Wednesday, 14 May 2025
TheStatesTimes

‘ชวน’ อัด!! ‘ทักษิณ’ ขอโทษเรื่องไฟใต้ไม่พอ สอนมวยลิ่วล้อ นายกฯ ตอบกระทู้เป็นหน้าที่

(2 มี.ค. 68) ที่ห้างสรรพสินค้าสยามสแควร์วัน ปทุมวัน กทม. นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาฯ ร่วมงาน “แนวหน้า TALK ครั้งที่ 2” พร้อมกล่าวในหัวเรื่อง “เมื่อคมมีดโกนโบกสะบัด” ตอนหนึ่งว่า ก่อนอื่นตนขอแสดงความเสียใจด้วยความจริงใจ กรณีรถบัสทัศนศึกษาคว่ำที่ จ.ปราจีนบุรี มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตวูบเดียวจำนวนมาก ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของบ้านเรา เป็นตัววัดเรื่องความไม่มีวินัย ความย่อหย่อนในการบังคับใช้กฎหมายบ้านเมือง แล้วเรามักพูดว่า ขอให้เป็นกรณีสุดท้าย แต่ก็มีเกิดขึ้นตลอด ทำให้เห็นว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ลามไปถึงการเมือง ความสงบเรียบร้อย ส่วนเรื่องน่ายินดีที่ยังพอมี ท่ามกลางความยากลำบากของบ้านเมือง นั่นคือการที่แต่ละฝ่ายยังคงดำรงความเชื่อมั่นในความดีความถูกต้อง

กรีดลิ่วล้อตบมือชม “นายกฯ อิ๊ง” ตอบกระทู้ ทั้งที่เป็นหน้าที่

นายชวน กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นเรื่องแปลก เพราะนายกรัฐมนตรีเดินทางมาตอบกระทู้ถามในการประชุมสภาฯ ที่แปลกคือเมื่อนายกฯ ตอบกระทู้เสร็จแล้วมีการปรบมือกัน ไม่เคยปรากฏ ตนไม่เคยเห็น เหมือนสร้างวีรกรรมว่า มาตอบกระทู้แล้ว ทั้งที่กระทู้ได้มีการเตรียมกันมาแล้ว จริงๆ แล้วมันเป็นหน้าที่ปกติของการทำงาน ไม่น่ากลัวอะไร จะน่ากลัวสำหรับคนโกง ทุจริต ที่กลัวว่าจะถูกซักถาม ส่วนที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า สมัยประชุมที่ผ่านมา การประชุมสภาฯ องค์ประชุมครบ ไม่ล่ม แต่ภายหลังมาทราบว่า สาเหตุที่องค์ประชุมไม่ล่มคือ พรรคการเมืองบางพรรคมีข้อบังคับให้ปรับเงินสมาชิกเป็นหมื่น หากไม่มาเป็นองค์ประชุม แต่ล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา องค์ประชุมรัฐสภาล่มในวาระการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และหมวด 15/1 ที่เขียนขึ้นมาใหม่เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงทำให้สมาชิกหวั่นไหว ไม่กล้าเข้าประชุมไปลงมติ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ระบุโดยสรุปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องมีการทำประชามติ ถามประชาชนทั้งก่อนแก้ และหลังแก้รัฐธรรมนูญ จึงทำให้สมาชิกกังวลว่า จะไปทำอะไรที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการตามที่ศาลฯ กำหนด อาจจะมีความผิด

ย้ำ กฎหมายดีต้องได้คนดีเป็นผู้ใช้ด้วย

“บ้านเมืองเราปกครองด้วยรัฐธรรมนูญมา 93 ปีแล้ว ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ละฝ่ายโดยเฉพาะ 3 อำนาจคือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการต่างมีหน้าที่ปฏิบัติภารกิจตามที่กฎหมายกำหนด ช่วงหลังเกิดองค์กรอิสระขึ้นก็มีหน้าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายโดยเด็ดขาดเช่นกัน ความสำคัญขององค์กรอิสระจึงมีมาก เป็นส่วนหนึ่งที่จะบอกว่าบ้านเมืองจะไปได้ไม่ได้ตามครรลองความชอบธรรมหรือไม่ รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ว่ากันว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุด แต่ก็ถูกยึดอำนาจและล้มไปในปี 2549 ถ้ามันดีจริง ทำไมล้มไป กฎหมายดีอย่างเดียวไม่พอ ผู้ใช้ต้องดีด้วย สมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีมาใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ต่อจากตนที่เป็นนายกฯ ก็มีปัญหา ถูกยึดอำนาจปี 49 ด้วย 4 เหตุผล 1.) ทุจริตคอร์รัปชั่นรุนแรง 2.) มีการแทรกแซงองค์กรอิสระจนปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ 3.) มีความแตกแยกสามัคคี และ 4.) มีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ปี 50 ต่อมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยได้เพิ่มข้อความในมาตรา 3 วรรค 2 ว่า องค์กรทั้งหลายต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักนิติธรรม เป็นการย้ำว่า ช่วงการใช้รัฐธรรมนูญปี 40 มีการละเมิดหลักนิติธรรม เป็นที่มาของปัญหาบ้านเมืองหลายเรื่องในขณะนี้ ดังนั้นต้องย้ำให้เคารพกฎหมาย” นายชวน กล่าว

ฟื้นปมกำปั้นเหล็กทุบ “โจรกระจอก” จุดไฟใต้

นายชวน กล่าวต่อว่า ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ที่นายทักษิณ ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อช่วงวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมกับออกมาขออภัยต่อเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงที่เป็นนายกฯ แล้วบริหารผิดพลาดจนเกิดความสูญเสีย ต้องบอกว่าตนลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ตนยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนมาเป็นสส.สมัยแรก ตนให้ความสนใจกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดตาม ศึกษาปัญหามาตั้งแต่ต้น และน่าจะเป็นผู้ที่อภิปรายเรื่องเหล่านี้ในสภาฯ มากที่สุด ที่นายทักษิณออกมาขอโทษ มันเกิดจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เปลี่ยนไปในวันที่ 7 เม.ย. 2544 สมัยนายทักษิณเป็นนายกฯ ใหม่ๆ เกิดเหตุระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ผู้เสียชีวิต ต่อมานายทักษิณลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บ สูญเสียในวันที่ 8 เม.ย. 44 พร้อมกับประกาศนโยบายใหม่ กับวาทกรรมที่ว่า เหตุในภาคใต้เป็นเรื่อง “โจรกระจอก” โดยบอกว่า “โจรจริงมีเพียงตัวสำคัญอยู่ 18 คน จัดการเสียเดือนละ 10 คนก็หมด เชื่อว่าตำรวจทำได้ปัญหาทุกอย่างจะเรียบร้อยภายใน 3 เดือน” พร้อมส่งมือเก็บ ลงไปในพื้นที่ จึงเป็นนโยบายเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจนทุกวันนี้

