ส่องผลสำรวจคนไทยกับสภาพการเงิน ‘คนอีสาน’ สาหัส!! การเงินเข้าขั้นวิกฤต
สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
เรื่องที่ 1 จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ
เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ
เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ
เรื่องแรก จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,146 ราย ระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 50 เงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต คือ คนไทยเกือบ 27 ล้านคน หรือ ร้อยละ 50.5 การเงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต ขณะที่ ร้อยละ 49.5 ไม่อยู่ในขั้นวิกฤต
เมื่อแบ่งออกจากภูมิภาค พบว่า คนในภาคอีสานส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.9 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤตมากที่สุด รองลงมาคือ คนในภาคใต้ ร้อยละ 66.3 คนในภาคกลางร้อยละ 47.2 คนในภาคเหนือร้อยละ 35.8 และคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.8 การเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤต
เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า สำรวจระดับความสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋า รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,020 ราย ระหว่างวันที่ 2-6 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 23.9 รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึง มากที่สุด โดยกลุ่มอาชีพที่รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึงมากที่สุด เป็นอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน (ไม่นับกลุ่มว่างงาน) รวมทั้ง รู้สึกไม่มั่นคงในการงานและรายได้ ร้อยละ 35.4
เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,056 ราย ระหว่างวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 86.1 ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา คือร้อยละ 78.1 ซื้อหวยไทย ใต้ดิน แน่นอนว่า คนเล่นหวย มีความหวังจากการจะถูกหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งหวยไทย ใต้ดิน หวยอื่น ๆ โดยมีตัวกระตุ้นเป็นเงินรางวัล
ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึงประสบการณ์เล่นหวย ระหว่างถูกหวย หรือ ถูกกิน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.1 ระบุถูกกิน และมีเพียงร้อยละ 11.9 เท่านั้น ที่ระบุถูกหวย
จากทั้ง 3 เรื่อง สะท้อนสภาพเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น และรายจ่าย ที่ใช้ในการ 'ซื้อความหวัง' เพื่อลุ้นให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
และพื้นที่ภาคอีสาน จากผลสำรวจที่บ่งชี้ว่า ‘สุขภาพทางการเงิน’ เข้าขั้นวิกฤติ จากพื้นที่ที่มีการประกอบเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว นโยบายของรัฐบาล จึงมุ่งไปหว่านการช่วยเหลือทางภาคอีสานค่อนข้างมาก และอย่างที่ทราบกัน ว่าพื้นที่ภาคอีสาน ฐานเสียงส่วนใหญ่ เป็นของพรรคการเมืองใด แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กว่า 20 ปี ในช่วงไหน ที่นโยบายรัฐ เน้นสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หรือ นโยบายอะไร ที่เป็นเพียงแค่ให้ได้รับคะแนนเสียง เพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล
นโยบายที่เน้นแจก แต่ไม่สร้างความยั่งยืน ประชาชนเองต้องตอบคำถามเหล่านี้ ว่าเราจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้ตัวเองอย่างไร? มุ่งทำงานเก็บเงิน พัฒนาการประกอบอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอ หรือ รอคอยความหวังจากนโยบายรัฐ ภาพหาเสียงที่เน้นเพิ่มเงินในกระเป๋า จากการแจก ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา คุ้มค่าที่รอ หรือยัง?