Tuesday, 6 May 2025
NewsFeed

เวทีเอฟเคไอไอ. ชี้ไทยเผชิญ3ภัยคุกคามใหญ่เสนอ“ทางออกประเทศไทย” หวั่นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนทำไทยโตต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารั้งท้ายอาเซียน

(5 พ.ค. 68) นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบรรยายในงานเสวนาโต๊ะกลมของสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์ (FKII National Dialogue) “โอกาสหรือวิกฤติใหม่เศรษฐกิจไทยภายใต้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน“ ว่า  ประเทศไทยกำลังเผชิญภัยคุกคามใหญ่และความท้าทาย 3 ประการได้แก่ภูมิเศรษฐศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบซับซ้อนต่อกัน ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม “เศรษฐกิจของเราโตต่ำโตช้าและอ่อนแอเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากปัญหาหลักๆเช่นปัญหาหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน การขาดดุลงบประมาณ ความเหลื่อมล้ำ ขีดความสามารถในการแข่งขัน การพึ่งพาการส่งออก การวิจัย เทคโนโลยีการศึกษาและการคอรัปชั่น ปัญหาเหล่านี้คือจุดอ่อนจุดตายโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะส่งผลกระทบซ้ำเติมประเทศไทยรุนแรงมากขึ้น

ล่าสุดไอเอ็มเอฟ.(IMF)ประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตจากเดิม 2.9% (คาดการณ์ในเดือนมกราคม 2568) เหลือ1.8%ถือว่าต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเซียและรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งมูดีส์ประกาศปรับลดแนวโน้ม(Outlook)อันดับเครดิตของประเทศไทยจากStableสู่สถานะNegative (เชิงลบ)ถือเป็นสัญญาณอันตรายล่าสุดซึ่งประเทศไทยต้องยกเครื่องปฏิรูปครั้งใหญ่ทันทีอย่างต่อเนื่องจริงจังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเช่นการปรับสมดุลระหว่างเศรษฐกิจในประเทศกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เร่งกระจายตลาดลดความเสี่ยงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนพร้อมกับเดินหน้าลดโลกร้อนมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี2050และในทางยุทธศาสตร์ต้องยึดอาเซียนเป็นศูนย์กลางนโยบายการต่างประเทศทั้งการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ“

อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปัจจุบันเป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงโอกาสของการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า “การค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็นสัดส่วน 3% ของตลาดการค้าโลกซึ่งมีมูลค่า24 ล้านล้านดอลลาร์โดยเมื่อปี 2024 มูลค่าการส่งออกนำเข้าของสหรัฐและจีนอยู่ที่ 582.4 พันล้านดอลลาร์ โดย สหรัฐส่งไปจีน 143.5 พันล้านดอลลสาร์ และจีนส่งไปสหรัฐ 438.9 พันล้านดอลลาร์ซึ่งองค์การการค้าโลก(WTO)มองว่าถ้าสงครามการค้ายังสู้กันด้วยการขึ้นภาษีทำให้2ชาติมหาอำนาจยุติการค้าขายกันแต่ตลาดโลกอีก97%ก็ยังค้าขายต่อไปได้ และนี่คือโอกาสในวิกฤตที่มองเห็นได้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการเมืองของทั้ง2มหาอำนาจและอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงลำดับต้นๆที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและนโยบายทรัมป์2.0

เสนอ”ทางออก ทางเลือก และทางรอด“

ทางด้านนายชยดิฐ หุตานุวัตร์ ประธานสถาบันทิวา และ ผู้อำนวยการ FKII  Thailand กล่าวว่า
”ไทยเสนอแนวทางใหม่ฝ่าวิกฤตโลก: การอยู่อย่าง ยั่งยืน ทางเลือกสู่อนาคตที่ ชีวิตดี สังคมดี โลกดี ท่ามกลางยุคที่โลกผันผวนจากสงครามการค้า วิกฤติพลังงาน ภูมิอากาศ และสังคมสูงวัย ประเทศไทยต้องเร่งหา “ทางออก ทางเลือก และทางรอด” โดยนำ 5 จุดเเข็งของประเทศไทย คือ 3F2H: Forest, Farm, Food, Health และ Hospitality มาเป็นแกนหลัก

เราเสนอแนวคิด Sustainable Longevity Living  โดยยึดหลักการ พึ่งพาตนเอง Self-Sustainable
และชู 3 แกนหลัก คือ Localization การใช้ทรัพยากรท้องถิ่น, Deurbanization การกระจายประชากรออกจากเมือง, และ Rural Revitalization การฟื้นฟูชนบท แนวคิดนี้ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่สร้าง “คุณภาพชีวิต” ที่แท้จริง Sustainable Longevity Living เป็นการผสมผสานเกษตรอินทรีย์  อาหารปลอดภัย การเรียนรู้ และชุมชนร่วมดูแลกัน เป็นทางรอดของคนรุ่นใหม่และผู้สูงวัย ในโลกที่ต้องการ “อยู่ดี” อย่างยั่งยืน ไทยสามารถเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและขับเคลื่อน แนวคิดใหม่ “ชีวิตดี สังคมดี โลกดี” ด้วยพลังจากรากหญ้า นี่ไม่ใช่เพียงการอยู่รอด แต่คือการสร้างอนาคตใหม่อย่างยั่งยืนร่วมกัน“ 

