Saturday, 17 May 2025
GoodsVoice

‘กูรู’ เจาะ Trend เทคโนโลยี 2024 AI บุกแน่!! มนุษย์โลกเตรียมรับมือ

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณชวาลิน รอดสวัสดิ์ ผู้บริหารบริษัท นิวไดเมนชั่น จำกัด หรือ NDM บริษัทฯ ที่มีประสบการณ์ด้าน IT Solutions และ HR Development มากว่า 20 ปี ถึงภาพรวมของ Trend เทคโนโลยีในปี 2024 ที่จะมีผลกระทบต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงบุคลากรที่เป็นที่ต้องการ ซึ่งภาคธุรกิจในประเทศไทยต้องตระหนัก เมื่อวันที่ 10 ก.พ.67 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้…

นอกเหนือจาก Trend ด้านพลังงาน หรือ Clean Energy ที่กำลังเขย่าอุตสาหกรรมรถยนต์ จนเกิด EV Sector (Electric Vehicle) อย่างเด่นชัดขึ้น รวมถึงพัฒนาด้าน Hydrogen (Hydrogen-Powered Train) และ Carbon Capture Technology เพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างพลังงานทดแทนแล้ว จากประสบการณ์ในการทำงานช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในแวดวงเทคโนโลยี ผมมองเห็นอีกวิวัฒนาการที่ต้องจับตามอง นั่นก็คือ ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที (Information Technology) 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2024 จะมีปรากฏการณ์ของผู้ใช้งานไอทีที่ต้องปรับตัวเองอย่างรุนแรงหนักขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก AI (Artificial Intelligence) หรือที่เราคุ้นกันว่า ‘ปัญหาประดิษฐ์’ จะเข้ามาแทรกซึมอยู่ในชีวิตเรา ทั้งแบบรู้ตัวและแบบไม่รู้ตัว รวมถึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Finance, Health Care และ Manufacturing

ตัวอย่างที่เริ่มเห็นกับบางอุตสาหกรรม ก็เช่นอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ เริ่มมีการนำนวัตกรรม Early Disease Detection มาวิเคราะห์ดูแนวโน้มของการเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ล่วงหน้า 1-6 ปี จากนั้นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จะใช้ Nano Technology เข้ามาช่วยในการวิจัยค้นคว้าและรักษาผู้ป่วย 

ส่วน Cyber Security ก็เป็นอีกหนึ่ง Trend ที่น่าสนใจและได้ยินบ่อยมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันองค์กร หน่วยงานต่างๆ มีความเสี่ยงโดนโจมตีทาง Cyber สูงมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติมีอัตราเพิ่มขึ้น 13% ต่อปี จึงต้องหาวิธีป้องกันและ AI จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นแน่ๆ 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการพัฒนา LCNC Platform  (Low Code/No Code) ซึ่งมีลักษณะเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อให้ทุกคนสามารถเขียน Software ด้วยตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียน Coding หรือ Programming มาโดยเฉพาะ เพียงมีความเข้าใจในอัลกอริทึม (Algorithm) เบื้องต้น ก็สามารถพัฒนา Software ได้แล้ว และที่น่าตกใจ คือ ในปัจจุบันองค์กรกว่า 76% เริ่มใช้ Platform นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านไอที ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลาและลดต้นทุนไปในตัว และนี่คือสิ่งที่คนทำงาน ธุรกิจ และผู้ข้องเกี่ยวต่อการพัฒนาประเทศต้องเริ่มตระหนัก

เมื่อถามถึงอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทย มีการเติบโตอย่างไร? คุณชวาลินกล่าวว่า “เมื่อปี 2023 ประเทศไทยมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจไอทีรวมๆ แล้วกว่า 930,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 2022 ถึง 4.4% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เติบโตขึ้นเพียง 2.2% เท่านั้น ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีการตื่นตัวด้านไอทีเป็นอย่างมาก ซึ่งธุรกิจผลิต Software และธุรกิจ IT Service ต่างๆ เติบโตขึ้นถึง 15% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 265,000 ล้านบาท หรือ 30% ของมูลค่ารวมตลาดไอที ส่วนธุรกิจ Data เติบโตขึ้น 5% ในขณะที่ธุรกิจ Hardware หรือ Device ต่างๆ กลับลดลง 4.7% สำหรับอุปสรรคของอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทย คือ การขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันองค์กรต่างๆ พยายามสรรหาคนเก่งๆ มาร่วมงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการ Digital Transformation ให้กับองค์กร”

