Wednesday, 14 May 2025
TheStatesTimes

เปิดพินัยกรรม ‘บุ้ง ทะลุวัง’ หลังเสียชีวิต ยก ‘แมว-เงินสด-ทรัพย์สิน’ ให้ ‘หยก’ ยก ‘ที่ดิน’ ให้ ‘พี่สาว’

(14 พ.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.เนติพร อายุ 29 ปี ได้ทำพินัยกรรมที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อแสดงเจตนาในการจัดการทรัพย์สินของตน ภายหลังจากที่ตนถึงแก่ความตายแล้ว

ทั้งนี้ พบว่าทรัพย์สินที่เป็นเงินสดที่มีเก็บรักษาไว้และที่มีอยู่ในบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง รวมทั้งทรัพย์สินคือ นาฬิกาข้อมือ ต่างหู และสัตว์เลี้ยงคือแมว ชื่อโซ 1 ตัว ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ น.ส.หยก (หยก ธนลภย์) ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

ส่วนทรัพย์สินอื่น นอกจากที่ระบุไว้ ข้อ 1. อันรวมถึงที่ดิน สิทธิเรียกร้อง และสิทธิตามมรดกที่ตนมีอยู่ก่อนจะถึงแก่ความตาย ขอยกให้ พี่สาว เพียงผู้เดียว

ภายหลังจากที่ตนถึงแก่ความตายแล้ว ขอมอบให้ทนายความเป็นผู้จัดการมรดกของตนตามพินัยกรรมนี้ และให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ 

ครบรอบ 1 ปี เลือกตั้ง 66 สอย 2 ใบแดงถ้วน ส่วนเลือก สว. ซับซ้อน ส่อ!! ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

เขียนต้นฉบับนี้ บ่ายวันที่ 14 พ.ค. 2567 ครบรอบ 1 ปีการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 พอดิบพอดี...ก็ต้องสรุปว่า 1 ปี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ ‘สอย’ สส. หรือยื่นศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อเอาผิดกรณีทุจริตเลือกตั้ง ให้ใบดำใบแดงได้เพียง 2 รายเท่านั้น จากที่ขึ้นบัญชีเอาไว้มากถึง 71 คน…

ที่เหลือ 69 คนจะปล่อยผี…ไม่มีหลักฐานแม้เพียงน้อยนิด หรือมีอะไรมาปิดตาบังตาเอาไว้หรือเปล่า..!?

ก็แปลกดีนะ 2 คนที่ถูกยื่นสอยล้วนเป็น ‘สส.ภูมิใจไทย’ รายแรก นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 คนที่ 2 กกต.เพิ่งเคาะเมื่อวันที่ 13 พ.ค. นี้คือ นายสุวรรณา กุมภิโร หรือ ‘เสี่ยหม่ำ’ สส.บึงกาฬ...

ตราบใดที่ศาลยังไม่รับคดีไว้พิจารณา ทั้งสองก็ยังปฏิบัติหน้าที่เป็น สส. ได้ต่อไปเรื่อย ๆ…

เท่าที่สังเกตดูตอนนี้แทบไม่มีใครสนอกสนใจเรื่อง ‘สอย’ สส.กันแล้ว เว้นแต่ สว. หนึ่งเดียวที่กัดไม่ปล่อยคือ สว.สมชาย แสวงการ ล่าสุดโพสต์ในเฟซบุ๊กจี้ใจดำ กกต. จนนาทีสุดท้าย… #กกต.ตื่นแล้ว #1ปีแจกใบแดงสส.2คน #ที่เหลือลอยนวล…

เท่าที่ติดตามฟังสุ้มเสียง สว.สมชายแล้ว สว.สมชายเข้าใจว่าพ้นเขต 1 ปี กกต.ก็น่าจะหมดอำนาจเอาผิดหรือสอย สส. ขี้โกงแล้ว แต่สายข่าว ‘เล็ก เลียบด่วน’ ในกกต.บอกว่าถ้าจะเอาจริง กกต. ยังสอยได้เรื่อย ๆ ไม่มีอายุความ ส่วนระเบียบที่ออกมาให้รีบทำภายในหนึ่งปีนั้นเป็นเพียง ‘บทเร่งรัด’ เท่านั้น

ถ้าเป็นจริงตามนี้ก็น่าจะเป็นข่าวดี...ได้ยินมาว่าวันนี้พรุ่งนี้ 7 อรหันต์ กกต. จะล้อมวงคุยเรื่องนี้...ผลเป็นยังไงช่วยแถลงบ้างก็ดี…

พูดถึง กกต. ก็ดูท่าขึงขัง เอาจริงเอาจังกับการเลือก สว.ชุดใหม่ ภายใต้ระบบที่พิสดารพันลึกที่สุด...ล่าสุด กกต. ประกาศไทม์ไลน์มาแล้ว

>> 20-24 พ.ค.2567 รับสมัครรับเลือก
>> 29 พ.ค. 2567 วันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร
>> 9 มิ.ย. 2567 วันเลือก สว. ระดับอำเภอ
>> 16 มิ.ย. 2567 วันเลือก สว. ระดับจังหวัด
>> 26 มิ.ย. 2567 วันเลือก สว. ระดับประเทศ
>> ก.ค. 2567 ประกาศผลเลือก สว.(ยังไม่ระบุวัน)

ดูตามกฎกติมารยาทของการเลือก สว.ชุดใหม่แล้ว ค่อนข้างจะสลับซับซ้อน และเปิดช่องให้มีการร้องเรียน ฟ้องร้องกันวุ่นวายเป็นแน่แท้ แต่สายข่าวใน กกต. ระบุว่า ยังไง ๆ ก็จะยึดหลักการเดียวกับตอนประกาศผลเลือก สส. คือ ประกาศไปก่อนสอยทีหลัง…จะไม่ให้ สว. ชุดปัจจุบันรักษาการนานเกินเดือนก.ค.

