Sunday, 18 May 2025
NewsFeed

'ผ่าภูมิ' หารือ 'ประธาน ICBC' ยกระดับความร่วมมือ FinTech ไทย-จีน เตรียมความพร้อม Fin Hub ไทย

เมื่อวันที่ (19 ก.พ.68) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต้อนรับและหารือร่วมกับ Mr. Lin Liao ประธานธนาคารไอซีบีซี (Industrial and Commercial Bank of China: ICBC) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ICBC

นายเผ่าภูมิ และ Mr. Lin Liao ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคาร ICBC ทั้งในระดับโลกและในไทย ซึ่งได้ให้บริการด้านสินเชื่อ การอำนวยความสะดวก ด้านการค้าการลงทุนระหว่างจีนและไทย รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการจีนที่ต้องการลงทุนในไทย และเห็นพร้อมกันถึงโอกาสในการยกระดับความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านธนาคาร ICBC ซึ่งเป็นธนาคารที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากที่สุดในโลก และมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินระหว่างประเทศ

นายเผ่าภูมิฯ กล่าวว่า การมาเยือนของคณะผู้บริหารธนาคาร ICBC นับเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจระหว่างไทย–จีน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน และได้หยิบยกประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ดังนี้ 1) การเชื่อมโยงธนาคาร ICBC กับโครงการ Financial Hub ไทย เพื่อเพิ่มบทบาทของธนาคาร ICBC ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นช่องทางใหม่ให้ธนาคาร ICBC ผลักดันโครงการ Belt and Road Initiative ของรัฐบาลจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้ Financial Hub 2) การใช้กลไกทางการเงินสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่มุ่งสู่ตลาดจีน ผ่านธนาคาร ICBC 3) ประสานและยกระดับการลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และการพัฒนาแพลตฟอร์มธนาคารดิจิทัล เพื่อรองรับธุรกรรมข้ามพรมแดน และพัฒนา e-CNY (Digital Yuan) คู่ขนานกับการพัฒนา CBDC ของไทย และ 4) การพัฒนาศักยภาพของสถาบันการเงินของรัฐในด้านการเงินสีเขียว (Green Finance) ร่วมกับ EXIM Bank ซึ่ง ICBC มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน เพื่อพัฒนากลไกสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวและเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ

กระทรวงการคลังและธนาคาร ICBC ต่างแสดงเจตนารมณ์ร่วมในการกระชับความร่วมมือทางการเงิน และเศรษฐกิจระหว่างไทย–จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและยกระดับศักภาพทางการเงินของทั้ง 2 ประเทศ

‘Sino-Indian War’ สงครามระหว่างจีนและอินเดีย ปัญหาข้อพิพาทพรมแดนที่ยืดเยื้อนานกว่า 6 ทศวรรษ

ปี 1962 เกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างจีนและอินเดียขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เป็นการยกระดับข้อพิพาทกรณีพรมแดนระหว่างจีน-อินเดีย การสู้รบเกิดขึ้นตามแนวชายแดนของอินเดียกับจีนบริเวณชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ทางตะวันออกของภูฏาน และในอักไซชินทางตะวันตกของเนปาล

การแบ่งแยกอินเดีย-ปากีสถาน (1947) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่สงครามเย็นได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดข้อพิพาทเรื่องพรมแดนในอนุทวีปอินเดีย เป็นจุดที่พรมแดนของ 3 ประเทศคือ อินเดีย ปากีสถาน และจีน มาบรรจบกัน หลังจากปราบปรามทิเบตในปี 1950 อินเดียได้ให้การสนับสนุนและที่พักพิงแก่ ‘ดาไลลามะ’ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ซึ่งเป็นผู้นำการต่อต้านการยึดครองทิเบตของจีน จีนก็เริ่มมีข้อพิพาทเรื่องพรมแดนกับอินเดียในหลายจุด และกับอีกหลาย ๆ ประเทศในเทือกเขาหิมาลัยได้แก่ เนปาล ภูฏาน และรัฐสิกขิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘อักไซชิน’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคแคชเมียร์ บริเวณเหนือสุดของอนุทวีปอินเดียในเอเชียกลางใต้ ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของแคชเมียร์-อินเดีย เป็นพื้นที่ที่ถูกละเลยมานานของอนุทวีปอินเดียเนื่องจากความห่างไกลและโดดเดี่ยว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปเมื่อจีนพยายามเชื่อมต่อทิเบตกับซินเจียงด้วยสร้างเส้นทางลาดตระเวนทางหารผ่านภูมิภาคนี้ อินเดียคัดค้านการเข้ามาของจีนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเขตการปกครองของจีนในแคชเมียร์ถูกอ้างสิทธิ์โดยอินเดียว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ภูมิภาคลาดักห์’ ที่อยู่ภายใต้การบริหารของอินเดีย

หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ และเกิดการแบ่งแยกประเทศ ปากีสถานกลายเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของอินเดีย เนื่องจากกองทัพอินเดียมีการแบ่งแยกตามเชื้อชาติ และมีนโยบายไม่รับนายทหารที่มีเชื้อชาติเดียวกันในหน่วยทหารเดียวกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างนายทหารและทหารชั้นผู้น้อยขึ้นไปทั่ว โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างนายทหารกับทหารชั้นผู้น้อยนั้นต้องพัฒนาขึ้นด้วยเวลาเพื่อให้การเรียนรู้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย การร่วมสู้รบด้วยกันโดยไม่มีสายสัมพันธ์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

สงครามเย็นที่เริ่มต้นด้วยการปิดล้อมเบอร์ลินทำให้พันธมิตรอังกฤษ-อเมริกันต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งน้ำมัน พันธมิตรหลายฝ่ายตั้งแต่ตุรกีไปจนถึงปากีสถานต่างก็พยายามปกป้องตนเองจากลัทธิคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจของประเทศเหล่านั้นพยายามรักษาความเป็นเจ้าของแหล่งน้ำมันโดยตรง อินเดียตระหนักดีถึงธรรมชาติของการแสวงหาอาณานิคมยุคใหม่ของชาติตะวันตกเหล่านี้ และไม่ต้องการเสียอำนาจอธิปไตย จึงได้กำหนดนโยบายต่างประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ปากีสถานได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่จากสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อินเดียต้องทนใช้อาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นเก่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ของชาติตะวันตก นั่นหมายความว่า อินเดียต้องลงทุนกำลังคนมากขึ้นเพื่อปกป้องแคชเมียร์และปัญจาบจากปากีสถาน

อินเดียต้องทำสงครามกับปากีสถานกรณีแคชเมียร์ในปี 1948 จึงไม่มีกำลังรบเหลือมากพอที่จะสู้รบกับจีน ซึ่งจนถึงปี 1950 อินเดียเองยังไม่มีแม้แต่การคาดคะเนภัยคุกคามจากจีน กองทัพอังกฤษเดิมประจำการบริเวนชายแดนจีน-ทิเบต แต่หลังจากอินเดียได้รับเอกราชภารกิจดังกล่าวก็ตกเป็นหน้าที่ของกองทัพอินเดีย อินเดียรู้ดีว่า ชายแดนอินเดีย-จีนนั้นยากที่จะป้องกันได้ เพราะการสร้างระบบส่งกำลังบำรุงและป้อมค่ายเป็นไปได้ยาก ‘เส้นแม็กมาฮอน’ เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างทิเบตและอัสสัมของอินเดีย (ในขณะที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) ซึ่งการเจรจาระหว่างทิเบตและสหราชอาณาจักรเมื่อสิ้นสุดการประชุมชิมลา (ตุลาคม 1913–กรกฎาคม 1914) และตั้งชื่อตามเซอร์เฮนรี แม็กมาฮอน ผู้เจรจาคนสำคัญของอังกฤษ เส้นเขตแดนนี้ทอดยาวจากชายแดนด้านตะวันออกของภูฏานไปตามสันเขาหิมาลัยจนถึงโค้งแม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งแม่น้ำสายนี้ไหลออกจากเส้นทางทิเบตสู่หุบเขาอัสสัม ผู้แทนของรัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้เข้าร่วมการประชุมที่เมืองชิมลาด้วย แต่ปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงหลักเกี่ยวกับสถานะและเขตแดนของทิเบต ด้วยเหตุผลว่า ทิเบตอยู่ภายใต้การปกครองของจีนและไม่มีอำนาจที่จะทำสนธิสัญญา จีนยังคงยืนหยัดในจุดยืนนี้มาจนถึงปัจจุบัน และยังอ้างว่าดินแดนของจีนขยายลงไปทางใต้จนถึงเชิงเขาหิมาลัย 

หลังจากการปะทะระหว่างจีน-อินเดียบริเวณชายแดนหลายครั้งในช่วงปี 1959 ถึง 1962 ที่สุดกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ข้าม ‘เส้นแม็กมาฮอน’ เข้าโจมตีอินเดียในปี 1962 กองทัพอินเดียต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการเตรียมกำลังทหารให้พร้อมรบในสภาพออกซิเจนไม่เพียงพอ ในขณะนั้นกองทัพอินเดียเองก็ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงพอที่จะต้านทานกองทัพจีน หลังจากจีนได้ทำการปราบปรามการลุกฮือของชาวทิเบตในเขตปกครองตนเองทิเบต กองทัพจีนได้ข้ามพรมแดนโจมตีอินเดียจนกลายเป็นกรณีพิพาทที่รุนแรง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1962 ทำให้กองกำลังอินเดียพ่ายแพ้อย่างราบคาบ โดยมีทหารเสียชีวิตหรือถูกจับกุมกว่า 7,000 นาย และพื้นที่ลุ่มในรัฐอัสสัมก็เปิดโล่งให้ผู้รุกรานเข้ายึดครอง กองกำลังของจีนสามารถยึดครองดินแดนอินเดียทางใต้ของ ‘เส้นแม็กมาฮอน’ 

