Saturday, 10 May 2025
NewsFeed

GULF กำไรไตรมาส 1/68 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โตพุ่ง โกย 5,335 ล้าน จากธุรกิจพลังงานและส่วนแบ่งกำไร INTUCH

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 โดยมีรายได้รวม (total revenue) อยู่ที่ 32,343 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงาน (core profit) อยู่ที่ 5,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จาก 4,152 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มบริษัทฯ มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยไตรมาส 1/2568 เป็นไตรมาสแรกที่บริษัทฯ รับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสครบทั้ง 4 หน่วย (2,650 เมกะวัตต์) ของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ซึ่งทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2567 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกอง (HKP) ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 2 หน่วย (1,540 เมกะวัตต์) โดยหน่วยที่ 2 ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเป็นที่เรียบร้อยในเดือนมกราคม 2568 

นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ เริ่มรับรู้ผลกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) ในประเทศ จำนวน 5 โครงการ (532 เมกะวัตต์) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% และได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2567 โดยบริษัทฯ รับรู้ผลกำไรจากโครงการดังกล่าวจำนวน 206 ล้านบาท 
ในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul จำนวน 226 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568 เพิ่มขึ้น 147% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความเร็วลมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 4.8 เมตร/วินาที ในไตรมาส 1/2567 เป็น 6.6 เมตร/วินาที ในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากกลุ่ม GJP น้อยลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลง 68% จาก 542 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 เป็น 175 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ เนื่องจากโครงการ IPP ทั้ง 2 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP ได้แก่ โรงไฟฟ้ากัลฟ์ หนองแซง (GNS) และโรงไฟฟ้ากัลฟ์ อุทัย (GUT) มีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนงาน C- inspection และ A-inspection ตามลำดับ ในไตรมาสนี้ ขณะเดียวกัน กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 7 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP มีอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงเล็กน้อย จากราคาค่า Ft เฉลี่ยที่ลดลง โดยค่า Ft เฉลี่ยลดลงจาก 0.40 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 1/2567 เป็น 0.37 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 1/2568 ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยลดลงจาก 334.54 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 1/2567 เป็น 331.16 บาท/ล้านบีทียู ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยมี load factor เฉลี่ยลดลงจาก 60% ในไตรมาส 1/2567 เป็น 56% ในไตรมาสนี้ เนื่องมาจากความต้องการใช้ไฟที่ลดลงในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและปิโตรเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ที่ลดลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 3 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ (C-inspection) ตามแผนงานในไตรมาส 1/2568 ประกอบกับ Ft ที่ลดลงตามที่กล่าวมาข้างต้น 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มบริษัทฯ มีเพียง 6% ของปริมาณการขายไฟฟ้าทั้งหมด บริษัทฯ จึงได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย สำหรับโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD มีกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการรับรู้ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา (maintenance expense) ที่เพิ่มขึ้นภายใต้สัญญาให้บริการซ่อมบำรุง (Long- term Service Agreement) เนื่องมาจากการซ่อมบำรุงตามแผนงานของทั้ง 4 หน่วยผลิต

ในส่วนของธุรกิจก๊าซ บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการ PTT NGD จำนวน 242 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568 เพิ่มขึ้น 14% จาก 211 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 เนื่องจากราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคาขายส่วนใหญ่ของโครงการ PTT NGD จะอิงกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเริ่มรับรู้ core profit จากธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ภายใต้ GLNG สำหรับการนำเข้า LNG เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD และ SPP 19 โครงการ ในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม และรับรู้กำไร core profit จาก HKH ในการนำเข้า LNG สำหรับโรงไฟฟ้า HKP โดยบริษัทฯ รับรู้ผลกำไรรวมทั้งสิ้นจำนวน 93 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทฯ รับรู้กำไรค่าก่อสร้างตามสัญญาสัมปทาน สำหรับงานถมทะเลของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จำนวน 48 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568 ซึ่งลดลง 60% จาก 119 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 เนื่องจากมีการบันทึกรายได้และกำไรตามความคืบหน้าในการก่อสร้าง โดยงานถมทะเลสำหรับโครงการ MTP3 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยในระหว่างไตรมาส 1/2568 

ในไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากการลงทุนใน INTUCH จำนวน 1,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จาก 1,575 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของ ADVANC ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU ซึ่งมุ่งเน้นจำหน่ายแพ็กเกจที่มีมูลค่าสูงขึ้น การส่งเสริมการใช้งานเครือข่าย 5G  ประกอบกับการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 1/2568 จำนวน 11,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับ 9,427 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 ในขณะที่กำไรสุทธิ (net profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ในไตรมาส 1/2568 เท่ากับ 5,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จาก 3,499 ล้านบาท 

