Saturday, 10 May 2025
NewsFeed

หมู่เรือลาดตระเวนร่วมไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 51 รับการตรวจเยี่ยมและเลี้ยงรับรองบนเรือหลวงนเรศวร ณ เกาะฟูก๊วก ประเทศเวียดนาม

หลังจากที่หมู่เรือลาดตระเวนร่วมระหว่างกองทัพเรือและกองทัพเรือเวียดนาม ทำการลาดตระเวนร่วมกัน ซึ่งเป็นครั้งที่ 51 ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลระหว่างสองประเทศ ในโอกาสนี้ พลเรือโท อาภา ชพานนท์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ได้เดินทางตรวจเยี่ยมหมู่เรือลาดตระเวนร่วมฯ เรือหลวงนเรศวร ซึ่งจอดทอดสมอ ณ บริเวณเกาะฟูก๊วกพร้อมทั้งได้กล่าวชื่นชมกำลังพลทุกนายที่การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในการเป็นตัวแทนของกองทัพเรือในครั้งนี้ และได้จัดงานเลี้ยงรับรองกำลังพลจากกองทัพเรือเวียดนามบนเรือหลวงนเรศวร โดยผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ให้การต้อนรับพร้อมด้วยกำลังพลเรือหลวงนเรศวร และนักเรียนจ่าทหารเรือ ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

ภายในงานได้มีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย อาทิ การแสดงมวยไทย และการแสดงดนตรีโดยวงดนตรีนักเรียนจ่าทหารเรือ เพื่อเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ไทย และสร้างความประทับใจให้กับมิตรประเทศ

จากการปฏิบัตินับได้ว่าสำเร็จตามเป้าหมายในการกระชับความสัมพันธ์ไมตรี เสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ตลอดจนเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างกองทัพเรือไทยและเวียดนามอย่างยั่งยืน

ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์ 7 เส้นทาง ห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินรถในช่วงเทศกาลสงกรานต์

(9 เม.ย.68) พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ด้วยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2568 มีวันหยุดราชการต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 12 - 16 เมษายน 2568 รวม 5 วัน เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร จึงจำเป็นต้องมีการออกประกาศข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร ว่าด้วยการกำหนดห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินรถในถนนบางสาย เพื่อให้เหมาะสมกับการจัดการจราจรในถนนบางสายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 11 - 13 เมษายน 2568 และ 15 - 17 เมษายน 2568 ใน 7 เส้นทาง ดังนี้

1. ถนนมิตรภาพ ทับกวาง-สีคิ้ว (ทล.2) ตั้งแต่ กม. 15+600 ถึง กม. 102 : ทับกวาง จ.สระบุรี - สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ระยะทาง 87 กิโลเมตร 

2. ถนนกบินทร์บุรี - ปักธงชัย (ทล.304) ตั้งแต่ กม.165 ถึง กม.222 : กบินทร์บุรี - วังน้ำเขียว ระยะทาง 57 กิโลเมตร 

3. ถนนบุรีรัมย์ - อรัญประเทศ บายพาสเสาไห้ (ทล.348) ตั้งแต่ กม.71 ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ถึง กม.83 ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 12 กิโลเมตร

4. ถนนพหลโยธิน เข้าเมืองนครสวรรค์ (ทล.1) ตั้งแต่ กม.332 ถึง กม.347 : กลางแดด - นครสวรรค์ตก จ.นครสวรรค์ ระยะทาง 15 กิโลเมตร 

5. ถนนรังสิโยทัย ปากน้ำโพ - บางม่วง (ทล.117) ตั้งแต่ กม.0+000 ถึง กม.7 : ปากน้ำโพ - บางม่วง จ.นครสวรรค์ ระยะทาง 7 กิโลเมตร 

6. ถนนพหลโยธิน เข้าเมืองสระบุรี (ทล.1) ตั้งแต่ กม.99+800 ถึง กม.106+150 : หนองยาว จ.สระบุรี ระยะทาง 7 กิโลเมตร 

7. ถนนพระรามที่ 2 (ทล.35) ตั้งแต่ กม.15+000 ถึง กม.53+000 : บางน้ำจืด - นาโคก อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 38 กิโลเมตร

สำหรับกรณีจำเป็นต้องเดินรถ ต้องมีการขออนุญาต ดังนี้
- กรณีใช้เส้นทาง 1. ถนนมิตรภาพ ทับกวาง-สีคิ้ว (ทล.2) , 2. ถนนกบินทร์บุรี - ปักธงชัย (ทล.304) และ 3. ถนนบุรีรัมย์ - อรัญประเทศ บายพาสเสาไห้ (ทล.348) ขออนุญาตกับกองบังคับการตำรวจทางหลวง