ปัจจัยสำคัญสองประการที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับกองทหารอินเดียในที่สุด ได้แก่ ท่าทีของอินเดียเกี่ยวกับพรมแดนที่เป็นข้อพิพาทและความพยายามของอินเดียในการบ่อนทำลายการยึดครองทิเบตของจีน ซึ่งจีนมองว่า "มีความจำเป็นต้องลงโทษและยุติความพยายามของอินเดียที่จะบ่อนทำลายการควบคุมทิเบตของจีน ซึ่งเป็นความพยายามของอินเดียที่จีนมองว่ามี วัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูสถานะเดิมก่อนปี 1949 ของทิเบต" อีกประการหนึ่งคือ "มีความจำเป็นต้องลงโทษและยุติการรุกรานของอินเดียต่อดินแดนของจีนตามแนวชายแดน" 

ผู้นำจีนเลือกช่วงที่ ‘วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา’ กำลังลุกลามในการโจมตีอินเดีย โดยคาดว่า วิกฤตการณ์ในคิวบาจะยืดเยื้อต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ หันเหความสนใจจากการแทรกแซงในอินเดียได้ แต่สหรัฐฯ สามารถแก้ปัญหาคิวบาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้วอชิงตันสามารถตอบสนองต่อคำร้องขอความช่วยเหลือจาก ‘ชวาหระลาล เนห์รู’ นายกรัฐมนตรีอินเดียได้ ขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ กำลังเดินทาง จีนได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน และหลังจากนั้นไม่นานจีนก็ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ยึดครองจากอินเดียได้ ปัจจุบัน จีนยังคงควบคุมพื้นที่ประมาณ 14,700 ตารางไมล์ (38,000 ตารางกิโลเมตร) ใน ‘อักไซชิน’ และพื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างสองประเทศอยู่จนทุกวันนี้

ภายหลังจาก ‘สงครามระหว่างจีนและอินเดีย’ ในปี 1962 แล้วมีกรณีพิพาทและการปะทะระหว่างกำลังทหารจีนและอินเดียต่อเนื่องเรื่อยมาอีกหลายครั้ง อาทิ
- ปี 1967 การรบที่ Nathu La และ Cho La เป็นการปะทะกันหลายครั้งระหว่างจีนและอินเดียบนพรมแดนของอาณาจักรสิกขิมในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐในอารักขาของอินเดีย การปะทะ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 11 กันยายน เมื่อกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของอินเดียที่ Nathu La และกินเวลานานจนถึงวันที่ 15 กันยายน ต่อมาในเดือนตุลาคมมีการปะทะกันอีกครั้งเกิดขึ้นที่ Cho La และสิ้นสุดลงในวันเดียวกัน
- ปี 1975 วันที่ 20 ตุลาคม ทหารอินเดีย 4 นายถูกสังหารที่ตูลุงลาในรัฐอรุณาจัลประเทศ ตามแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลอินเดีย กองลาดตระเวนของ Assam Rifles ซึ่งประกอบด้วยนายทหารชั้นประทวน (NCO) 1 นาย และพลทหารอีก 4 นาย ถูกซุ่มโจมตีโดยทหารจีนประมาณ 40 นาย ในพื้นที่ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของอินเดีย และมีการลาดตระเวนเป็นประจำมาหลายปีโดยไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น สมาชิกหน่วยลาดตระเวน 4 นายได้รับการระบุในตอนแรกว่าสูญหาย ก่อนที่จะได้รับการยืนยันผ่านช่องทางการทูตว่า พวกเขาถูกทหารจีนสังหาร ศพของพวกเขาถูกส่งคืนในภายหลัง รัฐบาลอินเดียได้ประท้วงรัฐบาลจีนอย่างรุนแรง
- ปี 1987 การปะทะกันระหว่างจีนและอินเดียที่หุบเขา Sumdorong Chu ซึ่งอยู่ติดกับเขต Tawang รัฐอรุณาจัลประเทศ และเขต Cona ทิเบต การเผชิญหน้าทางทหารเริ่มต้นขึ้นเมื่อจีนเคลื่อนกำลังทหารจำนวนหนึ่งไปยัง Wangdung ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าทางตอนใต้ของ Sumdorong Chu ซึ่งอินเดียอ้างว่าเป็นดินแดนของตน กำลังทหารอินเดียยืนหยัดต้านทานอยู่บนสันเขา Longro La ที่อยู่ใกล้เคียง และทั้งสองฝ่ายได้เคลื่อนกำลังทหารจำนวนมากไปยังชายแดน วิกฤตการณ์คลี่คลายลงหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียเยือนปักกิ่งในเดือนพฤษภาคม 1987 การเผชิญหน้าดังกล่าวก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดความตึงเครียดมากขึ้น ในเวลาต่อมาอินเดียและจีนได้จัดทำข้อตกลงเพื่อจัดการกับความตึงเครียดที่ชายแดนในอนาคต
- ปี 2017 ความขัดแย้งทางทหารที่ Doklam ในเดือนมิถุนายนเกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียและจีนในดินแดนพิพาท Doklamใกล้กับช่องเขา Doka La วันที่ 16 มิถุนายน จีนได้นำอุปกรณ์สร้างถนนขนาดใหญ่มาที่ Doklam และเริ่มสร้างถนนในพื้นที่พิพาท โดยก่อนหน้านี้ จีนได้สร้างถนนลูกรังที่สิ้นสุดที่ Doka La ซึ่งเป็นที่ที่กองทหารอินเดียประจำการอยู่

