Tuesday, 20 May 2025
NewsFeed

ผุดประท้วงใหญ่ทั่วประเทศสกัด 'Project 2025' นโยบายสุดโต่งของทรัมป์ โวยสร้างสังคมขวาจัด

(6 ก.พ.68) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังขยายวงกว้างทั้งในสหรัฐฯ และบนโลกออนไลน์ โดยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาชุมนุมประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อ 'Project 2025' แผนการที่ถูกมองว่าส่งเสริมแนวคิดขวาจัดและคุกคามหลักการประชาธิปไตย

การประท้วงครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แฮชแท็ก #buildtheresistance และ #50501 ซึ่งสะท้อนถึงเป้าหมายในการชุมนุม 50 จุด ใน 50 รัฐ ภายในวันเดียว โดยส่วนใหญ่จัดขึ้นที่ศาลากลางของแต่ละรัฐ และบางจุดขยายไปถึงเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ

ผู้ประท้วงได้ใช้ช่องทางออนไลน์อย่างกว้างขวาง ทั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งแจกจ่ายใบปลิวดิจิทัลที่เน้นย้ำถึงความเสี่ยงของ Project 2025 ซึ่งถูกวิเคราะห์ว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่อาจนำไปสู่การรวมอำนาจและทำลายหลักการพื้นฐานของสังคมอเมริกัน ข้อความสำคัญในการประท้วงรวมถึง 'หยุดยั้งลัทธิฟาสซิสต์' และ 'รักษาประชาธิปไตยให้คงอยู่'

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่เรื่องการค้า การย้ายถิ่นฐาน ไปจนถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้พรรคเดโมแครตและกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้านอย่างแข็งขัน

ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ประชาชนหลายพันคนในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ก็ได้ออกมาเดินขบวนต่อต้านนโยบายการเนรเทศผู้อพยพของทรัมป์ โดยเฉพาะในลอสแอนเจลิส ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นส่งผลให้ทางด่วนสายหลักต้องปิดทำการเป็นเวลาหลายชั่วโมง

การประท้วงครั้งล่าสุดนี้แสดงให้เห็นถึงความกังวลของชาวอเมริกันจำนวนมากที่มองว่า Project 2025 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเป็นภัยคุกคามต่อระบบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ

'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' ประสบผลสำเร็จเจรจาญี่ปุ่นขยายความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรน้ำบาดาลและเทคโนโลยีแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)  พร้อมด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของ รมว. ทส. นายนริศ ขำนุรักษ์ นายธนา ชีรวินิจ คณะทำงาน รมว.ทส. นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว 

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและคณะผู้แทนไทย เข้าพบหารือกับนายคัตสุโนริ ทาคาฮาชิ ( Mr. Katsunori Takahashi )รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT)เพื่อขยายความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดินและน้ำบาดาล ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 

ดร.เฉลิมชัย ได้หารือในหลากหลายประเด็นสำคัญ ตั้งแต่เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ (Integrated Water Resources Management: IWRM) การพัฒนาเทคโนโลยีแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน และการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพด้านทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะน้ำใต้ดินและน้ำบาดาล ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดิน และน้ำบาดาลของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยต่อยอดการศึกษาและวิจัยเพื่อรองรับความท้าทายด้านทรัพยากรน้ำในอนาคต

ทั้งนี้ นายคัตสุโนริ ทาคาฮาชิ ( Mr. Katsunori Takahashi )รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT) ได้นำเสนอการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดิน น้ำพุร้อนและน้ำบาดาลของญี่ปุ่นพร้อมกับตอบรับข้อเสนอในการขยายความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับไทยอย่างกระตือรือร้นและมอบหมายหน่วยงานในสังกัดประสานงานกับกรมน้ำบาดาลโดยทันทีเพื่อดำเนินการตามข้อหารือของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)

นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของการเยือนญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ในการขยายความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในด้านการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดินและน้ำบาดาลในภาวะที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งโดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม

‘อ.ปานเทพ’ เผย ‘ทนายเดชา’ ติดต่อขอไกล่เกลี่ย ด้าน ‘สนธิ’ ลั่นไม่ต้องมา ขอเดินหน้าแบบสุดซอย

