Tuesday, 6 May 2025
TheStatesTimes

เกิดอะไรขึ้น? ‘เก๋ไก๋ สไลเดอร์’ ลบคลิปคู่ ‘แน็ก ชาลี’ เกลี้ยง พร้อมทิ้งข้อความ “ขอให้โชคดี” ทำชาวเน็ตจับตาความสัมพันธ์

มีเรื่องดรามาอีกจนได้ สำหรับคู่รัก ‘แน็ก ชาลี’ กับ ‘เก๋ไก๋ ณัฐธิชา นามวงษ์’ หรือ ‘เก๋ไก๋ สไลเดอร์’ หลังฝ่ายหญิงไม่มีคลิปและรูปภาพที่เคยถ่ายคู่กันแล้ว ในโลกโซเชียลต่างคาดเดาต่างๆ นานา ว่าเกิดปัญหา ทั้งคู่เลิกกันจริง หรือแค่งอนจึงซ่อนคลิปภาพไว้ไม่ได้ลบออก หรือเพิ่งรับงานละครเป็นครั้งแรก อยากโฟกัสเรื่องงาน

ขณะที่ใน TikTok วิพากษ์วิจารณ์กันจนแฟนคลับว้าวุ่นไปหมด โดยมีคนแคปข้อความที่ ‘เก๋ไก๋’ ได้เข้าไปคอมเมนต์ใน TikTok ของ แฟนหนุ่มไว้ว่า…

“พี่แน็กเป็นคนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ ทัศนคติดี ไปงานไหนๆ ก็มีสติในการตอบคำถามมากๆ ขอให้พี่โชคดีอย่างที่อวยพรให้เก๋ไก๋ แล้วขอให้พี่มีความสุขมากๆ ค่ะ”

โดย ‘แน็ก ชาลี’ ก็ได้มาตอบกลับว่า…

“พิมพ์แปลกจัง ใครบอกให้พิมพ์ กับกลับมาเปิดคลิปจัสตินหรอครับ ปิดแล้วไม่ต้องเปิดอีกก็ได้นะ ส่วนผมก็ตอบตามสิ่งที่ผมคิดจริงๆ แค่นั้นเอง ขอบคุณครับ”

ทั้งนี้ยิ่งทำเอาสงสัยกันหนัก ว่าเกิดอะไรขึ้น หลายคนก็บอกให้รอฟังจากปากของ ‘แน็ก’ และ ‘เก๋ไก๋’ ก่อนดีกว่า ล่าสุดเหมือนจะมีการง้อกันหรือเปล่า? เก๋ไก๋โพสต์คลิปหน้าเศร้าคัฟเวอร์ลงสตอรี่ ติ๊กต็อกมีการแชร์คลิปพร้อมข้อความว่า…

“สตอรี่ง้อที่รักมาแล้ว แอดจัดให้พร้อมซับไม่ต้องไปหาแปล #เก๋ไก๋ #เก๋ไก๋สไลเดอร์ #เก๋ไก๋แฟนแน็ก #แน็กชาลี #charliepotjes”

ด้านแฟนๆ ก็เข้ามาแสดงความเห็นหายว้าวุ่นแล้ว เก๋ไก๋มาง้อแน็กแล้ว อาทิ

- “ยัยน้อง ง้อเอง นักเลงพอ พี่ชาใจอ่อนได้แล้วนะ แฟนมาง้อแล้ว”

- “คนพี่ก็มาๆ มาใจอ่อนเร็วๆ แฟนคลับจะได้เลิกตีกัน”

- “หายน้อยใจได้แล้วนะชาลี น้องเก๋ตาช้ำหมดแล้ว รักกัน มีรอยยิ้มให้กันดีกว่า”

ขณะที่ก็มีคอมเมนต์อีกส่วนหนึ่งดรามาถล่ม เก๋ไก๋ ว่าไม่รู้จักโต ดูทรงท่าจะไม่รอด อาทิ

- “แค่ทะเลาะก็ลบคลิปเลย บางทีความคิดเก๋ดูเด็กไปนะ หรือต้องการเลิกจริงๆ”

- “ดูทรงแล้วไม่น่าจะรอด เก๋ดูเด็กน้อยไป”

- “เก๋ดูไม่โต ติดเด็ก เวลาพูดก็พูดไปเรื่อยๆ เหมือนคลิปนึงเก๋พูดจนเพื่อนต้องห้าม เพราะติดพูดๆ ไปเรื่อย ทฤษฎีนั่นนี้ จนลืมว่าตัวเองต้องโตนะ แยกแยะให้ออก”

- “ตอนใหม่ๆ ก็ง้อได้หรอกถ้าทำบ่อยๆ ทะเลาะกันทีซ่อนคลิปที ทำให้คนอื่นรู้ว่าทะเลาะกันนานๆ ไปผู้ชายจะเบื่อ ทำตัวเป็นเด็กไป ทะเลาะกันคุยกันเคลียร์กันสองคนก็พอ”

ด้านแฟนๆ อีกส่วนหนึ่งก็ปรามดรามา อาทิ

- “เราว่า ชาวเน็ตไม่ควรไปตัดสินแทนชีวิตคู่เขาอะ อย่าไปสร้างปมให้ใครอีก ให้ 2 คนเรียนรู้กันไป ทำอย่างกับพวกเธอไม่เคยทะเลาะกับผัว กว่าจะลงตัวมันใช้เวลา”