- ปี 2020 เดือนมิถุนายน กำลังทหารอินเดียและจีนปะทะกันในหุบเขา Galwan ซึ่งรายงานว่าส่งผลให้ทหารทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บและเสียชีวิตฝ่ายละหลายสิบนาย (โดยตัวเลขจากข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ได้ใกล้เคียงและตรงกันเลย)
- ปี 2022 เดือนธันวาคม กองทัพอินเดียกล่าวว่าเกิดการปะทะกันระหว่างกำลังทหารอินเดียและจีนในเขตทาวังของรัฐอรุณาจัลประเทศ แต่การปะทะครั้งนี้ ทหารของทั้งสองฝ่ายเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บ (อินเดีย 34 นาย และจีน 40 นาย) ไม่ปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีผู้เสียชีวิต และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยังไม่มีรายงานการปะทะกันระหว่างทหารจีนและทหารอินเดียอีก 

ความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียยังคงยืดเยื้อและสงบจบลงไม่ได้โดยง่าย หากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันในเรื่องความชัดเจนของเส้นเขตแดน อันเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งอินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อันที่จริงแล้วหากสามารถเจรจาตกลงทำสนธิสัญญาเห็นชอบรับรองเส้นเขตแดนร่วมกันได้แล้ว ประเทศทั้งสองในปัจจุบันต่างก็มีศักยภาพในการจัดทำแนวรั้วกั้น และพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างกันได้ทั้งทางรถยนต์และรถไฟได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองทั้งหางการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่อนุภูมิภาคนี้ต่อไป

เซเลนสกีตกบัลลังก์ลูกรักสหรัฐฯ หมดสิทธิ์อ้อนวอชิงตัน หลังพ้นยุคไบเดน

(21 ก.พ.68) เพียงหนึ่งเดือนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับสู่ทำเนียบขาว ท่าทีของเขาที่มีต่อโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กลับแตกต่างจากอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างสิ้นเชิง

หากย้อนไปในยุคของโจ ไบเดน เขามักหยอดคำหวานซึ่งกันและกันหลายครั้ง โดยเมื่อปลายปี 2022 ไบเดนเคยกล่าวกับเซเลนสกีว่า "เป็นเกียรติที่ได้ยืนเคียงข้างคุณ" พร้อมยกย่องเขาว่าเป็น 'บุคคลแห่งปี'

ขณะที่ในปี 2023 ไบเดนกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงวอร์ซออย่างดุดันราวกับฉากในภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยกล่าวว่าเซเลนสกีเป็น "บุรุษผู้มีความกล้าหาญที่ถูกหล่อหลอมจากไฟและเหล็กกล้า" และเป็นผู้นำของ "รัฐบาลที่ได้รับเลือกตามระบอบประชาธิปไตยและเป็นตัวแทนของประชาชนยูเครน"

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไบเดนต่างยกย่องเซเลนสกีอย่างต่อเนื่อง อาทิ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่ยกให้เซเลนสกีเป็นผู้นำที่มี "ความกล้าหาญและความสำเร็จอย่างไม่ธรรมดา" ขณะที่ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวในปี 2023 ว่า "การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของยูเครนเป็นหนึ่งในภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา"

นอกจากคำชมแล้ว รัฐบาลไบเดนยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยูเครนอย่างไม่ลดละ โดยในเดือนมิถุนายน 2024 ไบเดนกล่าวว่า "เราจะยืนเคียงข้างยูเครนจนกว่าพวกเขาจะได้รับชัยชนะ"

ถึงขนาดที่บลิงเคนเคยไปเยือนสถานีรถไฟใต้ดินในเคียฟเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 และเล่นเพลง Rockin' in the Free World ของนีล ยัง พร้อมประกาศว่า "เราจะอยู่เคียงข้างคุณ และจะยืนหยัดจนกว่ายูเครนจะมีความมั่นคงและอธิปไตยที่ได้รับการรับรอง"

ตรงข้ามกับแนวทางของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเขามักโพสต์ลง Truth Social กล่าวหาว่าเซเลนสกีติดอยู่ใน 'วงจรข้อมูลเท็จ' ของรัสเซีย "ลองคิดดูให้ดี นักแสดงตลกที่พอไปวัดไปวาได้อย่างเซเลนสกี สามารถโน้มน้าวให้สหรัฐใช้เงินกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าสู่สงครามที่ไม่มีวันชนะ สงครามที่ไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก" 

"แถมเซเลนสกียังยอมรับเองว่า เงินครึ่งหนึ่งที่เราส่งไปให้ ‘หายไป’ เขาปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้ง คะแนนนิยมในยูเครนต่ำเตี้ย และสิ่งเดียวที่เขาทำได้ดีคือหลอกใช้ไบเดนได้อย่างแยบยล" ทรัมป์ระบุ 

