Saturday, 17 May 2025
GoodsVoice

‘กูรูฟุตบอลไทย’ ชี้!! เส้นทางวงการฟุตบอลไทยยุคนี้ สดใส หลังโครงสร้างสมาคมใหม่ เหมือน รบ.แห่งชาติด้านฟุตบอล

จากผลการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งได้นายกสมาคมคนใหม่ อย่าง ‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลหญิงคนแรกของไทย ทำให้เกิดการจุดประกายให้กับวงการฟุตบอลไทยว่าจะกลับมาสู่ยุคเฟื่องฟูอีกหรือไม่? รายการ The Tomorrow มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES จึงได้คลุกวงในพูดคุยกับ คุณศิริชัย ยิ่งเจริญ ผู้จัดรายการ BANGKOK PREMIER LEAGUE ซึ่งอยู่ในแวดวงกีฬาฟุตบอลไทยมาอย่างยาวนาน ถึงทิศทางและโอกาสของฟุตบอลไทยในปัจจุบันและอนาคต เมื่อวันที่ 17 ก.พ.67โดยคุณศิริชัย กล่าวว่า…

แม้วงการฟุตบอลไทยจะเริ่มกลับมาเติบโต ถ้าเอาจริงๆ แล้วถ้าเทียบกับวงการฟุตบอลทั่วโลกถือว่ายังอยู่ในช่วงไข่ด้วยซ้ำไป ซึ่งตรงนี้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะต้องมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเข้ามาดูแลและขับเคลื่อน ภายหลังจากได้นายกสมาคมฯ คนใหม่ อย่าง ‘มาดามแป้ง’ โดยส่วนตัวผมเห็นว่า มาดามแป้งมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งการประสานงานในภาคส่วนต่างๆ เนื่องจากเป็นผู้จัดการทีมชาติอยู่แล้ว และยังมีใจรักและทุ่มเท ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเราได้รัฐบาลแห่งชาติด้านฟุตบอล ซึ่งคาดหวังว่าวงการฟุตบอลไทยน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น 

เมื่อพูดถึงนักกีฬาดาวเด่นที่จะมาเป็นกำลังสำคัญจากทัวร์นาเมนต์การแข่งขันในไทยนั้น? คุณศิริชัย กล่าวว่า “ถ้าจะให้อธิบายถึงลีกฟุตบอลไทยอาชีพในปัจจุบันจะแบ่งเป็น 5 ระดับด้วยกัน คือ Tier 1  Tier 2  และ Tier 3 และรองลงมาแบบสมัครเล่น ได้แก่ ‘ไทยแลนด์ เซมิโปรลีก’ และ ‘ไทยแลนด์ เมเจอร์ลีก’ โดยมี BANGKOK PREMIER LEAGUE ซึ่งเป็นรายการที่จัดการแข่งขันอยู่ในกลุ่มไทยแลนด์ เซมิโปรลีก เป็นแม่เหล็กที่น่าสนใจ เพราะรายการนี้สามารถสร้างนักเตะรุ่นใหม่เลื่อนชั้นสู่ระดับอาชีพได้มากมาย เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่สร้างความร่วมมือกับโรงเรียนระดับมัธยมปลาย เพื่อเฟ้นหานักกีฬาฟุตบอลเยาวชนเมล็ดพันธุ์ใหม่ เข้าสู่ทีมโดยมีเป้าหมายพัฒนาไปสู่นักฟุตบอลอาชีพ ที่ต้องมีใจรัก มีความพร้อมและทุ่มเท โดยเฉพาะสภาพร่างกาย และวินัยในการฝึกซ้อม”

เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากนำเสนอเพื่อให้วงการฟุตบอลไทยเกิดการพัฒนา? คุณศิริชัย กล่าวว่า “เราควรปูพื้นฐานใหม่ด้านกีฬาฟุตบอลทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่โภชนาการ เทคนิคการเล่น วิทยาศาสตร์การกีฬา สภาพร่างกาย ซึ่งควรเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่วัยเด็กหรือเยาวชน โดยที่ครอบครัวและผู้ปกครองก็จะมีส่วนสำคัญในด้านนี้ เช่น การส่งเสริมให้บุตรหลานอยากเป็นนักฟุตบอลด้วยใจรัก สนุกไปกับมัน ภายใต้ความพร้อมด้านงบประมาณ ค่าใช้จ่าย”