ยุคทักษิณแก้ไฟใต้ 5 ปีเศษใช้ แม่ทัพถึง 7 คน

นายชวน กล่าวต่อว่า กระบวนการเก็บผู้เห็นต่างของรัฐบาล ทำให้เกิดกลุ่ม RKK ชุดลาดตระเวนขนาดเล็ก ที่ก่อตัวกันเพื่อก่อเหตุ จนมาถึงวันที่ 4 ม.ค. 47 เกิดเหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส ถือเป็นเหตุปล้นปืนจำนวนมากที่สุด และที่ใหญ่ที่สุดในยุครัตนโกสินทร์ จากนั้นนโยบายเริ่มไปกันใหญ่ เราเคยมีหน่วยงานที่ในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และนายกฯ ในขณะนั้นตั้งเอาไว้ ทั้งศอ.บต. สมช. เพื่อคอยสอดส่องเป็นหูเป็นตาในพื้นที่ แต่นายทักษิณไปเปลี่ยนนโยบาย และยกเลิกหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่เหล่านี้ เพราะอ้างว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เหมือนจังหวัดชายแดนอื่นทั่วไป ไม่มีอะไรพิเศษ ถือเป็นความผิดพลาดในการบริหารอย่างมากจนเตลิดเปิดเปิง คนร้ายก่อเหตุ เจ้าหน้าที่เสียชีวิต นอกจากนี้ในยุคที่นายทักษิณเป็นนายกฯ ช่วงปี 44-49 รวมทั้งสิ้น 5 ปีเศษ มีการเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้มากถึง 7 คน แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาทำงาน ถือเป็นนโยบายผิดพลาด วิธีบริหารก็ไม่ถูกต้อง จนเป็นที่มาทำให้ภาคใต้นองเลือด

ชี้คำขอโทษไม่พอ คนตาย 7.6 พัน บาดเจ็บ 1.4 หมื่นคน

“เมื่อนายทักษิณออกมาขอโทษ แต่ก็ไม่ค่อยบอกความจริงว่า มาจากอะไร ผมจึงนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานำเสนอ ผลเสียหายที่เกิดขึ้นจนถึงวันนี้ จำนวนการเกิดเหตุการณ์ 22,928 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 7,670 คน บาดเจ็บ 14,835 ราย เป็นความผิดพลาดในอดีตเกิดจากการไม่ยึดหลักนิติธรรม การยึดหลักนิติธรรมคือต้องให้ศาลตัดสินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายบริหารมีหน้าที่สั่งการให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด แต่จะลงโทษอย่างไร ศาลต้องตัดสิน ถ้าเรายึดสิ่งนี้ภาคใต้ไม่เกิดวิกฤต แต่ถ้าใช้อำนาจตามอำเภอใจ แล้วแก้ปัญหาตามที่ตัวเองพอใจ ใช้วิธีเก็บ ฆ่า สถานการณ์จึงบานปลาย ถ้าถามผมว่า เหตุการณ์นี้ใครเสียใจที่สุด ก็คือในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะท่านทรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มา 40 ปีมากกว่าอายุราชการเสียอีก เข้าถึงพื้นที่ตั้งแต่ชาวบ้านยังนุ่งผ้าขาวม้า จนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงนองเลือดในพื้นที่ ท่านจึงไม่เสด็จลงพื้นที่อีกเลย ฉะนั้น การแก้ปัญหาต้องยึดหลักนิติธรรม ที่เป็นหัวใจของการปกครองประเทศ กฎหมายไม่ดีต้องแก้ ประเทศกับปัญหาเป็นของคู่กันปกติ แต่ต้องมีองค์กรตามกฎหมายเข้ามาแก้ปัญหา มีการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย” นายชวน ระบุ

สูญงบฯ กว่า 5 แสนล้าน จากการใช้นโยบายผิดพลาด

นายชวน กล่าวด้วยว่า ตนยืนยันว่า เหตุร้ายในภาคใต้วันนี้ยังมีอยู่บ่อย เพียงแต่ไม่ปรากฏเป็นพาดหัวข่าวแล้ว ภัยที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในนโยบายยังต้องสูญเสียต่อไป โดยเฉพาะงบประมาณแผ่นดิน ที่ใช้งบฯ ตั้งแต่ยุคนายทักษิณถึงปัจจุบัน จำนวน 500,000 กว่าล้านบาทแล้ว เทียบกับ 7,000 กว่าคนที่เสียชีวิตไปไม่ได้ ความผิดพลาดในนโยบายที่ทำให้เกิดความสูญเสียต่อเนื่อง ประชาชนรู้ว่าคนก่อเหตุเหล่านี้ต้องรับผิดชอบอย่างไร คำขอโทษแค่นี้ไม่พอ ที่บอกว่าเลือกพัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกเรา จังหวัดอื่นไว้ทีหลัง ตนคิดว่าตอนที่คิดทำเรื่องนี้นึกไม่ถึงวันหนึ่งสิ่งที่ทำไปมันกลายเป็นเรื่องแปลก ไปแกล้งภาคใต้ แต่ไปได้ลูกเขยเป็นคนภาคใต้ มันเป็นไปได้อย่างไร ปัญหาภาคใต้เกิดขึ้นแล้วทำอย่างไรให้ความเสียหายลดลง ขอโทษอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องชดเชยให้เขาด้วย เมื่อเราเลือกปฏิบัติไม่พัฒนาภาคใต้ ด้วยการสร้างถนนสายใหม่ไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนทำมาตั้งแต่ยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประยุทธ์ เห็นด้วย แต่ยังไม่เป็นรูปธรรม ก็มีโอกาสแล้วที่คนที่มีลูกเขยภาคใต้ จะได้มีโอกาสชดเชยสิ่งที่ได้ทำลงไป เพราะไปแกล้งเขา