(6 ก.พ. 68) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในรายการ News Hour ทาง สถานีข่าว NEWS1 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างนายสนธิ ลิ้มทองกุล และนายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือทนายเดชา ซึ่งมีการฟ้องร้องกันไปมา โดยระบุว่า ทนายเดชา ซึ่งรู้จักกับคุณอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ได้ไหว้วานให้ช่วยเป็นคนกลาง นําพาทนายเดชา เข้าไปขอขมาคุณสนธิ เพื่อจะได้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งปรากฏว่า ทางคุณอัจฉริยะได้ปฏิเสธไป เพราะมองว่า เป็นเรื่องของคนสองคน ที่เขาไม่ควรเข้าเกี่ยวข้องด้วย

นายปานเทพ ยังบอกด้วยว่า คุณสนธิ ได้ฝากข้อความหลังจากได้ทราบเรื่องแล้ว โดยระบุว่า ทนายเดชาไม่ต้องมาขมาหรือขอไกล่เกลี่ย เพราะคุณสนธิเขาจะเดินหน้าจัดการสุดซอยอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ถือว่าเป็นความความคืบหน้าของคดีความที่พิพาทกันระหว่างคนสองคนดังกล่าว

ทำเนียบขาวให้อาณาสิทธิ์ 'อีลอน มัสก์' ชี้ขาดผลประโยชน์ทับซ้อนของบริษัทตัวเอง

(6 ก.พ.68) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่เป็นผู้นำในหน่วยงานปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐบาลภายใต้ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นผู้มีสิทธิ์ขาดในการพิจารณาว่าบรรดาบริษัท บริษัท Tesla, SpaceX, xAI, Neuralink และบริษัทต่างๆ ของเขาเองนั้นมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างที่เขามีบทบาทตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางกับธุรกิจของเขาที่เป็นเจ้าของทั้ง 6 บริษัทหรือไม่

คาโรไลน์ ลีวิตต์ เลขาธิการฝ่ายสื่อของทำเนียบขาวกล่าวระหว่างการแถลงข่าว กล่าวว่า “ท่านประธานาธิบดีได้รับคำถามนี้ไปแล้วในสัปดาห์นี้ และท่านได้กล่าวว่า หากอีลอน มัสก์พบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับสัญญาหรือเงินทุนที่หน่วยงาน Doge ดูแล เขาจะถอนตัวจากสัญญานั้น และเขาก็ยังคงปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”  

สำหรับอีลอน มัสก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็น 'ลูกจ้างพิเศษของรัฐบาล' และเป็นหัวหน้าทีมของหน่วยงานรัฐบาลกลางที่เรียกว่ากรมประสิทธิภาพรัฐบาล ( Doge) ซึ่งอยู่ภายใต้กฎระเบียบด้านผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎเหล่านี้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว  

มัสก์ วัย 53 ปี เป็นซีอีโอของ SpaceX บริษัทที่มีสัญญารัฐบาลมูลค่าสูงกับองค์การนาซาและกองทัพสหรัฐฯ โดยโครงการปล่อยจรวดของบริษัทอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) นอกจากนี้ เขายังดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Tesla บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เคยถูกสอบสวนโดยหน่วยงานรัฐบาลกลางหลายแห่ง รวมถึงสำนักงานบริหารความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติ (NHTSA) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC)  

“ผมไม่เคยเห็นกรณีไหนที่บุคคลสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเขามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่” ดร.โดนัลด์ เคตเทิล ศาสตราจารย์กิตติคุณและอดีตคณบดีคณะนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยแมริแลนด์กล่าว “ในความเป็นจริง การกำหนดผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยตนเองก็ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนในตัวมันเองอยู่แล้ว”  

คำสั่งบริหารที่ก่อตั้งหน่วยงาน Doge ได้มอบหมายให้ทีมงานดำเนินการ ปรับปรุงเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ของรัฐบาลกลางให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของรัฐบาล  

นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้ง มัสก์ได้เร่งดำเนินงานอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ทีมงานของ Doge ได้เข้าไปทำงานในหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่ง รวมถึงสำนักงานบริหารงานบุคคล (OPM) สำนักงานบริหารบริการทั่วไป (GSA) และกระทรวงการคลังสหรัฐ

ตัด 5 จุด ส่งไฟขายเมียนมา ตัดตอนความเสียหาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์'

เมื่อรัฐบาลไทยเอาจริง!! ส่องพื้นที่สำคัญ 5 จุดชายแดนไทย - เมียนมา ที่ สมช. มีคำสั่งให้ตัดไฟฟ้า หวังตัดตอนความเสียหาย ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ มีจุดใดบ้างไปส่องกัน