- “ทุกคนบอกแน็กชัดเจน แล้วเก๋ไม่ชัดเจนตรงไหน แถมเป็นฝ่ายลงคลิปเปิดตัวก่อนด้วยซ้ำ แน็กกับเก๋ยังต้องปรับตัวกันอีกเยอะ ปรับไม่ได้ก็ต่างคนต่างไป ไม่ผิดนะ”

- “อย่าทะเลาะกันบ่อยนะ แฟนคลับใจไม่ดี”

พิธีสวนสนามเนื่องในโอกาสรับ - ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ และการมอบการบังคับบัญชา

ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ให้ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็น ผู้บัญชาการทหารอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นั้น 

กองทัพอากาศ ได้จัดพิธีรับ - ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ ระหว่าง พลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งเกษียณอายุราชการ กับ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี  พัฒนกุล ผู้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ (ท่านใหม่) โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพอากาศ ข้าราชการทหารอากาศ ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ สมาคมแม่บ้านทหารอากาศ และแขกผู้มีเกียรติร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ณ ลานอเนกประสงค์ อุทยานการบินกองทัพอากาศ

โดยพลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ส่งธงประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ และแฟ้มเอกสารรับ - ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้แก่ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี  พัฒนกุล ผู้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ (ท่านใหม่) เพื่อแสดงถึงการส่งมอบหน้าที่และการบังคับบัญชาอย่างเป็นทางการ ในโอกาสนี้ กองทัพอากาศได้จัดพิธีสวนสนามเพื่อเป็นการเทิดเกียรติ ซึ่งประกอบด้วย

กำลังพลสวนสนามเพื่อเป็นเกียรติ จำนวน 4 กองพัน ดังนี้
- กองพันที่ 1 จัดกำลังพลจาก กรมนักเรียนนายเรืออากาศ รักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
 - กองพันที่ 2 จัดกำลังพลจาก กองนักเรียน โรงเรียนจ่าอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ
 - กองพันที่ 3 จัดกำลังพลจาก กรมทหารต่อสู้อากาศยาน รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
 - กองพันที่ 4 จัดกำลังพลจาก กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

และจัดขบวนยานยนต์สวนสนาม จำนวน 29 คัน ดังนี้
- รถผู้บังคับกองพันยุทธยานยนต์ จำนวน 1 คัน จากกรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ 
หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
- รถจักรยานยนต์สารวัตรทหารอากาศ จำนวน 2 คัน จากสารวัตรทหารอากาศ
- รถยนต์สารวัตรทหารอากาศ จำนวน 2 คัน จากสารวัตรทหารอากาศ
- รถสายตรวจยานยนต์เบา จำนวน 4 คัน จากกรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
- รถชุดปฏิบัติการ จำนวน 4 คัน จากกรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
- รถโจมตี (รถบันได) จำนวน 4 คัน จากกรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
- รถยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน จำนวน 4 คัน จากกรมต่อสู้อากาศยาน รักษาพระองค์ 
หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
- รถเกราะ V-150 จำนวน 4 คัน จากกรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
- รถเกราะ Condor จำนวน 4 คัน จากกรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

นอกจากนี้ยังจัดให้มีการสวนสนามทางอากาศ โดยจัดอากาศยานของกองทัพอากาศ ทำการบินผ่านพิธีในห้วงเวลาที่ 1 ประกอบด้วย หมู่บิน FINALE FLYING ซึ่งเป็นการประกอบกำลังของอากาศยานจำนวน 10 เครื่อง ดังนี้
- เครื่องบินฝึกแบบที่ 2 (T-50) จำนวน 3 เครื่อง จากฝูงบิน 401 กองบิน 4 
- เครื่องบินขับไล่แบบที่ 19 ก (F-16) จำนวน 3 เครื่อง จากฝูงบิน 403 กองบิน 4 
- เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20 ก (Gripen 39D) จำนวน 4 เครื่อง จากฝูงบิน 701 กองบิน 7
และห้วงเวลาที่ 2 ประกอบด้วยเครื่องบินขับไล่แบบที่ 20 ก (Gripen 39D) จำนวน 1 เครื่อง จากฝูงบิน 701 กองบิน 7

สำหรับ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี  พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ คนที่ 30 เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 นักเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ 31 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ เป็นนักบิน ทำการบินกับเครื่องบิน CT-4A,T-37 Twinny, A-37B Dragonfly, F-5E/F Tiger shark, F-16A/B Fighting Falcon และ JAS-39C Gripen มีชื่อนามเรียกขานว่า Armstrong โดยมีประวัติรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ ดังนี้ ครูการบินและนักบินลองเครื่อง (F-16), ผู้บังคับฝูง 403 กองบิน 4 ตาคลี (F-16), รองผู้บังคับการกองบิน 4 ตาคลี, ผู้บังคับการกองบิน 7 (Gripen) สุราษฎร์ธานี,  ผู้ช่วยทูตไทยประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ, เจ้ากรมข่าวทหารอากาศ, รองเสนาธิการทหารอากาศ, เสนาธิการทหารอากาศ และผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญทางด้านยุทธการเป็นอย่างมาก และเคยมีส่วนร่วมในการประสานโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี ยุคที่ 5 ของกองทัพอากาศ (F-35) ก่อนมารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ ในพื้นที่อีสานพุ่ง อานิสงส์จากรัฐ-เอกชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง

จากบทความก่อนหน้านี้ ที่กล่าวถึง ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเกิดจากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ” 

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเกษตร อยู่ที่ระดับ 76.4 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 75.9 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 83.5 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการจ้างงาน อยู่ที่ระดับ 74.5
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการลงทุน อยู่ที่ระดับ 74.8

แน่นอนว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจหลักที่จะได้รับอานิสงจากความเชื่อมั่นนี้ คงไม่พ้นกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ที่เริ่มฟื้นตัวหลังสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ซึ่งจากข้อมูลกองสถิติเศรษฐกิจ (สศ.) มีจำนวนของสถานประกอบการที่พักแรม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4,977 แห่ง น่าจะช่วยให้การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของธุรกิจภาคบริการ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

รวมถึงการได้รัฐบาลใหม่ มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง ของกระทรวงต่าง ๆ พร้อมประกาศนโยบายสำคัญ ‘พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี’ ย่อมส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ การอุปโภค บริโภค การจับจ่ายใช้สอย ที่จะถูกกระตุ้นมากยิ่งขึ้น และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พื้นที่ที่ได้รับอานิสงจากโครงการนี้ค่อนข้างมาก ย่อมเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร เป็นจำนวนมาก
แต่ก็ยังมีความกังวล ต่อการเกิดหนี้สาธารณะ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติแล้ว ประกอบด้วย 

แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท 
แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท
แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่า การดำเนินโครงการ พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ย่อมจะต้องตั้งงบประมาณ เพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เจ้าภาพหลักของโครงการ

บทความหน้า กับมุมมองเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่ามีธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ ประเด็นสำคัญจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ จะส่งผลอย่างไร กับ พื้นที่นี้ รอติดตามมุมมอง จาก ‘The PALM - คนตัวเล็ก’ กันนะครับ

30 กันยายน พ.ศ. 2511 ยกเลิก 'รถราง' ในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง

วันนี้เมื่อ 55 ปีก่อน เป็นวันสุดท้ายของการให้บริการรถรางในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง จากการที่ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

กิจการเดินรถราง เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนายจอห์น ลอฟตัส ชาวเดนมาร์ก ของพระบรมราชานุญาตเดินรถราง จนเปิดการเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี พ.ศ. 2431 โดยใช้ม้าลากไปตามราง ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนแรกสุดในกรุงเทพฯ และเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเวลาต่อมา รถรางถูกพัฒนาจากการใช้ม้าลาก เป็นการใช้ไฟฟ้าลาก ซึ่งก็ถือเป็นรถรางระบบไฟฟ้าชาติแรกในเอเชียอีกด้วย กิจการรถรางถูกเปลี่ยนมือหลายครั้งระหว่างการเปิดให้บริการ จนกระทั่งถูกโอนเป็นกิจการของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด และมีเส้นทางเดินรถรางทั่วกรุงเทพฯ 11 สาย

แต่อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น รถรางเสื่อมความนิยม ทางการจึงค่อย ๆ ยกเลิกรถรางทีละสาย จนยกเลิกทั้งหมดในวันที่ 30 กันยายน ปี พ.ศ. 2511

1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ

วันนี้ เมื่อ 155 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเนศวร สุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

‘พล.ร.อ.อะดุง’ เข้ารับตำแหน่ง ‘ผู้บัญชาการทหารเรือ’ ลั่น!! สานต่อ ‘กู้เรือหลวงสุโขทัย’ โปร่งใส-ตรวจสอบได้

(29 ก.ย.66) พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม บัญชาการทหารเรือ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ภายหลังรับตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารเรือ ต่อจาก พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ บริเวณหน้าอาคารกองบัญชาการกองทัพเรือพระราชวังเดิม โดยกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเปิดเผยถึงนโยบายในการบริหารกองทัพเรือ 7 ด้าน ตลอดระยะเวลา 1 ปีในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ว่า

ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผมเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นั้น ผมและครอบครัวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและจะน้อมนำ พระบรมราโชวาทที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ในวโรกาสต่าง ๆ มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างสูงสุด การนำกองทัพเรือใน 1 ปีข้างหน้านี้ ตนจะบังคับบัญชากำลังพลในทุกระดับ เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. จะปกป้องและรักษาสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
2. จะนำนโยบายรัฐบาล และนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมในโอกาสแรก
3. จะเป็นปีแห่งการกวดขันระเบียบวินัยกำลังพลให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดที่มีอยู่แล้วอย่างจริงจัง
4. จะเป็นปีแห่งการดูแลสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ให้แก่กำลังพลในทุกระดับ เพื่อให้มีขวัญกำลังใจ ที่จะร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
5. จะดูแลความมั่นคงทางทะเล จะช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ และนำยุทโธปกรณ์มาสนับสนุนรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยของเราให้เจริญรุ่งเรือง
6. จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานที่ประชาชนชาวไทยเชื่อมั่น และภาคภูมิใจ
7. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการและทำให้ทะเลไทยปลอดภัยและมีความมั่นคง