เมื่อส่วนคำถามที่ว่า Digital Disruption ส่งผลต่อแวดวงธุรกิจอย่างไร? คุณชวาลิน กล่าวว่า “เมื่อเราเข้าสู่ยุค Digital ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก อายุของนวัตกรรมจะสั้นลง Technology ใหม่ๆ จะเข้ามาแทนที่ได้เร็วขึ้น ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวให้ทัน ผู้คนต้องเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งต่างกับธุรกิจเมื่อ 20-30 ปีก่อน โดยสิ่งที่จะมา Disrupt อย่างชัดเจน ได้แก่ Hyper-Personalization Data หรือการนำเอา Data จำนวนมากมาประมวลผลเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแทนมนุษย์จะเด่นชัดมากยิ่งขึ้น และการนำ AI เข้ามาตัดสินใจ (Decision Making) โดยใช้ Machine Learning และ Algorithm ต่างๆ มาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อทำให้การตัดสินใจได้ผลแม่นยำและรวดเร็ว โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีความซับซ้อนและมีปริมาณข้อมูลมหาศาลจะมีบทบาทสูงตามมา”

เมื่อถามถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีขององค์กร, หน่วยงานต่างๆ จะแก้ไขได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ถูก AI และ เทคโนโลยียุคใหม่กลืนกิน? คุณชวาลิน กล่าวว่า “แนวโน้มของหลายองค์กรตอนนี้ เริ่มใช้วิธี Outsource คนมากขึ้นกับกลุ่มบุคลากรด้าน IT เนื่องจากช่วยลดภาระด้านบุคลากรขององค์กรได้มาก เลือกคนคุณภาพได้ ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งบทบาทของ ‘บริษัทฯ สรรหาบุคลากร’ จะโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งก็รวมถึง NDM ด้วย เพราะจะกลายเฟืองสำคัญในการเป็นผู้ช่วยดูแลทุกกระบวนการขององค์กรต่างๆ ในทางอ้อมได้ดี ตั้งแต่การวางแผนจัดจ้าง ออกแบบ คัดสรรบุคลากร และทำ Onboarding Process ไปจนถึงการส่งมอบบุคคลากรตามความต้องการให้ร่วมปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”

เมื่อถามถึง NDM กับบทบาทที่เกี่ยวเนื่องในสิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนี้? คุณชวาลิน กล่าวว่า “ในส่วนของ NDM เอง เนื่องจากเราคว่ำหวอดกับทุกการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีคุณภาพ ทำให้เราสามารถสร้างเครือข่ายบุคลากรไอที ที่มีความชำนาญในเทคโนโลยีทุกรูปแบบ เสิร์ฟให้ไปสู่องค์กรในทุกระดับ เพื่อรองรับงานที่เหมาะต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง”

‘อ.อุ๋ย ปชป.’ แนะ!! นายกฯ สานต่อ ‘คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน’  แทนการผลักดันเงินดิจิทัล ที่ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไรและเสี่ยงผิดกม. 

(8 ก.พ.67) จากกรณีที่ ป.ป.ช. ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัลของรัฐบาลนายกเศรษฐา ว่าต้องระมัดระวังด้านข้อกฎหมายหลายประการ ซึ่งมีโอกาสจะทำให้โครงการเงินดิจิทัลต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย อดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า ตนเพิ่งได้ลงพื้นที่สำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับฐานรากในพื้นที่เขตบางกะปิ เช่น บริเวณตลาดนัดการกีฬาแห่งประเทศไทย ซอยมหาดไทย (รามคำแหง 65) และย่านการค้าหน้าและหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของประชาชนคือ การขาดเงินหมุนเวียนระยะสั้นเพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอย บวกกับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นสูง ทำให้ต้องจำกัดการใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เช่น อาหารการกินราคาประหยัด ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ทำให้สินค้าและบริการอย่างอื่นขายแทบไม่ได้เลย ต้องทยอยปิดตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการว่างงานเพิ่มมากขึ้น 

ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยเร็ว หากจะรอให้โครงการเงินดิจิทัล ซึ่งยังติดขัดข้อกฎหมายอีกหลายประการ ยังขาดความชัดเจนว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่ ก็อาจจะไม่ทันการกับความต้องการของประชาชน ตนจึงเสนอให้รัฐบาลสานต่อโครงการคนละครึ่ง ซึ่งทำให้เกิดภาระทางการคลังน้อยกว่าเพราะรัฐบาลออกเงินเพียงครึ่งเดียวของราคาสินค้าและบริการ นำเม็ดเงินเข้าสู่ผู้ประกอบการโดยตรงและพุ่งเป้าไปที่คนที่ต้องการใช้เงินจริงๆ นอกจากนี้ระบบต่างๆ ของโครงการคนละครึ่งได้ถูกวางไว้เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ปรากฏข้อติดขัดทางกฎหมาย พร้อมใช้งานได้ทันที ดีกว่าที่จะรอโครงการเงินดิจิทัล ซึ่งไม่รู้จะได้ใช้เมื่อไหร่ และต้องเสียเวลากับการออกแบบโครงสร้างระบบอีก 

นอกจากนี้อีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งรัฐบาลคิดจะฉลองยาวถึง 21 วัน ตนก็คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะสานต่อโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริม Soft Power ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่เช่นกัน 

ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากนายกเศรษฐาและรัฐบาลสานต่อทั้งสองโครงการของรัฐบาลชุดที่แล้ว จะได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างแน่นอน เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยึดถือประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศเป็นสำคัญอยู่เหนือสิ่งอื่นใด