สอดคล้องกับสายข่าวจากพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งระบุว่า...นายใหญ่เล็งเป้าไว้แล้วว่าจะร่วมด้วยช่วยให้ดันให้ประกาศผลเร็ว ๆ จะได้เล็งเป้าทำแนวร่วมกับบรรดา สว.พันธุ์ใหม่ เอามาเป็นพวก...ไม่แต่เท่านั้นบางกระแสระบุว่า ‘นายใหญ่’ รู้และวางตัวไว้คร่าว ๆ แล้วว่า...ประธานสว.คนใหม่ เป็นใคร...รู้แล้วจะหนาว..!!

สายข่าวขอเวลาสุดสัปดาห์หน้าจะมาเฉลย เขาคือใคร...รักแล้วรอหน่อย..!!

‘กทม.’ ขอบคุณคนกรุงฯ ที่ร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ ‘ไม่เทรวม’ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อ ‘กำจัดขยะ’ ไป 141 ล้านบาท ใน 1 ปี

(14 พ.ค. 67) ที่ตลาดคลองเตย เขตคลองเตย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงานเขตคลองเตย และคณะผู้บริหารตลาดคลองเตย ลงพื้นที่ติดตามโครงการไม่เทรวม ที่บริเวณจุดทิ้งขยะ ตลาดคลองเตย ซอย 8

จากนั้นเดินทางติดตามการจัดทำจุดหมักปุ๋ยอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยหมักจากขยะเศษอาหาร ที่สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า เขตคลองเตย ซึ่งเป็นจุดที่สำนักงานเขตคลองเตยรับปุ๋ยหมักจากศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช และขยะเศษอาหารจากจุดต่าง ๆ ภายในเขตฯ มาทำคลุกทำปุ๋ย พัฒนาคุณภาพ และนำมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นปลายทางของการจัดการขยะ

นายเอกวรัญญูกล่าวว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จากการขับเคลื่อนโครงการไม่เทรวม ต้องขอบคุณประชาชนและเครือข่ายที่เข้ามาร่วมมือ และทำให้ กทม.สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะไปได้ถึง 141,474,000 บาท คิดเป็นจำนวนปริมาณขยะที่ต้องกำจัดลดลง 74,460 ตันต่อปี และขยะจากเศษอาหารที่เข้าสู่กระบวนการจัดการขยะยังสามารถนำกลับมาทำเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อได้ด้วย

นายเอกวรัญญู กล่าวต่อว่า กทม.ได้มีการบริหารจัดการขยะจากแหล่งกำเนิด ในแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ ( L ) เช่น ตลาด สำนักงาน ห้าง โรงแรม โรงเรียน ขนาดกลาง ( M ) เช่น ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และชุมชน คาดว่าหลังจากนี้จะสามารถขยายผลลงสู่แหล่งกำเนิดขยะในระดับครัวเรือน หรือขนาดเล็ก ( S ) ต่อไป

ทั้งนี้ ผลการคัดแยกขยะของแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ ในเดือน มี.ค. 2567 มีแหล่งกำเนิดเข้าร่วม 2,805 แห่ง สามารถแยกเศษอาหารได้ 22,140 ตัน หรือ 180 ตัน/วัน ยกตัวอย่าง ตลาดเข้าร่วม 184 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 76 ตัน/วัน สถานศึกษาเข้าร่วม 457 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 19.4 ตัน/วัน ห้างสรรพสินค้าเข้าร่วม 114 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 23.3 ตัน/วัน

“สำหรับค่าเป้าหมายการคัดแยกขยะทุกประเภท ประจำปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 200 ตัน/วัน ปี 2568 อยู่ที่ 500 ตัน/วัน และปี 2569 อยู่ที่ 1,000 ตัน/วัน” นายเอกวรัญญูกล่าว

ด้าน นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผอ.เขตคลองเตย กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ตลาดคลองเตย ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการร้านค้าในตลาด พร้อมมีการกำชับเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดให้นำเศษขยะอาหาร ใบไม้ มาจัดทำปุ๋ย ส่วนขยะอื่น ๆ ให้แยกตามประเภท ส่งผลให้สำหรับในเขตคลองเตย สามารถลดค่ากำจัดขยะได้ถึงประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี

“ต้องขอขอบคุณตลาดคลองเตย และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ที่ให้การสนับสนุนการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง โดยรวบรวมขยะประเภทเศษผักจากตลาดคลองเตย ได้วันละประมาณ 18 ตัน จะนำไปผลิตปุ๋ยหมักที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ก่อนนำมาหมุนเวียนใช้ และแจกจ่ายใช้ในสวนสาธารณะของ กทม.ต่อไป” นางเบญญากล่าว

‘นาซา’ วางแผนจะสร้าง ‘ระบบรางรถไฟ’ บนดวงจันทร์ หวังรองรับการปฏิบัติภารกิจของนักบินอวกาศในอนาคต

