Tuesday, 20 May 2025
TheStatesTimes

‘วราวุธ’ ย้ำ!! ไม่นิรโทษกรรม ‘ม.112-คดีอาญาร้ายแรง-ทุจริต’ เชื่อ!! พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นในแนวทางเดียวกัน

(5 ก.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอาจจะได้ข้อสรุปเรื่องการนิรโทษกรรม จะครอบคลุมคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 หรือไม่ ว่า พรรคชทพ. เสนอนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคเข้าไปเป็น กมธ. และทราบว่าจะให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน 

ส่วนขั้นตอนการดำเนินงาน จะมีหน่วยงานใดเข้าร่วม และพิจารณาอย่างไร คงต้องไปลงในรายละเอียดอีกครั้งนึง 

ทั้งนี้พรรคชทพ.มีจุดยืนและย้ำมาตลอด ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลนี้และเป็นหัวใจสำคัญที่จะร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่าคดีที่มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นมาตรา 112 คดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมและทำให้เสียชีวิต คดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน เราจะไม่ร่วมอยู่ในการพิจารณาและไม่ควรนำมารวมอยู่ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเชื่อว่าพรรคร่วมทุกพรรคคงเห็นตรงกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 พรรคชาติไทยพัฒนาจะยืนยันจุดยืนเดิมหรือหันไปร่วม เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน นายวรวุฒิกล่าวย้ำว่า ชทพ. ยืนยันจุดยืนเดิม 3 ประเด็น คือ ไม่พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 เรื่องคดีอาญาร้ายแรงที่เสียชีวิต รวมไปถึงคดีทุจริต

เมื่อถามว่าจะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่หากพรรคแกนนำเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม มาตรา 112 ในขณะที่ชทพ.ยังยืนยันในจุดยืนไม่รวม นายวราวุธ กล่าวว่า ให้ถึงเวลานั้น แล้วค่อยมาพิจารณาอีกทีแต่จุดยืนของเราไม่เปลี่ยนแปลง อย่าเพิ่งตั้งสถานการณ์ถ้าเผื่อ เพราะไม่แน่ใจว่าในอนาคต จะเกิดอะไรบ้าง แต่คิดว่าในท้ายที่สุดคงเห็นไปในแนวทางเดียวกัน

17 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ‘ดิสนีย์แลนด์’ เปิดให้บริการครั้งแรก ณ เมืองอนาไฮม์ สหรัฐอเมริกา

‘ดิสนีย์แลนด์พาร์ก’ หรือ ‘ดิสนีย์แลนด์’ สวนสนุกแห่งความฝัน ที่สร้างความสุขให้กับคนทั่วโลก โดยเมื่อ 69 ปีก่อน ดิสนีย์แลนด์แห่งแรกของโลกได้เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอนาไฮม์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

โดยสวนสนุกแห่งนี้เป็นสวนสนุกดิสนีย์แลนด์เพียงแห่งเดียวที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของ ‘วอลต์ ดิสนีย์’ นักสร้างการ์ตูนผู้ยิ่งใหญ่ของโลก

‘วอลต์ ดิสนีย์’ ได้นำเสนอแนวคิดดิสนีย์แลนด์หลังจากไปเที่ยวสวนสนุกที่ต่าง ๆ พร้อมกับลูกสาวของเขาในช่วง พ.ศ. 2473 และ 2483 เขาจินตนาการถึงการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ติดกับสตูดิโอของเขาในเบอร์แบงก์ เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับแฟน ๆ ที่อยากไปเยี่ยมชม

แต่อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าเขาก็ตระหนักว่าขนาดเนื้อที่ที่เสนอไปนั้นมีขนาดเล็กเกินไป ดิสนีย์จึงได้ซื้อพื้นที่ 160 เอเคอร์ หรือ ประมาณ 409 ไร่ ในเมืองอนาไฮม์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เริ่มก่อสร้างโครงการสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ขึ้น โดยมีความตั้งใจให้สวนสนุกนี้เป็นสถานที่ที่ให้ทั้งความสุขและความรู้กับเด็กและผู้ใหญ่ที่เข้ามาเยี่ยมชม

ต่อมา โครงการสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ก็ได้เปิดให้บริการในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชื่นชมเหล่าตัวการ์ตูน เครื่องเล่นและบรรยากาศความยิ่งใหญ่อลังการที่พร้อมจะมอบความสุข ให้กลับนักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเยือน

ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าความสุขจะไม่ได้มาโดยง่ายขนาดนั้น เพราะในวันเปิดสวนสนุกวอลต์และทีมงานก็ได้พบกับปัญหา เพราะว่าดินแดนแห่งความฝันของพวกเขานั้นยังสร้างไม่เสร็จ แม้แต่ยางมะตอยที่ถนนก็ยังแห้งไม่สนิท อีกทั้งอาหารและเครื่องดื่มหมดในเวลาอันรวดเร็ว เรือล่องน้ำชมวิวก็เกือบจะล่มเพราะผู้โดยสารเยอะเกินไป และที่แย่ที่สุดคือ พบว่าคนที่เข้ามาเล่นในสวนสนุกหลายพันคนใช้ตั๋วปลอม ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ดิสนีย์แลนด์ต้องขาดทุน

หลังจากนั้น สวนสนุกดิสนีย์แลนด์ก็ได้รับการฟื้นฟูปรับปรุงจนกลายมาเป็นดินแดนในฝันของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกตามความต้องการของวอลต์ ดิสนีย์ และแม้ว่าวอลต์จะเสียชีวิตใน พ.ศ. 2509 แต่สวนสนุกในชื่อของเขาก็ยังคงทำหน้าที่เติมเต็มความสุขและความหวังของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่อไป

สินค้าจีน Overcapacity ล้นทะลักไปตีตลาดโลก เรื่องจริงหรือวาทกรรม?