'วีระศักดิ์' พาชม 10 ปีแห่งการพัฒนาที่ดินเพื่อสิ่งแวดล้อมของ ปตท. จาก 12 ไร่รกร้างกลางกรุง กลายร่างเป็นนิเวศป่ากลางเมืองแสนอุดม

เมื่อวานนี้ (8 ก.พ.67) ประธานและรองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำคณะกรรมาธิการฯ ไปสำรวจศึกษาตัวอย่าง 'ป่าในกรุง' ซึ่งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลงทุนซื้อที่ดินเอกชนที่เคยเป็นกองขยะรกร้างจำนวน 12 ไร่ ในเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มาพัฒนาให้กลายเป็นนิเวศป่ากลางเมือง ด้วยแนวคิดสถาปนิกญี่ปุ่น ดร.มิยาวากิ อากิระ ที่ต้องการเลียนแบบป่าท้องถิ่นธรรมชาติ เน้นให้พืชหลากชนิด หลากเรือนชั้น แข่งกันโตในแนวพุ่งสูงขึ้นสู่ฟ้า โดยปลูกต้นไม้อย่างน้อย 5 ต้นต่อตารางเมตร

จากนั้นสร้างทางเดินชมธรรมชาติที่ยกระดับต่าง ๆ ขึ้นจนถึงเรือนยอดไม้ และต่อด้วยหอคอยสูงเท่าอาคาร 9 ชั้น เพื่อให้สามารถชมสวนป่ากลางกรุงได้ด้วยวิว 360 องศา

จากประสบการณ์ปลูกป่าล้านไร่ ของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ที่นี่จึงเรียนรู้ที่จะรวบรวมดินปลูกตัวอย่างจากทั่วภาคกลาง รวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่เคยมีในเขตกรุงเทพเเละปริมณฑลมาไว้กว่า 270 ชนิด

เริ่มโครงการเมื่อ 2557 แบ่งพื้นที่เป็นสระน้ำ 10% ใช้เป็นที่ตั้งอาคารดินเพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ 15% อีก 75% ใช้ปลูกป่า ที่มีทั้งโซนไม้เบญจพรรณ ป่าผลัดใบไปจนถึงป่าชายเลน

เพียง 10 ปีผ่านไป ที่นี่ดึงดูดให้ได้พบเจอนกนานาพันธุ์ที่หาชมยาก เข้ามาปรากฏตัวมากถึง 74 ชนิด จาก 37 วงศ์ 

ที่นี่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมทุกวันอังคารถึงอาทิตย์ (มีกิจกรรมนำชมทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หากทำการจองเวลานัดหมายไว้ล่วงหน้า)

ที่นี่ยังอนุญาตให้หน่วยงานและกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาขอใช้สถานที่เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อ 'ปลูกป่าในใจคน' และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า "ที่นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสิ่งแวดล้อม ผ่านมุมมองด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่อัตคัดอย่างมหานครใหญ่ นับเป็นกรณีที่ควรแก่การยกย่อง และเหมาะสมต่อการผลักดันนโยบายสนับสนุนทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เช่นการได้รับยกเว้นภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง การได้รับอัตราค่าไฟฟ้าสาธารณะ การใช้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางวิชาการ  การฝึกปฏิบัติด้านการเพาะเลี้ยงกล้าไม้ สำหรับคนเมืองต่อไป…"

‘อ.พงษ์ภาณุ’ กระตุ้นสูตรความยิ่งใหญ่กีฬาไทย อาจต้องใช้เงินภาคเอกชน ‘อุดหนุน-พาสู่ฝัน’

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'กีฬาไทย ต้องเป็นมืออาชีพและใช้เงินภาคเอกชน' เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

ปี 2567 จะเป็นปีที่วงการกีฬาโลกและกีฬาไทยมีความคึกคักเป็นพิเศษ เพราะจะมีมหกรรมกีฬาโอลิมปิค 2024 ที่กรุงปารีส (Paris Olympics) ฟุตบอลยูโร 2024 การแข่งขัน Super Bowl ครั้งที่ 58 ที่ Las Vegas อาทิตย์นี้การเข้ามามีบทบทบาทในเวทีกีฬาโลกของซาอุดีอาระเบีย

ในขณะที่วงการฟุตบอลของไทยก็ได้นายกสมาคมคนใหม่ (มาดามแป้ง) มารับภาระในการพัฒนากีฬาฟุตบอล ซึ่งกำลังตกต่ำเป็นประวัติการณ์

น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่วงการกีฬาไทยจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์และความสำเร็จของประเทศอื่น วันนี้ต้องยอมรับว่ากีฬาไทยไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากรการเงิน โดยเฉพาะเงินจากภาครัฐอีกต่อไป เมื่อปี 2558 รัฐบาลได้จัดสรรเงินภาษีบาป (ภาษีสุราและยาสูบ) ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท อย่างต่อเนื่องมาเข้ากองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ทำให้มีเงินเพียงพอที่จะสามารถจัดเงินอุดหนุนให้สมาคมกีฬาต่าง ๆ อย่างพอเพียง

