Saturday, 10 May 2025
NewsFeed

‘ทรัมป์’ ขู่ขึ้นภาษีนำเข้าและคว่ำบาตร ‘เม็กซิโก’ ปมไม่แบ่งปันน้ำจาก ‘แม่น้ำริโอแกรนด์’ ให้เกษตรกรเท็กซัส

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ขู่ว่าจะใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าและการคว่ำบาตรต่อเม็กซิโก หากรัฐบาลเม็กซิโกยังคงไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องการแบ่งปันน้ำจากแม่น้ำริโอแกรนด์ ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1944

ทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน ระบุว่า “บรูก โรลลินส์ รัฐมนตรีเกษตรของผม กำลังยืนหยัดเพื่อเกษตรกรเท็กซัส และเราจะเดินหน้าบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ต่อไป ทั้งการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม และอาจรวมถึงการคว่ำบาตร จนกว่าเม็กซิโกจะเคารพสนธิสัญญา และส่งน้ำที่เป็นของเท็กซัสคืนมา”

ตามสนธิสัญญาปี 1944 เม็กซิโกมีพันธกรณีต้องส่งมอบน้ำจากแม่น้ำริโอแกรนด์ให้แก่สหรัฐฯ ประมาณ 1.75 ล้านเอเคอร์-ฟุต ภายในรอบระยะเวลา 5 ปี โดยผ่านระบบเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่เชื่อมต่อกันระหว่างสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทเรื่องน้ำระหว่างสองประเทศมีประวัติความตึงเครียดยาวนาน โดยเฉพาะในช่วงปี 2020 ซึ่งความขัดแย้งได้ปะทุจนกลายเป็นความรุนแรง เมื่อเกษตรกรชาวเม็กซิโกจำนวนมากเข้ายึดเขื่อนในพื้นที่ชายแดน เพื่อพยายามปิดกั้นการส่งน้ำไปยังสหรัฐอเมริกา

สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นและภัยแล้งที่ยาวนานทำให้ทรัพยากรน้ำขาดแคลน น้ำจากแม่น้ำที่ทั้งสองประเทศใช้ร่วมกันจึงกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าอย่างยิ่ง

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการเขตแดนระหว่างประเทศและน้ำ ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านน้ำระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ถึงเดือนตุลาคม 2024 เม็กซิโกสามารถจัดส่งน้ำได้เพียงประมาณ 400,000 เอเคอร์ฟุต ซึ่งต่ำกว่าระดับที่กำหนดในสนธิสัญญาอย่างมาก โดยยังขาดอยู่อีกกว่า 1.4 ล้านเอเคอร์ฟุต ส่งผลให้หนี้ค้างชำระสะสมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้านผู้นำเม็กซิโก ประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบาม ได้ตอบโต้ผ่านโพสต์บนเอ็กซ์ (X) ว่า เม็กซิโกยังคงพยายามปฏิบัติตามข้อผูกพันตามสนธิสัญญา “เท่าที่ทรัพยากรน้ำจะเอื้ออำนวย” และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเกษตรของเม็กซิโกเริ่มการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน

นักวิเคราะห์เตือนว่า หากไม่มีทางออกอย่างชัดเจน ความตึงเครียดเรื่องน้ำอาจกลายเป็นประเด็นทางการทูตที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในระยะยาว

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#5 'มติอ่าวตังเกี๋ย' ผลักสหรัฐฯ ก้าวเข้าสู่สงครามเวียตนามเต็มตัว

ก่อนการเข้าสู่สงครามเวียตนามแบบเต็มตัวนั้น สหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนเวียตนามใต้ด้วยการมอบอาวุธยุทโธปกรณ์และที่ปรึกษาทางทหารประจำกองทัพ เวียตนามใต้ราว 1,500 นาย และด้วยความรุนแรงในเวียตนามที่ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ประธานาธิบดี Kennedy ได้สั่งให้เพิ่มจำนวนที่ปรึกษาของสหรัฐฯ ประจำกองทัพเวียตนามใต้อีกกว่าสิบเท่าเป็น 16,000 นาย

