดีอ่อนไหวในการนิรโทษกรรมนั้น ก็ทำให้สังคมคิดได้ว่า เป็นการอะลุ่มอล่วย เห็นด้วยในการกระทำผิดโดยปริยายหรือไม่ ส่วนตัวขอคัดค้าน และหากถูกเสนอกฎหมายเข้าสภา ผมและสส.พรรครวมไทยสร้างชาติก็จะลงมติไม่เห็นด้วยให้มีการนิรโทษฯ ให้คนหมิ่นสถาบัน และเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศก็รับไม่ได้เช่นกัน” นายธนกร ย้ำ

'ดร.ธรณ์' หวั่น!! ผลกระทบ 'ปลาหมอคางดำ' กระจายสู่แหล่งน้ำอื่น ยิ่งแพร่ยิ่งเกินควบคุม

(12 ก.ค.67) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุว่า…

ในกรณีที่ปลาหมอคางดำลงทะเล ระบบนิเวศที่จะได้รับผลกระทบคือหาดทราย หาดเลน ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่อยู่ในน้ำกร่อยได้ สัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งจึงถูกคุกคาม

หาดทราย/หาดเลนบางแห่งอยู่ในเขตน้ำกร่อย โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ปากแม่น้ำลำคลอง ความเค็มต่ำ ปลาหมออยู่ได้

บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ขนาดเล็กที่อาจตกเป็นอาหารปลา ทำให้สัตว์น้ำลดลง ชาวบ้านทำมาหากินริมทะเล เช่น เก็บสัตว์น้ำ ทอดแห วางอวนทับตลิ่ง ฯลฯ ได้รับผลกระทบ

ตัวอย่างง่าย ๆ คือปลากระบอกเริ่มหายไป ทอดแหวางอวนดันได้ปลาหมอมาแทน ป่าชายเลนและแหล่งหญ้าทะเลบางแห่งอยู่ตามชายฝั่ง ในเขตน้ำกร่อย เจอผลกระทบเช่นกัน

ระบบนิเวศทั้งสองแบบเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งปลาหมอคางดำจะกินสัตว์เหล่านั้น ผลกระทบจึงไม่เกิดเฉพาะพื้นที่ แต่จะส่งผลถึงทะเลข้างนอก ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ในกรณีของแนวปะการัง อยู่ห่างชายฝั่ง น้ำเค็มมากหน่อย คิดว่าปลาหมอคงไปไม่ถึง แต่ยังมีหย่อมปะการังริมฝั่งที่อาจได้รับผลบ้าง ต้องติดตามดู

เมื่อดูจากแผนที่ ผลกระทบตอนนี้อยู่ในอ่าวไทยตอนใน กำลังขยายตัวไปทางภาคตะวันออก ชายหาด ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเลริมฝั่งในจังหวัดระยอง เช่น ปากน้ำ บ้านเพ เรื่อยไปจนถึงจันทบุรีและตราด เป็นพื้นที่เสี่ยงลำดับต่อไป ยังรวมถึงหย่อมการแพร่กระจายอื่นๆ เช่น ภาคใต้

ปัญหาสำคัญคือการจับปลาหมอในทะเลลำบากกว่าในบ่อหรือในคลอง หากแพร่ระบาดออกไปจะยากต่อการควบคุม คิดว่าปลาหมอจะขยายพื้นที่ไปตามปากแม่น้ำลำคลอง ชายฝั่งรอบๆ แต่จะไม่ออกไปตามเกาะเล็กเกาะน้อย (ยกเว้นเกาะขนาดใหญ่ที่มีลำคลอง) ไม่คิดว่าปลาหมอจะว่ายตัดทะเลไปเกาะใหญ่ๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าติดไปแล้วลงสู่แหล่งน้ำบนเกาะ จะแพร่พันธุ์รอบเกาะได้

การควบคุมให้ปลาหมอไปไม่ถึงเกาะต่างๆ จึงสำคัญอย่างมาก ต้องช่วยกันระวังอย่าให้คนพาไป (ไม่ตั้งใจก็ต้องระวัง)

สถานการณ์ตอนนี้คงต้องเริ่มจากติดตามว่าปลาหมอกลุ่มที่อยู่ตามชายฝั่งมีที่ไหนบ้าง มีมากมีน้อย แนวโน้มเป็นอย่างไร หาทางป้องกัน/กำจัดอย่างไร

เรายังต้องการข้อมูลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับปลาหมอคางดำในทะเล
เพราะเป็นปลาเอเลี่ยน เราจึงไม่รู้การปรับตัว พฤติกรรมในทะเล อาหาร ผลกระทบ ฯลฯ

ในทะเลไทยไม่เคยมีเอเลี่ยนจริงจังมาก่อน เมื่อมีความเสี่ยงในเรื่องนี้ เราต้องรีบหาทางรับมือ หากเจอต้องช่วยกันรายงาน ปลาน้อยจับง่าย ปลาเยอะจับไม่หวาดไม่ไหว โดยเฉพาะตามเกาะใหญ่ ๆ ที่มีแหล่งน้ำจืดไหลลงทะเล เช่น เกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด เกาะสมุย พะงัน ฯลฯ เราต้องจัดการปัญหาตั้งแต่ต้น

หากเจอรีบแจ้งเลยครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top