"เผด็จการที่ไม่มีการเลือกตั้ง เซเลนสกีควรรีบจัดการตัวเองก่อนที่เขาจะไม่มีประเทศเหลือให้ปกครองอีกต่อไป" ทรัมป์เตือน

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยประชดประชันเซเลนสกีในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2024 ว่า "เป็นนักขายที่เก่งที่สุดในบรรดานักการเมือง" แต่ครั้งนี้ภายหลังทรัมป์กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย เขากล่าวหาเซเลนสกีอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นนักต้มตุ๋นและจอมเผด็จการ

ทรัมป์ยังส่งสัญญาณถึงแนวทางใหม่ของรัฐบาลสหรัฐที่มีต่อยูเครน โดยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เขายืนยันว่าเซเลนสกีจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างสหรัฐและรัสเซียที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย และกล่าวว่า "ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องจริงจัง" ที่ยูเครนจะเข้าร่วม NATO ซึ่งเป็นจุดยืนที่รัสเซียถือเป็นเส้นตายมาโดยตลอด

ก่อนหน้านั้นเพียงสองวัน ทรัมป์ได้เสนอข้อตกลงให้ยูเครน โดยระบุว่าสหรัฐอาจให้ความช่วยเหลือหากยูเครนมอบทรัพยากรแร่หายากมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งแน่นอนว่าเซเลนสกีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

จากที่เคยได้รับการเชิดชูในยุคไบเดน เซเลนสกีกลับต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผู้นำสหรัฐคนใหม่ที่มองว่าเขาเป็นภาระและอุปสรรคของนโยบายใหม่ของอเมริกา ขณะที่ความช่วยเหลือจากวอชิงตันก็เริ่มไม่แน่นอนเช่นกัน

ในช่วงเวลาที่ยูเครนกำลังต้องการความช่วยเหลือจากพันธมิตรอย่างยิ่ง คำถามสำคัญคือ เซเลนสกีจะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐได้หรือไม่ ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

จี้ นทท.ยิว หยุดพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้เกียรติไทย หลังกรณีเมืองปาย

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์เตือนนักท่องเที่ยวอิสราเอลให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบและเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น หลังจากเกิดเหตุการณ์หลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม ซึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจของชาวไทยในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

แถลงการณ์ระบุว่า เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของนักท่องเที่ยวอิสราเอลในประเทศไทย และบางกรณีส่งผลให้ชาวอิสราเอลถูกเนรเทศออกจากประเทศ ทางสถานทูตจึงขอให้ชาวอิสราเอลที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเคารพกฎหมายและพฤติกรรมของคนในพื้นที่ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ

คำแนะนำจากสถานทูตประกอบด้วยการรักษาความสงบในที่สาธารณะ เคารพพื้นที่ส่วนตัวและสถานที่ท่องเที่ยว ปฏิบัติตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด แต่งกายให้เหมาะสม และปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่สำคัญ เช่น วัด ตลาด และพื้นที่สาธารณะ

สถานทูตย้ำว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวอิสราเอลมาโดยตลอด และคนไทยให้การต้อนรับเป็นอย่างดี จึงขอให้นักท่องเที่ยวทุกคนมีความรับผิดชอบ และไม่กระทำการที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของนักท่องเที่ยวอิสราเอลโดยรวม

สำหรับข้อความจากประกาศของสถานทูตอิสราเอล ระบุว่า...

ชาวอิสราเอลที่รัก,

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอิสราเอล ซึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจของชาวไทยในบางสถานที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวอิสราเอล และทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อชาวอิสราเอลในประเทศไทย

เราขอให้คุณ เคารพกฎเกณฑ์และพฤติกรรมของคนท้องถิ่น เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนอิสราเอลและชุมชนไทย

เราขอให้คุณ:

รักษาความเงียบและหลีกเลี่ยงการส่งเสียงดังหรือพูดเสียงดังบนท้องถนน โรงแรม และในที่สาธารณะ

เคารพพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการรบกวนผู้อื่นหรือบุกรุกพื้นที่ของผู้อื่น

ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการก่อปัญหาหรือพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย

ให้ความสำคัญกับการแต่งกายที่เหมาะสมและสุภาพในที่สาธารณะ

ปฏิบัติตามกฎของสถานที่ต่างๆ เช่น วัด ตลาด และพื้นที่สาธารณะ

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลจำนวนมากถูกเนรเทศออกจากประเทศไทย เนื่องจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและการละเมิดกฎระเบียบ

คนไทยให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวอิสราเอลอย่างดีเสมอ กรุณาอย่าทำให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจทำลายความสัมพันธ์ที่ดีนี้ การกระทำของแต่ละคนสามารถส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของชาวอิสราเอลทั้งหมด

จงทำตัวให้เหมาะสม ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และให้เกียรติคนในท้องถิ่น