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (9) : จริงหรือ? ที่ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว สาเหตุสำคัญทำให้ ‘ค่าไฟฟ้า’ แพง

‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ปัญหาที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่ซึ่งยากแก่การแก้ไขของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมายาวนานจนกระทั่งทุกวันนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยมักจะรับเอาแต่ข้อมูลต่าง ๆ จากนักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก เพียงด้านเดียว ซึ่งกล่าวถึงสาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ไว้อย่างมากมาย (แต่เป็นสาเหตุที่บอกเล่าข้อมูลโดยไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ และทุกมิติ) อาทิ “โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นโครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว (Enhanced Single Buyer Model (ESB))’ ซึ่งรัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียว” จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ หรือ “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” หรือ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ “อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ ก็ตาม สูงมาก” หรือ “การผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ ยังน้อยไป” ฯลฯ ซึ่ง TST จะได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ที่ได้มีการหยิบยกมากล่าวอ้างพอเป็นสังเขป

จริงหรือ? ที่ โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว’ จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ แน่นอนที่สุดว่า การซื้อ-ขายไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นผูกขาดโดยรัฐ ‘กฟผ.’ ซื้อ-ขายไฟฟ้า โดยรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ได้แก่ IPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 MW) และ SPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 MW) รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ แล้วขายให้ “กฟน. และ กฟภ.” ส่วน “กฟน. และ กฟภ.” เองก็รับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 10MW) เพื่อขายให้ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่ง นักวิชาการ สื่อ และ NGO ต่างก็บอกว่า การตัดสินใจและวางแผนแบบรวมศูนย์โดยมีผู้ซื้อเพียงรายเดียว นั้นทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มการใช้กลไกตลาดเข้าไปในระบบไฟฟ้า เพื่อทำให้เกิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรีขึ้นในประเทศไทย 

อันที่จริงแล้วการเปิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรีก็ไม่ต่างไปจากเรื่องของความพยายามในการแปรรูป ‘กฟผ.’ ให้เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์เลย เพราะ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ จะทำให้วัตถุประสงค์หลักในการดำเนิน ‘กิจการไฟฟ้า’ อันเป็นกิจการเพื่อบริการสาธารณะหายไป เพราะ ผู้ประกอบการใน ‘ตลาดไฟฟ้า’ ย่อมต้องมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เพื่อจ่ายเงินปันผลจากกำไรให้กับผู้ถือหุ้น อีกทั้งความเสรีจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความได้เปรียบ ซึ่งที่สุดอาจจะนำไปสู่การเป็น ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้าผูกขาด’ แทน ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี’ ตามที่คาดหวังเอาไว้ อีกทั้งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงานได้ ตัวอย่างเช่นที่เคยเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง 2 ครั้งในทวีปอเมริกาเหนือฝั่งตะวันตก เมื่อปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) โดยเกิดขึ้นทั่ว แคนาดาฝั่งตะวันตก สหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก และเม็กซิโกฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม และ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นห่างกัน 6 สัปดาห์ และเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากความต้องการไฟฟ้าเกินในช่วงฤดูร้อน และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 7.5 ล้านรายไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลาหลายนาทีจนถึง 6 ชั่วโมง ไฟฟ้าดับตั้งแต่แคนาดาไปจนถึงนิวเม็กซิโก และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้า 4 ล้านรายไม่มีไฟฟ้าใช้ท่ามกลางคลื่นความร้อนที่สูงถึงสามหลัก และในปี พ.ศ. 2543-2544 ได้เกิดวิกฤตการณ์ไฟฟ้าในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (วิกฤตการณ์พลังงานทางตะวันตกของสหรัฐฯในปี 2000 และ 2001) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าอันเนื่องมาจากการจัดการตลาดและราคาขายปลีกไฟฟ้าที่ถูกจำกัด ทั้ง ๆ ที่มี  ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี จนทำให้มลรัฐนี้ต้องประสบกับปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่หลายครั้ง และบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของมลรัฐแคลิฟอร์เนียล้มละลาย เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและส่งผลกระทบต่อสถานะของ  Gray Davis ผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนียในขณะนั้นเป็นอย่างมาก จน Arnold Schwarzenegger พระเอกคนเหล็กได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการมลรัฐนี้แทนและได้รับเลือกถึง 2 สมัย