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 522,478 ล้านบาท หนี้สินรวม 376,802 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 145,676 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net interest-bearing debt to equity) อยู่ที่ 1.96 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.80 เท่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 จากหนี้สินระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากการออกและจำหน่ายหุ้นกู้จำนวน 30,000 ล้านบาท ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เปิดเผยว่า “การควบรวมกิจการระหว่างบริษัทฯ และ INTUCH ได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้จัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“GULF”) ซึ่งได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ทั้งนี้ บริษัทใหม่ภายหลังการควบรวมมีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านธุรกิจพลังงานและธุรกิจดิจิทัล พร้อมด้วยฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากขึ้น โดยภายหลังการควบรวม บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ GULF จากระดับ 'A+' เป็น 'AA-'

พร้อมทั้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน เป็นระดับ 'AA-' โดยในปี 2568 คาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นประมาณ 25% จากการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าใหม่ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการ HKP หน่วยผลิตที่ 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ที่ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเรียบร้อยตามกำหนดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) ภายในประเทศ ที่มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 7 โครงการ ในช่วงปลายปีนี้ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 597 เมกะวัตต์ ในขณะที่โครงการ solar rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ อีกทั้ง GULF1 ยังได้เปิดตัวโครงการ 'วันอาทิตย์' ซึ่งมุ่งขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มลูกค้าครัวเรือนและที่อยู่อาศัย โดยนำเสนอบริการติดตั้ง solar rooftop แบบครบวงจร ภายใต้แนวคิดประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

ในส่วนของธุรกิจก๊าซ ในปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70 ลำ หรือประมาณ 4-5 ล้านตัน เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD HKP และ SPP 19 โครงการ ในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจก๊าซอย่างต่อเนื่อง และทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้จาก shipper fee เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 มีการนำเข้า LNG ไปแล้วจำนวน 19 ลำ หรือประมาณ 1.3 ล้านตัน

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังคงเป็นไปตามแผน โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568 ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2569 ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ณ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการถมทะเลเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และมีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ในไตรมาส 4 ปี 2568 อีกทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีกำหนดรับมอบพื้นที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อเริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือในช่วงปลายปีนี้ 

ในขณะที่ธุรกิจดิจิทัลยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทฯ โดยธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) มีแผนที่จะทยอยเปิดให้บริการเฟสแรกขนาด 25 เมกะวัตต์ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะขยายขนาดการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ธุรกิจ cloud ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped มีแผนเปิดให้บริการในช่วงครึ่งปีหลังของ 2568 เพื่อรองรับความต้องการในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับทั้งภาครัฐและภาคองค์กร

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มบริษัทฯ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงิน บริษัทฯ มีแผนการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งก่อนการควบรวมกิจการ บริษัทฯ เคยได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้สามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 210,000 ล้านบาท โดยภายหลังการควบรวมแล้วเสร็จ มติดังกล่าวได้สิ้นผลบังคับลงตามกฎหมาย ดังนั้น GULF จึงกำหนดจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 เพื่อขออนุมัติวงเงินออกและเสนอขายหุ้นกู้ใหม่จำนวนไม่เกิน 300,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มียอดหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนอยู่จำนวน 185,550 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และชำระคืนเงินกู้และหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ GULF มีแผนจะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2568”

‘กรมการปกครอง’ มีคำสั่งห้ามจนท.เรียกประชาชนผู้มาใช้บริการว่า ‘ลุง’ หรือ ‘ป้า’ หวั่นกระทบความรู้สึก! แนะใช้คำว่า ‘คุณลูกค้า’ เพื่อยกระดับงานบริการของภาครัฐ

(9 พ.ค. 68) ชาวเน็ตแห่แชร์เอกสารจากกรมการปกครองที่มีเนื้อหาระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกประชาชนที่มาใช้บริการว่า 'คุณ' หรือ 'คุณลูกค้า' แทนการใช้คำว่า 'ลุง' หรือ 'ป้า' หลังมีประชาชนร้องเรียนว่าการใช้คำดังกล่าวไม่เหมาะสมและกระทบความรู้สึก

เอกสารดังกล่าวอ้างถึงข้อเสนอของผู้รับบริการที่ศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จในห้างสรรพสินค้า ซึ่งสะท้อนความต้องการให้เจ้าหน้าที่ใช้ถ้อยคำสุภาพและเหมาะสมมากขึ้น โดยเฉพาะในการเรียกสรรพนามลูกค้า เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานรัฐและข้าราชการไทย

กรมการปกครองจึงมีหนังสือเวียนไปยังจังหวัดต่าง ๆ ให้แจ้งกำชับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในจุดบริการต้องยึดหลักมารยาทสากลในการสื่อสาร โดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพทั้งทางวาจาและกิริยา เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน

ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการยกระดับคุณภาพบริการภาครัฐ ให้มีความทันสมัย และใส่ใจต่อความรู้สึกของประชาชนมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการบริการด้วยหัวใจแบบมืออาชีพในยุคปัจจุบัน

'อ.เจษฎ์' ค้านรัฐขึ้นภาษีน้ำมัน-ลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แนะควรขึ้นภาษีเหล้าเบียร์ บุหรี่ หาเงินทดแทนดีกว่า

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า 

น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสินค้าจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของประชาชน และเป็นต้นทุนในด้านการขนส่งของเศรษฐกิจประเทศ ..