การเมืองยังป่วนเพราะการเลือกปฏิบัติ

นายชวน กล่าวว่า วันนี้เรามีปัญหาหลายประการ ทั้งองค์กรอิสระ วุฒิสภาที่เถียงกันว่ามาโดยชอบหรือไม่ เป็นต้นทุนที่ทำให้คนไม่เชื่อถือประเทศเรา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาแบบเลือกปฏิบัติ เราเห็นชัดเจนในสังคม ทำไมไม่เสมอเท่าเทียมกัน ทำไมต้องมีชั้น 14 ทำไมต้องมีพิเศษ ทำไมนักโทษไม่เท่ากัน รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ เราจึงต้องฝากความหวังไว้กับหน่วยงานองค์กร และสส.สภาฯ อย่างพวกตน โดยเฉพาะองค์กรอิสระ ขอช่วยกันเป็นกำลังใจองค์อิสระทั้งหลายซึ่งตามรัฐธรรมนูญหมวด 12 องค์กรอิสระ ระบุว่า การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจตามกฎหมายด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงตามดุลยพินิจ แต่ถ้าองค์กรเหล่านี้กลัว เกรงใจ ได้ผลประโยชน์ไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ก็จะล้มเหลว เป็นเรื่องน่าเสียใจ เพราะเราใช้ภาษีประชาชนจัดตั้งขึ้นมา ตนขอฝากไปยังองค์กรอิสระทั้งหลาย อย่าลังเลใจ ถ้าเห็นว่าอะไรไม่ถูก อย่าเกรงใจใคร เพราะจะเสียโอกาส มันจะจารึกไว้ว่าในช่วงที่ทำหน้าที่ใครทำดีหรือไม่ดี

เหน็บเจ็บส่งศาลตีความ “นายกรัฐมนตรี” แปลว่าอะไร

“ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ทำให้ประเทศล้าหลัง กฎหมายดี ผู้ใช้ต้องดี ซื่อตรงสุจริต ต้องส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมืองตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่ง แต่การเมืองในยุคปัจจุบันต้องใช้เงิน เป็น ส.ส. ต้องใช้เงิน ถ้ารัฐบาลมาจากเสียงข้างมากที่ซื้อเสียง ครม. ก็ต้องเลี้ยง ส.ส. เป็นที่มาของการทุจริตคอร์รัปชันกระจายไปทั่ว แตะไปทางไหน มองไปทางไหนก็ทุจริต เราจะปล่อยอย่างนี้หรือ พี่น้องได้ประโยชน์สักพันบาทในการเลือกตั้ง แต่ประเทศเสียหายเป็นล้านล้านบาทจากความเลวร้ายของนักการเมืองที่โกงกิน ประชาชนก็ต้องไม่สนับสนุนสิ่งที่ไม่ดีด้วย ตามมาตรา 160 อุตส่าห์เขียนไว้ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เห็นได้ข่าวว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือ ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ให้เขาตีความด้วยว่า นายกรัฐมนตรี แปลว่าอะไร” นายชวน กล่าว ทำให้เรียกเสียงปรบมือจากผู้ที่มาร่วมรับฟังเป็นอย่างมาก

ย้อนอดีต!! ‘มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช’ นายกฯ ของไทย เดินทางไปเยือนประเทศจีน ลั่น!! เลื่อมใส ‘ประธานเหมา’ ข้าพเจ้ามิใช่คอมมิวนิสต์ แต่ข้าพเจ้ามาหาเพื่อน

(2 มี.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Nitipat Bhandhumachinda’ โพสต์ข้อความระบุว่า ...

๕๘ นาที ที่พลิกประวัติศาสตร์

จากเหตุการณ์ที่ปรากฏแก่สายตาชาวโลกเมื่อวานนี้ ทำให้ผมระลึกถึงเรื่องหนึ่งซึ่งเคยเป็นเรื่องที่คอขาดบาดตายมากๆสำหรับผมในวัยเด็ก คือตอนนั้นประเทศเพื่อนบ้านเราฝั่งตะวันออกทั้งแถบเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ อีกทั้งสหรัฐฯซึ่งเคยเป็นกำลังหลักในการต่อต้านลัทธิดังกล่าวในภูมิภาคนี้ ก็เปลี่ยนนโยบายของตน โดยลดและถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ซึ่งก็ทำให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงต่อการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้านและกองกำลังคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเองอย่างที่สุด

ซึ่งวิกฤติดังกล่าวก็ได้สร้างวีรบุรุษที่คนสมัยนี้อาจจำกันไม่ได้หรือไม่เคยได้รับรู้มาก่อน

นั่นคือการหาญกล้าของนายกฯไทยที่ได้กัดฟันเดินทางไปสร้างสานสัมพันธ์กับเจ้าลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีอิทธิพลสูงสุดในย่านนี้ด้วยตนเอง หลังจากที่มีการประสานงานอย่างแข็งขันผ่านนโยบายทางการทูต ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พศ. ๒๕๑๘ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกฯของไทยสมัยนั้นและคณะ ก็เดินทางไปเยือนประเทศจีน ซึ่งเป็นการไปเยือนของผู้นำไทยเป็นครั้งแรกหลังจากที่จีนเปลี่ยนการปกครอง ในตอนนั้นท่านโจวเอินไหล นายกฯของจีนเองก็กำลังป่วยหนัก แต่ก็ฝืนความเจ็บป่วยมาต้อนรับและร่วมลงนามแถลงการณ์ร่วม สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไทยอย่างเป็นทางการ

แต่ทุกๆคนก็ย่อมทราบดีว่าความสำคัญที่สุดก็ยังอยู่ที่ว่าท่านเหมา ประธานใหญ่จะมีท่าทีกับความสัมพันธ์นี้อย่างไร และตอนคณะของไทยเดินทางไปนั้น ก็ไม่ได้มีกำหนดวันเวลาชัดเจนว่า จะได้พบกับท่านเหมาเมื่อไหร่
ซึ่งขณะที่ท่านคึกฤทธิ์และคณะกำลังพบปะชาวเผ่าต่างๆในวันที่ ๒ กรกฎาคมอยู่ดีๆ ก็มีรถคันหนึ่งพุ่งปรู๊ดเข้ามาแล้วบอกว่า ได้เวลาไปพบท่านประธานฯแล้ว