ทั้งนี้ โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว’ มีจุดแข็งคือ “ทำให้รัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมสั่งการในกิจการไฟฟ้าได้อย่างเด็ดขาด 100% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา และความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า นอกจากนั้น รัฐบาลยังสามารถสั่งการให้หน่วยงานด้านกิจการไฟฟ้าทั้ง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ การยกเว้น ‘ค่าไฟฟ้า’ ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ประสบภัยที่มีความรุนแรง ซึ่งเฉลี่ยอยู่ในต้นทุนคิดเป็นสัดส่วนราว 4-5% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย หากแต่เป็นการซื้อ-ขายใน ‘ตลาดไฟฟ้า’ แล้ว รัฐจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าในสภาวะวิกฤต ฯลฯ ได้ยากมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐไม่สามารถจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงได้เลย อาทิ การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤต ฯลฯ จะต้องมีการใช้กฎหมายพิเศษเช่น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก เสียก่อน แล้วรัฐจึงจะเข้าไปดำเนินการได้

นอกจากนี้แล้ว ‘กิจการไฟฟ้า’ ไม่ใช้เฉพาะเพียงแต่การเป็นการซื้อ-ขายกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ยังมีเรื่องของ ‘ต้นทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (ขายปลีก)’ ซึ่งเป็นระบบที่นำไฟฟ้าไปสู่ผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1)สายจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งเป็นตามระดับแรงดัน (2)หม้อแปลงไฟฟ้า ทำหน้าที่เพิ่มหรือลดระดับแรงดันไฟฟ้าเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับระบบไฟฟ้าภายในบ้าน, สำนักงาน, โรงงานอุตสาหกรรม และ ‘ต้นทุนระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)’ อันเป็นระบบที่ส่งไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าจนถึงสถานีไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ส่งจ่ายไฟฟ้าไปยังระบบจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งจะปรับลดระดับแรงดันไฟฟ้าก่อนส่งไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย (1)สายส่งไฟฟ้าแรงสูง (Transmission Line) (2) สถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) (3)ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (National Control Center : NCC) หาก ‘กิจการไฟฟ้า’ เข้าสู่ระบบ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ แล้ว จะทำให้มีการตั้งบริษัทหรือกิจการที่ดูแลรับผิดชอบขึ้นมาอีกต่างหาก และแน่นอนภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่และประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่เพิ่มมากกว่าที่ต้องจ่ายแต่เดิมอย่างแน่นอน

เจาะธุรกิจ 10 มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกปี 2025

(6 ก.พ. 68) เปิดปี 2025 มาพร้อมกับการแข่งขันด้านความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีระดับโลก ที่ยังคงกอบโกยทรัพย์สินกันแบบไม่มีหยุด ใครที่เคยคิดว่าเศรษฐีเหล่านี้รวยแล้ว แต่ขอบอกเลยว่าปี 2025นี้คนเหล่านี้ยังรวยขึ้นอีก เรามาดูกันว่า 10 คนที่รวยที่สุดในปีนี้ มีใครบ้าง และพวกเขาทำเงินจากธุรกิจอะไรกัน

อันดับ 1. Elon Musk – 437,000 ล้านดอลลาร์
เจ้าพ่อ Tesla และ SpaceX ยังครองบัลลังก์มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ด้วยการที่ Tesla ยังขายดี SpaceX ก็กำลังบุกอวกาศเต็มตัว และ AI ของเขายังทำเงินได้ต่อเนื่อง มัสก์จึงเป็นคนที่มีทรัพย์สินสูงสุดแบบขาดลอยคู่เเข่งคนอื่น

อันดับ 2. Jeff Bezos – 243,000 ล้านดอลลาร์
แม้จะลาออกจากตำแหน่ง CEO ของ Amazon แต่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและ AWS (Cloud Service) ของเขาก็ยังคงทำเงินไม่หยุด เรียกได้ว่าหายใจทิ้งก็ยังรวยขึ้นในทุกนาที

อันดับ 3. Mark Zuckerberg – 214,000 ล้านดอลลาร์
CEO แห่ง Meta ยังคงทำเงินได้อย่างมหาศาลจาก Facebook, Instagram, WhatsApp และ Metaverse นอกจากนี้ AI และแพลตฟอร์ม VR ของเขายังช่วยผลักดันทรัพย์สินให้พุ่งขึ้นไปอีกด้วย