(14 พ.ค.67) เว็บไซต์ วีโอเอ รายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (นาซา) เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ ‘ระบบรางรถไฟ’ ที่วางแผนว่าจะสร้างบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อจัดเตรียม ‘ระบบขนส่งด้วยหุ่นยนต์’ สำหรับรองรับกิจกรรมบนดวงจันทร์ในอนาคต

รายงานระบุว่า ทางรถไฟดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการอาร์ทิมิส’ (Artemis) โครงการการบินอวกาศของมนุษย์ระดับนานาชาติ ที่นำโดยสหรัฐอเมริกากับเป้าหมายหลักในการส่งมนุษย์กลับคืนสู่ดวงจันทร์เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2515 และมีการกำหนดวันลงจอดเพื่อส่งนักบินอวกาศบนพื้นผิวดวงจันทร์ ในเดือนก.ย. 2569

องค์การนาซากล่าวด้วยว่ามีแผนที่จะสร้างฐานระยะยาวบนดวงจันทร์ ซึ่งนักบินอวกาศสามารถสำรวจและทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ฐานดังกล่าวได้ และคาดว่าจะเริ่มสร้างขึ้นเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษ 2030 (ตั้งแต่ปี 2573) นอกจากนี้ยังใช้เป็นพื้นที่ปล่อยยานสำหรับการสำรวจดาวอังคารในอนาคตได้อีกด้วย

แผนสร้างรางรถไฟบนดวงจันทร์ถูกเรียกว่า ‘FLOAT’ (โฟลต) ย่อมาจาก Flexible Levitation on a Track จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ เพราะสามารถให้บริการขนส่งในพื้นที่ดวงจันทร์ที่นักบินอวกาศใช้งานอยู่ ซึ่งจะรวมถึงการบรรทุกดินบนดวงจันทร์และวัสดุอื่น ๆ ไปยังส่วนต่าง ๆ ของดวงจันทร์

นาซากล่าวว่ามีแผนจะขุด ‘เรโกลิธ’ (Regolith) หรือเศษดินเศษหินที่อยู่บนพื้นผิวชั้นบนของดวงจันทร์ เพื่อหาสารที่สามารถรองรับกิจกรรมของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ได้ เรโกลิธอาจประกอบด้วยน้ำหรือของเหลวของออกซิเจนและไฮโดรเจน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้สามารถใช้เพื่อสนับสนุนนักบินอวกาศและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่บนดวงจันทร์เป็นเวลานานได้

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ‘คสช.’ ปฏิบัติการก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16.30 น. ได้เกิดการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ รัฐประหารโค่นรัฐบาลรักษาการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และอิทธิพลของนายทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย

ก่อนหน้านั้นสองวัน คือ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 03.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้

หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 สภาฯ มีมติเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

‘หมอเหรียญทอง’ แจงเหตุตบหน้าเด็ก 14 สูบบุหรี่ในห้องน้ำ รพ. ลั่น!! รพ.เป็นเขตปลอดบุหรี่ - ไม่มีสิทธิละเมิดสิทธิผู้อื่น

(14 พ.ค. 67) มารดา ของชายอายุ 14 ปีรายหนึ่ง ได้เดินทางไปแจ้งความว่า ลูกชายถูกทำร้ายร่างกายที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ย่านแจ้งวัฒนะ

โดยเธอเล่าว่า ระหว่างที่​ลูกชายได้เดินทางไปเฝ้าภรรยาที่รอคลอด ​ระหว่างนั้นได้เข้าไปสูบบุหรี่ในห้องน้ำชั้น 12 ของโรงพยาบาล เมื่อสูบบุหรี่เสร็จออกมาจากห้องน้ำ พบว่าเจ้าหน้าที่ของ รพ.ที่เป็นผู้ชาย ได้ยืนถ่ายภาพ และนำตัว ด.ช.วัย 14 ลงมาบริเวณหน้าห้องฉุกเฉิน และโทรหาให้ผู้ปกครองมาเสียค่าปรับ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท

จากนั้นเมื่อ ด.ช.โทรหาผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ได้นำโทรศัพท์ไปคุยต่อโดยไม่ได้ส่งคืน และให้ ด.ช.นั่งรอหน้าห้องฉุกเฉิน เวลาต่อมาได้มีชายเดินมาทำร้ายร่างกาย ด.ช. ได้รับบาดเจ็บ จากนั้นบังคับให้ถอดเสื้อผ้าออกให้หมด และเดินออกจาก รพ.ไป เมื่อ ด.ช.เดินออกจาก รพ. จึงยืมโทรศัพท์บุคคลที่อยู่บริเวณนั้น โทรหาญาติให้มารับ และแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้ระบุว่า ชายไทยสูงวัย ใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาว กางเกงขาสั้น เดินเข้ามาทางประตูหน้าตรงห้องฉุกเฉิน เดินตรงเข้ามาที่ ด.ช.วัย 14 จากนั้นชายคนดังกล่าวได้ถามว่า “มึงสูบบุหรี่ในนี้ได้ไง” หลังจากสิ้นคำถาม ชายคนดังกล่าวก็ตบมาที่บริเวณใบหน้า​ 1 ครั้ง

จากนั้นชายคนดังกล่าวก็ตบที่บริเวณใบหน้าอีก 3 ครั้ง แม้ว่าจะพยายามขอโทษ และร้องไห้ออกมา ก่อนที่จะถูกตะคอกใส่ว่า จะร้องทำไม ​โดยพบว่าได้รับบาดเจ็บบริเวณคิ้วข้างซ้ายเป็นรอยช้ำแดง

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า..