- กรณีใช้เส้นทาง 4. ถนนพหลโยธิน เข้าเมืองนครสวรรค์ (ทล. 1) และ 5. ถนนรังสิโยทัย ปากน้ำโพ - บางม่วง (ทล.1 17) จ.นครสวรรค์ ให้ขออนุญาตกับตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ 
 
กรณีใช้เส้นทาง 6. ถนนพหลโยธิน เข้าเมืองสระบุรี (ทล.1) ให้ขออนุญาตกับตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี 

กรณีใช้เส้นทาง 7. ถนนพระรามที่ 2 (ทล.35) ให้ขออนุญาตกับตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร

ด้าน พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการศึกษา/หัวหน้าคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์ตำรวจจราจร ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรดังกล่าว เพื่อเป็นการเปิดทางให้กับพี่น้องประชาชนที่ต้องเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีประชาชนใช้รถใช้ถนน เดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อลดการเกิดปัญหาด้านการจราจร และลดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น จึงขอให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ขับรถบรรทุก ได้เตรียมการวางแผนการเดินทางล่วงหน้าเพื่อไม่ให้กระทบกับการขนส่งสินค้าต่างๆ รวมถึงของดเว้นการจอดรถในไหล่ทางบนถนนสาธารณะ ซึ่งอาจเป็นที่มาของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงของผู้ขับรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ มาชนท้ายรถบรรทุกของที่จอดอยู่บริเวณไหล่ทางบนผิวการจราจร

ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กองบังคับการตำรวจทางหลวง www.hwpdth.com และหากพี่น้องประชาชนต้องการสอบถามเส้นทางการจราจร หรือขอความช่วยเหลือ สามารถโทรได้ที่สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 และสายด่วนกองบังคับการตำรวจทางหลวง 1193 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

‘ปีเตอร์ นาวาร์โร’ ที่ปรึกษาทรัมป์ ปัดตกข้อเสนอของเวียดนาม แม้ยื่นลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% ก็ยังไม่พอ แนะต้องแก้ที่ ‘กลโกงทางการค้า’

(9 เม.ย. 68) ความพยายามของเวียดนามในการเสนอให้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 46% จากรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนจะไม่เป็นผล 

เมื่อปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าของทำเนียบขาว ออกมาตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า ข้อเสนอของเวียดนาม “ไม่มีความหมายอะไรเลย”

ความคิดเห็นของนาวาร์โรมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เปิดเผยผ่านโพสต์ในแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่า โต เลิม เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ได้เสนอให้เวียดนามลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีใหม่จากสหรัฐฯ

ต่อมาในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อวันจันทร์ นาวาร์โรไม่เพียงแค่ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว แต่ยังกล่าวหาว่าเวียดนามใช้ “กลโกงทางการค้า” หลายรูปแบบ เช่น การเปิดช่องให้จีนหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรโดยส่งสินค้าผ่านเวียดนาม การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้า

“ดูอย่างเวียดนาม เมื่อพวกเขาเสนอจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันทั้งหมด สำหรับเราแล้วข้อเสนอนี้ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง” นาวาร์โรกล่าวอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเสริมว่า “ทุกประเทศโกงเรา แค่วิธีต่างกันเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม นาวาร์โรได้ “ปรับน้ำเสียง” เล็กน้อยในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ โดยยอมรับว่าข้อเสนอของเวียดนามอาจถือเป็น “การเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ” แต่ยังห่างไกลจากการสร้างความน่าเชื่อถือหรือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นอุปสรรคในการค้าระหว่างสองประเทศ

คำให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ตอกย้ำแนวทางการค้าที่แข็งกร้าวของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งยังคงมุ่งเน้นการกดดันประเทศคู่ค้าให้ลดความไม่สมดุลทางการค้า และเตือนเวียดนามว่าการยื่นข้อเสนอเพียงผิวเผินอาจไม่เพียงพอในการหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีที่เข้มงวดจากวอชิงตัน

มข. ดันธุรกิจ ‘จิ้งหรีด’ เลี้ยงเป็น เปลี่ยนชีวิต โอกาสทางการตลาดที่มีมูลค่าถึง 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างที่หลายคนทราบดีว่า 'จิ้งหรีด' เป็นแมลงที่ได้รับความสนใจในหลายมิติ เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง จนเกิดกระแสนิยมการบริโภคโปรตีนจากแมลงในทวีปยุโรปและอเมริกา ยกให้เป็นอาหารใหม่ หรือ Novel Food อาหารแห่งอนาคต ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมโปรตีนจากแมลงจะขยายตัว 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดนี้คือ บริษัทอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตนมทางเลือก และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นต้น  