วันที่ 31 กรกฎาคม 1964 เรือพิฆาต USS Maddox ได้เริ่มภารกิจรวบรวมข่าวกรองในอ่าวตังเกี๋ย โดยมีนาวาเอก George Stephen Morrison เป็นผู้บัญชากองกำลังอเมริกันในพื้นที่ดังกล่าวจากเรือธง USS Bon Homme Richard โดย USS Maddox อยู่ภายใต้คำสั่งไม่ให้เข้าใกล้ชายฝั่งทางเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือน้อยกว่า 4 ไมล์ จากเกาะ Hon Nieu Mê โดยมีเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ticonderoga ลอยลำอยู่ใกล้ ๆ วันที่ 1 สิงหาคม 1964 เรือลาดตระเวนของเวียตนามเหนือที่ติดตาม USS Maddox ซึ่งอยู่ในภารกิจลับเพื่อสนับสนุนการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (DESOTO) ใกล้น่านน้ำเวียตนามเหนือ และมีการรบกวนการสื่อสารของ USS Maddox หลายครั้งชี้ให้เห็นว่า เวียตนามเหนือกำลังเตรียมการที่จะโจมตี USS Maddox จึงถอยห่างออกมา แต่ในวันรุ่งขึ้น 2 สิงหาคม USS Maddox ซึ่งมีความเร็วสูงสุด 28 นอตกลับมาลาดตระเวนอีกครั้ง แต่มีเรือตอร์ปิโด P-4 ของ เวียตนามเหนือ 3 ลำ แล่นด้วยความเร็วสูงสุด 50 นอต ได้แสดงท่าทีที่เป็นการคุกคาม USS Maddox มีการก่อกวนการสื่อสารแสดงให้เห็นว่า เรือตอร์ปิโด P-4 ของ เวียตนามเหนือตั้งใจจะโจมตี USS Maddox เมื่อเรือเวียตนามเหนือแล่นมาจากทางตะวันตกเฉียงใต้ USS Maddox จึงเปลี่ยนเส้นทางจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มความเร็วเป็น 25 นอต 

ตอนบ่ายของวันที่ 2 สิงหาคม 1964 ขณะที่เรือตอร์ปิโดเข้ามาใกล้ USS Maddox ก็ยิงเตือนไป 3 นัด จากนั้นเรือ เวียตนามเหนือก็เปิดฉากโจมตี USS Maddox ได้ส่งสัญญาณวิทยุแจ้งว่า กำลังถูกโจมตีจากเรือ 3 ลำ ในระยะ 10 ไมล์ทะเล ขณะที่แล่นอยู่ห่าง 28 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งเวียตนามเหนือในน่านน้ำสากล USS Maddox แจ้งว่า กำลังหลบหลีกการโจมตีด้วยตอร์ปิโดและได้เปิดฉากยิงโต้ตอบด้วยปืน 5 นิ้ว (127 มม.) เพื่อบังคับให้เรือตอร์ปิโดถอยออกไป แต่มีเรือตอร์ปิโด 2 ลำแล่นเข้ามาใกล้ไม่ถึง 5 ไมล์ทะเล และปล่อยตอร์ปิโดลำละลูก ซึ่งไม่เป็นผลเพราะแต่ละลูกไม่เข้าใกล้ USS Maddox เกินกว่า 100 หลาเลย ขณะที่ USS Maddox กำลังหลบอยู่นั้น เรือเวียตนามเหนือลำหนึ่งถูกยิงด้วยปืน 5 นิ้วของ USS Maddox การปล่อยตอร์ปิโดเริ่มผิดพลาด เครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ F-8 4 ลำจากเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ticonderoga จากนั้น 15 นาทีหลังจาก USS Maddox ได้ยิงกระสุนเตือนก็เปิดฉากโจมตีเรือตอร์ปิโด P-4 ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯ อ้างว่า จมเรือตอร์ปิโด P-4 ได้หนึ่งลำ และเสียหายหนักอีกหนึ่งลำ และ USS Maddox ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยจากกระสุนขนาด 14.5 มม. จากปืนกลหนัก KPV ของเรือ P-4 เพียงนัดเดียวถูกตัวลำเรือ เมื่อกลับไปยังน่านน้ำเวียตนามใต้ USS Maddox ก็เข้าร่วมกับเรือพิฆาต USS Turner Joy ขณะที่ เวียตนามเหนืออ้างว่า USS Maddox ถูกยิงด้วยตอร์ปิโดหนึ่งลูก และมีเครื่องบินรบอเมริกันถูกยิงตก