ท่านคึกฤทธิ์ซึ่งตอนนั้นแต่งตัวลำลองก็วิ่งหน้าตื่นกลับไปแต่งตัวใหม่ใส่สูทให้สุภาพ แล้วก็เดินทางอย่างรีบร้อนไปที่นัดพบอย่างรวดเร็ว เมือ่ไปถึงนั้น ท่านก็พบท่านประธานเหมาซึ่ง เป็นชายร่างใหญ่ยืนตะหง่านอยู่ และเมื่อท่านประธานเห็นท่านก็เปล่งเสียงดังคล้ายให้ท่านเดินเข้าไปหา ตอนนั้นล่ามก็ยังมาไม่ถึง ท่านนายกฯเราก็หันไปหาคุณชาติชาย ชุณหะวัณ รมว. ต่างประเทศ ว่าเอาไงดี คุณชาติชายก็บอกว่าเดินเข้าไปเลยครับ ท่านคึกฤทธิ์เล่าในภายหลังว่าเมื่อไปยืนใกล้ๆ ท่านประธานฯก็จับมือมาเขย่าแรงๆและพูดเสียงดังๆ ที่ท่านคึกฤทธิ์เล่าว่า คล้ายเสียงเสือคำราม เมื่อล่ามวิ่งหน้าตั้งเข้ามาแล้ว ท่านคึกฤทธิ์ก็ได้รับเชิญให้ไปนั่งข้างๆท่านประธานฯ ซึ่งท่านคึกฤทธิ์ก็เล่าว่าท่านก็นั่งที่ขอบเก้าอี้และประสานมืออย่างนอบน้อม ซึ่งท่านประธานเห็นก็แสดงสีหน้าชื่นชมพอใจ

การสนทนานั้นก็มีความน่าสนใจหลายอย่าง เช่นท่านประธานก็ถามเปิดการสนทนากันตรงๆว่า "ท่านนายกฯ มาหาคอมมิวนิสต์อย่างข้าพเจ้า ไม่รู้สึกกลัวหรือ”

ซึ่งท่านคึกฤทธิ์ก็ตอบได้อย่างชาญฉลาดว่า "“หามิได้ ข้าพเจ้าเลื่อมใสท่านประธานเหมามานานแล้ว ข้าพเจ้ามิใช่คอมมิวนิสต์ แต่ข้าพเจ้ามาหาเพื่อน" และท่านประธานเหมาก็เอ่ยขำๆว่าท่านเป็นผู้ร้ายหมายเลขหนึ่งของโลกเชียวนะ และก็พูดสนทนากันไปเรื่อยๆ ท่านก็บ่นว่านี่ก็ป่วยกระเสาะกระแสะ คงจะใกล้ตายเข้าไปทุกวันแล้ว

ท่านคึกฤทธิ์ก็ตอบขำๆกลับไปว่า "ท่านยังตายไม่ได้นะครับ เพราะโลกยังต้องการผู้ร้ายหมายเลขหนึ่งอยู่"

ซึ่งก็ทำให้ท่านประธานปล่อยก๊ากออกมา สร้างความเฮฮา และชื่นมื่นกันแบบถูกปากถูกคอเป็นที่สุด

ในประเด็นคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดนั้น ท่านประธานก็ให้ข้อคิดไว้ว่า จะปราบปรามลัทธิในประเทศไทย ก็ต้องทำให้ชาวบ้านชาวเมืองเขามีกินมีใช้ อย่าไปกลัวเล คอมมิวนิสต์ จริงๆก็มีไม่กี่คนหรอก ก็ดูซิ ท่านเป็นประธานคอมมิวนิสต์มาตั้งกี่สิบปี ยังไม่เคยเห็นคอมมิวนิสต์ไทย คนไหนมาแสดงความเคารพท่านสักคนเลย ซึ่งท่านคึกฤทธิ์ก็ตอบกลับไปขำๆอีกว่า "ท่านประธานฯอยากพบเจอไหม ผมจะส่งมาให้พบท่านทีละสี่คนเลย" ปรกติท่านประธานเหมาจะใช้เวลาในการพบปะใครสั้นมากๆ แต่ท่านใช้เวลาสนทนาอย่างสนุกสนานอยู่กับท่านคึกฤทธิ์นานกว่าการเจรจากับใครๆ คือใช้เวลาคุยไปหัวเราะไปกันได้ตั้ง ๕๘ นาที

และการพบปะครั้งประวัติศาสตร์นั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ เป็นการลดแรงกดดันมหาศาลจากการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เปลี่ยนแปลงโชคชะตาของประเทศ

และยุติการเสียเลือดเนื้อจากการฆ่าฟันกันเองของคนไทยได้ในที่สุด

ก็อย่างที่บอกนะครับ ผมคงไม่วิจารณ์การพบปะกันของผู้นำประเทศไหนๆที่ใดทั้งนั้น แต่ก็อยากจะเล่าว่า ในประวัติศาสตร์ของชาติเรานั้น มีอัศจรรย์ที่จะมีวีรบุรุษโผล่ขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ อย่างพอเหมาะพอดีต่อทุกสถานการณ์ได้ทุกครั้ง

จริงๆนะครับ

‘สถานทูตจีน’ ชี้แจง!! กรณีส่งตัวชาวจีน 40 คนกลับประเทศ ระบุ!! เป็นการบังคับใช้กฎหมายปกติ และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

(2 มี.ค. 68) สถานทูตจีนชี้แจงกรณีส่งตัวชาวจีนกลับประเทศ

• สถานทูตจีนประจำประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีที่ประเทศไทยส่งตัวชาวจีน 40 คนที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกลับประเทศจีน โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการบังคับใช้กฎหมายปกติและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

• สถานทูตจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าการส่งตัวกลับประเทศครั้งนี้เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง โดยยืนยันว่าผู้ที่ถูกส่งตัวกลับเป็นผู้ลักลอบเข้าเมือง ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย และการกระทำนี้ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลไทย

• แถลงการณ์ยังตอบโต้ข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังจากถูกส่งตัวกลับประเทศจีน โดยยืนยันว่าจีนเป็นประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมายและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  และมีกลไกการคุ้มครองสิทธิอย่างเข้มงวด

• สถานทูตจีนอธิบายถึงสถานการณ์ในซินเจียงว่ามีการก่อการร้ายและการแทรกแซงจากต่างประเทศในอดีต  แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้น  และการกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง

• รัฐบาลไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเป็นสักขีพยานการเดินทางกลับประเทศจีนของชาวจีนกลุ่มนี้ และจีนยินดีที่จะเชิญเจ้าหน้าที่ไทยไปติดตามสถานการณ์ในอนาคตเพื่อยืนยันความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของพวกเขา

• สถานทูตจีนเชิญชวนให้บุคคลจากทั่วโลกที่ไม่มีอคติเดินทางไปเยือนซินเจียงเพื่อสัมผัสกับความเป็นจริงด้วยตนเอง  และปฏิเสธข้อกล่าวหาจากต่างประเทศที่กล่าวหาว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง

• ความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย  ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลไทยและจีน  โดยมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและการเมืองระหว่างประเทศ

นายกฯอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ ต้อนรับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เมื่อบินมาเจรจาถึงลอนดอน หลังปะทะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

(2 มี.ค. 68) ฝูงชนในกรุงลอนดอนต้อนรับ ประธานาธิบดีเซเลนสกี อย่างล้นหลาม เมื่อเขาเดินทางมาเจรจาที่สำนักนายกรัฐมนตรีบนถนนดาวนิง ก่อนประชุมผู้นำยุโรปในวันนี้ ที่ เซเลนสกี จะร่วมประชุมด้วยเพื่อหารือ แผนสันติภาพยูเครน

“ผมหวังว่าคุณคงได้ยินเสียงเชียร์บนท้องถนน นั่นคือประชาชนแห่งสหราชอาณาจักรออกมาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสนับสนุนคุณมากแค่ไหน และเรามุ่งมั่นอย่างที่สุดที่จะยืนเคียงข้างคุณ” สตาร์เมอร์กล่าวกับเซเลนสกีและว่าเขาได้รับ “การสนับสนุนเต็มที่จากทั่วสหราชอาณาจักร”

“เรายืนเคียงข้างคุณตราบนานเท่านาน” นายกฯอังกฤษ ย้ำ 

ด้านเซเลนสกีเผยว่า เขาได้คุย “เรื่องสำคัญและอบอุ่น” กับสตาร์เมอร์ หารือเรื่องเสริมสร้างสถานะยูเครนให้แข็งแกร่ง และได้การรับประกันความมั่นคงที่เชื่อถือได้

ก่อนพบกับนายกฯ อังกฤษเซเลนสกีเพิ่งปะทะคารมกับทรัมป์ที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว เมื่อวันศุกร์ ( ก.พ.) ทรัมป์ขู่จะเลิกสนับสนุนยูเครน ที่ถูกรัสเซียรุกรานมานานสามปี ร้อนถึงประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสต้องทำหน้าที่เป็นกาวใจคุยกับทั้งสองฝ่ายและเรียกร้องผ่านสื่อให้ใจเย็นๆ

‘ธนกร’ ห่วง ศก.ยังไม่ฟื้นเต็มที่ แนะ รัฐบาลจัดสรรงบฯอัดฉีด ฟื้น!! ‘คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน’ หวังปลุกท่องเที่ยวโตต่อเนื่อง

(2 มี.ค. 68) นายธนกร วังบุญคงชนะ  อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์หลังฝ่ายค้านเปลี่ยนใจยื่น อภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงนายกรัฐมนตรีคนเดียว โดยอ้างว่าเป็นเพราะข้อสอบรั่วเพราะก่อนหน้านี้เตรียมซักฟอกถึง 10 รัฐมนตรี ว่า ตนไม่แน่ใจว่าพรรคฝ่ายค้านกำลังเล่นเกมอะไรอยู่ มองว่าถ้าตั้งใจจะให้มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างจริงจัง ก็ควรเดินหน้าตามที่เตรียมข้อมูลมาอย่างดีแล้ว แต่เมื่อ ข้อมูลรายชื่อ 10 รัฐมนตรีหลุดออกไปกลับเปลี่ยนแผนอภิปรายแค่นายกฯคนเดียว ตนจึงอดมองไม่ได้ว่า ความจริงอาจไม่ใช่เป็นเพราะข้อสอบรั่ว แต่เป็นเพราะมีข้อมูลไม่หนักแน่นเพียงพอหรือไม่ ที่จะอภิปรายรัฐมนตรีรายบุคคลได้ จึงได้เปลี่ยนใจกระทันหันแบบนี้  ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว วันเดียวนั้นยังไม่ค่อยเกิดขึ้นนักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายสมัยที่ผ่านมา จึงขอเรียกร้องให้ฝ่ายค้านโชว์ฝีมือการอภิปรายอย่างเต็มที่สร้างสรรค์และตรงประเด็น ไม่ใช้วาทกรรมโจมตีทางการเมืองเพียงอย่างเดียว

เมื่อถามว่าในฐานะอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล มีข้อเสนอแนะใดที่นายกฯควรจะต้องเร่งเครื่องแก้ปัญหา นายธนกร กล่าวว่า ตนเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาทะลุเป้า กว่า 35.5 ล้านคนแล้วก็ตาม แต่การท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอย อัตราการบริโภคภายในประเทศยังไม่มากเท่าที่ควร จึงขอเสนอแนะให้รัฐบาลรื้อฟื้นโครงการ “คนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน” กลับมาใช้ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายซื้อของอุปโภคบริโภคและกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนไทยให้เที่ยวภายในประเทศบูมมากยิ่งขึ้น และควรออกมาตรการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงสงกรานต์และต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้เม็ดเงินและเศรษฐกิจหมุนเวียนเติบโตในประเทศมากยิ่งขึ้น

“นโยบายนี้ประสบความสำเร็จในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ พบว่า พี่น้องประชาชนชื่นชอบเป็นอย่างมากและมีการจับจ่ายซื้อของ มีการเข้าใช้บริการจองโรงแรมที่พักในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ มากเป็นเท่าตัว ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงนั้นก็เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงเห็นว่าหากเป็นนโยบายที่ดีไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน ก็ควรใช้โมเดลที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ มาต่อยอดทำให้ดียิ่งขึ้นได้“ นายธนกร กล่าวทิ้งท้าย