ในด้านเศรษฐกิจไทย จิ้งหรีดสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะในชนบทที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในไทยมีมากกว่า 20,000 ราย และมากกว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่เกษตรกรกลุ่มแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและส่งออกต่างประเทศได้ กลับเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ภาคกลาง และอื่น ๆ

ดร.อนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการผ่านกระบวนการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับทุนสนับสนุนของหน่วยบริการและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยผลจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าตลาดจิ้งหรีดมีมูลค่ารวมถึง 23 ล้านบาท แต่เม็ดเงินเหล่านั้นกลับไปถึงมือกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่เพียง 7 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรต้องซื้ออาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูปจากนอกพื้นที่  ดังนั้นในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value Chain) ของการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ สิ่งที่ดำเนินการในส่วนต้นน้ำคือ “การพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด” เพื่อทำให้เกิด “ผู้ผลิตอาหารจิ้งหรีดในพื้นที่” ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบจากอาหารสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่ เพื่อปิดช่องว่าง ลดการพึ่งพิงห่วงโซ่ (Chain) จากนอกพื้นที่ และออกแบบการจัดการธุรกิจที่จะทำให้รายได้กระจายสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างทั่วถึงและเหมาะสม 

ที่ผ่านมาทีมวิจัย ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร 11 กลุ่ม จำนวน 124 คน ได้ทำงานร่วมกันโดยยึดหลักการ “พาทำ และทำกัน” เพราะการเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ใช่เพียงการทำโรงเรือนที่ได้มาตรฐานฟาร์ม GAP (Good Agricultural Practices) แต่ต้องช่วยให้เกษตรกรมีศักยภาพในการ “ผลิตอาหารจิ้งหรีดต้นทุนต่ำโดยใช้ทรัพยากรพื้นถิ่น” โดยการใช้สูตรอาหารสำเร็จรูปสูตรใหม่นี้สามารถลดต้นทุนการผลิตจิ้งหรีดจาก 71.99 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด เหลือเพียง 61.06 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด

แต่ที่สำคัญกว่าการลดต้นทุนก็คือ การทำให้เกษตรกรสามารถ “เลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาดได้” โดยในส่วนนี้เป็นการถอดความรู้ประสบการณ์ เทคนิค และภูมิปัญญาในการเลี้ยงจิ้งหรีดของพี่น้องเกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม เพื่อนำจุดเด่นของแต่ละกลุ่มมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน เพื่อสร้างเป็น “องค์ความรู้ร่วม” ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้  พร้อมกันนั้นทีมวิจัยยังเข้าให้ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจ และเป็นทั้งพี่เลี้ยงและโค้ชให้กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง มีทักษะในบริหารจัดการเชิงธุรกิจในแบบ Local Enterprise หรือรูปแบบธุรกิจปันกัน วิถีแห่งการเกื้อกูล รวมถึงความพยายามในการสร้างหรือพัฒนา “ผู้รวบรวมในพื้นที่” ที่จะทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางที่สำคัญของห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่จะสามารถทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม

ทางด้าน นายภูดิส หาญสวัสดิ์ ตัวแทนผู้ประกอบการจากภูดิศ บั๊กฟาร์ม และวิสาหกิจชุมชนจิ้งหรีดอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หากผู้ผลิตสามารถควบคุมปัจจัยการผลิตด้านความสะอาด อาหาร และอุณหภูมิได้  ด้วยเทคนิคและวิธีการที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ก็จะลดเวลาการผลิตจิ้งหรีดจาก 45 วัน เหลือเพียง 34-36 วันเท่านั้น

ดร.อนุวรรตน์ กล่าวเสริมว่า เดิมทีชาวบ้านไม่ได้มองว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นการทำธุรกิจ แต่มองว่าเป็นวิถีชีวิตที่คล้าย ๆ กับการทำนา เราจึงต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ เสริมมุมมองเรื่องการทำธุรกิจให้เขารู้ว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดก็คือการลงทุนทำธุรกิจ เมื่อได้เงินมาก็ต้องจัดการแบ่งส่วนไว้สำหรับการเลี้ยงรอบต่อไป เพื่อไม่ให้ต้องเป็นหนี้เพิ่ม ดังนั้นเป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้นอกจากต้องการให้เกษตรกรมีศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้คุณภาพแล้ว เขายังต้องสามารถจัดการธุรกิจของตนเองได้ด้วย สามารถวิเคราะห์ทิศทางหรือเป้าหมายต่อไปโดยเฉพาะในเรื่องของตลาด และศึกษามาตรฐานของผลผลิตจิ้งหรีดที่เข้าเกณฑ์การส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงความสนใจหรือ “คุณค่า” ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในปัจจุบันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ยิ่งขึ้น 