“3 ปมไทยอ่อนแอ
ไร้ยุทธศาสตร์-คอรัปชั่นฝังลึก-ศึกษาล้มเหลว”

นายเกษมสันต์ วีระกุล ประธานซีเอ็ดนักวิชาการอิสระ สื่อมวลชน ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
กล่าวว่า สงครามการค้าครั้งนี้จะจบลงเหมือนสงครามครั้งแรกที่จีนเป็นผู้ชนะ และเวียดนามจะเป็นผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดในอาเซียน ถึงแม้จะไม่มีสงครามการค้า เศรษฐกิจไทยก็อ่อนแออย่างมากอยู่แล้ว การเจริญเติบโตต่ำมาต่อเนื่องยาวนาน สาเหตุสำคัญคือการที่ไทยไร้ยุทธศาสตร์ คอร์รัปชันฝังรากลึกและระบบการศึกษาที่ล้มเหลว
ดังนั้นเพื่อที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศไทย และสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ เราควรทำ 3 เรื่องด้วยกันคือ
1.รื้อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วเขียนใหม่ให้เป็นยุทธศาสตร์แบบที่ประเทศที่เขาพัฒนาได้สำเร็จเขียนกัน เช่นสิงคโปร์
2.เร่งแก้ไขคอร์รัปชันด้วยการปราบ แบบเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสังคมอุปถัมภ์เช่นเดียวกับไทยแต่ก็ยังปราบคอร์รัปชันได้สำเร็จ
3.เร่งปฏิรูปการศึกษา โดยใช้ AI แบบ  Khanmigo ของ Khan Academy ซึ่งจะเปลี่ยนห้องเรียนแบบที่คนไทยคุ้นเคยให้เป็นห้องเรียนที่กลับหัวกลับหางหรือ flipped classroom ทำให้เกิดการเรียน Active Learning

“รัสเซีย โมเดล กับโอกาสของไทยในสงครามการค้า 2.0”

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน อดีตอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงปักกิ่งผู้เชี่ยวชาญด้านจีน
วิเคราะห์ว่าโอกาสหรือวิกฤติของไทยในสงครามการค้า 2.0ดังนี้
1. การท่องเที่ยว ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของประเทศไทยและสินค้า/บริการของไทยถดถอยลง จากเป็นบวกสู่มิติเชิงลบ ทำให้คฝนีกท่องเที่ยวจีนมาไทยลดลงเดือนละกว่า 1 หมื่นคนนับแต่ต้นปี แต่ไทยยังมีโอกาสอยู่มากในการกลับไปสู่จุดเดิมของนักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน โดยเราต้องรีแบรนด์ประเทศและสินค้า/บริการของไทยในสายตาของคนจีน ต้องยึดหลัก “สร้างข่าวบวก 3 ข่าวทุกครั้งที่มีข่าวเชิงลบ 1 ข่าว” นั่นหมายความว่า ไทยต้องลงทุนกับการสร้างคอนเท้นต์สำหรับตลาดจีน เรายังสามารถเรียนลัดจาก Russia Model ในการพัฒนาตลาดสินค้ารัสเซียในจีนผ่านออฟไลน์และออนไลน์
2. การค้า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สินค้าและบริการของไทยพัฒนาขีดความสามารถแข่งขันน้อยมาก ขณะที่สินค้าและบริการของจีนพัฒนาคุณภาพและแบรนด์อย่างต่อเนื่องจนทั้ง ”ถูกและดี“ ซึ่งหากเรามองในแง่ของการค้าทวิภาคี เราคงอยากลดการค้ากับจีนเพื่อลดการขาดดุลการค้า แต่เนื้อแท้แล้ว หากพิจารณาจากมุมมองของการค้าพหุภาคี การค้ากีบจีนอาจช่วยให้ไทยลดการขาดดุลการค้า เพราะเป็นการลดการนำเข้าโดยรวม สิ่งสำคัญก็คือ ไทยต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับระหว่างประเทศ
3. การลงทุนและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ผลจาก BRI, Made in China 2025 และสงครามการค้าและเทคโนโลยี การลงทุนของจีนในต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยก็เป็นประเทศจุดหมายปลายทางของการลงทุน ไทยจึงควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการศึกษา และระบบราขการ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายและการปราบปรามคอรัปชั่น ทั้งระบบนิเวศอย่างจริงจังเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม.