(5 ก.ค.67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เนื้อหาในหัวข้อ 'สินค้าจีน 🇨🇳 Overcapacity ล้นทะลักไปตีตลาดโลก : เรื่องจริงหรือวาทกรรม'

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า...

ปัญหากำลังการผลิตที่ล้นเกินของจีน (Overcapacity) กลายเป็นประเด็นถกเถียงระดับโลก ด้วยความกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด และในกรณีประเทศไทยจะถูกกระทบจากสินค้าราคาถูกจากจีนที่ล้นทะลักเข้ามาอย่างไรบ้าง บทความนี้ จะมาวิเคราะห์ไล่เรียงทีละประเด็น ดังนี้...

ประเด็นแรก จีนมีการผลิตสินค้ามากจนล้นเกิน (Overcapacity) หรือไม่ หากพิจารณาจากบริบทประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่ และมีข้อได้เปรียบเชิงขนาด (Scale Advantage) ผู้ผลิตจีนจึงมักจะเน้นการผลิตเชิงปริมาณจำนวนมาก (Mass Production) เพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) หวังจะป้อนตลาดภายในของจีนที่มีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล  

อย่างไรก็ดี บางอุตสาหกรรมของจีนมีอุปทานการผลิตมากเกินกว่าอุปสงค์ความต้องการของตลาดภายในจีนเอง จนเกิดปัญหาอุปทานล้นตลาดจีน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจจีนในยุคหลังโควิด-19 ที่ค่อนข้างอึมครึมซึมเซา ไม่คึกคักเหมือนเดิม คนจีนใช้จ่ายน้อยลง หันมาเน้นเก็บเงินอดออมมากขึ้น (จนเกิดกระแส ‘เก็บเงินเพื่อล้างแค้น’ ในจีน) ยิ่งทำให้ สินค้าจีนที่ล้นเกินเหล่านั้น ถูกระบายผ่านการส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น เพราะลดกำลังการผลิตได้ยาก 

ในมุมเศรษฐศาสตร์ หากอุตสาหกรรมใดมีอุปทานการผลิตล้นเกินกว่าอุปสงค์ความต้องการ ส่งผลให้สินค้านั้นราคาถูกลง เพื่อระบายสินค้าคงเหลือ แม้ว่าจะเป็นผลดีในมุมของผู้บริโภค แต่ก็เป็นแรงกดดันต่อคู่แข่งของผู้ผลิตสินค้าล้นเกินเหล่านั้น และในระยะยาว หากไม่สามารถแข่งขันได้ ก็ต้องปิดโรงงานและย่อมจะกระทบการจ้างงานที่ลดลง  

ดังนั้น ประเด็นสินค้าจีนที่มีกำลังการผลิตล้นเกิน Overcapacity จนต้องระบายส่งออกไปตีตลาดทั่วโลกเริ่มถูกพูดถึงด้วยความกังวลมากขึ้น เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมท้องถิ่นอยู่ไม่ได้ ทำให้คู่แข่งจีนในต่างประเทศต้องถูกกระทบเสียหาย เช่น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐได้เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักในประเทศ ทำให้มีกำลังการผลิตล้นเกิน Overcapacity มากเกินกว่าความต้องการ จนต้องเร่งส่งออก และนำไปสู่การทะลักล้นของสินค้าในตลาดโลกได้” 

ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงของจีน ได้เคยกล่าวแย้งว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรนำเศรษฐกิจการค้ามาทำให้เป็นเรื่องการเมือง แต่ควรพิจารณาประเด็นกำลังการผลิตตามข้อเท็จจริง และโต้แย้งด้วยหลักเหตุผล ด้วยมุมมองของระบบเศรษฐกิจกลไกตลาด มุมมองในระดับโลก และบนพื้นฐานของหลักการทางเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ หลายฝ่ายของจีนก็ได้โต้แย้งว่า “การโจมตีจีนด้วยคำว่า Overcapacity สะท้อนความวิตกกังวลของชาติตะวันตกที่จะไม่สามารถแข่งขันกับจีนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ EV จึงพยายามสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อขัดขวางความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมของจีน”

ประเด็นที่สอง อุตสาหกรรมใดของจีนที่ถูกจับตาว่า มีกำลังการผลิตล้นเกิน ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมหนักที่มีการผลิตแบบดั้งเดิมเน้นเชิงปริมาณ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และแก้ว จนเกิดการผลิตล้นเกินมานานหลายปี ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาลจีนในอดีตที่ทุ่มงบอัดฉีดส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักเหล่านั้น ตลอดจนกลุ่มพลังงานทางเลือก เช่น แผงโซลาร์เซลล์ มีการขยายการผลิตกระจายอยู่ในมณฑลต่าง ๆ จนทำให้ปริมาณการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีนทั้งประเทศมีมากกว่าความต้องการของทั้งโลกถึงสองเท่า ส่งผลให้แผงโซลาร์เซลล์ของจีนมีราคาถูกลงเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ กลุ่มพลังงานใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า EV และแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ‘สามใหม่’ (New Three industries) ที่เพิ่งประกาศของรัฐบาลจีนด้วย ได้แก่ (1) รถยนต์ไฟฟ้า EV (2) แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และ (3) เซลล์แสงอาทิตย์ (solar photovoltaic) 