ล่าสุด เกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายความร่วมมือหน่วยธุรกิจในพื้นที่” ที่นอกจากจะสร้างอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางแล้ว ยังรวมถึงช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งเรื่องอาหาร รวมถึงการจัดหาจิ้งหรีดให้ได้ตามออร์เดอร์ที่รับมา ส่วนในระยะต่อไปทีมวิจัยได้ตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับเป็นเครือข่ายธุรกิจกันร่วมกับภาคีเครือข่ายอีกหลายแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เกิดผลลัพธ์ใน 3 ระดับ โดยมีทั้งกลุ่มที่ “ตั้งไข่ได้” “เติบโตได้” และ “ปล่อยมือได้  ซึ่งในกลุ่มที่ปล่อยมือได้คือเขาสามารถหล่อเลี้ยงตนเอง วางแผนธุรกิจ วางแผนตลาด และยังเป็นผู้รวบรวมสินค้าจากชุมชนไปจำหน่ายได้ด้วย  

นางอรวรรณ วอทอง หนึ่งในนักวิจัยชุมชน และหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับรางวัล “เลิศรัฐ” ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ ในด้านจิ้งหรีดปลดหนี้แก้จน ในประเภทรางวัลดีเด่น เมื่อปี 2567 กล่าวว่า เดิมกลุ่มของเราเลี้ยงจิ้งหรีดขายตามฤดูกาล และขายพ่อค้าคนกลาง แต่ก็โดนกดราคา เพราะการเลี้ยงยังไม่ได้มาตรฐาน จึงตัดสินใจกู้เงินจาก ธกส. โดยได้รับการหนุนเสริมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดทำแผนธุรกิจ มาทำโรงเรือนจิ้งหรีด และเป็นพี่เลี้ยงพาเราเรียนรู้และลงมือทำไปด้วยกัน พัฒนาจนได้มาตรฐานฟาร์ม GAP ปรับกระบวนการเลี้ยง ทำให้เราสามารถผลิตจิ้งหรีดคุณภาพและมีเงินมาชำระหนี้จากการสร้างโรงเรือน จนกระทั่งปลดหนี้ได้ในปีนี้ และสามารถจัดการเงินหมุนเวียนเพื่อการลงทุนต่อไปได้ 

อย่างไรก็ตาม นางอรวรรณ ย้ำว่า แม้โครงการนี้จะหนุนเสริมให้กลุ่มสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดและนวัตกรรมการผลิตที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นได้แล้ว ทั้งยังสามารถวางแผนธุรกิจ บันทึกรายรับ-รายจ่าย และวางแผนการผลิตได้แล้ว แต่ยังมีปัญหาที่กลุ่มของตนและเครือข่ายเผชิญคือ “ราคา” และ “ตลาด” ที่ไม่คงที่  สิ่งที่กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดอยากเห็น คือตลาดกลางหรือจุดรวมจิ้งหรีดในตลาดระดับภูมิภาค ที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดได้เดินตามเส้นทางของธุรกิจที่เป็นธรรม โดยไม่ถูกตัดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป 

“การเลี้ยงจิ้งหรีด ไม่มีการแข่งขัน หากเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันได้ หากแบ่งปันกันได้ ทั้งความรู้ นวัตกรรม และตลาด ก็จะเกิดความยั่งยืนในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและผู้ประกอบการที่เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ทั้งตัวเกษตรกร คนตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง ก็สามารถกลับมาเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นทั้งอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมอยู่ในชุมชนได้อย่างมั่นคง ซึ่งสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี ที่ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เป็นจี้งหรีดตัว แต่เราก็มองถึงการก้าวไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการส่งออกอย่างมีมาตรฐานด้วยเช่นกัน

‘เนทันยาฮู-ทรัมป์’ จับมือสกัดนิวเคลียร์อิหร่าน หากยังดื้อเดินหน้าโครงการต่อ ชี้ทางเลือกสุดท้ายคงต้องใช้กำลัง

(9 เม.ย. 68) นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกแถลงการณ์อย่างแข็งกร้าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ภายหลังการหารือร่วมกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว โดยทั้งสองผู้นำยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันว่า “อิหร่านจะต้องไม่มีวันครอบครองอาวุธนิวเคลียร์”