จึงไม่ควรแค่จะขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (เพื่อหาเงินเติมคลัง) แต่ควรจะหาทางลด เพื่อช่วยเหลือประชาชน ด้วยซ้ำครับ

อย่างน้อย ช่วงที่ราคาน้ำมันโลกลดลงต่อเนื่องแบบนี้ ก็ควรจะตรึงค่าภาษีสรรพสามิตไว้ จะได้ทำให้ราคาน้ำมันของผู้บริโภคในประเทศลดตามไปด้วย (ไม่ใช่ทำมาเป็นโม้ว่า ช่วยตรึงค่าน้ำมันให้คงที่ไว้ แต่จริงๆ คือเก็บภาษีเพิ่ม)

ไปขึ้นภาษีสรรพสามิตสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ อย่าง เหล้า เบียร์ไวน์ บุหรี่ ฯลฯ ดีกว่าครับ .. ถ้าจะหาเงินโปะ แก้รัฐถังแตก

นอกจากนี้ ดร.เจษฎา ยังระบุด้วยว่า (จากท้ายประกาศฯ) "เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง สมควรเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ประเภทน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล เพื่อให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น อันเป็นการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและเสถียรภาพทางการคลังของรัฐ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้"

ดังนั้น มันไม่ได้ 'ปรับสมดุลรายรับ' อะไรหรอกครับ จริงๆ มันก็คือแอบเนียนๆ หาเงินภาษี มาโปะคลังเพิ่ม เพราะรัฐขาดรายได้ไปมาก (จากการไปสนับสนุนราคารถอีวีนั่นแหละ)

หรือพูดง่ายๆ คือ เทคนิคโยกเงินที่กองทุนน้ำมันควรจะได้ ไปเข้ากระเป๋ารัฐ เอาไปใช้อย่างอื่นแทน

‘สีจิ้นผิง-ปูติน’ ลงนามแถลงการณ์ร่วม ยกระดับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ประกาศต้านนโยบาย ‘ปิดกั้นสองชั้น’ ของสหรัฐฯ ที่บ่อนทำลายเสถียรภาพโลก

(9 พ.ค. 68) จีนและรัสเซียประกาศยกระดับการประสานงานและความร่วมมือ เพื่อตอบโต้นโยบาย 'ปิดกั้นสองชั้น' (Double Containment) ที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยชี้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความพยายามของวอชิงตันในการจำกัดอิทธิพลของทั้งจีนและรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมแสดงจุดยืนคัดค้านการยุยงให้ประเทศอื่นมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย

สำหรับการ 'ปิดกั้นสองชั้น' หมายถึงแนวนโยบายที่สหรัฐฯ และพันธมิตรใช้ควบคุมจีนและรัสเซียไปพร้อมกัน ผ่านมาตรการทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการทูต เช่น การคว่ำบาตร, การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี, การขยายอิทธิพลนาโต้ในเอเชีย-แปซิฟิก และการสนับสนุนกลุ่มประเทศให้แยกตัวจากจีน-รัสเซีย ทั้งสองประเทศมองว่านี่คือความพยายาม 'ตีวงล้อม' ที่บ่อนทำลายเสถียรภาพโลก

ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และวลาดิเมียร์ ปูติน ระบุว่า จีนและรัสเซียจะร่วมกันต่อต้านการติดตั้งระบบอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การขยายนาโต้ไปทางตะวันออก และการสร้าง 'วงขนาดเล็ก' เพื่อจำกัดอิทธิพลของชาติอื่น พร้อมยืนยันว่า ความร่วมมือของทั้งสองประเทศเป็นปัจจัยสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในระดับโลก

รู้จัก ‘Muhammad Mahmood Alam’ ผู้ใช้เวลาไม่ถึงสองนาทียิงเครื่องบินรบอินเดียตก 5 ลำ