‘จิรายุ’ เผย!! เลขา สมช.-รองผบ.ตร.กลับถึงไทยแล้วเช้านี้ พร้อมส่งคลิป!! สรุป ‘ชาวอุยกูร์’ กลับมาตุภูมิ เรียบร้อย

(2 มี.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช. ) และ พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะ เดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานครเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมาแล้ว โดยคณะทำงานจะสรุปรายละเอียดผลการดำเนินงาน รายงานต่อนายกรัฐมนตรีให้ทราบต่อไป ขณะที่ เช้านี้ คณะทำงานใน ภารกิจ “11ปีที่เป็นไปได้ในการกลับสู่บ้านเกิด“ (11 Year Mission possible ) ได้จัดทำคลิปวิดีโอความยาว 1.52 นาที เพื่อให้เห็นถึงขั้นตอนและวิธีในการทำงาน และผลของการส่งชาวอุยกูร์กลับสู่บ้านเกิด อย่างปลอดภัย

นายจิรายุ กล่าวว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้หารือกับคณะทำงาน โดยจะกำหนดวันและเวลาในการเดินทางกลับไปประเทศจีน มลฑลซินเจียง เพื่อติดตามตรวจสอบถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวอุยกร์ู ที่ไทยส่งกลับบ้านเกิดตามที่รัฐบาลจีนได้ให้พันธสัญญาไว้กับไทยภายในเวลา 15 -30 วันนับจากนี้  โดยพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้เสนอเพิ่มเติม มอบหมายเบื้องต้นให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และมอบหมายให้ตนไปร่วมกันพิจารณาถึงกำหนดการที่จะเดินทางไปประเทศจีนและขอให้ประสานงาน เพื่อให้สามารถนำสื่อมวลชนของไทยร่วมสังเกตการณ์ด้วย

กระแสข้าวเหนียวมะม่วง มาแรง!! ปี 67 ยอดส่งออกพุ่ง 4,716 ล้าน เพิ่มขึ้นเกือบ 46 % เกาหลีใต้ นำเข้าอันดับ 1 ชู!! ซอฟต์พาวเวอร์ ข้าวเหนียวมะม่วงไทย คู่มาตรการลดภาษี

(2 มี.ค. 68) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงตัวเลขการส่งออกมะม่วงสดของไทย ปี 2567 มูลค่ารวม 4,716 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.68%

โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรก คือ เกาหลีใต้ 2,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132.7%, มาเลเซีย 1,191 ล้านบาท ลดลง 12.8%, ญี่ปุ่น 139 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.8%, เวียดนาม 131 ล้านบาท ลดลง 15.7% และ 5.สปป.ลาว 38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.3%

สาเหตุเกาหลีใต้ นำเข้าอันดับที่ 1 เป็นผลจากมาตรการรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ขยายโควตานำเข้าผลไม้เขตร้อน ลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรชั่วคราว เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและลดปัญหาขาดแคลนสินค้าในประเทศ โดยปรับอัตราภาษีมะม่วงและมังคุด 0% จากเดิม 30% ทุเรียน 5% จากเดิม 45% ส่งผลให้มะม่วงไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้น

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจลดภาษีผลไม้ลงอีก จะช่วยสนับสนุนการส่งออกมะม่วงและผลไม้ของไทย ซึ่งปัจจุบันเกาหลีใต้นำเข้า 6 ชนิด คือ มะม่วง มังคุด ทุเรียน กล้วย มะพร้าว และสับปะรด เติบโตได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ กระแสข้าวเหนียวมะม่วงในสื่อโซเชียลมีเดีย และพฤติกรรมผู้บริโภคเกาหลีใต้ที่นิยมรับประทานผลไม้สดหลังอาหารหรือเป็นอาหารว่างด้วย

รัฐบาลไทยมุ่งมั่นส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรรมไทยให้เติบโตไปพร้อมกับตลาดโลก โดยการรักษามาตรฐานคุณภาพและผลักดันผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย และเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

‘รัฐบาล’ จะเอาเศรษฐกิจอยู่ไหม ?? คำถาม ที่ต้องการคำตอบ อย่างเร่งด่วน

(2 มี.ค. 68) เศรษฐกิจโลก น่าจะไม่สงบไปอีกพักใหญ่ หลังการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีแห่งยูเครน ประสบความล้มเหลว ล่มไม่เป็นท่า สองผู้นำปะทะคารมดุเดือด ฟากสหรัฐ อยากให้ยุติสงคราม พร้อมให้ยูเครน รับภาระเป็นลูกหนี้ กว่า 500,000 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ ฝ่ายยูเครน ต้องการให้สหรัฐสนับสนุน เพื่อต่อสู้กับรัฐเซีย ต่อ... เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่สงบ ราคาพลังงาน ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 2.00% ถือเป็นข่าวดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ อย่างน้อยการลดดอกเบี้ยนโยบาบ ก็สามารถเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจและประชาชน โดยเฉพาะ SMEs ที่มีหนี้สะสมกว่า 3.15 ล้านล้านบาท จะได้รับผลดีจากการลดดอกเบี้ย ช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินและเพิ่มโอกาสในการขยายกิจการ 

การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณบวกที่ภาคธุรกิจรอคอยอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดและส่งผลดีต่อการส่งออก ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังต้องการการฟื้นตัวและการสนับสนุนจากภาครัฐ

ซึ่งปัจจุบัน สินค้าเกษตรส่งออก โดยเฉพาะข้าวไทย ประสบปัญหา ยอดส่งออกลดลงกว่า 32% ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2568 อินเดียกลับมาเป็นผู้นำในการส่งออกข้าว ประสิทธิภาพในเชิงผลผลิตต่อไร่ ไทยสู้เวียดนามไม่ได้แล้ว 

ตลาดโลกแข่งขันสูง ผลผลิตข้าวไทยลดลงเรื่อยๆ จนสู้คู่แข่งอย่างเวียดนามไม่ได้แล้ว ศักยภาพการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำเวียดนามแซงหน้าไทยไปมากถึง 1.6 เท่า ที่สำคัญประสิทธิภาพในเชิงผลผลิตต่อไร่ เวียดนามก็สร้างผลผลิตต่อไร่ได้ดีกว่า พร้อมกับเตรียมตัวเจออุปสรรคการส่งออก สหรัฐอเมริกา จ่อขึ้นภาษีนำเข้าข้าว และสินค้าเกษตร อีก 10% 

ส่งออกได้ลดลง เพราะ ‘ข้าวไทย ราคาแพงขึ้น’ เหมือนจะเป็นข่าวดี สำหรับ เกษตรกรชาวนาไทย ที่จะลืมตาอ้าปาก มีกิน มีใช้ แต่กลไกข้าวไทยในปัจจุบัน ชาวนาขายข้าวได้ราคาสูง จริงหรือ? หรือแพงขึ้น จากอะไร? และใคร? ที่ได้ประโยชน์จากข้าวแพง กันแน่ !! 