ดังนั้น ด้วยการสนับสนุนและผลักดันอย่างหนักจากภาครัฐในยุคสีจิ้นผิง กลายเป็นใบเบิกทางเอื้อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการขยายการผลิตอย่างรวดเร็ว และเน้นออกไปทำตลาดต่างประเทศในเชิงรุก จนเกิดประเด็น ‘สงครามราคา’ ที่กระทบคู่แข่งในหลายประเทศ และเกิดข้อกังวลในประเด็นคุณภาพของสินค้าจีนที่หั่นราคาถูกลงอย่างมาก

ประเด็นสุดท้าย สินค้าราคาถูกที่ไหลทะลักมาจากจีนส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ อย่างไรบ้าง ในแต่ละอุตสาหกรรมของไทยที่เกี่ยวข้องย่อมถูกกระทบมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตไทยมีจุดแข็งและมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น กลุ่มอาหารแปรรูป ก็จะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้น้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น สิ่งทอ หรือ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ที่น่าเป็นห่วง คือ ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย SME รายเล็ก เช่น การแข่งขันด้านราคา กระแสสินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยเป็นแรงกดดันบีบให้ราคาสินค้าที่ผลิตในไทยต้องลดต่ำลง ทำให้ผลกำไรของผู้ผลิตต้องลดลงตามไปด้วย รวมทั้งส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง จากการที่ผู้บริโภคของไทยหันไปซื้อสินค้าราคาถูกจากจีนมากขึ้นผ่านช่องทางและแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น สินค้าออนไลน์ และในระยะยาว หากผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้ ต้องปิดกิจการหรือปิดโรงงาน แรงงานไทยก็จะตกงานมากขึ้น 

ล่าสุด จากข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ถูกกระทบจากสินค้าราคาถูกนำเข้าจากจีน ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ขายในประเทศกับผู้ขายจากต่างประเทศ ซึ่งเดิมไม่มีการเก็บภาษี VAT ดังกล่าว

นอกจากประเทศไทย ยังมีประเทศใดในอาเซียนอีกบ้างที่ถูกกระทบจากสินค้าราคาถูกจากจีน แน่นอนว่า หลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้แสดงความกังวลต่อสินค้าราคาถูกที่ล้นทะลักมาจากจีน ผู้ผลิตในประเทศเหล่านั้นต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด เช่น เหล็ก สิ่งทอ รัฐบาลบางประเทศในอาเซียนจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในท้องถิ่นของตน เช่น อินโดนีเซียเพิ่งประกาศแผนที่จะใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ โดยการประกาศเก็บภาษีกับสินค้านำเข้า (Safeguard Duties) เพื่อปกป้องผู้ประกอบการธุรกิจ SME รายเล็ก เช่น รองเท้า สินค้าเซรามิก โดยเบื้องต้น อินโดนีเซียประกาศว่า จะเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ผลิตจากจีนอยู่ที่อัตรา 100-200%  

ที่สำคัญ หลายประเทศในอาเซียนประสบปัญหาขาดดุลการค้ากับจีน เช่น เวียดนามมีการขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมหาศาล จนเกิดประเด็นกังวลว่า หากปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อในระยะยาว อาจจะส่งผลกระทบต่อทุนสำรองเงินตราและค่าเงิน เป็นต้น 

นอกจากนี้ หลายประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างก็กังวลว่า จีนกำลังนำผลผลิตที่ล้นเกินเร่งส่งออกไปตีตลาดโลกด้วยการลดราคาขายถูกลง และจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศของตนที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจีนอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งมองว่า สินค้าจีนเหล่านั้นได้รับการอุดหนุนการส่งออกจากรัฐบาลจีน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ประเทศเหล่านี้จึงออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกีดกันการนำเข้าจากจีน เช่น สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ EV จีน จาก 27.5% เพิ่มเป็น 102.5% และสหภาพยุโรปประกาศเก็บภาษีรถยนต์ EV ที่ผลิตในจีนในอัตรา 37.6%

ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภครายได้ต่ำในหลายประเทศ เช่น แถบแอฟริกา และละตินอเมริกา ก็อาจจะได้รับประโยชน์จากสินค้าราคาต่ำที่นำเข้าจากจีนและจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงสินค้าจีนที่ราคาถูกลง ตัวอย่างเช่น รถยนต์ EV จีนราคาไม่แพงในบราซิล เอื้อให้ผู้บริโภคชาวบราซิลได้รับประโยชน์จากการหันมาใช้รถยนต์ EV พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะนี้ บราซิลได้กลายเป็นผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า EV จากจีนรายใหญ่ที่สุดของโลก

ดังนั้น สินค้าจีนราคาถูกจากการผลิตล้นเกินจะส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ อย่างไร มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละภาคการผลิต แต่ละกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศนั้นๆ 