การโจมตีระลอกที่ 2 ในวันที่ 4 สิงหาคม  1964 หน่วยลาดตระเวนตามภารกิจ DESOTO ลาดตระเวนนอกชายฝั่ง เวียตนามเหนือ โดย USS Maddox และ USS Turner Joy เพื่อ ทำการ "อวดธง" หลังจากเหตุการณ์โจมตีครั้งแรก คราวนี้มีคำสั่งให้เรือจะไม่เข้าใกล้เกินกว่า 11 ไมล์จากชายฝั่งของ เวียตนามเหนือ ในช่วงเย็นและเช้าตรู่ของสภาพอากาศที่รุนแรงและทะเลหนัก เรือพิฆาตได้รับสัญญาณเรดาร์ โซนาร์ และสัญญาณวิทยุที่เชื่อว่า เป็นการส่งสัญญาณเพื่อโจมตีอีกครั้งโดยกองเรือของเวียตนามเหนือ เป็นเวลา 4 ชั่วโมงที่เรือรบสหรัฐฯ ทั้งสองลำยิงไปยังเป้าหมายที่ปรากฏบนเรดาร์ และการรบดำเนินไปอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตามกองทัพเรือสหรัฐฯ อ้างว่า ได้จมเรือตอร์ปิโดโจมตีได้ 2 ลำ แต่ไม่ปรากฏซากปรักหักพัง และร่างลูกเรือ เวียตนามเหนือที่เสียชีวิต หรือหลักฐานทางกายภาพอื่น ๆ ในที่เกิดเหตุการสู้รบที่ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด 

ภายใน 30 นาทีหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคมประธานาธิบดี Johnson ตัดสินใจโจมตีตอบโต้ (ตามปฏิบัติการ "Operation Pierce Arrow") ในวันเดียวกันนั้นเองประธานาธิบดี Johnson มีการใช้ "สายด่วน" (Hot Line) คุยกับกรุงมอสโก และได้รับคำรับรองว่าโซเวียตไม่มีเจตนาในการขยายสงครามในเวียตนามให้รุนแรงขึ้น ดังนั้นเช้าวันที่ 5 สิงหาคม 1964 ประธานาธิบดี Johnson ได้มีการปราศรัยต่อสาธารณชนเอเมริกันเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้โดยระบุว่า "ความมุ่งมั่นของชาวอเมริกันทุกคนที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เรามีต่อประชาชนและรัฐบาล เวียตนามใต้จะทวีความรุนแรงขึ้น" ในวันที่ 5 สิงหาคม เวลา 10:40 น. หนึ่งชั่วโมงสี่สิบนาทีหลังจากการปราศรัยของประธานาธิบดี Johnson เครื่องบินรบของสหรัฐฯ ก็ไปถึงเป้าหมายใน เวียตนามเหนือ เครื่องบินทิ้งระเบิดฐานทัพเรือ 4 แห่ง และคลังน้ำมันในเมือง Vinh

หลังจากนั้น รัฐสภาอเมริกันได้ทำการออก "มติอ่าวตังเกี๋ย" (Gulf of Tonkin Resolution) อันมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในเวลาต่อมาโดยเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งกำลังทหารสหรัฐฯ เข้าไปใน เวียตนามใต้ เพราะมติดังกล่าวมอบอำนาจแก่ ประธานาธิบดี Johnson ให้ใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ต้องรอมติการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการจากรัฐสภาเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มติดังกล่าวมอบอำนาจแก่ประธานาธิบดีในการกระทำการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุน "สมาชิกหรือรัฐภาคีใด ๆ ของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (SEATO) ซึ่งรวมไปถึงการใช้กำลังทหารด้วย มติดังกล่าวได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในสภาผู้แทนราษฎร ต่อมารัฐบาลของประธานาธิบดี Johnson อาศัยอำนาจตามมติดังกล่าวเริ่มต้นการยกระดับความเกี่ยวข้องทางทหารของสหรัฐใน เวียตนามใต้ และเป็นการทำสงครามโดยเปิดเผยระหว่างเวียตนามเหนือกับสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งสหรัฐฯ ถอนทหารจาก เวียตนามใต้ใน ปี 1973 ตามข้อตกลงสันติภาพปารีส 1973 (ลงนามเมื่อ 27 มกราคม 1973) เชลยศึกอเมริกันได้รับการปล่อยตัวโดยเวียตนามเหนือเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ และกำลังทหารอเมริกันถอนออกจากเวียตนามใต้ในวันที่ 29 มีนาคมในปีเดียวกัน 

ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) เกี่ยวกับเหตุการณ์การรบทางเรือที่อ่าวตังเกี๋ย ปี 1964 โดย John White อดีตนายทหารเรือได้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการ New Haven (CT) Register ในปี 1967 ว่า "ผมขอยืนยันว่าประธานาธิบดี Johnson รัฐมนตรีกลาโหม McNamara และประธานเสนาธิการร่วมได้ให้ข้อมูลเท็จแก่รัฐสภา ในรายงานของพวกเราเกี่ยวกับเรือพิฆาตสหรัฐฯ ซึ่งถูกโจมตีในอ่าวตังเกี๋ย" ต่อมาในปี 1968 White ได้เดินทางมามาวอชิงตันเพื่อพบกับวุฒิสมาชิก Fulbright เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกังวลของเขาโดยเฉพาะรายงานความผิดพลาดของโซนาร์ ต่อมาในปี 1981 นาวาเอก Herrick และ Robert Scheer นักข่าวตรวจสอบบันทึกปูมเรือของ Herrick อีกครั้ง เพื่อหาความจริงในการถูกยิงด้วยตอร์ปิโดจากรายงานครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 1964 ซึ่ง Herrick ได้ระบุว่า "เกิดการโจมตี" ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีมูลความจริง บทความในปี 1981 ของ Herrick และ Scheer สรุปความไม่ถูกต้องของรารยงานครั้งแรกซึ่งแสดงว่า ไม่มีการโจมตีโดยเรือรบของเวียตนามเหนือในขณะนั้น แต่ผบ.และลูกเรือของ USS Maddox ทั้งหมดกล่าวว่า พวกเขามั่นใจว่ามีการโจมตีเกิดขึ้น เป็นผลให้มีการโจมตีฐานทัพเรือของเวียตนามเหนือ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านเชื้อเพลิงในระหว่างปฏิบัติการ Operation Pierce Arrow 

พลเรือตรี James Stockdale อดีตเชลยศึกใน เวียตนามเหนือ ผู้เป็นหนึ่งในนักบินของสหรัฐฯ ที่บินโจมตีในระลอกที่สอง เขียนไว้ในหนังสือ Love and War ปี 1984 ว่า "ผมอยู่ในที่นั่งที่ดีที่สุดเพื่อดูเหตุการณ์นั้น เรือพิฆาตของเราก็ยิงไปที่เป้าหมายผี เพราะไม่มีเรือ P-4 ที่นั่น ไม่มีอะไรที่นั่นเลย ทะเลที่มืดสนิทสว่างไปด้วยอำนาจการยิงของเรือรบอเมริกัน" โดย Stockdale ระบุอีกครั้งว่า “เห็น USS Turner Joy เล็งปืนไปยัง USS Maddox” Stockdale กล่าวว่า “เขาถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ปกปิดเรื่องนี้” หลังจากที่ถูกยิงตก กลายเป็นเชลยศึกในเวียตนามเหนือ เรื่องนี้กลายเป็นภาระหนัก เขาได้กล่าวในภายหลังว่า เขากังวลว่าผู้ที่จับกุมจะบังคับให้เขาเปิดเผยสิ่งที่เขารู้เกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีในระลอกที่ 2 

ปี 1995 Võ Nguyên Giáp อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของเวียดนามได้พบกับอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ McNamara โดย Võ Nguyên Giáp ปฏิเสธว่า เรือรบเวียตนามเหนือไม่ได้โจมตีเรือพิฆาตอเมริกันในวันที่ 4 สิงหาคม 1964 ในขณะที่ยอมรับการโจมตีในวันที่ 2 สิงหาคม เทปการสนทนาของการประชุมหลายสัปดาห์หลังจากมติอ่าวตังเกี๋ย ถูกเผยแพร่เมื่อ ปี 2001 แสดงว่า McNamara ได้อธิบายข้อสงสัยให้กับประธานาธิบดี Johnson ว่า มีการโจมตีเรือรบอเมริกันเกิดขึ้น ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1999 Eugene Poteat อดีตเจ้าหน้าที่ CIA เขียนว่า เขาถูกถามในต้นเดือนสิงหาคม 1964 เพื่อตรวจสอบรายงานของเจ้าหน้าที่เรดาร์แสดงถึง การโจมตีของเรือตอร์ปิโดเวียตนามเหนือว่า เป็นจริงหรือเป็นการจินตนาการ เขาได้ขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวลาสภาพอากาศและสภาพผิวน้ำ แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด ในท้ายที่สุดเขาได้สรุปว่า ไม่มีเรือตอร์ปิโดในคืนที่สงสัย และทำเนียบขาวให้ความสนใจในการยืนยันว่า "มีการโจมตี ไม่ใช่ ไม่มีการโจมตี "