แต่จนแล้วจนรอดวงการกีฬาไทยก็ยังไม่พัฒนาไปถึงไหน ผลงานนักกีฬาไทยในเวทีระดับโลกและระดับภูมิภาคยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แม้ว่ารัฐบาลจะใส่เงินลงไปค่อนข้างมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคแต่ผลงานก็ยังสู้ไม่ได้แม้แต่ประเทศเวียดนาม ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก กีฬาไทยยังพึ่งงบประมาณภาครัฐเป็นหลัก และแม้ว่าจะได้รับเงินจากภาษีอากรมาค่อนข้างมาก แต่การใช้เงินขาดประสิทธิภาพ เงินงบประมาณส่วนใหญ่หมดไปกับค่าเดินทางไปต่างประเทศของนักกีฬาและบุคคลติดสอยห้อยตามเป็นจำนวนมาก การใช้เงินของสมาคมกีฬาขาดความโปร่งใสและไม่มีการตรวจสอบ กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติไม่มีประสิทธิภาพในการอนุมัติและบริหารการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งสะท้อนจากการร้องเรียนของสมาคมกีฬาเป็นระยะ ๆ

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กีฬากลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สามารถสร้างรายได้มหาศาล และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาครัฐและเป็นภาระต่อผู้เสียภาษี กีฬาอาชีพหลายชนิด อาทิเช่น ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล กอล์ฟ เป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่าธุรกิจบันเทิงอื่น และหลังจากซาอุดีอาระเบียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เงินจากปิโตรเลียมได้มีส่วนกระตุ้นให้ทีม/สโมสร และผู้เล่นมีรายได้และค่าตอบแทนสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งในรูปของค่าสิทธิประโยชน์ (Sponsorships) ค่าสิทธิในการถ่ายทอด (Broadcasting Rights) และค่าตัวนักกีฬา

สมาคมฟุตบอลไทยในอดีตประสบความสําเร็จเป็นอย่างสูง เรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมพัฒนาฟุตบอลไทย คงจะไม่ยุติธรรมนักถ้าจะไม่เอ่ยชื่อคุณวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคม และบริษัทโตโยต้าประเทศไทย ฟุตบอลไทยได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนานใหญ่จากในอดีตที่เป็นแค่ทีมในสังกัดองค์กรมาเป็นสโมสรที่เป็นนิติบุคคล ไทยลีกได้พัฒนาเป็นลีกฟุตบอลชั้นนำของเอเชียไม่แพ้ J League ของญี่ปุ่น รายได้จากการประมูลสิทธิการถ่ายทอดเกมส์ฟุตบอลของไทยลีกมีจำนวนสูงถึงปีละกว่าพันล้านบาท การท่องเที่ยวเชิงกีฬาสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการเดินทางติดตามเชียร์ของแฟนคลับ

แทบไม่น่าเชื่อว่าความสำเร็จเหล่านี้ได้หายไปจากวงการกีฬาไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามานี้ วันนี้จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนเพื่อสร้างกีฬาไทยให้กลับมายิ่งใหญ่ และโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล ภายใต้นายกสมาคมคนใหม่ ที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำหลักการและบทเรียนที่ในอดีตกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อให้ความฝันบอลไทยได้ไปบอลโลก กลายเป็นความจริงเสียที

‘รมว.ปุ้ย’ เล่นใหญ่!! พลิก สมอ. สร้างมาตรฐาน 1,000 เรื่อง เป้าหลัก!! ‘สกัดสินค้าด้อยคุณภาพ-เสริมศักยภาพภาคอุตฯ’

(9 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ขออนุมัติบอร์ด สมอ. กำหนดมาตรฐานในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขออนุมัติไว้ 603 มาตรฐาน เป็น 744 มาตรฐาน โดยบอร์ดได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้ผลิตสินค้าอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ในทุกเวทีการค้า ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยตั้งเป้าหมายในปี 2567 สมอ. จะต้องกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (มอก.) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 มาตรฐาน เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ทั้ง S-curve และ New S-curve เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, EV, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมชีวภาพ, AI, ฮาลาล และ Soft power รวมทั้งตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และเป็นกลไกสกัดสินค้าด้อยคุณภาพจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า จากการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐาน จำนวน 32 มาตรฐาน เช่น ท่อเหล็กกล้า, คอนกรีต, ปูนซิเมนต์, เตาอบไฟฟ้าแบบตั้งโต๊ะ, เตาอบเตาปิ้งย่างเชิงพาณิชย์, เครื่องอุ่นไส้กรอก, อ่างน้ำวนและสปาน้ำวน, สายสวนภายในหลอดเลือด, ยางวัลคาไนซ์ และมาตรฐานวิธีทดสอบต่างๆ รวมทั้ง เห็นชอบรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ. ขอกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมจากเดิมอีก 141 มาตรฐาน จากที่เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว 603 มาตรฐาน รวมเป็น 744 มาตรฐาน 