อันดับ 4. Larry Ellison – 192,000 ล้านดอลลาร์
เจ้าพ่อ Oracle ยังคงเป็นมหาเศรษฐีระดับแนวหน้าของโลก ในยุคที่ Cloud Computing และ AI กำลังมาแรง Oracle ก็ยังเป็นบริษัทที่ช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ขับเคลื่อนแบบไร้ขีดจำกัด

อันดับ 5. Larry Page – 170,000 ล้านดอลลาร์
หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Google ยังคงได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจ Search Engine และ AI รวมถึง Cloud Computing ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

อันดับ 6. Bernard Arnault – 169,000 ล้านดอลลาร์
เศรษฐีสายแฟชั่นและเจ้าพ่อแบรนด์หรู LVMH ก็ตามมาในอันดับที่ 6 เพราะแบรนด์ Louis Vuitton, Dior, Givenchy และสินค้าหรูอื่น ๆ ยังคงขายดีไม่มีตก เทรนด์ของใช้แบรนด์เนมยังคงมาแรง คนพร้อมจ่ายเพื่อความหรูหรา ทำให้เขายังเป็นเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลกได้

อันดับ 7. Sergey Brin – 160,000 ล้านดอลลาร์
ผู้ร่วมก่อตั้ง Google อีกรายที่ยังคงครองตำแหน่งเศรษฐีระดับโลก ด้วยการเติบโตของ AI, Search Engine และ Cloud Services เขาจึงยังมีทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อันดับ 8. Bill Gates – 158,000 ล้านดอลลาร์
แม้จะลดบทบาทใน Microsoft แต่ทรัพย์สินของ Bill Gates ก็ยังเพิ่มขึ้นจากการลงทุนใน AI, พลังงานสะอาด และโครงการการกุศล เขายังคงเป็นหนึ่งในคนที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของโลกด้วย

อันดับ 9. Steve Ballmer – 147,000 ล้านดอลลาร์
อดีต CEO ของ Microsoft ยังคงทำเงินได้อย่างต่อเนื่องจาก หุ้น Microsoft และธุรกิจกีฬา (L.A. Clippers) นอกจากนี้ การเติบโตของ Cloud Services และ AI ยังช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของเขาด้วย

อันดับ 10. Warren Buffett – 142,000 ล้านดอลลาร์
เจ้าพ่อการลงทุนยังคงอยู่ใน Top 10 และแม้จะอายุเกือบ 100 ปี แต่พอร์ตการลงทุนของเขายังคงสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่องจาก Apple, Coca-Cola, และธุรกิจประกัน

ส่วนการจัดอันดับคนที่รวยสุดในบ้านเราจากการจัดลำดับล่าสุด คงหนีไม่พ้นคุณเฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว เจ้าของร่วมแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull ได้ก้าวขึ้นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.32 ล้านล้านบาทค่ะ

อธิบดี พพ. พร้อมคณะ เยี่ยมชม เจริญชัย “นวัตกรรมไทย Platform AI Net Zero เพิ่มพลังงาน Solar ถึง 20% และ ลดค่าไฟฟ้า 5-20% ” (รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ อันดับ1 NiA)

เมื่อวันที่ (31 ม.ค.68) นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, นายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, นางมัณลิกา สมพรานนท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์,นายนิรุติ สังข์แป้น ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานทดแทน และนายสมชาติ ตั้งลิขสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมคณะกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์, กลุ่มเทคโนโลยีด้านความร้อน กองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์, กลุ่มติดตามและประเมินผล กองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์และกลุ่มเทคโนโลยีด้านไฟฟ้า กองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ เยี่ยมชม Platform AI บริหารจัดการ Solar กับ Energy Storage ด้วยหม้อแปลง IoT (Low Carbon) ประโยชน์สูงสุดและเสถียรภาพ พร้อมทำ Net Zero, Near Zero, Peak Demand, Demand Response และประหยัดค่าไฟฟ้า ณ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด 