ในขณะนี้ ฝ่ายรัฐบาลจีนพยายามชี้แจงต่อความกังวลเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินของจีน โดยให้เหตุผลว่า “เกิดจากกลไกตลาดในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ และจากมุมมองด้านอุปสงค์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) ในราคาที่เอื้อมถึงได้ที่ผลิตจากจีน จะช่วยส่งเสริมมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของผู้บริโภครายได้ต่ำในหลายประเทศ” โดยเฉพาะประเทศโลกขั้วใต้ (Global South)  

ในอีกมุมหนึ่ง การแข่งขันกับจีนจะสร้างแรงผลักดันให้ผู้ผลิตในประเทศต่าง ๆ ต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีขึ้น แรงกดดันจากจีนจะบีบให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นจะต้องคิดค้นสร้างสรรค์และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมทั้งอัปเกรดกระบวนการผลิต เพื่อจะได้รักษาความสามารถในการแข่งขันต่อไป หากทำได้สำเร็จ จะทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สูงขึ้นต่อไป   

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ และอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบทบาทและนโยบายของรัฐบาลในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสรุป ปัญหากำลังการผลิตที่ล้นเกินของจีนกลายเป็นประเด็นถกเถียงระดับโลก สามารถส่งผลกระทบทั้งเชิงลบและเชิงบวก บางคนอาจจะกังวลถึงผลกระทบต่อผู้ผลิตในท้องถิ่นที่แข่งขันไม่ได้ แต่ในอีกมุมมอง ก็จะเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกในการซื้อสินค้าราคาถูกลง อย่างไรก็ดี หากเกิด ‘สงครามราคา’ แข่งขันกันลดราคาที่มากจนเกินไป หรือเน้นลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน ก็จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคได้เช่นกัน สำหรับผลกระทบในระยะยาวจะเป็นอย่างไร และภาครัฐจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร ยังคงต้องจับตากันต่อไป

‘หนุ่มฟิลิปปินส์’ ลาโลก หลังไลฟ์กินข้าวกับไก่ทอดจำนวนมาก แพทย์เผย!! ‘เส้นเลือดในสมองแตก’ ผลพวงจากพฤติกรรมการกิน

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘World Forum ข่าวสารต่างประเทศ’ ได้แชร์เรื่องราวของคอนเทนต์ครีเอเตอร์หนุ่มนักกิน ชาวฟิลิปปินส์ ที่ได้เสียชีวิต ภายหลังจากกินไก่ทอดพร้อมข้าวจำนวนมาก โดยระบุว่า…

“คอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดังฟิลิปปินส์ เสียชีวิต หลังจากกินไก่ทอดจำนวนมาก”

“นายดงซ์ อปาตัน มีชื่อจริงว่า มาโนย อปาตัน มักโพสต์คลิปของตัวเองขณะกินอาหารท้องถิ่นจานใหญ่ ๆ จำนวนมาก เพื่อหารายได้ออนไลน์ เพื่อเพิ่มกระแส เพิ่มผู้ติดตาม”

“คลิปสุดท้ายวันที่ 13 มิถุนายน 2024 ขณะกินไก่ทอดจำนวนมาก กับ ข้าว หลังจากนั้นในวันต่อมา น้องสาวโพสต์แจ้งว่าเขาเสียชีวิตแล้ว”

“มาโนย อปาตัน วัย 38 ปี มีผู้ติดตาม 457,000 รายในเฟซบุ๊ก และเขาชอบรับประทานอาหารจานใหญ่ ๆ โชว์ ไก่จำนวนมาก ปลา หมู อื่น ๆ เกินคนทั่วไปจะรับประทานได้”

“ลีอาห์ อปาตัน น้องสาว โพสต์เฟซบุ๊กของเขาแจ้งว่า พี่ชายเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. 14/06 และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน”

“ชาวเน็ตแสดงความเห็นว่า สาเหตุอาจมาจากการกินที่มากเกินไป เกินพอดี น้องสาว อปาตัน แย้งว่า บางคลิปที่โชว์ก็กินไม่หมดทุกจาน และอย่ามองพี่ชายเป็นตัวตลก รายได้จากคลิปยังนำไปช่วยคนอื่น ๆ”

“แพทย์แจ้งว่า การเสียชีวิตของนายอปาตัน เกิดจากโรคหลอดเลือดในสมองแตก ตามคำบอกเล่าของแพทย์ที่รักษาเขาในห้องฉุกเฉิน กล่าวว่าเขามีลิ่มเลือดในสมอง โรคหลอดเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน นั่นหมายความว่าความดันโลหิตของเขาสูงขึ้น และเส้นเลือดในสมองแตก ตามคำอธิบาย”

“อาจมาจากอาหารรสเค็มและเนื้อสัตว์ หากรับประทานเป็นประจำ จำนวนมาก หลอดเลือดในสมองอาจอุดตันได้”

'ดร.สุวินัย' เผย!! วิกฤตการณ์ฐานรากเมืองไทย 'กับดักหนี้-ขาดสภาพคล่อง' ทำศก.ไทยฟื้นตัวยาก

(5 ก.ค. 67) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘วิกฤตฐานราก, Balance Sheet Recession และกลุ่ม ALICE’ โดยระบุว่า…

‘วิกฤตฐานราก’, Balance Sheet Recession, The Lost Decades ฯลฯ... ตอนนี้เหล่านักเศรษฐศาสตร์ไทยกำลังพูดถึงเรื่องเดียวกัน