ขณะที่ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานที่ สมอ. จะทำเพิ่มเติม เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 50 มาตรฐาน และมาตรฐานวิธีทดสอบและข้อแนะนำ 91 มาตรฐาน แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมดังนี้ 

1) S-curve 1 มาตรฐาน 
2) New S-curve 25 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร 
3) มาตรฐานตามนโยบาย 54 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานสมุนไพร และเครื่องกลและภาชนะรับความดัน 
4) มาตรฐานส่งเสริมผู้ประกอบการ 23 มาตรฐาน 
5) มาตรฐานกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 38 มาตรฐาน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก ยานยนต์ และสิ่งทอ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ สมอ. ได้รับนโยบายจาก รัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา ที่เร่งรัดกำหนดมาตรฐานให้ได้ 1,000 มาตรฐาน โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับ SDOs ของ สมอ. ทั้ง 8 สถาบันเครือข่าย ได้แก่ สถาบันอาหาร / สถาบันพลาสติก / สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย / สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย / สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ / สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ / สถาบันยานยนต์ และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 

รวมทั้งภาคีเครือข่าย SDOs อื่น ๆ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานตามความเชี่ยวชาญและความถนัดของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้วยเล็งเห็นว่ามาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญทางการค้า ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยหลังจากนี้ สมอ. จะเสนอบอร์ดให้ความเห็นชอบรายชื่อมาตรฐานในส่วนที่เหลือต่อไป

SME D Bank สร้างนิวไฮ ปี 66 พาเอสเอ็มอีถึงแหล่งทุนทะลุ 7 หมื่นล้านบาท ชูธง ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ 4 ปี ดันเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

SME D Bank แถลงผลสำเร็จปี 2566 สร้างสถิติใหม่รอบด้าน สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร เผยพาเอสเอ็มอีถึงแหล่งทุนกว่า 7.06 หมื่นล้านบาท และตลอด 4 ปี กว่า 2.3 แสนล้านบาท สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท พัฒนาเสริมแกร่งกว่า 7.5 หมื่นราย รักษาการจ้างงานได้กว่า 7.5 แสนราย  ขณะที่บริหาร NPL มีประสิทธิภาพ เหลือต่ำสุดในรอบ 22 ปี ประกาศปี 2567 ยกระดับสู่ยุคดิจิทัลโดยสมบูรณ์ คิกออฟใช้ระบบ CBS พร้อมแพลตฟอร์ม DX มั่นใจเดินหน้าไร้รอยต่อ  

(9 ก.พ. 67) นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวถึงผลการดำเนินงานของธนาคาร ปี 2566 และภาพรวมตลอด 4 ปี (2563-2566) ว่า จากจุดยืนการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่พร้อมเคียงข้างส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตยั่งยืน ด้วยแนวทาง 'เติมทุนคู่พัฒนา' ประกอบกับความมุ่งมั่น ทุ่มเทของคณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานที่รวมพลังเป็น ONE Team ส่งผลให้ปี 2566 ที่ผ่านมา  SME D Bank สร้างสถิติใหม่สูงสุด (New High) นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมาใน 22 ปี สามารถพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 70,695 ล้านบาท และยังเป็นการสร้าง New High ต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน (2563-2566) อีกทั้ง ช่วยสร้างประโยชน์เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 323,780  ล้านบาท รักษาการจ้างงานประมาณ 123,200 ราย นอกจากนั้นช่วยพัฒนาเสริมแกร่งธุรกิจอีกกว่า 24,000 ราย

ทั้งนี้ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2563-2566) ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19  SME D Bank ช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ให้สามารถประคับประคองธุรกิจ และข้ามผ่านช่วงเวลายากลำบากไปให้ได้ โดยเติมทุนช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดประโยชน์สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้ประมาณ 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพ ให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและกลับมาฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อบรม สัมมนา ช่วยขยายตลาด ยกระดับมาตรฐาน สนับสนุนเข้าถึงนวัตกรรม พาจับคู่เพิ่มช่องทางขายในและต่างประเทศ เป็นต้น มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมและได้รับประโยชน์มากกว่า 75,000 ราย 

นอกจากนั้น ดูแลลูกค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท อีกทั้ง สามารถบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อย่างมีประสิทธิภาพ ลงลด 4 ปีติดต่อกัน เหลือเลข 1 หลัก 2 ปีซ้อน โดยปี 2566 ลดเหลือประมาณ 8,690 ล้านบาท คิดเป็น 8.3% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี 

"ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา SME D Bank เพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับการทำงาน อีกทั้ง พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อตอบความต้องการ ปรับปรุงหลักเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์จริง ควบคู่กับสร้าง DNA แห่งการเป็น ‘นักพัฒนา’ หรือ DEVELOPER ในหัวใจของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกคน เพื่อจะพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน" นางสาวนารถนารี กล่าว