โดยในปีนี้ตนได้กำหนด มอตโต้ เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของกำลังพลทุกระดับไว้คือ

"เทิดทูนสถาบัน ยึดมั่นระเบียบวินัย ประชาชนภูมิใจ ทะเลไทยมั่นคง"

พล.ร.อ.อะดุง กล่าวอีกว่า ขอขอบคุณที่เป็นกำลังใจและจะตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจะไม่ให้เกิดความผิดพลาดใด ๆ และขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้กองทัพเรือ

สำหรับเรื่องเรือดำน้ำเปลี่ยนเครื่องยนต์จีนจะนำส่ง รมว.กลาโหมนั้น ขอศึกษารายละเอียด อย่างที่ทราบ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. ได้ลงนามแล้วก็ส่งไปให้กองบัญชาการกองทัพไทยแล้ว
และตนจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด

เมื่อถามว่า กองทัพเรือพร้อมที่จะใช้เครื่องยนต์ของจีน หรือ พร้อมที่จะให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องเรือดำน้ำหรือไม่ พลเรือเอกอะดุง กล่าวว่า ยังไม่ขอตอบขอไปศึกษาและขอให้เป็นไปตามที่ พล.ร.อ.เชิงชาย ดำเนินการ

เมื่อถามว่า มีแผนรองรับหรือไม่ กรณีที่รัฐบาลตัดสินใจเรือดำน้ำไปอีกทางหนึ่ง พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลหรือกองทัพเรือตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของกองทัพเรือและประเทศชาติจะเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด

เมื่อถามถึง ความคืบหน้าการกู้เรือหลวงสุโขทัย พลเรือเอกอะดุง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายนได้เปิดเชิญชวนให้บริษัทเอกชนเข้ามาประมูลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งครั้งที่ยกเลิกไป ซึ่งพลเรือเอกเชิงชายก็ได้ระบุแล้วว่า ไม่มีอะไรผิดเพียงแต่ว่าเมื่อเปิดซองแล้วทุกบริษัทใส่เอกสารมาไม่ครบ ดังนั้น วันที่ 19 ตุลาคม จะมีการยื่นซองประมูลใหม่ ซึ่งถือเป็นไทม์ไลน์คร่าว ๆ ของการกู้เรือหลวงสุโขทัย และในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2567 เรือทยอยขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีที่ รมว.กลาโหม สั่งการให้จเรทหารมาตรวจสอบความเรียบร้อยเรื่องการกู้เรือหลวงสุโขทัย พลเรือเอกอะดุง ระบุว่า ยังไม่ได้อ่านข่าว แต่ในฐานะเป็นประธานกู้เรือเราทำด้วยความตรงไปตรงมาทุกอย่าง

เมื่อถามว่า ทางการเมืองจับตาดูมีความกดดันห่วงอะไรหรือไม่ พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า ตนไม่ห่วงอะไรเลย กองทัพเรือจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนและทำอย่างตรงไปตรงมา และยืนยันว่าทั้ง 2 เรื่องนี้จะต้องเสร็จในยุคของตน

ประธานาธิบดียอดอัจฉริยะ ฉายา ‘บิดาแห่งเทคโนโลยี’ ของอินโดนีเซีย ผู้ปฏิวัติความปลอดภัยและยกระดับประสิทธิภาพระบบการบินของโลก

‘B.J. Habibie’ ประธานาธิบดียอดอัจฉริยะแห่งอินโดนีเซีย

‘ประธานาธิบดี’ เป็นตำแหน่งประมุขของประเทศที่มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) และในอีกหลายประเทศที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นทั้งตำแหน่งประมุขของประเทศและประมุขฝ่ายบริหาร เช่น สหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศใกล้ ๆ บ้านเราที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นทั้งตำแหน่งประมุขของประเทศและประมุขฝ่ายบริหาร ได้แก่ อินโดนีเซีย
.
หากนึกถึงประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผู้คนอาจนึกถึงประธานาธิบดีเหล่านี้ อาทิ Abraham Lincoln, John F. Kennedy, Nelson Mandela หรือ Barack Obama แต่เชื่อหรือไม่ ว่ามีประธานาธิบดีคนหนึ่งที่ได้รับสิทธิบัตรในสาขาการบินถึง 46 ฉบับ เขาผู้นั้น คือ ‘Bacharuddin Jusuf Habibie’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘B.J. Habibie’ ประธานาธิบดีคนที่ 3 แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ค.ศ. 1998-1999)

‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ เกิดเมื่อ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1936 จังหวัดซูลาเวซีใต้ ขณะนั้นอินโดนีเซียยังเป็นหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ (เนื่องจากเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์) หลังจากจบการศึกษาสถาบันเทคโนโลยีบันดุง เมืองบันดุง แล้ว ประธานาธิบดี Habibie ได้เดินทางไปยังเมือง Delft ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อศึกษาวิชาการบินและอวกาศที่ Technische Hogeschool Delft (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Delft) แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง (กรณีพิพาทนิวกินีตะวันตก ระหว่างเนเธอร์แลนด์กับอินโดนีเซีย) เขาจึงต้องย้ายไปศึกษาต่อที่ Technische Hochschule Aachen (มหาวิทยาลัย RWTH Aachen) ในเมือง Aachen ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1960 ประธานาธิบดี Habibie ได้รับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ของเยอรมนี (Diplom-Ingenieur) และยังคงอยู่ในเยอรมนีในตำแหน่งผู้ช่วยวิจัยของ ‘Hans Ebner’ ที่ Lehrstuhl und Institut für Leichtbau, RWTH Aachen เพื่อทำการวิจัยในระดับปริญญาเอก