ด้วยความเคารพ,
ทีมสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

‘พีระพันธุ์‘ ผู้คืนรอยยิ้ม 78 ครอบครัว ‘ชาวนาพรหมพิราม’ หลังต้องต่อสู้กับนายทุนเบี้ยวเงินค่าข้าวอย่างไร้ความหวังนานถึง 11 ปี

ไม่มีน้ำตาที่พรหมพิราม…ย้อนไปถึงกรณีการช่วยเหลือชาวนา 78 ครอบครัว ที่ อ.พรหมพิราม และ อ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งขายข้าวให้นายทุนแต่ไม่ได้รับเงินจำนวนรวมกว่า 2 ล้านบาท และต้องต่อสู้อย่างไร้ความหวังมานานกว่า 11 ปี  จนกระทั่งเรื่องนี้มาถึงกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมี ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการในขณะนั้น

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2541 เมื่อชาวนา อ.พรหมพิราม และ อ.เมืองพิษณุโลก จำนวน 78 ราย นำข้าวไปขายที่ท่าข้าวแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับเงินจากนายทุนที่รับซื้อเป็นจำนวนรวมกว่า 2 ล้านบาท พวกเขาต่อสู้ในกระบวนการทางศาลมานานกว่า 11 ปี แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ต้องเป็นหนี้ค่าปุ๋ย เป็นหนี้ ธกส. อีกทั้งยังได้ยืมเงินวัด 1 แสนบาท มาเป็นค่าทนายความ แต่สุดท้ายก็แพ้คดีฟ้องร้อง ไม่มีเงินคืนวัด พวกเขาจมอยู่กับความทุกข์ ความเครียด ร้องไห้จนไม่มีน้ำตา จนกระทั่งเรื่องนี้มาถึงกระทรวงยุติธรรม

‘พีระพันธุ์’ ซึ่งตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น คืนความเป็นธรรมให้กับชาวนาได้สำเร็จโดยใช้กลไกของภาครัฐ  ผ่าน‘กองทุนยุติธรรม’ ซึ่งเป็นกองทุนที่กระทรวงยุติธรรมจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิในการดำเนินคดีของคนยากจน ที่ไม่มีเงินค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม อาทิ การวางเงินค่าธรรมเนียมศาล ค่าจ้างทนายความในคดี ค่าประกันตัวเพื่อต่อสู้ในคดีอาญา และค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ 

'พีระพันธุ์' ในฐานะ รมว.ยุติธรรม ได้ออกประกาศระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2553 ที่ได้รับการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มช่องทางการช่วยเหลือประชาชนให้มากขึ้น โดยในกรณีนี้ กองทุนยุติธรรมได้ทดรองจ่ายเงินเพื่อเยียวยากลุ่มชาวนาทั้ง 78 ครอบครัว เป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท และใช้หลักรับช่วงสิทธิจัดหาทนายเพื่อดำเนินคดีต่อ 

“ช่วงนั้นกระทรวงยุติธรรมเรามีกองทุนยุติธรรม ผมก็เลยมาปัดฝุ่นกองทุนยุติธรรม แก้ไขกฎระเบียบหลักเกณฑ์ ใช้หลักรับช่วงสิทธิ ผมเอาเงินกองทุนยุติธรรมให้ชาวนากลุ่มนี้ 2 ล้านกว่าบาท คุณช่วยชีวิตคนได้ทันที 70 กว่าครอบครัว แล้วกระทรวงยุติธรรมก็รับช่วงสิทธิจัดทนายเข้าไปช่วยดูแลคดี...ชาวบ้านเขาก็มีความสุข ได้รู้สึกว่าสังคมมีความเป็นธรรมกับเขา เราเพียงแค่เอาเงินราชการออกให้เขาไปก่อน แล้วเราก็สู้คดีกับเขา เขาก็ได้เงินมา สังคมก็อยู่ได้ เขาก็หมดทุกข์ แค่นี้เอง”  

นี่คือส่วนหนึ่งของหลักคิดและแนวทางการแก้ปัญหาแบบ 'พีระพันธุ์' ที่พร้อม “สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” ตลอดมา

‘พีระพันธุ์‘ ผู้ยื่นมือฉุดครอบครัว ’เรณู เนียนเถ้อ‘ จากฝันร้าย ช่วยพลิกคดีคืนอิสรภาพให้กับลูกชายของเธอที่ถูกกล่าวหาฆ่าคนตาย

เรื่องราวของ นางเรณู เนียนเถ้อ ชาวบ้าน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของลูกชายวัย 17 ปี ที่ถูกกล่าวหาในคดีฆ่าคนตายและถูกตัดสินประหารชีวิต เธอได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จนสามารถพลิกคดีและคืนอิสรภาพให้กับบุตรชายของเธอได้ในที่สุด

กรณีนี้ย้อนไปในปี 2553 เมื่อ ‘พีระพันธุ์’ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนางเรณู เนียนเถ้อ ชาวบ้านจาก จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อขอความเป็นธรรมให้ นายอนุสรณ์ เนียนเถ้อ ลูกชายของเธอ ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 17 ปี และถูกกล่าวหาในคดีฆ่าคนตายเมื่อปี 2551 ก่อนถูกศาลชั้นต้นพิพากษาตัดสินประหารชีวิตในปี 2553 