ข่าวการสู้รบระหว่างอินเดียและปากีสถานในขณะนี้เป็นที่จับตามองของชาวโลกเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทั้ง 2 ชาติต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ผลจากการปะทะในครั้งนี้อินเดียต้องสูญเสียเครื่องบินรบสมรรถนะสูงไปถึง 5 ลำ โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2025 กองทัพอากาศอินเดียได้ส่งเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale พร้อมขีปนาวุธ SCALP และระเบิด AASM Hammer ออกปฏิบัติการในช่วงเช้าตรู่เพื่อโจมตีค่ายก่อการร้ายหลายแห่งในปากีสถาน ซึ่งปากีสถานระบุว่าได้ยิงเครื่องบินอินเดียตก 5 ลำที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีครั้งนี้ รวมถึงเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale จำนวน 3 ลำ ก่อนหน้านี้ ปากีสถานได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สามารถต่อต้านระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale ของอินเดียได้สำเร็จ ตามรายงานของ CNN เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้ยืนยันถึงการสูญเสียเครื่องบิน Rafale 1 ลำ และกำลังสืบสวนการสูญเสียในการรบเพิ่มเติม โดยปรากฏภาพของชิ้นส่วนเครื่องบิน Rafale หมายเลขประจำเครื่อง BS001 ของกองทัพอากาศอินเดียบนโซเชียลมีเดีย ปากีสถานระบุว่า เครื่องบินรบของอินเดียถูกยิงตกโดยขีปนาวุธนำวิถีด้วยเรดาห์ (อากาศสู่อากาศ) แบบ PL-15Es จากเครื่องบินขับไล่แบบ J-10CE (ซึ่งทั้งคู่ผลิตโดยจีน) ในเวลาต่อมา สำนักข่าวรอยเตอร์ได้อ้างว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่เปิดเผยชื่อได้ยืนยันการยิงเครื่องบินรบอินเดียตกอย่างน้อย 2 ลำ (รวมถึงเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale) โดยเครื่องบินขับไล่แบบ J-10CE ของปากีสถาน

อันที่จริงแล้ว กองทัพอากาศปากีสถานมีขีดความสามารถในการรบทางอากาศเหนือกว่ากองทัพอากาศอินเดียมานานแล้ว ตั้งแต่การรบทางอากาศในสงครามระหว่างอินเดียและปากีสถานในปี 1965 โดยสงครามครั้งนั้น กองทัพอากาศอินเดียสูญเสียเครื่องบินรบในราว 60-75 ลำ ขณะที่กองทัพอากาศปากีสถานสูญเสียเครื่องบินรบในราว 19-20 ลำ คิดเป็นอัตราส่วนความสูญเสียของอินเดีย-ปากีสถานที่ 3-3.5 ต่อ 1 ในยุคนั้นกองทัพอากาศอินเดียประจำการด้วยเครื่องบินรบจากอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคมเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่กองทัพอากาศปากีสถานใช้เครื่องบินรบส่วนใหญ่จากสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ เครื่องบินขับไล่แบบ F-86F Sabre และ F-104

หนึ่งในเสืออากาศที่มีชื่อเสียงที่สุดของกองทัพอากาศปากีสถาน ได้แก่ นาวาอากาศเอก(พิเศษ) Muhammad Mahmood Alam (6 กรกฎาคม 1935 – 18 มีนาคม 2013) เป็นที่รู้จักในชื่อ M.M. Alam หรือ มังกรน้อย (Little dragon) หรือ M.M. Sabre เป็นนักบินขับไล่และวีรบุรุษสงครามแห่งปากีสถาน เขาเป็นเสืออากาศที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากกองทัพอากาศปากีสถานว่าสามารถยิงเครื่องบินขับไล่แบบ Hawker Hunter ของอินเดียตกได้ 5 ลำในเวลาเพียงไม่ถึงสองนาทีในสงครามอินเดีย-ปากีสถานในปี 1965 M.M. Alam เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 1935 ในครอบครัวชาวเบงกอลมุสลิม เขาเกิดและเติบโตในนครกัลกัตตา เบงกอล จักรวรรดิอินเดียของอังกฤษในขณะนั้น เขาพูดภาษาเบงกอลได้คล่องเนื่องจากเป็นภาษาแม่ ด้วยมารดามีเชื้อสายเบงกอลและบิดามีเชื้อสายบิฮารี โดยอพยพมาจากปัตนาและต่อมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเบงกอล ต่อมาครอบครัวของเขาอพยพมาอพยพต่อไปยังดินแดนเบงกอลตะวันออก (ซึ่งต่อมากลายเป็นปากีสถานตะวันออกและบังกลาเทศในปัจจุบัน) หลังจากก่อตั้งปากีสถานในปี 1947 เขาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปากีสถานตะวันออก โดยสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของรัฐบาลในเมืองธากาในปี 1951 เขาเข้าร่วมกองทัพอากาศปากีสถานในปี 1952 โดยเข้าประจำการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1953 เนื่องจากเป็นพี่คนโตในบรรดาพี่น้อง 11 คน เขาจึงไม่ได้แต่งงานเนื่องจากต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดูครอบครัว น้องชายของเขาเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในทางวิชาการที่หลากหลาย อาทิ M. Shaheed Alam นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น บอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และ M. Sajjad Alam นักฟิสิกส์อนุภาคแห่งมหาวิทยาลัยออลบานี (SUNY) มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