‘ประธานาธิบดี Habibie’ แต่งงานกับแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun’ วันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1962

ในปี ค.ศ. 1962 ประธานาธิบดี Habibie ได้ลาหยุดเพื่อเดินทางกลับอินโดนีเซียเป็นเวลา 3 เดือน ช่วงเวลานี้เองที่ เขาได้พบกับแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun’ เพื่อนในวัยเด็กสมัยมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ SMA Kristen Dago (โรงเรียนมัธยม Dago Christian) เมืองบันดุง ทั้งสองได้เข้าพิธีสมรสในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1962 และเดินทางกลับเยอรมนี หลังจากนั้นไม่นาน Habibie และภรรยาของเขา ก็ได้ตั้งรกรากในเมือง Aachen ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะย้ายไปยังเมือง Oberforstbach ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1963 โดยพวกเขาได้ให้กำเนิดลูกชาย คือ ‘Ilham Akbar Habibie’

ต่อมา ประธานาธิบดี Habibie ได้ร่วมงานกับบริษัทค้าหุ้นการรถไฟ ‘Waggonfabrik Talbot’ ซึ่งเขาได้เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบตู้รถไฟ ในปี ค.ศ. 1965 ประธานาธิบดี Habibie ทำวิทยานิพนธ์ในสาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ และได้รับคะแนน ‘ดีมาก’ ทำให้เขาได้รับ ‘Doktoringenieur’ (Dr.-Ing.) ในปีเดียวกันนั้น เขายอมรับข้อเสนอของ Hans Ebner ที่จะวิจัยต่อเกี่ยวกับ Thermoelastisitas และทำงานด้าน Habilitation แต่เขาปฏิเสธข้อเสนอที่จะเข้าร่วมกับ RWTH ในตำแหน่งศาสตราจารย์ วิทยานิพนธ์ของเขานั้นยังดึงดูดข้อเสนอการจ้างงานจากบริษัทต่าง ๆ เช่น Boeing และ Airbus ซึ่งประธานาธิบดี Habibie ก็ได้ปฏิเสธอีกครั้ง

‘ประธานาธิบดี Habibie’ ได้ร่วมงานกับ ‘Messerschmitt-Bölkow-Blohm’ ในเมือง Hamburg ที่นั่น เขาได้พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับอุณหพลศาสตร์ การก่อสร้าง และอากาศพลศาสตร์ที่เรียกว่า ‘อุณหพลศาสตร์’ (Habibie Factor) เขามีส่วนในการพัฒนาเครื่องบินโดยสาร ‘Airbus A-300B’ ในปี พ.ศ. 2517 ต่อมาเขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานบริษัท ในปี ค.ศ. 1974 ‘ประธานาธิบดี Suharto’ ได้ขอให้เขากลับไปยังอินโดนีเซีย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาประเทศ

ในตอนแรก ประธานาธิบดี Habibie ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพิเศษของ ‘Ibnu Sutowo’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทน้ำมันของรัฐ Pertamina และประธานหน่วยงานเพื่อการประเมินและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Badan Pengkajian dan Penerapan Teknologi (BPPT)) อีก 2 ปีต่อมา เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ของ ‘Industri Pesawat Terbang Nurtanio’ (IPTN) หรือ ‘Nurtanio Aircraft Industry’ โดยในขณะนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย ซึ่งในปี ค.ศ. 1985 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Industri Pesawat Terbang Nusantara’ (Nusantara Aircraft Industry หรือ ‘IPTN’) และเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Indonesia Aerospace’ (PT. Dirgantara Indonesia) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000


เครื่องบินโดยสาร ‘N-250 Gatotkaca’ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบเพียง 2 ลำ

ในปี ค.ศ. 1978 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการวิจัยและเทคโนโลยี (Menteri Negara Riset dan Teknologi, Menristek) แต่ยังคงมีบทบาทสำคัญใน ‘เชิงกลยุทธ์’ ของ IPTN โดยในช่วงทศวรรษ 1980 IPTN เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเชี่ยวชาญด้านการผลิตเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก และกลายเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน ซึ่งรวมถึงเฮลิคอปเตอร์แบบ Puma และเครื่องบิน CASA และเป็นผู้บุกเบิกออกแบบและสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก ‘N-250 Gatotkaca’ ในปี ค.ศ. 1995 แต่โครงการนี้ประสบความล้มเหลวในเชิงพาณิชย์ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของอินโดนีเซีย ประธานาธิบดี Habibie ได้นำแนวทางที่เรียกว่า ‘เริ่มต้นที่จุดสิ้นสุดและสิ้นสุดที่จุดเริ่มต้น’ วิธีการนี้ องค์ประกอบต่าง ๆ เช่น การวิจัยขั้นพื้นฐาน จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ต้องให้ความสำคัญ ในขณะที่การผลิตเครื่องบินจริงถือเป็นวัตถุประสงค์แรกที่สำคัญที่สุด