เรณูพยายามช่วยลูกชายทุกวิถีทาง เพราะเธอเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของลูก และผิดหวังกับการทำงานของตำรวจที่ไม่ยื่นหลักฐานสำคัญต่าง ๆ ที่จะช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนายอนุสรณ์  

ในช่วงเวลานั้น เธอและครอบครัวมีความทุกข์มาก มีแต่ฝันร้าย เหมือนตายทั้งเป็น อีกทั้งยังถูกทนายความหลอกเงินเอาไปหลายแสนบาทเพื่อวิ่งเต้นคดี แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

แต่ในช่วงเดือนกันยายน 2553 ระหว่างที่คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ เรณูก็ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนบ้านให้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ นายพีระพันธุ์ รมว.ยุติธรรม ซึ่งเดินทางมาตรวจราชการที่ จ.สุราษฎร์ธานี และหลังจากนั้นแค่เพียงเดือนเดียว เธอก็ได้รับการติดต่อจากทีมงานของพีระพันธุ์ ซึ่งได้ประสานงานให้ทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ มาตรวจสอบคดี และร่วมทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานใหม่ โดยเฉพาะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่พบในที่เกิดเหตุ ซึ่งสามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของจำเลยได้

แต่ระหว่างที่กำลังรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ อยู่นั้น ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือประหารชีวิต นางเรณูจึงยื่นฎีกาคดีด้วยหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบเพิ่มเติม และในอีก 3 เดือนต่อมา ศาลฎีกาก็พิพากษายกฟ้องให้นายอนุสรณ์เป็นผู้บริสุทธิ์ หลังจากที่ต้องถูกจำคุกเพื่อรอการพิสูจน์ความบริสุทธิ์เป็นเวลาถึง 4 ปี 9 เดือน

“กรณีที่สุราษฎร์ก็คือ ลูกชายถูกกล่าวหาว่าไปฆ่าคน แต่แม่เชื่อว่าลูกตัวเองบริสุทธิ์ เขาก็ต้องดิ้นรน แต่ก็ไม่รู้จะไปไหน เมื่อเรื่องมาถึงผม ผมก็ตรวจสอบ เราก็พยายามเอาหน่วยงานของเราเข้าไปหาพยานหลักฐาน หาอะไรต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเขา การที่คนคนหนึ่งจะต้องถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำความผิด มันไม่ได้เป็นแค่ความทุกข์ใจของเขาเท่านั้น แต่มันเป็นความทุกข์ใจของครอบครัว มันอาจจะสร้างความเจ็บแค้น ความอาฆาตพยาบาท นำไปสู่การล้างแค้นกัน นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ อีกหลายอย่าง การที่เราจะช่วยใครสักคนคนหนึ่งนั้น มันไม่ได้เพียงแค่ช่วยใครหนึ่งคน แต่ผลที่ตามมามันจะเป็นการช่วยสังคม ช่วยชุมชนให้เกิดความสามัคคีปรองดอง เกิดความเข้าใจและรู้สึกถึงความเป็นธรรมในสังคมที่เขาอยู่กันได้ ผมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องของความเป็นธรรมในสังคม ความเหลื่อมล้ำ และการที่ไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของสิทธิต่างๆ และที่สำคัญที่สุดคือการที่ช่วยให้คนออกจากความทุกข์ที่เขาไม่ได้ทำ” 

นี่คือ วิสัยทัศน์ของ ‘พีระพันธุ์’ ในการให้ความช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยากเดือดร้อนด้วยความเชื่อมั่นว่า การช่วยคนหนึ่งคนก็จะเป็นการช่วยสังคมด้วยเช่นกัน

ปักกิ่งจับมือกรุงเทพฯ มอบแนวทางสู้ PM2.5 เดินหน้าความร่วมมือ 3 ปี ฉลอง 50 ปีสัมพันธ์จีน-ไทย

(21 ก.พ.68) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเฝ้าติดตามและจัดการคุณภาพอากาศ ระยะ 3 ปี ซึ่งลงนามโดยสำนักนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมเทศบาลกรุงปักกิ่งของจีน และสำนักสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่าปักกิ่งจะแบ่งปันแนวทางปฏิบัติในการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศแก่เมืองพี่เมืองน้องอย่างกรุงเทพฯ

บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ระบุว่าปักกิ่งจะแบ่งปันแนวทางปฏิบัติในการจัดการกับมลพิษทางอากาศแก่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการเฝ้าติดตามและลดฝุ่นพิษพีเอ็ม2.5 (PM2.5) รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางเยือนซึ่งกันและกัน และจัดการฝึกอบรมและสนับสนุนกรุงเทพฯ ในการดำเนินโครงการนำร่องต่าง ๆ