‘IO มากันไวมาก’ ฐปณีย์คอมเมนต์แซะกลางโซเชียล หลังโพสต์เรียกร้องเจรจาชายแดนใต้เจอกระแสตีกลับ-ครอบครัวเหยื่อระเบิดสวนเจ็บ ‘คุณไม่มีวันเข้าใจ’

(6 พ.ค. 68) ‘แยม’ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวชื่อดัง โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยสะท้อนเสียงจากทั้งพุทธและมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า ต่างเรียกร้องให้หยุดความรุนแรง และเห็นว่าการเจรจาเป็นแนวทางสันติวิธีเพื่อยุติการสูญเสีย พร้อมย้ำว่า “อย่าใช้ชีวิตประชาชนเป็นตัวประกัน หยุดการใช้อาวุธ กลับสู่โต๊ะเจรจา”

โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน จนคุณแยมต้องเข้ามาคอมเมนต์ว่า “IO มากันไวมาก” 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในคอมเมนต์ที่ได้รับการกดไลก์มากที่สุด มาจากภรรยาเจ้าหน้าที่ EOD ที่สูญเสียขาจากเหตุระเบิดในนราธิวาส ระบุว่า “ไม่ใช่ไอโอค่ะ...เจรจามากี่ครั้งแล้ว พอไม่พอใจก็ก่อเหตุอีก เค้าต้องการแบ่งแยก ไม่ได้ต้องการเจรจา...คุณไม่มีวันเข้าใจหรอกค่ะ” เป็นเสียงสะท้อนความเจ็บปวดจากผู้สูญเสียที่วิจารณ์กระบวนการเจรจาอย่างตรงไปตรงมา

BRN แถลงเสียใจ!! แต่ความรุนแรงยังต่อเนื่องสวนทางกับคำขอโทษ กลบไม่มิดความจริง…เมื่อคำว่า ‘ศักดิ์ศรี’ ถูกใช้เพื่อแลกกับชีวิตเด็ก พระ และครู

(6 พ.ค. 68) จากโพสต์ล่าสุดของเพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี ถึงเรื่อง “คำขอโทษที่ลอยอยู่เหนือซากศพ: ความจริงที่สวนทางกับคำแถลงของ BRN”

แม้ BRN หรือแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี จะออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ปาตานีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 พร้อมยืนยันว่า “ไม่มีนโยบายโจมตีพลเรือน” และอ้างว่ายึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ชายแดนใต้กลับตอกย้ำความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้—ว่าพลเรือนตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่องจากการกระทำที่มีลักษณะเป็นการมุ่งเป้าโดยตรงจากกลุ่มติดอาวุธที่อ้างชื่อ BRN เอง

ในเดือนเมษายน 2568 กลุ่มติดอาวุธได้ยิงถล่มรถที่พระภิกษุและสามเณรใช้บิณฑบาตในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ส่งผลให้สามเณรอายุ 16 ปีเสียชีวิต และเด็กชายวัย 12 ปีได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าการออกแถลงการณ์ และไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่ชีวิตของเยาวชนต้องดับสูญเพียงเพราะความรุนแรงที่กลุ่มติดอาวุธอ้างว่า “ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี”

ย้อนไปเมื่อปี 2560 ห้างบิ๊กซีในจังหวัดปัตตานีถูกโจมตีด้วยระเบิดสองลูก ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 56 ราย รวมถึงเด็กเล็ก ขณะที่ปี 2562 จุดตรวจในจังหวัดยะลาถูกลอบโจมตีด้วยอาวุธสงคราม ส่งผลให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครเสียชีวิตถึง 15 ราย—ล้วนเป็นบุคคลไร้อาวุธ ผู้ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในท้องถิ่น

ยิ่งไปกว่านั้น สถิติการสังหารครูในพื้นที่ภาคใต้ระหว่างปี 2547–2556 ระบุว่าครูอย่างน้อย 157 รายถูกสังหาร ไม่ใช่เพราะมีบทบาททางทหาร แต่เพียงเพราะทำหน้าที่ให้ความรู้เด็กๆ ในพื้นที่ที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย

ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้น คือมีรายงานว่าเด็กอายุ 14 ปีขึ้นไปถูกกลุ่มติดอาวุธเกณฑ์เข้าฝึกและใช้เป็นผู้สอดแนม นั่นย่อมขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับคำกล่าวอ้างเรื่อง “สิทธิมนุษยชน”

ในบริบทนี้ การที่ BRN ออกแถลงการณ์เสียใจภายหลังการสังหารเด็ก คนชรา หรือพระสงฆ์ แทนที่จะกล่าวถึงความรับผิดชอบหรือแสดงเจตจำนงที่จะยุติการใช้ความรุนแรง กลับยิ่งทำให้แถลงการณ์กลายเป็นเพียงคำพูดลอยๆ ที่ไม่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมแต่อย่างใด

เพราะการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีนั้น ต้องไม่แลกมาด้วยชีวิตของผู้บริสุทธิ์ และไม่ควรมีเด็กคนใดต้องโตมากับเสียงปืนเพื่อให้ใครบางคน “ได้สิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง”

หากการต่อสู้ของ BRN ยังคงดำเนินไปด้วยแนวทางเดิม แถลงการณ์ใดๆ ที่ตามมาจะเป็นเพียงฉากหน้าของการใช้กำลังที่ไร้ความชอบธรรม และจะไม่มีวันได้รับการยอมรับจากสังคมไทยหรือประชาคมโลกได้อย่างแท้จริง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top