ถ้ามองภาพการเงินของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ในรูปของ ‘งบดุล’ โดยที่ฝั่งซ้ายเป็นสินทรัพย์ ส่วนฝั่งขวาเป็นหนี้สิน

Balance Sheet Recession คือสภาพที่ฝั่งหนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ฝั่งสินทรัพย์มีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ ... สภาพเช่นนี้เป็น ‘กับดักหนี้’ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวยากมาก

สภาพของครัวเรือนไทยจำนวนมากตอนนี้ กำลังตกลงอยู่ในกับดักหนี้สินที่มูลค่าหนี้รวมสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ฝั่งทรัพย์สินมูลค่ากลับลดลงเรื่อย ๆ

ในสภาพ Balance Sheet Recession นโยบายการเงิน โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหากับดักหนี้ เพราะต่อให้ดอกเบี้ยถูกลง คนก็ไม่ค่อยกู้เพราะลำพังแค่หนี้เดิมก็อ่วมจะแย่อยู่เเล้ว ...ที่สำคัญแบงก์เองก็ไม่อยากปล่อยกู้ให้ครัวเรือนที่แบกหนี้หนักอยู่แล้ว

‘วิกฤติฐานราก’ รอบนี้จึงไม่เหมือน ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ ในปี พ.ศ. 2540 ตรงที่รอบนั้นมันไปพังที่สถาบันการเงินเป็นหลัก กระทบกับคนรวยเป็นหลัก มันเจ็บหนักก็จริงแต่จบแค่นั้น

ส่วนครั้งนี้มันคือความฝืดเคืองขาดสภาพคล่องในวงกว้าง ในภาคครัวเรือนที่ต้องเติมรายได้เพื่อลดหนี้แก้หนี้ให้ได้ ว่าแต่ว่าหน้าตาตัวตนที่แท้จริงของครัวเรือนไทยจำนวนมากตอนนี้ เป็นอย่างไร?

คำตอบก็คือ ครัวเรือนไทยกลุ่มนี้ นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ALICE หรือ Asset Limited, Income Constrained, Employed

การจำแนกตัวตนของกลุ่มชนชั้นกลางไทยที่วัดตามระดับรายได้

● ในปัจจุบัน การอยู่เหนือระดับเส้นความยากจน คือการมีรายได้ตั้งแต่เดือนละประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป 

● ครัวเรือนที่มีระดับรายได้ต่อเดือนต่ำกว่าหมื่นนั้น จะอยู่แบบเดือนไม่ชนครึ่งเดือน คือมีรายจ่ายสูงถึง 147% ของรายได้

โดยที่ยอดจ่ายเงินกู้ตกอีกเดือนละ 29% รวมกันคือรายจ่าย 176% ของรายได้ แสดงว่าครัวเรือนกลุ่มนี้ต้องกู้มาโปะ 70%-80% ของรายได้ทบเข้าไปทุกเดือน

● ครัวเรือนที่มีรายได้เดือนละตั้งแต่ 1-2 หมื่นก็ไม่ได้ต่างกันนักคือ มีรายจ่าย 103% กับยอดจ่ายเงินกู้อีก 18% รวมมีค่าใช้จ่ายเป็น 121% ของรายได้ ครัวเรือนกลุ่มนี้ก็ต้องกู้มาโปะทุกเดือนเช่นกัน

● ครัวเรือนที่มีรายได้ 2-3 หมื่นต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายกินอยู่บวกจ่ายเงินกู้ 112% ของรายได้

● ครัวเรือนที่มีรายได้ 3-5 หมื่นต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายอยู่กินบวกจ่ายเงินกู้ 106% ของรายได้

● ครัวเรือนที่มีรายได้ 5 หมื่น - 1 แสนต่อเดือนถึงเริ่มจะมีรายได้เกินค่ากินอยู่จ่ายหนี้ อยู่ที่ 97% ของรายได้ คือมีรายได้ปริ่ม ๆ ไม่ต้องพึ่งเงินกู้มาโปะค่ากินอยู่ แต่แทบไม่มีเงินออม

● มีเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้เกินแสนบาทต่อเดือนเท่านั้นที่มีเหลือเก็บจริง ๆ คือมีค่ากินอยู่ อยู่ที่ 66% ของรายได้

● ซึ่งกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลาง ตั้งแต่ 1-5 หมื่น ที่รายได้พ้นเส้นความยากจน แต่มีไม่พอจะชนเดือนนั้น เขาเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ALICE หรือ Asset Limited, Income Constrained, Employed

ซึ่งกลุ่ม ALICE นี้มีจำนวน 17.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนถึง 72% ของประชากรประเทศไทย

สั้น ๆ มีผู้คนราว 3 ใน 4 ของประเทศนี้ ที่ต้องกู้มากินมาใช้เพิ่มขึ้นทุกเดือน เพียงเพื่อจะอยู่รอด 

หนี้ครัวเรือนในประเทศนี้จึงทะลุ 90% GDP มิหนำซ้ำในปัจจุบันสถาบันการเงินได้หยุดไม่ให้สินเชื่อกับ ALICE เพิ่มอีกแล้วด้วย

● เมื่อเอาภาพนี้ไปมองคู่กับสัดส่วนของ GDP ไทยและ สัดส่วนแรงงาน มันจะเห็นอะไรชัดขึ้น