เนทันยาฮูเปิดเผยว่า มีการพูดคุยอย่างละเอียดเกี่ยวกับแนวทางจัดการโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะต้องมีการทำ “ข้อตกลงใหม่” ซึ่งสหรัฐฯ จะมีบทบาทหลักในการ เข้าไปควบคุม ทำลาย และรื้อถอน เครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานที่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน

“ข้อตกลงนี้ไม่ใช่แค่เอกสาร แต่คือการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านเข้าใกล้อาวุธนิวเคลียร์แม้แต่น้อย” เนทันยาฮูกล่าว

เนทันยาฮูยังเน้นว่า หากอิหร่านไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว “ก็จะไม่เหลือทางเลือกมากนัก นอกจากต้องใช้ปฏิบัติการทางทหาร” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ทุกฝ่ายเข้าใจดี” ถึงความจำเป็นในกรณีที่การเจรจาล้มเหลว

แม้ยังไม่มีรายละเอียดอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว แต่ท่าทีของทั้งทรัมป์และเนทันยาฮูส่งสัญญาณชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ต่ออิหร่านจะกลับมาแข็งกร้าวอีกครั้ง ภายใต้ความร่วมมือของสหรัฐฯ และอิสราเอล

ขณะที่ สตีฟ วิทคอฟฟ์ ทูตพิเศษของทรัมป์ จะนำคณะผู้แทนสหรัฐฯ เข้าร่วมเจรจากับอิหร่านในวันเสาร์นี้ที่ประเทศโอมาน ตามรายงานของ Axios เมื่อวันอังคารโดยอ้างแหล่งข่าวสองรายที่ทราบแผนดังกล่าว

รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับวิทคอฟฟ์ ผู้ซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทางการทูต มากกว่าไมเคิล วอลท์ซ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติผู้มีท่าทีแข็งกร้าว และมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้ซึ่ง “มีความสงสัย” ต่อกระบวนการทางการทูตของสหรัฐฯ 

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า แผนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะร่วมมือกับอิหร่านโดยตรง โดยความคิดริเริ่มทางการทูตเริ่มต้นเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อทรัมป์ส่งจดหมายถึงอาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน โดยให้เวลาเตหะรานสองเดือนในการบรรลุข้อตกลง

เมื่อวันจันทร์ ทรัมป์กล่าวว่าการเจรจาเป็น “ผลประโยชน์สูงสุดของอิหร่าน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะใช้มาตรการทางทหารหากการเจรจาล้มเหลว พร้อมเตือนว่าเตหะราน “จะตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง” หากไม่มีข้อตกลง 

ด้าน อับบาส อาราฆชี รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของอิหร่าน ยอมรับถึงความเสี่ยงที่สูง โดยกล่าวในโซเชียลมีเดียเมื่อวันอังคารว่า “มันเป็นทั้งโอกาสและการทดสอบ ลูกบอลอยู่ในสนามของอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

อินเดียปิดประตูใส่ BYD หวั่นโดนทุ่มตลาดจากจีน แต่เปิดช่องเจรจา Tesla ตั้งโรงงาน ดึงดูดทุนสหรัฐฯ

(9 เม.ย. 68) รัฐบาลอินเดียได้ตัดสินใจ จำกัดการเข้าถึงตลาด สำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนอย่าง BYD Co. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน EV ของโลก ท่ามกลางความพยายามของอินเดียในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทคู่แข่งสัญชาติอเมริกันอย่าง Tesla Inc.

แหล่งข่าวจากภาครัฐระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่ Tesla กำลังพิจารณาการตั้งฐานการผลิตในอินเดีย ซึ่งทางรัฐบาลได้แสดงความตั้งใจอย่างชัดเจนในการอำนวยความสะดวกและเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับบริษัทของอีลอน มัสก์ ในขณะที่บริษัทจีนอย่าง BYD กลับถูก 'ควบคุมและจำกัด' มากขึ้นในด้านการเข้าถึงตลาดและการขยายกิจการ

การเคลื่อนไหวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลด้านความมั่นคงระดับชาติของอินเดียที่ยังคงมีต่อจีน แม้ในช่วงหลังความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะในเวทีการทูตระดับภูมิภาค

“รัฐบาลอินเดียยังคงระมัดระวังอย่างมากกับการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์อย่างยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบด้านเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญ” พียูช โกยาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ท่าทีดังกล่าว สะท้อนแนวทางปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยอินเดียได้กำหนด ภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จรูป (CBU) ไว้สูงถึง 100% ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตราภาษีนำเข้าที่ 'สูงที่สุด' ในบรรดาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก

“นโยบายนี้เป็นเครื่องมือในการปกป้องผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศ พร้อมทั้งผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติสร้างฐานการผลิตภายในอินเดีย แทนการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป” นักวิเคราะห์จากมุมไบให้ความเห็น

อย่างไรก็ดี อินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาด EV ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และกำลังกลายเป็นจุดหมายสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลก ท่ามกลางนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดของนายกฯ อินเดีย นเรนทรา โมดีแต่การจัดการสมดุลระหว่างความมั่นคงและการลงทุนต่างชาติยังคงเป็นโจทย์ท้าทาย

ทั้งนี้ การตัดสินใจเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในปีที่แล้วนิวเดลีได้ปฏิเสธข้อเสนอการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 36,000 ล้านบาท) จาก BYD ที่ร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น 

นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีนรายอื่นอย่าง Great Wall Motor Co. ขอถอนตัวออกจากอินเดียหลังจากไม่สามารถขอรับการอนุมัติที่จําเป็นจากหน่วยงานกํากับดูแลได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่บริษัทจีนต้องเผชิญในการพยายามเข้าสู่หรือขยายธุรกิจในตลาดอินเดีย

ในขณะที่อินเดียยังคงรักษาจุดยืนที่ระมัดระวังต่อการลงทุนจากจีน และกําลังแสวงหาความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทอเมริกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Tesla Inc อย่างไรก็ตามรายละเอียดของข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างอินเดียและ Tesla ยังไม่ได้รับการเปิดเผย

ขณะที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอินเดียอย่าง Tata Motors และ Mahindra & Mahindra สามารถเติบโตได้ดี โดยก่อนหน้านี้พวกเขาต่างคัดค้านการผ่อนปรนภาษีนำเข้า เนื่องจากเกรงว่าจะเปิดทางให้ผู้เล่นต่างชาติเข้ามาทำตลาดในราคาที่แข่งขันได้ยากสำหรับผู้ผลิตท้องถิ่น

'วราวุธ' เผย พม. จัดงาน วันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2568 

เมื่อวันที่ (8 เม.ย.68) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากที่กำหนดวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น 'วันผู้สูงอายุแห่งชาติ' เพื่อให้ประชาชนและสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญผู้สูงอายุที่ทรงคุณค่า อันเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาของประเทศ อีกทั้ง กำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น 'วันแห่งครอบครัว' เพื่อให้ประชาชนและสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของสถาบันครอบครัวที่อบอุ่นและเข้มแข็งในการหล่อหลอมประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ 

ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้กำหนดจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2568 โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ภายใต้แนวคิด 'คุณค่าผู้สูงวัย สานสายใยพลังครอบครัว' ในวันที่ 10 เมษายน 2568 ที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. การกล่าวสารนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) เนื่องในโอกาส 'วันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว' ประจำปี 2568 2. พิธีถวายรางวัลผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2568 แด่สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย ป.ธ.8) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร 3. พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคคล ครอบครัว หน่วยงานองค์กร และสื่อดีเด่นด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุและครอบครัว 4. บูธนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ ประวัติผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2568 นโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร กระทรวง พม. ผลงานของหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ กรมกิจการผู้สูงอายุ , กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว , OPPY (โอพีพีวาย) สังคมอายุยืน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ และกองทุนการออมแห่งชาติ และ 5. บูธแสดงการสาธิตและผลิตภัณฑ์สินค้าจากศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 12 แห่ง และศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวทั่วประเทศ 

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#1 'สงครามเวียดนาม' ปฐมบทของสงครามอินโดจีนยุคใหม่

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาติเจ้าอาณานิคมตะวันตกต่างพากันกลับมายังดินแดนอาณานิคมของตนซึ่งถูกคู่สงครามยึดครองในระหว่างสงครามฯ เพื่อกลับมากอบโกยทรัพยากรของดินแดนอาณานิคมเหล่านั้นกลับไปยังประเทศของตนอีกครั้งหนึ่ง และ 'ฝรั่งเศส' ก็เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นเจ้าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีนประกอบด้วย 3 รัฐ ได้แก่ เวียตนาม ลาว และกัมพูชา 