ได้โปรดแชร์ให้ทราบข้อเท็จจริงทั่วกันว่าเมื่อดึกคืนวันที่ 13 พ.ค.67 มีไอ้วัยรุ่นกุ๊ยมาสูบบุหรี่ในห้องสุขา แผนกผู้ป่วยนอก หรือ โอ พี ดี ชั้น 1 อาคาร 3 ซึ่งเป็นอาคารใหม่ส่งกลิ่นควันบุหรี่เข้าสู่ระบบปรับอากาศคละคลุ้งทั่วพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ป่วย โอ พี ดี ที่รอรับการตรวจ

ทั้ง ๆ ที่ รพ.มงกุฎวัฒนะก็ประกาศจัดการผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาดรุนแรง แต่ไอ้กุ๊ยตัวนี้ก็ยังท้าทายลองดี ทั้ง ๆ ที่ภริยาของมันได้เข้ารับการรักษาตัวใน รพ.มงกุฎวัฒนะ ด้วยสาเหตุทารกในครรภ์ไม่ดิ้น จนอาการดีขึ้นโดยไม่ต้องเสียเงินค่ารักษา

แต่ไอ้กุ๊ยตัวนี้กลับตอบแทน รพ.มงกุฎวัฒนะด้วยการท้าทายสูบบุหรี่ ณ โอ พี ดี รพ.มงกุฎวัฒนะ อาคาร 3 ชั้น 1 ส่งความรำคาญแก่ผู้ป่วยที่มารอตรวจได้สูดควันบุหรี่ที่เป็นสารก่อมะเร็งปอดกันถ้วนหน้า

ผมจัดการไอ้กุ๊ยรายนี้อย่างดุเดือดรุนแรงตามที่ผมประกาศไว้ตามเสียงตามสายของ รพ.มงกุฎวัฒนะทุก ๆ 2 ชั่วโมง เมื่อไอ้กุ๊ยละเมิดสิทธิผู้ป่วยรายอื่น ๆ สร้างความสุ่มเสี่ยงต่ออัคคีภัยใน รพ.ที่มีผู้ป่วยนอนจำนวนมาก สุ่มเสี่ยงต่อโศกนาฏกรรมแล้ว ทั้งเคยเกิดเหตุอัคคีภัย ณ รพ.มงกุฎวัฒนะ จากการสูบบุหรี่ในพื้นที่ของ รพ.มาแล้วถึง 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2558 และ 2564

ดังนั้นผมจึงจัดการไอ้กุ๊ยรายนี้ด้วยตนเองด้วยการตบหน้าสั่งสอน ยึดโทรศัพท์มือถือ แล้วสั่งให้แก้ผ้าล่อนจ้อน ไล่ออกจากพื้นที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ไอ้กุ๊ยตัวนี้ยังยกพวกแก๊งมอเตอร์ไซค์มาข่มขู่หน้าทางเข้า รพ.มงกุฎวัฒนะ 6-7 คันเสียด้วย

แต่ขอบอกตามตรงว่ารู้สึกเฉย ๆ ก็ลองแหยมเข้ามาท้าตีท้าต่อยก็จะโต้ตอบรุนแรงกลับไป แถมยังให้ข่าวว่าถูกผมตบคิ้วแตกเสียด้วย โกหกสิ้นดี 

ผมขอเรียนว่าผมประกาศต่อสาธารณะมาเสมอว่าเราไม่ง้อ ไม่สนผู้ใช้บริการที่เป็นกุ๊ยอันธพาลเกเร คิดจะฝ่าฝืนสูบบุหรี่ เกเร อวดเบ่งบุคลากรทางการแพทย์ กระทำอะไรตามอำเภอใจ ก็ขอเชิญไป รพ.อื่นก็แล้วกัน

แต่สำหรับ รพ.มงกุฎวัฒนะแล้วจะมีผู้ใช้บริการที่รู้กฎระเบียบสังคมมาใช้บริการอย่างสบายใจ ผมไม่สนหรอกครับว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ ผมกลับเห็นว่าสมควรแก่เหตุเสียด้วยซ้ำ 

ควันบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งแก่ผู้ใช้บริการรายอื่น ๆ โดยที่เขาไม่สมควรได้รับ ดังนั้นความเด็ดขาดในการปกป้อง รพ.ทุกแห่งในโลกให้เป็นเขตปลอดบุหรี่จึงต้องเด็ดขาดเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง

สาธารณชนจะตัดสินใจแยกแยะได้ว่าเมื่อเขาเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว เขาจะมา รพ.มงกุฎวัฒนะได้อย่างปลอดภัยจากบุหรี่ รวมถึงปลอดกุ๊ยอันธพาลเกเรด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบข้อเท็จจริงทั่วกันครับ คนโลกสวยเห็นว่าเกินแก่เหตุไม่สมควรใช้บริการ รพ.มงกุฎวัฒนะครับ

พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา
ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ
14 พ.ค. 67 เวลา 12.58 น.