วันที่ 7 กันยายน 1965 ในช่วงสงครามอินเดีย-ปากีสถาน M.M. Alam ประจำการอยู่กับฝูงบินที่ 11 ฐานทัพอากาศ Sargodha และทำการบินด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ F-86F Sabre เขาประสบความสำเร็จในภารกิจสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์การรบทางอากาศ โดยสามารถยิงเครื่องบินขับไล่แบบ Hawker Hunter ของกองทัพอากาศอินเดียตกเพียงลำพังได้ถึง 5 ลำภายในเวลาไม่ถึงสองนาที โดย 4 ลำใช้เวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้น โดยมีการกล่าวอ้างว่า ครั้งนั้นเขาสามารถยิงเครื่องบินรบ Hunter ตกถึง 7 ลำ แต่ 2 ลำในจำนวนนี้ถูกจัดว่า "น่าจะ" ถูกยิงตก (ซึ่งไม่มีการยืนยัน) โดยเขาเล่าว่าในขณะนั้น เขาได้บิน "หมุนตัว 270 องศาด้วยความเร็วประมาณ 12 องศาต่อวินาที และยิงเครื่องบินรบ Hunter ตกไป 4 ลำรวด และต่อมาอีก 1 ลำ" ผลงานอันน่าทึ่งนี้ทำให้เขาได้รับการยอมรับทั่วโลกและได้รับเกียรติอันหายากในการเป็น 'สุดยอดเสืออากาศในหนึ่งวัน' ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มอบให้กับนักบินขับไล่ที่สามารถยิงเครื่องบินของศัตรูตกได้ตั้งแต่ 5 ลำขึ้นไปในหนึ่งวัน ผลงานของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ทักษะ ความแม่นยำ และความกล้าหาญที่ไม่มีใครเทียบได้ภายใต้การโจมตี ตำนานของ M.M. Alam ยังคงสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากมายให้กับชาวปากีสถาน และชื่อของเขายังได้รับการจารึกไว้ในปากีสถานผ่านเกียรติยศต่างๆ เช่น ถนน M. M. Alam ซึ่งเป็นถนนสายหลักในเมืองลาฮอร์ รัฐปัญจาบ ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ในสงครามปากีสถาน-อินเดียปี 1965 ในการสู้รบทางอากาศ เขาสามารถยิงเครื่องบินรบอินเดียตกได้ทั้งหมด 9 ลำ (และน่าจะยิงตกอีก 2 ลำ)

M.M. Alam เป็นนักบินขับไล่คนแรกของกองทัพอากาศปากีสถานที่ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศปากีสถาน ในนครการาจี และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติของปากีสถาน รางวัล 'Sitara-e-Jurat' และเหรียญ BAR อีกด้วย ในปี 1967 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการฝูงเครื่องบินขับไล่แบบ Dassault Mirage III ฝูงบินแรกที่กองทัพอากาศปากีสถานจัดหา ในปี 1982 เขาเกษียณอายุราชการและย้ายไปอยู่ที่นครการาจี เขาปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดในช่วงบั้นปลายชีวิต ในบางครั้ง เขาจะรับเชิญให้ไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในปากีสถาน เขาสะสมหนังสือเป็นจำนวนมาก และอ่านหนังสือพิมพ์วันละหลายฉบับเพื่อติดตามข่าวสาร หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของปากีสถานระบุว่า "M.M. Alam เป็นชายที่เคารพตัวเองมาก เขาใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและนับถือตัวเองอย่างที่สุด เขาเป็นคนตรงไปตรงมาและเป็นกันเองกับเพื่อนที่เขาไว้ใจ" M.M. Alam เข้ารับการรักษาปัญหาทางเดินหายใจเป็นเวลา 18 เดือนที่โรงพยาบาล PNS Shifa ของฐานทัพเรือปากีสถานในนครการาจี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2013 สิริอายุ 77 ปี มีการสวดภาวนาเพื่อไว้อาลัย ณ ฐานทัพอากาศ PAF Masroor ซึ่งเป็นที่ที่เขาประจำการใช้ในช่วงหลายปีที่สำคัญในอาชีพทหาร เขาถูกฝังที่สุสาน Shuhuda (ผู้พลีชีพ) ซึ่งตั้งอยู่ภายในฐานทัพอากาศ Masroor

'ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์' แจงไม่สามารถร่วมเวที คปท. ต้านระบอบทักษิณได้ ด้วยเหตุผลส่วนตัว แม้ใจยังยืนเคียงข้างการเคลื่อนไหว

อ.อานนท์ โพสต์ไม่สะดวกร่วมเวที คปท. ต้านระบอบทักษิณ ด้วยข้อจำกัดส่วนตัว แม้ใจจะอยู่ที่เวทีแล้วก็ตาม