สถานการณ์ตลาดหุ้นไทย (SET) ปรับลงอีก 22 จุด หลุด 1,200 จุด โดยหุ้นใน SET100 แดงเกือบยกแผง นับจากต้นปี SET ร่วงลงมาแล้วเกือบ 190 จุด หรือเศรษฐกิจไทย จะกู่ไม่กลับแล้ว นักลงทุนไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี กังวลการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่จะกระทบต่อการส่งออกสินค้า

‘รัฐบาล’ จะเอาเศรษฐกิจอยู่ไหม ? เป็นคำถาม ที่ต้องการคำตอบอย่างเร่งด่วน ก่อนที่เศรษฐกิจไทย จะพังทลายมากไปกว่านี้.. 

สงครามยูเครน กับทางเลือกสุดท้ายของ เซเลนสกี้ จำ!! ต้องคืนสู่โต๊ะเจรจากับ ‘วลาดีมีร์ ปูติน’

(2 มี.ค. 68) สถานการณ์สงครามยูเครนในปัจจุบันกำลังเดินไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง เมื่อความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ อาจต้องกลับไปเจรจากับรัสเซียเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่แทบจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งหมด ไม่ใช่เพราะเซเลนสกี้เต็มใจ แต่เพราะสถานการณ์บีบให้ยูเครนแทบไม่เหลือทางเลือกอื่นอีกแล้ว

1. อเมริกาถอนตัว – ยูเครนเหลือเพียงตัวเอง
หนึ่งในปัจจัยที่ผลักยูเครนเข้าสู่สถานการณ์นี้คือสหรัฐฯ กำลังแสดงท่าทีลดการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายใน เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 ที่อาจนำโดนัลด์ ทรัมป์กลับคืนสู่ตำแหน่ง ซึ่งเขาเคยประกาศชัดว่าต้องการยุติสงครามโดยเร็ว หรือแม้แต่ฝ่ายเดโมแครตเองก็เริ่มมีความลังเลเรื่องการสนับสนุนทางการเงินและอาวุธแก่ยูเครน เมื่อเห็นว่าสงครามกำลังยืดเยื้อโดยไม่มีวี่แววของชัยชนะ นอกจากนี้ สหรัฐฯ กำลังเผชิญภาระทางทหารและเศรษฐกิจที่หนักขึ้นจากการสนับสนุนอิสราเอลในสงครามกับฮามาส การขยายบทบาทในเอเชียเพื่อสกัดกั้นจีน และการเตรียมรับมือความขัดแย้งในภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้ความสำคัญของยูเครนในสายตาของวอชิงตันลดลงไป เมื่อสหรัฐฯ ไม่สามารถให้การสนับสนุนได้เต็มที่ ยูเครนจึงต้องเผชิญชะตากรรมของตัวเอง ท่ามกลางกองกำลังรัสเซียที่ยังคงรุกคืบอย่างต่อเนื่อง

2. อธิปไตยที่ต้องแลกด้วยดินแดน?
สงครามที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2022 ทำให้ยูเครนต้องเผชิญความสูญเสียอย่างหนัก ทั้งกำลังพลกว่า 500,000 นาย ที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ดินแดนสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น โดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาโปริชเชีย และเคอร์ซอน ที่ถูกรัสเซียผนวกอย่างเป็นทางการ การเจรจากลับไปสู่โต๊ะของปูตินในเวลานี้ย่อมหมายความว่ายูเครนอาจต้อง สูญเสียดินแดนบางส่วนเป็นเงื่อนไขของสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไครเมีย ซึ่งรัสเซียครอบครองมาตั้งแต่ปี 2014 และปัจจุบันมีฐานทัพเรือที่สำคัญในเซวาสโตโพล นอกจากนี้ แม้ยูเครนจะรักษาอธิปไตยได้ในทางเทคนิค แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศอาจกลายเป็น รัฐกันชน (Buffer State) ที่ต้องดำรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียโดยปริยาย หรืออาจถูกบีบให้มีสถานะคล้ายฟินแลนด์ในช่วงสงครามเย็น (Finlandization) ที่แม้จะเป็นเอกราช แต่ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่างประเทศที่เอื้อต่อมอสโก

3. บทเรียนจากการเลือกตั้งผู้นำที่มองข้ามประโยชน์ชาติ
หนึ่งในข้อวิพากษ์สำคัญคือการตัดสินใจของยูเครนที่เลือกผู้นำซึ่ง มองข้ามความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ และพยายามเดินหน้าชนรัสเซียอย่างไม่ไตร่ตรองถึงผลที่ตามมา เซเลนสกี้ในฐานะอดีตนักแสดงที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐ อาจไม่เข้าใจความซับซ้อนของเกมการเมืองระหว่างประเทศเท่าที่ควร และเลือกเดิมพันอนาคตของประเทศไว้กับการสนับสนุนของตะวันตกเพียงอย่างเดียว โดยลืมไปว่าการเจรจากับรัสเซียอาจเป็นหนทางที่หลีกเลี่ยงความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศได้ตั้งแต่แรก

4. การเดินหมากครั้งสุดท้ายของยูเครน
แม้ว่ายูเครนจะพยายามต่อต้านต่อไป แต่ สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ กำลังพลที่ลดลง และการขาดการสนับสนุนจากตะวันตกกำลังบีบให้ยูเครนต้องคิดใหม่ หากยูเครนยังคงเลือกแนวทางแข็งกร้าว อาจเสี่ยงต่อการล่มสลายของรัฐคล้ายกับอัฟกานิสถานหลังสหรัฐฯ ถอนตัว หรืออาจถูกบังคับให้ยอมรับข้อตกลงที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมหาศาล ในท้ายที่สุด เซเลนสกี้อาจไม่มีทางเลือกนอกจากกลับไปเจรจากับปูติน แต่ คำถามที่แท้จริงคือ ยูเครนจะยังเหลืออะไรอยู่บ้างให้ต่อรอง?

นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี เตือนไทยเสี่ยงเกิดเหตุรุนแรง หลังส่ง ‘อุยกูร์’ กลับจีน หวั่น!! ถูกตีความเลือกข้าง ทั้งเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน-นโยบายต่างประเทศ’

(2 มี.ค. 68) รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงกรณีที่ไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ กว่า 40 คนกลับจีน ว่า อาจจะเกิดผลกระทบระยะสั้นจากประสบการณ์ที่ไทยเคยส่งกลับ สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หลังจากนั้นเกิดความรุนแรงเกิดเหตุระเบิดที่กรุงเทพฯมีคนเสียชีวิตและเกิดเหตุประท้วงที่อิสตันบูลจรคนไทยได้รับผลกระทบ ดังนั้นในระยะสั้นสิ่งที่ต้องพึงระวัง เรื่องความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นหรือการตอบโต้ นอกจากนี้องค์กรระหว่างประเทศหรือสหประชาชาติได้ออกมาประณามรัฐบาล ทำให้เรื่องของความน่าเชื่อถือ เชื่อใจ และการไม่กระทำนโยบายต่างประเทศที่ส่งบุคคลที่นำไปสู่ความเสี่ยงแก่ชีวิต เรื่องนี้จะทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน ลดน้อยถอยลง และความเชื่อถือด้านสิทธิมนุษยชนต่อวงการนานาชาติ จะถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนในระยะยาวเรื่องที่น่ากังวล รศ.เอกรินทร์ ระบุคือเรื่องสิทธิมนุษยชนและนโยบายต่างประเทศของไทย ที่ต้องพึงระวังว่าเราอยู่ท่ามกลางมหาอำนาจ โดยเฉพาะการแข่งขันของมหาอำนาจคือจีนและสหรัฐอเมริกา ถ้าการที่ไทยส่งชาวอุยกูร์กลับจีนถูกคนตีความว่าเราเลือกข้าง จะทำให้เราไม่สามารถสร้างความสมดุล ในการเมืองระหว่างประเทศได้

ส่วนไทยจำเป็นต้องปรับบทบาทเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศอย่างไร รศ.เอกรินทร์ กล่าวว่า การที่ไทยมีรัฐบาลพลเรือนหลังเลือกตั้งนานาประเทศคาดหวังว่า ไทยจะกลับสู่เวทีนานาชาติ อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี แต่เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่สามารถที่จะเป็นตัวผู้เล่นหลักหรือไว้เนื้อเชื่อใจได้ โดยเฉพาะประเทศอาเซียน ขณะที่บทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษานายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน แต่ประเด็นเรื่องอุยกูร์ ส่งไปประเทศจีนทำให้เราขาดความน่าเชื่อถือ และถูกตั้งคำถามเรื่องนโยบายต่างประเทศเป็นอย่างมาก และจะเห็นชัดเจนว่าการตอบโต้ หรือการออกมาให้ข้อมูลของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีลักษณะกลับไปกลับมา และสับสนเพียงชั่วข้ามวัน ที่ตอนแรกบอกไม่รับทราบเรื่องนี้ แต่อีกวันบอกรู้เรื่องเกี่ยวกับกระบวนการส่งตัวกลับ จึงคิดว่าการที่ไม่ได้พูดอย่างตรงไปตรงมา และไม่ดำเนินนโยบายอย่างเปิดเผย ในการส่งคนช่วงกลางคืน ขาดความโปร่งใส วิธีการที่ไม่ให้องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าไปสังเกตการณ์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง นโยบายของรัฐบาลที่ขาดความโปร่งใส ทำให้รัฐบาลอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจใดมหาอำนาจ หนึ่ง ซึ่งเป็นอันตราย

รศ.เอกรินทร์ ยังกล่าวอีกว่าเป็นที่ชัดเจนว่าไทยอาจถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทำให้นานาประเทศตั้งคำถามกับไทย ว่าจะจัดวางตัวเองอย่างไรให้บาลานซ์ในเวทีนานาชาติ และเราจะตอบคำถามเรื่องนี้อย่างไรในเวทีนานาชาติ จึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นภาระหนักมากของรัฐบาล นอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้ออกแถลงการณ์ประณาม และยังจะเห็นจดหมายของคนอุยกูร์ ที่ระบุว่ารู้สึกกังวลและไม่อยากกลับ ขณะเดียวกันต้องติดตามอีก 8 คนที่อยู่ในไทย ว่าจะถูกส่งกลับหรือไม่ และที่ส่งกลับไปปลอดภัยหรือไม่

“กระบวนการทั้งหมดความยุ่งยากที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศไทยเกิดความวุ่นวาย และก่อให้เกิดความสับสน ในเรื่องนโยบายต่างประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งที่จริงแล้วหากเราแก้ไข ด้วยวิธีการให้ประเทศที่ต้องการจะรับอย่างตุรกี เรื่องเหล่านี้ก็จะถูกคลี่คลาย ไม่น่าจะลำบากเหมือนปัจจุบัน” รศ.เอกรินทร์ กล่าว

ส่วนกรณีดังกล่าวเป็นความเพรี่ยงพร้ำของรัฐบาลไทยหรือมีการเมืองเข้ามาสอดแทรกหรือไม่ รศ.เอกรินทร์ กล่าวว่า น่าจะเป็นความตั้งใจและจงใจ ของรัฐบาลปัจจุบันสืบเนื่องมาจากการ ที่จีนส่งรัฐมนตรีมาไทยเรื่องคนจีนที่เข้าไปในเมียนมาทำเรื่อง Call Center และทำให้คนอ่านออกว่าเราทำตามนโยบายของประเทศจีน ถ้าเราอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top