อย่างไรก็ตาม คุณศิริชัย ก็ไม่ได้ตีกรอบให้ผู้ปกครองต้องผูกเด็กไว้กับกีฬาฟุตบอลเท่านั้น ควรหาแรงบันดาลใจของบุตรหลานตัวเองให้ได้ว่าชอบกีฬาอะไร โดยการพาไปชมกีฬาหลาย ๆ ประเภทหรือทดลองเล่นกีฬาเหล่านั้นเพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริง เมื่อมีใจรักและมีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม โอกาสประสบความสำเร็จก็จะสูงขึ้นตาม 

“อย่างไรก็ตาม กีฬาฟุตบอล ก็ยังถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงทั่วโลก สามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลและเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งมูลค่าของกีฬา มูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือมูลค่าแฝงทางสังคมที่เกินกว่าตัวเงิน เช่น ความภาคภูมิใจของทีมกีฬา หรือตัวนักกีฬาเอง และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ซึ่งเชื่อว่าสมาคมฟุตบอลไทยยุคใหม่จะทำให้ภาพความสำเร็จเหล่านี้มาสู่เมืองไทยได้มากขึ้น” คุณศิริชัย ทิ้งท้าย

'รมว.ปุ้ย' สั่งเข้ม!! 'สมอ.' ระดม 20 หน่วยงานพระกาฬ 'ร่วมสกัด-ตรวจโรงงาน' บล็อกสินค้าด้อยคุณภาพเข้าไทย

(16 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่สินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาชนะพลาสติก และภาชนะเมลามีน ฯลฯ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับประชาชน ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงยังได้กำชับให้เข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

นอกจากนี้ ยังให้เร่งตรวจสอบผู้นำเข้าสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. ทั้ง 144 รายการ โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. รับข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ได้เชิญหน่วยตรวจ (Inspection Body - IB) ซึ่งเป็น Outsource ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สมอ. ทั้ง 20 หน่วยงาน เช่น สถาบันยานยนต์, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันสิ่งทอ, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล อินสเปคชั่น กรุ๊ป จำกัด, บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด และบริษัท แบงค็อก เซอร์ติฟิเคชั่น จำกัด เป็นต้น 

ทั้งนี้ เพื่อมาประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้สามารถรองรับกับปริมาณงานตรวจโรงงานที่จะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนมาตรฐานบังคับที่จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2567 เพิ่มอีกกว่า 40 มาตรฐาน เนื่องจาก IB เหล่านี้ ได้รับการแต่งตั้งจาก สมอ. ให้เป็นหน่วยตรวจโรงงานแทน สมอ. สามารถตรวจติดตามโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. แล้ว เพื่อควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยมาตรฐานในการตรวจโรงงานของ สมอ. และ IB ที่เป็น Outsource ใช้เกณฑ์ในการตรวจที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

บทสรุป ‘แอโร่ซอฟ’ มอบทุน 100 ล้าน สานฝันการศึกษา ‘เด็กไทย’ ด้าน ‘โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ’ เผย “เพราะพวกเขาเป็นอนาคตของชาติ”

(16 ก.พ. 67) บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ แอโร่ซอฟ (Aerosoft) จัดงานแถลงผลสำเร็จโครงการสนับสนุนการศึกษาเด็กไทยทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Aerosoft Give Scholarships มอบทุน 100 ล้าน สานฝันให้เด็กไทย’ ซึ่งเป็นโครงการมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์กีฬาให้แก่ 1. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 2. ศึกษาพิเศษ 3. ศูนย์ศึกษาพิเศษ และ 4. ศึกษาสงเคราะห์ ทั่วประเทศ รวม 2,549 โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567

โดยทุนที่มอบให้ในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย มอบเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดี / ความประพฤติดี ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3-5 โรงเรียนละ 6 ทุน ทุนละ 5,000 บาท (ระดับชั้นละ 2 คน ชาย 1 คน หญิง 1 คน) มอบทุนสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียน ทุนละ 5,000 บาท และมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่โรงเรียน โรงเรียนละ 5,571 บาท เป็นทุนที่มอบให้ในลักษณะให้ฟรี โดยไม่มีพันธะผูกมัดใด ๆ

คุณพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ในนามผู้บริหารคณะครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา ขอขอบคุณ บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด และผู้ใหญ่ใจดี คุณโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้จัดทำโครงการ ‘Aerosoft Give Scholarships มอบทุน 100 ล้าน สานฝันให้เด็กไทย’ ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและสร้างอนาคตให้กับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี และหวังว่านักเรียนทุกคนที่ได้รับทุนการศึกษาในครั้งนี้ จะนำไปต่อยอดและเพิ่มทักษะการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมต่อไป

ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า โครงการมอบทุนการศึกษา ของบริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ในครั้งนี้ นับว่าเป็นโครงการที่สำคัญเป็นการสนับสนุนให้เด็ก ๆ นักเรียนทั่วประเทศ ได้มีโอกาสนำทุนไปต่อยอดทางการศึกษาเพิ่มเติม และต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดี โดยเฉพาะคุณโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ แทนน้อง ๆ เด็กนักเรียนทุกคนที่ได้รับทุนการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการพัฒนาคนผ่านการศึกษาของเด็ก ๆ

ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า น้อง ๆ จะนำทุนนี้ไปใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาและการพัฒนาชีวิตมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายที่ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายที่สำคัญไว้ 2 คำ นั่นคือ เรียนดี และมีความสุข แน่นอนว่า นักเรียนที่ได้รับทุนในครั้งนี้ เป็นเด็กที่เรียนดีอยู่แล้ว จึงผ่านเกณฑ์การคัดเลือก อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีผลการเรียนที่ดีนั้น นักเรียนจะต้องมีความสุขก่อน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า นักเรียนจำนวนไม่น้อยมีปัญหาปากท้อง จากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็ก ๆ ดังนั้น การมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนในครั้งนี้ จึงมีความน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะการให้การศึกษากับเด็ก ถือว่าเป็นการให้ที่มีคุณค่าและมีความยั่งยืน ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต

คุณโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ แอโร่ซอฟ (Aerosoft) กล่าวถึงการมอบทุนการศึกษาในครั้งนี้ว่า ทางบริษัทฯ และตัวผมเอง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กนักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของชาติ ซึ่งจะเติบโตมาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ จึงได้จัดโครงการมอบทุนการศึกษาประจำปี 2567 จนแล้วเสร็จ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 103,293,766 บาท เพื่อเป็นการสานฝันแบ่งปันโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ได้ใช้เป็นทุนในการต่อยอดศึกษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

“ในนามบริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพคน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และแน่นอนว่า การศึกษานับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างคนที่มีคุณภาพ ผมหวังว่าเด็ก ๆ ที่ได้รับทุนการศึกษาในครั้งนี้ จะมีโอกาสสร้างฝันและต่อยอดทางการศึกษา เพื่อก้าวไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ถือเป็นการให้ไม่มีที่สิ้นสุด”

สำหรับ บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด เป็นองค์กรธุรกิจที่ยึดแนวทาง มีความมุ่งมั่นรับผิดชอบโดยเฉพาะในด้านสังคม ซึ่งทางบริษัทฯ และคุณโกมล ได้แบ่งปันเพื่อตอบแทนสังคมมาอย่างต่อเนื่อง

โดยก่อนหน้านี้ ได้บริจาคเงินจำนวน 100 ล้านบาท ให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลศิริราช พร้อมด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ประกอบด้วยอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและตา (Face Shield) จำนวน 3,000 ชิ้น และเครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์ (Airvo 2) จำนวน 10 ชิ้น เพื่อสนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้ง ได้บริจาครองเท้าให้เด็กนักเรียนและผู้ยากไร้ในชุมชนต่าง ๆ ปีละกว่า 20,000 คู่ เป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้ คุณโกมล ยังเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2020 (EURO 2020) โดยใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท ให้คนไทยได้ดูฟุตบอลยูโรฟรี ๆ เพื่อเป็นการคืนความสุขให้คนไทย ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นห้วงวิกฤตที่คนไทยต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน พร้อมทั้งได้เปิดให้กลุ่มกิจการรายย่อยนำสินค้าและบริการ มาประชาสัมพันธ์ฟรีช่วงบอลยูโร 2020 อีกด้วย

ขณะเดียวกัน คุณโกมล ยังได้ดำเนินงานด้านงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อแก้ปัญหา พร้อมยกระดับวงการข้าวไทยครบวงจร ภายใต้มูลนิธิรวมใจพัฒนา โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดีเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร โรงสีข้าว และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สู่ความยั่งยืนด้านข้าวของประเทศไทย เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทย ปัญหาที่เริ่มส่อเค้า จะเขย่าโครงสร้างประเทศ หรือแก้นโยบายการเงินที่ผิดพลาด