ในเดือนตุลาคม 2012 พลเรือตรี Lloyd "Joe" Vasey (เกษียณ) ถูกสัมภาษณ์โดย David Day ใน Asia Review และได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม พลเรือตรี Vasey ซึ่งอยู่บนเรือ USS Oklahoma City เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธชั้น Galveston ซึ่งแล่นอยู่ในอ่าวตังเกี๋ยด้วย และเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 โดย USS Turner Joy ทำการส่งสัญญาณวิทยุรบกวนวิทยุสื่อสารของเวียตนามเหนือ ซึ่งสั่งการให้เรือตอร์ปิโดเปิดฉากโจมตี USS Turner Joy และ USS Maddox หลังจากนั้นไม่นานเรดาร์ได้รับ "หลายรายสัญญาณความเร็วสูง" ถูกล็อกและบันทึกโดย USS Turner Joy ซึ่งได้ยิงทำลายเป้าหมายที่ล็อกได้ โดยมีพยาน 18 นายทั้งลูกเรือและนายทหารซึ่งรายงานทุกแง่มุมในการโจมตี อาทิ ควันจากเรือตอร์ปิโดที่ถูกยิง (รายงานโดยบุคคลที่แยกกัน 4 นาย บนเรือพิฆาตแยกลำสอบสวน) การพบเห็นเรือตอร์ปิโดที่แล่นผ่าน ตลอดจนแสงไฟต่าง ๆ พยานทั้ง 18 นายเป็นพยานในการพิจารณาคดีที่เมืองโอลองกาโป ประเทศฟิลิปปินส์ โดยคำให้การของพวกเขาถูกจัดเก็บเป็นบันทึกสาธารณะ ในปี 2014 ซึ่งครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น John White ได้เขียน เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย – ห้าสิบปีต่อมา : เชิงอรรถเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสงคราม เวียตนาม ได้สรุปยืนยันว่า รายงานโซนาร์ของ USS Maddox ทำงานผิดพลาด โดยที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี Johnson เองก็รับรู้ ดังนั้น เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยตามเรื่องนี้จะ ถูก ผิด เท็จ จริง เป็นเช่นไรนั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาค้นคว้าหาความจริงกันต่อไป แต่สิ่งที่เรียกคืนไม่ได้ก็คือ ชีวิตของมนุษยชาติหลายล้านคนที่สูญสิ้นไปด้วยผลของสงครามที่เกิดจากเหตุการณ์นี้

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

เศรษฐกิจในยุค 'ทรัมป์' ป่วนโลก

‘ดร.อมรเทพ จาวะลา’ แนะแนวทางการรับมือเศรษฐกิจยุค ‘ทรัมป์’ ป่วนโลก พร้อมคู่มืออยู่รอด มีอะไรต้องเตรียมพร้อมบ้างไปดูกัน 

‘ดร.ไชยันต์’ โยนโจทย์ถึง ‘ดันแคน แมคคาร์โก’ กับแนวคิด 'เครือข่ายกษัตริย์' ขอคำอธิบายและการประยุกต์ใช้ หลัง ‘พอล แชมเบอร์’ - นักวิชาการไทย นำไปอ้างอิง

ศาสตราจารย์ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ต่อกรณี งานของ ดร พอล แชมเบอร์ และนักวิชาการไทยท่านอื่นๆที่ชอบใช้กรอบแนวคิดเรื่อง Network Monarchy (เครือข่ายกษัตริย์/NM) ในการวิเคราะห์การเมืองไทย

1. อยากให้ ศาสตราจารย์ Duncan McCargo (เจ้าของ NM). ช่วยอธิบายความหมายและการประยุกต์ใช้ กรอบแนวคิด Network Monarchy (NM)หน่อยครับ (ท่านอาจารย์ดันแคนอ่านภาษาไทยได้)

2 เพราะผมได้ไปอ่านบทความที่เขียนวิพากษ์ NM ของอาจารย์ดันแคนมา พบว่า 
“แม้ว่าแนวคิด ‘เครือข่ายกษัตริย์’ ที่มีอิทธิพลของดันแคน แมคคาร์โกจะถูกอ้างถึงบ่อยครั้งในวรรณกรรมเกี่ยวกับการเมืองไทยในช่วงไม่นานมานี้ 
แต่ก็ยังมีการพัฒนาไม่เพียงพอ”