สำหรับปี 2567 การทำงานของ SME D Bank ยกระดับไปอีกขั้น นำระบบดิจิทัลใหม่ หรือ Core Banking System (CBS) ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี มาใช้งานอย่างเป็นทางการ สามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ครบวงจร ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนั้น ยังมีแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเป็นระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. สามารถปรึกษาโค้ชมืออาชีพแบบตัวต่อตัว รวมถึง ยังช่วยเพิ่มช่องทางขยายตลาด นอกจากนั้น ยังนำหลัก ESG (การดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) มาขับเคลื่อนในทุกมิติขององค์กร สร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างคุณค่าแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

นางสาวนารถนารี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า แม้ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 นี้ จะครบวาระการทำงาน 4 ปี ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แต่ด้วยรากฐานมั่นคงขององค์กร อีกทั้ง ทีมผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ล้วนเป็นบุคลากรภายในที่ร่วมผลักดันยกระดับองค์กรมาด้วยกัน และยังอยู่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่อเนื่อง ทำให้การทำงานทุกด้านของ SME D Bank สามารถเดินหน้าได้ดีอย่างไร้รอยต่อ และเชื่อมั่นว่า SME D Bank พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างทั่วถึง และมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ความมั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยตลอดไป

‘BDMS’ ครองอันดับหนึ่ง ดัชนี DJSI ปี 2023 ผู้นำด้านความยั่งยืน กลุ่มการบริการทางการแพทย์

ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ส่งผลให้ BDMS ขึ้นที่ 1 ผู้นำด้านความยั่งยืนของโลก ปี 2023 ในกลุ่มการบริการทางการแพทย์ (Health Care Providers & Services) ทั้งในระดับโลก (DJSI World) เป็นปีแรก และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยคะแนนอันดับ 1 มิติด้านสังคม ของกลุ่มธุรกิจการบริการทางการแพทย์ จากการประเมินของ S&P Global 

ดัชนี DJSI นี้ เน้นการประเมินความยั่งยืนของธุรกิจใน 3 ด้าน ได้แก่ การรักษาสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคม และการกำกับดูแลบนหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหลักดำเนินธุรกิจที่ BDMS ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ตามกลยุทธ์ขององค์กรที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง (BDMS Innovative Healthcare) การบริการแพทย์ทางไกลเพื่อสุขภาพใจ (BeDee Tele Mental Health) และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (BDMS Green Healthcare) เป็นต้น

กลยุทธ์ BDMS Innovative Healthcare ที่นับเป็นความสำเร็จด้านนวัตกรรมที่น่าภาคภูมิใจนั้น ได้แก่ การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ด้วยเทคนิคใหม่ที่ไม่ตัดกล้ามเนื้อ หรือ Direct Anterior Approach Hip Replacement (DAA) วิธีใหม่นี้ช่วยลดระยะเวลาฟื้นตัวของผู้ป่วยได้มากกว่าร้อยละ 50 ทำให้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้เข้ารับการรักษา 

ทั้งนี้ BDMS ได้จัดตั้งโครงการอบรมเทคนิคนวัตกรรมการผ่าตัดดังกล่าว โดยมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 180 ราย ใน 170 โรงพยาบาล พร้อมทั้งสนับสนุนการเผยแพร่องค์ความรู้นี้ไปสู่เวทีวิชาการในระดับนานาชาติ 

สำหรับนวัตกรรมการบริการการแพทย์ทางไกล BDMS ได้พัฒนา BeDee Tele Mental Health เพื่อดูแลสุขภาพใจ โดยร่วมกับมูลนิธิเวชดุสิตฯ ขยายโอกาสในการดูแลสุขภาพให้กับพนักงานในเครือ ฯ และ นักศึกษาหลักสูตรวิทยาการสุขภาพ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมบริการการแพทย์ในอนาคต 

ในส่วนของ BDMS Green Healthcare นั้น เป็นการตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดําเนินงานสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือ พ.ศ. 2593 (BDMS Net Zero 2050)  

BDMS มีพันธกิจสำคัญคือ “ผู้นำบริการด้านสุขภาพที่ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีบนวิถีแห่งความยั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับหลักการดำเนินธุรกิจยั่งยืนตามแนวทาง ESG ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อีกทั้งมุ่งเน้นสร้างประสบการณ์อย่างมีคุณค่าแก่ผู้ใช้บริการด้วยความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพได้ด้วยมาตรฐานที่ทัดเทียมระดับสากล โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนเป็นผลมาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่พร้อมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

‘KTC’ ร่วมส่งท้ายมาตรการ ‘Easy E-Receipt’ มอบสิทธิพิเศษ เอาใจนักช็อปออนไลน์สินค้าไอที

เคทีซีมอบสิทธิพิเศษแก่สมาชิกบัตรเคทีซี ที่ช็อปสินค้าไอทีผ่านร้านค้าพันธมิตรออนไลน์ชั้นนำ รับสิทธิพิเศษลดหย่อนภาษีจากการเข้าร่วมมาตรการ ‘อีซี่ อี-รีซีท’ (Easy E-Receipt) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อชำระด้วยบัตรเครดิตเคทีซี พร้อมรับความคุ้มค่า 2 ต่อ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567