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้วิกฤตแล้ว จริงไหม?' เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

ปัญหาหนี้มักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทุกครั้งที่เศรษฐกิจมีการเติบโตช้าและหรือดอกเบี้ยขึ้นสูง อาทิตย์ก่อนเราคุยกันเรื่องหุ้นกู้ที่อาจจะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณมาเป็นระยะๆ ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ กล่าวคือ ตลาดการเงินเริ่มขาดสภาพคล่อง ดอกเบี้ยขึ้นสูง เงินเฟ้อติดลบ และ GDP ขยายตัวต่ำ

หนี้ครัวเรือนก็เริ่มตั้งเค้าส่อปัญหาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว อาทิตย์ที่ผ่านมาบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) รายงานภาวะหนี้ครัวเรือนเมื่อสิ้นปี 2566 ปรากฏว่ามีการเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 13.7 ล้านล้านบาท (ไม่รวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้ กยศ. และหนี้นอกระบบ) เพิ่มขึ้น 3.7% year on year และเร็วกว่าการเติบโตของ GDP กว่า 2 เท่าตัว ในจำนวนนี้หนี้ที่เป็น NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มหนี้สินเชื่อรถยนต์ แต่ที่น่าวิตกกว่านั้นก็คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีปัญหาผิดชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้รอการเสีย (Special Mention-SM) ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 30% และส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อซื้อบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ลูกหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ หากไม่สามารถชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ จะกลายเป็น NPL และถูกยึดบ้านในที่สุด 

ตามการวิเคราะห์ของเครดิตบูโร นอกจากเหตุผลด้านรายได้แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากดอกเบี้ยหน้ากระดาน (MRR) ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินงวดที่จะต้องผ่อนชำระกระโดดขึ้นสูงเกินกว่าวิสัยที่จะรับภาระได้ สถานการณ์เช่นนี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ไม่พียงแต่ผลทางการเงินต่อลูกหนี้ และระบบสถาบันการเงินเท่านั้น แต่จะมีผลในทางสังคมอย่างมากเพราะบ้านเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการครองชีพ

เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ยกปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ และตั้งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาได้มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ

หนี้ครัวเรือนที่ระดับ 90% ของ GDP โดยตัวเองแล้วไม่น่าจะถือว่าเป็นระดับที่น่าตื่นตระหนก ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระบบการเงินก้าวหน้าล้วนมีหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงกว่านี้ ในทางตรงกันข้าม หนี้ครัวเรือนในระดับสูงอาจบ่งบอกว่าครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในสังคมสมัยใหม่ แต่ที่ภาครัฐควรทำคือการให้การศึกษาและการปลูกฝังวินัยการเงินแก่ประชาชนให้มีการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้

และที่สำคัญกว่านั้น ขณะนี้สถานการณ์ทางการเงินของประเทศได้สร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหนี้เป็นอย่างยิ่ง การตึงตัวของตลาดการเงิน และการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทางการ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นมาเอง แต่ไม่ยอมรับผิดชอบ กลับโยนความผิดไปที่ปัญหาโครงสร้างของประเทศ แน่นอนทุกประเทศรวมทั้งไทย ต่างก็มีปัญหาโครงสร้างแตกต่างกันไป ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ที่ผ่านมาเรามีการปฏิวัติรัฐประหารก็เพื่อปฏิรูปและปรับโครงสร้างประเทศมิใช่หรือ? ทำให้ผมคิดถึงลุงกำนันแห่ง กปปส. ซึ่งกล่าวไว้ว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่ 10 ปีให้หลังก็ยังปฏิรูปไม่แล้วเสร็จ 

ทุกวันนี้ ธปท. ก็ยังโทษโครงสร้างประเทศอยู่วันยังค่ำ เห็นทีจะต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกสักทีใช่ไหม? กว่าจะปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างเสร็จ คนไทยคงโดนยึดบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้าน (Homeless) กันทั้งประเทศ

‘SME D Bank’ เปิดตัว ‘จักรยานยนต์ไฟฟ้า’ พร้อมสถานีแบตเตอรี่ ใช้รับ-ส่งเอกสาร หนุนขับเคลื่อนองค์กรสีเขียวสู่ ‘Net Zero 2065

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 67 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ ‘SME D Bank’ ขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทางแห่งความยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ด้วยการเปิดตัว ‘โครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้า ธพว. EV.BCG’ โดยรถจักรยานยนต์ทั้งหมด ที่ใช้รับและส่งเอกสารของธนาคารทุกคันจะเป็น ‘รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า’

โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ธรรมชาติ ลดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยดูแลสุขภาพของประชาชน สนับสนุน ‘เป้าหมาย Net Zero 2065’ สู่การเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทยในเวทีโลก 

ไม่เพียงเท่านี้ SME D Bank ยังดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอื่นๆ  ต่อเนื่อง เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้แสงสว่างในพื้นที่จอดรถอาคารสำนักงานใหญ่, ลดการใช้กระดาษ รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ และความร่วมมือด้านความยั่งยืนของบุคลากรทั้งองค์กร

‘รมว.ปุ้ย’ หารือ ‘JETRO-JCC’ ถกแนวโน้มเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เสริมความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ พร้อมยกระดับภาคอุตสาหกรรม 4 มิติ

เมื่อไม่นานนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือกับนายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น และนายยามาชิตะ โนริอากิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ และคณะกรรมาธิการวิจัยทางเศรษฐกิจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ในประเด็นเข้ารายงาน ‘สรุปผลการสำรวจแนวโน้มความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย’ โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การหารือในวันนี้ทางหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ ‘JCC’ ได้สรุปแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ในรอบปลายปี 2566 และต้นปี 2567 โดยสรุปว่า แนวโน้มดัชนีเศรษฐกิจ (ID) อยู่ที่ -16 (ตัวเลขคาดการณ์) อันเนื่องมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก และอุปสงค์การส่งออกที่ลดลง แต่มีการปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 10 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2567 เนื่องจากมีการขยายตัวเรื่องการท่องเที่ยว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ไปเยือนญี่ปุ่น มีโอกาสเข้าร่วมหารือกับกระทรวง METI เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม ใน 4 มิติ ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, การกำจัดซากรถยนต์ และการศึกษาเพื่อพัฒนาเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและเกิดโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุน

“กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมส่งเสริม สนับสนุน และดูแลอำนวยความสะดวก ผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น และทุกๆ ประเทศที่ให้ความสนใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุน และขอให้ทางเชื่อมั่นว่า ไทยจะยังคงให้ความร่วมมืออันดีตลอดไป ทั้งในส่วนของนโยบายของรัฐบาลและทิศทางการลงทุนต่างๆ และขอขอบคุณที่ทาง JETRO และ JCC ได้ให้ความสำคัญต่อประเทศไทยเสมอมา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ทั้งนี้ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1954 ซึ่งจะครบรอบการก่อตั้ง 70 ปีในปีหน้า มีสมาชิกกว่า 1,650 บริษัท มีภารกิจในการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมสมาชิกทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นและไทย ตลอดจนช่วยเหลือสังคมไทย อาทิ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ และการสนับสนุนด้านการศึกษา

‘AOT’ นำร่อง ‘TAXI EV’ พร้อมสถานีชาร์จ ให้บริการผู้โดยสาร ขานรับนโยบายคมนาคม มุ่งสู่ Green Airport แห่งแรกของไทย

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 67 ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ปัจจุบันรถยนต์ 1 คันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ตันต่อปี ซึ่งในประเทศไทยมีรถยนต์มากกว่า 10 ล้านคัน ในส่วนของ AOT ซึ่งบริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.), ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ มุ่งสนองนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการผลักดันความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งของไทย เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

AOT จึงให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งขับเคลื่อน ทสภ.สู่การเป็นต้นแบบ ‘Green Airport’ หรือ ท่าอากาศยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในประเทศไทย ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนรถยนต์ที่ให้บริการ ณ ทสภ.ให้เป็นรถไฟฟ้า (EV) ได้ จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50 ล้านตันต่อปี

ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ (EV Taxi) นั้น ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ เริ่มให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาใช้ EV Taxi เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงแรก AOT ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีให้บริการเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สายโดยการอัดประจุแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charge) ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 40 kW ต่อเครื่อง จำนวน 16 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง บริเวณลานจอดรถระยะยาวโซน E ทสภ. สำหรับรองรับการให้บริการแก่รถแท็กซี่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ ทสภ.อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่อง DC Fast Charge ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 360 kW ต่อเครื่อง จำนวน 10 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการให้บริการแก่รถบริการรับ – ส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) รถบริการสาธารณะ รถส่วนกลาง และรถส่วนงานของ AOT ภายในพื้นที่ Support Facilities บริเวณตรงข้ามศูนย์บริหารการขนส่งสาธารณะ