ไม่ถึง 3 เดือน หลังจากการเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 7 เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ. 2541 ประธานาธิบดี Habibie ก็ต้องเข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี Suharto ซึ่งลาออกหลังจากดำรงตำแหน่งมา 32 ปี ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงจุดสังเกตในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการปฏิรูป

เมื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาได้เปิดให้กฎหมายสื่อและพรรคการเมืองของอินโดนีเซียมีอิสระเสรีมากขึ้น และจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก่อนกำหนดถึง 3 ปี ซึ่งส่งผลให้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาสิ้นสุดลง ด้วยวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 517 วันและรองประธานาธิบดี 71 วัน ซึ่งถือว่าสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย

ขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น ประธานาธิบดี Habibie ต้องประสบพบเจอกับปัญหาหลายประการ ได้แก่
• การเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
• การถูกโจมตีว่าเขาไม่สามารถก้าวพ้นจากอำนาจของประธานาธิบดี Suharto ได้
• ไม่มีฐานการเมืองมาสนับสนุนอย่างจริงจัง กล่าวคือ ‘พรรคกลการ์’ (Golkar : Partai Golongan Karya) ของอดีตประธานาธิบดี Suharto ไม่ได้ให้การสนับสนุนเขา 
• การลดจำนวนที่นั่งในรัฐสภาของทหาร และห้ามข้าราชการทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้กองทัพอินโดนีเซียก็ไม่ให้การสนับสนุนเขา
• เรื่องทุจริตอื้อฉาวเกิดขึ้นเกี่ยวกับธนาคารบาหลี ซึ่งมีการกล่าวหาว่าลูกชายของเขามีส่วนเกี่ยวข้อง

แต่ประธานาธิบดี Habibie ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ ในเรื่องการจัดการกับปัญหา ‘ติมอร์ตะวันออก’ แม้ว่า ประธานาธิบดี Habibie จะไม่เห็นด้วยกับการให้ติมอร์ตะวันออกเป็นเอกราช แต่เขาเห็นสมควรว่า ชาวติมอร์ตะวันออกควรลงประชามติเลือกว่าจะอยู่กับอินโดนีเซียต่อไปหรือเป็นเอกราช ซึ่งท้ายที่สุด ชาวติมอร์ตะวันออกก็ต้องการเป็นอิสระ ประธานาธิบดี Habibie จึงให้เอกราชแก่ติมอร์ตะวันออก จนทำให้ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไม่พอใจ ด้วยมองเป็นการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในชาติ

รัฐบาลของประธานาธิบดี Habibie ทำให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีเสถียรภาพ เมื่อเผชิญกับวิกฤติการเงินในเอเชีย และความวุ่นวายในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ของประธานาธิบดี Suharto รัฐบาลของประธานาธิบดี Habibie มีท่าทีประนีประนอมต่อชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายในการจลาจลในปี ค.ศ. 1998 เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของสถานะทางชนชั้นในเรื่องเศรษฐกิจ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1998 ประธานาธิบดี Habibie ได้ออก ‘คำสั่งของประธานาธิบดี’ ห้ามใช้คำว่า ‘pribumi’ และ ‘non-pribumi’ เพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างชาวอินโดนีเซียพื้นถิ่น และชาวอินโดนีเซียที่ไม่ใช่ชนพื้นถิ่น

และสิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยทราบกันเกี่ยวกับตัวประธานาธิบดี B.J. Habibie ก็คือ เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรผู้ค้นพบทฤษฎีที่ก้าวล้ำ ซึ่งปฏิวัติความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเครื่องบิน จนได้รับฉายาว่า ‘Mr.Crack’ เนื่องจากความเป็นอัจฉริยะ ที่สามารถออกแบบวิธีคิดคำนวณรอยแตกร้าวบนโครงสร้างโลหะของเครื่องบิน ประธานาธิบดี Habibie มีระดับ IQ (Intelligence Quotient) ประมาณ 200 ซึ่งสูงกว่า IQ ของ ‘ประธานาธิบดี John Quincy Adams’ ที่มีระดับ IQ ประมาณ 175 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคน

นอกจากนั้นแล้ว ประธานาธิบดี Habibie ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรกของ ‘สมาคมปัญญาชนมุสลิมแห่งอินโดนีเซีย’ (ICMI) ในปี ค.ศ. 1990 และเนื่องจากเขามีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างเครื่องบินเป็นลำแรกในประเทศอินโดนีเซีย จึงได้รับตำแหน่ง ‘บิดาแห่งเทคโนโลยี’ ของอินโดนีเซียด้วย

เครื่องบินโดยสารแบบ R-80 ขนาด 80 ที่นั่งที่ออกแบบและผลิตโดย ‘Regio Aviasi Industri’ (RAI) 

ในปี ค.ศ. 2012 เขาได้ก่อตั้ง ‘Regio Aviasi Industri’ (RAI) บริษัทผลิตเครื่องบิน ซึ่งกำลังพัฒนาเครื่องบินโดยสารแบบ R-80 ขนาด 80 ที่นั่ง และได้รับคำสั่งซื้อแล้ว 150 ลำ