(9 ก.พ. 67) นายณัฐสิทธิ์ สุนทราณู ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐออกมาตรการ ‘อีซี่ อี-รีซีท’ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มาลดหย่อนภาษีออนไลน์สูงสุดถึง 50,000 บาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่า การใช้บัตรเครดิตเคทีซีในการซื้อสินค้าในหมวดไอทีเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งน่าจะเป็นผลจากมาตรการดังกล่าวที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน รวมถึงโปรโมชันที่สนับสนุนให้สมาชิกได้รับความคุ้มค่าจากสิทธิพิเศษควบคู่กันไปถึง 2 คุ้ม 

-คุ้มที่ 1 ผ่อนชำระ 0% นานสูงสุด 10 เดือน พร้อมรับเครดิตเงินคืน/ส่วนลด เมื่อมียอดผ่อน
ชำระ 3 เดือนขึ้นไป 

-คุ้มที่ 2 ใช้คะแนน KTC FOREVER ตั้งแต่ 1,000 คะแนนขึ้นไป เพื่อแลกรับเครดิตเงินคืน เพิ่มสูงสุดอีก 20% เมื่อชำระเต็มจำนวนหรือผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตเคทีซีตามยอดใช้จ่ายที่กำหนด ณ ร้านค้าไอทีชั้นนำที่ร่วมรายการ ได้แก่ Advice, J.I.B., IT City, Asus, HP, Lenovo, Acer, BaNANA, Studio7, iStudio by Copperwired, .life, iStudio by SPVI และ iStudio by Uficon หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ktc.promo/itonline

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ KTC PHONE 02 123 5000 สำหรับผู้สนใจสมัครบัตรเครดิตเคทีซีทุกประเภท คลิก https://ktc.today/apply-card หรือติดต่อ KTC PHONE โทร. 0-2123-5000 หรือศูนย์บริการสมาชิก ‘เคทีซี ทัช’ ทุกสาขาทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ ผู้ถือบัตรเครดิตควรใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี 

‘รมว.ปุ้ย’ เยือนญี่ปุ่น กระชับความร่วมมือ ‘METI’ ลุ้น 800 เอกชนญี่ปุ่นลงทุนอุตฯ ฮาลาลในไทย

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 67 ที่นครโตเกียว นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น มุ่งต่อยอดความร่วมมือแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Cooperation Framework) กับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (METI) มุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกัน พร้อมเข้าร่วมประชุมหารือกับองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาล ของประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) เพื่อชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย คาดว่ามีนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจร่วมลงทุนราว 800 ราย และจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่น ถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกันและกันมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าการลงทุนในประเทศเป็นอันดับ 1 ดังนั้น จึงต้องการเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกัน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งทั้งสองประเทศ เพื่อรองรับและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจจากกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรม เป้าหมายที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพ 

ล่าสุด เพื่อเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและก้าวทันยุคสมัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนกรอบการทำงานระหว่างกัน 2 ฉบับ ในปี 2018 และ 2022 ที่มุ่งเน้นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย และต่อยอดการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย รวมถึงกระตุ้นการเติบโต และสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งแก่ภาคอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่น

โดยการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรมและคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางการต่อยอดความร่วมมือ พร้อมแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน ฉบับใหม่ระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย...

1.) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อรองรับการขยายตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

2.) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรวมทั้งในระหว่างกระบวนการผลิตและในนิคมอุตสาหกรรม

3.) การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการส่งเสริมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณของเสียหรือชิ้นส่วนจากยานยนต์ (End-of –Life Vehicle)

และ 4.) การพัฒนาพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์สมัยใหม่แห่งภูมิภาค

พร้อมกันนี้ ยังได้หารือกับ 2 องค์กรพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) มุ่งเน้นการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย - ญี่ปุ่น รวมทั้งยกระดับการบ่มเพาะ พัฒนาสร้างเครือข่ายสตาร์ตอัป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก การแพทย์ สิ่งแวดล้อม และอวกาศ นอกจากนี้ ยังได้เข้าหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) 

โดยร่วมกันวางกรอบแนวทางความร่วมมือไว้ 4 กิจกรรม คือ…

1.) โครงการการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
2.) โครงการพัฒนารถบัส รถบรรทุก และรถฟอล์คลิฟต์ ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมตามนิคมอุตสาหกรรม
3.) โครงการ CCUS หรือการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
และ 4.) โครงการรีไซเคิลมอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ยังได้หารือกับองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาลของประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) เพื่อการขยายความร่วมมือกับอุตสาหกรรมฮาลาลของญี่ปุ่นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยและใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบของไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารญี่ปุ่นฮาลาล ไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพ ตามแนวคิดครัวไทยสู่ครัวโลก คาดว่าจะมีเอกชนสนใจมาลงทุนในประเทศไม่ต่ำกว่า 800 ราย และจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท 