นอกจากนี้ ทสภ.อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่อง DC Fast Charge ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 360 kW ต่อเครื่อง จำนวน 10 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการให้บริการแก่รถบริการรับ – ส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) รถบริการสาธารณะ รถส่วนกลาง และรถส่วนงานของ AOT ภายในพื้นที่ Support Facilities บริเวณตรงข้ามศูนย์บริหารการขนส่งสาธารณะ

ดร.กีรติ กล่าวในตอนท้ายว่า AOT มีความมุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักธรรมาภิบาล และมุ่งสู่การเป็น ‘ท่าอากาศยานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘Green Airport’ เพื่อการเติบโตขององค์กรอย่างมั่นคง และยั่งยืน

สำหรับบริษัทพันธมิตรที่นำแท็กซี่อีวีมาให้บริการ คือ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด ส่วนสถานีชาร์จเป็นของค่าย EAANYWHERE ในเครือ EA

‘รมว.ปุ้ย’ นำร่องเปิด ‘ศูนย์แปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ เมืองคอน เดินหน้าแปลงโฉมพื้นที่ ปั้นชุมชนต้นแบบ ยกระดับ ศก.ฐานราก

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ผ่านการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เปิดศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ โมเดลต้นแบบชุมชนเปลี่ยน ผลสำเร็จการขับเคลื่อนนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยการปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Reshape The Area) พร้อมเร่งขยายผลครอบคลุมชุมชนทุกภูมิภาคภายในปีนี้ คาดสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี  

(18 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งยกระดับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน เตรียมความพร้อมรับมือกับรูปแบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต ส่งเสริมอัตลักษณ์ของประเทศเพื่อสร้างรายได้ผ่านการสนับสนุน Soft Power จูงใจนานาประเทศผ่านการส่งเสริมการลงทุน การเปิดตลาดประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าได้อย่างเต็มความสามารถ จึงจำเป็นต้องยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ชุมชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และเติมเต็มโอกาสในการสร้างรายได้จากต้นทุนที่มีในท้องที่ต่างๆ  

ดังนั้น ตนจึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งขับเคลื่อนการเสริมศักยภาพและพัฒนาชุมชนด้วยการผลักดันให้ธุรกิจชุมชนเติบโตตามบริบทอุตสาหกรรมใน 2 มิติ ได้แก่ การพัฒนาคน ให้มีทักษะด้านอุตสาหกรรมการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เติบโตไปพร้อมกัน และการพัฒนาผู้นำทางธุรกิจที่เข้มแข็งเพื่อเชื่อมโยงกับธุรกิจในชุมชน ซึ่งได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ ณ กลุ่มพัฒนาอาชีพสมุนไพรยาเส้นบ้านเขาทราย ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล ถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเกษตรกรในชุมชน ให้เกิดการดำเนินงานทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นชุมชนเปลี่ยน (Community Transformation) และสามารถต่อยอดสู่การเป็นชุมชนดีพร้อม ที่มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า นอกจากการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนจากชุมชน และพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งชุมชนมิใช่เพียงเฉพาะราย ตลอดจนเชื่อมโยง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ในรูปแบบพี่ช่วยน้อง หรือ ‘Big Brother’ โดยเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการเปลี่ยนชุมชน ด้วยเครื่องมือ กระบวนการ หรือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับระดับศักยภาพ ของชุมชนในแต่ละพื้นที่ต่อไป โดยกำหนดเป้าหมายสร้างต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ภายในปี 2567

“ดิฉันมีความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางการพัฒนาชุมชนให้เป็น ‘ชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อม’ ซึ่งจะเป็นโมเดลในการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชน และสามารถขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ อันจะทำให้เกิดการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน การกระจายรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโต และมีความเข้มแข็ง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ เป็นโมเดลต้นแบบของชุมชนเปลี่ยน ซึ่งเกิดจากการทำงานสอดประสานกันระหว่างด้านเทคโนโลยี โดยกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงในด้านการยกระดับทักษะธุรกิจชุมชน โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ตามนโยบาย ‘RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต’ ในบริบทปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) เพื่อสร้างชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งยึดศักยภาพชุมชนที่ฐานการพัฒนา ส่งเสริมทักษะด้านอุตสาหกรรมที่จำเป็น อาทิ การพัฒนาทักษะการประกอบการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมมาตรฐานการผลิต/ผลิตภัณฑ์ การใช้เครื่องจักรเทคโนโลยี การส่งเสริมการตลาด การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการส่งเสริมเงินทุนหมุนเวียน สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าและบริการชุมชน สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีส่วนร่วมในโซ่อุปทาน ภายใต้แนวคิด ‘คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม’