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสทั้ง 3 รัฐนั้น ถูกยึดครองโดย กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และดินแดนส่วนหนึ่งในกัมพูชาและลาวถูกไทยซึ่งเคยครอบครองดินแดนส่วนนั้นยึดคืน แต่ได้รับคืนภายหลังสงครามฯ ฝรั่งเศสก็ได้รับดินแดนดังกล่าวคืนจากไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะซึ่งประกอบด้วย 3 ชาติหลักคือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ จีน และฝรั่งเศส 

แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองขั้วค่ายที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันคือ ฝ่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร และค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต และชาติร่วมอุดมการณ์ ตลอดจนประเทศบริวารอีกจำนวนหนึ่ง เป็นสงครามที่มีเพียงการเผชิญหน้าหรือที่เรียกว่า 'สงครามเย็น (Cold war)' และเกิดสงครามที่มีลักษณะตัวแทน (Proxy war) ของสองฟากฝ่ายในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ สงครามระหว่างสองเกาหลี สงครามในตะวันออกกลาง ฯลฯ และสงครามอินโดจีนก็เป็นหนึ่งในสงครามที่มีลักษณะดังกล่าว

สงครามอินโดจีนแบ่งออกเป็นสองระยะ ระยะแรกตั้งแต่ปี 1946 ถึง 1954 เป็นสงครามที่ขบวนการเรียกร้องเอกราชในเวียตนามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถทำการรบเอาชนะกองกำลังยึดครองอาณานิคมของฝรั่งเศสได้ และระยะที่ที่ 2 คือ สงครามเวียตนามหรือสงครามอเมริการะหว่างปี 1955-1975 ซึ่งเวียดนามเหนือและเวียตกงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีนสามารถเอาชนะและผนวกเวียดนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรส่วนหนึ่งได้สำเร็จในวันที่ 30 เมษายน 1975

สงครามในอินโดจีนเป็นสงครามที่มีการทำลายล้างอย่างรุนแรง และผลกระทบที่เกิดขึ้นยังคงมีอยู่และรู้สึกได้จนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปรียบเทียบในแง่ของปริมาณลูกระเบิดที่ถูกทิ้งจากเครื่องบินรบแล้ว กองทัพอเมริกันทิ้งระเบิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าปริมาณระเบิดทั้งหมดที่ทุกฝ่ายทิ้งในพื้นที่ทั้งหมดของสงครามโลกครั้งที่สองรวมกัน โดยเฉพาะในลาวซึ่งกลายเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่สุดในโลก ทุ่นระเบิดหรือสนามกับระเบิดยังถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในสงครามครั้งนี้ และส่งผลทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านในเวียดนาม ลาว กัมพูชา และในระดับที่น้อยกว่าคือ ไทย ยังคง บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตจากกับระเบิดและระเบิดนานาชนิดที่ยังคงตกค้างอยู่ในปริมาณมหาศาลเป็นประจำ

สงครามอินโดจีนเริ่มต้นขึ้นจากสงครามเพื่ออิสรภาพของชาวเวียตนามเพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งสงครามดังกล่าวกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น อันเป็นการต่อสู้ระหว่างพันธมิตรตะวันตกของสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตและจีน นอกจากนี้แล้วยังเป็นสงครามแห่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิทุนนิยมอีกด้วย ฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกแบ่งออกเป็นฝ่ายที่สนับสนุนโดยโซเวียตและฝ่ายที่สนับสนุนโดยจีนในปี 1961 ซึ่งจุดแตกหักก็คือสงครามในปี 1969ระหว่าง 'โซเวียต' กับ 'จีน' ซึ่งเคยเป็นประเทศ 'พี่น้อง' ร่วมอุดมการณ์ในอดีต

ภูมิหลังและสงครามอินโดจีนครั้งแรก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทและกลายเป็นเจ้าอาณานิคมแทนที่จีนและสยาม (ไทย) ในฐานะเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคในขณะนั้นคือเวียตนาม ลาว และกัมพูชา ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยึดครองพื้นที่ทั้งหมด เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ ฝรั่งเศสได้ตั้งเป้าที่จะยึดเอาดินแดนอาณานิคมคืน แต่ถูกพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา คัดค้าน ลาวและกัมพูชาจึงได้รับเอกราช แต่ไม่นานรัฐบาลของทั้งสองประเทศก็เผชิญกับกองกำลังกบฏคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโซเวียตและจีน

สำหรับเวียตนามแล้ว สถานการณ์ภายในมีความซับซ้อนกว่าขึ้นมาก เดิมฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงกันว่า จะมอบดินแดนตอนเหนือของเวียตนามจะมอบให้จีนคณะชาติดูแล และมอบให้อังกฤษดูแลดินแดนตอนใต้จนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลเวียตนามสำเร็จ แต่ในเวลานั้นทั้งสองประเทศต่างก็ประสบปัญหาต่าง ๆ เช่นกัน ได้แก่ สงครามกลางเมืองในจีน และการก่อความไม่สงบของคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ในมาลายา ดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ ดังนั้นทั้ง 2 ประเทศจึงไม่สามารถทำหน้าที่ดังกว่าในเวียตนามได้ “เวียตมินห์” ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรต่อต้านอาณานิคมฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต จึงได้ประกาศเอกราชในดินแดนตอนเหนือ (เหนือเส้นขนานที่ 17) ในขณะที่ฝรั่งเศสกลับมามีบทบาทอำนาจอีกครั้งในเวียตนามตอนใต้ ในปี 1947 ฝรั่งเศสและเวียตนามเหนือก็เปิดฉากสงครามระหว่างกัน หลังปี 1949 รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนได้ให้การสนับสนุนเวียตมินห์ (เวียตนามเหนือ) อย่างเต็มที่ โดย สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนฝรั่งเศส แต่ ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธที่จะส่งกำลังทหารอเมริกันไปสนับสนุนฝรั่งเศสในเวียตนาม และภายหลังจากฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างยับเยินในสมรภูมิเดียนเบียนฟู ทำให้เกิดข้อตกลงเจนีวาในปี 1954 ซึ่งยุติสงครามในครั้งนั้นลง

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า 'เวียตนาม' ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น 'เวียดนาม' สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

สมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม เดินทาง ยื่นหนังสือติดตาม!! ทุจริตสอบท้องถิ่น สายบริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประจำปี 2567

(9 เม.ย.68) ที่สำนักงาน ป.ป.ช.คณะกรรมการสมาคม โดย นายอภิรัฐ กุนกันไชย  นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม เดินทาง ยื่นหนังสือ ทวงถามความคืบหน้า ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

จาก กรณี ที่ ทางสมาคม สื่อสร้างสรรค์ เพื่อสังคม โดย นาย อภิรัฐ กุนกันไชย  นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม ดำเนินการ ต่อต้าน ทุจริตในการสอบคัดเลือกข้าราชการในงบประมาณปี 2567 ของกรมส่งเสริม การปกครองส่วนท้องถิ่น 

ซึ่งได้แจ้งความร้องทุกข์แล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 และได้รับแจ้งจากกองบัญชาการตำรวจ สอบสวนกลางได้ส่งสำนวนคดีมาให้ท่านไต่สวนมูลความผิดของผู้ถูกกล่าวหา

จึงมาขอติดตามความคืบหน้า ว่าทาง  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ดำเนินการไต่สวน กระทำความผิดในครั้งนี้ อย่างไรแล้ว

ประธานอาเซียน วอนสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผนึกกำลัง ย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว รับมือภาษีศุลกากรสุดโหดจากสหรัฐฯ

(9 เม.ย. 68) นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและประธานอาเซียนประจำปี 2568 ได้แถลงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเรียกภาษีศุลกากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการดำเนินนโยบายการค้าโดย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งได้ใช้มาตรการภาษีศุลกากรที่เข้มงวดต่อสินค้าจากหลายประเทศ 

ในคำแถลงที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายอันวาร์กล่าวว่า “อาเซียนต้องยืนหยัดในฐานะกลุ่มที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการเผชิญกับนโยบายการค้าและภาษีศุลกากรที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศภายนอก” 

เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการ “ระลึกถึงประวัติศาสตร์ที่ประเทศในอาเซียนมีร่วมกัน” และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวที่มีความสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ร่วมของภูมิภาคในยุคที่การค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับการดำเนินนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ ถูกมองว่าเป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ และได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในด้านการส่งออกสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

นายอันวาร์กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน โดยการหักหลังนโยบายการค้าเสรีจากบางประเทศจะทำให้การค้าระหว่างประเทศ ที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็น ผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 4 ไปยังสหรัฐฯ รองจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน โดยในปี 2566 มูลค่าการค้ารวมกับสหรัฐฯ สูงถึง 3.96 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 11.2% ของการค้าทั้งหมดของอาเซียนกับทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีผลกระทบอย่างมากต่อบางประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะ กัมพูชา ซึ่งเผชิญภาษีศุลกากรสูงถึง 49% ขณะที่ ลาว และ เวียดนาม ต้องเผชิญภาษีที่ 48% และ 46% ตามลำดับ ขณะที่ มาเลเซีย เองก็ไม่รอดจากการเก็บภาษีที่สูงถึง 24% จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top