ด้วยเหตุนี้ แนวคิดนี้จึงถูกตั้งคำถามและท้าทายโดยนักวิชาการหลายคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

ในบทความ Pacific Affairs ของเขาในปี 2021 แมคคาร์โกได้โต้แย้งข้อโต้แย้งของนักวิชาการเหล่านี้หลายคนและปกป้องแนวคิดของเขา 
อย่างไรก็ตาม การปกป้องของเขานั้นไม่น่าเชื่อถือ 

เนื่องจากไม่ได้ขยายความถึงขอบเขต องค์ประกอบ และรูปแบบการดำเนินงานของเครือข่ายกษัตริย์ ทำให้ข้อบกพร่องของแนวคิดดั้งเดิมของเขายังไม่ได้รับการแก้ไข 

ที่สำคัญที่สุด ตอนนี้แมคคาร์โกเน้นย้ำถึงคุณสมบัติ 'ที่คลุมเครือ' ของเครือข่ายกษัตริย์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เขาไม่ได้เน้นในตอนแรก เพื่อรองรับความผิดปกติเชิงประจักษ์ใหม่ๆ และโต้แย้งกับผู้วิจารณ์ของเขา การทำเช่นนี้ทำให้ข้อโต้แย้งของเขาไม่สามารถหักล้างได้ 

บทความนี้ใช้แนวคิดของ Robert Cribb เป็นพื้นฐาน เพื่ออธิบายว่าทำไมแนวคิดเครือข่ายกษัตริย์ซึ่งพัฒนาไม่เพียงพอจึงแพร่หลายไปทั่วในตอนแรก”

(ส่วนหนึ่งจาก Nishizaki, Yoshinori, “ ‘Ambitious’ Network Monarchy as Problematic Euphoric Couplet,” September 2023Pacific Affairs 96(3):553-568.)

ปล.
ท่านอาจารย์ดันแคนเพิ่งมาสัมภาษณ์ผมไม่นานมานี้ ผมเลยถามท่านว่า “อาจารย์คิดว่า อย่างตัวผมนี่ อยู่ใน Network Monarchy ไหมครับ และเพราะอะไร ?”
ท่านตอบครับ
อยากให้ผู้อ่านลองเดาว่า ท่านตอบอย่างไร

ททท. เผย ‘สงกรานต์ 2568’ นักท่องเที่ยวทะลุ 4.8 ล้านคน ปักหมุด ‘กรุงเทพฯ’ ครองใจตลอดกาล เมืองรอง ‘ชุมพร-เลย’ ฮอตไม่แพ้เมืองหลัก

(13 เม.ย. 68) เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ยังคงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและการกลับมารวมตัวของครอบครัวคนไทยทั่วประเทศ โดยถือเป็น 'วันขึ้นปีใหม่ไทย' ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดประเพณีหนึ่ง 

โดยข้อมูลล่าสุดจาก ทราเวลโลก้า (Traveloka) เผยให้เห็นว่า กรุงเทพมหานครยังคงครองแชมป์จุดหมายปลายทางยอดนิยมตลอดกาล สำหรับนักเดินทางชาวไทยและต่างชาติ แสดงให้เห็นถึงบทบาทของเมืองหลวงในฐานะ ศูนย์กลางแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์

ขณะเดียวกัน เทรนด์การท่องเที่ยวของชาวไทยเริ่มเปลี่ยนไป โดยเริ่มให้ความสนใจกับจุดหมายปลายทาง 'นอกกระแส' มากขึ้น เช่น ชุมพร นครพนม และเลย ซึ่งกำลังกลายเป็นดาวรุ่งในหมู่นักท่องเที่ยวที่มองหาประสบการณ์ท้องถิ่นแท้ ๆ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่า สงกรานต์ปี 2568 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกว่า 26,564 ล้านบาท แบ่งเป็น 7,324 ล้านบาทจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 19,240 ล้านบาทจากการท่องเที่ยวในประเทศ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวรวมกว่า 4.8 ล้านคน