อนึ่ง ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย

กรุงปักกิ่งของจีนได้ปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นอย่างมากหลังจากดำเนินแผนริเริ่มขจัดมลพิษทางอากาศตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยมีความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่นพิษพีเอ็ม2.5 อยู่ที่ 30.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2024 ซึ่งผ่านมาตรฐานระดับชาติติดต่อกัน 4 ปีแล้ว

ความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของฝุ่นพิษพีเอ็ม2.5 พีเอ็ม10 ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของกรุงปักกิ่งในปี 2024 ลดลงร้อยละ 65.9 ร้อยละ 50 ร้อยละ 57.1 และร้อยละ 88.7 เมื่อเทียบกับปี 2013

โป๊ปฟรานซิสอาจสละตำแหน่ง หลังประชวรหนัก ตามรอยโป๊ปเบเนดิกต์

มีรายงานว่าพระคาร์ดินัลบางส่วนเริ่มกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสอาจพิจารณาสละตำแหน่ง หลังจากพระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคปอดบวม และยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของคณะแพทย์

เมื่อวันที่ (20 ก.พ.68) ที่ผ่านมา วาติกันออกแถลงการณ์ระบุว่าอาการของพระสันตะปาปาฟรานซิสมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย การทำงานของหัวใจเป็นปกติ และสามารถเสวยพระกระยาหารเช้าได้ อย่างไรก็ตาม คณะแพทย์ยังคงเน้นย้ำว่าการรักษาโรคปอดบวมในผู้สูงวัยจำเป็นต้องใช้เวลาติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจกินเวลาหลายสัปดาห์

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดคำถามว่าพระสันตะปาปาจะสามารถปฏิบัติภารกิจในฐานะประมุขแห่งคริสตจักรคาทอลิกต่อไปได้หรือไม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ พระคาร์ดินัลบางท่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า พระองค์อาจพิจารณาสละตำแหน่ง เช่นเดียวกับกรณีของอดีตสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งเคยลาออกเนื่องจากปัญหาสุขภาพ

แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่กระแสข่าวเกี่ยวกับอนาคตของพระสันตะปาปาฟรานซิสกำลังได้รับความสนใจจากทั้งสื่อมวลชนและผู้นับถือศาสนาคาทอลิกทั่วโลก

‘อินเตอร์ลิ้งค์ฯ’ ต้อนรับศักราชใหม่!! คว้างานจาก ‘การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)’ ปรับปรุงก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน เมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

(22 ก.พ. 68) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญ งานโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ต้อนรับศักราชแห่งปี 2568 ด้วยการเริ่มงานโครงการเคเบิลใต้ดิน จากการเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และเข้าลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้าง จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการก่อสร้าง และปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน ในพื้นที่เทศบาลเมืองตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

การลงนามในสัญญาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอุดมศักดิ์ เต็มวงษ์ รองผู้ว่าการปฏิบัติการระบบไฟฟ้า ร่วมลงนามในสัญญา (MOU) กับนายธนา ตั้งสกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ILINK ที่เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า และพลังงาน เป็นตัวแทนเซ็นลงนามในครั้งนี้

โดยโครงการฯ นี้ มีระยะเวลาการดำเนินงาน 450 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเริ่มงาน โดยมีมูลค่างานเป็นจำนวนเงิน 275,400,000 บาท (สองร้อยเจ็ดสิบห้าล้านสี่แสนบาทถ้วน) นับว่าโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินนี้ เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และเพิ่มความสวยงามของเมือง 
ซึ่ง บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โดยเฉพาะงานระบบสายไฟฟ้าใต้ดินที่ต้องการมาตรฐานสูง ทั้งด้านการออกแบบ การก่อสร้าง และการควบคุมคุณภาพ ตลอดจนต้องการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง เสริมศักยภาพระบบจำหน่ายไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเมือง หรือ เทศบาลเมืองขนาดใหญ่

"อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ โดยที่เรามีความพร้อมทั้งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินโครงการลักษณะนี้มาแล้วหลายโครงการ รวมทั้งเรามุ่งมั่นที่จะส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้" นายสมบัติ ประธานกรรมการ กล่าวเสริมตอนท้าย   

10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดใน ‘จีน’!! ยักษ์ใหญ่!! ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่ของจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม เทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ การเงิน พลังงาน และโทรคมนาคม ปัจจัยหลักที่ช่วยให้บริษัทเหล่านี้เติบโตอย่างรวดเร็วคือ การสนับสนุนจากรัฐบาล ตลาดภายในประเทศที่มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน และการลงทุนในนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน

แม้ว่าบริษัทจีนหลายแห่งจะขยายตัวและเริ่มครองส่วนแบ่งในตลาดโลก แต่ในแง่ของมูลค่าตลาดและอิทธิพลระดับโลกยังคงตามหลังบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ

แต่บริษัทจีนเองก็ยังคงเป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ วันนี้ THE STATES TIMES จะพาไปรู้จักกับ 10 บริษัทใหญ่ในจีน พร้อมประเภทธุรกิจที่พวกเขากำลังดำเนินการกันอยู่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top