โดยมี นายประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ กรรมการบริหาร (นวัตกรรม) บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด, ดร.ณัฐวุฒิ จารุวสุพันธุ์  หัวหน้ากลุ่มงาน smart energy & innovation และ นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุภกิตติ์ โชติโก หัวหน้าภาคประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผศ.ดร.อนวัช แสงสว่าง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยาย การบริหารจัดการพลังงานสะอาดหม้อแปลง Low Carbon + Solar + Energy Storage + EV พร้อมแก้ปัญหา Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Respon จากนั้นนำคณะเยี่ยมชมระบบบริหารจัดการพลังงานสะอาด หม้อแปลง Low carbon และ Submersible Transformer Low Carbon

นายประจักษ์  กิตติรัตนวิวัฒน์ กรรมการบริหาร (นวัตกรรม) บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด กล่าวว่า Platform บริหารจัดการพลังงานสะอาดสูงสุด (Platform AI บริหารจัดการ Solar กับ Energy Storage ด้วยหม้อแปลง IoT (Low Carbon) ประโยชน์สูงสุดและเสถียรภาพ พร้อมทำ Net Zero, Near Zero, Peak Demand, Demand Response และประหยัดค่าไฟฟ้า ได้รับทุนการสนับสนุนโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA และ Platform ดังกล่าว ตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงานในกลุ่มเป้าหมาย ภาคอุตสาหกรรม, โรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย, ห้างสรรพสินค้า, โรงเรียน และบ้านเรือน เพื่อรองรับพลังงานสะอาดอย่างมั่นคงและเสถียรภาพ อีกทั้งยังลดความสูญเสียพลังงานและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานและราคาพลังงานในตลาด

'สุทิน วรรณบวร' ลากไส้ UNHCR เตรียมทิ้งค่ายผู้ลี้ภัย หลัง 'ทรัมป์' รู้ทันตัดงบช่วยเหลือแบบฟ้าผ่า

(6 ก.พ. 68) - จากกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีนโยบายตัดเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลของผู้อพยพในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบถึงค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน ต้องปิดให้บริการทำให้ผู้ป่วยอาจต้องไปรักษาต่อที่อื่น

นายสุทิน วรรณบวร อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถ้าเราเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลชายแดนแล้วถูกสั่งให้ไปดูแลคนป่วยในค่ายผู้ลี้ภัยที่ ICRC กับ UNHCR สร้างภาระ (ขี้) ทิ้งไว้ เราจะลาออกทันที เนื่องจากว่าตามกฎหมายประเทศไทยไม่มีค่ายผู้ลี้ภัย ไม่มีค่ายผู้อพยพ ประเทศไทยมิได้ลงนามในอนุสัญญา 151 ว่าด้วยผู้อพยพ

แต่ที่เรารับผู้ที่อ้างว่าลี้ภัยสงครามมาไว้ในค่ายต่างๆกว่า 40 ปีนั้น เป็นความหน้าใหญ่ใจโตของอเมริกาที่เสนอเงินช่วยเหลือผู้ที่อ้างว่าลี้ภัยมาไว้ในค่าย โดยสมคบกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้อพยพ UN ที่รู้จักกันว่า UNHCR ซึ่งรับอาสาจะดูผู้ที่อ้างว่าลี้ภัยเพื่อได้เงินทอนก้อนใหญ่ เพราะนอกจาก UHNCR ได้รับเงินช่วยเหลือจาก USAID แล้วยังรับบริจาค จากทั่วโลก ซึ่งปัจจัยหลั่งไหลเข้ามาสู่ UNHCR ปีละมหาศาล

พวกลูกจ้าง UHNCR ผลาญกันสำราญใจ จึงไม่แปลกใจลูกจ้าง UNHCR ปลุกระดมสร้างกระแสให้ชาติพันธุต่างๆแห่เข้ายังค่ายผู้อพยพ

UNHCR มีระเบียบประหลาด คือเมื่อผู้ลี้ภัยไปถึงประเทศไหน และ UNHCR รับรู้แล้วว่าผู้ลี้ภัยไปถึงประเทศนั้น ให้ประเทศที่ผู้ลี้ภัยไปถึงเป็นประเทศแรกรับจะผลักดันกลับไม่ได้เพราะถือว่าอยู่ภายใต้คุ้มครองของ UHNCR จนกว่าจะหาประเทศที่สามรับไปตั้งรกรากหรือมั่นใจว่าผลักดันกลับไปแล้วปลอดภัย

จึงไม่แปลกใจที่สื่อตะวันตกปลุกกระแสปั่นข่าวสงครามรุนแรงในพม่า เพราะ UNHCR ได้อ้างส่งพม่า (กะเหรี่ยง) กลับไม่ปลอดภัย