ประธานาธิบดี Habibie ผู้เป็นยอดอัจฉริยะทางวิศวกรรมการบิน เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้เพียงสมัยเดียว เพราะความอัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงตรรกะแห่งความจริงและความถูกต้องทั้งหมดทั้งมวลนั้น ไม่สามารถเอาชนะทางการเมืองได้ และทุกประเทศบนโลกใบนี้ส่วนใหญ่แล้วก็มักเป็นเช่นนั้น

พิธีฝังศพของ ‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ ณ สุสานวีรบุรุษ Kalibata

ช่วงต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทหารบก Gatot Soebroto เนื่องจากเขาเป็น ‘โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม’ และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2019 เพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อการจากไปของประธานาธิบดี Habibie รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศให้ไว้ทุกข์ทั้งประเทศเป็นเวลา 3 วัน (12-14 กันยายน ค.ศ. 2019) และประกาศลดธงชาติอินโดนีเซียครึ่งเสา

ประธานาธิบดี B.J. Habibie เป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซียคนแรกที่ได้รับการฝัง ณ สุสานวีรบุรุษ Kalibata เคียงข้างหลุมฝังศพของแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun Habibie’ ผู้เป็นภรรยาของเขา


อนุสาวรีย์ของ ‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ ใกล้กับท่าอากาศยาน Jalaluddin จังหวัด Gorontalo

2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 วันเกิด ‘มหาตมะ คานธี’ มหาบุรุษแห่งสันติภาพ

2 ตุลาคม วันเกิดมหาตมะ คานธี ครบรอบ 154 ปี มหาบุรุษแห่งสันติภาพ ผู้นำคนสำคัญ ในการเรียกร้องเสรีภาพและเอกราชของอินเดีย

โมหันทาส กรรมจันทร์ คานธี หรือ มหาตมะ คานธี เกิดวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 (ค.ศ. 1869) ที่จังหวัดโพรบันดาร์ รัฐคุชราต ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในตระกูลชนชั้นสูง พ่อเป็นข้าราชการ และมารดาเป็นแม่บ้านที่เคร่งศาสนา และมักปลูกฝังแนวคิดหลักจริยธรรมฮินดู การบริโภคมังสวิรัติ ความแตกต่างทางศาสนา การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และการไม่ใช้ความรุนแรงให้คานธี

ในวัยเด็กเขาไม่ใช่คนเรียนเก่ง หรือมีความสามารถพิเศษโดดเด่นชัดเจน ครอบครัวจึงให้เขาไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศเจ้าอาณานิคม เพื่อโอกาสทางการงานที่ดีในอนาคต คานธีในวัย 18 ปีจึงเดินทางไปอังกฤษ และเข้าเรียนนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (University College London)

เมื่อเรียนจบ คานธีได้ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ที่ชาวอินเดียอพยพไปทำงานกันมาก

ณ ประเทศแห่งนี้เขาได้พบประสบการณ์เหยียดสีผิวตั้งแต่เริ่มเดินทางมาถึง จากการที่เขาต้องการซื้อตั๋วรถไฟชั้น 1 แต่ถูกขับไล่ให้ไปนั่งชั้น 3 ทว่าคานธีนั้นไม่ยอม จึงถูกเจ้าหน้าที่จับโยนลงจากรถไฟ และเหตุการณ์ครั้งนี้ได้จุดประกายให้คานธีเริ่มมีแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมนับตั้งแต่นั้น

ชื่อของ คานธี กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อครั้งถูกจับกุมฐานเป็นแกนนำการประท้วง และเดินขบวนต่อต้านการเรียกเก็บภาษีต่อผู้มีเชื้อสายอินเดีย ท้ายที่สุดอังกฤษถูกกดดันให้ยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าว ก่อนปล่อยตัวคานธีในเวลาต่อมา ข่าวเรื่องชัยชนะของคานธีถูกรายงานไปทั่วอังกฤษ กระทั่งกลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

คานธี กลายเป็นผู้นำคนสำคัญของอินเดียในการเรียกร้องให้อังกฤษปลดปล่อยตนออกจากการเป็นอาณานิคม ซึ่งช่วยนำอินเดียไปสู่ความเป็นอิสระ เป็นแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวที่ไม่รุนแรงเพื่อสิทธิพลเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั่วโลก

ตลอดชีวิตของเขายังคงยึดมั่นในความเชื่อของเขาในการไม่ใช้ความรุนแรงแม้ภายใต้สภาวะที่กดขี่และเผชิญกับความท้าทายที่ดูเหมือนจะผ่านไม่ได้

2 ตุลาคม ของทุกปี ยังถูกกำหนดให้เป็น วันไม่ใช้ความรุนแรงสากล (International Day of Non-Violence) จากมติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เนื่องจากวันนี้เป็นวันเกิดของ มหาตมะ คานธี ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพชาวอินเดีย ผู้ที่ริเริ่มปรัชญาและหลักแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงการยุติความรุนแรง และเพื่อให้เกิดสันติสุขแก่สังคม มีความอดทนอดกลั้น และเข้าใจหลักการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างลึกซึ้งนั่นเอง