'Transformer Low Carbon เจริญชัย' รางวัลนวัตกรรม NiA ตอกย้ำ ลดค่าไฟ-ลดคาร์บอน อนุรักษ์พลังงาน

บจ.ฟาร์โซนิคส์ (ลำพูน) เมษาลดค่าไฟฟ้า 100,000 บาท/เดือน พร้อมการสนับสนุนอนุรักษ์พลังงานโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / มหาวิยาลัยราชภัฏลำปาง / สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง อย่างต่อเนื่อง ก้าวสู่ LESS, CFP, CFO, BOI, Carbon Credit, Net Zero, Carbon Neutrality 

นายประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ กล่าว บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ขอขอบคุณและแสดงความยินดีกับ บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ลดค่าไฟฟ้า 100,000 บาท/เดือน และไว้ใจเลือกติดตั้งหม้อแปลง Low Carbon เป็นหม้อแปลงบริหารระบบจัดการพลังงานที่บริหารจัดการพลังงานสิ้นเปลืองให้เกิดประสิทธิภาพและมีความเสถียรภาพกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงและยั่งยืน ตอบโจทย์โรงงานอุตสาหกรรม, อาคาร สถานประกอบการตามนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลเร่งการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม 

หม้อแปลงดังกล่าว ลดค่าไฟฟ้า 5-20% (Energy Saving) ลดคาร์บอน 5-20% (Low Carbon) มากกว่า 100 ล้านตัน ลดมลพิษ (Low Emission) ทำให้อุปกรณ์อายุการใช้งานยาวนานขึ้น (Long Life Equipment) เพื่อเป็นการตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เจ้าของอาคาร ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน

นายสรสิทธิ์ ชลิศราพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด, ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน มีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการและบริการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้โอกาสติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า Low Carbon Platform การบริหารจัดการพลังงาน พร้อมก้าวสู่  Net Zero, LESS, CFP, CFO, Carbon Credit และ BOI นำล้ำทันสมัยที่สุดในอาเซียน อีกทั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบที่พร้อมจะดำเนินการตามนโยบายภาครัฐในการลดก๊าซเรือนกระจก และการประหยัดพลังงานอนุรักษ์พลังงาน ตอบโจทย์ นโยบายภาครัฐด้านการประหยัดพลังงาน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ต้องใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด

ดร.ณัฐวุฒิ จารุวสุพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มงาน smart energy & innovation และ นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว ด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ได้ร่วมวิจัยและได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ดำเนินงานวิจัยหม้อแปลง Low Carbon และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage เพื่อรองรับพลังงานสะอาดอย่างมั่นคง Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response” ซึ่งจากการดำเนินงานพบว่าหม้อแปลงที่ใช้ในการดำเนินโครงการ ที่กล่าวในข้างต้นตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงานถึง 9% โดยสามารถลดการใช้พลังงาน ลดตันทุนค่าไฟฟ้า และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมีระยะเวลาคืนทุนภายในเวลา 2-5 ปี ซึ่ง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคมประชาชนและผู้ประกอบการ ด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า

สภาอุตสาหกรรม 3 จังหวัด (เชียงใหม่, ลำพูน และลำปาง) กล่าว ขอแสดงความยินกับ บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่อนุรักษ์พลังงานและลดค่าไฟฟ้า 100,000 บาท/เดือน อีกทั้งสภาฯ และ มช. พร้อมสนับสนุน บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำต้นแบบด้านการประหยัดพลังงาน ตอบโจทย์ภาครัฐด้านการประหยัดพลังงาน พร้อมก้าวสู่ LESS, CFP, CFO, BOI, Carbon Credit, Net Zero, Carbon Neutrality

เชียงใหม่-ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต “พระนักบุญแห่งล้านนา” มอบรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต ให้กับโรงพยาบาลพร้าว อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 14 พฤษภาคม  2567 นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายสุรสิทธิ์ เทียมทิพย์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายแพทย์นพดล บุญเฉลย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพร้าว และคณะเจ้าหน้าที่ รับมอบรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จากท่านเจ้าคุณพระภาวนารัตนญาณ วิ. (ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงรายและเจ้าอาวาสวัดแสงแก้วโพธิญาณ บ้านป่าตึง ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ในโครงการมอบรถพยาบาล 108 คัน ทั่วประเทศ  ด้วยเมตตาบารมี ของท่านเจ้าคุณ ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการใช้รถพยาบาลเพื่อส่งต่อและออกรับผู้ป่วยฉุกเฉิน จึงได้เมตตา มอบรถพยาบาลให้กับโรงพยาบาลพร้าว จำนวน 1 คัน สำหรับใช้ทดแทนรถพยาบาลทีเสียหายชำรุด

โดยเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน ขนาดใหญ่ มีโครงสร้างแข็งแรง ภายในรถมีเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ ที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน อาทิ เตียงเข็นผู้ป่วย, เครื่องวัดชีพจร, เครื่องกระตุ้นหัวใจ,เครื่องวัดความดันโลหิต, เครื่องให้ออกซิเจน เป็นต้น พร้อมนำไปใช้ปฏิบัติภารกิจรับส่งต่อผู้ป่วยได้ทันที  