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น ด้วยการต่อยอดและขยายผลกรอบการทำงาน (Framework) ฉบับใหม่ ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการขยายความร่วมมือและสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมไทยภายังใต้แนวนโยบาย DIPROM Connection 

“ความร่วมมือในครั้งนี้ เน้นให้อุตสาหกรรมปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ เช่น Robotic, IoT, Automation เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการจัดการ รวมทั้งการยกระดับกระบวนการผลิตทั้งระบบสู่แนวทางอุตสาหกรรมสีเขียว ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนำกลับมาใช้ใหม่ และการพัฒนาพลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ การรีไซเคิล - อัปไซเคิล วัสดุต่างๆ อย่างครบวงจร โดยเฉพาะซากยานยนต์ที่มีเพิ่มขึ้นโดยตลอด ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และเปรียบได้กับบัตรผ่านทางสู่เวทีโลกในอนาคต” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

‘สุริยะ’ ลุย ‘ทสภ.’ กำชับทุกหน่วยเตรียมพร้อมช่วงตรุษจีน เน้นย้ำ!! การให้บริการ นทท.ต้องสะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย

(10 ก.พ. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ได้เดินทางตรวจติดตามความคืบหน้า ตามข้อสั่งการในการเตรียมพร้อมการให้บริการผู้โดยสาร ในช่วงเทศกาลตรุษจีน และการแก้ไขปัญหาความหนาแน่นในการรอคิวตรวจหนังสือเดินทาง รองรับผู้โดยสารช่วงเทศกาลตรุษจีน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)

โดยในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2567 ระหว่างวันที่ 4-16 กุมภาพันธ์ 2567 คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้สั่งการให้ ทอท. ท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในทุกมิติ โดยให้มีการจัดเจ้าหน้าที่คอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริการผู้โดยสารในภาพรวมเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว

ทั้งนี้ จากที่ได้เริ่ม มาตรการ Visa Free ขณะนี้ได้มีเที่ยวบินขาเข้าสูงถึง 1,040 เที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน เตรียมแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดเหตุขัดข้อง และให้ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ รองรับและสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล

พร้อมกันนี้ยังได้ให้ทาง ตม.2 เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้บริการจุดตรวจคนเข้าเมืองทุกช่องบริการให้เพียงพอในการรองรับการใช้บริการผู้โดยสารในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยได้มีการเสริมเจ้าหน้าที่เวรปฏิบัติงานนอกเวลา และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ตม. จากจังหวัดต่าง ๆ เข้ามาช่วยปฏิบัติงานที่ ทสภ. รวมถึงยังได้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกหน่วยปฏิบัติงานมาเป็นเจ้าหน้าที่ ตม.2 กว่า 60 นาย นอกจากนี้ ตม.2 ได้มีการบรรจุเจ้าหน้าที่ใหม่แล้วจำนวน 200 อัตรา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการอบรมภาคทฤษฎีคาดว่าจะสามารถ เริ่มปฏิบัติงานได้จริงตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้ รวมทั้งยังมีแผนที่จะขอบรรจุอัตรากำลังเพิ่มอีก 400 อัตรา รวมเป็น 600 อัตราในอนาคต

รวมถึงให้ตรวจสอบความพร้อมของช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ ‘Automatic channels’ โดยวางมาตรการในการป้องกันการขัดข้องของระบบ Biometric พร้อมให้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของระบบตลอด 24 ชม. รวมถึงได้มีการเปลี่ยนเครื่องลูกข่ายหน้าช่องตรวจทุกช่องทั้งขาเข้า ขาออก ทำให้ระบบการทำงานดีขึ้น และในระยะยาวทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) จะได้จัดหาระบบใหม่ทดแทนเป็นระบบเดียว คือ ‘ระบบ TIS’ (Thailand Immigration System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจลงตราซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 นั้น เตรียมเปิดใช้งานได้ในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานจะเพิ่มศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินของ ทสภ. จากเดิม 67 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของท่าอากาศยานหลักของไทยในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยตามแผนยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาคหรือ Aviation Upgrade ของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค

“ในช่วง 20 ปีก่อน สนามบินสุวรรณภูมิ เคยติดอันดับ 7 ของโลก แต่ในปัจจุบันนี้ตกไปอยู่อันดับที่ 76 ของโลก สาเหตุจากการถดถอยของการให้บริการ ดังนั้นผมได้ให้นโยบายต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไขต้องเร่งปรับเปลี่ยนโดยเร็ว เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิ เลื่อนอันดับขึ้นมาติด 1 ใน 20 ของโลกให้ได้” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 หรือ อาคาร SAT 1 ขณะนี้มีสายการบินหลายสายได้ย้ายไปให้บริการที่อาคาร SAT 1 เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีเที่ยวบินเฉลี่ยต่อวันกว่า 86 เที่ยวบิน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้คาดว่าภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์จะมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 112 เที่ยวบิน และจะมีสายการบินมาใช้บริการเพิ่มขี้นเป็น 16 สายการบินจากเดิม 13 สายการบิน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top