นายอานันท์ ชาร์มา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ได้กล่าวเมื่อครั้งการเสนอมติในสมัชชาใหญ่ ในนามของผู้สนับสนุนกว่า 140 คนเอาไว้ว่า การสนับสนุนมติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพต่อมหาตมะ คานธี ในระดับสากล และเพื่อเป็นการค้ำจุน หลักการและปรัชญาแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง

‘อธิบดี กพร.’ ร่วมประชุมเตรียมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติที่ไอร์แลนด์ หนุนพัฒนาศักยภาพ เสริมทักษะแรงงานไทย สู่ตลาดโลกอย่างมีคุณภาพ

(29 ก.ย. 66) น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการเดินทางเข้าร่วมประชุมที่กรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ว่า มีการประชุมหารือในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ เพื่อให้ผู้แทนของแต่ละประเทศ นำไปเป็นข้อมูลเตรียมความพร้อมจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันต่อไป

ซึ่งครั้งนี้ คณะผู้แทนของประเทศไทย ประกอบด้วยตนในฐานะหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย น.ส.พรรวี นาคพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ ผู้แทนเทคนิคและ น.ส.เยาวลักษณ์ กงษี ผู้ช่วยผู้แทนเทคนิค ได้เข้าร่วมประชุมเตรียมจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 เป็นวันที่ 3 ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ (Strategic Development Committee Meeting) ในหลายประเด็น อาทิ บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แนวทางการประชาสัมพันธ์ให้การแข่งขันฝีมือแรงงานเป็นที่รู้จัก รวมทั้งให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะด้านการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งอนาคต (Competitions of the Future) แก่องค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (World Skills International)

น.ส.บุปผา กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้รับฟังและรวบรวมความเห็นจากสมาชิก ผู้จัดการการแข่งขันแต่ละสาขา และภาคีหุ้นส่วน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารการจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานในอนาคต ให้สะท้อนความต้องการของตลาดแรงงานทั่วโลกให้มีคุณภาพและมีความยั่งยืน เช่น การจัดการแข่งขันในแต่ละสาขาควรสะท้อนความต้องการของภาคเศรษฐกิจอย่างน้อยใน 3 ทวีป หรือภูมิภาคขึ้นไป และสาขาควรจะมีความแตกต่างกันในด้านมาตรฐานและสมรรถนะหลัก และการจัดสภาพแวดล้อมของการแข่งขันควรสะท้อนสภาพการปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม

การประชุมอีกคณะ คือ คณะกรรมการการแข่งขัน (Competitions Committee Meeting) เพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 (WorldSkills Lyon 2024) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 10-15 กันยายน 2567 ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่ประชุมได้เห็นชอบการเสนอแก้ไขกฎการแข่งขัน และเห็นชอบโครงการนำร่องในการแปลเอกสารเป็นภาษาแม่ของผู้แข่งขันล่วงหน้า รวมถึงการหารือแนวทางการอบรมและคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

ผู้แทนประเทศไทยได้เสนอความเห็นต่อแนวทางการจัดการแข่งขันแห่งอนาคต โดยเน้นย้ำถึงการพัฒนาการจัดการแข่งขันให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันของไทยอีกด้วย” น.ส.บุปผา กล่าวและว่า การจัดส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานในแต่ละระดับ จนก้าวสู่เวทีระดับโลก เป็นการกระตุ้นให้เยาวชนและแรงงานไทยเห็นความสำคัญ ของการพัฒนาศักยภาพด้านทักษะฝีมือ ที่ส่งผลต่ออัตราค่าจ้าง การสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการขับเคลื่อนให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

เจ้าของร้านอาหารคนไทยในไอซ์แลนด์ ไล่ 'หมอพรทิพย์' ออกจากร้าน อ้าง!! เกลียดฝังใจ รับไม่ได้กับสิ่งที่ สว.พรทิพย์ ทำกับประเทศไทย

(30 ก.ย. 66) ชาวเน็ตแชร์คลิป หมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เดินทางไปท่องเที่ยวอยู่ที่ประเทศไอซ์แลนด์ ถูกเจ้าของร้านอาหารชาวไทยในประเทศไอซ์แลนด์ ชี้นิ้วขับไล่ให้ออกจากร้าน โดยเจ้าของร้านให้เหตุผลว่า รับไม่ได้สิ่งที่ สว.พรทิพย์ ทำกับประเทศไทย เกลียดฝังใจมาก ทั้งที่เคยชื่นชอบ สว. คนนี้มากในอดีต แต่ตอนนี้รับไม่ได้ จึงต้องไล่ออกจากร้าน

ขณะที่ หมอพรทิพย์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Porntip Rojanasunan’ ว่า เช้าวันสุดท้ายที่ไอซ์แลนด์ เราเดินท่องในเมืองหาร้าน Hotdog ที่ผู้คนแนะนำ อร่อยจริงสมคำร่ำลือ เสียดายที่ไม่ทันถ่ายรูปร้านเบอร์เกอร์ไก่อร่อยอีกแห่งชื่อ YuZu มาไอซ์แลนด์แนะนำ

โดยหนึ่งในผู้ที่เดินทางไปเที่ยวด้วยกันมี นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี พรรคภูมิใจไทย รวมอยู่ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top