UNHCR กับ USIAD ย่ามใจกับเงินทอนมานาน จนนึกไม่ถึงว่า ทรัมป์จะรู้ทันตัดเงินช่วยเหลือแบบฟ้าผ่า เลยทิ้งขี้ไว้ให้แพทย์ไทยเช็ดล้าง

นี่คือความชอบที่แพทย์ไทยไม่ต้องไปช่วยผู้อ้างว่าลี้ภัยในค่าย แพทย์ไทยลาออกเสียดีกว่าไปล้างขี้ให้ UNHCR

จับตาความยุ่งยากใน อบจ.นครศรีฯ เมื่อฝ่ายบริหารมีเสียงข้างน้อยกว่าฝ่ายค้าน

มีคนตั้งคำถามกันมากว่า เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (อบจ.) ผลการเลือกตั้ง ส.อบจ.ฝ่ายบริหารมีเสียงข้างน้อย คือ ฝ่ายบริหารมี 16 เสียง ฝ่ายค้านมี 20 เสียง อีก 6 เสียงเป็นผู้สมัครอิสระ แล้วจะเกิดความยุ่งยากในการบริหารหรือไม่ จะบริหารได้หรือไม่

แน่นอนว่า ถ้าเป็นรัฐบาลกลางยุ่งยากถึงขั้นอยู่ไม่ได้แน่นอน กฎหมายของรัฐบาลไม่ผ่านสภา นายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าไม่ลาออก ก็ต้องยุบสภา อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน

สำหรับ อบจ.นครศรีธรรมราช ให้จับตาดู
-กลุ่มพลังเมืองนคร ต้องยึดตำแหน่งประธานสภาแน่นอน เพราะเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก
-กลุ่มพลังเมืองนคร อาจจะถึงขั้นยึดตำแหน่งรองประธานสภาด้วย ถ้าไม่ประนีประนอมกัน
-หลักการของกฎหมายท้องถิ่น ถ้าสภาขัดแย้งกับฝ่ายบริหารจนทำงานไม่ได้ มีทางออก
-นายกฯมีอำนาจทำรายงานเสนอผู้ว่าฯถึงปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นได้
-ผู้ว่าฯมีอำนาจเสนอมหาดไทยให้ยุบสภา อบจ.ได้ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ แต่นายกฯยังอยู่
-ถ้าสภาถูกยุบก็ต้องเลือกตั้งใหม่ ไม่มีใครอยากเลือกตั้งใหม่
-เราจะเห็นว่าที่ผ่านมาแม้เสียงข้างน้อยก็บริหารงานได้ แต่ต้องมีการเจรจาประสานประโยชน์กันให้ลงตัว
-ต้องมีมือประสานความร่วมมือ ส.อบจ.ที่มีบารมีมากพอ และน่าจะต้องมีบารมีมากกว่านายกฯปัจจุบัน
-การแบ่งขั้วชัดเจนในช่วงหาเสียง อาจจะประสานงานยากหน่อย ถ้าคนกุมอำนาจยังเสียงแข็ง ไม่ยอมกัน

ถามว่าเคยมีตัวอย่างฝ่ายบริหารมีเสียงข้างน้อยไหม ตอบว่าเคยมีตัวอย่าง เทศบาลเมืองชุมพร ฝ่ายบริหารมีเสียง สท.น้อยกว่าฝ่ายค้าน ส่งผลให้เทศบัญญัติไม่ผ่านสภา ผู้ว่าฯลงมาเล่นด้วย ตั้งกรรมการเข้ามาจัดการ ประนีประนอม แต่ผลออกมาเทศบัญญัติงบประมาณก็ยังไม่ผ่านสภา ผู้ว่าฯชุมพร จึงเสนอมหาดไทยให้ยุบสภา ถึงที่สุดแล้ว มหาดไทยสั่งยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ ผลเลือกตั้งใหม่ ฝ่ายบริหารจึงมีเสียงข้างมาก เทศบัญญัติงบประมาณ จึงผ่านความเห็นชอบไปได้ด้วยดี