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ ณ กลุ่มพัฒนาอาชีพสมุนไพรยาเส้นบ้านเขาทราย ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ซึ่งคาดว่าการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากการดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ ยังได้มีการดำเนินกิจกรรม ‘การพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์’ ภายใต้โครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เป็นการนำร่องชุมชนที่ 2 หลังจากที่ได้มีการนำร่องที่ชุมชนเปลี่ยนเป็นที่แรก เพื่อเตรียมความพร้อมให้เศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมชุมชน ให้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน ด้วยการสร้างองค์ความรู้ ทักษะ แนวคิด และการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) ซึ่งจะเป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชนผนวกเข้ากับแนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ มาประยุกต์สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ รวมถึงสามารถใช้ทรัพยากรภายในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ดีพร้อมได้วางเป้าหมายในการนำร่องพัฒนา ขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ในปี 2567 จำนวน 20 ชุมชนทั่วประเทศ

ส่องผลสำรวจคนไทยกับสภาพการเงิน ‘คนอีสาน’ สาหัส!! การเงินเข้าขั้นวิกฤต

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)

เรื่องที่ 1 จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 

เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 

เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ

เรื่องแรก จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,146 ราย ระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 50 เงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต คือ คนไทยเกือบ 27 ล้านคน หรือ ร้อยละ 50.5 การเงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต ขณะที่ ร้อยละ 49.5 ไม่อยู่ในขั้นวิกฤต

เมื่อแบ่งออกจากภูมิภาค พบว่า คนในภาคอีสานส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.9 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤตมากที่สุด รองลงมาคือ คนในภาคใต้ ร้อยละ 66.3 คนในภาคกลางร้อยละ 47.2 คนในภาคเหนือร้อยละ 35.8 และคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.8 การเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤต

เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า สำรวจระดับความสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋า รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,020 ราย ระหว่างวันที่ 2-6 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 23.9 รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึง มากที่สุด โดยกลุ่มอาชีพที่รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึงมากที่สุด เป็นอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน (ไม่นับกลุ่มว่างงาน) รวมทั้ง รู้สึกไม่มั่นคงในการงานและรายได้ ร้อยละ 35.4

เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,056 ราย ระหว่างวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 86.1 ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา คือร้อยละ 78.1 ซื้อหวยไทย ใต้ดิน แน่นอนว่า คนเล่นหวย มีความหวังจากการจะถูกหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งหวยไทย ใต้ดิน หวยอื่น ๆ โดยมีตัวกระตุ้นเป็นเงินรางวัล 

ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึงประสบการณ์เล่นหวย ระหว่างถูกหวย หรือ ถูกกิน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.1 ระบุถูกกิน และมีเพียงร้อยละ 11.9 เท่านั้น ที่ระบุถูกหวย

จากทั้ง 3 เรื่อง สะท้อนสภาพเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น และรายจ่าย ที่ใช้ในการ 'ซื้อความหวัง' เพื่อลุ้นให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

และพื้นที่ภาคอีสาน จากผลสำรวจที่บ่งชี้ว่า ‘สุขภาพทางการเงิน’ เข้าขั้นวิกฤติ จากพื้นที่ที่มีการประกอบเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว นโยบายของรัฐบาล จึงมุ่งไปหว่านการช่วยเหลือทางภาคอีสานค่อนข้างมาก และอย่างที่ทราบกัน ว่าพื้นที่ภาคอีสาน ฐานเสียงส่วนใหญ่ เป็นของพรรคการเมืองใด แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กว่า 20 ปี ในช่วงไหน ที่นโยบายรัฐ เน้นสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หรือ นโยบายอะไร ที่เป็นเพียงแค่ให้ได้รับคะแนนเสียง เพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล

นโยบายที่เน้นแจก แต่ไม่สร้างความยั่งยืน ประชาชนเองต้องตอบคำถามเหล่านี้ ว่าเราจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้ตัวเองอย่างไร? มุ่งทำงานเก็บเงิน พัฒนาการประกอบอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอ หรือ รอคอยความหวังจากนโยบายรัฐ ภาพหาเสียงที่เน้นเพิ่มเงินในกระเป๋า จากการแจก ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา คุ้มค่าที่รอ หรือยัง?