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลพร้าว จ.เชียงใหม่ ขอกราบอนุโมทนาแด่ท่านเจ้าคุณครูบาอริยชาติ อริยจิตโต และขอขอบพระคุณคุณปุณรัศมิ์ ปฐมอัคราโรจน์ ผู้ให้การสนับสนุนบริจาคที่ส่งมอบรถพยาบาลให้ในยามขาดแคลน และเห็นถึงความสำคัญในการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลรักษาที่รวดเร็วทันท่วงที ซึ่งการมีรถพยาบาลที่มีสมรรถนะสูง ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในการส่งต่อผู้ป่วย และขอขอบคุณนายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และนายแพทย์วนิรุทธ์ หอเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่ได้เป็นผู้ประสานงานส่งมอบรถในครั้งนี้

นภาพร/เชียงใหม่

กาฬสินธุ์เครือข่ายเมืองน้ำดำบุกร้องชูศักดิ์ป.กมธ.ปปช.เชือดก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร เครือข่ายภาคประชาสังคม ปปท.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ และชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน ยื่นหนังสือร้อง 'ชูศักดิ์' ป.กมธ.ปปช.สภาฯ ตรวจสอบงานก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ภายหลังรองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (ป.กมธ.ปปช.สภาฯ)  ประชุมปัญหาการตัดไม้พะยูง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางจังหวัด นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4  ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะ กธจ.กาฬสินธุ์ และนายดำรงศักดิ์ สง่าวงศ์ ข้าราชการบำนาญ เป็นตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม งบประมาณ 545 ล้านบาท 8 โครงการใหญ่ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ต่อรองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธาน กมธ.ปปช.สภาฯ เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบปัญหาการก่อสร้าง ที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ
นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4  ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะ กธจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนต้องการให้ ป.กมธ.ปปช.สภาฯ ได้ตั้งองค์คณะเข้ามาตรวจสอบโครงการนี้

ถึงแม้ว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง จะทำการยกเลิกสัญญากับ หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ ไปแล้ว แต่ผลการดำเนินการตามระเบียบพัสดุปี 2560 บุคคลที่จะทำการยกเลิกสัญญา และมีผลในทางปกครอง ก็คือ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่เอกสารการยกเลิกจะต้องถูกส่งต่อมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และยังมีกระบวนการพิจารณาของกรมบัญชีกลางจนนำไปสู่การยกเลิกทางปกครอง โดยปลัดกระทรวงการคลัง ทำให้ขณะนี้ หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ ยังคงสามารถไปทำนิติกรรมต่อหน่วยงานราชการอื่นได้ แม้ในส่วนกรมโยธาฯ จะไม่สามารถเข้าไปประมูลงานได้แล้ว จึงเกรงว่าจะเกิดผลเสียต่อทางราชการที่มองได้ถึงความมั่นคงของประเทศชาติ

“อีกกรณีเป็นเรื่องของความสงบสุขของพี่น้องประชาชน เนื่องจากในบางโครงการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเฉพาะ งานก่อสร้างท่อระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบประมาณ 148 ล้านบาท จะพบว่า ถนน 6 จุดรวมถึงชุมชนกลายสภาพเป็นหลุมอันตราย ที่ผู้รับจ้างทิ้งงานได้ปล่อยเอาไว้และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน จึงเกิดปัญหาเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะได้ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดเสียหายไปแล้วกว่า 7,500 ล้านบาท จึงได้เข้ามายื่นหนังสือเพื่อให้ตรวจสอบปัญหานี้ด้วย”นายชาญยุทธ กล่าวในที่สุด

ด้าน นายดำรงศักดิ์ สง่าวงศ์ ข้าราชการบำนาญ ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ตนเชื่อว่าโครงการนี้มีปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย เกิดขึ้นจากส่วนกลาง เนื่องจากตนได้เริ่มร้องเรียนมาก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 2 ปี ที่เพิ่งจะเห็นผลมีการยกเลิกสัญญา ข้อสังเกตที่ต้องการให้ กมธ.ปปช.สภาฯ เร่งตรวจสอบ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาป้องกันน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ 148 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไป 80 ล้านบาท จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับงานก่อสร้างว่าทำไมถึงสามารถเบิกเงินได้ คณะกรรมการตรวจการจ้าง ใช้เกณฑ์อะไรพิจารณา แล้วรู้หรือไม่ว่า หจก.ทั้ง 2 แห่ง ไม่สามารถทำงานได้ทำไมถึงปล่อยผ่านไป อีกทั้งผลการยกเลิกโครงการก็จะทำให้รัฐจะต้องอุดหนุนภาษีไปยังโครงการที่สร้างไม่เสร็จอีก จึงต้องการให้ ป.กมธ.ปปช. เร่งนำเรื่องนี้ไปพิจารณาในชั้น กมธ.โดยด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์และเงินภาษีของพี่น้องประชาชน

อย่างไรก็ตามภายหลังรับเอกสารร้องเรียน คณะที่ปรึกษา กมธ.ปปช.สภาฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณถนน ผังเมือง 2 ชุมชนหนองเรือ-หัวคู เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เพียง 200 เมตร คณะที่ปรึกษาฯ พบปัญหาก่อสร้างมีการทิ้งท่อ เศษหิน เศษดิน เกลื่อนถนน โดยเฉพาะบล็อกที่จะใช้เป็นจุดกักน้ำไม่มีป้ายติดเตือนป้องกันอันตรายที่ยังพบความเสื่อมสภาพของงานก่อสร้างอีกด้วย ทั้งนี้ ที่ปรึกษา กมธ.ปปช. จะนำปัญหาที่พบเห็นนี้ไปรายต่อที่ประชุม กมธ.ปปช.สภาฯ เพื่อตรวจสอบหน่วยงานและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และจะกำหนดวันพิจารณาปัญหานี้อย่างเร่งด่วนต่อไป