กล่าวคือสัดส่วนของ GDP ไทยในตอนนี้คือ ภาคอสังหา 5%, เกษตร 9%, พาณิชย์ 16%, อุตสาหกรรม 30% และ บริการ 40% ของ GDP ตามลำดับ

ในขณะที่การจ้างงานราว 30% อยู่ภาคเกษตร, 20% อยู่ภาคอุตสาหกรรม และ อยู่ภาคบริการราวครึ่งหนึ่ง 50%

แสดงว่า 9% ของ GDP ในภาคการเกษตรนี้ต้องเอามาเลี้ยงคนทำงาน 30% ในภาคเกษตร นี่ยังไม่ต้องพูดถึงส่วนที่มันเข้ากระเป๋าทุนผูกขาดทางการเกษตร ถ้าหักส่วนนี้ออก มันจะเหลือถึงคน 30% ในภาคเกษตรจริง ๆ สักเท่าไร

● อสังหา 5% นั้นมันคงเอาไปรวมกับ 30% อุตสาหกรรม เป็น 35% ของ GDP เทียบกับจำนวนหนุ่มสาวโรงงาน 20%ในภาคอุตสาหกรรม มันก็ยังดูได้สัดส่วน แต่ภาคอุตสาหกรรมที่กำลังจะตายของประเทศไทย เพราะไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนจีนที่กำลังเข้ามาฮุบกลืนธุรกิจอุตสาหกรรมของไทย... จะอุ้มชูคนกลุ่มนี้ได้นานแค่ไหน?

● หรือจะให้ 50% ของ GDP จากภาคบริการและท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันก็จ้างงานแบกคนอยู่ 40% ของ GDP อยู่แล้ว ...จะต้องแบกรับภาระส่วนที่เหลือไปทั้งหมดอีกหรือ?

● สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ. 2540 นั้น ผู้คนที่เผชิญมรสุม เขายังมีบ้าน มีชนบท มีนา มีไร่ ให้กลับ แต่คนพ.ศ. 2567 ที่กำลังเผชิญกับ ‘วิกฤติฐานราก’ หรือ Balance Sheet Recession อยู่ตอนนี้ โดยที่ภาคเกษตร 9% ของ GDP อุ้ม 30% ของแรงงานในภาคเกษตรอยู่แล้ว ภาคเกษตรที่หลังแอ่นอยู่แล้วจะรองรับพวก ALICE ให้กลับอยู่ด้วยอีกได้หรือเปล่า?

~ สุวินัย ภรณวลัย และเต่า วรเดช

‘พโยม โรจนวิภาต’ หรือ ‘พ.๒๗’ สายลับผู้ภักดีต่อ ‘ในหลวง ร.๗’ | THE STATES TIMES Story EP.149

หากใครได้ดู ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง '๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ' หรือ '2475 Dawn of Revolution' ก็จะได้รู้จักกับตัวละครที่ชื่อ 'ลุงดอน' ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในทางประวัติศาสตร์ และถือเป็นบุคคลสำคัญและใกล้ชิดในหลวง ร.๗ ด้วย 

วันนี้ THE STATES TIMES ได้หยิบยกเรื่องของ 'ลุงดอน' มาเล่าสู่กันฟัง จะเป็นอย่างไร ติดตามชมได้เลย

'ภูมิธรรม' นำทัพดาราไทย บุกมาเลย์ ดึง 'ปันหยี I Sea You' โชว์ Soft Power เชื่อมวัฒนธรรม พร้อมนำ 18 บริษัทร่วมงานอาหารเครื่องดื่ม Food and Drinks Malaysia by SIAL คาดโกยเงินเข้าประเทศกว่า 650 ล้านบาท

ภูมิธรรม นำนักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ไทย “ปันหยี I Sea You”  เยือนมาเลเซีย เพื่อโปรโมทหนัง และสร้างความร่วมมือด้านสื่อบันเทิงไทยละหว่าไทยกับมาเลเซีย ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายตลาดคอนเทนต์บันเทิงไทยสู่ตลาดมาเลเซีย และการแลกเปลี่ยนกันในวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ ถือเป็นการสอดแทรก Soft Power ของไทยในภาพยนต์ ทั้งยังนำ 18 ผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้าสินค้าของไทย ร่วมงานแสดงสินค้าด้านอาหาร Food and Drinks Malaysia by SIAL เพื่อขยายตลาดอาหารและเครื่องดื่มในมาเลเซีย

วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น.(เวลาไทย) ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่าง บริษัท Final Draft Creation จำกัด ผู้ผลิตคอนเทนต์บันเทิงชั้นนำของไทย กับ Banyak Bagus Entertainment Sdn. Bhd. (บริษัท บายะ บากุส เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด) บริษัทสื่อบันเทิงจากมาเลเซีย โดยมี นายอรินชัย รัตนขวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท Final Draft Creation จำกัด เป็นตัวแทนฝ่ายไทยในการลงนาม ขณะที่ฝ่ายมาเลเซียมี Mr. David Chua Boon Ghe กรรมการผู้จัดการ Banyak Bagus Entertainment Sdn. Bhd. เป็นผู้ลงนาม โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นาย Yb Senator Tengku Datuk Seri Utama Zafrul Tengku Abdul Aziz รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยาน

การลงนามในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างสองประเทศ สร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน โดยมีการทำแคมเปญการตลาดและประชาสัมพันธ์ รวมถึงการสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานเพลง โดยศิลปินไทยและมาเลเซียที่ผสมผสานสไตล์ดนตรี ภาษา และวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนภาพยนตร์เรื่อง 'ปันหยี ไอ ซี ยู' (Panyi I Sea You) ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่สะท้อนความงดงามของประเทศไทย วิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมและอาหารไทยผ่านเรื่องราวบนเกาะปันหยี ซึ่งอยู่ในระหว่างการถ่ายทำและคาดว่าจะออกฉายสู่สายตาสาธารณชนในเดือนมีนาคม 2568 ผ่านความสำเร็จจาก MOU ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ภายในงานมีการแสดงเพลงประกอบภาพยนตร์ (OST) โดยเฟม โนอาห์ และตัวอย่างของภาพยนต์ 'ปันหยี ไอ ซี ยู' (Panyi I Sea You) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและขยายฐานแฟนภาพยนตร์ในภูมิภาค

นายภูมิธรรม กล่าวว่า “โดยความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายตลาดคอนเทนต์บันเทิงไทยสู่ตลาดมาเลเซียซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 132,000 ล้านบาทในปี 2565 และยังเป็นประตูสู่ตลาดอินโดนีเซียที่มีขนาดใหญ่กว่า เนื่องจากมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม อีกทั้งมาเลเซียมีความสนใจในความบันเทิงและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก จึงเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศผ่านสื่อบันเทิงรูปแบบต่างๆ การร่วมกันครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริม Soft Power ของรัฐบาลไทย และได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ณ
กรุงกัวลาลัมเปอร์” 

หลังเสร็จสิ้นการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวรองนายกรัฐมนตรีฯ นายภูมิธรรมได้เดินทางไปยังงานแสดงสินค้าด้านอาหาร Food and Drinks Malaysia by SIAL จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การแสดงสินค้านานาชาติ มาเลเซีย โดยภายในงานได้มีการนำผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้ามาเลเซียจำนวน 18 บริษัท มาร่วมออกคูหาแสดงสินค้าอาหารครอบคลุมหลากหลายประเภท อาทิ ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง และพร้อมรับประทาน ตลอดจนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนวัตกรรมต่าง ๆ 

“โดยคาดว่าจะเกิดมูลค่าการค้าของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยภายในงานไม่น้อยกว่า 650 ล้านบาท ตอกย้ำศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยตามนโยบายครัวของโลก และการผลักดันซอฟท์พาวเวอร์อาหารไทยสู่ตลาดต่างประเทศตามนโยบายรัฐบาล“ นายภูมิธรรม กล่าว

งานแสดงสินค้า Food and Drinks Malaysia by SIAL ในปีนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในประเทศมาเลเซีย มีผู้เข้าร่วมงานรวม 326 บริษัท 370 คูหา คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานตลอดระยะเวลาการจัดงาน 3 วัน ไม่น้อยกว่า 10,000 รายจาก 50 ประเทศทั่วโลก โดย SIAL ถือเป็นแบรนด์เครือข่ายงานแสดงสินค้าอาหารและ
เครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงระดับโลก กระจายการจัดงานอยู่ในภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ถือเป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มศักยภาพของภูมิภาค

‘ทีมนักบินอวกาศจีน’ เสินโจว-18 ทำภารกิจนอกตัวยาน ครั้งที่ 2 สำเร็จ หลังติดตั้งอุปกรณ์-เช็กตรวจสอบ ก่อนกลับสู่ห้องปฏิบัติการอย่างปลอดภัย

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (CMSA) รายงานว่า ทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-18 ที่ประจำการอยู่บนสถานีอวกาศในวงโคจรของจีน ได้ทำกิจกรรมนอกยานอวกาศครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นตอน 22.51 น. ของวันพุธ (3 ก.ค.67) ตามเวลาปักกิ่ง

โดยรายงานระบุว่า เย่กวงฟู่, หลี่ชง และหลี่กว่างซู ทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลาราว 6 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อทำงานหลายรายการ โดยหลี่กว่างซูอยู่ภายในสถานีอวกาศ

ทีมนักบินอวกาศได้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันขยะอวกาศให้ท่อ สายเคเบิล และอุปกรณ์สำคัญนอกสถานีอวกาศเทียนกง รวมถึงทำการตรวจสอบนอกยานอวกาศ ด้วยความช่วยเหลือจากแขนกลหุ่นยนต์และคณะนักวิจัยบนพื้นโลก โดยเย่กวงฟู่และหลี่ชง ผู้รับผิดชอบการทำกิจกรรมนอกยานอวกาศ ได้กลับเข้าสู่โมดูลห้องปฏิบัติการเวิ่นเทียนอย่างปลอดภัย

อนึ่ง ทีมนักบินอวกาศทั้ง 3 ท่องอวกาศราว 1 ใน 3 ของระยะเวลาที่วางไว้แล้ว และมีกำหนดดำเนินการทดลองทางวิทยาศาสตร์และการทดสอบทางเทคโนโลยีในวงโคจรจำนวนมาก

‘นายกฯ เศรษฐา’ หารือ ‘ผู้บริหาร BYD’ กำชับส่งเสริมผู้ผลิตไทยและกำหนดราคาให้เหมาะสม