‘จีน-รัสเซีย’ จับมือหนุนสหประชาชาติ (UN) เป็นแกนกลางกำกับ AI หวังต้านอิทธิพลบางประเทศ…ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือแบ่งขั้วอำนาจโลก

(9 พ.ค. 68) จีนและรัสเซียร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนให้องค์การสหประชาชาติ (UN) รับบทบาทหลักในการกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเน้นว่ากระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินไปอย่างเคารพอธิปไตยของแต่ละประเทศ ยึดถือกฎหมายภายใน และยืนอยู่บนพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมการใช้ AI อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในระดับสากล

สองชาติมหาอำนาจระบุว่า AI ควรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่อาวุธเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศใด พร้อมคัดค้านการผูกขาดความรู้ การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือการสร้าง 'กำแพงเทคโนโลยี' ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในเวทีโลก และทำลายโอกาสของประเทศกำลังพัฒนา

จีนและรัสเซียยังคัดค้านการทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือแนวทางที่นำไปสู่การตัดขาดห่วงโซ่อุปทานระดับโลก พร้อมประกาศสนับสนุนซึ่งกันและกันในการจัดการประชุมสำคัญด้าน AI เช่น การประชุม AI โลก ปี 2025 และเวทีระดับสูงว่าด้วยการกำกับดูแล AI เพื่อส่งเสริมการสร้างมาตรฐานที่ทุกประเทศมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

รัสเซียยังชื่นชมจีนที่ผลักดันมติ “ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ AI” ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมัชชาใหญ่ UN และพร้อมเปิดรับข้อเสนอของจีนเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการ AI เพื่อทุกคน โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือผ่านเวทีระหว่างประเทศ อาทิ กลุ่ม BRICS และพันธมิตรความร่วมมือ AI พหุภาคี เพื่อผลักดันวิสัยทัศน์ AI ที่ยั่งยืน ยุติธรรม และเป็นสากล

'อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.' ชู 'สาหร่าย' คือทองคำเขียวเป็นพืชแห่งอนาคตภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ตอบโจทย์สร้างรายได้ใหม่เพิ่มความมั่นคงอาหารลดโลกร้อนเร่งยกระดับเกษตรมูลค่าสูงพัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่ายครบวงจร ตั้งเป้าตลาดโลก 2.6 ล้านล้าน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.และประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยวันนี้ภายหลังบรรยายพิเศษในงานประชุมวิชาการสาหร่ายและแพลงตอนแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ที่เชียงใหม่ จัดโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ว่า 

ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการพัฒนา 'สาหร่าย' หรือทองคำเขียวของไทยเป็นพืชและอาหารแห่งอนาคต (Future Crop & Future Food) ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานภูมิปัญญาไทยยกระดับสู่เกษตรมูลค่าสูง เพิ่มรายได้ประเทศและชุมชน ลดการนำเข้าและตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร พร้อมลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน

จุดเด่นของการส่งเสริมสาหร่ายคือ
1. ลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ไทยนำเข้าสาหร่ายติดท็อปเทนของโลก การพัฒนาการเพาะเลี้ยงและแปรรูปในประเทศจะช่วยลดการพึ่งพาต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร เช่น บะหมี่สาหร่าย อาหารเสริม เครื่องสำอาง และปุ๋ยชีวภาพ 
2. สนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality ) 2050  สาหร่ายช่วยดูดซับ CO₂ ได้มากกว่าไม้บก5เท่าและเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 สอดคล้องกับทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ  
3. ขยายผลสู่ชุมชน 50 จังหวัด ผ่านความร่วมมือของกรมประมง และเครือข่ายวิจัย เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (จันทบุรี) และฟาร์มทะเลตัวอย่าง (เพชรบุรี) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสู่เกษตรกร
4. ต่อยอดอุตสาหกรรมสีเขียว แปรรูปสาหร่ายเป็น พลาสติกชีวภาพ(Bioplastic)และ น้ำมันชีวภาพ (Biofuel)ลดการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียม ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่หันมาใช้วัสดุย่อยสลายได้ 

ทั้งนี้เริ่มมีการพัฒนาสาหร่ายอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2563 ตามนโยบายอาหารแห่งอนาคต( Future Food Policy)ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งตนเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีในขณะนั้นรับนโยบายมาส่งเสริมสาหร่ายทะเล(Seaweed)และสาหร่ายน้ำจืดตั้งแต่การผลิต การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การแปรรูปและการตลาด 

โดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืดเร่งเดินหน้าในการรวบรวมพันธุ์ การเพาะเลี้ยงและการเผยแพร่พันธ์ุดำเนินการในพื้นที่ 50จังหวัด แบ่งเป็น 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลรวมกทม.และอีก 28 จังหวัดโดยความร่วมมือระหว่าง กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ. กระทรวงอว.  สวทช. ศูนย์ความเป็นเลิศสาหร่าย วว. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า สภาเอสเอ็มอี. มูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมตและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC: Agritech and Innovation Center) มีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืดทั่วประเทศเช่นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (จันทบุรี) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งแหลมผักเบี้ยและฟาร์มทะเลตัวอย่าง (เพชรบุรี) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสู่ฟาร์มเกษตรกร

โดยพัฒนาสาหร่ายเป็นผลผลิตและผลิตภัณฑ์ชุมชน( Community based product)สร้างแหล่งอาหารและรายได้ใหม่ให้ประชาชนในท้องถิ่นและเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ

ยิ่งกว่านั้นยังมีการพัฒนาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินกว่า40ปีโดยคุณเจียมจิตต์ บุญสม ผู้ตั้งชื่อ 'สาหร่ายเกลียวทอง' โดยขยายผลเป็น“บุญสมฟาร์ม”ที่อำเภอแม่วาง เชียงใหม่มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ตารางเมตร รวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย(ALEC) ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ร่วมกับปตท.พัฒนาสาหร่ายน้ำจืดมากว่า 20 ปีโดยเฉพาะโครงการน้ำมันชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพอัลจินัว

ปัจจุบันยังมีอีกหลายบริษัทหันมาพัฒนาสาหร่ายเชิงพาณิชย์เช่น บริษัทบางจากฯ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทล็อกซเล่ย์บริษัทไทยยูเนี่ยน บริษัทเถ้าแก่น้อย บีจีซี (BGC) และ บริษัทOverDaBlueซึ่งเป็นสตาร์ทอัพ รวมทั้งโครงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในกระชังของมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมตร่วมกับชุมชนชาวประมงที่จังหวัดกระบี่และเป็นต้น

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมนและอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า "สาหร่ายไม่ใช่แค่พืชท้องถิ่น แต่เป็น“ทองคำเขียว”ที่จะพลิกโฉมเกษตรมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของไทยและของโลกในมิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
1. อุตสาหกรรมอาหาร สาหร่ายใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคิดเป็น 77%ของตลาด (ปี 2024) โดยเป็นส่วนประกอบในอาหารแปรรูป อาหารเสริม และเครื่องดื่ม  ตัวอย่างเช่น สาหร่ายโนริ วากาเมะ และผงสาหร่ายในผลิตภัณฑ์วีแกน  
2. อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง โดยสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่นฟูคอยแดนและแอลจีเนตสำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและยา  
3. ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม สาหร่ายดูดซับก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนไดออกไซด์( CO₂ ) มากกว่าต้นไม้5เท่า และใช้ทำผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based Packaging)  เช่นบริษัทZeroCircleของอินเดีย
4. เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ความต้องการเชื้อเพลิงสะอาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สาหร่ายเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมันชีวภาพพลังงานทางเลือก และน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในหลายประเทศสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายอย่างจริงจัง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย อเมริกา ไอซ์แลนด์ และล่าสุด อินเดียตั้งเป้าผลิต 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2025

การส่งออกเป็นอีกเป้าหมายสำคัญเพราะมูลค่าตลาดโลกของสาหร่ายใน ปี 2024สูงถึง 35.35 พันล้านดอลลาร์ (1.5 ล้านล้านบาท)ทั้งตลาดการเพาะเลี้ยงและตลาดสาหร่ายเชิงพาณิชย์ คาดการณ์ปี 2025 จะเพิ่มเป็น 50.03 พันล้านดอลลาร์(1.6 ล้านล้านบาท) และ 80 พันล้านดอลลาร์ (2.6 ล้านล้านบาท) ในปี 2029 ด้วยอัตราเติบโดปีละกว่า 12.1%.“

ปิดฉากความสำเร็จ 'ผู้นำเมืองรุ่น 10' ม.นวมินทราธิราช มอบเข็มเกียรติยศอย่างชื่นมื่น

เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.68) ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ชั้น B2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรพร้อมเข็มวิทยฐานะแก่ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง ( ผู้นำเมือง รุ่น 10 ) โดยมี รศ.มนูธรรม มานวธงชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย กล่าวรายงานผลการศึกษาอบรมหลักสูตร พร้อมด้วย นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้สำเร็จการศึกษาอบรม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี 

ทั้งนี้ นายพินิจ จารุสมบัติ ตัวแทนหลักสูตรผู้นำเมือง รุ่น 10 มอบทุนการศึกษาให้แก่มหาวิทยาลัย เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท

สำหรับโครงการศึกษาอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง จัดโดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2567 - 8 พฤษภาคม 2568 ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ประกอบด้วย ข้าราชการประจำสังกัดหน่วยงานภาครัฐและกรุงเทพมหานคร ข้าราชการการเมืองของกรุงเทพมหานครและระดับประเทศ ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน

ซึ่งการศึกษาอบรมหลักสูตร ผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้ผู้บริหารระดับสูงที่มาจากทุกภาคส่วน ได้รับการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารจัดการเมือง ในทุกมิติพร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างบูรณาการและยังยืน

สำหรับผู้ที่จบหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมืองรุ่นที่ 10 จะนำความรู้ ประสบการณ์ และข้อคิดเห็น จากการอบรม อันจะนำไปสู่การเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการทำงาน ตลอดจนสร้างเครือข่ายในการบูรณาการความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาเมือง สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ โดยผู้นำเมือง รุ่นที่ 10 รุ่นนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า 'ผู้นำเมืองรุ่นแผ่นดินไหว'

ภายหลังพิธีมอบประกาศนียบัตรและเข็มวิทยฐานะแก่ผู้สำเร็จการศึกษาอบรม หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง (ผู้นำเมือง รุ่นที่ 10) ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในช่วงค่ำของวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 คณะกรรมการรุ่นได้จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดี ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์

ภายในงานเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งมิตรภาพและความอบอุ่น ผู้เข้าอบรมต่างร่วมแสดงความยินดี แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเก็บเกี่ยวความทรงจำร่วมกันอีกครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมการแสดงและกิจกรรมที่สร้างสีสันและรอยยิ้มตลอดค่ำคืน

งานเลี้ยงครั้งนี้ถือเป็นการปิดฉากการเดินทางของ 'ผู้นำเมือง รุ่นที่ 10' อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมเปิดประตูสู่การเดินหน้าของเหล่าผู้นำในภารกิจร่วมพัฒนาเมืองไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

ชมรมลูกเสือรัฐสภาไทยประชุมพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษา พร้อมเดินหน้าขยายสมาชิกและจัดกิจกรรมส่งเสริมความสามัคคี

เมื่อวันที่ (7 พ.ค.68) ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ CB 402 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง ประธานกรรมการบริหารชมรมลูกเสือรัฐสภาไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารชมรมลูกเสือรัฐสภาไทย ครั้งที่ 2/2568 โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาชมรมฯ จำนวน 10 ท่าน เพื่อร่วมสนับสนุนภารกิจของชมรมฯ

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งที่ปรึกษาชมรมลูกเสือรัฐสภาไทย ได้แก่ รองศาสตราจารย์อาณัฐชัย รัตตกุล, นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว, นายอนิรุทธ์ สิงหศิริ, ว่าที่ร้อยตรี บุญชัย ดำรงโภคภัณฑ์, นายพงศ์เดช วิบูลย์ธนสาร, นายเกรียงไกร จันทร์หงษ์, นายสมชาย จรรยา, นายสามารถ ทับศรีนวล, พันตำรวจเอก อธิการ อัครกุล และว่าที่พันตำรวจตรีหญิงวรัญญา รอดวิไล

ในการประชุมยังได้หารือแนวทางการขยายจำนวนสมาชิกชมรมลูกเสือรัฐสภาไทย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสามัญที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 22 คน และสมาชิกวุฒิสภา 13 คน ถือว่ายังมีจำนวนน้อย จึงเห็นควรมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนทั้งสมาชิกรัฐสภาและเจ้าหน้าที่สมัครเข้าร่วมชมรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนภารกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านแนวทางการดำเนินกิจกรรมของชมรมฯ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการวางแผนจัดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ โดยจัดทำร่างโครงการพร้อมกำหนดงบประมาณ เพื่อส่งเสริมความสามัคคีและความปรองดองระหว่างสมาชิกรัฐสภาเดิม ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไป พร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ผ่านกิจกรรมในแนวทางลูกเสือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

ที่ประชุมยังได้เสนอแนวคิดจัดอบรมความรู้ทางการลูกเสือให้กับสมาชิกรัฐสภาที่สนใจ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตและสังคม อีกทั้งส่งเสริมการเผยแพร่กิจการลูกเสือให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรลูกเสือ และแสวงหาการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมชมรมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเรื่องการแต่งกายด้วยเครื่องแบบลูกเสือ โดยยึดตามกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือ พ.ศ. 2510 ซึ่งระบุว่าผู้ที่จะสวมเครื่องแบบลูกเสือได้ต้องผ่านการอบรมที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติรับรอง โดยมีมติเห็นชอบให้ออกแบบและจัดทำแบดจ์ติดแขนเสื้อด้านซ้าย สำหรับผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรลูกเสือจากชมรมลูกเสือรัฐสภาไทย เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นลูกเสือรัฐสภาไทย

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำรับบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมตั้งเป้าขับเคลื่อนชมรมให้มีบทบาทมากขึ้นทั้งในระดับรัฐสภาและสังคมส่วนรวม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top