Traveloka เปิดโผจุดหมายสงกรานต์ยอดนิยมในปีนี้ ได้แก่ 

1. กรุงเทพฯ เตรียมจัดงานสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ อาทิ Siam Songkran Music Festival (11-14 เม.ย.) และ Water Festival มหาสงกรานต์ มหาสนุก (12-15 เม.ย.) ใน 12 พื้นที่ทั่วเมือง 
2.เชียงใหม่ ผสานวัฒนธรรมล้านนาเข้ากับกิจกรรมสุดมัน เช่น Water War Chiang Mai (13 เม.ย.) 
3. ชลบุรี งาน 'วันไหล' ระหว่างวันที่ 6–20 เม.ย. มอบประสบการณ์สงกรานต์ยาวนาน 
4. ภูเก็ต ร่วมสาดน้ำริมชายหาด พร้อมปาร์ตี้ค่ำคืนที่บางลา และกิจกรรมทำบุญที่เมืองเก่า 
5. หาดใหญ่ สงกรานต์สุดคึกคักที่เซ็นทรัลเฟสติวัลและลีการ์เด้นส์ พลาซ่า พร้อมคอนเสิร์ต ขบวนแห่ และกิจกรรมชุ่มฉ่ำ

ส่วนจุดหมายดาวรุ่งมาแรง ที่นักเดินทางรุ่นใหม่แห่ค้นหาความสงบและวัฒนธรรม อิงข้อมูลจากทราเวลโลก้าเผยว่า การค้นหาเมืองรองอย่าง ชุมพร เพิ่มขึ้น 95% นครพนม (+68%) สกลนคร (+53%) เลย (+46%) และน่าน (+40%)

นอกจากนี้ ตัวเลือกที่พักในช่วงสงกรานต์ก็หลากหลายมากขึ้น ทั้งโรงแรมระดับพรีเมียม รีสอร์ท โฮสเทล ไปจนถึงอพาร์ตเมนต์เช่าระยะยาว เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม

ซีซาร์ อินทรา ประธานบริษัททราเวลโลก้า กล่าวถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยวว่า “นักท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันมองหาประสบการณ์ที่ผสมผสานระหว่างประเพณีและการพักผ่อนที่ยืดหยุ่น พร้อมความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

สถาปัตยกรรมแห่งโรงเบียร์ Carlsberg กับคำ “จงทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด” สะท้อนภาพทั้งไทย - เดนมาร์ก ยังต้องการคนทำงานที่รักชาติรักแผ่นดิน

กลางเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มีสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นแห่งหนึ่งที่ไม่ใช่พระราชวังหรือมหาวิทยาลัยเก่าแก่ หากแต่เป็น 'ประตูช้าง' ของโรงเบียร์ Carlsberg ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1901 รูปปั้นช้างหินทั้งสี่ตัวแบกเสาหินขนาดใหญ่ไว้บนหลัง ด้วยสายตาที่สงบนิ่งแต่ทรงพลัง เปรียบเสมือนผู้พิทักษ์เงียบแห่งอุตสาหกรรมเบียร์ที่เคยรุ่งเรืองที่สุดในยุโรป

บนซุ้มด้านบนของประตู มีอักษรละตินสลักไว้ว่า “Laboremus pro Patria” แปลว่า
“จงทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด”

คำเพียงไม่กี่คำนี้ กลายเป็นหัวใจของบทเรียนทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างสยามกับเดนมาร์กได้อย่างแนบแน่น

ย้อนกลับไปในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1934 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้เสด็จเยือน Carlsberg อย่างเป็นทางการ นับเป็นหนึ่งในหมุดหมายของความสัมพันธ์ทางการทูตและวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งระหว่างสองราชวงศ์ Carlsberg ถึงกับผลิตเบียร์พิเศษที่มีชื่อว่า Royal Siam Lager พร้อมสัญลักษณ์ตราครุฑ ธงช้างเผือก และธงชาติเดนมาร์ก เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จครั้งนั้น

สิ่งที่น่าประทับใจคือ การที่สัญลักษณ์ 'ช้าง' ปรากฏทั้งในฝั่งไทยและเดนมาร์กโดยมิได้นัดหมาย ในสยาม ช้างคือสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และอำนาจอันชอบธรรม ขณะที่ในเดนมาร์ก ช้างทั้งสี่ตัวคือภาพแทนของพลัง ความมั่นคง และความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง

คำว่า “จงทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด” ที่ถูกสลักไว้อย่างมั่นคงบนประตูแห่งนี้ มิใช่เพียงถ้อยคำปลุกใจในยุคอุตสาหกรรม หากยังเป็นหลักคิดอันทรงพลังที่ส่งผ่านมายังผู้คนในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในยุคที่โลกหมุนเร็ว ความรักชาติไม่ควรเป็นแค่คำพูด หรือสัญลักษณ์ แต่ควรเป็นการลงมือทำ—ในสิ่งเล็กที่สุดแต่เต็มไปด้วยความหมาย

ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใด ศาสนาใด หรือแผ่นดินใด คำว่า “ทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด” ย่อมไม่สิ้นความหมาย หากยังมีผู้ศรัทธาว่าการลงมือทำ ด้วยความซื่อสัตย์และมุ่งมั่น คือการตอบแทนบ้านเกิดด้วยมือของเราเอง

บางที... ช้างหินที่นิ่งเงียบเหล่านั้น อาจไม่ได้เป็นแค่ประติมากรรมเพื่อการเฉลิมฉลอง หากแต่เป็นคำเตือนใจอันมั่นคง ว่าแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่แผ่นดินยังคงต้องการคนทำงานรักชาติรักแผ่นดิน

‘สรรเพชญ’ ชี้ เหตุตึกสตง. ถล่ม เป็นบทเรียนราคาแพง ลั่น การใช้งบประมาณ ต้องคุ้มค่า - ปลอดภัย

เมื่อวันที่ (10 เม.ย.68) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ในฐานะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีวาระสำคัญในการติดตามความคืบหน้าและตรวจสอบการใช้งบประมาณในโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ที่เกิดเหตุพังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568

การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน อาทิ ผู้แทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายกสภาวิศวกร นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

นายสรรเพชญ ระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า 'ความคุ้มค่า' จากการใช้งบประมาณ ต้องไม่ละเลย 'ความปลอดภัย' ในทุกขั้นตอนของกระบวนการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การควบคุมมาตรฐานทางวิศวกรรม การตรวจสอบคุณภาพวัสดุ การควบคุมผู้รับจ้าง รวมถึงการบริหารจัดการโครงการโดยรวม ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อความมั่นคงของโครงสร้างและความปลอดภัยของประชาชน

“บทเรียนจากการใช้งบประมาณครั้งนี้ คือเสียงเตือนสำคัญถึงทุกภาคส่วนว่า ความคุ้มค่าและความปลอดภัย ต้องเดินเคียงข้างกันเสมอ ตนในฐานะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่าจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และผลักดันให้เกิดการปรับปรุงแนวทางการบริหารโครงการภาครัฐในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับทั้งประสิทธิภาพของงบประมาณและมาตรการความปลอดภัยอย่างแท้จริง” นายสรรเพชญกล่าว

‘ร้านอาหารจีน’ ขึ้นป้ายเก็บ ‘ค่าบริการ 104%’ ลูกค้าอเมริกัน ลั่น หากมีปัญหากรุณากลับไปถามสถานทูตสหรัฐฯ

ร้านเด็ดแดนมังกรขึ้นป้ายสุดปั่น! เก็บ 'ค่าบริการ 104%' สำหรับลูกค้าอเมริกัน — งงให้ไปถามสถานทูตเอง

งานนี้เรียกว่าเผ็ดไม่แพ้หมาล่า เมื่อร้านอาหารแห่งหนึ่งในจีนติดป้ายประกาศกลางร้านแบบไม่แคร์ลุงแซมว่า “ตั้งแต่วันนี้ ทางร้านจะคิดค่าบริการ 104% สำหรับลูกค้าสัญชาติอเมริกัน หากมีข้อสงสัย กรุณาสอบถามสถานทูตสหรัฐฯ”

แค่เห็นตัวเลขก็สะดุ้งแล้ว ค่าบริการแรงกว่าราคากับข้าว! ชาวเน็ตจีนพากันแชร์ภาพนี้รัว ๆ บ้างก็แซวว่า “ถ้าเป็นอเมริกันจริงๆ คงต้องพกนักการทูตมาด้วย” ขณะที่ฝั่งต่างชาติบางคนถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก ถามว่า “นี่ล้อเล่นหรือจริง?”

ถึงแม้จะยังไม่ชัวร์ว่าร้านนี้อยู่เมืองไหน แต่ดูจากสไตล์ร้านแล้วน่าจะเป็นร้านหม้อไฟหรือร้านแนวสตรีทฟู้ดยอดนิยมในเมืองใหญ่ของจีน แถมการตั้งราคานี้ก็สะท้อนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับบรรยากาศทางการเมืองระหว่างสองประเทศได้แบบแสบ ๆ คัน ๆ

ใครจะกินก็คิดดี ๆ ล่ะครับ ถ้าเกิดถือพาสปอร์ตอเมริกันขึ้นมา อาจจะได้กินหม้อไฟหมื่นหยวนไม่รู้ตัว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top