เมื่อวานนี้ (5 ก.ค. 67) ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับ นายหวัง ชวนฟู (Mr. Wang Chuanfu) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีวายดี จำกัด (BYD) โดยภายหลังการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่บริษัทฯ เห็นศักยภาพ เลือกลงทุนในประเทศไทยซึ่งจะเป็นการเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ และได้กล่าวถึง 3 ประเด็นหลักในการหารือครั้งนี้

1. ขอให้บริษัทคำนึงถึงผู้ผลิต ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ ใช้ Supply Chain ในประเทศไทยมากที่สุด

2. ขอให้บริษัทผลิตเต็มจำนวน Capacity ตามที่ได้ตกลงกันไว้ 

3.การบริหารความคาดหวังของผู้บริโภคในด้านราคาเป็นประเด็นสำคัญ ขอให้พิจารณาการคุ้มครองผู้บริโภคไทย อย่างเหมาะสม

นายหวัง ชวนฟู กล่าวว่า ขอบคุณคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ของนายกรัฐมนตรีอย่างยิ่ง โดยบริษัท BYD ให้ความสำคัญกับตลาดไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยทางบริษัทฯ ได้ใช้ Supply Chain จากประเทศไทยมากกว่าข้อบังคับ และมีการผลิตชิ้นส่วนหลายตัวในประเทศไทย และนำการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีใหม่มาผลิตในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ความสามารถในการผลิตของโรงงาน BYD ในประเทศไทยคือ 1.5 แสนคันต่อปี

โดยจะใช้เวลา 2 ปี เพื่อผลิตอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้ นอกจากขายในประเทศไทย บริษัทฯ มีนโยบายที่จะส่งออกขายในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซีย และเวียดนามด้วย 

ในส่วนของการกำหนดราคารถยนต์นั้น บริษัทฯ รับปากนายกรัฐมนตรีว่าจะพิจารณาตามที่นายกรัฐมนตรีแนะนำ คือปรับราคาในอนาคตให้มีรูปแบบและความถี่ที่เหมาะสม ให้ตลาดปรับตัวได้ทัน รวมทั้ง สัญญาที่จะหามาตรการในการเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ

โดยในโอกาสนี้ บริษัทฯ ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีว่าประเทศไทยมีศักยภาพ และเป็นตลาดที่พร้อมเติบโต จึงพร้อมขยายการลงทุน รับพนักงานเพิ่ม และพร้อมอบรมพนักงานด้วยเทคโนโลยีทันสมัย โดยขอเชิญนายกรัฐมนตรีเดินทางไปที่บริษัทฯ ในช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีเห็นเหมาะสม

‘ปปง.’ แจ้ง!! 'เหยื่อคอลเซ็นเตอร์' เริ่มยื่นคำร้องขอทรัพย์สินคืนได้ หลังยึดทรัพย์ ‘แก๊งมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน’ ได้แล้วร่วมหมื่นล้านบาท

(5 ก.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงประชาชนคนไทยโอนเงินมูลค่าเสียหายนับแสนล้านบาทนั้น ล่าสุดจากข้อมูลพบว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึดทรัพย์เป็นของกลางแล้ว ดังนี้

- เงินสดรวมได้ประมาณ 6,000,000,000 บาท

- อสังหาริมทรัพย์อีกจำนวนหนึ่งประมาณ 4,000,000,000 บาท

- รวมกันแล้วประมาณ 10,000,000,000 บาท

สำหรับทรัพย์สินยึดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต้องเฉลี่ยทรัพย์คืนให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย หลังจาก ปปง. ยึดทรัพย์มาแล้ว โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ภายใน 90 วัน เพื่อให้ประชาชนมายื่นคําร้องขอรับการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งผู้เสียหายจะได้รับเงินชดใช้คืนเมื่อศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้เสียหายได้รับเงินชดใช้คืนแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

สำหรับผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถยื่นคําร้องขอคุ้มครองสิทธิ ผ่าน 3 ช่องทาง

1.ยื่นด้วยตนเอง ณ สํานักงาน ปปง.

2.ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนส่งถึง สำนักงานป้องกันและปราบการฟอกเงิน เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โดยวงเล็บ 2 มุมซองด้านบนว่า “ส่งแบบคําร้องขอ คุ้มครองสิทธิรายคดี….”

3.ยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทาง https://khumkrongsit.amlo.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 02-219-3600 หรือ โทร 1710

นายคารม เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 มิ.ย.67 ผลการแจ้งความออนไลน์ ผ่าน https://www.thaipoliceonline.com รวม 35,379 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 3,437,689,020 บาท เฉลี่ย 114,589,643 บาทต่อวัน ผลการอายัดบัญชี 10,713 บัญชี ยอดขออายัด 1,404,539,300 บาท ยอดอายัดได้ 719,057,785 บาท

สำหรับประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้

1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) มูลค่าความเสียหาย 160,929,368 บาท

2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 583,012,851 บาท

3.หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 145,768,931 บาท

4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 1,427,157,157 บาท

5.หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น มูลค่าความเสียหาย 235,952,533 บาท

ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลดังข้างต้น ยังมีประชาชนหลงกลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ขอประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ ที่เชิญชวน ชักชวนโดยวิธีการต่างๆ หากถูกหลอก สามารถแจ้งความออนไลน์ที่ https://www.thaipoliceonline.com หรือสอบถามที่เบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top