ยกระดับ ‘ขบวน 133/134’ สู่ขบวนระหว่างประเทศ ‘ไทย-ลาว’ เชื่อมการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ท้องถิ่น หนุนเศรษฐกิจชายแดน

(18 ก.พ.67) เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์รายงานแผนความคืบหน้าขยายการเดินทาง และการยกระดับขบวนรถไฟ 133/134 เพื่อเชื่อมต่อท้องถิ่น ‘ไทย-ลาว’ โดยระบุว่า…

ยกระดับขบวน 133/134 สู่ขบวนระหว่างประเทศ ไทย-ลาว พร้อมเพิ่มขบวนรถไฟท้องถิ่นระหว่างประเทศ ‘อุดรธานี-เวียงจันทน์’ สนับสนุนการค้าขายชายแดน

***เริ่มให้บริการ กลางเดือนพฤษภาคม 2567 นี้!!

วันนี้ขอมา Update แผนความคืบหน้าในการเชื่อมต่อ ‘ไทย-ลาว’

ซึ่งจะขยายการเดินรถไฟจากเดิมที่สิ้นสุดที่ท่านาแล้ง ไปที่สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ซึ่งเป็นสถานีหลักของทางรถไฟขนาด 1 เมตร ที่ไทยช่วยสนับสนุนในการก่อสร้าง จาก NEDA 
ใครยังไม่รู้จักสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ดูได้จากลิงก์นี้ 
>> https://www.facebook.com/100067967885448/posts/593470202928571/

แต่ที่ผ่านมาหลังจากก่อสร้างเสร็จตั้งแต่กลางปี 2566 ก็ยังติดปัญหาเปิดเดินรถไม่ได้ จากหลายส่วน ตั้งแต่…

- พนักงานขับรถไฟไทย ไม่ต้องการจะเดินรถไฟฝั่งลาว เนื่องจากเกรงปัญหาทางกฏหมาย หากเกิดอุบัติเหตุ
- เส้นทางรถไฟยังไม่ปลอดภัย จุดตัดต่างๆ ยังไม่มีอุปกรณ์กั้น และไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล้ว
- กฏระเบียบ ในการให้บริการรถไฟในฝั่งลาว

ทำให้ต้องมีการจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ก่อนจะเริ่มบริการให้เดินรถ ได้แก่…

- ช่วยฝึกอบรม และซ้อมขับรถไฟไทย ให้กับพนักงานขับรถไฟลาว ในช่วงท่านาแล้ง-เวียงจันทน์
- ลงนามในข้อตกลงด้านเทคนิค และการซ่อมบำรุงระหว่างไทย-ลาว
- ตรวจสอบทางรถไฟในช่วง ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ก่อนเปิดให้บริการ

ซึ่งทั้งหมดจะเสร็จภายในต้นเดือน พฤษภาคม 2567 และจะเปิดให้บริการ ภายในกลางเดือน พฤษภาคม 2567

ซึ่งจะมีการจัดการเดินรถใหม่ เพื่อเชื่อมโยง กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) โดยมีการปรับการเดินรถใหม่ ได้แก่…

- ขบวนรถเร็วระหว่างประเทศ 133/134 กรุงเทพฯ-หนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)
- ขบวนรถท้องถิ่นระหว่างประเทศ 481/482 อุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)

โดยช่วง หนองคาย-ท่านาแล้ง จะมีการปรับริ้วขบวนแบ่งเป็นตู้โดยสารและตู้สินค้า ดังนี้…

ตู้โดยสาร แบ่งเป็น
- ตู้ชั้น 2 ปรับอากาศ 2 ตู้
- ตู้ชั้น 3 พัดลม 2 ตู้

ตู้สินค้า 20 คัน

โดยตู้สินค้าจะถูกตัดที่สถานีท่านาแล้ง เพื่อเปลี่ยนถ่ายในย่านสินค้าท่านาแล้ง ส่วนตู้โดยสารมุ่งหน้าต่อไปสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)

ซึ่งถ้าเปิดให้บริการในช่วง อุดรธานี-เวียงจันทน์ จะช่วยสนับสนุนการเดินทาง และจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่อุดรธานีของพี่ๆ น้องๆ จากฝั่งลาว มาจับจ่ายใช้สอยฝั่งไทยได้มากเลย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top