กล่าวสำหรับ อบจ.นครศรีธรรมราช น่าติดตามยิ่งว่า สภากับฝ่ายบริหารจะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ เมื่อในสนามเลือกตั้งที่ผ่านมา ต่อสู้กันดุเดือด เข้มข้น แบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน อันเป็นผลสืบเนื่องต่อกันมาจากการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ที่บดขยี้กันหนักหน่วงระหว่าง เจ้ต้อย-กนกพร เดชเดโช อดีตนายกฯ กับ น้ำ วาริน ชิณวงค์ อันส่งผลให้ฝ่ายเจ้ต้อยบ้านใหญ่ร่อนพิบูลย์ พ่ายแพ้ เสียหน้าอย่างรุนแรง เจ้ต้อยที่มี แทน-ชัยชนะ เดชเดโช สส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นหัวเรือใหญ่

มองไปถึงการเลือกตั้ง สส.ปี 70 แน่นอนว่า ถ้าแทนยังอยู่ประชาธิปัตย์ แทนจะต้องเป็นแม่ทัพใหญ่ของนครศรีธรรมราช และเป็นแม่ทัพภาคใต้ด้วย และแน่นอนว่าสนามเลือกตั้งใหญ่ปี 70 แทนจะยังคงยืนแบกหมัดกับพรรคภูมิใจไทย ที่ยังคิดจะขยายฐานเมืองนครศรีฯ จาก 2 เป็น 4 หรือเป็น 6 แน่นอน ซึ่งเป็นประเด็นที่แทนเองก็ยอมให้สูญเสียไม่ได้อีกแล้ว

แทนจึงอาจจะจำเป็นต้องระเบิดศึกในสนาม อบจ.ก่อน อันเป็นการรับรู้กันว่า อบจ.ยุคนี้สีน้ำเงินชัดเจน มีน้ำเงินที่มีพิพัฒน์ รัชกิจประการ หัวเรือใหญ่ภาคใต้ของพรรคภูมิใจไทย

แต่ปรากฏการณ์การเลือกตั้ง อบจ.ที่ส่งผลให้เจ้ต้อยพ่ายแพ้ เป็นปรากฏการณ์ที่แทนจะต้องทบทวนบทบาทของตัวเองที่ผ่านมา

แทนต้องทบทวนบทบาท และท่าทีในการแสดงออก ที่ถูกมองว่า 'วัยรุ่นกร่าง' ซึ่งแทนต้องลดท่าทีเหล่านี้ลง วัยรุ่นกร่าง นำมาสู่ข้อครหากดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร #นายหัวไทรไม่ทราบ ไม่รู้ ไม่เห็น เพียงแต่มีคำนินทาให้ได้ยิน

การนำพลพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล 'อุ๊งอิ๊ง' แห่งพรรคเพื่อไทย เป็นเหตุการณ์ที่คนใต้รับไม่ได้ เพราะต้องยอมรับความจริงว่าในช่วง 20 ปีมานี้ ประชาธิปัตย์สู้รบปรบมือกับเพื่อไทยมาตลอด และสังคมคนเชียร์ประชาธิปัตย์ก็รับรู้กันลึกซึ้งเกี่ยวกับอดีต-ปัจจุบันของ 'ทักษิณ ชินวัตร' ที่ยังรับไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ ที่ไม่เคยให้โอกาสพรรคเพื่อไทยเลย

พฤติกรรมบางเรื่องในช่วงเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และการเข้าร่วมรัฐบาล แทนถูกมองว่า ก้าวร้าวต่อผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์ ผู้อาวุโสอย่าง ชวนหลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน จุรินทร์ ลักษณะวิศิฏฐ์

จริงๆก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ประเดประดังเข้าหาแทนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อันเป็นเหตุผลหนึ่งจากหลายๆ เหตุผลที่ทำให้เจ้ต้อย ผู้เป็นแม่แพ้การเลือกตั้ง แต่หลังผลการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ผ่านไป ผมได้เห็นบริบทที่เปลี่ยนไปของแทน เช่น อ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น ได้เห็นภาพเข้าหาผู้อาวุโสมากขึ้น ถึงขั้นร่วมเคานต์ดาวน์บ้านนายหัวชวน หิ้วกระเช้าปีใหม่เข้าอวยพร ขอพรผู้อาวุโส

ภาพเหล่านี้น่าจะเกิดจากการทบทวน ถอดบทเรียนกับการเมืองที่ผ่านมา จึงเริ่มเห็น “แทน เปลี่ยนไป” แต่ต้องจับตาดูต่อไปว่า จะปรับเปลี่ยนได้อย่างยั่งยืนหรือไม่กับการเมืองในวันข้างหน้าที่หนักหน่วงไม่น้อย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top