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ

“—เมื่อฉันได้รับราชสมบัติ ฉันไม่เชื่อว่าฉันจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉันเป็นน้องสุดท้อง แต่ในที่สุดฉันก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจนได้ และเมื่อฉันขึ้นครองราชย์นั้น ฉันรู้ดีว่าม่านจวนจะรูดแล้ว แต่ฉันก็คิดอยู่เสมอว่าฉันมีความตั้งใจจะมอบการปกครองให้แก่ราษฎร—”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีต่อผู้แทนคณะปฏิวัติที่เข้ามาพบเพื่อถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยที่พระองค์มีอยู่ 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในครั้งนั้น มิได้มีการอภิวัฒน์ขึ้นอย่างที่พวกเขากล่าวอ้าง อำนาจการปกครองของประชาชน โดยมีรัฐธรรมนูญอย่างเป็นประชาธิปไตยนั้นมิได้เกิดขึ้นจริง มีแค่เพียงการปกครองที่เรียกว่า ‘คณาธิปไตย’ โดยมีเครื่องมือที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ มาใช้รองรับความต้องการของตนก็เท่านั้นเอง 

ซึ่งหลายต่อหลายเหตุการณ์ได้ทำให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงอึดอัดและทรงผิดหวังอย่างเหลือประมาณ จนพระองค์ต้องทรงเดินทางออกนอกประเทศเพื่อทรงไปรักษาพระวรกาย และส่วนหนึ่งคือการเลี่ยงการใช้พระองค์เป็นเครื่องมือของคณะผู้ก่อการคณะต่าง ๆ ที่ต้องการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยอ้างพระองค์ ราวกับพระองค์ต้องทรงตกเป็นตัวประกัน โดยเสด็จฯ ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 จนกระทั่งถึงวันที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติใน 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 และทรงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษจวบจนสวรรคต 

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดย พ.ศ. 2480 พระองค์ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักเวนคอร์ต ตำบลบิดเดนเดน มณฑลเคนท์ โดยในช่วงนี้พระองค์ทรงพระประชวรมากขึ้นด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ แต่กระนั้นพระอาการประชวรของพระองค์ก็มีการกำเริบหนักบ้าง น้อยบ้าง ประกอบกับโรคทางพระหทัยที่เริ่มพบว่ามีอาการ

พ.ศ. 2482 ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ เพื่อความปลอดภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากพระตำหนักเวนคอร์ตอยู่ใกล้กับช่องแคบอังกฤษ ซึ่งเป็นเขตป้องกันประเทศของทหาร โดยทำการปิดพระตำหนักไว้แล้วหวังใจว่าเมื่อสงครามสงบจะได้กลับไปพำนักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในช่วงนี้พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพในภาวะสงครามด้วยความยากลำบาก ขาดแคลนอาหาร ทั้งยังต้องระวังภัยทั้งทางอากาศ โดยการอำพรางไฟฟ้าลดความสว่างและความอบอุ่น บางครั้งต้องสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูหนาว ทำให้พระสุขภาพทรุดโทรมและทรงประชวรหนักขึ้น 

ปี พ.ศ. 2484 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม พระชะตาชีวิตโหมกระหน่ำพระองค์อีกครั้ง เมื่อทรงทราบว่า พระตำหนักเวนคอร์ตที่ทรงปิดไว้ ถูกยึดครองเป็นที่ทำการของฝ่ายทหารอังกฤษไปแล้ว จึงจะทรงส่งคนไปเก็บสิ่งของมีค่าในพระตำหนัก ก่อนที่จะส่งมอบตำหนักอย่างเป็นทางการ ด้วย ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี’ พระองค์ทรงอาลัยพระตำหนักนี้มาก ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชดำริจะเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เอง แต่พระอาการประชวรของรัชกาลที่ 7 ทรุดหนักลง พระบาทบวมอยู่ 2-3 วัน ซึ่งเป็นอาการอันเนื่องมาจากที่ประชวรพระหทัย

ในช่วงเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงฉลองพระองค์ชุดบรรทมเป็นสนับเพลาแพร และฉลองพระองค์แขนยาว ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้าตรู่ พระอาการดูดีขึ้นมาก ได้รับสั่งกับ ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ ว่าหากอยากจะเสด็จฯ ไปพระตำหนักเวนคอร์ตเพื่อไปจัดการอะไรต่อมิอะไรให้เรียบร้อยก็ทรงไปได้ ไม่ต้องทรงเป็นพระกังวล โดยรับสั่งว่า 

“จะไปไหนก็ได้ ฉันสบายดี....อยู่ได้ ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง จะอ่านหนังสือพิมพ์” ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่านั่นจะคือรับสั่งครั้งสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 7 

‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ จึงเสด็จฯ ออกไปโดยรถยนต์พระที่นั่งตั้งแต่เวลา 08.00 น. ในหลวง ร.7 ทรงเสวยไข่ลวกนิ่ม ๆ ซึ่งนางพยาบาลประจำพระองค์จัดถวาย ทรงหนังสือพิมพ์แล้วบรรทมต่อ สักพักหนึ่งก็ทรงบ่นว่ามีอาการวิงเวียนไม่สบาย นางพยาบาลจึงลุกไปหยิบยา พอกลับมาอีกที ก็เห็นพระหัตถ์ตกห้อยลงมาอยู่ข้าง ๆ หนังสือพิมพ์ตกอยู่กับพื้น หลับพระเนตรเหมือนกำลังหลับอย่างสบาย ประมาณ 09.00 น. นางพยาบาลจับพระชีพจรดู จึงรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว ได้สวรรคตเสียแล้ว สิริรวมพระชนม์มายุได้ 48 พรรษา และเป็นเวลา 6 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่พระองค์ทรงสละราชสมบัติ

ส่วนทาง สมเด็จฯ เมื่อรถพระที่นั่งแล่นออกจากพระตำหนักได้สักพักใหญ่ก็ต้องชะลอ แล่นช้าลงเพราะหมอกลงจัด โดยมีคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า สมเด็จฯ ทรงทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับยืนอยู่ ซึ่งออกจะประหลาด ๆ จนทรงสังหรณ์พระราชหฤทัย 

จนกระทั่งตำรวจอังกฤษได้มาสกัดรถพระที่นั่งของสมเด็จฯ เพื่อแจ้งข่าว พระองค์จึงทรงรีบเสด็จฯ กลับพระตำหนักในทันที เมื่อทรงถึงพระตำหนัก พระองค์ทรงควบคุมพระสติอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม ทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายใน โดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษ ได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา 4 วัน ซึ่งตามปกติจะอนุญาตให้เพียง 1 วัน เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้พระประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ได้ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการแต่งพระบรมศพไว้ว่า 

“ถ้าพระองค์สวรรคตเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียวแล้วเอาลงหีบ แล้วจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีเกียรติยศอย่างใดทั้งสิ้น และขอให้เอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดเพียงคันเดียวในขณะที่กำลังถวายพระเพลิง”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’ ตอนหนึ่งว่า… “ได้ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งดูเหมือนบรรทมหลับอยู่ในพระหีบใหญ่บุนวมสีขาว ดูสบายดีกว่าที่จะต้องถูกจัดลงพระบรมโกศอย่างในเมืองไทยเรามากนัก ในห้องตั้งพระศพก็จัดการอย่างดี มีธงมหาราชประดับติดอยู่กับฝา”

ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนรถซึ่งมีธงมหาราชคลุมหีบพระบรมศพ และเชิญพระชัยวัฒน์ไว้ทางเบื้องพระเศียร รถเคลื่อนขบวนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันไปยัง สุสานโกลเดอร์ส กรีน ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน มีรถตามเสด็จประมาณ 5 คัน 

เมื่อถึงสุสาน พบว่ามีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จฯ อยู่มาก ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่อัญเชิญหีบพระบรมศพเข้าสู่ฐานตั้ง ผู้ที่ตามเสด็จฯ นั่งเก้าอี้เรียบร้อยแล้ว นายอาร์. ดี. เครก ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทย และเป็นพระสหายของ ร.7 ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ ผู้ที่ไปชุมนุม ณ ที่นั้นเข้าไปถวายความเคารพโดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯ เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพเป็นพระองค์แรก ตามด้วยพระประยูรญาติและผู้ใกล้ชิดทั้งชาวไทยและต่างชาติ จากนั้นพนักงานกดสวิตช์อัญเชิญหีบพระบรมศพ เลื่อนไปตามรางเหล็กสู่เตาไฟฟ้า 

การพระบรมศพนั้นไม่มีพิธีสงฆ์ใด ๆ เพราะไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่ในประเทศอังกฤษในเวลานั้น มีแต่คนไทยซึ่งเคยบวชในพระพุทธศาสนา ได้สวดมนต์ถวายพระราชกุศล แล้วมีการบรรเลงเพลง เมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวายเป็นครั้งสุดท้ายเพียงเท่านั้น

หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว พระบรมอัฐิและพระบรมสรีรางคารถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานยังพระตำหนักคอมพ์ตันอันเป็นที่ประทับของพระองค์จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่สยาม

โดยการอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่สยามนั้นเริ่มต้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 กระบวนเกียรติยศจากรัฐบาลอังกฤษอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิในหลวงรัชกาลที่ 7 ขึ้นประทับบนเรือวิลเลมรัยส์ เมืองเซาธ์แฮมป์ตัน ทหารกองเกียรติยศ กองทหารราบเบาซอมเมอร์เส็ท ถวายบังคมส่งเสด็จฯ โดย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงรับการถวายความเคารพ โดยพระองค์เสด็จฯ กลับสยามโดยประทับบนเรือลำนี้ เป็นเวลา 23 วัน

กระทั่งวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 เรือภาณุรังสีได้เข้าเทียบเรือวิลเลมรัยส์ แล้วอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิมาประดิษฐาน ณ ที่ประทับชั่วคราว ภายในโถงเรือจนถึงกรุงเทพฯ จึงอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิขึ้นสู่เรือรบหลวงแม่กลอง แล้วนำพระบรมอัฐิ บรรจุในพระโกศ ประดิษฐานในเรือรบหลวงแม่กลอง หลังจากนั้นกรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จฯ ตาม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิลงจากเรือรบหลวงแม่กลอง ขึ้นประทับบนพระราเชนทรยานราชรถเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

โดยประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิเคียงข้าง พระโกศพระบรมอัฐิ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ณ พระที่นั่งพุดตานถม ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top